หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


สงครามโลกครั้งที่สอง : 2487 มหาวิปโยค

โดยคุณ : superboy เมื่อวันที่ : 01/05/2017 17:01:13

ห่างหายไปนานด้วยภารกิจมัลติมิชชั่น พร้อมกับพยายามสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม สงครามโลกครั้งที่สองก็ได้กลับมาอีกครั้ง

การเดินทางยังอีกยาวไกล อ่านต้นฉบับได้ที่ตรงนี้ครับ---> World War II : 1944 The Tragic Year

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

World War II : 1944 The Tragic Year

สงครามโลกครั้งที่สอง : 2487 มหาวิปโยค

ความเดิมตอนที่แล้ว ----> สงครามโลกครั้งที่สอง : วันระเบิดลง

หลังจากญี่ปุ่นขึ้นบกคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้อุบัติขึ้น ช่วงเวลา 2 ปีแรกการทิ้งระเบิดยังมีไม่มาก เพราะอเมริกาและอังกฤษต้องใช้กองบินที่ 10 ในอินเดีย และกองบินที่ 14 ในจีน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพมากกว่า 1,000 ไมล์ ต้องเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่สถานเดียว ซึ่งในเวลานั้นยังมีจำนวนเครื่องไม่มาก รวมทั้งญี่ปุ่นบุกประชิดพรมแดนอินเดียแล้ว ในจีนและพม่าก็รบกันติดพันนัวเนีย หาเครื่องบินทำภารกิจในไทยได้น้อยเต็มที ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีไม่มากตาม ซึ่งที่ว่าไม่มากนั้น...ทำให้คนกรุงเทพขวัญหนีดีฝ่าทุกหย่อมหญ้า

จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปี 2486 โดยการออกแบบและควบคุมจากทหารช่างญี่ปุ่น โดยแรงงานนักโทษสงครามจำนวนหลายหมื่นคน และโดยเงินกู้จำนวน 4 ล้านบาทจากรัฐบาลไทย ทางรถไฟสายพม่าหรือสายกาญจนบุรี ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ "ทางรถไฟสายมรณะ" สามารถเปิดใช้งานได้แม้จะยังไม่ทั้งหมด การขนส่งอาวุธและยุทธปัจจัยสำคัญทั้งหลายแหล่ ทำได้สะดวกยิ่งกว่าเดิมหลายเท่าตัว นั่นหมายถึงญี่ปุ่นจะทำการรบได้ยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงสัมพันธมิตรจะตั้งรับได้ลำบากยิ่งขึ้น และนั่นหมายถึงประเทศไทยอันเป็นที่รัก จะต้องพบกับลูกระเบิดมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ภาพถ่ายระยะประชิดอาวุธทำลายล้างที่ทรงประสิทธิภาพ ปรากฎ Norden Bombsight อย่างชัดเจน ว่าแต่สิ่งนี้คืออะไรกัน ??

เมืองไทยในปี 2487

กรุงเทพชั้นในมีผู้คนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงค่ายทหารหรืออยู่ติดโรงไฟฟ้า คนส่วนใหญ่อพยพหนีตายไปยังกรุงเทพชั้นนอก ส่วนที่เหลือล้วนไม่มีที่ไปหรืออยากเฝ้าบ้าน จะต้องเฝ้าคอยแหงนมองเครื่องบินกันทุกค่ำคืน การทิ้งระเบิดได้ถูกพัฒนามากกว่าเดิมทุกวัน จากที่เคยมีเสียงไซเรนเฉพาะคืนเดือนหงาย เดี๋ยวนี้คืนเดือนมืดก็ดังกระหึ่มไม่ต่างกัน เครื่องบินจะใช้พลุส่องสว่างหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไฟแดง ขนาด 5,000 แรงเทียนช่วยชี้ทางไปสู่เป้าหมาย

ข้าวของเครื่องใช้ยารักษาโรคมีราคาแพงขึ้น อาหารการกินก็แพงขึ้นแต่ยังพอประทังชีพ สิ่งที่หายากกว่าเสื้อผ้าและสบู่ก็คืองาน ร้านรวงน้อยใหญ่ในกรุงเทพปิดกิจการแทบจะทั้งหมด คดีลักทรัพย์ย่องเบามีมากขึ้นตามเป็นเงา เพียงแต่ว่าทุกบ้านไม่มีทรัพย์สินให้ขโมย เลยเปลี่ยนมาขโมยกล้วยน้ำว้าหรือมะละกอแทน นักเรียนประถมและมัธยมปิดเทอมยาวตั้งแต่เดือนตุลาคม ยกเว้นนักเรียนมัธยม 6.ที่ยังมาเรียนตามปรกติ สถานที่ราชการเสียหาย ถนนหนทางเสียหาย สะพานข้ามคลองเสียหาย วัดวาอารามเสียหาย แม้กระทั่งก๊อกน้ำปะปาสาธารณะก็ยังเสียหาย

มาดูภาพรวมต่างจังหวัดกันบ้างครับ จังหวัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามยังคงใช้ชีวิตปรกติ เพียงแต่ข้าวปลาอาหารแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ข้าวสาร น้ำตาลทราย น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ ยารักษาโรคล้วนเป็นของหายาก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ขาดแคลนมาก เมื่อมีของเข้ามายังต้องปันส่วนให้กับเพื่อนบ้าน น้ำมันมะพร้าวกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากทำอาหารยังใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับตะเกียง แต่สิ่งที่โชดดีมหาศาลก็คือ ไม่มีทหารญี่ปุ่นและลูกระเบิด

ส่วนจังหวัดที่มีทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่นั้น มีความคึกคักทางด้านการเงินพอสมควร เพราะญี่ปุ่นต้องซื้ออาหารและของใช้จากคนไทย โดยให้ราคาดีไม่เกี่ยงงอนหรือคิดเล็กคิดน้อย รวมทั้งจ้างวานคนไทยให้มาทำงานภายในค่าย ทั้งในส่วนใช้แรงงานกลางแจ้งหรือเป็นแม่ครัวทำอาหาร กระทั่งเด็กและผู้หญิงก็สามารถหาเงินได้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนจัดเก็บอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยได้รับค่าจ้างหนึ่งในสามของแรงงานผู้ชาย ซึ่งก็ยังมากกว่าค่าแรงคนไทยตามปรกติ

แล้วญี่ปุ่นกำลังทำอะไรอยู่ในไทย ?? นี่เป็นคำถามที่ผู้เขียนอยากรู้มากที่สุด คำตอบในเรื่องนี้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย ผู้อ่านทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังแหลมมลายูกับพม่า และใช้เป็นแนวหลังสำหรับการหมุนเวียนกำลังพล เป็นจุดรับส่งอาวุธและยุทธปัจจัยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล รวมทั้งใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลหรือคุมตัวนักโทษสงคราม มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงภาคเหนือจรดภาคใต้ มีกองกำลังทหารคอยดูแลสถานที่สำคัญ รวมทั้งประกบกำลังฝ่ายไทยด้วยความไม่ประมาท แต่ก็ยังมีทหารญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวนมาก เดินทางเป็นกลุ่มก้อนไปยังพื้นที่ห่างไกลผู้คน

สถานการณ์ที่ภาคเหนือค่อนข้างวุ่นวาย มีการรบพุ่งระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษและไทยกับจีนในเขตพม่า ทหารญี่ปุ่นต้องการใช้พื้นที่ในไทยส่วนหนึ่ง สำหรับส่งเครื่องบินเข้าไปทำภารกิจในพม่า มีการสร้างสนามบินลับขึ้นมาจำนวนหนึ่ง โดยไม่บอกเจ้าของที่ดินถ้าไม่บังเอิญรู้เอง ถ้าเสรีไทยมีสนามบินลับอยู่ในอีสานหลายแห่ง ญี่ปุ่นก็มีสนามบินลับอยู่ในภาคเหนือหลายแห่งเช่นกัน ยกตัวอย่างก็คือสนามบินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตั้งตระหง่านกลางป่าดงดิบห่างไกลชุมชน มีทางวิ่งขนาด 1,800 หลาจำนวนทางวิ่งทำมุมตัดกัน พร้อมสิ่งปลูกสร้างอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่และนักบิน

ภาพถ่ายทางอากาศช่วงต้นปี 2488 สนามบินขนาดเล็กที่แม่เมาะเสร็จสมบรูณ์แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นนาข้าวและบ้านเรือนของคนในชุมชม

แปลนสนามบินอย่างคร่าว ๆ สนใจรายละเอียดตามนี้เลยครับ à  Mae Mo : Summary

ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับทหารญี่ปุ่นนั้น อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและมีปัญหาค่อนข้างน้อย ทหารญี่ปุ่นพักอยู่ในค่ายทหารห่างไกลจากชุมชน ยกเว้นส่วนที่อยู่เฝ้าสถานที่สำคัญใจกลางเมือง มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบ้าง เช่นกรณีคนไทยให้อาหารหรือน้ำดื่มกับนักโทษสงคราม แล้วโดนนายทหารญี่ปุ่นลงโทษด้วยวิธีของเขา แต่ไม่ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตระดับประเทศ เพราะทหารญี่ปุ่นก็เคยได้รับน้ำใจจากคนไทยเช่นกัน สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่โตระดับประเทศนั้น บินข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาจากอีกฟากฟ้า สิ่งนั้นก็คือลูกระเบิดจำนวนมหาศาล

ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดเตรียมแผนการขนาดใหญ่ นั่นคือการทิ้งระเบิดใส่ไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง Thailand bombing campaign เฟสแรกมีระยะเวลา 12 เดือน เป้าหมายหลักก็คือระบบขนส่งทางรางหรือรถไฟ เพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงไปยังแนวหน้าในพม่า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือเป้าหมายรอง ส่วนค่ายทหารญี่ปุ่นหล่นไปอยู่ท้ายขบวน

การทิ้งระเบิดขยายอาณาเขตมากกว่าเดิม ไม่จำกัดแค่กรุงเทพและหัวเมืองขนาดใหญ่ ช่วง 2 เดือนแรกยังเป็นแค่การอุ่นเครื่อง มีการทิ้งระเบิดจุดสำคัญในกรุงเทพไม่กี่ครั้ง ต่อด้วยการทิ้งระเบิดใส่ทางรถไฟในเขตภาคเหนือและภาคตะวันตก แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีไม่มาก ทว่าบ่งบอกอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดี

ปล.แก้ปัญหาย.ยักษ์ได้เท่านี้แหละครับ ชิดไปนิดไม่ว่ากันนะ พลาดไปแล้ว...เส้า >_<





ความคิดเห็นที่ 1


อเมริกากลับมาแล้ว

 

            วันที่ 5 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 Mitchell จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 341 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดสนามบินเชียงใหม่ ทำลายเครื่องบินบนลานจอดจำนวน 9 ลำด้วยกัน ทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเชียงใหม่อีกครั้ง รวมทั้งสถานีลำพูนซึ่งอยู่ติดวัดป่ายางหลวง ระเบิดพลัดหล่นลงในเขตโรงพยาบาลค่ายกาวิละ สร้างความเสียหายให้กับตัวอาคารบางส่วน

 

            เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางรุ่น B-25 สามารถบรรทุกระเบิดได้มากสุด 3,000 ปอนด์ เครื่องบิน 2 เครื่องยนต์บินได้ไกลสุดประมาณ 2,000 กิโลเมตร แต่เพราะมีระยะทำการที่สั้นเกินไป จึงไม่ได้นำมาใช้งานกับภารกิจในกรุงเทพ แต่ในส่วนภาคเหนือรวมถึงภาคตะวันตกนั้น B-25 จากประเทศอินเดียบินไปกลับได้อย่างสบาย ผู้อ่านบางท่านอาจนึกหน้าตาเครื่องบินไม่ออก อยากแนะนำให้อ่านปฎิบัติการโจมตี Doolittle Raid หรือ Tokyo Raid ในวันที่ 18 เมษายน 2485 อเมริกาใช้เครื่องบิน B-25 จำนวน 16 ลำ บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Hornet (CV-8) เพื่อโจมตีชายฝั่งประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกสุด เป็นครั้งแรกที่ B-25 ถูกดัดแปลงให้ใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ภารกิจสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนอเมริกาทั้งปวง

 

            พวกเราอาจไม่คุ้นเคยเครื่องบิน B-25 มากนัก แต่คนพม่าล้วนรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากอินเดียอยู่ห่างไปเพียงหน่อยเดียว เครื่องบินจึงได้วาดลวดลายใส่ทหารญี่ปุ่นตลอดสงคราม รวมทั้งช่วยงานด้านธุรการขนส่งจุกจิก หรือแม้กระทั่งภารกิจส่งจดหมายไปยังแนวหน้า เครื่องบิน B-25 มีบทบาทในยุโรปมากเช่นกัน สามารถออกบินลาดตระเวนเหนือทะเล และโจมตีเรือผิวน้ำกับเรือดำน้ำได้เป็นอย่างดี จัดว่าเป็นเครื่องบินที่มีความอเนกประสงค์มากรุ่นหนึ่ง

 

            B-25 Mitchell มีรุ่นปรับปรุงเพื่อกองทัพเรือและนาวิกโยธิน ทั้งยังได้พัฒนารุ่น PBJ-1H สำหรับใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ โดยมีทีเด็ดทีขาดอยู่ที่บริเวณปลายจมูก นั่นก็คือปืนกล 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอกและปืนใหญ่ 75 มม.จำนวน 1 กระบอก สามารถบรรทุกระเบิดทำลาย ระเบิดลึก จรวดไม่นำวิถีขนาด 127 มม. รวมทั้งตอร์ปิโดโจมตีเรือผิวน้ำ แม้กองทัพเรือจะไม่ประจำการ PBJ-1H ก็ตาม แต่ปืนใหญ่ 75 มม.ยังได้ไปต่อสมใจหมาย โดยติดตั้งอยู่บนเครื่องบินรุ่น B-25G และ B-25H เรือขนาดเล็กโดนเข้าไปซักชุดท่าทางจะดูไม่จืด

 

 

เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 ฝูงบิน 490 กองบิน 10 ลำบนใช้ในภารกิจยุทธการและส่งจดหมาย ลำล่างใช้ในภารกิจโจมตีทิ้งระเบิด จะเห็นสัญลักษณ์ลูกระเบิดใต้กระจกห้องนักบิน แสดงเที่ยวบินทั้งหมดที่เครื่องบินลำนี้เข้าร่วม (เยอะมาก)

 

 

            วันที่ 6 มีนาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 490 ได้บินเข้ามาทิ้งทุ่นระเบิดบริเวณเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี รวมทั้งทิ้งระเบิดใส่เกาะปรงซึ่งอยู่ติดกัน ส่วนในตอนกลางคืนมีเครื่องบินทิ้งระเบิดในพื้นที่กรุงเทพ ทว่าไม่มีรายละเอียดจำนวนเครื่องบินและความเสียหาย

 

           วันที่ 15 มีนาคม 2487 เครื่องบิน B-24 จำนวน 8 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพื้นที่กรุงเทพ เครื่องบินลำแรกเริ่มทำภารกิจเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง เล็งเป้าหมายไปยังโรงไฟฟ้าสามเสนเจ้าประจำ ทว่าระเบิดพลาดเป้าหมายทั้งหมดเช่นเคย วัดโบสถ์และโรงหนังตำบลศรีย่านรับเคราะห์ไป

 

           ในวันเดียวกันนั้นเอง เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด P-51 Mustang จำนวน 2 ฝูง ขึ้นบินจากฐานทัพในเมือง Cox's Bazaar ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันคือประเทศบังคลาเทศ) โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองหลวงประเทศไทย นี่คือครั้งแรกที่เครื่องบินขับไล่ชื่อเสียงโด่งดังโจมตีกรุงเทพ ระยะทางไปกลับรวมแล้วประมาณ 2,400 กิโลเมตร เป็นภารกิจระยะทางไกลที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นภารกิจระยะทางไกลสุดตลอดกาลของเครื่องบินรุ่นนี้

 

            P-51 เป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสุง หน้าที่หลักก็คือคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล ทว่าตัวเองสามารถบรรทุกระเบิด 2,000 ปอนด์ หรือจรวดไม่นำวิถีขนาด 127 มม.จำนวน10 นัด จึงสามารถทิ้งระเบิดสนับสนุนภาคพื้นดินได้ดีเช่นกัน แต่ที่สามารถบินมาจนถึงกรุงเทพได้นั้น เป็นเพราะติดถังน้ำมันแบบปลดได้จำนวน 2 ถัง แต่ก็จะไม่มีระเบิดติดเครื่องไปด้วยนะครับ อาวุธป้องกันตัวคือปืนกล 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอก ใช้โจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินได้เช่นกัน (ดีไม่ดีอีกเรื่อง)

 

            การส่งเครื่องบิน P-51 จำนวน 2 ฝูงเพื่อมาโจมตีกรุงเทพนั้น ไม่มีรายงานความเสียหายแต่อย่างใด ทั้งยังไม่มีอยู่ในรายงานการทิ้งระเบิด น่าจะเป็นการทดสอบการบินระยะไกลมากกว่า อเมริกากำลังจะมีเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่เอี่ยม และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจ ว่าจะมีเครื่องบินขับไล่คุ้มกันไปด้วยดีหรือไม่ดี นายพล Levi Chase ผู้วางแผนและกำหนดเส้นทางการบิน ได้รับรางวัล Silver Star จากกองทัพบกอเมริกา แต่ไม่ทราบว่านักบินตะคริวกินขากันกี่นายนะครับ บินไปกลับได้ก็จริง แต่คนบนเครื่องจะต้องมีฝีมือเก่งพอสมควร

 

เครื่องบิน P-51 Mustang จากฐานทัพประเทศอินเดีย ที่บินเข้ามาโจมตีประเทศไทยช่วงต้นปี 2487 จะมีรูปร่างหน้าตาและผิวพรรณตามภาพเลยครับ ตรงกับตามคำว่าผิวพม่านัยตาแขก

 

ภาคเหนือและภาคตะวันตกเริ่มร้อนระอุ

 

วันที่ 23 มีนาคม 2487 เครื่องบิน B-24 จำนวน 12 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ทางรถไฟสายพม่า โดยเริ่มโจมตีตั้งแต่ในเขตพม่าไล่เข้ามาเรื่อย ๆ สามารถทำลายสิ่งก่อสร้างได้ 2 จุด รถไฟญี่ปุ่น 2 ขบวนเสียหายหนัก เป็นการประกาศอย่างแน่ชัดแล้วว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาจริงกับการทิ้งระเบิดในไทย และทางรถไฟสายนี้คือเป้าหมายแรกสุด ที่พวกเขาต้องการทำลายให้สำเร็จไม่ช้าก็เร็ว

 

            วันที่ 5 เมษายน 2487 เครื่องบิน B-24 จำนวน 13 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ทางรถไฟสายพม่า ช่วงระหว่างเมืองเมาะลำลิง (หรือมะละแหม่ง อดีตเมืองหลวงรัฐมอญ) กับจังหวัดกาญจนบุรี เครื่องบินได้บินล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทย แต่การโจมตีส่วนใหญ่อยู่ในเขตพม่า

 

            วันที่ 12 เมษายน 2487 เครื่องบิน  B-24 จำนวน 5 ลำจากฝูงบิน 7 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดในเขตนครสวรรค์ การโจมตีครั้งนี้ไม่มีบันทึกอยู่ในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสอันควรที่ผู้เขียนจะขอขยายความ

 

            สงครามโลกครั้งที่สองในช่วงนี้ ญี่ปุ่นจะบุกพม่าฝั่งซ้ายเพื่อเข้าปะทะกับกองทัพอังกฤษ ส่วนไทยจะบุกฝั่งขวาเพื่อเข้าปะทะกับกองทัพจีน (หรือที่เรารู้จักกันในชื่อสงครามเชียงตุง) จังหวัดนครสวรรค์มีส่วนเกี่ยวข้องพอสมควร ด้วยว่าเป็นที่ตั้งของกองพลที่ 4 อันประกอบไปด้วย กองพลทหารม้า 1 กองพล และกรมทหารม้าอิสระ (กรมทหารม้าที่ 12) อีก 1 กรม รวมทั้งหน่วยขึ้นตรงสมทบได้แก่ กองพันทหารราบ 1 กองพัน กองพันทหารปืนใหญ่ 2 กองพัน รวมทั้งกองพันทหารช่างอีก 4 กองพัน จึงมีทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายประกบตามธรรมเนียม

 

            การเข้ามาของญี่ปุ่นได้นำมาซึ่งการทิ้งระเบิด อันเป็นเรื่องปรกติในการทำสงครามทั่วไป แต่การมาของญี่ปุ่นได้นำความเจริญเข้ามาด้วย ประเทศไทยใช้เรือและรถไฟในการคมนาคม โดยมีถนนเส้นเล็ก ๆ สำหรับเกวียนและทางเดินเท้า (ยกเว้นกรุงเทพนะครับ) ญี่ปุ่นต้องการเส้นทางลำเลียงรถถังและยานหุ้มเกราะ ซึ่งโดยปรกติจะขนส่งได้แค่เพียงรถไฟ จึงมีการตัดถนนราดยางกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง รวมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสำหรับรถยนต์ ชั่วงนั้นส่วนใหญ่มีแต่สะพานสำหรับรถไฟ โดยมีทางให้คนเดินข้ามอยู่ด้านข้างสะพาน

 

            สะพานเดชาติวงศ์เริ่มต้นตอกเสาเข็มในปี 2485 สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งเข้าสู่ใจกลางเมือง เป็นอีกหนึ่งจุดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย หรืออย่างน้อยขัดขวางให้การก่อสร้างล่าช้า จึงมีการทิ้งระเบิดใส่นครสวรรค์อยู่บ่อยครั้ง โดนพื้นที่ก่อสร้างบ้าง โดนบ้านเรือนใกล้เคียงบ้าง ส่งผลให้สะพานสร้างแล้วเสร็จในปี 2493 โน่น

 

           นครสวรรค์ยังได้สร้างตำนานรักข้ามชาติ ระหว่างนายทหารหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวเย็บผ้าชาวไทย ร้อยเอกโทโมโยชิ (ภายหลังได้เป็นดอกเตอร์) เข้ามาประจำการอยู่ในพื้นที่นครสวรรค์ เกิดพบรักกับคุณสำเนียงซึ่งเป็นคนพื้นที่ จึงได้แวะมาเยี่ยมเยียนสาวเจ้าและครอบครัวไม่ขาดสาย เพื่อนบ้านมักเห็นเขาขี่ม้าผ่านเป็นเรื่องปรกติ

 

            กระทั่งสงครามยุติญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ทหารทั้งหมดถูกส่งตัวกลับในฐานะเชลยสงคราม คุณสำเนียงได้นำผ้าเช็ดหน้าทำมือมามอบให้ พร้อมปักลายเป็นรูปหัวม้ามีช่อซากุระอยู่สองฝั่ง ด้านล่างสุดปักชื่อย่อร้อยเอกหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัย ทั้งคู่ต้องพลัดพลากจากกันหลายสิบปี ก่อนได้พบกันอีกหลายครั้งในวัยชรา และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตราบจนสิ้นลม รอ.ดร.โทโมโยชิ มักพกกล้องถ่ายรูปติดตัวไม่ห่างกาย เขามีภาพถ่ายสงครามโลกที่หายากมากกว่า 500 ภาพ ปัจจุบันคุณยายสำเนียงได้จากไปแล้ว ส่วน “โกโบริแห่งขุนยวม” อายุ 90 กว่ายังมีชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น

 

            โทโมโยชิเคยประจำการอยู่ที่แม่ฮ่องสอน น่าจะเป็นช่วงก่อนย้ายมาที่นครสวรรค์ จึงมีความผูกพันธ์กับขุนเขาแห่งนี้พอสมควร นี่คือส่วนหนึ่งของบทกลอนของ รอ.ดร.โทโมโยชิ แต่งขึ้นเพื่อมอบให้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

“...40 ปีก่อน เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หากแจ่มกระจ่างในความทรงจำ

                ความกรุณาที่มีให้นั้น เกินขอบเขตกั้นของภาษา

                ใครเล่าจะลืมความเมตตา จวบจนสิ้นชีวาวาย...”

 การพบกันอีกครั้งระหว่างนายทหารหนุ่มญี่ปุ่นกับสาวเย็บผ้าชาวไทย

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 30/04/2017 13:31:05


ความคิดเห็นที่ 2


            วันที่ 23 เมษายน 2487 เครื่องบิน P-38 จำนวน 2 ลำ โจมตีรถทหารที่จอดอยู่ในโรงพยาบาลค่ายกาวิละ ถือเป็นการเปิดตัวเครื่องบินขับไล่รูปร่างแปลกประหลาด เพราะมีสองเครื่องยนต์สองแพนหางลำตัวเครื่องมีแค่ครึ่งเดียว ชาวบ้านพบเห็นต่างแปลกใจกันถ้วนหน้า ทว่าภายหลังเริ่มคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดทางภาคเหนือเป็นว่าเล่น

 

            P-38 ถูกนำมาใช้งานในพื้นที่ จีน พม่า และอินเดีย (CBI) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2486 โดยสังกัดฝูงบิน 459 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย (มาก่อนเครื่องบิน P-51 ประมาณ 5 เดือน) ติดตั้งปืนกล 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอกบริเวณจมูก ต่อมาได้ถูกปรับปรุงให้ติดปืนกล 20 มม.จำนวน 2 กระบอกทดแทนปืน 12.7 มม. 2 กระบอกด้านบน เพื่อเพิ่มอำนาจการยิงให้สุงกว่าเดิม ใต้ปีกสามารถติดตั้งระเบิดหนัก 1,000 ปอนด์ หรือจรวดไม่นำวิถีขนาด 127 มม.จำนวน 10 นัด ใต้ท้องสามารถติดตั้งระเบิดหนัก 2,000 ปอนด์ หรือถังน้ำมันแบบปลดได้จำนวน 2 ถัง ออกแบบมาเพื่อคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล และใช้ทิ้งระเบิดสนับสนุนภาคพื้นดินได้ดีเช่นกัน เพราะแบกระเบิดได้เทียบเท่าเครื่องบิน B-25 แต่ป้องกันตนเองได้ดีกว่าไม่รู้กี่เท่า

 

เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด P-38 Lightning จากฝูงบิน 459 ลายเขียวเข้มท้องขาวคุ้นตาคนไทยภาคเหนือ ลำขวามือมีเครื่องหมายลูกระเบิดและเครื่องบินข้าศึก แสดงให้เห็นถึงความร้ายกาจมีพิษสงรอบตัว

 

 

การโจมตีที่เมืองลับแล

 

            วันที่ 24 เมษายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 2 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์ ห่างจากสถานีรถไฟบ้านดาราเพียงหนึ่งกิโลเมตรเศษ จากนั้นในช่วงบ่ายยังได้ปรากฎตัวเหนือบ้านวังกะพี้ เล็งเป้าหมายไปที่โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ ผลการโจมตีชนิดสายฟ้าแลบปรากฎว่า สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่านเกิดความเสียหาย รางเหล็กกระเด็นกระดอนไม่เป็นเส้นตรง ต้องขนคนลงแล้วเดินข้ามสะพานไปขึ้นอีกขบวน กระสุนปืนกล 12.7 มม.จากเครื่องบิน พลาดไปโดนครูประชาบาล เด็กน้อยในเปล และชาวจีนเสียชีวิตรวม 3 คน

 

            วันที่ 25 เมษายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 6 ลำ จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานปรมินทร์คำรบสอง ท่ามกลางไทยมุงที่แห่มาดูระเบิดลงเมื่อวันก่อน ส่งผลให้ช่างซ่อมสะพานบาดเจ็บล้มตามจำนวนหนึ่ง ระเบิดหลายลูกสร้างความเสียหายแก่ตัวสะพาน ขบวนรถไฟแล่นมาพอดีจึงโดนกระสุนปืนชุดใหญ่ ชาวบ้านโดนลูกหลงบาดเจ็บล้มตายหลายคน แต่สะพานยังไม่ขาดสะบั้นนะครับ นั่นหมายถึงการทิ้งระเบิดจะมีต่อไปเรื่อย ๆ

 

            ผลที่ตามมาสร้างความโกลาหลให้กับทุกฝ่าย เพราะได้เห็นเต็มสองตาว่าหายนะมาเคาะถึงประตูบ้าน ศาลากลางจังหวัดและอีกหลายหน่วยงานย้ายไปที่อำเภอลับแล โรงเรียนประจำจังหวัดชายย้ายไปที่ศาลาวัดบรมธาตุทุ่งยั้ง โรงเรียนสตรีจังหวัดย้ายไปที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อมหาดท่าอิฐ ทหารญี่ปุ่นนำปืนต่อสู้อากาศยานจำนวนหนึ่งมาติดตั้ง หวังป้องกันสะพานข้ามแม่น้ำน่านที่กำลังเร่งมือซ่อม ไซเรนถูกนำมาใช้งานเพื่อแจ้งเตือนระเบิดลง

 

            สถานีอุตรดิตถ์เป็นสถานีขนาดใหญ่ สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้เป็นสถานที่สับเปลี่ยนขบวนรถไฟที่จะเดินทางขึ้นหนือ ขบวนรถจะต้องวิ่งขึ้นเนินที่ทั้งสูงชันและคดโค้ง อ้อมไปตามด้านข้างภูเขาสลับวิ่งเลียบลำห้วยน้อยใหญ่ รถไฟที่มาจากกรุงเทพจะถูกตัดออกเป็นสองหรือสามขบวน เพื่อให้หัวรถจักรมีแรงมากพอลากขึ้นเขาสำเร็จ และใช้เวลาเติมน้ำเติมฟืนนานกว่าทุก ๆ สถานี โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของจำนวนมาก ท้ายที่สุดจึงเกิดเป็นชุมชนด้านหลังสถานี มีของกินของใช้แทบทุกประเภท บริการผู้โดยสารขาล่องขึ้นเหนือหรือล่องลงกรุงเทพ

 

               ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งถูกส่งมาคุ้มกันสถานี พร้อมอาวุธหนักเบาแปรผันตามสถานการณ์ รวมทั้งจัดตั้งหน่วยสื่อสาร หน่วยเสบียงอาหาร และหน่วยซ่อมเครื่องจักรกล ไว้ในบริเวณใกล้เคียงสถานีเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้มีทหารญี่ปุ่นในอุตรดิตถ์เป็นจำนวนมาก นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมากอีกหนึ่งจุด และจุดที่เหมาะสมกับการโจมตีมากที่สุดก็คือสะพานปรมินทร์ข้ามแม่น้ำน่านนั่นเอง

            ก่อนหน้านี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 เคยมาโจมตีใส่สะพานปรมินทร์ไปแล้ว ทว่าโชดดีที่สะพานแทบไม่เป็นอะไร เมื่อโดนระเบิดอีก 2 ครั้งได้บังเกิดความเสียหาย การรถไฟได้สร้างสะพานชั่วคราวขึ้นมาทดแทน พร้อมซ่อมแซมสะพานจริงไปพร้อมกัน โดยการสร้างตับธรณีไม้ทับด้านบนโครงเหล็กซึ่งยุบตัวหักลงมา แล้ววางรางรถไฟขนาด1.435 เมตรเพื่อให้ขบวนรถวิ่งผ่าน ทั้งนี้ยังต้องเผชิญลูกระเบิดตลอดเวลา การทำงานจึงล่าช้าและอันตรายอย่างถึงที่สุด

สถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา สมัยที่ทางรถไฟยังเป็นแบบ dual-gauge  (วิ่งได้ทั้งขบวนรถไฟที่มีความกว้าง 1 เมตร และ 1.435 เมตร)

 

ภาพถ่ายสะพานสะพานปรมินทร์ในปี 2496 หลังซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ด้วยเงินสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ฝั่งซ้ายมือจะเป็นรางรถไฟสำหรับขนอ้อยโดยเฉพาะ โดยส่วนที่อยู่ในแม่น้ำทำจากไม้ทั้งหมด และต้องรื้อออกในฤดูน้ำหลากเพราะทนกระแสน้ำไม่ไหว และเป็นจุดสร้างสะพานชั่วคราวขึ้นมาใช้งานในช่วงสะพานปรมินทร์ใช้งานไม่ได้

 

            วันที่ 3 พฤษภาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 20 ลำจากกองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่บ้านโป่ง ราชบุรี แล้วเลยไปทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่หนองปลาดุก ก่อนเบนหัวกลับไปยังฐานทัพในอินเดีย

            วันที่ 7 พฤษภาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 4 ลำจากกองบิน 10 ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารญี่ปุ่นที่ที่พระโขนง รวมทั้งสถานีรถไฟปากน้ำ ขากลับยังได้แวะทิ้งทุ่นระเบิดในอ่าวไทยแถวชายฝั่งสัตหีบ

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 30/04/2017 13:33:23


ความคิดเห็นที่ 3


วัสสานฤดูที่กรุงเทพ

            เมื่อประเทศไทยย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเวลาที่ลูกเด็กเล็กแดงจะได้ทำหน้าที่สำคัญ วันที่ 17 พฤษภาคมเหมือนกับทุกปี คือวันแรกของการเปิดเทอมระดับประถมและมัธยม นักเรียนทุกระดับชั้นจะต้องมาเข้าเรียน ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายให้ความชุ่มชื้นและเฉอะแฉะ ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยจะเปิดเทอมทีหลัง

            การทิ้งระเบิดในภาคเหนือและภาคตะวันตก ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี เพราะมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญอยู่หลายแห่ง ส่วนในกรุงเทพมีน้อยทั้งปริมาณเครื่องบินและเที่ยวบิน หลุมหลบภัยจำนวนมากใช้งานแทบไม่ได้ ฝนตกทุกวันน้ำท่วมขังมากกว่าครึ่งหลุม ส่วนราชการและชาวบ้านพยายามซ่อมแล้วซ่อมอีก บางหลุมเสียหายหนักใช้งานต่อไม่ได้ มีคำแนะนำให้มาหลบบริเวณริมคลองแทน แต่ถ้าริมคลองบังเอิญอยู่ติดเป้าหมาย ก็จะโดนทหารไล่ให้ถอยห่างไปไกล ๆ ต้องกลับมาหลุมหลบภัยที่มีน้ำท่วมอีกครั้ง ซึ่งจะว่าไปหลุมหลบภัยก็ใช่ว่าจะดี บางครั้งระเบิดตกปากหลุมเสียชีวิตทั้งหมดก็มี เพราะหลุมส่วนใหญ่สร้างกันตามมีตามเกิด

            ช่วงเวลานี้เองได้กำเนิดคำว่า “ข้าวยากหมากแพง” ขึ้น เพราะข้าวสารหาได้ค่อนข้างยาก ส่วนหมากก็มีราคาแพงจับใจ ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจเลิกหมากแบบหักดิบ เมื่อนึกอยากหมากจึงต้องหาอะไรกินพอทุเลา กลับกลายเป็นว่าช่วงสงครามโลกที่ยากลำบาก คนไทยจำนวนหนึ่งอ้วนขึ้นเพราะไม่มีหมากกิน นับเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ต้องขอบันทึกไว้

            ชีวิตของคนกรุงเทพยังต้องดำเนินต่อ รถรางยังเปิดให้บริการแต่ถึงแค่ 6 โมงเย็น ประชาชนรีบกลับบ้านให้ทันก่อนพลบค่ำ ไม่เช่นนั้นคงได้เดินกลับให้เป็นที่สนุกสนาน มีการแข่งม้าย่านสามเสนพร้อมรำวงมาตราฐานชุดใหญ่ แต่มีผู้ชมบางตาเพราะอะไรคงพอเดาออก นอกจากเปิดเทอมและฤดูฝนมาด้วยกันแล้ว ยังมีเครื่องบินลำโตปรากฎตัวในช่วงกลางวัน โดยปรกติพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก จะมีการถ่ายภาพทางอากาศต่อเป้าหมายก่อนทำภารกิจ ชาวบ้านมักจะพบเห็นเที่ยวบินสำรวจเส้นทาง มากกว่าเที่ยวบินทิ้งระเบิดของจริงด้วยซ้ำไป

            ทว่ากรุงเทพอยู่ห่างจากอินเดียถึง 1,100 ไมล์ การส่งเครื่องมาบินสำรวจทำได้ค่อนข้างยาก ต้องเป็นเครื่องขนาดใหญ่มาทำภารกิจแถวนี้ แล้วเสร็จจึงตีตั๋วเปล่าเข้ากรุงเทพเพื่อถ่ายภาพ ที่ผ่านมาจึงมีการบินสำรวจไม่มากเท่าไหร่ กระทั่งย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เริ่มมีการปรากฎตัวช่วงกลางวันมากขึ้น บางวันบินมาเป็นฝูงจำนวน 3 ถึง 4 ลำ

            ทำไมต้องบินเข้ามาสำรวจ ? ทำแล้วได้อะไรกลับไป ? มีเหตุผลประการใดถึงบินมากกว่าเดิม ? สาเหตุคงเป็นเพราะอเมริกาเปลี่ยนแผนใหม่ การโจมตีกรุงเทพที่ผ่านมาได้ผลน้อยเหลือเกิน ด้วยประสบการณ์ในพื้นที่พม่า อินเดีย และจีน จึงได้มีการปรับปรุงวิธีการทิ้งระเบิดเสียใหม่ โดยจัดทำเป็นคู่มือประกอบอย่างชัดเจน อีกอย่างก็คือเริ่มมีเสรีไทยในกรุงเทพมากขึ้น (ช่วงแรกมีแค่สายลับต่างชาติไม่กี่คน) พวกเขาเหล่านี้ช่วยในการจัดทำแผนที่ ค้นหาและกำหนดเป้าหมายในแต่ละเที่ยวบิน ค้นหาที่ตั้งทางทหารและที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งก็มีเฉพาะบางจุดที่ค่อนข้างสำคัญเท่านั้น

            เพราะเสรีไทยเป็นคนไทยมาจากต่างแดน การแฝงตัวเข้าทำภารกิจจึงเป็นเรื่องหมูตู้ รายละเอียดทั้งหมดถูกส่งต่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ก่อนกลายมาเป็นข้อมูลประจำเครื่องบินทิ้งระเบิด มีการกำหนดเส้นทางการบินใหม่หมด ด้วยแผนที่ซึ่งชัดเจนและเป็นปัจจุบันมากที่สุด นั่นคือสาเหตุที่มีเครื่องบินในช่วงกลางวัน เพื่อทดสอบเส้นทางบินและถ่ายภาพทางอากาศพร้อมกัน คนกรุงเทพเริ่มคุ้นเคยกับสิ่งแปลกใหม่ แม้จะตื่นเต้นอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้หวาดกลัว เนื่องจากการบินสำรวจมีด้วยกันหลายครั้ง และทุกครั้งไม่มีการทิ้งระเบิดหรือยิงปืนกล ความชะล่าใจจึงบังเกิดโดยไม่รู้ตัว

ข้อมูลสำคัญสำหรับฝูงบินทิ้งระเบิดระยะไกลกองบิน 10 ซ้ายมือได้มาจากประสบการณ์ในการรบ ขวามือได้มาจากเสรีไทยซึ่งแฝงตัวเข้ามา

 

เมกกะโปรเจคมาแล้ว

            วันที่ 5 มิถุนายน 2487 ตรงกับวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันหยุด คนเมืองหลวงต่างประดับธงชาติที่หน้าบ้าน แล้วพากันเข้าวัดทำบุญฟังคำเทศนา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นใหม่ล่าสุด จากฝูงบินทิ้งระเบิดที่ 58 กองบิน 20 ได้ทยอยบินขึ้นจากฐานทัพในหมู่เกาะมาเรียน่า เพื่อทำภารกิจที่มีระยะทางไปกลับ 2,261 ไมล์ เครื่องบินลำดังกล่าวนั้นก็คือ B-29 Superfortress และภารกิจสำคัญนั้นก็คือ “ทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพในเวลากลางวัน”

            B-29 คือเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลขนาดใหญ่ของอเมริกา ถูกออกแบบใหม่หมดแตกต่างจากเครื่องบินทุกลำ ใช้เทคโนโลยีที่มีความล้ำสมัยไปอีก 20 ปี นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเกือบทุกขั้นตอน ทั้งในส่วนการบังคับเครื่องและการใช้งานอาวุธ ห้องนักบินติดตั้งระบบปรับแรงดัน สามารถใช้บินที่ความสุงมากกว่าเดิม ล้อและระบบห้ามล้อออกแบบให้มีความแข็งแรง กระทั่งไม่มีปัญหากับน้ำหนักเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น นี่คือโครงขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และผลาญงบประมาณของอเมริกามากที่สุดเช่นกัน มีการประมาณการกันว่า โครงการแมนฮัตตันหรือที่เรารู้จักกันในชื่อระเบิดนิวเคลียร์ ถูกโครงการ B-29 ใช้เงินแซงหน้าหล่นมาอยู่อันดับสอง (โครงการแมนฮัตตันใช้เงินประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญ) เครื่องบิน B-29ถูกผลิตออกมาทั้งหมด 3,970 ลำ ราคาต่อหนึ่งลำอยู่ที่ 639,188 เหรียญ

            อาวุธป้องกันตนเองของ B-29 ประกอบไปด้วย ปืนกล 12.7 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 4 ป้อมยิงควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล (ป้อมปืนด้านบนเปลี่ยนมาเป็นแฝดสี่ในภายหลัง) ท้ายเครื่องติดตั้งปืนกล 20 มม.1 กระบอก และ 12.7 มม.อีก 2 กระบอก สามารถยิงได้ด้วยมือหรือรีโมทคอนโทรล เครื่องยนต์เทอร์โบซูเปอร์ชาร์ทจำนวน 4 ตัว ให้กำลังสุงสุด 2,200 แรงม้า ลากเครื่องบินที่มีน้ำหนักมากสุด 54 ตัน ให้บินได้เร็วสุด 574 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้ไกลสุด 5,230 กิโลเมตร บรรทุกระเบิดได้มากสุด 20,000 ปอนด์หรือ 9 ตัน แต่ถ้าบินระยะไกลจะลดลงมาเหลือ 12,000 ปอนด์หรือ 5.44 ตัน ทีเด็ดทีขาดเครื่องบินราคาแพงลิบลำนี้ก็คือ ระบบช่วยเหลือในการทิ้งระเบิดจากความสุงมากกว่า 20,000 ฟุต

             B-29 ทุกลำติดตั้ง “Mickey” AN/APQ-13 Airborne Radar ซึ่งเป็นระบบเรดาร์แสกนตรวจจับภาคพื้นดิน โดยได้พัฒนาปรับปรุงมาจากระบบเรดาร์ H2X ของอังกฤษ ตัวโดมจะถูกติดตั้งไว้ใต้ท้องเครื่องก่อนช่องบรรจุอาวุธ มีระยะตรวจจับประมาณ 80 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางแล้วกวาดไปรอบตัว จากโบรชัวร์บริษัทผู้ผลิตนั้น สามารถปล่อยระเบิดจากความสุง7,500 เมตร ที่ความเร็ว 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมงลงสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ระเบิดจะตกถึงพื้นห่างจุดปล่อยประมาณ 3.9 กิโลเมตร นักบินที่มีความชำนาญกับการใช้งานเรดาร์ จะสามารถทิ้งระเบิดห่างเป้าหมายไม่เกิน 200 เมตร 

            บริเวณจมูกเครื่องบินเป็นที่นั่งของพลทิ้งระเบิดหรือ Bombardier ได้มีการติดตั้งระบบ Norden Bombsight สำหรับช่วยในการเล็งยิงได้อย่างแม่นยำ ศูนย์เล็งระเบิดนอร์เด็นถูกออกแบบในช่วงสงครามโลก อเมริกายังได้ใช้งานในสงครามเกาหลีและสงครามเวียตนามต่อไป ระบบนี้มีดีอย่างไรกัน ? ในสงครามภาคพื้นยุโรปมีรายงานระบุว่า ที่ความสุง 6,000 เมตรจากพื้นดิน Norden Bombsight คำนวนจุดตกได้อย่างแม่นยำ โดยมีค่าความผิดพลาดแค่เพียง 50 เมตร เมื่อใช้งานร่วมกับเรดาร์ AN/APQ-13 จะทำให้เครื่องบิน B-29 คือปีศาจร้ายในตำนานตัวจริง

            Norden Bombsight เทียบได้กับระบบคอมพิวเตอร์อนาล็อก ใช้ค่าความเร็วลม มุมปะทะ ความสุงจากพื้นดิน รวมทั้งความเร็วเครื่องบินเข้ามาคำนวน พลทิ้งระเบิดต้องปรับมุมเล็งให้ตรงตามสถานการณ์ ซึ่งโดยปรกติจะมีข้อมูลเป็นตารางตัวเลขให้ปฎิบัติตาม กลไกการทำงานถือเป็นความลับสุดยอด เป็นไอเท็มลับที่ฝ่ายอเมริกาหวงนักหวงหนา ว่ากันว่า…เมื่อ B-29โดนยิงตกในเขตศัตรูนั้น หน้าที่แรกและหน้าที่เดียวของพลทิ้งระเบิดคือการทำลาย Norden bombsight เพื่อไม่ให้ฝ่ายเยอรมันล่วงรู้ความลับสำคัญนี้ เท็จจริงอย่างไรผู้เขียนไม่ขอยืนยัน

            ระบบช่วยเล็งรุ่นใหม่ใช้งบประมาณสุงพอสมควร ว่ากันว่าประมาณครึ่งหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน (อีกแล้ว) ในเมื่อมีระบบเรดาร์ AN/APQ-13 สุดทันสมัยแล้ว ทำไมต้องมีระบบช่วยเล็ง Norden Bombsight อีก ? นั่นเป็นเพราะเรดาร์ตรวจจับเป้าหมายภาคพื้นดินได้ คำนวนระยะทางที่ระเบิดตกถึงพื้นได้ แต่ใช้ความเร็วลม มุมปะทะ สภาพอากาศ และค่าอื่น ๆ มาประกอบการคำนวนไม่ได้ แต่ Norden Bombsight ทำได้แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซนต์

เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ทยอยออกบินจากกองบิน 20 หมู่เกาะมาเรียน่า ในภาพจะเห็นว่ามีการติดตั้งระบบเรดาร์ AN/APQ-13 ใต้ท้องเครื่องแล้ว

 

อุปกรณ์ทันสมัยที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ขวามือด้านบนพลปืนกำลังควบคุมปืนกล 12.7 มม.ของตนเองด้วยอุปกรณ์ที่มีชื่อเรียกว่า computing gunsight 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 30/04/2017 13:35:37


ความคิดเห็นที่ 4


            ย้อนกลับมาวันที่ 5 มิถุนายน 2487 อีกครั้ง เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 98 ลำ ออกเดินทางจากสนามบินกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งเข็มทิศมุ่งตรงมายังเมืองหลวงประเทศไทย เป้าหมายก็คือชุมทางรถไฟมักกะสัน โรงรถจักรที่บางซื่อ รวมทั้งสะพานพระพุทธยอดฟ้า นี่คือการโจมตีครั้งแรกสุด ของเครื่องบินราคาแพงที่สุด จากฐานทัพที่อยู่ไกลที่สุด

            ระหว่างเดินทางข้ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่ B-29 จำนวน 21 ลำจำเป็นต้องหันหัวกลับ สาเหตุเป็นเพราะเครื่องยนต์มีอาการขัดข้อง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจแรกให้สำเร็จลุล่วง เครื่องบินที่เหลืออีก 77 ลำจึงได้เดินทางต่อไป กระทั่งเวลาประมาณ 11 นาฬิกาประเทศไทย ฝูงบินขนาดใหญ่มาถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพ ทว่าเนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจ การตรวจสอบและยืนยันเป้าหมายจึงทำไม่ได้ ไม่แน่ใจนะครับว่าติดตั้งเรดาร์ไปด้วยกี่ลำ

            การทิ้งระเบิดจะต้องมีขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะบินมาถึงแล้วยังไงก็ต้องทำ การปรากฎตัวของเครื่องบินขนาดใหญ่ทั่วท้องฟ้า ทหารไทยและทหารญี่ปุ่นก็สามารถมองเห็น เครื่องบินขับไล่ บ.ข.13  (Ki–43 IIb Hayabusa) จำนวน 3 ลำ ได้รับคำสั่งให้ขึ้นบินสกัดกั้น แต่ทว่า B-29 อยู่สุงเกินที่จะสอย ทำได้แค่มองอยู่ห่าง ๆ พร้อมถอนหายใจ

            การปรากฎตัวของเครื่องบินขับไล่ฮายาบูชิ ไม่มีอันตรายกับผู้รุกรานซักนิดเดียว ทว่าคนกรุงเทพก็ยังโชดดีอยู่บ้าง เพราะ B-29 ถูกบังคับกลาย ๆ ไม่ให้บินต่ำกว่านี้ การทิ้งระเบิดจึงมีขึ้นที่ความสุง 23,000 ฟุต เป็นการทิ้งระเบิดตามเวรตามกรรมนั่นแหละครับ ภารกิจแล้วเสร็จทั้งหมดจึงเดินทางกลับ เครื่องบินจำนวน 42 ลำเหลือน้ำมันไม่เพียงพอ จึงต้องบินไปลงสนามบินที่อยู่ใกล้กว่า มีเครื่องบินจำนวน 5 ลำกลับไม่ถึงฐานทัพคาดว่าเครื่องยนต์ขัดข้องตกทะเลทั้งหมด

            ระเบิดหนัก 430,500 ปอนด์หรือประมาณ 196 ตัน ที่ตั้งใจนำมาถล่มเป้าหมายภารกิจแรก ถูกทิ้งสะเปะสะปะลอยคว้างไร้จุดหมาย มีรายงานว่าเครื่องบิน 18 ลำทิ้งระเบิดในพื้นที่เป้าหมาย ส่วนรายงานอีกฉบับบอกว่ามีแค่เพียง 9 ลำ ผลความเสียหายจากระเบิด 196 ตันนั้น ทำลายโรงพยาบาลทหารญี่ปุ่นบางส่วน รวมทั้งสำนักงานตำรวจลับของญี่ปุ่น ระเบิดที่เหลือตกใส่บ้านเรือนประชาชนเช่นเคย มีผู้เสียชีวิต 140 คน บาดเจ็บ 842 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นประชาชนเหมือนทุกครั้ง

สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ด้วยเงินงบประมาณจำนวน 4 ล้านบาท ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมโยงฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี 

เป็นสะพานรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ ทำพิธีเปิดในวันที่ 6 เมษายน 2475 อันเป็นวันฉลอง 150 ปีแห่งมหานครรัตนโกสินทร์ สะพานมีชื่อภาษาอังกฤษว่าMemorial Bridge แต่คนไทยทุกคนรู้จักในชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือ "สะพานพุทธ" นั่นแหละครับ ภาพนี้ถ่ายหลังสะพานเปิดให้ใช้งานได้ไม่นาน

 

            หลังเล่าเหตุการณ์ด้วยมุมมองคนทิ้งระเบิดแล้ว จึงอยากเล่าด้วยมุมมองคนบนพื้นดินบ้าง วันที่ 5 มิถุนายน 2487 ขณะทำหน้าที่พุทธศาสนิกชนที่ดีอยู่นั้น มีเครื่องบินขนาดใหญ่มากกว่า 40 ลำ ปรากฎตัวเหนือท้องฟ้าระยะสุงลิบ ท่ามกลางเสียงปืนต่อสู้อากาศยานและไทยมุงจำนวนมหาศาล ผู้รุกรานได้กระจายกำลังออกเป็นฝูงย่อม ๆ แต่ละฝูงมีเครื่องบินจำนวน 6ลำ หัวหน้าฝูงจะบินล่วงหน้าเพื่อกำหนดพิกัดเป้าหมาย ลูกฝูงบินที่เหลือบินเรียงเป็นหน้ากระดาน ก่อนหย่อนระเบิดเพลิง ระเบิดทำลาย หรือระเบิดสังหาร ลงสู่พื้นที่ที่หัวหน้าฝูงทำเครื่องหมายไว้

            นี่คือการโจมตีกรุงเทพตอนกลางวันครั้งแรกสุด เป็นการโจมตีรุนแรงที่สุดตั้งแต่เกิดสงครามมา สาเหตอีกหนึ่งประการที่ B-29 ประเดิมสนามในไทย เพราะมีการต่อต้านน้อยสุดเมื่อเทียบกับที่อื่น แม้ว่าการโจมตีครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็เป็นสัญญานบอกให้คนกรุงเทพรับรู้ ว่าการทิ้งระเบิดจากฝ่ายพันธมิตรจะมีต่อไป โดยจะทิ้งทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน ด้วยปริมาณเที่ยวบินและลูกระเบิดมากกว่าเดิม ด้วยเครื่องบินลำใหญ่กว่าเดิม และมีความทันสมัยมากที่สุดในโลก

ฟังเขาเล่ามาอีกที

            ว่ากันว่า…เครื่องบินทิ้งระเบิดลำแรกที่โดนยิงตกในไทย เป็นฝีมือทหารเรือไทยผู้รับผิดชอบปืนต่อสู้อากาศยาน ผู้โชดร้ายลำนั้นก็คือเครื่องบินฮาวิลอน หรือ de Havilland Mosquito ของอังกฤษ เป็นเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดอเนกประสงค์ขนาด 2 เครื่องยนต์ ส่วนนักบินเคยเป็นพนักงานสายการบินเคแอลเอ็มมาก่อน ในเอเชียและแฟซิฟิคอาจไม่ค่อยรู้จักเครื่องบินรุ่นนี้ แต่ถ้าในทวีปยุโรปแล้วล่ะก็ ฮาวิลอนเทียบได้กับซูแปร์เอตองดาร์ดยังไงยังงั้น

 

 

คุยส่งท้าย

            ผู้เขียนเพิ่งเล่าเรื่องต่อได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ก็มาถึงย่อหน้าสุดท้ายโดยไม่ทันตั้งตัว เพราะมีเนื้อหาให้ได้ติดตามมากพอสมควร และอยากลงลึกในบางประเด็นที่ไม่เคยมีการกล่าวถึง ทั้งยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ลงสนามมากถึง 4 ลำ บทความนี้จึงเปรียบเสมือนแคตตาล๊อคเครื่องบินอเมริกา ถือเป็นการปูเนื้อเรื่องให้แน่นแล้วกันนะครับ

            สงครามโลกครั้งที่สอง : 2487 มหาวิปโยค จะมีภาคสองต่อไปอย่างแน่นอน ส่วนจะจบลงในภาคไหนยังเป็นปริศนาคาใจอยู่ ทั้งนี้อาจมีตอนพิเศษเข้ามาแทรกกลางก็เป็นได้ ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)

     -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_invasion_of_Thailand

https://en.wikipedia.org/wiki/Bombing_of_South-East_Asia_(1944%E2%80%9345)

https://en.wikipedia.org/wiki/Bombing_of_Bangkok_in_World_War_II

http://ww2db.com/aircraft_spec.php?aircraft_model_id=38

http://www.aviation-history.com/north-american/p51.html

http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=784&postdays=0&postorder=asc&start=0

http://pantip.com/topic/31885621

http://forum.armyairforces.com/threads/b-25h-burma-mail.866/

http://www.pacificwrecks.com/airfields/thailand/bangkok/missions-bangkok.html

http://pwencycl.kgbudge.com/B/-/B-29_Superfortress.htm

http://tacticalthinker.blogspot.com/2010/07/smart-bomb.html

http://2g.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X13116372/X13116372.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Boeing_B-29_Superfortress

http://pantip.com/topic/30141591

http://pantip.com/topic/30145710

http://pantip.com/topic/30148496

http://pantip.com/topic/30151731

http://www.boldmethod.com/blog/lists/2015/03/facts-about-the-b-29-superfortress/

http://www.manager.co.th/Travel/viewnews.aspx?NewsID=9550000152842

http://lanna-ww2.com/pages/z02370-Other_locatns/Mae_Mo-z0001-00m/z0001-00m_mae_m0_page_01.html

หนังสือ Air War Pacific: Chronology: America’s Air War Against Japan in East Asia โดย Eric Hamme

เอกสาร U.S. Army Air Forces in World War II Combat Chronology 1941-1945

เอกสาร The Army Air Forces in World War II โดย John T. Correll

 

ข้อมูลหลักในการดำเนินเรื่องอ้างอิงจาก

http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=119&postdays=0&postorder=asc&start=0

 

ภาพถ่ายอ้างอิงจาก

http://ww2today.com/14-august-1945-last-and-largest-bombing-mission-to-japan

http://teakdoor.com/thailand-and-asia-news/86166-jan-25-1942-thailand-declares-war.html

https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/originals/b9/95/de/b995deb2e2ec76fb8fc91f05b76fff62.jpg

http://pantip.com/topic/31885621

http://pwencycl.kgbudge.com/B/-/B-29_Superfortress.htm

https://tacairnet.com/2015/01/01/gunfight-the-b-52-mig-kills-of-linebacker-ii/

http://edition.cnn.com/2015/07/22/travel/oshkosh-airshow-boeing-b-29-superfortress-bomber-fifi/

http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=784&postdays=0&postorder=asc&start=0

https://uk.pinterest.com/explore/de-havilland-mosquito/

http://www.uttaradit.go.th

http://biochem.flas.kps.ku.ac.th/rft/phayungsak/bandara.jpg

https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x/9c/91/cc/9c91ccefde95ae7f53595b8f4469b734.jpg

https://siamhistories.wordpress.com

http://www.cbi-history.com/part_vi_459th_fighter_sq.html

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 30/04/2017 13:37:23


ความคิดเห็นที่ 5


ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ แบบนี้ เป็นกำลังใจให้เขียนต่ออีกหลายๆเรื่องเลยครับ
โดยคุณ DEKO เมื่อวันที่ 30/04/2017 19:31:31


ความคิดเห็นที่ 6


ขอบคุณมากครับท่าน superboy  เรื่องราวประวัติศาสตร์ต้องยกให้ท่่านเลย

ไว้ผมรื้อห้องเก็บของเมื่อไหร่ จะเอาเล่มแนวๆ นี้ถ่ายเอกสารให้ท่านนะครับ เผื่อว่าท่านจะได้ใช้ประกอบเขียนเรื่องด้วย แบ่งๆ กันอ่านดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ ของดีๆ ทั้งนั้น

โดยคุณ เสือใหญ่ เมื่อวันที่ 30/04/2017 21:11:12


ความคิดเห็นที่ 7


ขอบคุณท่าน DEKO กับท่านเสือใหญ่นะครับ ตอนต่อไปมีช่วงว่างจากการทิ้งระเบิดนิดหน่อย เลยว่าจะเขียนเรื่องอื่นแทรกเข้ามาด้วย แต่ไม่รู้จะได้มากน้อยแค่ไหนนะครับ

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 01/05/2017 14:02:48


ความคิดเห็นที่ 8


อ่านเพลินเลยครับ    ไม่เคยผ่านตาข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำเสนอที่อื่นเลย    ขอบคุณครับที่นำเอามาแบ่งปัน

โดยคุณ Suku เมื่อวันที่ 01/05/2017 15:43:36


ความคิดเห็นที่ 9


เล่าเรื่องได้ดีมากเลยครับ เอาไปพิมพ์เป็นหนังสือขายได้ อิอิ

โดยคุณ boonn1234 เมื่อวันที่ 01/05/2017 17:01:13