หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


Taiwan Navy : The Kuang Hua Program

โดยคุณ : superboy เมื่อวันที่ : 03/03/2019 20:46:46

บทความใหม่มากันอีกแล้วนะครับ กลับจากทำบุญที่วัดขึ้นเรือไปไต้หวันกันต่อเลย เพราะบทความนี้เองทำให้ผมได้รับรู้ว่า แท้จริงแล้วตัวเองชอบประวัติศาสตร์มากกว่าเทคโนโลยี แล้วทำไมตอนเรียนหนังสือถึงได้คะแนนไม่ดี เหอ เหอ +_*

 

ลิงค์ต้นฉบับครับ --------------------> The Kuang Hua Program

 





ความคิดเห็นที่ 1


พัฒนาการกองทัพเรือไต้หวัน

          ไต้หวันตั้งอยู่ระหว่างทะเลจีนตะวันออกกับทะเลจีนใต้ ห่างจากมณฑลฟูเจี้ยนของจีนเพียง 160 กิโลเมตร มีพื้นที่รวม 36,191 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วย เกาะไต้หวัน เกาะจินเหมิน เกาะหมาจู่ และหมู่เกาะเผิงหู มีจำนวนประชากร 23.58 ล้านคน ใช้ภาษาจีนกลางหรือแมนดารินเป็นภาษาราชการ ของฝากยอดนิยมคือพายสัปปะรดกับชานมไข่มุก

          ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครอง ใช้เป็นจุดส่งกำลังบำรุงระหว่างสงคราม พวกเขายังได้สร้างถนน ท่าเรือ และทางรถไฟ ส่งผลให้เกาะมีความเจริญมากกว่าเดิม หลังสงครามโลกสิ้นสุดพื้นที่กลับมาเป็นของจีน และในวันที่ 7 ธันวาคม 1949 พรรคก๊กมินตั๋งซึ่งแพ้สงครามกลางเมืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์ ได้พาประชาชนกว่า 2 ล้านคนข้ามทะเลมายังไต้หวัน เพื่อสถาปนาประเทศพร้อมกับก่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนและการคุ้มกันจากอเมริกา

          ต่อมาในปี 1971 ไต้หวันสูญเสียสมาชิกภาพประเทศตัวแทนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ครั้นพอถึงปี 1978 สหประชาชาติประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันไปในตัว ฝ่ายอเมริกาเองก็หันมาผูกไมตรีกับจีน และถอดถอนการรับรองสถานะรัฐของไต้หวัน แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่จะยอมรับนโยบายจีนเดียว แต่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีแข็งกร้าวจากรัฐบาลจีน ที่มักข่มขู่ว่าจะใช้กำลังทางทหารเข้ามาจัดการ ไต้หวันจึงพอมีหนทางจัดหาอาวุธป้องกันตนเอง

                                         

          เรือฟริเกต ROCS Lan Yang (FFG-935) กำลังปล่อยจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC ว่ากันว่านี่คือเรือฟริเกตชั้น Knox ที่ดีที่สุดในโลก เพราะเรือได้รับมรดกสำคัญมาจากศิษย์พี่

ราชนาวีไต้หวันในยุคแรกเริ่ม

          กองทัพเรือไต้หวันถือเป็นด่านแรกสุด ในการเข้าปะทะกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์จีน มีการจัดหาเรือรบเข้าประจำการ ส่วนใหญ่เป็นเรือมือสองยุคสงครามโลกจากอเมริกา ที่แม้ว่าตอนนั้นกำลังหวานกับจีนอยู่ก็ตาม แต่ยังให้ความสนับสนุนไต้หวันไปพร้อมกัน เรือรบหลักยุค 197x ของพวกเขาแบ่งง่ายๆ ดังนี้ กองเรือพิฆาตกับกองเรือฟริเกตตรวจการณ์

                                   

          กองเรือพิฆาตก็คือเรือรบแท้ๆ นี่แหละครับ ใช้ในการทำสงครามใหญ่ขั้นแตกหัก มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว ปืนกล 40 มม.ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ และอากาศยานไร้คนขับ QH-50D Dash เป็นอาวุธในการป้องกันอธิปไตย เรือลำบนคือเรือพิฆาตชั้น Gearing ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,460 ตัน ทันเข้าร่วมสงครามโลกแต่เป็นช่วงสุดท้าย หลังสงครามถูกลดจำนวนจาก 152 ลำเหลือ 98 ลำ (ไม่มีสงครามใหญ่แล้วนี่นา) มีบทบาทสำคัญในสงครามเกาหลีกับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา

          ส่วนกองเรือฟริเกตตรวจการณ์ก็เป็นเรือรบเช่นกัน แต่ใช้ลาดตระเวนในยามปรกติอีกหนึ่งภารกิจ ลำล่างคือเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Buckley ซึ่งถูกปรับปรุงให้เป็นเรือ APD หรือ High-Speed Transports ย้ายมาช่วยภารกิจยกพลขึ้นบกทวีปยุโรป มีการยกสูงตัวเรือด้านข้าง (Freeboard หรือ Deck Side) ใส่เรือระบายพลไว้ด้านบนจำนวน 4 ลำ ท้ายเรือติดเครนขนาดใหญ่ใช้ลำเลียงสิ่งของ ครั้นมาอยู่ไต้หวันจึงติดปืนท้ายเรือกลับคืน บางลำมีโซนาร์กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำด้วย นี่คือเรือพิฆาตคุ้มกันหมัดหนักที่สุดในโลก ขนาดใหญ่กว่าเรือหลวงปิ่นเกล้าเล็กน้อย แต่ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วทีเดียวเชียว

          ช่วงนั้นกองทัพเรือจีนยังไม่แข็งแกร่ง มีแต่เรือรบเก่าๆ รับโอนมาจากโซเวียต ความสมดุลของทั้งสองฝ่ายจึงใกล้เคียงกัน ครั้นเข้าสู่ปี 198x ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลง จีนสร้างเรือพิฆาตชั้น Type 051 Luda ได้ด้วยตัวเอง สร้างเรือฟริเกตชั้น Type 053 Jianghu ได้ด้วยตัวเอง สร้างเรือรบขนาดเล็กได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งสร้างจรวดต่อสู้เรือรบได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งจีนยังได้คบค้ากับชาติตะวันตก โดยมีแผนจะนำระบบเรดาร์ ระบบโซนาร์ หรือระบบอาวุธทันสมัยเข้ามาทดแทนของเดิม

          ไต้หวันจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง พวกเขาสร้างเรือรบขนาดใหญ่ไม่ได้ก็จริง แต่การซื้ออาวุธรุ่นใหม่ๆ เข้ามาใช้งานนั้น ไม่ยากเกินความสามารถและต้องทำเดี๋ยวนี้เลย จรวดต่อสู้เรือรบ จรวดต่อสู้อากาศยาน รวมทั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ ถูกจัดหาเข้ามาประจำการอย่างเร่งด่วน ปี 1985 ไต้หวันมีเรือดำน้ำ 2 ลำ เรือพิฆาต 26 ลำ เรือฟริเกต 10 ลำ เรือคอร์เวต 4 ลำ และเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี 24 ลำ ดูแค่ตัวเลขผู้อ่านอาจคิดว่าใหญ่โต แต่พอได้เห็นภาพถ่ายอาจคิดเปลี่ยนใจก็ได้

                                       

            ผู้เขียนขอแนะนำเรือพิฆาตชั้น Fletcher ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,210 ตัน ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วแฝดสอง 2 กระบอก ปืนใหญ่ 76/62 มม.1 กระบอก ถัดไปเป็นเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog ข้างเสากระโดงหลักคือจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng I แท่นเดี่ยว (จรวด Gabriel ของอิสราเอล) กลางเรือเป็นตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ข้างเสากระโดงรองคือปืนกล 40L70 มม.ต่อด้วยจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Chaparral แฝดสี่ และจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng I แฝดสาม โดมสีดำบนเสากระโดงคือระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ULQ-6 ECM Suites กับ WLR-1 ESM ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง RTN-10X ของอิตาลี บังเอิญในภาพยังไม่ได้ติดหรือผู้เขียนมองไม่เห็น

                                 

               ลำถัดมาเป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Dvora ไต้หวันซื้อแบบเรืออิสราเอลมาสร้างเอง ระวางขับน้ำ 45 ตัน ยาว 21.8 เมตร ติดจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng I ได้ 2 นัด และมีปืนกล 20 มม.อีก 1 กระบอก เรือทุกลำปลดประจำการหมดแล้ว บางลำถูกส่งต่อให้กับประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ หรือตามหมู่เกาะแปซิฟิก เชื่อมความสัมพันธ์ทางด้านการทูตและการค้าขาย ปารากวัยซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ยังได้รับมอบเรือเปล่าๆ จำนวน 2 ลำมาใช้งาน

              เข้าสู่ปี 199x มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เรือพิฆาตชั้น Gearing จำนวน 7 ลำ ถูกปรับปรุงใหญ่ตามโครงการ Wu Chin III โดยการติดตั้งอาวุธทันสมัยชนิดล้นลำ เริ่มจากปืนใหญ่76/62 มม.ที่หัวเรือ ปืนกล 40L70 กลางเรือ 2 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 อีก 10 นัด จรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC 8 นัด ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ และจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II ที่เพิ่งพัฒนาแล้วเสร็จอีก 8 นัด (เบียดอยู่กับจรวด ASROC กลางลำ)

                                    

            เรดาร์ตรวจการณ์ Signaal DA-08/2 กับเรดาร์ควบคุมการยิง Signaal STIR 180 สำหรับนำวิถีจรวดถูกเพิ่มเติมเข้ามา และที่เห็นเป็นโดมกลมๆ บนเสากระโดงรอง คือเรดาร์ควบคุมการยิง HW-160 ที่ได้นำเรดาร์ AN/APG-66 ของเครื่องบิน F-16 มาปรับปรุงใหม่ ใช้คุมปืนหลัก ปืนรอง รวมทั้งค้นหาเป้าหมายให้กับจรวด มีระบบเป้าลวงตอร์ปิโด Mk 6 Fanfareระบบเป้าลวงจรวด King Fen แบบ16 ท่อยิง มี WLR-1 ESM เพื่อตรวจจับการแพร่คลื่นเรดาร์ และมี Chang Feng III ECM Suite เพื่อแจมเรดาร์ ใช้งบประมาณในการปรับปรุงค่อนข้างมาก ไต้หวันจึงนำเรือมาจอดโชว์ประชาชนถึงหน้าบ้าน

          เรือพิฆาตชั้น Gearing ทั้ง 7 ลำ ถูกปรับปรุงจนทันสมัยมากก็จริง เป็นเรือชั้น Gearing ในตำนานไปแล้วก็จริง ทว่าตัวเรือค่อนข้างชราภาพตามอายุไข เรือพิฆาตลำอื่นๆ ก็เริ่มทยอยปลดประจำการ ไต้หวันจำเป็นต้องมีเรือรบรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน กองทัพเรือจึงได้ผุดแผนใหญ่ใช้ชื่อว่า The Kuang Hua Program ขึ้นมา โดยมีโครงการยิบย่อยดังต่อไปนี้

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 19/02/2019 11:28:51


ความคิดเห็นที่ 2


Kuang Hua I Guide Missile Frigate

          โครงการเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีหรือ PFG-2 Guide Missile Frigate นั้น สรุปความว่าได้เรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry 8 ลำสร้างเองในประเทศ บทความก่อนเขียนถึงอย่างละเอียดไปแล้ว รวบกวนอ่านตามลิงค์ด้านล่างได้เลยครับ

                                         PFG-2Taiwan Guide Missile Frigate

                                    

 Kuang Hua II Patrol Frigate

          แต่ก่อนชะง่อนไรไต้หวันมีเรือรบติดอาวุธหนัก วิ่งตรวจการณ์ตามปรกติเช้าเย็นอยู่เป็นนิจ แม้จะมีเรือตรวจการณ์แท้ๆ ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า สร้างง่ายกว่า ราคาถูกกว่า แต่ออกจากฝั่งได้ไม่ไกลเท่าไหร่ เผชิญคลื่นลมในทะเลลึกได้ไม่ดี และติดอาวุธน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเรือจีน Patrol Frigate จึงมีความสำคัญกับไต้หวันมาก โครงการ Kuang Hua II ได้ข้อสรุปในปี1988 ว่า เรือฟริเกตชั้น Ulsan จากเกาหลีใต้ได้รับการคัดเลือก รูปร่างหน้าตาประมาณนี้เลยครับ

                                    

          เรือลำนี้มีฉายาอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘สูงชะลูด-ตูดปอด-ยอดขุนพล’ เพราะถูกออกแบบให้ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.บนดาดฟ้าชั้นสอง จึงต้องติดตั้งปืนกล 40L70 มม.บนดาดฟ้าชั้นสาม สะพานเดินเรือเลยขึ้นมาอยู่ชั้นสี่ครึ่งหรือชั้นห้า ทำให้สูงลิบลิ่วผิดเพื่อนไปจากพ้องน้องพี่ กองทัพเรือไต้หวันชอบใจเรือลำนี้มาก ต้องการถึง 16 ลำและสร้างเองภายในประเทศ

          เรือแบ่งออกเป็นสองเฟสด้วยกัน เฟสแรก 8 ลำเน้นภารกิจปราบเรือผิวน้ำ จึงมีปืนใหญ่ 76/62 มม.ทั้งที่หัวเรือและท้ายเรือ เฟสสองอีก 8 ลำเน้นภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Chaparral เพิ่มเข้ามา เรือทุกลำใช้จรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II ของไต้หวัน ใช้ระบบอำนวยการรบของไต้หวัน ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก็ของไต้หวัน ทำให้เรือมีราคาถูกลงอย่างเห็นได้ชัด ลำล่ะไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าถูกมาก

                                               

          โครงการนี้ทุกสิ่งทุกอย่างลงตัวหมด ยกเว้นแค่จีนที่เริ่มโมโหควันออกหู ความกดดันจากกรุงปักกิ่งวิ่งตรงเข้าสู่กรุงโซล เล่นเอารัฐบาลเกาหลีใต้แทบล้มทั้งยืน ก่อนตัดสินใจกระซิบเบาๆ ในปีถัดมาว่า ไม่ขายเรือให้แล้วนะแต่เรายังเป็นเพื่อนรักกันใช่ไหม? ไต้หวันแอบกลืนเลือดขณะตอบกลับว่าใช่! แล้วนายพลกองทัพเรือก็ยกโขยงไปเที่ยวปารีส ตุลาคมปีนั้นเองมีข่าวใหญ่โตพาดหัวว่า ไต้หวันสนใจซื้อเรือฟริเกตชั้น Lafayette จากฝรั่งเศสจำนวน 6 ลำ โดยมีออปชั่นสร้างเรือตั้งแต่ลำที่ 7 ด้วยตัวเอง พร้อมการถ่ายโอนเทคโนโลยีของเรือลำนี้ให้ไต้หวัน ซึ่งในตอนนั้นยังมีแค่เพียงไม่กี่ประเทศ (ตอนนี้ก็ด้วย)

          เรือฟริเกตชั้น Lafayette ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,600 ตัน ยาว 124.2 เมตร กว้าง 15.4 เมตร ทยอยเข้าประจำการตั้งปี 2006 โดยใช้ระบบทั้งหมดจากบริษัท Thomson ฝรั่งเศส รวมทั้งโซนาร์ลากท้าย ATAS(V)2 Towed Array Sonar System ซึ่งมีทั้งโหมด Active และ Passive ในการค้นหาเป้าหมาย เมื่อจีนทราบข่าวจึงเริ่มกดดันเหมือนที่ผ่านมา ทว่ารัฐบาลฝรั่งเศสบอกว่าฉันโนสนโนแคร์ ถ้ายังงอแงไม่เลิกพ่อจะไม่ขายอาวุธให้อีก เท่านั้นเองเสียงจากกรุงปักกิ่งก็พลันเลือนหาย

          ตอนนั้นเรือฟริเกตชั้น Lafayette กำลังเนื้อหอม สิงคโปร์และซาอุดิอาระเบียให้ความสนใจมาก เพราะเรือมีเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมอ่อง นั่นคือการลดการตรวจจับคลื่นเรดาร์หรือStealth โดยเป็น Full Stealth ทั้งลำจากพิมพ์เขียวกันเลยทีเดียว มีการคิดคำนวณกันแบบง่ายๆ ว่า เรือเกาหลีใต้ 1 ลำเท่ากับ 100 ล้านเหรียญ ฉะนั้นเรือฝรั่งเศส 1 ลำจึงควรเท่ากับ 200ล้านเหรียญ เพราะติดเรดาร์และอาวุธใกล้เคียงกันมาก ปรากฏว่างานนี้ไต้หวันดันพลาดท่าอย่างแรง

          งบประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญตอนตั้งโครงการ ถูกคนกันเองผลักกันเองกระทั่งมาหยุดที่ 2.8 พันล้านเหรียญ หรือเท่ากับลำล่ะ 466 ล้านเหรียญ มีเหตุผลสำคัญอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง หนึ่งเรือฝรั่งเศสต้องใช้ระบบฝรั่งเศสทั้งลำ สองมีการติดตั้งโน่นนั่นนี่เพิ่มเติม สามเทคโนโลยีใหม่ทำให้เรือมีราคาแพง และเรื่องสุดท้ายมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น เป็นเงินก้อนใหญ่มากและเป็นข่าวอื้อฉาวมาก นี่คือกรณีศึกษาที่ไต้หวันศึกษาอย่างจริงจัง โดยหวังว่าอนาคตจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก

                                      

          เยี่ยมชมเรือลำจริงกันสักนิดดีกว่า ใหญ่โตเกินไปสำหรับภารกิจลาดตระเวน สิ้นเปลืองเกินไปถ้าต้องใช้งานแทบทุกวัน โชคดีที่รัฐบาลจัดตั้งหน่วยยามฝั่งขึ้นมาใหม่ แบ่งเบาภารกิจกองทัพเรือได้พอสมควร เรือฝรั่งเศสทั้ง 6 ลำโยกมาอยู่กองเรือรบแท้ๆ ไม่มีการสร้างเรือลำที่ 7 เพราะอะไรหลายอย่าง และไต้หวันยังคงไม่มี Patrol Frigate มาจนถึงปัจจุบัน

          เรือฟริเกตชั้น Lafayette ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Chaparral ซึ่งเป็นอาวุธจากยุค 1970 ของกองทัพบก โดยนำจรวดไซด์ไวน์เดอร์มาใส่บนแท่นยิง มีพลยิงนั่งควบคุมหรือใช้รีโมทเอาก็ได้ ใช้งานโดยเล็งกล้องจับความร้อนไปยังเป้าหมาย เมื่อจับเป้าได้จะมีเสียงเตือนว่า ‘ติ๊ง!’ ‘ติ๊ง!’ ‘ติ๊ง!’ พลยิงกดปุ่มปล่อยจรวดจะกี่ลูกก็แล้วแต่ ระบบนำวิถีอินฟาเรดวิ่งหาเป้าหมายด้วยตัวเอง ด้วยความเร็ว 2.5 มัค ระยะยิงหวังผล 9 กิโลเมตร เครื่องบินไม่ว่าจะมิกหรือซูเป็นอันเสร็จตรูทุกราย

           ข้อเสียสำคัญมีอยู่แค่ประการเดียว ระบบจับความร้อนทำงานได้ดีเมื่อยิงไล่หลัง แต่ถ้ายิงดักหน้าความแม่นยำจะหายไป เพราะข้อเสียประการเดียวอเมริกาก็เลยไม่ใช้ แต่ไต้หวันใช้เพราะกองทัพบกมี Chaparral อยู่แล้ว รวมทั้งตอนนั้นพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น แต่ถึงตอนนี้มีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นในอนาคตเรือถูกปรับปรุงอย่างแน่นอน

Kuang Hua III Indigenous design Patrol ship

         โครงการถัดมาก็คือเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ กองทัพเรือมีความต้องการ 12 ลำ ออกแบบเองสร้างเองและใช้งานเอง โดยใช้แบบเรือ PSMM Mk5 ของอเมริกาซึ่งอยู่ในมือ (ใช้สร้างเรือตรวจการณ์ชั้น Lung Chiang มาก่อน) มาปรับปรุงอีกครั้งให้มีความเอนกประสงค์กว่าเดิม แบบเรือ PSMM Mk5 ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เกาหลีใต้กับอินโดนีเซียใช้สร้างเรือหลายรุ่น รวมทั้งประเทศไทยนำมาสร้างเรือตรวจการณ์ปืน ซึ่งก็คือเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน 6 ลำนั่นเอง

          โครงการ Kuang Hua III เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1994 ไล่ไปเรื่อยๆ จนครบทุกลำในปี 2000 เรือตรวจการณ์ชั้น Ching Chieng ระวางขับน้ำเต็มที่ 580 ตัน ยาว 6.14 เมตร กว้าง 9.5 เมตร ติดตั้งปืนกล 40L70 1 กระบอก ปืนกล 12.7 มม. 2 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng I อีก 4 นัด ภาพบนสุดคือ ROCS Ching Chieng (PG-603) ช่วงเพิ่งเข้าประจำการ นอกจากเรือจะยาวและกว้างกว่าเดิมแล้ว ยังมีปล่องระบายความร้อนโผล่ขึ้นมาด้วย

                                                    

          เข้าสู่ปี 2003 เรือพิฆาตชั้น Gearing ทั้ง 7 ลำทยอยปลดประจำการ จึงได้มีการถอดเรดาร์กับอาวุธทันสมัยไปติดเรือลำอื่น เรือตรวจการณ์ชั้น Ching Chieng พลอยได้รับมรดกตกทอด ประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ 76/62 มม.จรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II และเรดาร์ควบคุมการยิง HW-160 กลายร่างมาเป็นเรือลำกลางมีเสากระโดงถึง 2 เสา

          เรืออีก 5 ลำได้รับการปรับปรุงใหม่เช่นกัน ด้วยการติดระบบเรดาร์ CS/SPG-6N (ภาพล่างวงกลมสีเหลือง) ซึ่งแปลงร่างมาจากเรดาร์ CS/MPQ-561 ของกองทัพบก (ใช้ควบคุมปืนกล 40L70 มม.ได้ 4 กระบอก) โดยมีทั้งเรดาร์ควบคุมการยิง กล้องโทรทัศน์ กล้องตรวจจับความร้อน ระบบเรเซอร์วัดระยะ และเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติอยู่ด้านบนสุด มีระยะตรวจจับเป้าหมาย 74.1 กิโลเมตร ท้ายเรือยังมีรางปล่อยระเบิดลึก 2 ราง กับรางปล่อยทุ่นระเบิดอีก 2 ราง

          อาวุธพวกนี้ค่อนข้างโบราณแล้วก็จริง แต่ไต้หวันจำเป็นต้องฝึกฝนคนของตัวเอง เพราะถ้าไม่เคยฝึกก็จะใช้งานกันไม่เป็น รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการรบให้มากที่สุด เรือตรวจการณ์ชั้น Ching Chieng เทียบได้กับเรืออเนกประสงค์ เป็นม้างานที่สามารถตอบสนองได้ทุกภารกิจ โดยมีบางลำติดจรวด Hsing Feng III รุ่นใหม่ล่าสุด (ในภาพนั่นแหละครับ)

          ผู้เขียนอาจมีคำถามในใจว่า นำเสนอเรือต๊อกต๊อกลำนี้ไปเพื่ออะไร ไม่ได้มีความน่ากลัวแม้แต่นิดเดียว ความจริงก็คือเรือลำนี้เก็บได้ 1 แต้ม วันที่ 1 กรกฎาคม 2016 เวลา 8.15น.เรือชื่อ ROCS Jin Chiang (PG-610) ซึ่งจอดสงบนิ่งอยู่ที่ท่าเรือนั้น ได้บังเอิญทำจรวดลั่นโดยความไม่ตั้งใจ จรวด Hsing Feng III แหวกอากาศด้วยความเร็ว 2 ถึง 4 มัค เมื่อเรดาร์ตรวจพบเรือประมงไต้หวันขนาดเล็ก ห่างจากชายฝั่งประมาณ 75 กิโลเมตร จึงพุ่งตรงเข้าใส่สูงจากพื้นน้ำไม่เกิน 4 เมตร!

                                  

          ในความโชคร้ายมีความโชคดีปะปน เพราะเรือประมงมีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงมีความสูงค่อนข้างน้อยตามไปด้วย รวมทั้งตัวเรือทำจากไม้หาใช่เหล็ก แทนที่จรวดจะพุ่งชนกราบเรือแล้วจุดระเบิด กลายเป็นว่าจรวดพุ่งชนสะพานเดินเรือชั้นสอง ทะลุไปอีกฝั่งก่อนตกลงสู่ท้องทะเล แรงปะทะจากไม้ไม่เพียงพอที่จะจุดชนวน เรือประมงจึงได้กลับเข้าฝั่งช่วงเย็นวันนั้น อุบัติเหตุครั้งนี้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า จรวดที่ไต้หวันสร้างเองแม่นยำเหมือนจับวาง แต่คนใช้งานออกจะทะเล่อทะล่าอยู่บ้าง ฉะนั้นแล้วถ้าผู้อ่านเจอเรือลำนี้เมื่อไหร่ สมควรอยู่ห่างเกิน 400กิโลเมตร…หรืออยู่ห่างไม่เกิน 400 เมตรให้เลือกเอา

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 19/02/2019 11:37:41


ความคิดเห็นที่ 3


Kuang Hua IV Anti-Submarine Frigate

         โครงการต่อไปคือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่มีโจทย์สำคัญอยู่ว่า กองทัพเรือมีจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC เต็มคลังแสง เพราะฉะนั้นเรือต้องใช้อาวุธที่มีอยู่แล้วได้ หวยจึงมาออกเรือฟริเกตชั้น Knox ของอเมริกา รูปร่างหน้าตารวมทั้งวิธีจัดหามาใช้งาน เหมือนกับเรือหลวงพุทธทั้งสองลำของเรานั่นเอง

          เรือรบอเมริกาแม้ปลดประจำการไปแล้ว แต่ทางบัญชียังมีมูลค่าและถือเป็นทรัพย์สิน จึงต้องหาทางลัดปล่อยเรือให้กับเพื่อนพ้อง โดยใช้วิธีให้เช่าซื้อ (Lease) เป็นเวลา 5 ปีบ้าง (เรือรบซึ่งยังมีราคาสูง) หรือ 2 ปีบ้าง (เรือช่วยรบราคาค่อนข้างต่ำ) เมื่อครบกำหนดมูลค่าเรือจะร่วงลงมามาก อเมริกาจะถามอีกครั้งว่าอยากซื้อไปเลยไหม แน่นอนที่สุดว่าทุกประเทศต้องขอซื้อขาด 

           เพราะฉะนั้นเรือฟริเกตชั้น Knox ที่ไต้หวันซื้อในปี 1993 จะมีราคารวมเท่ากับ 40 ล้านเหรียญ (เช่าซื้อ 5 ปี) + 3 ล้านเหรียญ (ซื้อขาด) = 43 ล้านเหรียญ ตัวเลขนี้ผู้เขียนมั่วขึ้นมาเองประกอบคำอธิบาย

           ไต้หวันเช่าซื้อเรือฟริเกตชั้น Knox จำนวนรวม 6 ลำ ใช้งานได้สักพักเริ่มรู้ตัวว่าลำไหนเกินเยียวยา พอถึงปี 1998 จึงขอซื้อเรืออีก 3 ลำ เพื่อมาทดแทนของเดิม 2 ลำและเป็นอะไหล่1 ลำ โดยครั้งนี้เป็นการขายขาดม้วนเดียวจบ มีการปรับปรุงเรือทั้งลำมาให้เสร็จสรรพ โดยเฉพาะระบบเครื่องยนต์ซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากอเมริกาได้เปลี่ยนวิธีปล่อยของ จากการเช่าซื้อมาเป็นการโอนให้หรือ Transfer โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อซ่อมเรือด้วย

          เรือฟริเกตชั้น Knox ระวางขับน้ำเต็มที่ 4,260 ตัน ยาว 134 เมตร กว้าง 14.25 เมตร เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1969 ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว จรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC จรวดปราบเรือรบ Harpoon และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx เมื่อเรือพิฆาตชั้น Gearing ถูกปลดประจำการ เรือฟริเกตชั้น Knox จำนวน 7 จาก 8 ลำ ได้รับมรดกเจ้าคุณปู่ประกอบไปด้วย จรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 เรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง Signaal DA-08/2 เรดาร์ควบคุมการยิง Signaal STIR 180 และที่ขาดไม่ได้ก็คือระบบอำนวยการรบ H-930 Modular Combat System (MCS)

                                  

           ระหว่างปี 197x บริษัท Honey Well ได้พัฒนาระบบอำนวยการรบรุ่นใหม่ เข้าแข่งขันในโครงการ Next-generation Air Defense Destroyer โชคร้ายที่กองทัพเรือเลือกบริษัทUNISYS ผู้แพ้จึงนำสินค้ามาขายไต้หวันแบบยกชุด เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น H-930 Series Combat System มีหลายเวอร์ชั่นตามขนาดและอาวุธบนเรือ และด้วยอุปกรณ์ทันสมัยที่ได้รับมาใหม่นั้น เรือจึงสามารถติดตามเป้าหมายได้พร้อมกัน 24 เป้าหมาย และสามารถโจมตี 4 เป้าหมายในเวลาเพียง 8 วินาที!

           เรือฟริเกตชั้น Perry ซึ่งมีความทันสมัยกว่านั้น ยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 ได้ 1 นัดต่อ 10 วินาที และยิงจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ได้ 1 นัดต่อ 22 วินาที ทำไมความเร็วถึงแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว? เพราะเรือฟริเกตชั้น Knox ใช้แท่นยิงเดี่ยววางอยู่บนดาดฟ้า จึงยิงจรวดแทบจะพร้อมๆ กันได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาโหลดขึ้นมาจากแมกกาซีน

          แต่ก็มีข้อเสียใหญ่โตอยู่เหมือนกัน เรือสามารถบรรจุจรวดได้เพียง 10 นัด รวมทั้งแท่นยิงไม่สามารถหันทิศทางได้ ถ้าเหลือจรวดหันไปทางซ้ายอยู่ 3 นัด แต่ดันมีเครื่องบินบินมาทางขวา 2 ลำ กัปตันเรือมีทางเลือกอยู่ด้วยกัน 2 ทาง หนึ่งสั่งยิงจรวดไปทางซ้าย…พร้อมสวดมนต์ให้จรวดเลี้ยวกลับ 180 องศา สองหันหัวเรือให้ได้ถึง 90 องศา ก่อนสั่งยิงจรวดไปทางซ้าย…พร้อมสวดมนต์ให้จรวดเลี้ยวกลับ 90 องศา ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหนรับรองได้เลยงานนี้มีเสียว

          ในเมื่อมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แล้วลำไหนป้องกันภัยทางอากาศได้ดีที่สุด? คำตอบข้อนี้ต้องดูตามสถานการณ์ ถ้าตรวจพบเครื่องบิน 3 ลำบินเกาะกลุ่มกันมา ให้เรือฟริเกตชั้นKnox เปิดโหมดซัลโวจะดีที่สุด แต่ถ้าตรวจพบเครื่องบินจำนวนนับไม่ถ้วน บินมาจากทุกทิศทางเต็มท้องฟ้ากรุงไทเป ให้เรือฟริเกตชั้น Perry เปิดโหมดยิงไปเรื่อยๆ จะดีที่สุด เพราะบนเรือมีจรวด SM-1 มากสุดถึง 40 นัด แล้วให้เรือฟริเกตชั้น Knox คอยเก็บกวาดเป็นด่านสุดท้าย

                                      

          และนี่ก็คือมรดกตกทอดจากเรือพิฆาตชั้น Gearing เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 180 ที่กาลครั้งหนึ่งเรือหลวงนเรศวรของเราก็เคยมี เรดาร์ตรวจการณ์ Signaal DA-08/2 อยู่บนเสากระโดงโน่น (ของไต้หวันถูกปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม) ส่วนแท่นยิงจรวด SM-1 ตั้งอยู่ไกลๆ ด้านหลัง จะเห็นได้ว่าปล่องระบายความร้อนทาสีเทาอ่อน เสากระโดงเรือจึงมีสีอ่อนตามไปด้วย เรือหลวงพุทธของเราทาสีดำทั้งปล่องและเสากระโดง ข้อแตกต่างที่สามารถแบ่งแยกได้ด้วยสายตา

          ก่อนไปที่เรือลำอื่นขอปิดท้ายนิดหน่อย ระบบอำนวยการรบ H-930 Series Combat System ถูกกำหนดให้ติดบนเรือฟริเกตชั้น Ulsan ทั้ง 16 ลำ โดยแบ่งออกเป็นสองรุ่นเท่ากับเรือซึ่งมีสองเฟส โชคร้ายที่โครงการกลับตาลปัดหน้ามือหลังมือ H-930 จึงมีใช้งานแค่เพียงเรือฟริเกตชั้น Knox จำนวน 7 ลำ กับเรือตรวจการณ์ชั้น Ching Chieng อีก 5 ลำ

Kuang Hua V Indigenous design Corvettes

       โครงการเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ถูกเลื่อนออกไปก่อน เนื่องมาจากความวุ่นวายขายปลาช่อนของหลายโครงการ เดี๋ยวผู้เขียนจะวนมาใหม่อีกครั้งนะครับ ขอเขียนถึงโครงการที่ไม่ถูกยกเลิกให้แล้วเสร็จก่อน

Kuang Hua VI Stealth Missile Boat

       โครงการเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีรุ่นใหม่ เพื่อทดแทนเรือชั้น Dvora ที่มีขนาดเล็กเกินไป กำหนดให้สร้างเองในประเทศจำนวน 30+1 ลำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเนื่องจากเคยทำมาก่อน เรือต้นแบบ FACF-60 (Fast Guided Missile Patrol Craft) สร้างเสร็จในเดือนมีนาคม 2004 ก่อนที่ทุกลำจะเข้าประจำการครบในปี 2011 นี่คือโครงการที่เรียบง่ายที่สุดของไต้หวัน

                                      

          เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Kuang Hua VI หรือ KH-6 Missile Boat ระวางขับน้ำเต็มที่ 180 ตัน ยาว 34.2 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ติดจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II จำนวน 4 นัด ปืนกล 20 มม.1 กระบอก ปืนกล 12.7 มม.2 กระบอก ระบบเป้าลวง Kung Fen อีก 2 ระบบ มีเรดาร์เดินเรือ 1 ตัว ใส่เครื่องยนต์ดีเซลไว้ 3 ตัว พร้อมระบบขับเคลื่อน 3 ใบพัด ความเร็วสูงสุด36 นอต ราคาต่อลำอยู่ที่ 12.3 ล้านเหรียญหรือ 387 ล้านบาท สวย-เรียบ-หรู-ดูดี-ไม่มีปัญหา-จบข่าว!

Kuang Hua VII Indigenous Aegis Destroyer

          จากเรือลำเล็กสุดขอพามายังเรือลำใหญ่สุด หนึ่งในความต้องการมากที่สุดของไต้หวัน คือเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศติดระบบเอจิส จึงได้ขอซื้อระบบเอจิสในปี 2000 พ่วงไปกับแผน ‘Taiwan Naval Modernization’ มูลค่าหลายพันล้านเหรียญ แต่ทางอเมริกาไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่ ปฏิเสธกลับมาและเสนอระบบ Evolved Advanced Combat System (EACS)หรือ Aegis lite ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากันมาให้ ทว่าคนซื้อไม่เอาเพราะเข็ดมาจากเรือชั้น Perry แล้ว

           ปี 2002 ไต้หวันอยากลองของอีกสักครั้ง ด้วยการขอซื้อเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke จำนวน 4 ลำ โดยขอทุกอย่างเหมือนเรือติดธงชาติอเมริกา คราวนี้คนขายตอบตกลงแทบจะทันที โดยบอกคร่าวๆ ว่าพร้อมส่งมอบในปี 2010 ราคารวมอยู่ที่ 4.8 พันล้านเหรียญ หรือเท่ากับลำล่ะ 1.2 พันล้านเหรียญ คนอยากได้จึงตัดใจลาหันมามองแผนสำรอง

          หลังละครเรื่อง 'รักใสๆ หัวใจสี่ดวง’ ฉายตอนแรกในเมืองไทยได้ 19 เดือน หรือตรงกับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2002 ไต้หวันขอซื้อเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีชั้น Kidd จากอเมริกาจำนวน4 ลำวงเงิน 875 ล้านเหรียญ จับมาหารสี่ได้เท่ากับลำล่ะ 218.75 ล้านเหรียญ ต่อมาในปี 2007 ไต้หวันสั่งซื้อจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-2 Block IIIA จำนวน 144 นัดวงเงิน 272 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับนัดละ 1.888 ล้านเหรียญ ปิดฉากโครงการเรือพิฆาตระบบเอจิสที่ไม่มีระบบเอจิส

          กาลครั้งหนึ่งยังไม่นานเท่าไหร่ อิหร่านเปรยๆ ว่าอยากได้เรือพิฆาตอาวุธนำวิถี อเมริกาจึงเสนอเรือชั้น Spruance รุ่นปรับปรุงใหม่ให้ ต่อมาในปี 1979 อิหร่านเกิดการรัฐประหาร อเมริกาจึงนำเรือทั้ง 4 ลำมาใช้งานเอง กระทั่งปลดประจำการในปี 1999 ก่อนเข้าประจำการใหม่กับไต้หวันในปี 2005 ‘Hot Ship’ ลำนี้มีพิษสงรอบตัวไม่น้อยหน้าเรือลำไหน

                             

          เรือพิฆาตชั้น Kidd ระวางขับน้ำเต็มที่ 9,785 ตัน ยาว 171.6 เมตร กว้าง 16.8 เมตร ติดอาวุธจนล้นลำประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 2 กระบอก ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx 2 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II  8 นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 2 แท่นยิง (ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์) และแท่นยิงแฝด Mk 26 อีก 2 แท่นยิง ใส่จรวดต่อสู้อากาศยาน SM-2 ได้ 68 นัด หรือถ้าใส่จรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC เข้ามา 16 นัด จะเหลือพื้นที่ใส่จรวด SM-2 ได้อีก 50 นัด ไต้หวันยังขอปรับปรุงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLQ-32(V)3 บนเรือ ให้เป็นรุ่น SEWIP เหมือนกับเรือพิฆาตอเมริกา

          เรือลำนี้ติดเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AN/SPS-48E สามารถติดตามและกำหนดเป้าหมายแบบอัตโนมัติ ต่อมาในปี 199x อเมริกาได้ปรับปรุงเรือครั้งใหญ่ โดยติดเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ AN/SPS-49(V)5 เพิ่มเข้ามาที่เสากระโดงหน้า (จะเห็นได้ว่า AN/SPS-48E ใหญ่กว่า AN/SPS-49(V)5 พอสมควร) เรือมีเรดาร์ควบคุมการยิง AN/SPG-51D อยู่ 2 ตัว สามารถยิงจรวด SM-2 ได้พร้อมกัน 2 ทิศทาง ระบบควบคุมปืนใหญ่ 5 นิ้วก็อลังการไม่แพ้กัน ดูภาพถัดไปกันก่อนนะครับ

                                 

          นี่คือภาพถ่ายก่อนติดตั้งเรดาร์ AN/SPS-49(V)5 เรือลำนี้ใช้ AN/SPQ-9A ในการควบคุมปืนใหญ่ และใช้ AN/SPG-60 ทำงานร่วมกัน ภายใต้ระบบอำนวยการยิง Mk 92 Fire Control System ทำไมต้องมีถึง 2 ระบบ? ใช้แค่ AN/SPQ-9A ตัวเดียวไม่ได้เหรอ? ผู้เขียนคิดว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ภายในโดมสีขาวเป็นเรดาร์หมุนติ้วๆ ทั่วไปนี่แหละ ทำหน้าที่ตรวจจับเป้าหมายพื้นน้ำ 360 องศา แต่ถ้าอยากยิงจะต้องใช้ AN/SPG-60 นำวิถีให้กับปืนใหญ่ (เท่าที่ทำได้ เพราะลูกกระสุนโดยทั่วไปไม่นำวิถี)

          ที่ต้องทำให้มันวุ่นวายนั้นมีสาเหตุ เพราะมีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วที่หัวเรือกับท้ายเรือ ป้องกันตนเองได้รอบด้านโดยไม่มีจุดบอด หลักในการควบคุมปืนต้องแยกเป็นอิสระได้ เรดาร์ในAN/SPQ-9A จึงทำงานฉายเดี่ยวตลอดเวลา ถึงระบบอำนวยการรบล่มก็ยังทำงานได้ เรือรบอเมริกาอีกหลายลำก็ใช้วิธีการนี้ เฉพาะลำที่มีปืนใหญ่ 5 นิ้ว 2 กระบอกนะครับ

          เมื่อ AN/SPS-49(V)5 ถูกติดตั้งบนเรือแล้ว AN/SPG-60 จึงถูกโยกไปอยู่เสากระโดงรอง โดนบังมุมเล็กน้อยแต่ไม่ส่งผลมากนัก ภาพนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า AN/SPG-51Dขนาดใหญ่กว่า AN/SPG-60 พอสมควร และ AN/SPG-60 ซึ่งใช้นำวิถีจรวด SM-1 บนเรือชั้น Perry นั้น แท้จริงแล้วผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานกับปืน 5 นิ้ว

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 19/02/2019 11:42:27


ความคิดเห็นที่ 4


          กลับมาที่เรือคอร์เวตรุ่นใหม่กันอีกครั้ง หลังจัดการความวุ่นวายโครงการอื่นเสร็จแล้ว โครงการนี้จึงเริ่มเดินหน้าในปี 2010 แบบเรือถูกพัฒนาโดย Naval Shipbuilding Centerพวกเขาเลือกสร้างเรือท้องแฝดหรือ Catamaran ใช้เทคโนโลยีลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ ที่ได้มาจากฝรั่งเศสตอนซื้อเรือฟริเกต Lafayette เริ่มสร้างเรือต้นแบบในอีก 2 ปีต่อมา ก่อนที่ PGG-618 Tuo Chiang จะเข้าประจำการปี 2014 รูปร่างหน้าตาเหมือนกบตั้งท่ากระโดด ไต้หวันต้องการจำนวน 12 ลำด้วยกัน

                              

           เรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang ระวางขับน้ำเต็มที่ 600 ตัน ยาว 60.4 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคู่กับระบบวอเตอร์เจ็ท ความเร็วสูงสุดมากถึง 40 นอต ติดปืนใหญ่76/62 1 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II 8 นัด จรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng III อีก 8 นัด ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 2แท่นยิง ท้ายเรือมีลานจอดอากาศยานไร้คนขับ หรือติดตั้งตู้คอนเทรนเนอร์เอนกประสงค์ ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง CS/SPG-6N เหมือนเรือตรวจการณ์ชั้น Ching Chieng แต่ย้ายเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติขึ้นไปอยู่บนเสากระโดง

                                

           ส่องมุมอื่นของเรือกันบ้างนะครับ ภายในสี่เหลี่ยมสีแดงคือด้านข้างตัวเรือ เจาะช่องระบายความร้อนให้กับจรวด 2 ช่องไม่ตรงกัน ส่วนช่องเล็กๆ ซ้ายมือสำหรับปล่อยตอร์ปิโด บริเวณท้ายเรือมีรูโบ๋เพราะเป็นเรือท้องแฝด กราบซ้ายเป็นช่องปล่อยโซนาร์ลากท้าย ส่วนกราบขวามือเป็นช่องปล่อยเรือเล็ก ซึ่งถ้าเปิดออกมาจะเป็นดังภาพต่อไปนี้

                                   

           โซนาร์ลากท้าย VDS (Variable Depth Sonar) ขนาดค่อนข้างเล็ก ประสิทธิภาพตามขนาดนั่นแหละครับ ไต้หวันใช้งานในเขตน้ำตื้นหรือใกล้ฝั่ง รวมทั้งแถวท่าเรือต่างๆ ที่มีความสำคัญ ส่วนเรือยางมีขนาดเล็กไปบ้าง การขึ้นลงจากเรือดูวุ่นวายไปบ้าง แต่ไม่น่ามีปัญหาเพราะปรกติไม่ค่อยใช้งาน นอกจากระบบเป้าลวงกับระบบ ESM แล้ว ยังมีระบบแจ้งเตือนการถูกตรวจจับด้วยเลเซอร์ อุปกรณ์ตัวนี้เรือฟริเกตลำใหม่ของเรายังไม่มี และ SAAB มีสินค้าพร้อมส่งมอบ 24 ชั่วโมง

          เรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang ถูกตั้งชื่อเล่นว่า ‘Carrier Killer’ เพราะมีความเร็วสูงมาก มีลูกยาวและลูกยาวกว่าถึง 16 นัด ออกแบบให้ทนทะเลถึงระดับ 7 หมายความว่าตัวเรือยังไม่แตกหัก แต่คนบนเรือซึ่งยาวเพียง 60 เมตรคงเมากันเละ เพราะฉะนั้นเรือลำนี้จะแล่นอยู่แถวๆ ช่องแคบไต้หวัน เป็นจ่าฝูงเรือชั้น Kuang Hua VI ซึ่งติดอาวุธน้อยกว่าอีกที

          ผู้อ่านรู้จักเรือจาก Kuang Hua Program ครบทุกลำแล้ว ทว่าเรื่องราวกองทัพเรือไต้หวันนั้นยังไม่จบ ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอีกตั้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรือดำน้ำ อาวุธที่ไต้หวันพัฒนาขึ้นมาเอง รวมทั้งเรือรุ่นใหม่ที่จะถูกสร้างในอนาคต ผู้เขียนต้องขอยกยอดไปตอนถัดไป ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อนะครับ ;)

                                                ----------------------------------------

อ้างอิงจาก

http://global-mariner.com/index113Frigates-Taiwan.html

http://global-mariner.com/index113Destroyers-Taiwan.html

https://sputniknews.com/asia/201811031069468863-Taiwan-Live-Fire-Drills-US-Buy/

https://en.wikipedia.org/wiki/Republic_of_China_Navy

http://www.navypedia.org/ships/taiwan/tai_es_chiyang.htm

http://navlog.org/taiwan_kidds.html

http://www.navsource.org/archives/05/993.htm

http://m.focustaiwan.tw/news/aipl/201812090011.aspx

http://www.navsource.org/archives/05/837.htm

https://en.wikipedia.org/wiki/Gearing-class_destroyer

https://www.globalsecurity.org/military/world/taiwan/chi-yang.htm

http://www.navypedia.org/ships/taiwan/tai_index.htm

http://cmano-db.com/sensor/

http://www.mdc.idv.tw/mdc/navy/rocnavy/PG603.htm

https://m.xuite.net/blog/rudolph/garden/259833653

http://www.mdc.idv.tw/mdc/navy/rocnavy/ch.htm

http://www.ussbrewton.com/ffg933_pics.htm

http://www.shipmodels.info/mws_forum/viewtopic.php?f=13&t=50789

http://www.seaforces.org/usnships/ddg/Kidd-class.htm

เอกสารรายงานเรื่อง : Taiwan: Major U.S. Arms Sales Since 1990

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 19/02/2019 11:45:12


ความคิดเห็นที่ 5


ยาวมากครับ กว่าจะอ่านจบ  ฮ่าๆๆ ขอบคุณสำหรับบทความครับ

โดยคุณ akekolos เมื่อวันที่ 19/02/2019 22:13:08


ความคิดเห็นที่ 6


ยาวมากครับ กว่าจะอ่านจบ  ฮ่าๆๆ ขอบคุณสำหรับบทความครับ ///  รบกวนแอดมินลบความเห็นนี้หน่อยครับ เหมือนจะกดเด้งมา 2 ครั้ง...

โดยคุณ akekolos เมื่อวันที่ 19/02/2019 22:13:08


ความคิดเห็นที่ 7


ขอบคุณท่าน superboy อีกครั้งครับ แอบอ่านมาหลายตอน ชอบทุกบทความครับ 

โดยคุณ DEKO เมื่อวันที่ 03/03/2019 16:33:28


ความคิดเห็นที่ 8


ไม่ต้องแอบอ่านก็ได้ครับ ลงมา 2 อาทิตย์บทความผมมีคนอ่าน 86 ครั้งเอง ฮาาาาา..... (ในบล๊อกต้นฉบับนะ)

 

บทความต่อไปตั้งใจว่าจะเป็นเรื่อง F-16 ตอนจบ (ยังจำกันได้ไหมหนอ) ต้องเขียนค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน หรือ Cost Per Flight Hour เสร็จเสียก่อนเพราะเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวเนื่องกัน จากนั้นค่อยวนลูปมาเขียนกองทัพเรือไต้หวันตอนจบอีกที แต่อาทิตย์นี้ขอแวะดมควันพิษในกรุงเทพเสียก่อน เจอกันได้ที่ศาลพระพรหมตอน 5 โมงเย็น ถถถถถ

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 03/03/2019 20:46:46