ทหารเรือ 2,500นาย ร่วมขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร กลางอ่าวไทย
เมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10.00 น. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ นำข้าราชการกองทัพเรือ จำนวน 2,500 นาย ร่วมขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
นับตั้งแต่การเสด็จนิวัติพระนคร จนถึงเสด็จสวรรคต โดยได้ทำการขับร้องบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ที่ลอยลำกลางอ่าวไทย พร้อมเรือหลวงตากสิน เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงปิ่นเกล้า และ เรือ ต.996 ซึ่งนอกจากเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว กำลังพลทั้ง 2,500 นาย ยังได้ร่วมขับร้องเพลงความฝันอันสูงสุดอันเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพลงดาบของชาติ อันเป็น เพลงพระนิพนธ์ใน พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรก ของราชนาวีไทยโดยกองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือและเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือพระบาทสมเด็จพระทรงพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามเรือหลวงลำนี้ว่า เรือหลวงจักรีนฤเบศร แปลว่า #ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี#
เรือหลวงจักรีนฤเบศร ต่อจากบริษัท บาซาน ประเทศสเปน โดยนำแบบมาจากเรือปรินซีเปเดอัสตูเรียส (Principe de Asturias) ของกองทัพเรือสเปน โดยปรับปรุงระบบขับเคลื่อน ระบบควบคุมการบิน ระบบอาวุธ และลดระวางขับน้ำลงเหลือสองในสาม โดยได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ.2536 และวางกระดูกงูเรือในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2539 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธี
เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เดินทางถึงประเทศไทยในต้นเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เรือได้เข้าประจำการ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2540 ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2540
เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน เป็นเรือประเภทเรือฟริเกตซึ่งกองทัพเรือได้สั่งต่อจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเรือที่กองทัพเรือออกแบบใหม่ร่วมกับบริษัท CHINA STATE SHIPBUILDING COORPERATION (CSSC) โดยใช้ระบบอาวุธและเครื่องจักรส่วนใหญ่ของยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลักจึงทำให้มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการรบที่ทันสมัย โดยชื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานชื่อเรือทั้งสองลำนี้ ซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษ้ตริย์ที่ทรงกู้แผ่นดินไทยให้เป็นเอกราชจนถึงปัจจุบันนี้
กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตาก เพื่อความเป็นสิริมงคล ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของทั้งสองพระองค์ที่ทรงมีแก่กองทัพเรืออย่างหาที่สุดที่มิได้
เรือหลวงปิ่นเกล้าเป็นเรือประเภทเรือพิฆาต เมื่อประมาณ 60 ปี ที่ผ่านมา สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาของยุคการต่อสู้การแบ่งฝ่ายของประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น สหรัฐอเมริกา ได้ทำการต่อเรือพิฆาตคุ้มกัน (Destroyer Escort ) จำนวน 555 ลำ เพื่อมาคุ้มกันเรือสินค้าอังกฤษที่ถูกเรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมันโจมตีจน เรืออับปาง โดยได้ทำการต่อเรือ Destroyer Escort ชั้น Cannon ทั้งหมด 72 ลำ หนึ่งในนั้นซึ่งเป็นเรือลำที่ 59 ได้ชื่อว่า USS.HEMMINGER (DE 746) เพื่อเป็นเกียรติแก่ Ensign Gyril Franklin Hemminger ผู้ได้ปฏิบัติหน้าที่ ในการรบอย่างกล้าหาญ คนตัวตายในการยุทธ์ทางเรือที่หมู่เกาะโซโลมอน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2485 และ นาง Hemminger ภริยาหม้ายได้รับเกียรติให้ปล่อยเรือลำนี้ลงน้ำในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2486 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2501 สหรัฐ ฯ ได้ส่งมอบเรือ USS.Hemminger ให้ ราชนาวีไทย ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2502 ที่ Naval Shuoyard New York USA และได้เดินทางกลับถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2502 กองทัพเรือได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชื่อเรือลำนี้ว่า " เรือหลวงปิ่นเกล้า " ตามพระราชทินนามของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์ ในขณะนั้น เรือหลวงปิ่นเกล้า ได้เข้าประจำการอยู่ในกองเรือปราบเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ในปัจจุบัน
ส่วนภารกิจของเรือหลวงปิ่นเกล้าเป็นเรือ"ยิงสลุตหลวง" ถวายที่พระราชวังไกลกังวลทุกครั้งที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเรือถวายอารักขาในหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล เรือหลวงปิ่นเกล้า ได้ทำการยิงสลุต 21 นัด ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นเรือลำเดียวที่ยิงสลุตด้วยปืนใหญ่เรือขนาด 76/50 และเข้าไปยิงใกล้ฝั่งที่สุดในระยะ 1,400 หลา ซึ่งจะทำให้ได้ยินเสียงปืนใหญ่ และประกายไฟที่ชัดเจนกว่าเรือทั่วไป พระองค์ท่านจะทรงส่องกล้อง และบันทึกภาพในขณะที่เรือวิ่งแปรรูปขบวนเข้ายิงสลุต บางครั้งก็มาทราบจากราชองครักษ์ประจำพระองค์ว่า พระองค์ท่านจะทรงส่องกล้องดูไปจนกระทั่งเรือทิ้งสมอเรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ขณะเรือหลวงปิ่นเกล้ายิงสลุตหลวงถวายคำนับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน โดยพระราชทานให้แก่กองทัพเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ และตื้นตันแก่กำลังพลของกองทัพเรือในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เรือ ต.996 เป็นเรือที่กองทัพเรือได้จัดทำโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ประกอบด้วย เรือ ต.994 ซึ่งกองทัพเรือดำเนินการต่อเอง ส่วน เรือ ต.995 แล ะ เรือ ต.996 ต่อโดย บริษัท มาร์ซัน จำกัด ซึ่งนอกจากเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิคตลอดจนบุคลากรของ กองทัพเรือ ในการสร้างเรือขึ้นใช้เอง ซึ่งถือเป็นการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ ยังเป็นการ ส่งเสริมขีดความสามารถการสร้างเรือของเอกชนและส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือใน ภายในประเทศ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีคุณูปการแก่กองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์ ซึ่งทหารเรือทุกนายต่างซาบซึ้งและเปี่ยมไปด้วยความสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแก่บรรดาเหล่าทหารเรือเป็นล้นพ้น
ข้อมูลจากเพจกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ