ไทยกับรัสเซียได้เซ็นความตกลง ซื้อขายไรเฟิลเป็นจำนวนมาก เป็นการจัดหาล็อตใหญ่เป็นครั้งแรก สำหรับปืนเล็กยาวประจำกายกำลังพลแบบกึ่งอัตโนมัติ ที่ผลิตโดยคาลาชนิคอฟ เป็นซีรีส์ AK-100 โดยมีกำหนดส่งมอบล็อตแรกปี 2561 นี้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ กับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ที่พัฒนายกระดับขึ้นสู่จุดสูงต่ออย่างเนื่อง เพียงไม่กี่ปีมานี้
การเซ็นความตกลงดังกล่าว มีขึ้นระหว่างงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีด้านอากาศยาน ใหญ่ที่สุดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สิ้นสุดลงในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นับเป็นพัฒนาการใหม่ล่าสุด ในการเพิ่มทวีความสัมพันธ์กับความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสองชาติ ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันมานานกว่า 100 ปี แต่ฝ่ายหนึ่งมีความใกล้ชิดกับสหรัฐ ในระดับ "พันธมิตรทางยุทธศาสตร์นอกกลุ่มนาโต้" โดยมีสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างกัน มายาวนานกว่า 100 ปีเช่นกัน -- ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตรงข้ามกับสหรัฐ ทั้งการเมืองและการทหารในระดับโลก
"ปีนี้ราชอาณาจักรไทย จะได้รับปืนไรเฟิลจู่โจมคาลาชนิคอฟ ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับหนึ่งหรือสองกองพล" สำนักข่าวทางการ รายงานอ้างนายมิคาอิล เปตูคอฟ (Mikhail Petukhov) รองผู้อำนวยการสำนักงานบริการความร่วมมือทางเทคนิคด้านกลาโหมแห่งสหพันธ์รัสเซีย (Federal Service for Military-Technical Cooperation) ซึ่งนำคณะไปร่วมงานในประเทศสิงคโปร์
FSMTC เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ รวมรวมข้อมูลและจัดทำเอกสาร นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อตัดสินใจนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์กับ มิตรประเทศทั่วโลก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัสเซีย ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับรุ่น หรือ ซีรีส์ของอาวุธประจำกายกำลังพล ที่ฝ่ายไทยจัดหา แต่สำนักข่าวทาสส์อ้างการเปิดเผยจากแหล่งข่าว ที่อยู่วงการความร่วมมือด้านกลาโหม ที่ระบุว่าไรเฟิลล็อตใหม่ของไทยเป็นซีรีส์ AK-100 ที่กองทัพบกไทยเป็นลูกค้าเก่าอยู่แล้ว
การจัดหา AK-102 ที่ผ่านมา มีจำนวนไม่มาก เป็นไรเฟิลกระบอกสั้นกว่า สำหรับหน่วยรบพิเศษ จึงทำให้น่าเชื่อว่า การจัดหาล็อตใหญ่ครั้งนี้ น่าจะเป็น AK-101 ซึ่งเป็นไรเฟิลฟูลไซ้ส์ สำหรับกำลังพลทหารราบ
นี่คือไรเฟิลจู่โจมมาตรฐาน ตระกูลหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชามากที่สุดในโลก เนื่องจากได้ผ่านการพิสูจน์ในศึกสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามเวียดนาม กับ "สงครามก่อการร้าย" ของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ที่ทำให้ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รู้จัก "อาก้า" AK-47 เป็นอย่างดี
ตามรายงานของสำนักข่าวภาษารัสเซียก่อนหน้านี้ กองทัพบกไทยมี AK-102 อยู่ในระบบอาวุธปืนจำนวนหนึ่ง โดยจัดหาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพื่อใช้ในหน่วยรบพิเศษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเซ็นสัญญาในสัปดาห์นี้ เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายไทยจัดหา ไรเฟิลที่ผลิตโดยคาลาชนิคอฟ เป็นจำนวนมากๆ
ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่นใดอีก เกี่ยว AK ซีรีส์ 100 ล็อตล่าสุด แต่ข้อมูลของฝ่ายรัสเซียระบุว่า AK-102 ของกองทัพบกไทย เป็นรุ่นที่ใช้กระสุน 5.56×45mm ซึ่งเป็นขนาดกระสุนมาตรฐาน ของกลุ่มนาโต้และสหรัฐ -- ทั้งนี้คาลาชนิคอฟ ผลิต AK-101 กับ AK-102 ออกมา สำหรับใช้กระสุนขนาดเดียวเท่านั้น ซึ่งไทยมีในสตอกเป็นจำนวนมาก
นี่คือกระสุนที่ใช้กับไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ อาวุธมาตรฐานประจำกาย สำหรับกำลังพลของกองทัพบกไทย ที่จัดหาจากค่ายตะวันตกทุกรุ่น ตั้งแต่ M16A1/A2 จนถึง A4 และ M4A1 "คาร์บิน" -- ทาวอร์ ทีเออาร์ 21 (IWI Tavor TAR21) กาลิล "เอซ" (IWI Galil ACE) และ เอ็กซ์-95 (IWI X-95) ที่อยู่ระหว่างจัดหาจากอิสราเอล -- รวมทั้ง HK33 ที่ผลิตเอง ภายใต้สิทธิบัตรจากเฮคเลอร์แอนด์ค็อก (Heckler & Koch) เยอรมนี
เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผย เกี่ยวกับการจัดหาไรเฟิลล็อตใหญ่ของไทย นับตั้งแต่ผู้บริหารโรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกำกับดูแล การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อของทางการ ในเดือน ก.ย.2560 ว่า ปีที่แล้วได้เซ็นสัญญาส่งออกไรเฟิลคาลาชนิคอฟ รุ่นต่างๆ รวมเป็นจำนวนกว่า 100,000 กระบอก
"ในบรรดาอาวุธขนาดเล็กที่ส่งออก (ในครึ่งแรกของปี 2560) ไรเฟิลคาลาชนิคอฟ เป็นที่ต้องการของลูกค้าต่างประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้าในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ยังไม่นับอีกนับหมื่นๆกระบอก ที่ผลิตนอกประเทศภายใต้สิทธิบัตร กับความร่วมมือช่วยเหลือจากรัสเซีย" ผู้บริหารคนเดียวกันกล่าว
ผู้บริหารโรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ต ได้เปิดเผยตัวเลขในขณะเดียวกันว่า นับตั้งแต่ก่อตั้ง (พ.ย.2543) รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ส่งออกไรเฟิลคาลาชนิคอฟ รุ่นต่างๆ กว่า 1 ล้าน กระบอก ผลิตนอกรัสเซียอีกหลายแสนกระบอก -- ยังไม่นับรวมหลายล้านกระบอก ที่ส่งออกในยุคสหภาพโซเวียต
ข้อมูลของคาลาชนิคอฟทำให้ทราบว่า AK ซีรีส์ 100 เป็นดีไซน์เดียวกันกับ AK-74 ที่ผลิตออกมาในปี 1974 และ รุ่นต้นๆ ของซีรีส์ใหม่ คือ AK-101 เป็นไรเฟิลฟูลไซ้ส์ สำหรับส่งออกโดยเฉพาะ โดยใช้กระสุนของนาโต้ ในขณะที่ AK-102 (แบบที่กองทัพบกไทยใช้) มีลำกล้องสั้นลง สำหรับหน่วยรบ ที่กำลังพลต้องการความคล่องตัวสูง
ส่วน AK-103 เป็นไรเฟิลฟูลไซ้ส์ ใช้กระสุน 7.62x39 mm สำหรับกองทัพรัสเซีย กับบรรดาชาติพันธมิตร ค่ายโซเวียตเมื่อก่อน AK-104 เป็นรุ่นคอมแพ็กท์ลำกล้องสั้นกว่า และ AK-105 เป็นรุ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด สำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือ หน่วยปฏิบัติการลับ -- ใช้กระสุน 5.45ั
39 mm ของรัสเซีย
คาลาชนิคอฟ กล่าวอีกว่า กำลังจะมี AK ซีรีส์ 100 ตามออกมาอีกหลายรุ่น ในขณะที่ความต้องการจากลูกค้าทั่วโลก มีสูงขึ้น แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก
ถึงแม้ไรเฟิลคาลาชนิคอฟ จะถูกวิจารณ์ว่ามีระยะยิงหวังผลต่ำกว่า ความแม่นยำน้อยกว่าไรเฟิลระดับเดียวกันของค่ายตะวันตก แต่ AK ในยุคใหม่พัฒนาไปอีกมาก ใช้วัสดุคุณภาพดีขึ้น มีรางสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเล็ง/อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ ได้หลายชนิด รวมทั้งแม่นยำมากขึ้น และ ยังคงได้รับการยอมรับทั่วไป ในเรื่องความสมบุกสมบัน ทนทานต่อทุกแรงกระแทกกระทั้น ใช้งานได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ
แม้แต่ในช่วงสงครามเวียดนามก็ยังมีบันทึกว่า ในปีแรกๆ ของการสู้รบนั้น ทหารอเมริกันจำนวนหนึ่ง ยอมทิ้งไรเฟิล M16 ที่มีความเปราะบางกว่า และ ติดขัดอยู่บ่อยๆ -- ใช้ AK-47 ที่ยึดได้จากฝ่ายเวียดกงออกรบแทน -- เรื่องนี้กดดันให้บริษัทโคลท์ ต้องพัฒนาประสิทธิภาพ M16 รุ่นแรกอย่างเร่งด่วน.
https://mgronline.com/indochina/detail/9610000013860
AK 100 Seires