หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ยุทธการฮาเตียน

โดยคุณ : tower6221 เมื่อวันที่ : 20/11/2016 09:24:10

ถ้าเคยมีสมาชิกท่านใดนำมาลงแล้วขออภัยด้วยครับ

 

"ยุทธการฮาเตียน" น้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อนี้ แต่จงรับรู้ไว้เถิดว่า ยุทธการแห่งกองทัพเรือไทยครั้งนี้ มีจริง ...

คนไทยคงจะจำกันได้ดีว่า ครั้งหนึ่ง ทหารเรือไทย ได้เคยสร้างวีรกรรมไว้จนยากจะลืมเลือน นั่นคือ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง จังหวัด ตราด เมื่อ 17 มกราคม 2484 

เหตุการณ์ครั้งนั้น เราต้องสูญเสียเรือรบหลักๆไปถึง 3 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงชลบุรี ถึงแม้จะเป็นฝ่ายสูญเสีย แต่เรือรบของเราก็สู้จนสุดใจขาดดิ้น สู้อย่างยิบตา สร้างรายแผลไว้ให้ข้าศึกพอสมควร เช่น เรือลามอตต์ปิเกต์ ที่ต้องไปจอดเลียแผลอยู่ที่ เมืองไซ่ง่อน เป็นเวลานาน 

 

รอยจารึกอันเจ็บปวดครั้งนั้น ราชนาวีไทยเก็บความแค้นเอาไว้ หวังจะเอาคืนให้จงได้และชาวโลกจะได้รับรู้ 

แผนยุทธการฮาเตียน จึงเกิดขึ้น ฮาเตียนเป็นเมืองท่าในกัมพูชา ซึ่งในเวลานั้นตกเป็นของฝรั่งเศส มีเรือรบของฝรั่งเศสจอดอยู่หลายลำ ซึ่งคาดว่าเตรียมเข้าโจมตีไทยอีกระลอกเพื่อหวังผลประโยชน์อีกแน่นอน เพราะคราวที่แล้วไม่ค่อยได้ดั่งใจ
 
หลังจากลาดตระเวนดูลาดเลาต่างๆอย่างเงียบๆ ประมาณ 1 อาทิตย์ แผนการนี้ก็ได้เริ่มขึ้นทันที ไม่มีใครล่วงรู้ มีแต่นายทหารระดับผู้บังคับการหรือเสนาธิการเท่านั้น ที่รับรู้

ในยามสงครามเช่นนี้ (สงครามมหาเอเชียบูรพา) ไม่มีใครคาดคิดว่า กองทัพเรือไทย จะกล้าวางแผนเข้าจู่โจมข้าศึกอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเช่นนี้ 

ห้วงเวลานั้น ราชนาวีไทยยังคงเงียบกริบ ไม่มีทีท่าใดๆทั้งสิ้น มันเป็นความลับและแผนขั้นสุดยอด 

จนกระทั่งวันที่ 26 มกราคม 2484 เรือรบทุกลำในอ่าวสัตหีบ ก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมที่จะออกเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงภูเก็ต เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงระยอง เรือหลวงชุมพร หลวงบางระจัน เรือหลวงหนองสาหร่าย และเรือหลวงคราม พร้อมลูกเรือลำละ 90 คน อาวุธเต็มอัตราศึกทุกลำ 

ลูกเรือล้วนแล้วคนหนุ่มอยู่ในวัยฉกรรจ์ทั้งสิ้น เรือพวกนี้เพิ่งถูกสร้างและรับมาจากอิตาลีทั้งนั้น เรียกว่า ไฟแรงทั้งคนและของ 

เรือรบได้รับการติดอาวุธที่คาดไม่ถึง คือ ทุ่นระเบิดชนิดเบาแบบกระทบแตก มันถูกส่งขึ้นมาวางตรงท้ายเรือทั้ง 2 กราบ ลำละ 25 ลูก 

ลูกเรือเริ่มรับรู้แล้วว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก 

เจ้าฉลามทะเลทั้ง 6 ลำ บรรทุกอาวุธหนักจนหัวเรือเชิดไปตามๆกัน และพากันค่อยๆ ถอนสมอเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ หายไปในทะเลและหมอกยามเช้าของวันที่ 27 มกราคม 2484 

ออกมาได้ไม่ไกลนักก็มีเรือรบหลวงเขามาสมทบอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน และ เรือหลวงแม่กลอง กองเรือถูกจัดเป็น 2 ขบวน โดยผู้มาใหม่เป็นผู้นำขบวนพอรุ่งสาง ลูกเรือก็พอจะรู้ว่า ขบวนเรือ 2 ขบวนนี้ มุ่งไปยังทิศใด แต่จะไปไหน ทำอะไร และ อย่างไร ไม่รู้มากนัก 

ลูกประดู่ทุกนายต่างก็ไม่ถามกันว่า จะทำอะไรต่อไป ได้แต่ฮัมเพลงและร้องเพลงปลุกใจไว้ในลำคอไปพลางๆ 

 

จนเวลาพลบค่ำ หลังจากทุกคนรับประทานข้าวปลาอาหารเรียบร้อยแล้ว นายทหารเรือยุทธการท่านหนึ่งก็ออกมาที่หัวเรือ พร้อมนกหวีดเรียกพล ประกาศด้วยเสียงอันดังและเด็ดเดี่ยวขึ้นว่า 

"พี่น้องทหารที่รักทั้งหลาย อันเป็นเพื่อนร่วมชีวิต ร่วมเป็นร่วมตายทุกคน เรารับคำสั่งไปปฏิบัติการเดินหน้าวางทุ่นระเบิด ปิดล้อมบริเวณหน้าอ่าวฐานทัพเรือฝรั่งเศสที่ฮาเตียน โดยมีกำหนดออกเดินทางคืนนี้ จะต้องถึงบริเวณเริ่มปฏิบัติการทางยุทธวิธี ในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 มกราคม หลังจากวางทุ่นระเบิดเสร็จสิ้น ขบวนเรือตอร์ปิโดทั้ง 6 ลำ จะแล่นตีวงโอบอยู่ภายนอก ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของเรือหลวงท่าจีน และ เรือหลวงแม่กลอง จะระดมยิงชายฝั่ง โดยมีเรือหลวงศรีอยุธยาที่เลียบฝั่ง เพื่อบีบให้เรือรบฝรั่งเศสในฐานกำลังที่เมืองฮาเตียน ออกมาจากอ่าวเข้าสู่สนามทุ่นระเบิดที่เราวางไว้ และเรือตอร์ปิโดใหญ่จะระดมยิงเข้าซ้ำที่เดิม พอใกล้รุ่งสาง กองกำลังนาวิกโยธินซึ่งมากับเรือหลวงศรีอยุธยา จะยกพลขึ้นบก ยึดฐานทัพเรือฮาเตียนของข้าศึก การปฏิบัติภารกิจเสี่ยงอันยากนี้ ขอให้พวกเราทุกคน จงยึดมั่น ปฏิบัติหน้าที่จะสุดความสามารถ หากตายจะขอตายด้วยกันทุกลำ เหมือนกับดอกประดู่ที่พากันโรยไปทั้งต้น ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ที่นี้ ในเรือลำนี้ พร้อมด้วยคุณพระศรีรัตนตรัย จงปกป้องคุ้มครองเราทุกคน"

พอสิ้นเสียงประกาศ เสียงไชโยก็กระหึ่มไปทั่งเรือ บัดนี้ทราบกันทั่วแล้วว่า ภารกิจอันสำคัญนี้คืออะไร ใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า "ถึงเวลาแก้มือแล้ว"

เช้าของวันที่ 28 มกราคม 2484 เป็นวัน D-DAY ทุกคนพร้อมเต็มที่ ต่างก็มีใจฮึกเหิม พระห้อยคอ เครื่องรางของขลังถูกปลุก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกอาราธนา เป็นขวัญกำลังใจ เที่ยงของวันนั้นลูกเรือก็เตรียมทุ่นระเบิด ปืนทุกระบอก ท่อตอร์ปิโดให้พร้อม 

 

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกคนฉงนสงสัยก็เกิดขึ้น หัวเรือทั้ง 2 ขบวน คือ เรือหลวงแม่กลอง และ เรือหลวงท่าจีน ลดความเร็วลงแล้ว เลียวซ้าย และ ขวาไปทางทิศตะวันออก ตามลำดับ แล้วส่งสัญญาณให้เรือลูกหมู่ทุกลำ ปฏิบัติตามในรูปขบวนเดิม

ไม่มีใครเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะอีก 12 ชั่วโมง ก็จะได้ลงไม้ลงมือกันแล้ว แต่คำสั่งต้องเป็นคำสั่ง แม้จะฉงนสนเท่ห์ยิ่งนัก 

สักพักหนึ่งนายทหารยุทธการคนหนึ่งก็เดินออกมาแจ้งให้ทุกคนได้ทราบว่า ได้รับคำสั่งด่วนที่สุด ทางสัญญาณวิทยุจากกองบัญชาการกองทัพเรือว่า กองทัพเรือให้ระงับแผนยุทธการที่กำลังจะลงมือไว้ก่อน เนื่องจากเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ รัฐบาลไทยได้รับเงื่อนไขของรัฐบาลของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ที่ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เจรจาระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส(อินโดจีน) และให้กองเรือไปร่วมพลที่ เกาะพะงัน 

ผลของการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นคราวนี้ เราได้ดินแดนคืนมาชั่วคราว คือ เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ และ จำปาศักดิ์ แต่ในเวลาต่อมาต้องหลุดมือไปเพราะผลของสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ ทั้งยังคิดว่า กองทัพเรือไทยถูกข้าศึกโจมตีจนไร้บทบาท ความจริงแล้ว แม้ยุทธการฮาเตียนจะยังไม่บรรลุผลดังกล่าว แต่เป็นเสมือนปิดทองหลังพระก็ว่าได้

ราชนาวีไทย เปรียบเสมือนดาบเล่มหนึ่ง ดาบเล่มนี้มีคุณค่าเสมอ มิจำเป็นต้องอวดอ้างความคม และพร้อมที่จะลงดาบข้าศึกที่จะเข้ามารุกราน 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=263749.0





ความคิดเห็นที่ 1


นอกจากบทความนี้แล้ว ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานอื่นประกอบ และมีข้อสงสัยอยู่ในใจมานานแล้ว ว่า......

 

เรือของเราแล่นอยู่กลางทะเลลึก ห่างจากประเทศค่อนข้างมาก แบ่งออกเป็น 2 กองเรือด้วยกัน แล้วติดต่อสื่อสารผ่านวิทยุกับกองทัพเรือได้อย่างไรกัน ???

 

ขนาดตอนยุทธนาวีที่เกาะช้าง คลื่นวิทยุจากเรือหลวงธนบุรียังไม่มีใครรับได้เลย แล้วเรือหลวงท่าจีนลำเล็กกว่าด้วยซ้ำ สัญญาน 4G จะแรงถึงฝั่งเชียวเหรอ ส่วนเรือตอร์ปิโดนั่นสบายใจได้เลย ไม่มีวิทยุแน่นอน

 

ออกตัวนิดว่าไม่รู้จริง ๆ นะครับ อาจสื่อสารผ่านระบบโทรเลขก็ได้ แต่ผมก็ไม่รู้อีกนั่นแหละว่ายังไงและอย่างไร 

 

 เรือหลวงบางระจันและเรือหลวงหนองสาหร่าย เป็นเรือวางทุ่นระเบิดก็จริง แต่ความเร็วต่ำมากตามกองเรือไม่ทันแน่ เครื่องยนต์ออกแบบมาให้ใช้ความเร็วต่ำ แค่วิ่งตรวจการณ์ในอ่าวยังแทบรากเลือก

 

เรือหลวงครามนี่ใช้ขนคนนะครับ อาจเป็นเรือเสบียงบรรทุกของกินก็ได้ อันนี้คิดในแง่กองเรือ

 

ทีแรกบอกเรือ 6 ลำ แต่ผมนับได้ 7 ลำ โดยเป็นเรือตอร์ปิโดเพียง 4 ลำ เรือวางทุ่นระเบิด 2  ลำ และเรือยกพล 1 ลำ แล้วมัน 6 ลำยังไง

 

ต่อมามีเรือสลุปมาสมทบ 2 ลำ และใช้เป็นเรือนำขบวน อันนี้เข้าใจ แต่แล้วอยู่ดี ๆ ตามแผนจะมีเรือหลวงศรีอยุธยาโผล่ออกมา เพื่อล่อเรือฝ่ายตรงข้ามหน้าตาเฉย มายังไงล่ะท่าน 

 

ผมไม่รู้นะว่าตอนนั้นเรามีนาวิกโยธินหรือยัง แต่ถ้ามีแล้ว ควรมากับเรือหลวงครามมากกว่ามั้ย เรือหลวงศรีอยุธยาจะขนคนยังไงกัน ในเมื่อตัวเองต้องเป็นเป้าล่อล้อความตายด่านแรก คือต้องเล่นกับของหนักมากเสียด้วย แบก 2 งานบ่อไหวดอก

 

งงดีมั้ยครับ

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 17/11/2016 12:14:54


ความคิดเห็นที่ 2


เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เปิดเผย การบันทึกอย่างเป็นทางการเลยไม่มี เรื่องราวที่ได้ยินมาจากการเล่าจากมุมมองรายบุคคล รายละเอียดเลยตกๆหล่นๆมั๊งครั้บ

แต่ถ้า สมมุติว่า จะมีการทำแบบนั้นขึ้นมาจริงๆ แผนนี้จะเวิร์คไหมครับ

โดยคุณ Naris เมื่อวันที่ 17/11/2016 14:36:55


ความคิดเห็นที่ 3


จมทุกลำอย่างแน่นอน ผมถึงว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ

 

อย่างเรือตอร์ปิโด จะบรรทุกทุ่นระเบิดลำล่ะ 25 ลูกยังไงไหว ในเมื่อปรกติใส่ได้ไม่เกิน 8 ลูก นอกจากจะถอดปืนใหญ่ท้ายเรือออกไป โอเวอร์โหลดมาก

 

ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นใช้กองเรือทันสมัยบุกไทย โดยการเดินทางกลางคืนและใช้เรดาร์นำทาง แต่ฝ่ายเราเดินเข้าไปดุ่ม ๆ กลางแดดเปรี้ยง คิดว่าจะรอดอย่างนั้นรึ

 

แสดงให้เห็นว่ายุทธวิธีเราล้าสมัยมาก เอาแค่ว่าอีกฝ่ายวางทุ่นระเบิดดักร่องน้ำไว้ เท่านี้ก็บันลัยจักรแล้ว หรือเครื่องบินลาดตระเวนที่อีกฝ่ายส่งออกมาตลอด ทำอย่างไรจะหลบหลีกพ้น ปตอ.ป้ิงกันตนเองยังมีจำนวนจำกัด (นาทีนั้นนะ) อย่างเรือสลุปทีจะไปยิงถล่มมีแค่กระบอกเดียว มองด้วยจิตเอนเอียง ผมให้หลงทางไปไม่ถูกเอ้า

 

ประการหนึ่ง กองทัพเรือระบุเองว่า ได้นำเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำออกลาดตระเวนหาข่าวแถวฐานทัพข้่าศึก แล้วเหตุอันใดเล่าถึงไม่ใช่เรือดำน้ำเข้าโจมตี ( ถ้าไม่ใช่แค่คำคุยโว ) 

 

ที่เขียนมาคือการใช้เรือรบที่เหลือเกือบทั้งหมด เข้าทำสงครามครั้งสุดท้ายเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ต้องบอกก่อนนะครับว่าเรือเราลำเล็ก การเดินทางไกลไปถึงฮาเตียนมันไม่ง่ายเลย เพราะมันไกลมาก (ปักหมุดแดง) เอาแค่ไปถึงไซ่ง่อนหรือปัจจุบันโฮจิมินห์ก็เหนื่อยแล้ว กองเรือฝรั่งเศสที่มาตีเราก็อยู่ไซ่ง่อน

 

 


โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 17/11/2016 15:18:06


ความคิดเห็นที่ 4


ขอกลับมางงอีกรอบ ฮาเตียนเมืองท่าในกัมพูชา น่าจะหมายถึงจังหวัดกัมปอต-เมืองพระสีหณุ 

 

ที่ผมปักหมุดคือ Phu Quoc Island และฮาเตียนอยู่ในฝั่งตรงกันข้ามหน่อยเดียว ถ้ามองจากมุมนี้น่าจะเป็นฐานทัพเรือขนาดไม่ใหญ่ เรือรบไม่น่ามีเยอะ ระยะทางไม่ไกลไป

 

ไม่แน่ครับท่าน Naris ถ้าใช้เรือดำน้ำร่วมโจมตีด้วยนะจะพอไหว นี่พูดโดยไม่รู้ศํกยภาพฝ่ายนั้นนะ เพราะฝรั่งเศสน่าจะมีกองเรือขนาดใหญ่ที่เดียว อยากรู้ข้อมูลชัดเจนกว่านี้ย้ายเว็บบอรฺ์ดครับ ฮ่า ฮ่า

 


โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 17/11/2016 15:29:58


ความคิดเห็นที่ 5


น่าน เห็นมั้ย................ ทุกอย่าง ประกอบขึ้นด้วยหลักการณ์และเหตุผล..................   ใช้-ข้อเท็จจริงเหล่านี้มาพิจราณาสิ่งต่างๆ   จะไม่มีใครหลอกได้....................  

 

โดยคุณ กบ เมื่อวันที่ 17/11/2016 15:32:31


ความคิดเห็นที่ 6


เท่าที่เคยเห็น เหมือนในเว็บทร.จะมีกล่าวถึงอยู่สั้นๆสักสองบรรทัดโดยไม่มีรายละเอียดอะไรครับ(หลายเดือนแล้ว ตั้งแต่วาดเรือหลวงนเรศวรลำแรก) ประมาณว่าเคยมีแผนจะโจมตีฐานทัพเรือฝรั่งเศสอินโดจีนเป็นการตอบโต้ (ไม่แน่ใจวาได้บอกรึเปล่าว่าที่ไหน)

โดยคุณ Phu2000 เมื่อวันที่ 17/11/2016 16:45:55


ความคิดเห็นที่ 7


เท่าที่พอจำได้จากการอ่าน ฐานทัพของฝรั่งเศสที่ใกล้ไทยน่าจะเป็นฐานทัพเรือเรียมในเขมรครับ (ติดๆ กันน่าจะเป็นท่าเรือพานิชย์สีห์นุวิลล์ - กัมปงโสมเดิม) ถ้าจะยกไปตีกัน ใกล้สุดก็น่าจะเป็นเจ้านี้แหละครับ มาเร็ว ไปไว เอาเรือ ส. ไปด้วยน่าจะเป็นไปได้ครับ

แต่ด้วยข้อสังเกตุของท่าน Superboy ความน่าจะเป็นมันโดนตัดไปที่ละข้อ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร โหลดของเรือ ต. ใหญ่ การใช้เรือไม่ถูกภารกิจ มันทำให้ดูจะห่างไกลความจริงไปนะครับ

ดูท่าจะต้องช่วยกันขุดเรื่องราวเก่าๆ กันแล้วละครับเพื่อให้ได้ความจริง

โดยคุณ เสือใหญ่ เมื่อวันที่ 17/11/2016 16:46:37


ความคิดเห็นที่ 8


อาจจะมีแผนจริง แต่ไม่มีข้อมูลรายละเอียด ผู้เขียนบทความนี้เลยใส่ให้แบบยังกะอยู่ในเหตุการณ์จริง ฮา

โดยคุณ toeytei เมื่อวันที่ 17/11/2016 19:31:10


ความคิดเห็นที่ 9


ฮาเตียน  ยุทธการนี้มีอยู่จริงครับ (เคยอ่านเจอในนาวิกศาสตร์) แต่เป็นแค่แผนในกระดาษ แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติการจริง เพราะมีความเสี่ยงเกินไป

ถ้ายุทธการนี้หากทำจริงแล้วเกิดพลาด เราจะถูกปิดอ่าวเหมือน รศ.112 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะเห็นด้วย

ส่วนในเรื่องบทความ ผมคิดเห็นแบบเดียวกับท่าน toeytei คือปรุงแต่งขึ้น

 

แต่ผมมีข้อสงสัยอีกอย่างหนึ่งคือเรือดำน้ำ สี่ลำของเราในตอนนั้น มันอยู่ในสภาพพร้อมรบจริงหรือไม่ ???

คือ ผมยัง ค้างคาใจอยู่ทุกวันนี้ว่าทำไมเรือดำน้ำของเราตั้ง สี่ลำ กลับไม่มีเรือซักลำได้เข้าร่วมใน เหตุการณ์ที่เกาะช้างเลยแม้แต่ลำเดียว

ซึ่งน่าปวดใจชะมัด

โดยสถานการณ์ตอนนั้นเราประกาศสงครามกับฝรั่งเศสแล้วส่งทหารเข้าเขมรกับลาวไปก่อนหน้านั้นหลายวัน  แล้ว แต่ทำไมกองทัพเรือไม่ส่งเรือดำน้ำ ไปลาดตระเวนอยู่แถวนั้นเลยซักลำ ซึ่งมันเป็นชายแดนทางทะเลสำคัญระหว่างเรากับศัตรู

แล้วที่น่าทึ่งและประหลาดใจเข้าไปใหญ่ ที่กองทัพเรือบอกว่าภายหลังจากการปะทะกันที่เกาะช้างจบลง ได้ส่งเรือดำน้ำ สี่ ลำออกลาดตระเวนในทะเลอ่าวไทย ก่อนหน้านั้นกองทัพเรือ ให้เรือดำน้ำไปจอดทิ้งไว้เฉยๆที่ท่าเรืออย่างนั้นหรือ???

แล้ว ยุทธการณ์ ฮาเตียน ฮาร์เบิ่ล แผนการนี้กลับไม่มีเรือดำน้ำเข้าร่วมปฏิบัติการเลย ยิ่งงง เข้าไปใหญ่ แล้วตอนนั้นเราซื้อเรือดำน้ำมาเพื่ออะไร ?????

พูดตามตรง ผมแทบไม่ได้เคยอ่านเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับ ปฏิบัติการของเรือดำน้ำ สี่ลำ ที่ว่านี้มากนัก จากทางกองทัพเรือเลยแม้แต่ในหนังสือ นาวิกศาตร์  ก็แทบจะไม่มีให้หาอ่านหรือกล่าวถึง มีแต่เรื่องราวทั่วๆไปเช่น เกี่ยวกับการสั่งซื้อระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

โดยคุณ ObeOne เมื่อวันที่ 18/11/2016 10:16:30


ความคิดเห็นที่ 10


เรียน ท่าน ObeOne เท่าที่จำได้จากที่อ่านๆ มา คราวการยุทธที่เกาะช้าง เรือศรีอยุธยากับเรือ ส. 1 ลำ และเรือ ต.ใหญ่ และเรือลำเลียง จำชื่อไม่ได้รวมเป็น 1 หมู่เรือ เพิ่งเดินทางกลับจากการตระเวณรักษาฝั่งบริเวณเกาะช้าง สวนกับอีกหมู่เรือที่มีเรือธนบุรีเป็นเรือธง พร้อมเรือ ต.ใหญ่ อีก 3 ฯลฯ แต่หมู่นี้ไม่มีเรือ ส. อยู่ด้วยครับ ที่เหลือน่าจะอยู่สัตหีบกับกรุงเทพฯ ครับ ฉะนั้น เรามีเรือ ส. ปฏิบัติการอยู่อย่างแน่นอนในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนความพร้อมรบของเรือและกำลังพล น่าคิดครับว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะเพิ่งรับมอบเข้าประจำการใหม่ๆ แค่ปีสองปีก็ต้องเข้าสู่งสถานการณ์สงครามอินโดจีนแล้ว

และความที่เป็นเรือ ส. ชายฝั่ง ระหว่างขับน้ำแค่สี่ร้อยกว่าตัน ความเร็วเดินทางไม่กี่น๊อต คงไม่เหมาะหากจะให้ประกอบกำลังเป็นหมู่เรือเดินทางไปทำสงครามพร้อมกับเรือรบผิวน้ำไกลขนาดทะเลจีนโน่น ถึงแม้ว่า เรือ ส. ทั้งสี่ลำของเราจะเคยเดินทางรอนแรมมาจากอู่โกเบจนถึงท่าราชฯ ด้วยตัวเองก็ตามครับ

ขนาดฝรั่งเศสยังใช้ไซ่ง่อนเดินทางมาโจมตีเราแค่ชายฝั่งทะเลตราด (หรือบางท่านก็ว่า ตั้งใจจะมายิงถล่มฐานทัพเรือสัตหีบของเราเลยทีเดียว) แล้วทำไมทีเราจะวางแผนไปตีโต้เอาคืนบ้าง ใยจึงเลือกเป้าหมายซะไกลสุดกู่อย่างฮาเตียน เลยไซ่ง่อนไปซะอีก เวลากองเรือเราเดินทางจะปิดลับกันยังไง ทั้งฝรั่งเศสทั้งญี่ปุ่นแล่นเรือกันขวักไขว่ สู้เดินเรือไปใกล้ๆ อย่างฐานทัพเรือเรียมในเขมร จะดีกว่าไหม ยกเว้นคุณค่าทางการทหารมีไม่เพียงพอในเวลานั้น ฐานเล็กๆ ไม่มีเรือหลักประจำอยู่ อะไรทำนองนั้น หรือเต็มที่ก็น่าจะไซ่ง่อนนะครับ ดูจะเข้าท่ากว่า

โดยคุณ เสือใหญ่ เมื่อวันที่ 18/11/2016 10:54:07


ความคิดเห็นที่ 11


ฮาเตียน เป็นเกาะทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งอยู่ไกลจากไทยค่อนข้างมาก เลยจังหวัดแกบของเขมรไปอีก คงเป็นไปได้ยากที่จะไปถึง ประกอบกับถ้าอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดตราด ซึ่งมีการตีพิมพ์ประมาณปี 2542 อ่านเรื่องการรบของไทยกับฝรั่งเศสที่เกาะช้างแล้ว จะเวียนหัวมากครับ เพราะการรบกับเรือลามอสปิเกต์ ในหนังสือเล่มนี้เขียนว่าด้วยเดชะบุญที่กระสุนปืนใหญ่ตกลงไปถูกเรือลามอสปิเกต์ ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่า กระสุนปืนใหญ่ของเรือรบไทยมันฟลุคครับ ไม่ใช่ฝีมือ อันนี้อ่านแล้วท่านรู้สึกอย่างไรครับ

โดยคุณ boonn1234 เมื่อวันที่ 18/11/2016 11:00:27


ความคิดเห็นที่ 12


ผมเพิ่งเข้า Googlemap โอ้แม่เจ้า ฮาเตียนมันอยู่เลยสัตหีบเราไปหกร้อยกว่าโลเองครับ เลยจากสีห์นุวิลล์/กำโปงโสม หรือกระทั่งฐานทัพเรือเรียมไปทางใต้เขมรประมาณ 150 กิโล อยู่ในเขตเวียดนามครับ ยังไม่ถึงสามเหลี่ยมปากนกแก้ว หรือเมืองไซ่ง่อนเลยครับ

ฉะนั้น เป้าหมายนี้ เทียบกับระยะทางที่เราจะต้องเดินทางเข้าตี น่าจะอยู่ในพิสัยที่ทำการได้ครับ ทีนี้ก็เหลือแค่รายละเอียดทางยุทธการครับว่าจะถูกต้องเหมาะสมแค่ไหน จะใช้เรืออะไร ทำภารกิจอะไร มีเป้าหมายคุ้มพอให้ทุบไหม แล้วโอกาสที่จะมีชัยจะมีมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ คงมีให้ถกกันอีกครับ

โดยคุณ เสือใหญ่ เมื่อวันที่ 18/11/2016 11:30:14


ความคิดเห็นที่ 13


ส่วนเรือเรือ ส. ของเรา ถึงแม้ว่าจะเป็นเรือ ส. ชายฝั่ง แต่เมื่อมานึกดูอีกที เรือ ส. สมัยนั้นโดยเฉพาะของเยอรมัน ต่างก็มีระวางขับน้ำหลักร้อยจนถึงพันกว่าๆ เหมือนกัน ที่จะเป็นขนาดใหญ่ยักษ์ไซท์ XL ก็จะเป็นของญี่ปุ่นซะเป็นส่วนมาก ต่างก็ทำหน้าที่ของตนได้ดี ฉะนั้น หากเรือ ส. เราพร้อม มีอะไหล่ มีลูก ต. มีเชื้อเพลิง และลูกเรือที่ได้รับการฝึกอบรมครบถ้วน รวมถึงมีโอกาสได้หาประสบการณ์เดินเรือ ส. ที่เพียงพอ เรือ ส. ของเราก็น่าจะเป็นเขี้ยวเล็บที่แหลมคมพอตัวเชียวครับ คำถามคือ ณ เวลานั้น เราพร้อมรบแค่ไหน 

โดยคุณ เสือใหญ่ เมื่อวันที่ 18/11/2016 11:37:05


ความคิดเห็นที่ 14


ถึงท่าน boonn1234 คือการรบด้วยเรือปืนในสมัยนั้น ก็หวังฟลุกด้วยกันทั้งนั้นครับ (อย่างเช่นกรณีระหว่างเรือ บิสมาร์คกับเรือ Hood เป็นต้น)

กระสุนปืนใหญ่ที่ยิงจากเรือบวกกับระบบเล็งเป้าในยุคนั้น โอกาสจะยิงโดนกันค่อนข้างยาก เรือรบไม่ได้จอดอยู่กับที่ยิ่งถ้าเรือ แล่นได้เร็วๆ ก็ยิ่งยิงโดนกันยาก แต่กระสุนปืนจากเรือรบของเราน่าจะฟลุกไปโดนจุดสำคัญพอดี ทางท้ายเรือลาม็อต-ปีเก ซึ่งกระสุนอาจจะเจาะทะลุไปใกล้ๆห้องเก็บกระสุนปืนหรือเก็บระเบิดทางท้ายเรือจนไฟลุกท่วมหรือเปล่าไม่ทราบ ถึงต้องถอยกลับคิดว่าผู้การเรือของฝรั่งเศส ไม่เสี่ยงที่จะโดนดอกที่สอง อีกทั้งเครื่องบินรบจากกองบินจันทบุรีมาสบทบ

เรือลาม็อต-ปีเก มีขนาด 7200 ton กระสุนขนาด  20 cm จากเรือหลวงธนบุรีเพียงลูกเดียวถ้ายิงโดนส่วนอื่นๆของเรือที่ไม่ใช้จุดสำคัญที่สุดคือ สะพานเดินเรือ แน่นอนว่ามัน ไม่เพียงพอจนทำให้เรือต้องถอนตัวออกจากสมรภูมิ

http://www.croiseur-lamotte-picquet.fr/index.php?page=lamotte

แต่กระสุนปืนจากเรือ เรือลาม็อต-ปีเก ที่ยิงโดนเราก็ฟลุคครับ แต่เรือเค้ามีปืนใหญ่ 8 กระบอก ยิงโดนเราซึ่งมีขนาดเล็กว่าสามเท่าตัว (2400dตัน) โดนสักลูกสองลูกในหนึ่งชุดที่ยิงออกมา แค่นี้ก็เป๋แล้วครับ คือโดนหลายชุดเรือเสียหายหนักและอับปางในที่สุด

โดยคุณ ObeOne เมื่อวันที่ 18/11/2016 13:33:25


ความคิดเห็นที่ 15


เรื่องเกาะช้างนี้คุยกันหลายหนแล้ว ต้องบอกว่าเราเตรียมรับมือประมาณนี้

 

      "....เรือปืนหนักลำที่ 2 คือเรือหลวงศรีอยุธยา คือเรือที่ฝรั่งเศสคาดว่าประจำการอยู่ที่เกาะช้างอย่างแน่นอน หลังการประกาศสงครามราชนาวีไทยได้ส่งเรือรบจากหมวด 1 กองเรือที่ 1 รวมทั้งสิ้น 6 ลำ เข้าไปรักษาการณ์บริเวณเกาะช้าง ซึ่งเป็นชายแดนภาคตะวันออกติดกับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส ในหมวดเรือดังกล่าวประกอบไปด้วย เรือหลวงศรีอยุธยาศรีอยุธยา เรือหลวงภูเก็ต เรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงคราม เรือดำน้ำ 2 ลำ และเรือหลวงตระเวนวารี ซึ่งถ้าหมวดเรือเฉพาะกิจที่ 7 ฝรั่งเศสบุกรุกเข้ามา ก็จะต้องปะทะกันกับเรือหลวงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน

      ทว่าวันที่ 14 มกราคม 2484 กองทัพเรือไทยได้ส่งเรือรบจากหมวด 2 กองเรือที่ 1 จำนวน 6 ลำ นำโดยเรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงชลบุรี เรือหลวงระยอง เรือหลวงหนองสาหร่าย และเรือหลวงเทียวอุทก  เข้าไปผลัดเปลี่ยนหมวดเดิมที่ประจำการมานานแล้ว จากนั้นในวันที่ 16 มกราคม 2484 เรือรบจากหมวด 1 กองเรือที่ 1 จึงได้เดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ถ้ากองทัพเรือฝรั่งเศสตัดสินใจบุกรุกน่านน้ำไทยก่อนหน้านี้ซัก 1 ถึง 2 วัน พวกเขาจะต้องพบกับเรือปืนหนัก 2 ลำ เรือตอร์ปิโด 5 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ และเรืออื่นๆอีก 3 ลำ แปรขบวนรอตั้งรับอยู่...."
 

แปลว่าเราเตรียมเรือดำน้ำรอรับอยู่แล้ว และส่งเรือที่ดีที่สุดมารับมือ (ผมคิดว่าเรือหลวงศรีอยุธยาพร้อมรบกว่าเรือหลวงธนบุรี) แต่อีกฝ่ายนกรู้ไม่ยอมมาตามนัด กระทั่งเราได้สับเปลี่ยนกำลังพลแล้ว เขาถึงได้เข้ามาตีตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่แปลได้อีกความหมายก็คือ ทางนั้นส่งสายลับมาตามข่าวเรือเราตลอดเวลา

 

จริง ๆ ผมเตรียมตัวเขียนบทความ "The Power of the Sea Par II : โครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ภาค 2" เอาไว้แล้ว แต่เนื้อหาคือการวิจารณ์กองทัพเรือในตอนนั้นอย่างถึงพริกถึงขิง ก็เลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า

 

แต่ให้เขียนสั้น ๆ ก็คือเรื่องความพร้อมรบ การฝึก การอบรม การเดินเรือ การทดสอบยิงอาวุธ การซ่อมบำรุง งบประมาณในการจัดหากระสุน อะไรทำนองนี้ คือพวกนี้สอบตกโดยสิ้นเชิง ที่สอบตกตามมาคือยุทธวิธีการรบต่าง ๆ 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะเราขยายกำลังทางเรือแบบใหญ่โตมหาศาลในเวลาสั้น ๆ ทว่าทหารเรือไม่ได้มีความพร้อมตามไปด้วย ถ้าดูจุดจบของเรือเกือบทั้งหมด จะเห็นว่าไม่ดีซักเท่าไหร่ หลายลำเข้าไปวุ่นวายกับการเมืองจนเรือจม อย่างน้อยก็ 2 ลำล่ะ

http://thaimilitary.blogspot.com/2016/04/the-power-of-sea-2478.html

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 18/11/2016 14:08:25


ความคิดเห็นที่ 16


ยุทธการนี้มีจริงหรือไม่ คงใช้บทความจากทหารเรือบางท่านยืนยันไม่ได้ ยิ่งทหารเรือในปัจจุบันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสมัยโน้น ก็จะฟังหรืออ่านต่อมาอีกที มันต้องมาจากกองทัพเรือครับ ซึ่งระบุแค่ว่ามีแผนโต้กลับ 2 บรรทัด

 

เรื่องเป้าหมายคือฮาเตียนในกัมพูชา นี่แค่คาดเดาตามบทความ ทีแรกผมก็หลงทางไปเวียตนามเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นตรงนี้ไม่รู้ว่ามีอะไรให้เราโจมตีบ้าง เพราะน่าจะเป็นฐานทัพเรือขนาดเล็กมากกว่า

 

มาจัดกำลังรบกันอีกรอบตามความเป็นจริง เราใช้ เรือวางทุ่นระเบิด 2 ลำ ขนทุ่นระเบิดรุ่นใหม่จำนวน 50 ลูกแอบไปวางณ.Killing Zone จากนั้นก็ให้เรือหลวงอยุธยาเข้าไปล่อเป้า กระทั่งเรือทั้งหมดของฝรั่งเศสเข้ามาติดกับ จากนั้นจึงใช้เรือตอร์ปิโดใหญ่ 4 ลำแล่นโฉบเข้ามา เพื่อใช้ตอร์ปิโดโจมตีใส่จาก 2 ทิศทาง แล้วเรือหลวงศรีอยุธยาก็วนกลับมาเพื่อยิงถล่มซ้ำ

 

ขณะเดียวกันกองเรือที่ 2  นำโดยเรือสลุป 2 ลำ ใช้ปืนใหญ่เรือ 120 มม.จำนวน 8 กระบอกยิงถล่มฐานทัพเรือ กระทั่งแน่ใจว่าหมดฤทธิ์เดช เรือหลวงครามพร้อมทหารหน่วยพิเศษเข้าเทียบชายหาด หลังจากวางระเบิดฐานทัพส่วนที่เหลือเรียบร้อย จึงถอนตัวออกมาเพื่อให้เรือสลุปยิงซ้ำรอบสอง แล้วกองเรือทั้งสองก็ถอนตัวออกมา เดินทางกลับไปยังสัตหีบพร้อมชัยชนะครั้งสำคัญ

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 18/11/2016 14:19:53


ความคิดเห็นที่ 17


คือถ้าบอกว่าเรือดำน้ำสองลำอยู่ในกองเรือชุดที่หนึ่ง

แล้วเรือดำน้ำอีกสองลำที่เหลือของเราไปไหนทำไมไม่อยู่ในกองเรือชุดที่สอง แล้วจริงๆเรือดำน้ำไม่จำเป็นต้องกลับฐานก็ได้ถ้ามีเรือส่งกำลังสนับสนุนด้านเชื่้อเพลิงและเสบียง คือ เหตุผลที่ทางกองทัพเรือได้กล่าวอ้างไว้ในหนังสือนาวิกศาตร์ผมก็เคยอ่านครับ เรื่องการเตรียมความพร้อมในเรื่องของกองเรือรบในช่วงสงครามอินโดจีน

แต่ประเด็นที่ผมชี้ก็คือเรือดำน้ำนี่แหละ มันแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยในตอนนั้น คือสงสัยว่ามันพร้อมรบจริงหรือไม่ หรือมันมีจุดดำอะไรบางอย่างที่กองทัพเรือไม่ได้เปิดเผยหรือไม่อยากเปิดเผยเกี่ยวกับเรือดำน้ำ เพราะข้อมูลที่ท่าน super boy เคยเอามาแชร์ให้กันอ่านมันเป็นข้อมูลที่ออกมาจากกองทัพเรือ ซึ่งอ่านดูแล้วมันก็ยัง ขัดแย้งกันยังไงชอบกล

ปล.ที่บอกว่ามีเรื่อดำน้ำสองลำอยู่กับกองเรือชุดที่หนึ่ง จริงเท็จแค่ไหนก็ไม่รู้

โดยคุณ ObeOne เมื่อวันที่ 18/11/2016 14:31:53


ความคิดเห็นที่ 18


ข้อมูลในอดีตค่อนข้างไม่เป็นเอกเทศ ขนาดเรือลำเดียวกัน ทร.ยังให้ข้อมูลอาวุธบนเรือไม่เหมือนกันเลย ต้องหาด้วยตนเองจากหลายแห่งวุ่นวายมาก สมัยก่อนเคยวาดเรือไทยผมนี่ปวดหัวจิ๊ด การชำแหละความจริงเป็นเรื่องยากจนถึงยากที่สุด (เพราะมันไม่มีรูป)

 

ที่เรือดำน้ำไม่มาต้องถามคนสั่งการตอนนั้นครับ บางทีเขาอาจคิดว่าฝรั่งเศสไม่มาก็ได้ ก็เลยใช้เรือส.ไปลาดตระเวนที่อื่น ต้องบอกว่า ตอนนั้นเราทำสงครามอยู่ และอาณาเขตมันค่อนข้างกว้่าง ที่เกาะช้างเราแค่ส่งเรือไปดักซุ่ม ไม่จำเป็นที่ทางนั้นจะต้องมาตามนัด ถ้าฝรั่งเศสเบนเข็มไปโจมตีที่อื่น เรือที่เราตั้งมั่นอยู่ก็ไม่มีความหมาย ผมเข้าใจและเห็นใจนะ 

 

ที่น่าโมโหคือการใส่กระสุนผิดชนิดมากกว่า รู้อยู่แล้วว่าเรือฝ่ายโน้นมีลำไหนบ้าง ส่งสายลับไปถ่ายภาพเรือมาก็แล้ว (ทางโน้นก็ทำเหมือนกัน) แต่พอรบจริงทำไมตื่นเต้นและผิดพลาดได้ ปืนของเราใหญ่กว่าอำนาจรุนแรงกว่า ถ้ากระสุนระเบิดบนเรือสร้างความเสียหายได้แน่นอน อันนี้ทะลุไปเลยเพราะใช้กระสุนเจาะเกราะ ต้องโทษคงสั่งบรรจุกระสุนล่ะครับ บทเรียนที่ไม่อาจแก้ไขได้

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 18/11/2016 14:44:51


ความคิดเห็นที่ 19


ต่ออีกนิดว่าเรือดำน้ำใช้งานได้ท้้งหมด เพราะช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยังล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจอดกลางกรุง กระทั่งปลดประจำการหลังเหตุการณ์แมนฮัตตันนั่นแล

 

ฝรั่งเศสกลัวเรือดำน้ำเราที่สุด ไม่ใช่ว่าดีเด่นอะไร แต่เขาไม่สามารถยิงเรือเราได้นั่นเอง เจอกันได้วิ่งหนีป่าราบแน่

 

ช่วงนั้นฝรั่งเศสอ่อนเรื่องปราบเรือดำน้ำ มีการใช้ระเบิดลึกของอังกฤษแต่ก็ไม่ชำนาญ ส่วนเครื่องบินทะเลก็ใช่ตรวจการณ์เป็นหลัก (แต่เป็นตัวแสบเลย เพราะเรือเราแทบไม่มีอะไรจะสอย) หลังสงครามโลกใช้อาวุธจากอเมริกาอีกสิบ ๆ ปี กว่าจะพัฒนาขีดความสามารถตนเองได้ 

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 18/11/2016 14:56:12


ความคิดเห็นที่ 20


ใช้ AP ยิงตับแรก คงหวัง Citadel Hit มั๊งครับ (World of warship เรียกการยิงถูกจุดสำคัญใต้แนวน้ำว่าอย่างนั้น แฮ่ๆ)

เนื่องจากผมไม่ทราบเรื่องยุทธวิธี ตอนที่อ่านเรื่องนี้ ผมจึงมีข้อสังเกตเฉพาะเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการสื่อสาร ที่เรือสลุปสองลำทราบได้อย่างไรว่าให้ยกเลิกการปฏิบัติการ ข่าวสารมาถึงเรือได้อย่างไร นอกจากนี้การเข้ามาไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นจะเป็นเหตุผลที่จะยกเลิกการปฏิบัติการได้อย่างไร คือ ถ้าเป็นผม ผมก็ยังคงปฏิบัติตามแผนเดิมแหละครับ เป็นการแสดงแสนยานุภาพให้เห็นกันบ้าง ซึ่งถ้าหากฝ่ายเราไม่แสดงแสนยานุภาพใดๆ เลย เป็นหมูสยามแท้ๆ เลยนี่ อีกฝ่ายเขาก็ไม่มีเหตุผลอะไรต้องยอมรับการไกล่เกลี่ยสิครับ

เว้นแต่ แท้จริงแล้วแผนนี้ไม่ได้มีผลในทางยุทธศาสตร์มากมายอะไร เป็นแต่เพียงการแก้แค้นเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น (เหมือนตอนที่อเมริกาหาทางไปทิ้งระเบิดใส่แผ่นดินเกาะหลักของญี่ปุ่นให้ได้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าไม่ยอมโดนกระทำฝ่ายเดียวหรอกเว้ย) ฉะนั้น เมื่อทราบว่า ญี่ปุ่นจะเข้ามาเกลี่เกลี่ย แล้วเราก็เชื่อว่า การไกล่เกลี่ยจะให้ผลที่ดีกว่า ฝ่ายเราจึงยกเลิกการปฏิบัติการไปครับ

โดยคุณ Naris เมื่อวันที่ 18/11/2016 15:46:23


ความคิดเห็นที่ 21


คือที่บอกว่าฝรั่งเศสไม่ประสาเรื่องปราบเรือดำน้ำ อันนี้ผมไม่ทราบหรอกครับว่าจริงหรือไม่แต่ที่แน่ๆฝรั่งเศสเผชิญหน้ากับเรือ อูเยอรมันตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถ้าบอกว่ากลัวจนต้องเผ่นแนบ นั้นก็แล้วแต่จะคิดเอา

คือถ้ากลัวเรือดำน้ำไทยเราจริงจะดอตเข้ามาโจมตีทางเกาะช้างทำไม??? แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้วางกำลังเรือดำน้ำไว้ในระแวกนั้น

เว้นเสียแต่เค้าจะรู้ว่าเรือดำน้ำเรา ยังไม่พร้อมรบหรือเปล่าหุหุหุ แซวอีกทีขำๆ   (เรือแล่นได้ก็ไม่ได้หมายความว่าพร้อมรบในสงครามนะครัช)

พูด ตามตรงผมรู้สึกเฉยๆกับประโยคที่เราท่านๆเคยอ่านเจอในเวปหรือที่ไหนก็ตาม ที่เราอวยกันเองว่าเรือดำน้ำ สี่ลำของเราสามารถสร้างความยำเกรงให้ฝรั่งเศสได้อย่างมากกมายเหลือเกิน นนนน...... ส่งไปลาดตระเวนแถวๆ ฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส

(ได้ไปจริงป่าวก็ไม่รู้ สุดท้ายก็ฟังความข้างเดียวอยู่ดีนะแหละ)

และ สมมุติถ้าเรือดำน้ำพร้อมรบจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างแรงของกองทัพเรือในสมัยนั้น ที่ไม่วางกำลังเรือดำน้ำไว้ใกล้เกาะช้าง หรือใกล้บริเวณนั้นซึ่งควรจะผลัดเปลี่ยนเรือดำน้ำออกมาลาดตระเวน ตลอดมิใช่หรือ?? นั้นคือข้อบกพร่องในการบริหารจัดการ การวางกำลังเกี่ยวกับเรือดำน้ำทางทะเลของไทยเราอย่างชัดเจน ซึ่งเราไม่สามารถใช้ความได้เปรียบที่เรามีเรือดำน้ำในการป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนๆกับประเทศอื่นๆเค้าทำกัน จนสุดท้ายต้องสูญเสียรบทั้งสามลำแบบที่ไม่ไม่สามารถจมเรือรบฝรั่งเศสไม่ได้เลยซักลำ

 

โดยคุณ ObeOne เมื่อวันที่ 18/11/2016 16:55:06


ความคิดเห็นที่ 22


มันไม่ใช่ว่าฝรั่งเศสฟลุคยิงโดนหรอก เค้าฝึกมาดีกว่ามีประสบการณ์มากกว่าชำนาญกว่าแค่นั้นแหละ เคยอ่านของเรายิงกระสุนข้ามไปมาหาระยะอยู่ พอยิงคร่อมเป้าได้แล้วก็ไม่ทัน โดนเขายิงเอาๆ

โดยคุณ toeytei เมื่อวันที่ 18/11/2016 20:13:06


ความคิดเห็นที่ 23


เท่าที่มีข้อมูลคือเรือดำน้ำ2ลำอยู่กับหมวดเรือของร.ล.ศรีอยุธยา อีก2ลำอยู่กับหมวดเรือของร.ล.ท่าจีน หมวดเรือของร.ล.ธนบุรี ไม่มีเรือดำน้ำครับ

 

เพิ่งผลัดเวรกันไป เรือดำน้ำเวลาเดินทางก็แล่นปุเลงๆอยู่บนผิวน้ำ ถ้าฝรั่งเศสตรวจการณ์ทางอากาศแล้วรู้ว่าร.ล.ศรีอยุธยากลับไป ก็น่าจะรู้ว่าเรือดำน้ำกลับไปด้วย ส่วนเรืออีก2ลำจะอยู่ที่ท่าก็ไม่แปลกอะไรมั้งครับ จะเอาเรือดำน้ำ4ลำมากระจุกอยู่ที่เกาะช้างอย่างเดียวก็ใช่ที่

 

ที่น่าจะเป็นปัญหาคือเราไม่ได้มีการลาดตระเวนตรวจการณ์อะไรให้รู้ว่าฝรั่งเศสมาแล้วเลยนะทั้งทางเรือทางอากาศ งานข่าวกรองหายไปไหนหมด แถมตอนฝรั่งเศสมาโจมตีเรือจอดนิ่งทุกลำเพิ่งจะสตาร์ทกันตอนโดนยิงแล้ว เรื่องความพร้อมรบนี่ผมก็ว่าไม่ไหวนะ

โดยคุณ Phu2000 เมื่อวันที่ 19/11/2016 09:11:47


ความคิดเห็นที่ 24


ถึงท่าน Toeytei ผมพูดไปอย่างนั้นแหละครับเดียวจะหาเราเรายิง ฟลุก อยู่ฝ่ายเดียว หุหุหุ คือฝรั่งเศสเรือเค้าเหนือกว่าเราเยอะถ้าอ่านจากข้อมูล คือเอาเรือหลวงธนบุรีกับเรือศรีอยุธยา สองลำ รุมเรือฝรั่งเศส ไม่รู้ว่าจะเอาอยู่หรือเปล่าเลย คือ เดชะบุญจริงอย่างที่เค้าว่าไว้นั้นแหละ แต่ที่น่าเจ็บใจตรงเรื่องเรือดำน้ำนี่แหละ มีก็เหมือนไม่มีสมัยนั้น แถมจัดกองเรือแปลกๆ เอาเรือดำน้ำที่มีหน้าที่คอยลาดตระเวนหาข่าวกับเอามันไปรวมอยู่กับกองเรือรบผิวน้ำ มีประเทศไหนเค้าทำกันฟระ ท่าน phu 2000 มันไม่เมกเซ้น ตั้งแต่เราเอาเรือดำน้ำอยู่ในกองเรือรบแล้วครับ ( คือเป็นไปได้หรือที่ทหารเรือสมัยนั้นจะไม่รู้ยุทธวิธีการใช้งานเรือดำน้ำ จากประเทศอื่นๆ) แล้วเรือดำน้ำไม่จำเป็นต้องไปกระจุกตัวกันทั้งหมด สี่ลำ แค่ ซักลำหนึ่งโดยผลัดเปลี่ยนกันกับเรือลำอื่นๆไปลาดตระเวนแถวนั้นก็พอ และที่น่าแปลกคือฝรั่งเศสมันรู้ได้ยังว่าเราจัดกองเรือโดยกองเรือหลวงธนบุรี ไม่มีเรือดำน้ำ??? นอกจากอย่างที่ผมบอกไปนั้นแหละ คือเรือดำน้ำพร้อมจริงหรือไม่สมัยนั้น ประวัติศาสตร์จะเขียนอย่างไรก็ได้ในยุคนั้น เพื่อปกปิดข้อผิดพลาดอะไรหลายๆอย่างของตนเอง โดยที่คนรุ่นหลังๆไม่มีทางรู้ข้อเท็จจริงได้หรอก
โดยคุณ ObeOne เมื่อวันที่ 20/11/2016 09:24:10