หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เรือดำน้ำ : สาระที่ควรรู้ (มีเรือดำน้ำดีแน่ แต่ต้องคุ้มค่า ความคุ้มค่าจะทำให้ประชาชนเห็นด้วย โดยไม่ใช้เงินมาก สร้างเอง ซ่อมเอง เลือกซื้ออุปกรณ์เอง ขนาดเหมาะสมอย่าเกินความจำเป็น)

โดยคุณ : tower6221 เมื่อวันที่ : 22/09/2016 16:52:33

บทความจากสำนักข่าวอิศราครับ  http://www.isranews.org/isra-news/item/50088-boot.html

 

1. เรือดำน้ำปฏิบัติการในอ่าวไทยได้หรือไม่

ปฏิบัติการของเรือดำน้ำหมายถึงการเดินเรือทางยุทธวิธีใต้น้ำ ซึ่งรวมทั้งการซ่อนเร้นเข้าหาเป้า การหลบหลีกการถูกโจมตี และการใช้อาวุธ – ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือลำเลียงของไทยโดนจมหลายลำบริเวณเกาะสมุย ด้วยเรือดำน้ำต่างชาติ สมัยสงครามเย็น เรือดำน้ำไม่ทราบสัญชาติเข้ามาถึงใต้เกาะจวงห่างแค่ 10 ไมล์ทะเล (ใกล้ฐานทัพเรือสัตหีบมาก) เรือรบของไทยตรวจพบแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้ การฝึกปราบเรือดำน้ำในอ่าวไทยแทบไม่เคยจับเป้าเรือดำน้ำได้เลย แม้จะใช้ทั้งเรือปราบเรือดำน้ำ เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำทั้งของไทยและของสหรัฐฯ ก็ตาม – นั่นแสดงให้เห็นว่าเรือดำน้ำสามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ดีอย่างยิ่ง 
อนึ่ง อ่าวไทยมีน้ำตื้นเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร จึงไม่มีความแตกต่างของชั้นน้ำทะเลเหมือนในทะเลลึก คลื่นโซนาร์จึงไม่หักเห (layer depth – ปัญหาการปราบเรือดำน้ำในทะเลลึก) แต่น้ำทะเลค่อนข้างขุ่น มีตะกอนแขวนลอยมาก ลักษณะท้องทะเลเป็นโคลน ทำให้การสะท้อนคลื่นโซนาร์ไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้ตรวจจับเรือดำน้ำได้ยาก (ปัญหาการปราบเรือดำน้ำในน้ำตื้น) – ชาติที่เน้นปฏิบัติการในมหาสมุทร เช่น สหรัฐฯ จึงไม่เก่งในการปราบเรือดำน้ำในน้ำตื้น

2. ไทยควรมีเรือดำน้ำหรือไม่

เจ้าของเรือดำน้ำไม่ใช่ “กองทัพเรือ” แต่คือ “ประเทศไทย” กองทัพเรือเป็นเพียงผู้ดูแลใช้งานเรือดำน้ำให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของที่แท้จริง – การปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การมีเรือดำน้ำ ไม่ใช่เพื่อสร้างความทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีหรือกำลังจะมี การแข่งขันกันสร้าง/สะสมอาวุธไม่ใช่วัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ แต่เรามีเรือดำน้ำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเรา

- เรือดำน้ำทำอะไรได้บ้าง – หาข่าว วางทุ่นระเบิด แทรกซึม โจมตีเรือผิวน้ำ และที่สำคัญที่สุดคือการป้องปราม (แต่ไม่ใช่การปราบเรือดำน้ำ) ถ้าไทยมีเรือดำน้ำคงจะใช้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ควรมีหรือไม่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าด้วย

3. การจัดหาเรือดำน้ำคุ้มค่าหรือไม่

ลองจินตนาการว่าบ้านเราเล็ก ๆ อยู่ในซอยแคบ ๆ มีเงินปีละ 3.5 หมื่น มีค่าใช้จ่ายประจำ 2.5 หมื่น เหลือ 1 หมื่นสำหรับซ่อมบ้าน ซ่อมรถ ซื้อของใช้จำเป็น และยังมีหนี้สินที่ต้องผ่อนส่งอีกหลายพัน อาจมีเงินเหลือประมาณ 2 พันสำหรับซื้อรถไว้ใช้งาน แต่พ่อบ้านอยากได้รถหรูราคา 5 ล้าน วิ่งได้ 250 กม./ชม. แต่เข้าซอยลำบาก และอาจต้องหยุดกิจกรรมทั้งหมดที่จำเป็น เช่น ลูกต้องหยุดเรียนพิเศษ ถ้าเป็นแบบนี้คงกล่าวไม่ได้ว่าคุ้มค่า

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นรถเล็กหรือมอเตอร์ไซค์อาจถือว่าคุ้มค่ามากกว่า เพราะไม่แพงมาก ค่าซ่อมถูกลง ไม่สร้างภาระมาก เข้าซอยสะดวกกว่า แถมใช้งานได้เหมือนกัน หรืออาจเหมาะกับสภาวะแวดล้อมมากกว่าตรรกะของเรือดำน้ำก็เช่นเดียวกัน แต่ยังมีสิ่งที่ต้องคิดอีก

4. จะมีเรือดำน้ำได้อย่างไร

ถ้าคิดจะซื้อเรือดำน้ำ จะคิดเฉพาะราคาเรือไม่ได้ เพราะยังมีค่าใช้จ่ายมหาศาลตามมา เช่น ค่าซ่อมบำรุง ค่าอะไหล่ ซึ่งจะเป็นเงินมหาศาลมากกว่าค่าใช้จ่ายกับเรือผิวน้ำ และต้องพึ่งต่างชาติเกือบทั้งหมด ไม่ว่าชาติใดเขาก็มองผลประโยชน์ของตนเองทั้งนั้น ช่วงที่เราผ่อนส่ง เราจะไม่มีเงินทำอย่างอื่น ผ่อนหมดก็ถึงเวลาเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นสำคัญ ๆ และมีราคาสูง เช่นแบตเตอรี่ ฯลฯ เราที่มีรายได้เหมือนเดิมแต่ลำบากมากกว่าเดิม เพราะเรืออื่นๆที่ไม่ได้ซ่อมมานานก็หมดอายุไปด้วย ถ้าขัดแย้งกับผู้ขายเมื่อไรก็เหมือนกับที่เราเคยมีเรือดำน้ำญี่ปุ่นที่เขาไม่ขายอะไหล่ เรือก็ใช้งานไม่ได้

ดังนั้นถ้าคิดมีเรือดำน้ำต้องมีเงินพอจัดหาได้โดยไม่มีภาระมาก ต้องซ่อมเองได้ ต้องหาซื้ออะไหล่ได้เอง แต่จะทำอย่างนี้ได้มีวิธีเดียวคือ – ต้องสร้างเอง ถ้าสร้างเองไม่ได้ก็ยังไม่ควรมี เพราะเราจะหมดตัวและไม่ทันได้ใช้ก็อาจหมดอายุเสียก่อน ถ้าสร้างเองจะพัฒนาต่อยอดต่อไปได้

5. ไทยสร้างเรือดำน้ำเองได้หรือไม่

ประเทศอื่นที่เทคโนโลยีด้อยกว่าไทยและเคยซื้อเรือรบจากไทย เช่น ปากีสถาน ก็สร้างเรือดำน้ำเองได้แล้ว บางประเทศเช่นเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เริ่มต่อเรือทีหลังไทยกลับมาเสนอขายเรือดำน้ำให้ไทย แล้วทำไมไทยจะสร้างเองบ้างไม่ได้ ที่ไม่สร้างเพราะไม่มีตลาดซึ่งต้องเริ่มจากในประเทศก่อน ถ้าคิดแต่จะซื้อเราก็ไม่มีโอกาสสร้างเอง – เทคโนโลยีการต่อเรือของไทยก้าวหน้าเกินกว่าที่คนไทยทั่วไปทราบมากนัก

6. เราควรสร้าง/ใช้เรือดำน้ำแบบใด

สมัยสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสไม่กล้าส่งกองเรือมาโจมตีถึงสัตหีบเพราะเกรงเรือดำน้ำขนาดเล็ก 4 ลำของไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นส่งเรือดำน้ำจิ๋ว (midget submarine – เรือดำน้ำขนาดต่ำกว่า 150 ตัน) ไปโจมตีถึงเพิร์ล ฮาเบอร์ และ ออสเตรเลีย เยอรมันใช้เรือดำน้ำขนาด 769 ตัน (U-boat) อย่างได้ผลในทะเลบอลติค (ซึ่งน้ำตื้นเหมือนอ่าวไทย) และมหาสมุทรแอตแลนติก ปัจจุบันเรือดำน้ำขนาดเล็ก (Coastal Submarine -300-600 ตัน) พัฒนาไปมาก เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมากสำหรับเรือผิวน้ำทุกประเภท เพราะมีขนาดเล็ก ตรวจจับยากที่สุด มีอาวุธเหมือนเรือดำน้ำขนาดใหญ่ มีกระทั่งระบบ AIP ที่เราอยากได้กันมาก (แต่จำเป็นหรือไม่?) ที่สำคัญคือ ราคาถูกกว่าเรือดำน้ำขนาดใหญ่ 10 เท่าและเราสร้างเองได้แน่นอน

น่านน้ำไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามันมีลักษณะสำคัญคือน้ำตื้น คล้ายกับทะเลบอลติค ระยะปฏิบัติการไม่ยาวมาก มีเกาะแก่งและพื้นท้องทะเลที่เอื้อประโยชน์ต่อเรือดำน้ำขนาดเล็ก บริเวณนี้ เรือดำน้ำขนาดเล็กน่ากลัวกว่าเรือดำน้ำขนาดใหญ่ แต่ในทะเลลึกอย่างในแปซิฟิกเรือดำน้ำขนาดเล็กก็ยังคงน่ากลัวอยู่ดีเพราะตรวจจับยากกว่า แม้เรือดำน้ำขนาดใหญ่มีข้อได้เปรียบเรื่องความสะดวกสบายมากกว่าทำให้อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการได้นานกว่า แต่ประเด็นนี้คงไม่จำเป็นสำหรับพื้นที่ปฏิบัติการของไทย เพราะเมื่อเข้าเขตน้ำตื้นของอ่าวไทยขนาดกลับเป็นข้อเสียเปรียบ แบบของเรือดำน้ำที่เหมาะสมจึงควรเป็นแบบที่เหมาะสำหรับพื้นที่ปฏิบัติการ สำหรับอ่าวไทยควรมีขนาดประมาณ 250-600 ตัน ซึ่งสามารถออกไปปฏิบัติการได้ถึงทะเลจีนใต้และมหาสมุทรปาซิฟิก

สรุป : มีเรือดำน้ำดีแน่ แต่ต้องคุ้มค่า ความคุ้มค่าจะทำให้ประชาชนเห็นด้วย – ไม่ใช้เงินมาก สร้างเอง ซ่อมเอง เลือกซื้ออุปกรณ์เอง ขนาดเหมาะสมอย่าเกินความจำเป็น

ตัวอย่างจากประเทศที่มีเรือดำน้ำใช้ (เฉพาะเรือดำน้ำดีเซล)

ไทย กองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำเป็นชาติที่2ในเอเชียแต่เป็นชาติแรกในอาเซียนที่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการได้แก่ ร.ล.มัจฉาณุ, ร.ล.วิรุณ, ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยทั้ง 4 ลำได้ปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้งตั้งแต่สงครามอินโดจีนทั้งการรับและส่งสายลับพลพรรคขบวนการเสรีไทย และการโจมตีเรือของฝ่ายอักษะด้วยตอร์ปิโด แต่ได้ปลดประจำการแล้วทุกลำในปี พ.ศ. 2494 เนื่องด้วยอายุการใช้งาน ความปลอดภัยและเทคโนโลยีการดำน้ำ 
เยอรมัน เยอรมันใช้เรือดำน้ำอย่างได้ผลในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในทะเลดำ ทะเลเหนือ อ่าวบอลติค และมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยเรือ U-boat ขนาด 230-769 ตัน ที่โดดเด่นมากคือ เรือดำน้ำ Type VII ขนาด 769 ตัน จำนวน 703 ลำ ที่เป็นม้าใช้ (workhorse) ในสงคราม กับ Type XXIII ซึงสร้างตอนปลายสงครามจำนวน 6 ลำ ขนาด 234 ตัน จมเรือรบของพันธมิตรไปถึง 14,601 ตัน และไม่โดนพันธมิตรจมเลย ต่อมาเยอรมันได้ใช้เป็นต้นแบบของ Type 206 ที่ ทร.ไทยเคยพยายามจะซื้อแต่ไม่สำเร็

ปัจจุบันเยอรมันสร้างเรือดำน้ำรุ่นใหม่สมรรถนะสูง ระวางขับน้ำ 1,000 – 1,830 ตัน เช่น Type 209 ขนาด 1,230 ตัน ซึ่งเป็นรุ่นยอดนิยม มีใช้กว่า 10 ประเทศรวมทั้งเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย และ Type 212 ขนาด 1,450-1,830 ตัน ที่มีใช้กว่า 5 ประเทศ

มาเลเซีย มีเรือดำน้ำรุ่น Scorpene-class ของฝรั่งเศส ขนาด 1,590 ตัน จำนวน 2 ลำ เรือรุ่นนี้ อินเดีย ชิลี บราซิลก็ใช้

Scorpe1Scorpene-class 

สิงคโปร์ มีเรือดำน้ำดีเซลรุ่น Challenger-class ของสวีเดน ขนาด 1,210 ตัน 4 ลำ และเรือดำน้ำ AIP รุ่น Archer-class ของสวีเดน ขนาด 1,145 ตัน 2 ลำ

1315876106Challenger-class 

เวียดนาม มีเรือดำน้ำ Kilo-class ของรัสเซีย ขนาด 3,100 ตัน 6 ลำ

boot180959Kilo-class 

อินโดนีเซีย มีเรือดำน้ำ Type 209 ของเยอรมัน ขนาด 1,230 ตัน 2 ลำ และสั่งต่อจากเกาหลีใต้อีก 3 ลำแบบเดียวกัน (เกาหลีซื้อแบบมาสร้างเอง) โดยเกาหลีสร้างให้ 1 ลำ อินโดนีเซียสร้าง 2 ลำ 
พม่า มีแผนที่จะซื้อเรือดำน้ำซึงยังไม่ชัดเจนว่าจากรัสเซีย จีน หรือเกาหลีเหนือ (Sang-O-class ขนาด 320 ตัน) ปัญหาคล้ายไทยคือไม่มีเงิน

                      06011610821                                     Type 209 

เกาหลีเหนือ น่าสนใจเพราะมีนโยบายแข็งกร้าวกับตะวันตก เป็นตัวของตัวเองที่ไม่มีใครกล้าแตะ มีเรือดำน้ำหลายขนาดซึ่งสร้างเองทั้งหมด เช่น Sinpo-class ขนาด 2,000 ตัน 6 ลำ Yano-class ขนาด 130 ตัน 10 ลำ (ขายให้อิหร่านหลายลำ) และ ที่สำคัญคือ Sang-O-class ขนาด 275 ตัน มากกว่า 40 ลำ และกำลังต่อเพิ่มรวมทั้งมีข่าวว่าพม่าสนใจที่จะซื้อด้วย

photoSinpo-class 

Iran ghadirYano-class 

เห็นได้ว่าประเทศต่างๆส่วนใหญ่ใช้เรือดำน้ำขนาด 250 – 1,200 ตัน ยกเว้นประเทศใหญ่ที่ชายฝั่งเป็นมหาสมุทรจึงใช้เรือดำน้ำขนาดใหญ่กว่า 1,500 – 3,500 เช่น จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และ รัสเซีย (สหรัฐฯไม่ใช้เรือดำน้ำดีเซล) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันประสบความสำเร็จด้วยเรือดำน้ำ ขนาด 700 ตัน ในสงครามทางเรือในแปซิฟิก เรือดำน้ำของสหรัฐฯมีขนาดประมาณ 1,500 ตัน ปัจจุบันเครื่องยนต์ อุปกรณ์ต่างๆทันสมัยขึ้นและมีขนาดเล็กลง เรือดำน้ำขนาดเล็กจึงมีสมรรถนะสูงขึ้น และประหยัดทั้งราคาจัดหา ค่าใช้จ่ายในการใช้งานและการซ่อมบำรุง

สถานการณ์ด้านงบประมาณของกองทัพเรือ

ปี งป. 2560 ทร. ได้ งป. 42,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากกว่าปีก่อนๆ ในวงเงินนี้จะใช้จ่ายเป็นงบประจำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เช่นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ฯลฯ และเหลือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นงบพัฒนาประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีหลังจากใช้หนี้เก่าแล้ว จะมีเงินเหลือใช้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งที่มีการผูกพันข้ามปีและการซื้อในปีเดียวคิดเป็นตัวเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปี ทร.จะซื้ออาวุธที่ไม่ต้องผูกพันงบประมาณประมาณ 500 ล้านบาท และเหลืออีกประมาณ 3,500 ล้านบาท สำหรับก่อหนี้ผูกพันในการซื้ออาวุธใหม่ซึ่งจะไม่พอเพียงจึงต้องมีแผนใช้เงินจัดหาเรือและอาวุธทดแทนเรือเก่า (ซึ่งชะงักไปตั้งแต่พิษต้มยำกุ้ง เพิ่งมาเริ่มตั้งตัวได้ 5-6 ปีนี้) โดยการจัดลำดับโครงการต่างๆ จัดหาที่มีความจำเป็นก่อน แต่ปีนี้พิเศษที่มีการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ ลำละ 15,000 ล้านบาท (รวม 3 ลำประมาณ 40,000 ล้านบาท ในโครงการ 11 ปี) โดยต่อลำแรกก่อนโครงการ 6 ปี ปีแรกจ่าย 700 ล้านบาท (ขออนุมัติพิเศษ ตามระเบียบต้องจ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการสร้างหนี้เกินตัว) ปีต่อๆไปคงต้องจ่ายประมาณ ปีละ 2,133 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ลำเริ่มใน 5 ปีหลัง 30,000 ล้านบาท

โดยมีสมมติฐานว่างบประมาณที่ต้องผูกพันเนื่องจากการซื้ออาวุธอื่นหมดแล้วก็สามารถใช้เงินทั้งหมดจ่ายให้เรือดำน้ำได้โดยจะต้องจ่ายปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ทร.จะต้องหยุดการใช้จ่ายในการซื้ออาวุธอื่นทั้งหมด ต้องหยุดการฝึก การลาดตระเวน ฯลฯ ภายใน 11 ปีนับจากปี 2560 เป็นต้นไปเพื่อเก็บเงินไว้จ่ายให้เรือดำน้ำ(ทั้งนี้ ทร. ยังมีหนี้ก้อนใหญ่คือเรือฟรีเกตเกาหลีราคา 15,000 ล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดในปี 2561) แต่ยังไม่หมด เพราะเรือลำแรกจะครบอายุ 10 ปี พอดี จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ลำละประมาณ 1,000 ล้านบาท (ราคาปัจจุบัน) และต้องซ่อมอุปกรณ์อื่นอีกที่ยังไม่รู้ราคา 

โครงการนี้จะทำให้ ทร. หมดสภาพตราบเท่าอายุของเรือดำน้ำ ร้ายแรงกว่า ทอ. ซื้อกริพเพ่นที่ต้องหยุดพัฒนาไป 10 ปี ร้ายแรงกว่า การต่อเรือ ร.ล. จักรีนฤเบศวร์ ที่ใช้ไม่คุ้มค่า

ทร. ควรใช้งบประมาณเท่าใดกับเรือดำน้ำ

ถ้าปฏิบัติตามระเบียบงบประมาณ ทร. มี งป. พัฒนาปีละ 10,000 ล้านบาท มีเงินที่จะสร้างหนี้ผูกพันเพื่อซื้ออาวุธใหม่ปีละ 3,500 ล้านบาท โดยผูกพัน 5 ปี และไม่กระทบกระเทือนโครงการอื่นที่มีความสำคัญ ทร. ควรซื้ออาวุธในแต่ละโครงการประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยจ่ายเมื่อทำสัญญา 15 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,240 ล้านบาท ปีต่อๆไปก็จะจ่ายประมาณปีละ 1,750 ล้านบาท ซึ่ง ทร. จะไม่ยุ่งยากในการบริหารงบประมาณ

เรือดำน้ำราคาไม่เกิน 8,000 ล้านบาทมีทั้งเรือใหม่ เรือเก่าให้เลือก คุณสมบัติเหมาะกับอ่าวไทย ไม่ต้องใหญ่จนเกินไป ไม่ต้องพิเศษแต่ไม่ได้ใช้ ไม่เป็นภาระให้คนรุ่นหลัง ไม่เป็นภาระให้ประเทศ แต่ดีที่สุดคือต้องสร้างเอง เราสร้างได้แน่นอน ควรให้โอกาสตัวเราเองเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน และไม่ใช่แต่เรือดำน้ำ เรือฟรีเกตที่ไปต่อเกาหลี เรือลำเลียงที่ไปต่อสิงคโปร์ อู่ในเมืองไทยก็ต่อได้ อาจดีกว่าด้วย แต่ที่แน่ๆคือถูกกว่า และ สร้างงานให้คนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย





ความคิดเห็นที่ 1


รูปที่ 2 น่าจะเป็นเรือชั้น Type209 นะครับ

Challenger-class


โดยคุณ fefee1717 เมื่อวันที่ 18/09/2016 23:39:46


ความคิดเห็นที่ 2


ในฐานะพลเรือน....ตอนเรือดำน้ำ U-206A ก็เชียร์จน....เบื่อ....

ในฐานะพลเรือน....ตอนเรือดำน้ำจีน ก็ค้านจน....เบื่อ....

แล้ว ทหารเรือ....เขาทำอะไรกันบ้างน่ะครับ ?

ตอนนี้ ก็ผ่านงบประมาณรายจ่าย ปี 2560 ไปแล้ว....คงรอ ลงนามในสัญญาซื้อ...

ถ้า เซ็นต์สัญญา กับ จีน....เมื่อไหร่...อย่า ฝัน ว่า...จะเบี้ยว จีน เขาได้ง่าย ๆ....ต่อให้ผลสุดท้าย มันจะเป็น เรือจมน้ำ ก็ตาม....

และคงต้องผูกพันไป จนครบ 3 ลำ....เขาคงไม่ทำ สัญญาตื้น ๆ แค่ลำเดียว หรอกครับ....ประเทศจีน มีอิทธิพลทางการเมืองกับ ไทย จะตายไป....ขนาดเรือ OPV ชุดแรก...ยังล้มสัญญาเจ้าอื่นมาได้เลย....

กองเรือเป็ดง่อย....คงไม่ไกลเกินฝัน ที่ เรา จะเอื้อมไปให้ถึง...

 

 

 

 

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 19/09/2016 11:03:28


ความคิดเห็นที่ 3


ข่าวจากอิศราค่อนข้างจะเขียนได้ตรงครับ  แต่ประเด็นเรื่องการต่อเรือดำน้ำเอง  ยังอีกนานครับศักยภาพไทยยังไม่ถึงขั้นนั้นครับ รวมถึงประเด็นแรกที่เคยเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ดูกันต่อไปครับว่าจะจัดหางบดุและยังไงเมื่อได้มาครบ 3 ลำแล้ว  และเท่าที่อ่านๆสำนักข่าวนี้ก็ไม่ได้เลือกข้าง เพียงแต่การนำเสนอข่าวบางครั้งอาจจะไม่โดนใจกองเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้กลายดูเป็นว่าสำนักข่าวนี้เลือกข้าง  แถมยังมีความคิดเห็นย้อนแย้งจากคนไปแสดงความเห็นไว้ใน 2 เพจ  ครั้งแรกบอกว่าเรือดำน้ำจากเกาหลีวืดว่ามาสำนักข่าวนี้  แต่ครั้งนี้บอกว่าสำนักข่าวนี้เชียร์เรือจากเกาหลี เลยดูแปลกๆยังไมพิกลครับ

โดยคุณ janus เมื่อวันที่ 19/09/2016 11:12:07


ความคิดเห็นที่ 4


ผมมองว่า เมืองไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ ไม่ใช่แค่เพียงเป็นไม้ต่อ ในการต่อรองการเมืองในน่านน้ำนี่ แต่เป็นการเสริมกองกำลังป้องกันน่านน้ำที่สำคัญในจุดบอด และเราก็มักจะมีเรือลักลอกมาบ่อยๆ การมีเรือดำน้ำจะทำให้กองทัพเรือผลักดันตัวเองให้เร่งใช้เทคโนโลยี ใต้น้ำให้มากขึ้น (ในความคิดผมนะ) 

ส่วนจะต่อเรือดำน้ำเอง ผมว่า เราควรมีก่อนดีกว่าครับ ส่วนจะสร้าง หรือไม่ ผมว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการสร้างเท่าไหร่ ขนาด firstwin ยังมีไม่กี่คันที่เข้าประจำการในหน่อยงานภาครัฐ เรื่องจะสร้างก็ถ้าหากประเทศไทย ไม่ว่าระบบราชการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบการกำกับดูแลภาคเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมในไทย ยังคงเป็นแบบนี้ แบบที่ไมเอื้อต่อการพัฒนาตนเอง ก็คงไม่ควรสร้างเองอ่ะครับ 

โดยคุณ TheBighit เมื่อวันที่ 20/09/2016 14:10:32


ความคิดเห็นที่ 5


ผมเข้าใจราชนาวีไทยมาก  ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมีเรือดำน้ำเกือบหมดแล้ว เราในฐานะพี่ใหญ่ของอาเซียนก็คงอยากจะมีกับเขาบ้าง อาคารบัญชาการ ศุนย์ฝึกอะไรก็มีแล้ว แต่ไม่มีเรือดำน้ำ นี่ก็แปลก   ในความเห็นผมขอเรือดำน้ำใหญ่ๆเพียงลำเดียวก็เพียงพอแล้ว เหมือนเรือบรรทุกเครื่องบินจักรีนฤเบศรครับ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยมั๊กๆ   

โดยคุณ goldenflower เมื่อวันที่ 22/09/2016 16:52:33