หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่กองทัพอากาศฟินแลนด์

โดยคุณ : superboy เมื่อวันที่ : 08/11/2019 09:53:24

ระหว่างรอหวยเมืองไทยออกช่วงบ่าย 4 โมง ผมอยากให้ทุกคนลองทายผลหวยฟินแลนด์
V1.F-35
V2.Super Hornet
V3.Gripen E/F
V4.Rafale
และ V5.Typhoon

รักใครชอบใครอย่าลืมโทรมาโหวตที่ 11121314 นะครับ

 

ลิงก์ต้นฉบับ -------------> HX Fighter Programme





ความคิดเห็นที่ 1


โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่กองทัพอากาศฟินแลนด์

          สาธารณะรัฐฟินแลนด์ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยุโรป พื้นที่ใหญ่โตอันดับ 8 ก็จริงแต่จำนวนประชากรเบาบางที่สุด มีชายแดนติดกับสวีเดน นอร์เวย์ และรัสเซีย ประเทศสุดท้ายถือเป็นภัยคุกคามหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงหลังรัสเซียออกมาฮึ่มๆ ใส่บ่อยครั้ง เพื่อห้ามไม่ให้ฟินแลนด์เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้

          ลูกหลานลุงซานต้าจำเป็นต้องป้องกันตัวเอง จนกว่านาโต้พี่น้องร่วมน้ำสาบานจะเข้ามาช่วยเหลือ เครื่องบินขับไล่ถือเป็นอาวุธสำคัญลำดับต้นๆ จึงได้มีการปรับปรุงใหญ่ติดอาวุธทันสมัยมากขึ้น แต่เนื่องมาจากอายุการใช้งานค่อนข้างยาวนาน ทุกลำต้องปลดประจำการภายในไม่เกิน 11 ปี รัฐบาลจำเป็นต้องซื้อเครื่องบินใหม่เอี่ยมเข้ามาทดแทน

                                        

          HX Programme คือชื่อโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ของฟินแลนด์ กองทัพอากาศเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปลายปี 2015 เครื่องบิน 64 ลำจะเข้าประจำการภายในปี 2030 โดยใช้งบประมาณ 7 ถึง 10 พันล้านยูโร หรือ 235,270 ล้านบาทถึง 336,100 ล้านบาท โครงการนี้ใช้เงินภาษีประชาชนค่อนข้างสูงมาก ทัพฟ้าฟินแลนด์ชี้แจงอย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ว่า

1.เครื่องบินรุ่นเก่าถูกทดแทนด้วยเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์

2.จรวดต่อสู้อากาศยานกับอากาศยานไร้คนขับไม่สามารถทดแทนเครื่องบินขับไล่ได้

3.ฟินแลนด์ต้องการเครื่องบินขับไล่จำนวนมากเพียงพอเพื่อป้องกันตนเอง

4.เครื่องบินรุ่นใหม่สามารถโจมตีฝ่ายตรงข้ามได้ทั้งบนอากาศ บนบก และในทะเล

          คำชี้แจงค่อนสั้นแต่ชัดเจนตามนิสัยชาวฟินแลนด์ ส่วนหัวข้อหลักในการพิจารณาคัดเลือกแบบเครื่องบิน แบ่งออกเป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย

1.ประสิทธิภาพ

2.ราคา

3.ผู้ผลิตเครื่องบินกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ

4.ผลกระทบต่อนโยบายป้องกันประเทศ

          เครื่องบินรุ่นใหม่จะมีอายุการใช้งานถึงปี 2060 ต้องรองรับภัยคุกคามตลอด 30 ปีเต็มได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยที่สุดคือมีประสิทธิภาพใกล้เคียงฝ่ายตรงข้าม การพิจารณาแบบเครื่องบินต้องมองให้ไกลกว่าเดิม การพัฒนาเครื่องบินต่อไปในภายภาคหน้า มีความสำคัญกว่าประสิทธิภาพเครื่องบินในปัจจุบัน บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องนำเสนอแผนการพัฒนาเครื่องบิน ควบคู่ไปกับการยื่นข้อเสนออื่นๆ ตามปรกติ ไม่ได้เป็นหัวข้อหลักที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชนก็จริง แต่ถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายในการคัดเลือกแบบเครื่องบิน ซึ่งผู้เชียนอยากให้เข้าใจตรงกันล่วงหน้าเสียก่อน

         ทำในเรื่องนี้มีความสำคัญกับฟินแลนด์? อยากให้มองกรณีเลวร้ายมากที่สุดกันสักนิด

ปี 2020 พวกเขาต้องเผชิญ Su-30 ซึ่งเป็นเครื่องบินเก่าไม่น่ากลัวสักเท่าไร

ปี 2030 พวกเขาต้องเผชิญ Su-57 ซึ่งเป็นเครื่องบินยุค 5 เกือบแท้ น่ากลัวขึ้นมา 50 เปอร์เซ็นต์

ปี 2040 พวกเขาต้องเผชิญ Mig-41 ซึ่งเป็นเครื่องบินยุค 6 เกือบแท้ น่ากลัวขึ้นมาสองเท่าตัว

ปี 2050 พวกเขาต้องเผชิญ T-60 Project ซึ่งเป็นเครื่องบินยุค 6 ของแท้ ช่างน่ากลัวอย่างถึงที่สุด

          ถ้าเครื่องบินที่ได้รับการคัดเลือกไม่สามารถปรับปรุงเพิ่มเติม ไม่สามารถรองรับอาวุธใหม่ เทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งการรบรูปแบบใหม่ได้ ตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไปพวกเขาจะลำบากแสนสาหัส โครงการนี้จำเป็นต้องเกิดและทำให้ได้ตามความตั้งใจ ฤดูใบไม้ผลิปี 2016 ฟินแลนด์ส่งคำเชิญในการเสนอข้อมูลหรือ Request For Information หรือ RFI ไปยังบริษัทผลิตเครื่องบินที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ข้อมูลที่คณะกรรมการคัดเลือกต้องการประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินขับไล่

2.ระบบอาวุธ

3.อุปกรณ์ในการฝึกอบรม

4.การฝึกอบรม

5.ระบบควบคุมและสั่งการ

6.การซ่อมบำรุง

7.การสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ

8.ราคาเริ่มต้น

          ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2018 ฟินแลนด์ส่งคำเชิญสำหรับใบเสนอราคาหรือ Request For Quotation หรือ RFQ ไปยังรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน และอเมริกา เพื่อให้ส่งต่อไปยังบริษัทผลิตเครื่องบินจำนวน 5 ราย ที่ตอบกลับคำเชิญในการเสนอข้อมูลมายังฟินแลนด์ ทั้งหมดล้วนเป็นหน้าเดิมเคยปะทะกันหลายครั้งในหลายประเทศ

          ปีหน้าจะเป็นการแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจัง ก่อนมีการตัดสินผู้ชนะเลิศกลางปี 2021 จากนั้นโครงการเริ่มเดินหน้าต่อทันที เครื่องบินใหม่เข้าประจำการภายในปี 2030 หรือล่าช้าไม่เกินปี 2031 ส่วนเครื่องบินเก่าปลดประจำการภายในปี 2030 เป็นการทดแทนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ลำ ฉะนั้นตามแผนจะไม่มีช่วงเวลาที่การป้องกันประเทศอ่อนแอลง

                                          

          ผู้อ่านเห็นภาพโครงการชัดเจนแล้วนะครับ ก่อนข้ามไปยังเรื่องอื่นขอเขียนถึงความต้องการพิเศษ โดยปรกติแล้วการซื้ออาวุธในปัจจุบัน ผู้ซื้อมักมีความต้องการเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาวุธ บางประเทศต้องการให้เปิดเผย Source Code บางประเทศต้องการซื้ออาวุธด้วยสินค้าเกษตรกรรม บางประเทศต้องการให้ลงทุนกลับคืนวงเงินเท่านั้นเท่านี้ บางประเทศอยากได้ของแถมพวงกุญแจ ปากกา แก้วน้ำ หรือตุ๊กตา สำหรับฟินแลนด์มีความต้องการค่อนข้างชัดเจน อุตสาหกรรมภายในประเทศต้องมีส่วนร่วม 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปของมูลค่าโครงการ ยิ่งมีส่วนร่วมมากยิ่งได้คะแนนพิเศษเพิ่มมากขึ้น นี่คืออีกหนึ่งจุดชี้เป็นชี้ตายของโครงการนี้ รบกวนทดข้อมูลไว้ในใจแล้วไปเรื่องอื่นกันต่อเลย

          เรามาทำความรู้จักกองทัพอากาศฟินแลนด์กันสักนิด พวกเขามีเครื่องบินขับไล่รุ่นเดียวคือ F/A-18 Hornet จำนวน 62 ลำ แบ่งเป็น F/A-18C ที่นั่งเดี่ยวจำนวน 55 ลำ F/A-18D สองที่นั่งอีก 7 ลำ ฟินแลนด์เข้าประจำการ Hornet ในปี 1992 เพื่อทดแทนเครื่องบิน Saab 35 Draken กับ MiG-21 ที่เริ่มชราภาพตามกาลเวลา F/A-18D สร้างในอเมริกาทุกลำ แต่ F/A-18C ประกอบเองภายในประเทศโดยบริษัท Patria ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาวุธใหญ่โตที่สุดของฟินแลนด์

                                       

          ปี 2006-2010 กองทัพอากาศปรับปรุงเครื่องบิน F/A-18 ตามโครงการ MLU1 นอกจากจัดการโครงสร้างเครื่องบินใหม่แล้ว ยังได้ติดตั้งระบบพิสูจน์ทราบฝ่ายรุ่นใหม่ ซื้อหมวด Helmet มาใช้งานคู่กับจรวดอากาศ-สู่-อากาศ AIM-9X Sidewinder จำนวน 150 นัด ติดตั้งระบบ Tactical Moving Map ทำภารกิจอากาศ-สู่-อากาศได้ดีกว่าเดิม

          ปี 2012-2016 กองทัพอากาศปรับปรุงเครื่องบิน F/A-18 ตามโครงการ MLU2 สามารถทำภารกิจอากาศ-สู่-พื้นได้ดีกว่าเดิม นอกจากกระเปาะ Litening ระเบิดนำวิถี จรวดร่อน และจรวดอากาศ-สู่-พื้นรุ่นใหม่จากอเมริกา ยังมีจรวดอากาศ-สู่-อากาศ AIM-120C-7 AMRAAM อีก 300 นัด เปลี่ยนระบบสื่อสารใหม่ทั้งหมด ติดตั้ง Link-16 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องบิน ปรับปรุงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ติดตั้งระบบเป้าลวงรุ่นใหม่ เปลี่ยนหน้าจอ LCD ในห้องนักบินใหญ่กว่าเดิม อัพเดทระบบซอฟแวร์เป็นรุ่นล่าสุด พูดง่ายๆ ว่าเปลี่ยนใหม่ทุกอย่างยกเว้นเรดาร์กับเครื่องยนต์ เพราะฉะนั้น F/A-18 มือสองของฟินแลนด์น่าสนใจมาก แต่มีข้อแม้ว่า…ประเทศที่ซื้อไปควรมีหิมะปกคลุมทั้งปี ไม่ใช่โดนแดดเผาหัวปีจนถึงท้ายปี

          ระบบอาวุธทันสมัยที่ฟินแลนด์จัดหามาใช้งาน เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีความสำคัญกับโครงการนี้

          กองทัพอากาศยังมีเครื่องบินฝึกขั้นสูง Hawk จากอังกฤษ ฟินแลนด์เป็นประเทศแรกที่สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ Hawk 51 เริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1980 ปัจจุบันเหลืออยู่จำนวน 31 ลำ แบ่งเป็น Hawk 51 จำนวน 8 ลำ Hawk 51A จำนวน 7 ลำ และ Hawk 66 อีก 16 ลำ เครื่องบินทุกลำได้รับการปรับปรุงใหญ่ เหมาะสมกับการฝึกนักบิน F/A-18 มากกว่าเดิม ติดตั้ง Hawk Link system ของ Patria สามารถส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคลื่นวิทยุ ติดตั้งจอ HUD หรือ Head-Up Display ติดตั้งจอ LCD สำหรับ Moving Map ประจำการได้จนถึงปี 2030 หรือมากกว่า ฉะนั้นยังทันถ่ายภาพหมู่ร่วมกับเครื่องบินขับไล่ลำใหม่

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 01/11/2019 08:34:43


ความคิดเห็นที่ 2


          ได้รู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างครบถ้วนแล้ว เชิญพบกับผู้เข้าแข่งขันโครงการนี้ต่อเลยครับ

1.Lockheed Martin F-35

          F-35 เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุค 5 ตัวจริงเสียงจริงที่สามารถแตะต้องได้ เป็นเครื่องบินใหม่ล่าสุดในจำนวน 5 ลำที่เข้าแข่งขัน มีทุกอย่างตรงตามความต้องการของฟินแลนด์ สามารถพัฒนาและปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม บริษัทผู้ผลิตมีแผนการพัฒนาอย่างชัดเจน แต่อาจมาล่าช้าไปบ้างเพราะฟินแลนด์ไม่ได้ร่วมโครงการตั้งแต่แรก ประเทศในยุโรปจำนวนมากสั่งซื้อเข้ามาประจำการ ทั้งอิตาลี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เบลเยี่ยม รวมทั้งโปแลนด์ในอนาคต ถ้าต้องการเลือกอนาคตต้องเป็นลำนี้ลำเดียวเท่านั้น คุณจะใช้งานได้จริงสินค้าตรงหน้าปกและเจ็บตัวน้อยที่สุด

                                  

         F-35 ใช้อาวุธทุกชนิดที่ฟินแลนด์จัดหาใหม่ได้ F/A-18 C/D อาจปลดประจำการภายในปี 2030 แต่อาวุธยังสามารถใช้งานได้อีก 10-15 ปีแล้วแต่ชนิด F-35 ใช้งานอาวุธรุ่นใหม่ของนาโต้ในอนาคตได้ ทำภารกิจได้หมดตั้งแต่ออกงานวันเด็ก ลาดตระเวนหาข่าว สกัดกั้นเครื่องบินผู้รุกราน โจมตีบนบก โจมตีในทะเล รวมทั้งโจมตีทางลึก ด้วยคุณสมบัติและสมรรถนะของเครื่องบิน ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจด้วยรูปแบบแตกต่างจากเดิม F-35 มีคุณสมบัติลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ ถ้ามียุทธวิธีที่ดี มีการวางแผนที่ดี และมีนักบินฝีมือฉกาจฉกรรจ์ ด้วยเครื่องบินเพียงไม่กี่ลำคุณสามารถชนะศึกได้อย่างง่ายดาย

          ข้อเสียของเครื่องบินลำนี้ก็มีเช่นกัน เรื่องแรกสุดค่าใช้จ่ายในการใช้งานและซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง เพราะใช้เทคโนโลยีใหม่ต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ แต่มีข้อดีคือเจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ของใหม่ทันที ถ้าเลือก F-35 เท่ากับเลือกก้าวกระโดดไปข้างหน้า อาจมีการเจ็บตัวสักเล็กน้อยคงว่ากันไม่ได้ ข้อเสียอีกเรื่องก็คืออาจได้เครื่องบินล่าช้ากว่าแผนการ เนื่องจากว่าคิวยาวมากชนิดล้นหลามไปอีกหลายปี ทุกประเทศยกเว้นรัสเซียกับจีนอยากเป็นเจ้าของ F-35 กันทั้งนั้น

          ผู้อ่านบางคนอ่านติดใจเรื่องราคาเครื่องบิน นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดโดยความมุมานะ ปี 2018 ราคาเครื่องบิน F-35A อยู่ที่ 89.2 ล้านเหรียญ มีการคาดหมายว่าจะลดลงเหลือ 80 ล้านเหรียญในปี 2020 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2019 เพนตากอนกับ Lockheed Martin แถลงข่าวร่วมกันว่า ราคาเครื่องบิน F-35A ล๊อตที่ 12 อยู่ที่ 82.4 ล้านเหรียญ ล๊อตที่ 13 อยู่ที่ 79.2 ล้านเหรียญ และล๊อตที่ 14 อยู่ที่ 77.9 ล้านเหรียญ ราคาถูกลงอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งไปแล้ว

          F-35 สมรรถนะสูงกว่าเครื่องบินลำอื่นก็จริง แต่นี่คือการแข่งขันที่มีเดิมพันระดับชี้เป็นชี้ตาย คู่แข่งขันหลายรายพร้อมทุ่มสุดตัวเพราะเป็นทางเลือกเดียว คนที่ประมาทเลินเล่อจะต้อพ่ายแพ้อย่างแน่นอน นาทีนี้ Lockheed Martin เดินหน้าเต็มสูบ และพร้อมที่จะทำตามทุกๆ เงื่อนไขของฟินแลนด์ F-35 ถูกจัดให้เป็นเต็งหามนอนมาพระสวดที่แท้จริง ปัญหาก็คือรัฐบาลอเมริกา…พวกเขาต้องการเดินหน้าเต็มสูบหรือเปล่า? ที่ผู้เขียนสงสัยเป็นเพราะเครื่องบินลำถัดไป

2 Boeing F/A-18 Super Hornet

           F/A-18 E/F Super Hornet และเครื่องบินจากบริษัท Boeing ทุกลำ ถือเป็นลูกรัก ลูกสุดที่รัก หรือลูกเทวดาของรัฐบาลอเมริกายุคปัจจุบัน รักมากแค่ไหนเหรอครับ? มากขนาดท่านประธานาธิบดีพูดเองว่าฟินแลนด์ซื้อ Super Hornet แล้ว ทั้งๆ ที่การตัดสินจะเกิดขึ้นจริงกลางปี 2021 โน่น นโยบาย American First มีสองมาตรฐานอย่างชัดเจน

                           

           แม้ผู้เขียนจะไม่ประทับเรื่องนี้เลย แต่ยอมรับว่า Super Hornet เหมาะสมกับฟินแลนด์ค่อนข้างมาก วงเล็บต่อท้ายถ้ามองแค่เพียง 15 ปีข้างหน้า เพราะกองทัพอากาศคุ้นเคยกับเครื่องบินตระกูลนี้ แม้ Super Hornet จะใหญ่กว่า Hornet จนใช้งานอะไหล่ร่วมกันได้น้อยมากก็เถอะ เครื่องบินมีความทันสมัยมากขึ้น ค่ายใช้จ่ายน้อยลง เรื่องจุกจิกน้อยลง ใช้อาวุธทั้งหมดที่ฟินแลนด์มีอยู่ได้เลย ใช้อุปกรณ์ภาคพื้นดินหลายอย่างจาก Hornet ได้เลย ตอนนี้ Boeing กำลังพัฒนารุ่น Block III ให้ดียิ่งขึ้น มีการติดตั้ง Conformal Fuel Tanks เพิ่มระยะปฏิบัติการ ติดระบบค้นหา Infrared Search And Track (IRST) ปรับปรุงแอร์เฟรมให้มีอายุใช้งานเป็น 10,000 ชั่วโมง รวมทั้งพัฒนาระบบดาต้าลิงก์ทันสมัยรุ่นใหม่

           แต่ถ้าพูดตามตรง Super Hornet มีความคล่องตัวค่อนข้างน้อย มีดีหลายอย่างก็จริงแต่ภาพรวมไม่โดดเด่นสักอย่าง เข้าร่วมการชิงชัยหลายรายการเป็นได้แค่ตัวประกอบ มีออสเตรเลียกับคูเวตเท่านั้นยอมเสียเงินซื้อไปใช้งาน รายสุดท้ายได้มาเพราะรัฐบาลช่วยผลักดันสุดแรง ต่อลมหายใจให้กับโรงงานได้อย่างจวนเจียน

           แต่ Super Hornet ยังมีหนทางคว้าชัยที่ฟินแลนด์ ผู้เขียนขอยกให้เป็นเต็งสองเต็มตัว อย่างที่รู้ว่างบประมาณโครงการนี้ไม่ได้กำหนดตายตัว เครื่องบินและระบบอาวุธต่างๆ ก็เช่นกัน บริษัท Boeing ตัดสินใจเดินหน้าเต็มกำลัง โดยมีมือที่มองไม่เห็นตามมาช่วยขยี้อย่างแข็งขัน พวกเขาส่งไอเทมลับเข้ามาต่อกรกับเพื่อนร่วมชาติ โดยการนำเสนอเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ EA-18G Growler เพิ่มเข้ามา เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศฟินแลนด์เริ่มฟินไปตามๆ กัน

          นี่คือเครื่องบินตัวแสบที่อเมริกาหวงนักหวงหนา อยากได้ต้องซื้อ Super Hornet ครบจำนวนเพื่อเอาหางตั๋วมาแลก นี่คือเครื่องบินตัวป่วนที่หลายชาติต้องการที่สุด ติดอยู่ก็เพียงไม่รู้จะซื้อ Super Hornet ไปทำอะไร เอ๊ย! ติดอยู่ก็เพียงอเมริกาไม่ยอมขายให้ แต่กับโครงการ HX กองทัพเรือและรัฐบาลเปิดไฟเขียวผ่านตลอดทุกสี่แยก

          ปัญหาก็คือฟินแลนด์อยากได้ EA-18G Growler หรือเปล่า? ได้มาแล้วจะเอาไปทำอะไรต้องวางแผนใหม่หมด การชิงชัยระหว่างน้องเมียกับลูกสาวคนสวนกำลังเข้มข้นเร้าใจ สุดท้ายอาจตัดสินที่คะแนนเฮดทูเฮดแบบไทยลีก 2018

3. Saab Gripen

           สวีเดนเป็นประเทศเพื่อนบ้านของฟินแลนด์ มีสภาพอากาศเหมือนกัน มีภัยคุกคามหลักคือรัสเซียเหมือนกัน พวกเขาพัฒนาอาวุธสำคัญในการป้องกันตัวเองขึ้นมา สิ่งนั้นก็คือเครื่องบินขับไล่ JAS 39 Gripen ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือเครื่องบินรบรัสเซีย มีคุณลักษณะเหมาะสมกับภูมิประเทศและยุทธวิธีการต่อสู้ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำและไม่ยุ่งยากในการใช้งาน ถ้าฟินแลนด์อยากลอกการบ้านทั้งอาวุธและยุทธวิธี ข้อเสนอจากสวีเดนคือทางเลือกที่ดีที่สุดของแจ้

                               

           เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา วันที่ 14 มิถุนายน 2019 Saab เดินหน้าโครงการ HX อย่างเต็มตัว ด้วยการเสนอเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ล่าสุดให้กับฟินแลนด์ แบ่งเป็นรุ่นที่นั่งเดี่ยว Gripen E จำนวน 52 ลำ รุ่นสองที่นั่ง Gripen F จำนวน 12 ลำ และเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า GlobalEye อีก 2 ลำ นี่คือยุทธวิธีที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต

          Gripen E/F เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุด พัฒนาต่อจาก Gripen C/D ก็จริงแต่ใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้ค่อนข้างน้อย เพราะ Gripen E/F มีขนาดใหญ่กว่าพอสมควร บรรทุกอาวุธได้มากกว่า บินได้ไกลกว่า ติดตั้งเรดาร์ทันสมัยกว่า อุปกรณ์ในห้องนักบินก็ทันสมัยกว่า สามารถใช้อาวุธจากค่ายนาโต้ได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งอาวุธทันสมัยที่ฟินแลนด์จัดหามาใช้งาน ค่ายใช้จ่ายในการใช้งานต่ำที่สุด ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงน้อยที่สุด อะไรต่อมิอะไรค่อนข้างเหมาะสมกับฟินแลนด์ โชคร้ายที่คู่แข่งขันกระดูกขัดมันด้วยกันทุกราย และ Gripen E/F เองก็มีจุดด้อยปรากฏอย่างชัดเจน

          เรื่องแรกสุดขนาดเครื่องบินค่อนข้างเล็ก คู่แข่งรายอื่นบรรทุกอาวุธได้มากกว่า บินได้ไกลกว่า ทำภารกิจโจมตีทางลึกได้ดีกว่า ใช้งานจรวดอากาศ-สู่-อากาศ Meteor ได้ก็จริง ทว่าคู่แข่งขันรายอื่นก็ใช้งานได้ยกเว้น Super Hornet และจุดด้อยที่ค่อนข้างสำคัญนั่นก็คือ Gripen ขายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ Gripen E/F มีเพียงบราซิลสั่งซื้อจำนวน 36 ลำ โครงการของสวิสเซอร์แลนด์เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ โครงการที่อินเดียเฟสแรกแพ้ไปแล้ว ส่วนเฟสสองก็มีแนวโน้มที่จะแพ้ซ้ำซาก ขณะที่ Gripen C/D ก็มีสภาพไม่ต่างกัน บัลแกเรียกับสโลวักเลือกเครื่องบิน F-16V ทั้งๆ ที่สวีเดนเสนอเครื่องบินให้บัลแกเรียมากกว่าถึง 2 ลำ และมีความมั่นใจล้นแก้วว่าตนเองจะได้รับคัดเลือก แต่แล้วสุดท้ายก็บัวแล้งน้ำเศร้ากันทั้งประเทศ

          ผลกระทบจากเรื่องนี้ค่อนข้างใหญ่ โดยเฉพาะกับการพัฒนาเครื่องบินให้ทันสมัยมากขึ้น (ทั้ง Gripen C/D และ Gripen E/F) ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนพอสมควร แต่ถ้าไม่มีลูกค้ามาใช้บริการปรับปรุงเครื่องบิน เท่ากับว่าเป็นการโยนเงินลงสู่ท้องทะเล โครงการ HX ของฟินแลนด์จึงมีความสำคัญมาก ทั้ง Saab และรัฐบาลสวีเดนต้องทุ่มสุดตัวพลาดไม่ได้แล้ว

          GlobalEye เป็นเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้ารุ่นใหม่ล่าสุด ติดตั้งระบบเรดาร์ AESA รุ่น Saab Erieye ER (Extended Range) มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 650 กิโลเมตร ทำงานร่วมกับ Gripen E/F และจรวด Meteor ได้เป็นอย่างดี มีกล้องตรวจการณ์ Electro-Optical ใต้ท้องเครื่อง สามารถตรวจการณ์ทางทะเล ค้นหาและกู้ภัย หรือช่วยนำวิถีให้กับจรวดต่อสู้เรือรบได้ GlobalEye 2 ลำจะทำให้ฟินแลนด์แข็งแกร่งกว่าเดิม…วงเล็บต่อท้ายว่าจริงหรือเปล่า?

          ทำไมต้องมีวงเล็บต่อท้าย? ผู้เขียนมองว่า…ถ้าฟินแลนด์ต้องการใช้งานเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า GlobalEye 2 ลำ น้อยเกินไปสำหรับเครื่องบินขับไล่ 64 ลำ สุดท้ายต้องเสียเงินซื้อ GlobalEye เพิ่มเติมอยู่ดี แต่ถ้าฟินแลนด์ไม่ต้องการใช้งานเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า GlobalEye 2 ลำจะกลายเป็นภาระของลูกหลาน ความต้องการของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ยุทธวิธีในการรบของแต่ละประเทศก็เช่นกัน ฉะนั้นแล้วต้องอ่านเกมให้ขาดถ้าอยากเป็นผู้ชนะโครงการนี้

          ผู้เขียนให้ Gripen E/F เป็นเต็งสามที่พร้อมจะสอดแทรก สาเหตุเป็นเพราะพวกเขากำลังเข้าตาจน พลาดโครงการนี้จะหายอดขาย 64 ลำได้จากที่ไหน ข้อเสนอเครื่องบินเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าถือว่าดีมาก แต่จะดีกว่านี้ถ้าเพิ่มจำนวนมากกว่านี้ ปลายปี 2020 หรือต้นปี 2021 เมื่อการชิงชัยพุ่งเข้าสู่โค้งสุดท้าย บางทีจำนวน GlobalEye อาจเพิ่มขึ้นเป็น 3 หรือ 4 ลำ

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 01/11/2019 08:37:44


ความคิดเห็นที่ 3


4.Dassault Rafale

        เครื่องบินลำถัดไปมาจากประเทศฝรั่งเศส บริษัทผู้ผลิตให้คำนิยามสั้นๆ ไว้ว่า ‘เป็นเครื่องบินที่ผ่านการรบจริงมาแล้วมากกว่า 30,000 ชั่วโมง’ คู่แข่งรายอื่นอยากเถียงกลับก็เถียงไม่ออก เพราะกลัวโดนสวนหมัดขวาตรงด้วยคำว่า ‘เป็นเครื่องบินเพียงรุ่นเดียวที่ผ่านการรบจริงในทวีปแอฟริกา’ เพราะเหลือแค่เพียงฝรั่งเศสที่ส่งกำลังรบมาประจำการในทวีปนี้

                                    

           Rafale เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ที่แท้จริง ทำภารกิจได้หมดทุกอย่างตั้งแต่โชว์ตัว บินผาดโผน ลาดตระเวน ขับไล่ครองอากาศ สกัดกั้น สนับสนุนภาคพื้นดิน โจมตีทางลึก โจมตีตอนกลางคืน เครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ รวมทั้งใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เพราะเป็นเครื่องบินกระดูกสันหลังของฝรั่งเศส จึงเป็นเครื่องบินที่มีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ช่วงเวลาและสถานการณ์ ระบบอาวุธก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

          Rafale มียอดขายขอใช้คำว่าไปเรื่อยๆ โรงงานไม่ได้ใหญ่โตปีหนึ่งผลิตออกมาได้จำนวนจำกัด แต่มียอดการผลิตเลยไปอีกหลายปีทีเดียวเชียว เพราะการตลาดที่สุดยอดเยี่ยม และการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประธานาธิบดีฝรั่งเศสต้องเป็นเซลล์แมนผีมือติดอันดับโลก ส่วนกองทัพยอมทุ่มทุนสร้างเพื่อให้ลูกค้าควักกระเป๋าสตางค์ ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะ 5 ปีหลัง) ฝรั่งเศสสามารถขายอาวุธได้อย่างเทน้ำเทท่า พวกเขาสามารถตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการได้อย่างเต็มที่ มีแผนหนึ่งแผนสองแผนสามว่ากันไปตามสถานการณ์ ยกตัวอย่างให้ดูกันสักเล็กน้อย

          ลูกค้ารายแรกสุดที่ซื้อ Rafale คืออียิปต์ พวกเขาต้องการเครื่องบินมาใช้งานอย่างเร่งด่วน และมีปัญหาเรื่องการเงินพอสมควร ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเจรจาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง กองทัพอากาศยอมตัดยอดเครื่องบินเพิ่งสร้างเสร็จให้กับอียิปต์ ส่วนรัฐบาลช่วยหาเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยไม่แพงมาให้ สุดท้ายจึงปิดยอดขายที่ 36 ลำสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

         โครงการ MMRCA ของอินเดียก็เช่นกัน Rafale เอาชนะ Gripen E/F กับ Super Hornet ไปได้แบบไม่ยากเย็น ยอดรวมของโครงการนี้คือ 126 ลำ อินเดียต้องการสร้างเองจำนวนหนึ่งโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสและบริษัท Dassault ไม่มีปัญหาเลย แต่ปัญหามีอยู่ว่าอินเดียต้องการให้ฝรั่งเศสรับประกันเครื่องบินที่อินเดียสร้าง สุดท้ายโครงการนี้จึงเหลือแค่เพียง 36 ลำ เครื่องบินทุกลำผลิตในฝรั่งเศสรับประกันโดยฝรั่งเศสตามระยะเวลา

          คิดว่าพวกเขาทำยอดขายหล่นหรือเปล่า?   ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่ เพราะอินเดียตั้งโครงการ MMRCA 2.0 ขึ้นมาหลังจากนั้น ยอดรวมทั้งหมด 110 ลำ เป็นรุ่นที่นั่งเดี่ยว 75 เปอร์เซ็นต์ และต้องสร้างเองในประเทศทุกลำ Rafale เป็นเต็งหามเหมือนกับโครงการแรกอยู่ดี อยู่ที่ว่าการเจรจาครั้งใหม่จะสำเร็จหรือล้มเหลว นอกจากนี้กาตาร์ยังขอซื้อไปใช้งานอีก 36 ลำ คนงานที่โรงงานมีงานทำงานทุกวันไปอีกหลายปี นับเป็นช่วงเจริญรุ่งเรืองของเครื่องบินขับไล่เมืองน้ำหอม

          กลับมาที่ฟินแลนด์กันอีกครั้ง หลังได้รับคำเชิญสำหรับใบเสนอราคา Dassault เริ่มต้นเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยการส่งเครื่องบินมาทดสอบใช้งานจริงในสถานที่จริงซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา ฝรั่งเศสตั้งใจที่จะขาย Rafale F4 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดให้ มีการปรับปรุงระบบเรดาร์ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการใช้งานอาวุธรุ่นใหม่ในอนาคตได้ อาทิเช่นจรวดอากาศ-สู่-อากาศ Mica NG หรือระเบิดนำวิถี ASSM Hammer ขนาด 1,000 กิโลกรัม รัฐบาลฝรั่งพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ความต้องการพิเศษของฟินแลนด์ไม่น่ามีปัญหา เมื่อเทียบกับอินเดียแล้วเรื่องแค่นี้ถือว่าเล็กน้อย

          แต่ Rafale ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะใช้งานอาวุธทันสมัยจากอเมริกาไม่ได้ จะให้ใช้งานได้ต้องมานั่งโมกันอีกพักใหญ่ แม้เครื่องบินมียอดขายน่าพอใจมาก แม้มีผลงานในการรบจริงมาอย่างโชกโชน แต่กลับไม่มีลูกค้าจากทวีปยุโรปแม้แต่รายเดียว สิ่งนี้เองเป็นจุดสำคัญต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่ อะไรที่แตกต่างไปจากเพื่อนมักมีปัญหาเสมอ ผู้เขียนขอกำหนดเองให้เป็นเต็งสี่ เพราะเต็งสองกับเต็งสามมีอาการหนักกว่าเยอะ ส่วน Dassault กับฝรั่งเศสยังมีอินเดียให้ปวดไมเกรนเล่นอีกตั้ง 110 ลำ

5.Eurofigher Typhoon

        มาถึงลำสุดท้ายกันแล้วนะครับ สุดยอดเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงจากยุโรป บรรทุกอาวุธได้มาก บินได้ไกล ติดระบบเรดาร์ทันสมัย พร้อมอาวุธร้ายแรงเต็มสองปีก ถูกออกแบบให้ปฏิบัติภารกิจอาทิตย์ละ 7 วัน วันละ 24 ชั่วโมง (ยกเว้นเครื่องบินเยอรมันจอดตายยกฝูงเพราะไม่มีเงินซ่อมบำรุง…ฮา) และถูกออกแบบมาเพื่อทวีปยุโรปโดยเฉพาะ

                             

          Eurofighter Typhoon เป็นโครงการใหญ่โตและสำคัญมาก ประจำการกับประเทศอังกฤษ เยอรมัน ออสเตรีย อิตาลี และสเปน รวมทั้งขายให้กับซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ และโอมาน จำนวนรวมค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ Gripen หรือ Rafale ใช้งานอาวุธจากอเมริกาได้เกือบทั้งหมด ใช้งานอาวุธจากทวีปยุโรปได้ทั้งหมด มีการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องบินให้สูงมากขึ้น

          ที่ผู้เขียนได้เขียนถึงทั้งหมดนั้น คือคำกล่าวอ้างจากบริษัทผู้ผลิตไปยังฟินแลนด์ แต่ในความเป็นจริงนั้นเล่า…เครื่องบินจากอังกฤษลำนี้ค่อนข้างนิ่งมาก นอกจากจัดทำเว็บไซต์กับทวิตเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์แล้ว ได้มีการนำเครื่องบินมาโชว์ตัวพอเป็นพิธี หลังจากนั้นก็เริ่มเงียบหายไปพร้อมสายลม ให้คู่แข่งขัน 4 รายปล่อยของเด็ดโดนใจใส่กันอย่างเมามัน

           Typhoon เป็นเครื่องบินที่ดีมากลำหนึ่ง แต่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งานและซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง เป็นรองก็เพียง F-35 ลำเดียวเท่านั้น มีความจุกจิกเกินงามไปสักนิด มีโครงการติดตั้ง Conformal Fuel Tanks แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่างเสียที มีโครงการ Sea Typhoon ใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ประเทศผู้ใช้งานไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินที่แท้จริงเลยสักลำ ขนาดอังกฤษยังหนีไปใช้ F-35B บนเรือบรรทุกเครื่องบินติดสกีจั๊มป์ (อิตาลีกับสเปนก็เช่นกัน) การพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ประสบปัญหาความล่าช้า ผู้เขียนขอตัดบทห้วนๆ ตรงนี้เลยดีกว่า เดี๋ยวจะโดนมิตรรักแฟนเพลง Typhoon ตามมารุมกระทืบ

          ผู้เขียนจำเป็นต้องให้ Typhoon เป็นเต็งห้า ทั้งที่เครื่องบินลำนี้สวยมากจนถึงมากที่สุด เพราะมองไม่เห็นหนทางในการคว้าชัยกลับบ้าน บางที Eurofighter กับรัฐบาลอังกฤษอาจซุ่มเงียบจนถึงปีหน้า หรืออาจมั่นใจในประสิทธิภาพเครื่องบินตนเอง หรืออาจคิดว่าขายให้กับประเทศตะวันออกกลางสบายกว่า หรืออาจยื่นข้อเสนอตัวเองให้แล้วโดยไม่ได้ออกสื่อ ทั้งหมดทั้งปวงเป็นการคาดเดาด้วยตัวเอง…ฟังหูไว้หูแล้วกันนะครับ

          สรุปความตอนสุดท้ายได้ดังนี้ โครงการสำคัญของกองทัพอากาศฟินแลนด์ยังต้องจับตามองไปเรื่อยๆ มีเวลาอีก 1 ปีครึ่งกว่าจะประกาศผลสอบ ข้อเสนอจาก 5 บริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลงตอนไหนก็ได้ HX Fighter Programme จะมีบทสรุปอย่างไร ระหว่างนี้ผู้อ่านทายผลกันเล่นๆ กับเพื่อนไปก่อน ครั้นถึงเวลาผู้เขียนจะกลับมาเขียนเก็บตกให้อีกครั้ง วันนี้ต้องกล่าวอำลากันตรงนี้สวัสดีรอบวงครับ J

                    -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

            รายงานเรื่อง : Preliminary Assessment for Replacing the Capabilities of the Hornet Fleet

https://www.defmin.fi/en/administrative_branch/strategic_capability_projects/hx_fighter_program

https://www.f35.com/global/participation/finland

https://ilmavoimat.fi/en/materiel1

https://www.reddit.com/r/MilitaryPorn/comments/26aron/finnish_f18_hornets_with_aams_over_finland_3509_x/

https://twitter.com/BAES_Finland

https://ilmavoimat.fi/documents/1951206/2016308

https://www.aerospacetestinginternational.com/news/flight-testing/dassault-cold-weather-tests-rafale-fighter-in-finland.html#prettyPhoto/0/

https://corporalfrisk.com/tag/dassault-rafale/

https://saabgroup.com/media/news-press/news/2019-06/saabs-gripen-offer-to-finland-includes-globaleye/

https://www.f35.com/news/detail/pentagon-and-lockheed-martin-reach-handshake-agreement-on-f-35-product1

https://www.flightglobal.com/news/articles/finland-approved-to-be-offered-ea-18g-growler-455884/

https://www.ainonline.com/aviation-news/defense/2019-06-19/super-hornet-targets-europe-sales

https://www.defensenews.com/global/europe/2019/02/01/industry-bids-are-in-for-finlands-13-billion-fighter-race/

https://www.blogbeforeflight.net/2017/05/finnish-hornet-replacement-program.html?m=1

https://ilmavoimat.fi/en/article/-/asset_publisher/suorituskykyarviointi-loytaa-suomen-puolustukseen-sopivan-hx-monitoimihavittajan

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 01/11/2019 08:39:44


ความคิดเห็นที่ 4


หวย "ฟีนแลนด์" !!!! ..... ฟีนแลนด์ก็มีหวยล็อกเหมือนกัน  ล็อก F-35 ไปเรียบร้อยแล้ว   (ดิ้นไม่หลุด.....55555)

โดยคุณ airy เมื่อวันที่ 01/11/2019 13:42:39


ความคิดเห็นที่ 5


F/A-18E/Fได้แน่เพราะ อเมริกันจะได้เปิดสายการผลิตใหม่ได้ ยื่งนโยบายอเมริกันเดอะเกรตของของทรัมป์ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศของตนเท่านั้น ถ้าสายการผลิตได้เกิดลูกค้าF/A-18เก่าคงจะซื้อF/A-18E/Fแน่ ไม่ว่าแคนาดา,สเปน,มาเลเชีย,ออสเตรเลีย,สวิส,คูเวต ไม่ผลิตใหม่ก็ปรังปรุงให้เป็นมาตราฐานF/A-18E/Fก็ยังดี

โดยคุณ sepia เมื่อวันที่ 03/11/2019 20:59:38


ความคิดเห็นที่ 6


ไม่มีใครสนใจ Typhoon บ้างเหรอครับ high risk high return นะ ~_^
โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 04/11/2019 05:52:02


ความคิดเห็นที่ 7


ใต้ฝุ่นเหรอท่าน....?

ประเทศที่ใช้ "ใต้ฝุ่น" เอง...ยังต้องไปเอา f 35 มาเพิ่มเป็นกองหน้าทะลวงฟันครับ (ปล่อยเยอรมันเค้าเป็นผู้อนุรักษ์ไปแล้วกัน)

ประเทศที่ใช้ F 16 ในยุโรปมาเนินนาน  ยังไม่สนใจเปลี่ยนไปหา "ใต้ฝุ่น"  มันจะต้องมีเหตุที่เราไม่รู้

ส่วน F 18 ก็ใช้อยู่  เอาตัวเดิมมาปรับปรุงใหม่ก็ได้  แม้มันต่างกับรุ่น E-F  แต่น่าจะดีกว่าในเรื่องการสกัดกั้นโดยตรง (คงใช้เป็นแถวสองต่ออีกยาว)

หากมีอุบัติเหตุ ไม่ได้ f 35 ก็เป็นคิวของ "กิฟเพน" มากกว่านะท่าน

ทั้ง "พานาเวีย" และ "ใต้ฝุ่น" อายุงานมันสั้น เพราะโดนสกัดจุดจากเมกัน การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมันไม่มี เพราะเจ้าภาพไม่สนใจลูกค้า

 

 

โดยคุณ airy เมื่อวันที่ 04/11/2019 14:30:07


ความคิดเห็นที่ 8


ผมขอเปลี่ยนคำว่า   "อายุงานมันสั้น"  เป็น "ค่าความนิยมในตลาดมันสั้น" เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ครับ

โดยคุณ airy เมื่อวันที่ 04/11/2019 14:47:40


ความคิดเห็นที่ 9


หวยมันล็อกที่ F-35 แต่ทรัมป์อยากดัน F-18 ลูกรัก โบอิ้งเนี่ยแหล่ะ

Jas-39 ประสิทธิภาพโดยรวมมันยังสู้ค่ายเมกาไม่ได้ ในเมื่อฟินแลนด์บอกเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา

ยิ่งตอนหลังเมกาเริ่มไม่กั๊กของ ยิ่งขายยาก เคยธงหักให้กับสโลวัคมาแล้ว ทั้งที่ปัจจัยเหนือ F-16V หลายเรื่อง ยังแพ้เลย

ราฟาล ลูกค้าใหม่ๆ เหมาะกับเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลางมากกว่า

ส่วนไต้ฝุ่น ขนาดออสเตรียยังส่ายหน้า ฟ้องร้องกันไม่จบ

แม้เยอรมันโดยเฉพาะรัฐบาลพยายามจะยื้อ แต่ดูเหมือนอนาคตจะมืดมนพอสมควร

(ขนาดอดีต ผบ.ทอ. เยอรมันยังอยากได้ F-35 เลย 555)
 

โดยคุณ MIGGERS เมื่อวันที่ 08/11/2019 09:53:24