มีบทความมาให้ปวดตากันอีกแล้ว เนื่องมาจากเรื่องนี้มีคนเขียนถึงน้อยมาก เนื้อหาจึงอาจยาวและหนักกว่าปรกติไปบ้าง ลองอ่านกันดูแล้วกันนะครับ ถ้ายากเกินไปเดี๋ยวคราวหลังจะเขียนให้ยากกว่าเดิม อ้าว!
ต้นฉบับครับ ----------------> PGF-2 Taiwan Guide Missile Frigate
เรือฟริเกตอาวุธนำวิถีของไต้หวัน
เดือนพฤษภาคมปี 1973 สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณ 202 ล้านเหรียญ ใช้เป็นก้าวแรกของโครงการ FFG-7 Guide Missile Frigate หรือเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry(ต่อไปผู้เขียนจะเรียกสั้นๆ ว่าเรือชั้น Perry) แบ่งเป็นค่าสร้างเรือลำแรก 94.4 ล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นค่าดำเนินการและส่วนอื่นๆ เริ่มสร้างเรือวันที่ 31 มกราคม 1975 ก่อนส่งมอบในวันที่ 30พฤศจิกายน 1977 เท่ากับว่าใช้เวลาเพียง 34 เดือน ในการสร้างเรือรบที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร
เรือลำนี้เคยถูกกำหนดให้เป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์ หรือ Patrol Frigate (ใช้ตัวย่อว่า PF) เพื่อทดแทนเรือรบเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีการประเมินมูลค่าการสร้างเรือ 50 ลำไว้ที่ 3.2 พันล้านเหรียญ หรือ 64.8 ล้านเหรียญต่อลำ ทว่าถึงปี 1978 ตัวเลขขยับมาที่ 10.1 พันล้านเหรียญต่อ 52 ลำ หรือ 194 ล้านเหรียญต่อลำ เพราะค่าต่อเรือสูงขึ้นกว่าเดิม และมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ทั้งระบบเรดาร์ ระบบสื่อสาร ระบบช่วยในการทรงตัว รวมทั้งโซนาร์ลากท้ายและระบบป้องกันระยะประชิดที่พัฒนาใกล้เสร็จ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ถึงหรอกครับ ราคาเฉลี่ยประมาณ 125-130 ล้านเหรียญต่อลำ
FFG-7 ถูกเรียกว่าเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีก็จริง แต่มีภารกิจหลักในการปราบเรือดำน้ำ มีความแตกต่างจากเรือฟริเกตชั้น Knox ซึ่งมีอายุมากกว่าแค่ 10 ปีชนิดหน้ามือหลังมือ เพราะมีแบบเรือไม่เหมือนกัน แนวคิดในการใช้เรือไม่เหมือนกัน ระบบขับเคลื่อนไม่เหมือนกัน ระบบเรดาร์ไม่เหมือนกัน ระบบโซนาร์ไม่เหมือนกัน ระบบอาวุธก็แทบไม่เหมือนกัน ใช้งานร่วมกันได้แค่ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ ปืนกล 12.7 มม. กับระบบป้องกันระยะประชิดซึ่งติดตั้งในภายหลัง
แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกันอยู่บ้าง คือสร้างขึ้นมาเพื่อทำสงครามกับโซเวียต จะต้องวิ่งตามเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ให้ทัน และตามได้ทันโดยที่น้ำมันไม่หมดกลางทาง เรือทั้ง 2 ลำมีระยะปฏิบัติการ 4,500 ไมล์ทะเล ที่ความเร็วเดินทาง 20 นอต ขณะที่เรือรบชาติอื่นกำหนดไว้ที่ 18 นอต ตัวเลขต่างกันนิดเดียวก็จริง แต่ถ้านับ 1 วันจะอยู่ห่างกัน 48 ไมล์ทะเล และนับ 2 วันจะอยู่ห่างกัน 96 ไมล์ทะเล เริ่มต่างกันมากขึ้นอย่างชัดเจน มาตรฐาน 20 นอตน่าจะมีมาได้สักระยะหนึ่ง เรือฟริเกตชั้น Garcia ขนาด 2,600 ตันซึ่งเข้าประจำการปี 1964 ยังมีระยะปฏิบัติการ 4,000 ไมล์ทะเล ที่ความเร็ว 20 นอต
เรือชั้น Perry ลำนี้ผ่าเหล่าผ่ากอเรือรบอเมริกาทุกลำ ปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว กับแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC อันเป็นอาวุธหลักนั้นหายเรียบ แต่ได้จรวดต่อสู้อากาศยาน SM1กับปืนใหญ่ 76/62 ในตำแหน่งแปลกพิกลเข้ามาแทน แรกสุดปืนใหญ่ 76/62 ยังไม่มีในแบบเรือ อเมริกาอยากได้ปืนกลต่อสู้อากาศยาน 35 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น GMD-C โชคร้ายผู้ผลิตสร้างไม่ทันตามกำหนด ติดขัดปัญหาเยอะมากจนโครงการถูกยกเลิก ปืนใหญ่ 76/62 ก็เลยส้มหล่นคนจะรวยช่วยไม่ได้
อย่างที่บอกไปว่าเรือชั้น Perry แตกต่างจากเรือเก่าค่อนข้างมาก ทำให้สร้างเรือได้เร็วกว่าเดิม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ถูกลงกว่าเดิม (ไม่นับเงินเฟ้อ) การซ่อมบำรุงทำได้ง่ายกว่าเดิม ห้องทำงาน ห้องพัก ห้องเก็บของ หรือห้องต่างๆ ภายในเรือดีกว่าเดิม ส่งผลมายังประสิทธิภาพการทำงาน และในเมื่ออะไรต่อมิอะไรมันง่ายขึ้นแล้ว ลูกเรือจึงสามารถใช้ชีวิตได้ดียิ่งกว่าเดิม
ในภาพจะเห็นแท่นยิง Mk 13 สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน SM1 และหรือจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวนรวม 40 นัด (32+8) ห้องทำงานแต่ละระบบแยกจากกัน มีห้องพักผ่อน ห้องนันทนาการ มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ SH-2 Seasprite ถึง 2 ลำ (ลำหลังๆ ปรับปรุงให้รองรับเฮลิคอปเตอร์ SH-60 Seahawk) บั้นท้ายเรือฝั่งซ้ายที่เป็นตุ่มกลมก็คือโซนาร์ลากท้ายระยะไกล AN/SQR-19 Towed Array Sonar หรือ TAS ฝั่งขวามือเห็นเป็นเหลี่ยมยาวสีดำก็คือเป้าลวงตอร์ปิโด SLQ-25 Nixie ทั้ง 2 ระบบนี้ยังมีการพัฒนาและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงทีเดียว
เรือชั้น Perry มีความโดดเด่นอย่างชัดเจน จึงมีประเทศพันธมิตรจำนวนหลายราย ถูกอกถูกใจแล้วได้จัดหาไปใช้งาน ทั้งเรือใหม่ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย หรือเรือมือสองตามโครงการโน่นนั่นนี่นุ่นแน่ จึงมียอดรวมทั้งหมดมากถึง 71 ลำ ปัจจุบันเรือชั้นนี้ยังคงรับใช้ทุกประเทศอยู่ ยกเว้นอเมริกาซึ่งทยอยปลดประจำการครบทุกลำ
ผู้เขียนอารัมภบทพอสมควรแล้ว ขอพาผู้อ่านเดินทางมายังเกาะไต้หวัน ซึ่งมีภัยคุกคามขนาดใหญ่ก็คือประเทศจีน มาเคาะประตูบ้านให้ขวัญผวากันทุกเช้าเย็น ไต้หวันจำเป็นต้องมีเรือรบป้องกันตนเอง จำนวนมากที่สุดเท่าที่ตนเองสามารถหาได้ ในยุค 80 พวกเขามีแต่เรือเก่าสมัยสงครามโลก อเมริกาให้เช่าบ้าง ใช้เงินตัวเองซื้อมาบ้าง ถึงจะปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น ติดอาวุธรุ่นใหม่ชนิดล้นลำ แต่ตัวเรือมันเก่ามากจนไปต่อไม่ไหว กองทัพเรือจึงได้ผุดแผนการขนาดใหญ่ขึ้นมา
‘Kuang Hua’ คือแผนจัดหาเรือรบชนิดต่างๆ เข้ามาประจำการ โดยมีตั้งแต่ Kuang Hua I ไปจนถึง Kuang Hua VII ผู้เขียนขอพามายังโครงการ Kuang Hua I หรือโครงการจัดหาเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีรุ่นที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญในอันดับต้นๆ โครงการหนึ่ง เพราะไต้หวันต้องการเรือรบใหม่เอี่ยมมากถึง 8 ลำ
ก่อนหน้านี้พวกเขาก็มีเรือฟริเกตอาวุธนำวิถี โดยการนำเรือพิฆาตชั้น Gearing จำนวน 7 ลำ มาปรับปรุงใหม่ตามโครงการ Wu Chin Batch III มีการติดปืนใหญ่ 76/62 มม. ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด Phalanx จรวดต่อสู้อากาศยาน SM1 ท่อยิงเดี่ยวจำนวน 10 ท่อยิง ใช้ STIR-180 ของThales เป็นเรดาร์ควบคุมการยิง จรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC กับตอร์ปิโดเบาก็ยังอยู่ รวมทั้งปืนกล 40 มม.และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 500MD ASW
โครงการ Kuang Hua I หรือ PFG-2 Guide Missile Frigate เป็นการหาเรือใหม่ทดแทนเรือชั้น Gearing ในอนาคต เต็งหามโครงการนี้คือเรือฟริเกตชั้น Lupo จากอิตาลี ซึ่งมีระวางขับน้ำไม่ใกล้ไม่ไกลจากเรือเก่า ปัญหามีอยู่เล็กน้อยตรงที่ว่า Lupo ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Aside ได้ 8 นัด โดยไม่มีแมกกาซีนสำรองอัตโนมัติ (ไต้หวันจะติดจรวด Ses Sparrowของอเมริกา) ทำให้เรือใหม่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าเรือเก่า ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามแข็งแกร่งมากขึ้นทุกวัน
งานนี้จึงได้มีการปรับปรุงแบบเรือ ปืนใหญ่ 5 นิ้วถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่ 76/62 มม. โดยที่ปืนจะถูกขยับไปข้างหน้าเล็กน้อย ให้เหลือที่ว่างติดจรวดต่อสู้เรือรบ Hsiung Feng IIจำนวน 8 นัด ที่ว่างที่เหลือใส่จรวดต่อสู้อากาศยาน SM1 ให้มากที่สุด แต่มากที่สุดก็แค่ไม่เกิน 12 นัด แลกกับทุกตารางนิ้วของเรือมีแต่จรวด…จรวด…แล้วก็จรวด เรือหนักขึ้นกว่าเดิม โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าเดิม โอกาสรอดในการทำสงครามน้อยกว่าเดิม โดยไม่มีหลักประกันว่าจะใช้งานได้ดีตามราคาคุย
อเมริกาเห็นดังนั้นจึงนำเรือชั้น Perry เข้ามาเสียบ พร้อมข้อเสนอให้สร้างเรือทั้ง 8 ลำในไต้หวัน โอกาสทองฝังเพชรแบบนี้มีแค่ครั้งเดียว ไต้หวันตอบตกลงพร้อมยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม การพูดคุยเริ่มต้นในปี 1987 มีการสร้างเรือลำแรก PFG-1101 Cheng Kung ในเดือนธันวาคม 1990 และเข้าประจำการในเดือนพฤษภาคม 1993 (ใช้เวลาน้อยมากจนน่าตกใจ) ส่วนลำที่ 8ซึ่งเป็นลำสุดท้ายเข้าประจำการปี 2004 ชมภาพเรือฟริเกตสร้างในไต้หวันกันก่อนดีกว่า
เรียวแหลมสมส่วนคล้ายแท่งดินสอเหมือนต้นฉบับ ผู้เขียนคิดถึงเครื่องบิน F-104 Starfighter ไม่ผิดจากนี้ แต่ในความเหมือนย่อมมีความแตกต่าง ไต้หวันมีความต้องการมากกว่าอเมริกา เราตามเข้ามาส่องระยะใกล้ๆ กันดีกว่า
เท่านี้น่าจะชัดเจนแล้วว่า มีอาวุธและอุปกรณ์บางอย่างติดตั้งเพิ่มเติม เริ่มจากฝั่งขวามือสุดของภาพ เป็นปืนกล 40 มม.Bofors 40L70 ครอบด้วยป้อมปืนชนิดเต็มรุ่นเดียวกับกองทัพเรือไทย ถัดมาระหว่างเสากระโดงเรือ 2 อัน ที่เห็นเป็นกล่องสี่เหลี่ยมซ้อนสองขนาดเล็กและใหญ่ สิ่งนี้คือจรวดต่อสู้เรือรบ Hsiung Feng II กับ Hsiung Feng III จำนวน 8 นัด โดยในช่วงแรกติดแค่ Hsiung Feng II จำนวน 8 นัด กับจรวดต่อสู้อากาศยาน SM1 มากสุด 40 นัด
ต่อมาในปี 2007 ไต้หวันจึงได้นำจรวดต่อสู้เรือรบ Hsiung Feng III ซึ่งมีระยะยิง 400 กิโลเมตร มาทยอยติดตั้งคละเคล้ากับรุ่นเดิม และปรับปรุงให้แท่นยิง Mk 13 ยิงจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ได้มากสุด 8 นัด ทำให้เรือตนเองติดจรวดต่อสู้เรือรบมากถึง 16 นัด กับจรวดต่อสู้อากาศยาน SM1 มากสุด 32 นัด รองรับภัยคุกคามจากจีนซึ่งมีเรือรบมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากไต้หวันจะติดตั้งอาวุธเพิ่มเติมแล้ว พวกเขายังมีของเล่นใหม่อีกด้วย ซ้ายมือของภาพบริเวณสะพานเดินเรือ ที่อยู่ข้างๆ แพยางช่วยชีวิตหรือ LIFERAFT ที่มีรูปร่างคล้ายตัวทีสีขาวนั่นแหละครับ อุปกรณ์ชิ้นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Sidekick’
มาดูภาพเรือชั้น Perry ของอเมริกาในยุคปี 198x กันบ้างนะครับ จะเห็นได้ว่าแพยางช่วยชีวิต 2 อันถูกวางเรียงกัน แต่ไม่ได้ซ้อนกันเหมือนเรือของไต้หวัน เพราะยังไม่มีการติดตั้งSidekick เข้าไปนั่นเอง
แล้วอุปกรณ์สิ่งนี้คืออะไร? แรกเริ่มเดิมทีเรือชั้น Perry ติดติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLQ-32(V)2 ซึ่งเป็นรุ่นเล็กเพื่อใช้บนเรือขนาดเล็ก จึงมีแค่ตัวดักจับและแจ้งเตือนการแพร่คลื่นเรดาร์ (ระบบ ESM) กระทั่งต่อมาในปี 1987 เรือฟริเกต USS Strak โดนจรวดต่อสู้เรือรบของอิรัคเข้าไป 2 นัด เรือเสียหายหนักและมีคนตายนับสิบ อเมริกาไม่อาจทนนิ่งเฉยต่อไปได้อีก จึงพัฒนาอุปกรณ์รบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์ (ระบบ ECM) หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าตัวแจมเรดาร์เข้ามาติดตั้งเพิ่มเติม สิ่งนั้นก็คือ ‘Sidekick’ ของผู้เขียนนั่นเอง
ภาพนี้คือเรือชั้น Perry ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่แล้ว (แต่ไม่ทุกลำ) อเมริกาจัดเต็มในเรื่องสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในปี 1987 วงกลมสีเหลืองด้านบนคือAN/SLQ-32(V)2 เยื้องมาทางขวามือเป็นท่อยิงสี่เหลี่ยม 2 ท่อ คือระบบเป้าลวง Nulka ส่วนวงกลมสีเหลืองด้านล่างคือ Sidekick ถัดไปด้านหลังเป็นจานดาวเทียมรุ่นเก่า ถัดไปอีกหน่อยเป็นท่อยิงเล็กๆ คือระบบเป้าลวง Mk 36 SRBOC และที่เห็นกลมๆ ด้านหลังเสากระโดงคือจานดาวเทียมรุ่นใหม่
ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ทำงานโดย AN/SLQ-32(V)2 กับ Sidekick จะรับส่งข้อมูลผ่านมายังตู้ Rack สายไฟยั้วเยี้ย ก่อนแปลงสารแล้วส่งต่อมาที่หน้าจอคอนโซล ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามระเบียบและคำสั่งต่อไป โดยมีการเชื่อมโยงกับระบบเป้าลวง Nulka และ Mk 36 SRBOC โดยที่ระบบจะสั่งยิงเป้าลวงอย่างอัตโนมัติ ถ้าตรวจพบจรวดวิ่งเข้ามาในระยะอันตราย เห็นภาพนี้แล้วคิดถึง AS400 ราคา 5 ล้านสุดหัวใจ ผู้อ่านคนไหนทันยุครุ่งเรืองของ IBM บ้างเอ่ย
เห็นภาพรวมเรือฟริเกตไต้หวันกันไปแล้ว แต่ยังมีบางอย่างที่ผู้เขียนยังไม่ได้เขียนถึง สิ่งนั้นก็คือแผนการแรกสุดไม่ใช่แบบนี้ พวกเขาต้องการต่อเรือชั้น Perry จำนวน 8 ลำก็จริง แต่ต้องการเรือต้นฉบับเพียง 2 ลำ ส่วนอีก 6 ลำอยากให้มีสมรรถนะสูงกว่าเดิม มีการเสนอแบบเรือใหม่เพิ่มเติมเข้ามาให้เลือก และแบบเรือลำนี้เข้าตากรรมการมากที่สุด
PFG-2 Batch II ปรับปรุงจากแบบเรือเก่า มีความยาวมากขึ้น 5.18 เมตร Superstructure ออกแบบใหม่ หัวเรือติดปืนใหญ่ 76/62 มีระบบแท่นยิงแนวดิ่ง Mk 41 จำนวน 32 ท่อยิง สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-2 และ Sea Sparrow ใช้ระบบเรดาร์ FARS หรือ Frigate Array Raday System ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่าเรดาร์ SPY-1F (รุ่นเล็กสุด) และมีชื่อเล่นว่าMini-Aegis กันเลยทีเดียว มีเรดาร์ควบคุมการยิง STIR-240 จำนวน 2 ตัว ใช้ระบบอำนวยการรบ UNISYS ใช้ระบบปราบเรือดำน้ำเทียบเท่าลำเดิม มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิดPhalanx อีก 2 ระบบ โดยที่เรือมีระวางขับน้ำแค่ 4,300 ตัน
ไต้หวันจะสร้าง PFG-2 Batch II จำนวน 2 ลำก่อน จากนั้นจะทยอยตามมาอีก 4 ลำ มีการตั้งชื่อกับหมายเลขไว้แล้ว โชคร้ายที่ระบบ UNISYS หรือ Advance Combat Systemต้องพัฒนาอีกพอสมควร ตัวเลขค่าใช้จ่ายจึงสูงมากขึ้นทุกที ส่วนโครงการก็ล่าช้ากว่ามากขึ้นทุกที ขณะที่รัฐบาลก็เริ่มกดดันมากขึ้นทุกที กองทัพเรือต้องลดจำนวนเรือลงไปเรื่อยๆ จนเหลือลำเดียวเพื่อให้โครงการนี้ยังไม่ล่ม แต่สุดท้ายไม่ไหวจำเป็นต้องปล่อยมือ เรือทั้ง 8 ลำจึงเหมือนเรือต้นฉบับทุกประการ
จากภาพสีจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า PFG-2 Batch II หน้าตาคล้ายคลึงเรือฟริเกต F-100 ของสเปน ภาพนี้ผู้เขียนขโมยมาจากท่านจูดาสอีกที วันไหนเจอหน้าจะเลี้ยงขนมครก 2 ฝาอย่าลืมทวงเน่อ ;)
อย่างที่บอกไปว่าไต้หวันได้พยายามยื้อ อย่างน้อยมีเรือสมรรถนะสูง 1 ลำเป็นการเปิดหัว และนี่ก็คือหนึ่งทางเลือกใหม่ บริษัท Gibbs & Cox ผู้สร้างเรือชั้น Perry ได้เสนอแบบเรือชื่อ PFG-2 Phase II สำหรับสร้างเรือลำสุดท้าย ความยาวเรือเท่าของเดิม ลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เหมือนเดิม ปล่องระบายความร้อนกับจุดปล่อยเรือเล็กปรับปรุงเล็กน้อย ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ 2 แท่นยิงกลางเรือ ซึ่งอาจจะเป็น RAM รุ่น 8 ท่อยิงที่ถูกยกเลิก สะพานเดินเรือร่นถอยหลังประมาณ 10 เมตร เพื่อติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 จำนวน 32ท่อยิงแบบยกสูง และมีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วที่หัวเรือ
แบบเรือมีความยาวเท่าเดิม Superstructure ก็เป็นของเดิม ใช้เรดาร์ Phased Array รุ่น ADAR-N ซึ่งก็คือเรดาร์ SPY-1F ขนาดย่อส่วนลงมา มีเรดาร์ควบคุมการยิง TR76 บนสุดเสากระโดงเรือ ทำงานคู่กับออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ ถ้าให้ผู้เขียนเดา TR76 ก็คือระบบ AN/SPQ-9A นั่นเอง อเมริกาใช้งานกับปืนใหญ่ 5 นิ้ว Mk 45 บนเรือรบตัวเอง ติดตั้ง Slave Illuminators จำนวน 2 ตัวสำหรับนำวิถีจรวด ผู้เขียนไม่กล้าคาดเดาเพราะมีโดมครอบคลุมมิดชิด
ถึงแม้ PFG-2 Phase II จะมีราคาถูกลง รวมทั้งมีการเสนอเรดาร์ ADAR-N ใช้งานบนฝั่งให้กับกองทัพบกไต้หวัน แต่โครงการได้ถูกยกเลิกในปี 1994 เพราะระบบอำนวยการรบยุ่งยากซับซ้อนเกินเหตุ อีกทั้งไต้หวันไม่อยากเป็นชาติแรกและอาจจะชาติเดียวที่ใช้ระบบนี้ หรือพูดกันง่ายๆ ว่าไม่เชื่อในคำกล่าวอ้าง ก่อนตัดสินใจสร้างเรือลำที่ 8 ด้วยแบบเรือเดิม
ชมภาพเรือทั้ง 2 ลำกันให้ชัดๆ เลยนะครับ ไม่เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์แค่พอมองภาพรวมออก
เมื่อโครงการ Kuang Hua II ได้สิ้นสุดลง กองทัพเรือไต้หวันจึงไปวุ่นวายโครงการอื่นต่อ วันเวลาผ่านพ้นเข้าสู่ปี 201x อเมริกาทยอยปลดประจำการเรือชั้น Perry ปีล่ะลำสองลำ และมีโครงการแด่เพื่อนพ้องน้องพี่เราสองสามคน เสนอขายเรือปลดประจำการในราคาย่อมเยา ไต้หวันเห็นดังนั้นจึงรีบติดต่อว่าจะเอาๆๆ โดยอยากได้ถึง 8 ลำไม่ค่อยจะโลภเท่าไหร่เลย
แรกสุดไต้หวันขอซื้อเรือ 2 ลำก่อน ติดอาวุธครบถ้วนตั้งวงเงินไว้ที่ 240 ล้านเหรียญ อเมริกาไม่มีปัญหาแม้แต่นิดเดียว อยากได้ลำไหนชี้มาเดี๋ยวติดป้ายจองให้ แต่การขายเรือต้องเสนอเข้าสู่สภาคองเกรส โดยเป็นการขายเรือหลายลำให้กับหลายประเทศ ปัญหาอยู่ที่ตุรกีและปากีสถาน ทำตัวเองให้มีปัญหาจากเรื่องในประเทศ ผู้เสนอเรื่องจำเป็นต้องถอนออกมาถึง 2ครั้ง สุดท้ายตัดสินใจส่งแค่ชื่อไต้หวันกับเม็กซิโก มีการอนุมัติในวันที่ 18 ธันวาคม 2014 ล่าช้าไปเกือบ 2 ปีเล่นเอาลุ้นแทบแย่
วันที่ 13 พฤษภาคม 2017 PFG-1112 Feng Chia กับ PFG-1115 Ming Chuan เดินทางมาถึงไต้หวันโดยสวัสดีภาพ เรือรบ 2 ลำมีมูลค่ารวม 190 ล้านเหรียญ เป็นค่าซ่อมคืนสภาพเรือ 74 ล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นค่าซ่อมอุปกรณ์ ระบบอาวุธ ระบบสื่อสาร รวมทั้งติดตั้งแท่นยิง Mk 13 ที่หัวเรืออีกครั้ง เรือจึงมีทุกอย่างเหมือนในปี 199x รวมทั้งโซนาร์ลากท้ายกับเป้าลวงตอร์ปิโดท้ายเรือ ไต้หวันยังมีเรืออยู่ในมืออีก 2 ลำ ซึ่งอเมริกาเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อนาคตจึงอาจจัดหาเพิ่มเติมก็เป็นได้
ได้เรือมาแล้วไต้หวันนำมาทดสอบใช้งาน รวมทั้งติดตั้งอะไรต่อมิอะไรตามต้องการ จากภาพถ่ายเห็นของแปลกกันบ้างไหมครับ? ถ้ายังไม่เห็นเดี๋ยวผู้เขียนเฉลยให้อีกที ทว่าตอนนี้ขอพูดถึงเรื่องอื่นกันก่อน เรื่องนั้นก็คือ…เรือชั้น Perry ใช้งานจรวด SM-1 ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
SM1-MR (RIM-66B Standard Medium Range) เป็นจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลาง เข้าประจำการในปี 1967 ระยะยิงไกลสุด 19 ไมล์ทะเลหรือ 30.6 กิโลเมตร ยิงได้สูง60,000-80,000 ฟิต ความเร็วสูงสุด 2.5 มัค ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล 3 มิติ AN/SPS-48 ในการตรวจจับเป้าหมาย คู่กับเรดาร์ควบคุมการยิง AN/SPG-51 ในการล็อกเป้าหมายและนำวิถี ผู้เขียนใช้ตัวเลขจากรายงานกองทัพเรืออเมริกา คิดว่าน่าจะชัดเจนหรือใกล้เคียงมากที่สุด
ส่วน SM1-ER (RIM-67B Standard Extended Range) ซึ่งเป็นจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล อเมริกาหยุดใช้งานตั้งแต่ปี 1974 แล้วนำจรวด SM2-ER (RIM-67C Standard 2 Extended Range) เข้ามาทดแทน โดยใช้งานกับแท่นยิงแฝด Mk 26 หรือแท่นยิงแนวดิ่ง Mk 41 เท่านั้น เพราะฉะนั้นเรือชั้น Perry จึงไม่เคยใช้งานทั้งจรวด SM1-ER และ SM2-ER
ที่ผู้เขียนบอกว่าใช้งานจรวดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนั้น เนื่องมาจากเรือชั้น Perry ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล 2 มิติ AN/SPS-49 และใช้เรดาร์ควบคุมการยิง WM25 ทำงานคู่กับAN/SPG-60 สำหรับนำวิถีจรวด ปัญหาก็คือเรดาร์ 2 มิติบอกตำแหน่งกับความเร็วเป้าหมายได้ แต่บอกค่าความสูงที่ถูกต้องไม่ได้ ข้อมูลที่ได้รับจาก AN/SPS-49 จึงมีแค่เพียงน้ำจิ้ม WM25กับ AN/SPG-60 ต้องรับบทหนักในการค้นหา ล๊อกเป้า และนำวิถีจรวด
WM25 ซึ่งซื้อมาจากเนเธอร์แลนด์ นำวิถีจรวดได้ด้วยแต่ได้ในระยะสั้นๆ ส่วน AN/SPG-60 พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานกับปืนใหญ่ 5 นิ้ว ตรวจจับได้ไกลสุดถึง 91.4 กิโลเมตรก็จริง แต่มีระยะนำวิถีไกลสุด 32.4 กิโลเมตร จานส่งสัญญาณก็ไม่ค่อยทันสมัย การนำวิถีระยะสูงจึงทำได้ไม่ดีเลย และในกรณีเป้าหมายมีขนาดเล็ก ระยะนำวิถีจะหดลงมาเหลือแค่ 18.3 กิโลเมตร เรือชั้น Perry จึงยิงเครื่องบินมิกที่ระยะ 28 กิโลเมตร หรือเครื่องบินตูที่ความสูง 5 หมื่นฟิตได้ไม่แม่นยำอย่างใจหวัง
ขณะที่เรดาร์ควบคุมการยิง AN/SPG-51 ตรวจจับได้ไกลสุด 120 กิโลเมตร และยิงเป้าขนาดเล็กได้ที่ 46 กิโลเมตร เมื่อได้จับคู่กับเรดาร์ 3 มิติ AN/SPS-48 ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน เรดาร์ควบคุมการยิงจึงทำงานได้เร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น เจ้าหน้าที่บนเรือมีเวลาตัดสินใจมากกว่าเดิม สามารถรีดประสิทธิภาพจรวด SM-1 ออกมาใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และถ้าติดตั้ง AN/SPG-51 จำนวน 2 ตัว ก็จะสามารถยิงเป้าหมายได้พร้อมกัน 2 ทิศทาง
ผู้เขียนอาจมีคำถามประมาณว่า ทำไมถึงไม่ใส่ AN/SPS-48 กับ AN/SPG-51 มาบนเรือชั้น Perry? หรือทำไมใส่จรวด SM1 มาทั้งที่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ? คำตอบข้อแรกก็คือ AN/SPS-48 กับ AN/SPG-51 มีขนาดใหญ่กว่าและมีราคาแพงกว่า ต้องปรับจุดติดตั้งใหม่ทำให้เรือหนักกว่าเดิม และด้วยจำนวนเรือมากถึง 50 ลำ ราคารวมจะเกินงบประมาณไปไกลลิบ จำเป็นต้องตัดอย่างอื่นซึ่งมันสำคัญเท่ากันหมด อเมริกาจึงเลือกเดินทางสายกลางตามวิถีพุทธ
ส่วนคำตอบข้อสองตามความเข้าใจผู้เขียน ช่วงเวลา 197x ถึง 198x เรือรบติดจรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลางของอเมริกา ได้ทยอยปลดประจำการจำนวนมาก รวมทั้งเรือลาดตระเวนพลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่โครงการเรือลาดตระเวนชั้น Ticonderoga ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ส่วนโครงการเรือพิฆาตติดระบบเอจิสยังเป็นฝุ่น PM 2.5 กันอยู่เลย จำเป็นต้องมีเรือบางลำเข้ามาแบ่งเบาภาระ ไม่อย่างนั้นเรือที่ยังเหลืออยู่ ‘ห้ามป่วย-ห้ามตาย-ห้ามสาย-ห้ามลา’ โดยเด็ดขาด
หันมาดูกำลังรบหลักในเวลานั้นบ้าง เรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำชั้น Spruance กับเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Knox ติดจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Sea Sparrow แค่เพียง 8นัด ถ้าเรือชั้น Perryใส่จรวด Sea Sparrow เข้าไปอีกหนึ่งลำ การป้องกันภัยทางอากาศจะมีประสิทธิภาพต่ำลง อเมริกาไม่มีทางเลือกมากกว่านี้ ถึงอย่างไรเสีย SM1 ก็ยิงแม่นกว่า ยิงไกลกว่า และยิงได้สูงกว่า Sea Sparrow ยิงเครื่องบินที่ 25 กิโลเมตรได้ทีล่ะ 1 ลำ ดีกว่ารอให้ถึง 15 กิโลเมตรแล้วค่อยยิงไม่ใช่เหรอ
กลับมายังเกาะไต้หวันอีกครั้ง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2018 มีพิธีเข้าประจำการเรือฟริเกตใหม่ทั้ง 2 ลำ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินเดินทางมาด้วยตัวเอง (เธอมาร่วมงานกองทัพบ่อยครั้งมาก) มีการโชว์ภาพจรวด SM1 ในแท่นยิง Mk 13 อย่างชัดเจน ผู้อ่านอาจนึกสงสัยว่าไต้หวันเอาจรวดมาจากไหน ในเมื่อทุกวันนี้ไม่มีจรวดขายแล้ว
ที่เห็นในภาพมาจากคลังแสงตัวเอง ซึ่งน่าจะยังใช้งานได้จำนวนหนึ่ง ในปี 1991 ไต้หวันสั่งซื้อจรวด SM1 จำนวน 97 นัดมูลค่า 55 ล้านเหรียญ และปี 1992 ไต้หวันสั่งซื้อจรวด SM1จำนวน 207 นัดมูลค่า 126 ล้านเหรียญ จรวด 304 นัดสำหรับเรือรบ 16 ลำ (ชั้น Perry 10 ลำ ชั้น Knox 6 ลำ) ถึงหมดอายุไปครึ่งหนึ่งก็ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง พอถูๆ ไถๆ ไปก่อนล่ะครับ
จรวด SM1 มีขายยาวนานกว่าที่คาดคิด วันที่ 6 กันยายน 2005 สเปนสั่งซื้อจรวด SM1 Block VIB จำนวน 94 นัดมูลค่า 41 ล้านเหรียญ จรวดรุ่นนี้ยังคงอยู่ในสาระบบบริษัทRaytheon คือนำของเก่ามาปรับปรุงเพิ่มอายุใช้งานได้ และมีอีกหลายประเทศที่ยังคงใช้งาน อาทิเช่นฝรั่งเศสเพิ่งทดลองยิงไปเมื่อกลางปี 2018 รวมทั้งอิหร่านซึ่งสามารถสร้างจรวดได้เอง โดยใช้แท่นยิงเดี่ยว Mk 134 วางราบบนพื้น เวลายิงจึงกระดกจรวดทำมุม 45 องศา มีแมกกาซีนสำรองอีก 1 ลูกด้วยนะครับ
เรือใหม่ทั้งสองลำไม่มีปืนกล 40 มม. ยังไม่มีจรวดต่อสู้เรือรบ Hsiung Feng III แต่มีการติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid ทดแทนของเดิม และนี่ก็คือของแปลกที่ผู้เขียนได้ว่าไว้ ไต้หวันไม่ได้ใช้งานเป็น CIWS แบบที่พวกเราชอบพูดถึง ก็แค่ปืนเรือธรรมดาๆ ทั่วไปนี่แหละ แต่นี่คือการบอกใบ้ไม่มากก็น้อยว่า เรืออีก 8 ลำอาจได้ใช้งานปืนรุ่นนี้กันในอนาคต
บทความนี้อาจจะยาวไปสักหน่อย ผู้เขียนพอสรุปสั้นๆ ได้ว่า ไต้หวันจะซื้อเรือชั้น Perry เพิ่มอีกกี่ลำก็ได้ เพราะตัวเองมีใช้งานอยู่แล้วตั้ง 10 ลำ เพียงแต่พวกเขาต้องคิดกันให้ละเอียด ว่าจะเอาเรือมือสองลำล่ะ 100 ล้านเหรียญ แล้วมาเบียดเสียดอาวุธในคลังแสง หรือซื้อเรือใหม่ลำล่ะ 500 ล้านเหรียญพร้อมกับซื้ออาวุธใหม่ เพราะทั้ง 2 ทางเลือกมีดีมีเลวแตกต่างกัน
บทความนี้ต้องขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ แต่จะมีบทความกองทัพเรือไต้หวันตามมาในอีกไม่นาน โดยจะพูดถึงเรือชั้น Perry ในส่วนอื่นกันบ้าง ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)
-----------------------------------------
อ้างอิงจาก
http://www.ontargetalignment.com/category.aspx?id=14
https://ru.wikipedia.org/wiki/AN/SQS-56
https://fas.org/man/dod-101/sys/ship/weaps/an-sqr-19.htm
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3542335
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3570959
https://www.defensenews.com/naval/2017/03/14/taiwan-receives-two-us-navy-frigates/
https://www.imgrumweb.com/post/Bp5jWs7HEHG
https://www.naval-technology.com/projects/cheng-kung-class-frigates/
http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=13&t=8246&hilit=TAIWAN
https://en.wikipedia.org/wiki/Cheng_Kung-class_frigate
https://taiwantoday.tw/news.php?unit=2&post=115346
http://worldwardefence.blogspot.com/2017/05/taiwan-navy-rocs-fengjia-pfg-1112-rocs.html
https://www.youtube.com/watch?time_continue=115&v=6c6VXE60vAQ
http://www.atimes.com/article/taiwan-launches-refurbished-ex-us-anti-sub-frigates/
https://en.wikipedia.org/wiki/Oliver_Hazard_Perry-class_frigate
https://en.wikipedia.org/wiki/Gearing-class_destroyer#Chao_Yang_class
แหม่...ใช้ตัวย่อสลับกันเล็กน้อย PFG กับ PGF เพิ่งมาเห็นภายหลัง ขอโม้ล่วงหน้าไว้เล็กน้อย บทความถัดไปจะเป็นเรื่องเครื่องบิน แล้วค่อยกลับมาที่กองทัพเรือไต้หวันกันอีกครั้ง ไปดมฝุ่น PM 2.5 ต่อแล้วนะครับ...โชคดีทุกท่าน
ขอบคุณบทความดีๆของคุณsuperboyครับ
ขอบคุณครับสำหรับบทความครับ ไต้หวันไม่มีเรือป้องกันภัยทางอากาศดีๆเลยเนอะครับ ค่อนข้างจะมีความสามารถแบบจำกัดในแต่ละลำ โดยเฉพาะ OHP ที่จัดการได้ทีละเป้านี่ ค่อนข้างลำบาก
ตอนนี้ถ้าไต้หวันจะต่อเรือใหม่คงไม่ง่ายเช่นกัน มีเงินซื้อแต่ไม่มีคนขาย
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ นะครับ ท่านsuperboy
เป็นกำลังใจให้นะครับ