หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ขีดความสามารถเคลื่อนที่ ปัจจัยที่รถถังดีไม่อาจขาด

โดยคุณ : กบ เมื่อวันที่ : 13/08/2016 22:24:53

ขณะเพื่อนหลายคน เพ่งพิจารณารถถังที่ความทันสมัย ของ ระบบ ค.ค.ก.ย.  ระบบป้องกันตัวแบบฮาร์ดคิลล์  ผมเองก็อยากจะนำเสนอรถถังไปในอีกแง่มุม  .....

 

คือว่าแบบเบสิค  นอกจากความสามารถพื้นฐาน ได้แก่ พิสัย อัตราสิ้นเปลือง และความต้องการปรนนิบัติบำรุง  ยังมีตัวที่ชี้วัดอื่นๆต้องนำมาพิจารณาได้แก่

1.อาวุธ      แบ่งเป็น

1.1 อำนาจทำลายล้าง  เพื่อให้มีความรุนแรงสมนำสมเนื้อกับเกราะรุ่นใหม่  ขนาดกว้างลำกล้องจึงขยายเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน   ซึ่งมีขนาดไม่มต่ำกว่า 120 มม. และเน้นเป็นลำกล้องเกลี้ยงเพื่อเพิ่มพลังงานไคเนติค

1.2 ความแม่นยำ  ปืนต่อให้ดีวิเศษ ถ้ายิงไม่โดนก็เปล่าประโยชน์   จึงเป็นหน้าที่ของวิศวกรไฟฟ้า พัฒนาระบบ คคกย ระบบเซ็นเซอร์และเครื่องวัดระยะ เพื่อใช้ประกอบการคำนวณขีปนวิถี     จุดมุ่งหมายเพื่อยิงถูกตั้งแต่นัดแรก

 

2.การป้องกันตัว   การพัฒนาเกราะแบบใหม่ๆใช้ป้องกันคมกระสุน    ซึ่งจะเห็นว่ากระสุนที่ถูกใช้ฆ่าประชากรรถถังลงนั้น  โดยส่วนใหญ่หาใช่คมกระสุนเจาะเกราะแกนแข็ง   หากเป็นกระสุนดินโพรง        ผมจึงขอยกเครดิตไอเดียเรื่องการป้องกันตัวนี้ ให้กับโซเวียต/รัสเซีย    ที่ริเริ่มนำวิธีที่แยบยล กว่าความคิดเก่าๆมุ่งเสริมเกราะให้หนาแบบตะวันตก   ซึ่งเห็นได้จากการใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตร  ตะแกรงเหล็กมาใช้ป้องกันตัวเอง  การพัฒนา เกราะปฏิกิริยา  และท้ายสุดก็คือ ระบบป้องกันตัว ฮาร์ดคิลล์

 

3.การเคลื่อนที่  เราถูกผูกขาดอาวุธจากค่ายอเมริกาและอังกฤษมาช้านาน    และรถถังจากสองค่ายนี้ มุ่งให้ความสำคัญแก่เรื่องเกราะป้องกัน  จนล้าหลังเรื่องการเคลื่อนที่     มันอาจเริ่มจากความเก็บกดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่2   ซึ่งรถถังเชอร์แมนปราชัยต่อรถถังไทเกอร์          ข้อนี้เห็นได้ว่าทั้ง   ถ. วิคเกอร์  เซ็นจูเรียน  ชีฟเทน  หรือฝั่งอเมริกา เอ็ม-47 เอ็ม-48  เอ็ม-60 ต่างเป็นมหากาฬที่อุ้ยอ้ายทั้งสิ้น................ ขีดความสามารถการเคลื่อนที่เมื่อจัดลำดับ อาจดูมีสำคัญน้อย     แต่แท้จริงแล้ว  กลับช่วยลดจุดด้อยเสริมจุดเด่นในการใช้อาวุธ  ............ การเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่ว  ส่งให้เข้าตำแหน่งได้เปรียบรวดเร็ว   หลบหลีกจากพื้นเสี่ยงเร็วกว่า     ความนุ่มนวลทำให้ยิงปืนใหญ่ขณะเคลื่อนที่ได้แม่นยำ    ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ

3.1 มีแรงม้า ต่อ ตัน เพิ่มขึ้น

3.2 มีระบบ ซัสเพนชั่น หรือพยุงตัวรถ นุ่มนวลและมั่นคงยิ่งขึ้น

3.3 มีระบบรักษาขีปณะ ตัวปืนแบบ2 แกน ที่ทำงานได้ดุเดือดยิ่งขึ้น (ดู ยูทิอู๊บ  เค-2  ปลายปืนและแก้วไวน์ )

 

เอาหล่ะครับ สำหรับ 2 หัวข้อแรก โดยเฉพาะการป้องกันตัว เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนคงแตกฉานแล้ว  วันนี้จึงขอโซ้ย (เล่า) เรื่องขีดความสามารถการเคลื่อนที่ก็แล้วกัน....................

เรื่องมีอยู่ว่า             ย้อนไป สี่สิบกว่าปีก่อนนู้น......  ขณะตะวันตกภูมิใจกับรถถังหลักขนาดใหญ่ มีเกราะกำบังหนาเตอะ ติดตั้งระบบควบคุมการยิงทันสมัยอยู่นั้น   โซเวียต ได้ฉีกแนวการออกแบบรถถังขึ้นมารุ่นหนึ่ง  โดยมุ่งเน้นขีดความสามารถการเคลื่อนที่อย่างเป็นเลิศ  รถถังมีนำหนักราว 35 ตัน เครื่องยนต์ 700 แรงม้า เรโช 18 แรงม้าต่อตัน สูงกว่า เอ็ม-48 และเอ็ม-60 ดารานาโต้ในเวลานั้น ราว 3-5 ม้าต่อตัน  ปรากฏโฉมกลางทศวรรตที่ 60 ชื่อเธอคือ  “ที-64”    ที-64 มีระบบพยุงตัวรถล้ำสมัย  สิ่งที่สังเกตความแตกต่างรุ่นก่อนๆคือ มีล้อกดสายพานขนาดเล็ก   สามารถเคลื่อนที่ภูมิประเทศขรุขระเป็นไปอย่างนุ่มนวล ระบบรักษาขีปณะ 2 แกน เล็งตรงเป้าเสมอ แม้จะเคลื่อนที่หรือหมุนตัวรวดเร็วเพียงใด  มันเป็นสิ่งที่สร้างความตกตลึงต่อฝ่ายตะวันตก ซึ่งรถถังขนาด 40  ตัน สามารถเคลื่อนที่คล่องแคล่วปราดเปรียวดุจดั่งรถเก๋ง  (การนี้ เยอรมันได้ขโมยสูตรลับไปพัฒนาระบบพยุงรถถังของตนเองจนกลายเป็น ลีโอปาร์ด 1 และ 2 ในซีรี่ต่างๆจนโด่งดังทุกวันนี้)   ที-64 ถูกบรรจุในหน่วยแนวหน้าทดแทน ที-62 รุ่นเก่าซึ่งถูกย้ายไปประจำการในหน่วยรอง     ที-64 ถูกพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา จนต้นทศวรรตที่ 80 ก็พัฒนากลายเป็น  ที-80  โดยยังคงขีดความสามารถการเคลื่อนที่อย่างเต็มเปี่ยม พัฒนาเกราะและ คคกย. กลายเป็นสุดยอดรถถังของ วอซอแพ็คเพื่อใช้ยันกับสุดยอดรถถังอเมริกา เอ็ม-1  อะบรัม นั่นเอง       โซเวียตเก็บเทคโนโลยี่นี้ไว้เป็นความลับ มิยอมจำหน่ายหรือส่งออก ที-64, ที-80 ให้กับพันธมิตรใดๆ    แต่กลับส่งออก ที-72 ซึ่งเป็นรถถังพัฒนาคู่ขนาน  และก็กลายเป็นรถถังขายดิบขายดี เพราะเป็นรุ่นส่งออกที่ดีที่สุดของค่าย วอซอแพ็ค ในเวลานั้น

 

สถานการรถถังภายหลังสหภาพโซเวียตแยกตัว............    หลังโซเวียตล่มสลาย ประเทศแตกออกเป็นเสี่ยงๆ  อาวุธในประจำการกระจัดกระจายไปยังประเทศบริวาร  รวมถึงโรงงานสร้างประกอบและเทคนิคต่างๆที่ได้วิจัยไว้   ในเวลานั้นสุดยอดกองทัพรถถัง ที-64, ที-80 ส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับ ประเทศยูเครน   ขณะที่รัสเซียได้รับรถถังคู่ขนาน  ที-72 ...............................

สภาพบ้านเมืองแตกสลาย มีการสถาปนาตนเองเป็นรัฐใหม่   ส่งผลความต้องการเงินตราสกุลแข็งมาใช้จ่าย  การขายสมบัติเก่าเพื่อปากท้อง เป็นเรื่องคลาสสิคของมวลมหามนุษยชาติยามตกต่ำ  สถานการณ์อาวุธเรียกว่าตลาดแทบแตก   ของดีๆหลายอย่าง รวมถึงเทคโนโลยี่อันเป็นความลับเริ่มไปถึงมือบางประเทศ ก็ง่ายๆแค่มียูเอสสดๆไปแลก................. ที-80ในครอบครองของ ยูเครน ก็เช่นเดียวกัน หลายประเทศเริ่มได้ครอบครองสุดยอดรถถังยุค 80 ในลักษณะเซคเกิ้นแฮนด์    ประเทศกึ๋นดีหน่อย ก็ซื้อไปแกะเพื่อเลียนแบบ  ต่างฝ่ายก็แฮ้ปปี้กันไปอย่างสมน้ำสมเนื้อ..................

 

ประเทศชาติต้องเดินหน้า กองทัพรถถังยังต้องเดินต่อ......................หลังแตกสลาย ประเทศแม่คือโซเวียต บัดนี้ถูกบดย่อยเหลือเป็นรัสเซีย......   กาลนี้รัสเซียก็ไม่พ้นสภาพถังแตก   เพียงแต่อาวุธในครอบครองต้องคงไว้เพื่อรักษาดุลยภาพ   การขายของเก่าดูไม่ใช่หนทางที่ฉลาดนัก  แต่เงินจากการค้าอาวุธช่างหอมหวนและทำรายได้เป็นกอบกำ    การนำความรู้จากการวิจัยมาต่อยอดสร้างอาวุธแข่งขันในตลาดคือผลเลิศที่วางไว้..........  ที-72 จึงเข้าสู่โปรแกรมพัฒนา   ด้วยการนำข้อดีทีมีอยู่ มาผสมผสานเข้ากับระบบพยุงตัวรถแบบเดียวกับ  ที-64, ที-80   ซึ่งเป็นหัวใจความเป็นสุดยอดของรถถังตราค้อนเคียว  และในที่สุดก็เกิดเป็นรถถังบิน แบบ ที-90 สุดยอดรถถังของรัสเซียก่อนเข้าสู่ศตวรรตที21     ...............   การโปรโมทด้วยภาพการกระโดดยิงเป็นความพยายามของ รัสเซียที่จะสื่อถึงความเป็นสุดยอดขีดความสามารถการเคลื่อนที่  ซึ่งบัดนี้ได้ก้าวมาถึงคำว่าความเป็นเลิศ  ที-90 มีขุมกำลังที่สร้างความคล่องแคล่วปราดเปรียว แต่ก็เต็มเปี่ยมด้วยความนุ่มนวล  และมันไปไกลกว่าคำว่าวิ่งยิง แต่นี่คือการกระโดดยิง    ( ถูกไม่ถูกอีกเรื่องนึง 5555  (แต่จะว่าไป ไอ้เรื่องบินเนี่ย พี่แพ้ไทยเรานะครับ  สติงเรย์เราบินมาก่อน  เพียงแต่ของเราตกลงมาแล้วขาหักนิดหน่อยก็แค่นั้น))  ที-90 ถูกพัฒนาต่อยอดเป็นรุ่นย่อย จนถึงรุ่น ที-90 เอส  ซึ่งพิเศษตรงที่เริ่มติดตั้งระบบป้องกันตัวเองแบบ ฮาร์ดคิลล์  และรุ่นที่ทันสมัยที่สุดคือ ที-90 เอ็มเอส  รุ่นนี้มีแรงม้าต่อน้ำหนักเพิ่มข้น  แถมติดปืน 0.5นิ้วแบบรีโมตเสียด้วย....................

 

เมื่อกล่าวถึงรัสเซีย แต่จะไม่กล่าวถึงประเทศอื่นก็คงไม่ค่อยแฟร์นัก................

 

ยูเครน ประเทศอุตสาหกรรมหนัก   เคยเป็นแหล่งผลิตอาวุธสำคัญเมื่อครั้งอยู่ในปกครองของพญาหมี    ครั้นแตกสลายก็หอบสมบัติเก่าติดตัวมา.......     การพัฒนาของยูเครนเป็นการต่อยอดในลักษณะดัดแปลงมากกว่าการค้นคว้าวิจัย        สุดยอดรถถัง  ที-80 ซึ่งบัดนี้กลายเป็นของเซอร์พลัส ถูกจอดทิ้งเรียงรายดาษดื่น  ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่  ระบบควบคุมการยิงใหม่ สายไฟฟ้าเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์  ระบบปืนกล 0.5 นิ้วรีโมท   กลายร่างเป็นสุดยอดรถถัง ที-84  ......... แต่อย่างว่านะครับ การพัฒนาของยูเครนจะออกไปทางเบี้ยน้อยหอยน้อย เหมือนกึ่งลูกทุ่งเพื่อชีวิต เน้นดัดแปลงมากกว่า    ดังนั้น  ด้วยแรงม้าต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น  ทำให้มันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าดุจดังจรวด  ซึ่งก็ดูเหมือนจะหัวทิ่มหัวตำแบบเกินพอดีพองามกับระบบพยุงตัวรถเสียด้วยซ้ำ    แต่ถึงอย่างไร ที-84 เอ็ม ออพหล็อต   อันเป็นที่สุดของรถถังสาย ที-80     ก็จัดอยู่ในทำเนียบกลุ่มรถถังแถวหน้าในเวลานี้.........

นอกจากดัดแปลงปรับปรุง ที-80 เป็นรุ่น ที-84   ทางโรงงานยังดำเนินการ รีบิ๊วท์ คืนชีพ ที-64 ไว้ให้กองทัพยูเครนใช้อัดกับ ที-72 ของรัสเซียอีกด้วย   ดังคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้ายูเครนที่ว่า แม้ว่าทางโรงงานจะมีความสามารถซ่อมคืนสภาพสุดยอดรถถัง ที-84 โอผล็อต ขึ้นมาได้    แต่เราจะจัดหา ที-64 เพราะสามารถจัดหาได้ 3 คันขณะที่ ที-84 เพียงคันเดียว  (และนี่เองคือสาเหตุที่ ทำให้ตรูพึ่งได้ โอผล็อต มาแค่ 10 คัน สลัด...)

 

โปแลนด์................. แม้ไม่เคยอยู่ในเครือสหภาพโซเวียต  แต่โปแลนด์เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด   โปแลนด์มีโรงงานผลิตอาวุธตามใบสั่งของ วอร์ซอแพ็ค  ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่ปัจจุบัน โปแลนด์จะมีรถถังตราหมี ส่งแข่งขันในตลาดเช่นเดียวกัน..............  พีที-91  เป็นรถถังเมดอิน โปแลนด์  โดยใช้พื้นฐานเกือบทั้งหมดจาก   ที-72    และมันไม่แปลกอะไรเลยที่จะกล่าวว่า รถัง พีที-91 ก็คือ ที-72 เมดอินโปแลนด์นั่นเอง   ด้วยคุณสมบัติการเคลื่อนที่ซึ่งยังเป็นรอง ที-90 และ ที-84  หรือแม้แต่รถถังที่หนักกว่าเช่น ลีโอพาร์ด2    แต่มันก็ยังเหนือกว่ารถถังยยุคที่ 2 อื่นๆ ในด้านอำนาจการยิงจากปืน 125 มม.  ซึ่งหากติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการยิงอันทันสมัย ก็ยังรับมือกับสุดยอดรถถังยุคที่ 3 ได้สบาย  ลูกค้าที่นำไปครอบครองก็เพื่อนบ้านมาเลย์เรานี่เองครับ แห่ไป 1 กองพัน สี่สิบกว่าหน่วย...........................

 

โดยส่วนตัวคิดว่า  ทิศทางการพัฒารถถังของโลกนี้ แบ่งหลักนิยมออกเป็น 3 สาย

สายแรก  คืออเมริกา อังกฤษ และอิสราเอล  จัดเป็นพวกอนุรักษ์นิยมหรือนัยหนึ่งคือพวกเก็บกด  สายนี้ประเมินการความเสี่ยงสถานที่เกิดสงคราม ไว้ในทะเลทราย  ไม่เน้นความคล่องแคล่ว  ทื่อๆ ไม่คิดอะไรซับซ้อน ปฏิเสธและเกรงกลัวความผิดพลาด บรรจุกระสุนด้วยมือ  รถถังต้องใหญ่เกราะหนาไว้ป้องกันกระสุนเจาะเกราะจากรถถังด้วยกัน มีระบบควบคุมการยิงอันเป็นเลิศ รบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  จึงเกิดเป็นมหากาฬร้อยตัน แบบ เอ็ม-1 , ชาแลเจอร์2 และ เมอร์คาวา  (เอ็มหนึ่งออกแบบครั้งแรก มีน้ำหนักพร้อมรบเกือบ 100 ตัน ภายหลังจึงลดลงมาที่ 60 ตัน และเพิ่มเป็น 70 ตันในที่สุด)  

 

สายที่สอง  คือสายแตกจาก วอซอแพ็ค    สายนี้เน้นความคล่องแคล่ว  มีระบบพยุงตัวรถเป็นเยี่ยม ต่ำเตี้ย น้ำหนักเบาไม่เกิน 50 ตัน  หมัดหนัก เล็กดีรสโต  นิยมการใช้ตัวช่วย  ไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วยบรรจุ  เกราะเสริมปฏิกิริยา ระบบป้องกันตัวเองแบบฮาร์ดคิลล์  หรือแม้แต่ปืนกลแบบรีโหมด      ซึ่งภาพของรถถังที่วิ่งฉิว มีระบบพยุงตัวรถที่นุ่มนวลมีเสถียรภาพ  ปืนใหญ่เล็งตรงเป้าหมายแม้เคลื่อนที่ผ่านพื้นขรุขระ   หรือจะเป็นภาพรถถังที่ปลายกระบอกปืนเล็งเขม็งไปที่จุดเดียวแม้ลำตัวเบื้องล่างจะหมุนเอี้ยวไปทางอื่น เหมือนอสรพิษกำลังแผ่แม่เบี้ย จ้องเขม็งที่เหยื่อขณะลำตัวท่อนล่างเริ่มตวัดเลื้อย ภาพเหล่านี้หาดูได้บ่อยๆจากรถถังสายนี้  โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่สุดยอดรถถัง  ที-64  ตามด้วยรถถังคู่ขนาน ที-72  และถึงจุดสุดยอดในซีรี่ย์ ที-80/84  และ ที-90     แต่สุดท้ายชักเริ่ม รู้สึกฉงนกับ รัสเซีย เพราะต้นแบบ อำมตะ กำลังเริ่มจะหลุดคอนเซพท์ แม้จะมี น.น.เกิน 50ตันไปเล็กน้อย แต่กำลังบ่งบอกว่า รัสเซียเริ่มออกแบบรถถังใหญ่ขึ้น ......................     กลับมาที่ รถถังขนาดเล็ก โดยส่วนตัวผมแล้ว  ที-64 มีพื้นฐานการออกแบบดีกว่า ที-72  เพียงแต่ ที-72 พัฒนาต่อมาหลายรุ่น บางรุ่นมีระบบ คคกย ล้ำสมัย   ซึ่งถ้าที-64 ได้รับการปรับปรุงเทียบเท่า  เชื่อว่าตลาดมือ2น่าจะมีลูกค้าสนใจเพราะจะเป็นรถถังที่ดีกว่า ที-72  แต่ราคายังถูกกว่า  ที-84    ......ก็อย่างว่าอ่ะครับ    ยูเครนเดี้ยงอย่างงี้   พลาดช่วงโอกาสการหาสตางค์ อย่างงามเลยทีเดียว..................

 

 

สายที่สาม  สายผสม    สายนี้มีความฉลาด จับเอาข้อดีของแต่ละฝ่ายมาผสมผสานใช้งาน ได้แก่  ลีโอปาร์ด เยอรมัน    อาร์ แอม อิ๊กซ์ -56  (เลอแคลค)  ฝรั่งเศส     เค-1/2 เกาหลีใต้      ไทป์-10 ญี่ปุ่น  

 

3.1 ลีโอพาร์ด 2 ยังคงมีภาพความอลังการ ยิ่งใหญ่คล้ายๆ  สายที่1 เพราะด้วยน้ำหนักพร้อมรบกว่า 60 ตัน  แต่ที่แตกต่างไปคือระบบพยุงตัวรถ   ซึ่งครังหนึ่งเยอรมันเคยแอบขอยืมเทคโนโลยี่มาจากโซเวียต      และก็ไม่ผิดหวังผลของการเคลื่อนที่ผ่านป่าเขาเป็นไปอย่างนุ่มนวล    เรามักได้เห็นการวิ่งไปข้างหน้าอย่างปราดเปรียวมีการกระโดดผ่านเนินต่างๆ รวมถึงหล่มโคลน  ซึ่งเห็นได้ยากจากมหากาฬขนาดใหญ่เช่นนี้      และที่สำคัญคือ ไม่น่าเชื่อว่า มันได้ถูกออกแบบเพื่อใช้รบในยุโรปตะวันออก    ดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยดินอ่อนและหล่มโคลน  แต่ด้วยน้ำหนักกว่า 60 ตัน หาได้สร้างอุปสรรค์      ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยส่งเสริมก็คือพละกำลังจากเครื่องยนต์  ด้วยการเร่งรอบส่งให้มหากาฬพุ่งฝ่าหลุมโคลน ออกไปอย่างมีแรงเฉื่อย  ซึ่งแน่นอนด้วยน้ำนักมหาศาลและการพุ่งไปข้างหน้าอย่างเกรี้ยวกราด  หากระบบพยุงตัวรถเป็นแบบธรรมดาคงยากที่จะทำการบังคับในอยู่ในร่องรอยได้........................

 

3.2 สำหรับ   เลอแคลค ของฝรั่งเศสนั้น    ผมอยากจะจัดเข้าไปในกลุ่มที่ 2 ใจจะขาด  เพราะชมความบู้ล้างผลาญของการเคลื่อนที่แล้ว ผมว่าไม่น่าจะเป็นรอง ที-84 และ ที-90 เลย      ติดแต่ว่า เจ้าจิ๊กโก๋ตัวนี้ มีนี้หนักไปถึง ห้าสิบตันกลางๆ  ก็ขอนำมาไว้ในสายผสมนี่ก็แล้วกัน 

 

3.3 เค-2  /  ไทป์-10   เกาหลี และ ญี่ปุ่น       น้ำหนักของ เค-2 ทะลุไปที่ ห้าสิบตันกลางๆ   ขณะที่ ไทป์-10 รักษาไว้ได้ที่ต่ำกว่า 50 ตัน     แต่สิ่งที่ทั้งสองมีเหมือนๆกันคือ  การเป็นรถถัง “สายย่อ”......    ระบบพยุงตัวรถที่ยุบหุบลงต่ำ ได้นั้นคล้ายๆจุดประสงค์เพื่อหลบซ่อนที่กำบัง   หากแท้จริงแล้ว มันเป็นผลพลอยได้จากระบบ ไฮรดรอลิค /ไฮโดรนิวเมติค ซึ่งเน้นไปที่ความมีเสถียรภาพ และความนุ่มนวลของตัวรถขณะเคลื่อนที่   ทั้งคู่ จึงจัดเป็นรถถังที่เกิดมาเพื่อ “วิ่งยิง”  โดยเฉพาะ..........................

 

ครับที่ได้บรรยายร่ายยาวมา ก็อยากจะชี้ให้เห็นคอนเซปท์ในการออกแบบรถถัง  และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับ เพอร์ฟอแมนซ์     ซึ่ง  ปืนดี ระบบควบคุมดี เกราะดี ระบบป้องกันดี อันนั้นมันส่งผลดีแน่       แต่เรื่องขีดความสามารถเคลื่อนที่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยครับ ............................ ครับ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ การแห่รถถัง วีที-4 จากแดนมังกร ก็เลยจะขอความเห็น พ.พ.ส.ม.ช. ว่า   เจ้ามหากาฬตัวนี้ ควรจัดอยู่ใน คอนเซปท์ประเภทใหนดี...?????





ความคิดเห็นที่ 1


ชอบทั้งสำนวนและเนื้อหาจากท่านกบ ไหนๆท่านจัดกลุ่มรถถังของค่ายต่างๆ  ขอแจมด้วยการแข่งขัน ถ ที่รัสเซียประจำปี 2016 รอบเซมิ 

 ปีนี้มี 17 ชาติ 54 ทีม ถ มี 2 แบบ T 72 B3M กับ Type 96 B ที่คาดว่าจะมีอุปกรณ์หลายอย่างคล้าย VT4

   

ผลรอบแรก


โดยคุณ DEKO เมื่อวันที่ 12/08/2016 18:28:01


ความคิดเห็นที่ 2


ความเห็นส่วนตัว

- T64 เปรียบเสมือนรถสปอร์ต  ขับแล้วรู้สึกสนุกสนานเร้าใจเป็นที่สุด

- M60 เปรียบเสมือนรถเก๋งซีดาน น่าเบื่อหน่ายมาก ขับแล้วง่วงนอน

- M41 เปรียบเสมือนรถเก๋งท้ายตัดคันน้อย ขับสนุกเหมือนกัน แต่ไม่เร้าใจเท่า

- Type69 เปรียบเสมือนรถกระบะ ขับแล้วก็ดับ ดับแล้วก็ขับ เลี้ยวยากชิบ เสียงดังวุ้ย

อย่าถามว่าผมรู้ได้อย่างไร เพราะถ้าผมบอกแล้วผมจะต้องฆ่าคุณ!!! (ว่าเข้าไปนั่น)

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 12/08/2016 18:54:55


ความคิดเห็นที่ 3


อูย..ซู๊ด อย่าให้ต้องรอนานครับคุณกบ กำลังมันส์..

โดยคุณ เสือใหญ่ เมื่อวันที่ 12/08/2016 20:22:04


ความคิดเห็นที่ 4


      คุณสมบัติอีกอย่างของรถถังที่ผมชอบมากๆเลยคือการลุยน้ำลึก ซึ่งแม้ในความจริงคงไม่มีโอกาสได้ใช้ แต่มีมันก็ดีกว่าไม่มี ซึ่งรถถังสายโซเวียตมีคุณสมบัตินี้กันทั้งนั้น เรียกว่าลุยน้ำลึกท่วมทั้งคัน OPLOT เห็นว่าลุยได้ลึกตั้ง 5 เมตรเมื่อใส่ สนอเกิล  Leo Lecrec ก็ลุยได้ แต่ที่ไม่เห็นคุณสมบัตินี้เลยก็คือรถสาย US M1A2 ใส่อุปกรณ์เพิ่มแล้วยังลุยลึกได้แค่ 2 เมตรน้ำแค่นั้นยังไม่ท่วมรถด้วยซ้ำแต่ลุยไม่ได้ซะแล้ว  ตอนรบจริงไม่รู้จะมีโอกาสได้ใช้มั้ย แต่ผมชอบอ่ะรถถังดำน้ำ 

โดยคุณ GT500 เมื่อวันที่ 12/08/2016 23:05:11


ความคิดเห็นที่ 5


รถถังสายโซเวียต สร้างตามMLC มาตราฐานนาโต้  เน้นยิง เน้นคล่องตัว ไปได้ทุกถนน เอาชนะทุกสภาพการเคลื่อนที่ธุรกันดาร

ม้าจีน ก็คงเป็นสาย2 ที่ยังพูดไม่ได้เต็มปากว่าไม่มีเลือดม้าโซเวียตภายใน  ในกองทัพภูมิภาคอื่นๆที่ยังธุรกันดารยังใช้Type96 ที่หนักราว50ตัน ในการเคลื่อนกำลัง ในขณะที่ฝั่งตะวันออกชายฝั่งของจีนเป็นรถถังที่เกราะหนา หนักแบบตะวันตก แต่ส่วนนึงก็ถูกพัฒนาเส้นทางส่งกำลังที่ดีมากขึ้นแล้ว

โดยคุณ MIG31 เมื่อวันที่ 13/08/2016 21:04:48


ความคิดเห็นที่ 6


รถถังของเรานี่ดำหลายสิบเมตรนะครับ...

โดยคุณ toeytei เมื่อวันที่ 13/08/2016 22:24:53