ตอนที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เข้าโจมตีประเทศไทย ตอนนั้นในประวัติศาสตร์ที่ค้นเจอไม่เห็นมีการปะทะกันระหว่างกองเรือไทยกับกองเรือญี่ปุ่นเลยครับ ท่านใดมีข้อมูลช่วยลงให้ดูด้วยครับ ขอบคุณครับ
ตอนนั้นเรือเราไม่น่าจะเหลือซักกี่ลำนะครับ โดนฝรั่งเศสสอยหมด ฮา เรือเขามากลางคืนด้วย ใครจะไปเห็น และไทยไม่น่าจะลาดตระเวณไกลนะครับ เรือไม่ค่อยมีอยู่ รวมถึงภัยคุกคามอาจจะไม่ได้อยู่ในระดับนั้นเพราะเราไม่ได้กำลังรบกับญี่ปุ่นอยู่ ไม่ได้เหมือนอังกฤษกับเยอรมันที่วันๆ ลาดตระเวรณหาอีกฝ่าย แล้วซัดกันไปซัดกันมา
แต่ตอนนั้นผมว่าประเทศเราก็รู้ตัวด้วยว่าจะโดนบุก เมกา อังกฤษก็รู้ เพียงแต่ทุกคนคงรู้ว่าสู้ไม่ได้ ถ้าจำไม่ผิดนักบินออสเตรเลียที่ลาดตระเวณก็เห็นเรือญี่ปุ่นมาทางอ่าวไทย การต่อต้านการยกพลขี้นบกของเรามันไม่ได้จริงจังขนาดนั้นครับ เพราะญี่ปุ่นกับเราก็ต้องมีการเปิดช่องทางการเจรจาตลอดเวลา และน่าจะเจรจาขอผ่านทางแล้วและไทยอาจจะอิดออดหรือด้วยสาเหตุอะไรไม่ทราบได้ ญี่ปุนเลยบุกจะได้จบๆ จะได้ให้ญี่ปุ่นเดินทางผ่าน ดังนั้นแป๊บเดียวก็หยุดสู้แล้ว ให้เดินผ่าน จบข่าว
ชี้แจงก่อน อันนี้เป็นเวอร์ชั่นผมเองนะครับ เข้าไปดูเต็ม ๆ ที่บทความได้เลย (แต่ยังไม่จบนะ เพราะว่ายังไม่จบ ฮ่า ฮ่า)
สงครามโลกครั้งที่สอง : วันญี่ปุ่นขึ้นบก
ตัดบทมาที่กองเรือไทย....
กองเรือเฉพาะกิจออกลาดตระเวน
ย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน 2484 ภัยคุกคามจากญี่ปุ่นยิ่งมีทีท่าน่ากลัวมากขึ้น รัฐบาลไทยและทุกเหล่าทัพไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับการรุกรานอย่างเต็มความสามารถ หนึ่งในนั้นก็คือส่งกองเรือเฉพาะกิจออกลาดตระเวนในอ่าวไทย โดยจะแวะจอดพักตามตามจังหวัดชายทะเลสำคัญ ๆ ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชน มีการฝึกซ้อมร่วมกับทหารในจังหวัดนั้น ๆ รวมทั้งเติมน้ำมันและรับยุทธปัจจัยต่าง ๆ ไปในตัว การออกลาดตระเวนครั้งนี้ใช้เวลาเดินทางไปกลับรวม 15 วัน นาวาเอกชลิต กุลกำม์ธร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับกองเรือ ซึ่งประกอบไปด้วยเรือรบและเรือช่วยรบจำนวน 8 ลำดังนี้
- เรือสลุปจำนวน 2 ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงแม่กลอง
- เรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงระยอง เรือหลวงตราด เรือหลวงสุราษฎร์ และเรือหลวงปัตตานี
- เรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวน 1 ลำ คือ เรือหลวงบางระจัน
- เรือลำเลียงจำนวน 1 ลำ คือ เรือหลวงพงัน
เรือหลวงท่าจีนและเรือหลวงแม่กลอง ขณะจอดในประเทศญี่ปุ่น
กองเรือเฉพาะกิจออกเดินทางวันที่ 21 พฤศจิกายน 2484 เส้นทางเดินเรือเริ่มต้นจากกรุงเทพ-หมู่เกาะอ่างทอง-สงขลา-นราธิวาส ก่อนแล่นเรือข้ามอ่าวไทยไปที่เกาะกูด-สัตหีบ-กรุงเทพ การเดินทางในช่วงแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผ่านชุมพร นครศรีธรรมราช และถึงสงขลาตามกำหนด วันที่ 25 พฤศจิกายน 2484 ตรวจพบเรือสินค้าญี่ปุ่นขนาด 5,500 ตันจอดอยู่บริเวณนอกเกาะหนู วันรุ่งขึ้นกองเรือเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาส เมื่อได้รับข่าวทางวิทยุว่าสถานการณ์ประเทศไม่สู้ดี ผู้บังคับกองเรือตัดสินใจเดินทางไปเกาะช้างทันที แล้ววางตำแหน่งเรือพร้อมจอดพรางไฟอยู่บริเวณแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นชายแดนภาคตะวันออกติดกับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส และเป็นบริเวณที่เคยทำยุทธนาวีเกาะช้างกับฝรั่งเศสเมื่อตอนต้นปี วันที่ 29 พฤศจิกายน 2484 กองเรือจึงได้เดินทางไปจังหวัดระยองต่อไป แล้วจอดพักกองเรือรอดูสถานการณ์อยู่ที่สัตหีบ ระหว่างนั้นเองกองทัพเรือได้มีคำสั่งยึดเวลาเดินทางกลับ จากวันที่ 6 ธันวาคมไปเป็นวันที่ 8 ธันวาคม ช่วงวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ผู้บังคับกองเรือสั่งให้เรือทุกลำไปจอดรอที่เกาะสีชัง เพื่อเตรียมพร้อมรอรับคำสั่งต่อไป
กลางดึกคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองเรือเฉพาะกิจได้รับโทรเลขด่วนจากกองทัพเรือว่า ญี่ปุ่นได้ทำการการยกพลขึ้นบกพร้อมกันหลายจุดในช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. จึงได้มีการเรียกประชุมก่อนจัดทัพเรืออย่างเร่งด่วน โดยให้หมู่เรือที่ 1 คือ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง เดินทางไปสนับสนุนหน่วยทหารบริเวณเกาะไผ่ หมู่เรือที่ 2 คือ เรือหลวงตราด เรือหลวงปัตตานี มุ่งตรงไปยังอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หมู่เรือที่ 3 คือ เรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงระยอง เดินทางไปลาดตระเวนพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนตรงไปที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ส่วนเรือลำอื่่นๆให้จอดเตรียมความพร้อมอยู่บริเวณเกาะสีชังเช่นเดิมไปก่อน
เวลาประมาณ 05.30 น.เรือทุกลำเริ่มออกเดินทาง ระหว่างนั้นได้พบกับเรือสินค้าลำหนึ่งลอยลำอยู่ไม่ไกลนัก เนื่องจากมีภารกิจเร่งด่วนจึงแล่นผ่านไปไม่ได้ตรวจค้น ระหว่างที่กองเรือกำลังจะแยกหมู่ออกไปนั้น ก็ได้รับแจ้งข่าวจากวิทยุให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศไทย และให้เรือทุกลำเดินทางไปยังฐานทัพเรือสัตหีบทันที
ความผิดพลาดหรือเหตุสุดวิสัย
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกลางดึกบริเวณกลางอ่าวไทย กองเรือญี่ปุ่นซึ่งประกอบไปด้วยเรือรบและเรือลำเลียงจำนวนมาก ได้เล็ดลอดการตรวจค้นจากกองเรือเฉพาะกิจไปได้อย่างไรนั้น ผู้อ่านจำนวนมากอาจสงสัยและตั้งเป็นข้อกังขาต่าง ๆ นานา ผู้เขียนพอมีข้อสรุปตามข้อมูลที่อยู่ในมือตนเองดังนี้คือ
สาเหตุประการแรกสุด เป็นเพราะกองทัพเรือไทยยังไม่มีเรดาร์ใช้งานบนเรือรบทุกลำ ตลอดการเดินทางจึงต้องใช้การตรวจค้นด้วยสายตาเพียงอย่างเดียว และสามารถทำได้เฉพาะวันที่ทัศนวิสัยดีเท่านั้น การเดินเรือเวลากลางคืนก็เป็นไปอย่างยากลำบาก กองทัพเรือไทยเพิ่งจะมีเรดาร์ใช้งานหลังจากสงครามโลกผ่านไปแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือกลางปี 2490 ได้มีการสั่งซื้อเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำมือสามชั้น Flower จากประเทศอังกฤษจำนวน 2 ลำด้วยกัน โดยตั้งชื่อว่าเรือหลวงประแสลำที่ 1 และเรือหลวงบางปะกงลำที่ 1 เรือรบจากอังกฤษทั้งสองลำนี้ได้ไปราชการกรณีสงครามเกาหลีด้วย เป็นการอวดธงราชนาวีไทยในระดับโลกเป็นครั้งแรก ร่วมกับกองทัพเรืออีกหลายชาติในนามสหประชาชาติ (ขอปูเรื่องไว้ก่อนนะครับ ได้เขียนหรือไม่ค่อยว่ากัน : ผู้เขียน)
สาเหตุประการต่อมา เป็นเรื่องความดวงซวยเล็กน้อย เรือสลุปทั้ง 2 ลำของกองทัพเรือไทย คือ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง ช่วงแรกที่เข้าประจำการสามารถบรรทุกเครื่องบินทะเลรุ่น WS-103S (หรือชื่อไทยว่ารุ่นราชนาวี 1) ได้จำนวน 1 ลำพร้อมกว้านชักรอกบนเสากระโดงหลัง WS-103S เป็นเครื่องบินใบพัดปีก 2 ชั้นทุ่นคู่ ทำความเร็วสุงสุด 128 ไมล์ต่อชั่วโมง บินได้นานสุด 5 ชั่วโมง ติดปืนกลและอาวุธได้ รวมทั้งบินขึ้นลงทะเลได้ เครื่องบิน 2 ลำสามารถลาดตะเวนทางอากาศได้ในพื้นที่ค่อนข้างกว้าง จึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดของกองเรือเฉพาะกิจ
แล้วเราดันดวงซวยตรงไหนล่ะครับ นั่นก็เพราะช่วงปลายกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส หรือก่อนญี่ปุ่นบุกไทยไม่กี่เดือน กองทัพเรือได้ถอดเครื่องบินทะเลออก และติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 40/40 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอกทดแทน รวมทั้งถอดแท่นยิงตอร์ปิโดออกและติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 40/40 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอกทดแทน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือว่าสมเหตุสมผลอยู่ เพราะเรือสลุปของเราถูกออกแบบให้มีความสามารถเหมือนเป็ด นั่นคือสามารถทำได้ทุกภารกิจ แต่เอาดีจริงๆไม่ได้ซักเรื่อง เรือมีหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ ลาดตระเวนทางทะเล รวมทั้งเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารได้ด้วย มีปืนใหญ่ 120/45 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 4 กระบอก มีตอร์ปิโดขนาด 450 มม.แท่นคู่จำนวน 2 แท่นยิง มีพาราเวนสำหรับกวาดทุ่นระเบิดแบบ S TYPE C จำนวน 2 ชุด มีเครื่องบินทะเลอีก 1 ลำ ท้ายเรือยังมีรางทิ้งทุ่นระเบิด แบบ 70/80 จำนวน 2 ราง แต่ทว่า...
แต่ทว่าเรือสลุปของเรามีปืนต่อสู้อากาศยาน Madsen 20 มม.แท่นคู่เพียง 1 กระบอกเท่านั้น การถอดเครื่องบินทะเลและแท่นยิงตอร์ปิโดออก แล้วติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มเข้าไปถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มได้ไม่นาน ทุกคนก็รู้แล้วว่าภัยคุกคามทางอากาศมีความน่ากลัวมากที่สุด กองทัพเรือตัดสินใจติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องถอดเครื่องบินทะเลออกอย่างเลี่ยงไม่ได้
สาเหตุประการที่สาม เป็นความเหลื่อมล้ำในเรื่องช่วงเวลา กองเรือเฉพาะกิจเริ่มออกเดินทางวันที่ 21 พฤศจิกายน 2484 และจะกลับกรุงเทพวันที่ 6 ธันวาคม 2484 ก่อนเลื่อนเวลาไปอีก 2 วัน ทางด้านกองเรือญี่ปุ่นได้เดินทางมาล่าช้ากว่ากัน นั่นคือเข้ามาตั้งขบวนเรือกลางอ่าวไทยคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ก่อนเข้าประชิดชายฝั่งเวลา 2.00 น.ของอีกวัน ซึ่งถ้ากองเรือของเรากลับไปก่อนก็จะไม่เห็นแม้แต่เงาอีกฝ่าย รวมทั้งญี่ปุ่นแอบส่งเรือสินค้ามาซุ่มดูกองเรือไทยอยู่เงียบ ๆ ทำให้รับรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายเราตลอดเวลา เมื่อถึงเวลานัดหมายกลางดึกคืนนั้นเอง กองเรือญี่ปุ่นจึงได้ใช้ความเร็วและความมืดเข้าวางตัวตามตำแหน่งอย่างรวด เร็ว
สาเหตุเล็ก ๆ อีกหนึ่งประการ ที่แม้จะไม่ส่งผลต่อการตรวจค้นหาเรือโดยตรง ทว่ามีผลต่อประสิทธิภาพของกองเรือเฉพาะกิจก็คือ อาการอ่อนล้าของลูกเรือหลังออกทะเล 16 วันติดต่อกัน เนื่องจากเรือแต่ละแบบมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ความเหนื่อยล้าของลูกเรือแต่ละแบบก็มีไม่เท่ากันไปด้วย สำหรับเรือสลุปทั้ง 2 ลำซึ่งเป็นเรือธงและเรือลำใหญ่ที่สุดไม่น่ามีปัญหา การออกเดินทางกลางทะเลลึกถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก นอกจากนี้ยังเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารอยู่แล้ว จึงมีห้องพักรองรับลูกเรือทุกคนอย่างเพียงพอ ส่วนเรือลำเลียงพลเรือหลวงพงันก็ไม่น่ามีปัญหาเท่าไาหร่ ในภายหลังเรือยังสามารถเดินทางไปถึงประเทศเกาหลีได้ มาที่เรือกวาดทุ่นระเบิดเรือหลวงบางระจันกันบ้าง เป็นเรือลำเล็กที่สุดคือระวางขับน้ำเพียง 395 ตัน เรือน่าจะมีปัญหาพอสมควรเมื่อเจอคลื่นลมแรง ทั้งยังใช้เครื่องจักรดีเซลทำความเร็วสุงสุดได้เพียง 13 นอต การเดินทางรอบอ่าวไทยอย่างยาวนานติดต่อกัน น่าจะสร้างความอ่อนล้าให้กับลูกเรือมากพอสมควร แต่เรือที่มีปัญหามากที่สุดก็คือ เรือตอร์ปิโดใหญ่ทั้ง 4 ลำต่างหาก
เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดมีระวางขับน้ำ 470 ตันก็จริง ทว่ากว้างแค่ 6.55 เมตรขณะที่ยาวถึง 68.5 เมตร เรือมีรูปทรงเรียวแหลมทำความเร็วได้สุงสุดถึง 32 นอต เหมาะสมกับภารกิจลอบเข้าโจมตีเรือฝ่ายตรงข้าม แต่การเอาเรือตอร์ปิโดมาโต้คลื่นกลางทะเลลึกเป็นเวลาหลายวันติด ลูกเรือทั้ง 4 ลำจะต้องมีความอ่อนล้ามากพอสมควร ปัญหาอีกเรื่องของเรือตอร์ปิโดใหญ่ก็คือ มีพื้นที่สำหรับลูกเรือพักผ่อนน้อยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และยังใช้เครื่องจักรกังหันไอน้ำแบบพาร์สันใช้ไอดงจำนวน 2 เครื่อง ทำให้ภายในเรือมีความร้อนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นที่บริเวณท้ายเรือไม่สามารถนอนหลับกันได้เลยทีเดียว ลูกเรือส่วนหนึ่งต้องใช้วิธีผูกเปลนอนกันบนดาดฟ้าเรือ แต่ต้องเผชิญกับคลื่นลม สภาพอากาศ ความชื้นและลมฝน รวมทั้งเสี่ยงกับการตกเรือแทน
เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดเฟส 2
เอาเข้าจริงๆ นะครับ หากโชคดี (หรือร้าย ?) กองเรือเฉพาะกิจของเราจับพลัดจับผลู ไปพบกองเรือญี่ป่นกลางอ่าวไทยจริงๆ กองเรือที่ญี่ปุ่นเตรียมตัวมาอัดกับอังกฤษฮอลันดาโดยเฉพาะ สภาพกองเรือเราจะเป็นอย่างไร ?
ท่านสรศัลย์ แพ่งสภา (ถึงแก่กรรม) ให้ความเห็นไว้ในหนังสือของท่านว่า เป็นโชคดีที่กองเรือทั้งสองฝ่ายไม่พบกันครับ
ส่วนถ้าหากพบกันจริง เราจะเลี่ยงการปะทะ หรือเราจะลุยเลย น่าคิดครับ คือผมไม่รู้ว่าคำสั่งก่อนออกเรือเป็นยังไง ให้ลาดตระเวณหาข่าว ลาดตระเวณรบ เจอให้แจ้งข่าวแล้วถอย หรือรบฉาบฉวยแล้วหลบ หรือใส่เลยจนกว่าจะไม่เหลือใคร เรื่องจะรบจนญี่ปุ่นถอยหรือจมหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง แค่เรือพิฒาตญี่ปุ่นซึ่งถือว่าดีที่สุดในเวลานั้นอย่างเดียวเราก็ไม่เห็นประตูชนะแล้วครับ
รักชาติและอยากให้รบจนสุดใจ แต่ถ้าเป็น ทร. ในเวลานั้น บางทีกการที่ไม่เจอกันดูจะเป็นเรื่องที่ดีครับ (สำหรับผม)