หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


World War II : Japanese invasion of Thailand

โดยคุณ : superboy เมื่อวันที่ : 13/06/2016 20:46:09

แล้วผมก็กลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยโครงการไตรภาค(แต่ไม่รู้จะจบไหมนะ)สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย

ลิงค์ต้นฉบับครับ   ======> วันญี่ปุ่นขึ้นบก

   ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

World War II : Japanese invasion of Thailand

สงครามโลกครั้งที่สอง : วันญี่ปุ่นขึ้นบก

    สงครามโลกครั้งที่สอง (World War II หรือ Second World War มักใช้คำย่อเป็น WWII หรือ WW2) เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งใหญ่ระดับโลก กินอาณาเขตครอบคลุมทุกทวีปรวมทั้งประเทศส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้น ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวมาหลายปีและปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการระดมทหารจากทั้งสองฝ่ายเข้าสู้รบมากถึง 100 ล้านคน มีการใช้อาวุธทันสมัยรุ่นล่าสุดเข้าประหัสประหารคู่ต่อสู้  มีการระดมเงินทุนจากทุกแหล่งให้มากที่สุดเพื่อใช้ในการสู้รบ ทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก สงครามดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งสิ้นสุดลงช่วงปลายปี 2488 ได้มีการประเมินกันในภายหลังว่า ยอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นอยู่ระหว่าง 40 ถึง 70 ล้านคน

    ต้นเหตุที่แท้จริงของสงครามครั้งนี้ ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ตราบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น สนธิสัญญาแวร์ซายส์ ที่กดหัวประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งให้เข้าตาจน เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ก่อนลุกลามทั่วทั้งโลก ความเป็นชาตินิยมของประเทศคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย การแย่งชิงอำนาจและความต้องการแบ่งปันโลกใหม่ของประเทศที่เจริญตามมา เช่นเดียวกับวันเริ่มต้นสงครามที่ยังไม่มีบทสรุปท้ายสุด ซึ่งเป็นไปได้ตามนี้คือ
  
    - วันที่ 1 กันยายน 2482 เมื่อเยอรมันรุกรานโปแลนด์ ซึ่งตำราส่วนใหญ่ใช้ในการอ้างอิง

    - วันที่ 7 กรกฎาคม 2480 เมื่อญี่ปุ่นรุกรานจีน หรือวันเริ่มต้นสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2

    - ปี 2474 เมื่อญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย

    นักประวัติศาสตร์สงครามโลกบางคนกล่าวว่า สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองเป็นข้อพิพาทเดียวกัน เพียงแต่ได้แยกจากกันด้วยการหยุดยิงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่ว่าเราจะนับวันเริ่มต้นสงครามนี้เมื่อไหร่ บทสรุปในท้ายที่สุดก็คงไม่แตกต่างกัน โลกทั้งโลกล้วนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตลอดกาล มีทั้งสิ่งที่ดีขึ้นและแย่ลงคละเคล้ากันไป สงครามโลกครั้งที่สองเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอักษะ (Axis) ที่มีเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งได้ร่วมลงนามสนธิสัญญาไตรภาคี นอกจากนี้ยังมีประเทศสมาชิกรอง ผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร คู่สงครามร่วม และรัฐบริวาร รวมกันมากถึง 26 ประเทศ ส่วนทางด้านอีกฝ่ายคือสัมพันธมิตร (Allies) ประกอบไปด้วยสามประเทศผู้ยิ่งใหญ่ได้แก่  อเมริกา โซเวียต และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมี ฝรั่งเศส โปแลนด์ ออสเตรเลีย และอีก 48 ชาติที่เป็นประเทศสมาชิกรอง ผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร คู่สงครามร่วม รวมทั้งรัฐบริวาร

    เรื่องน่าแปลกใจที่ไม่น่าแปลกใจของสงครามโลกครั้งนี้ก็คือ ประเทศไทยมีรายชื่ออยู่ร่วมกับทั้งฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตร รายละเอียดทั้งหมดผู้อ่านคงทราบดีอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงขอละไว้โทษฐานที่รักกัน


สงครามมหาเอเชียบูรพา

    สงครามมหาเอเชียบูรพา (Greater East Asia War) หรือที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกว่าสงครามแปซิฟิก (Pacific War) ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สองด้วย โดยมีเขตสู้รบกันอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเป็นหลัก ความกว้างขวางของพื้นที่การรบซึ่งคลอบคลุมดินแดนหลายทวีป ความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์ ทั้งในมหาสมุทร ตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ บนพื้นที่ราบและภูเขารวมทั้งทะเลทราย จึงมีการสู้รบอย่างเต็มรูปแบบด้วยอาวุธทุกชนิดที่ผลิตขึ้นได้บนโลก ประเทศไทยเข้าร่วมกับสงครามมหาเอเชียบูรพาตั้งแต่วันแรกสุด อาจจะล่าช้ากว่าการปะทะกันครั้งแรกก็เพียงไม่กี่ชั่วโมง และอยู่ร่วมสงครามครั้งนี้กระทั่งวันสิ้นสุดอย่างแท้จริง

    ช่วงเวลาก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกับกองทัพไทยทุกเหล่าทัพโดยตรง ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสขึ้น (Franco-Thai War) เป็นความขัดแย้งทางทหารระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส เหนือดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสในขณะนั้น โดยเป็นสงครามเต็มรูปแบบที่มีการเคลื่อนกำลังพลเข้าสู้รบกันทั้งบนบก ในอากาศ และบนท้องทะเล กองทัพไทยในเวลานั้นมีอาวุธทันสมัยมากพอสมควร เพราะรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยประเทศล่าสุดของโลก ซึ่งมีคนจากคณะราษฎรร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมากนั้น ได้เล็งเห็นแล้วว่าภัยคุกคามจากนอกประเทศจะทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลจึงได้เร่งจัดหาอาวุธหลักสำคัญ ๆ ให้กับทุกเหล่าทัพเพื่อใช้ป้องกันประเทศ

    ช่วงเวลาดังกล่าวภัยคุกคามจากทางน้ำอันตรายมากที่สุด เพราะการเดินทางเข้าออกประเทศต้องใช้ทางน้ำเป็นหลัก ทำให้งบประมาณประจำปีของกระทรวงกลาโหม ได้จัดสรรให้กับกองทัพเรือมากกว่ากองทัพบกและกองทัพอากาศ (ซึ่งเคยเป็นเพียงกรมอากาศยานสังกัดกองทัพบกมาก่อน กระทั่งวันที่ 9 เมษายน 2480 จึงได้แยกตัวออกมาเป็นอีกหนึ่งเหล่าทัพ) ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ต่อ 1 ผู้เขียนขอแปลเป็นไทยอีกทีได้ใจความว่า กองทัพเรือได้งบประมาณมากว่ากองทัพบกและกองทัพอากาศประมาณ 3 เท่าตัว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม งบประมาณที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอซื้อเรือรบจำนวนมากให้ทันเวลา กองทัพเรือและรัฐบาลจึงได้เร่งผุดโครงการสำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดของ ราชนาวีไทยขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478"  ทั้งนี้ก็เพื่อสรรหาเรือรบต่างๆให้ครบถ้วนตามความต้องการและทันกาล ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนถึงโครงการนี้ไปแล้วรายละเอียดตามนี้ครับ

   The Power of the Sea : โครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478
  
    หลังเหตุการณ์กรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส ได้ยุติลงด้วยการเจรจาโดยมีญี่ปุ่นเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย ประเทศไทยได้ดินแดนบางส่วนคืนกลับมาจากฝรั่งเศส จึงได้จัดการปกครองขึ้นโดยแบ่งเป็น 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดพระตะบอง จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง แต่ก็ต้องสูญเสียเครื่องบินรบไปประมาณ 13 ลำ รถถัง ยานเกราะ และปืนใหญ่จำนวนหนึ่ง เรือรบสำคัญจำนวน 3 ลำ โดยเฉพาะเรือหลวงธนบุรีซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุด นอกจากกำลังพลเสียชีวิต 160 นาย บาดเจ็บ 307 นายแล้ว กระสุนปืนทั้งเล็กและใหญ่รวมทั้งระเบิดชนิดต่าง ๆ ถูกนำออกมาใช้จนเกือบหมดคลังแสง

    หลังจากนั้นไม่นานนัก สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งทำการรบพุ่งกันอยู่ในทวีปยุโรป ก็มีทีท่าว่าจะขยายตัวมายังเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วย พันธมิตรสำคัญจากกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสซึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น  กลับกลายมาเป็นสิ่งที่คาดว่าจะเป็นภัยคุกคามขนาดใหญ่แทน ด้วยว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสามแกนนำฝ่ายอักษะและมีกำลังรบขนาดใหญ่โตมาก และญีปุ่นกำลังทำสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 อย่างบ้าคลั่งอยู่ในเวลานั้น
 


กองเรือเฉพาะกิจออกลาดตระเวน

    ย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน 2484 ภัยคุกคามจากญี่ปุ่นยิ่งมีทีท่าน่ากลัวมากขึ้น รัฐบาลไทยและทุกเหล่าทัพไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับการรุกรานอย่างเต็มความสามารถ หนึ่งในนั้นก็คือส่งกองเรือเฉพาะกิจออกลาดตระเวนในอ่าวไทย โดยจะแวะจอดพักตามตามจังหวัดชายทะเลสำคัญ ๆ ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชน มีการฝึกซ้อมร่วมกับทหารในจังหวัดนั้น ๆ  รวมทั้งเติมน้ำมันและรับยุทธปัจจัยต่าง ๆ ไปในตัว การออกลาดตระเวนครั้งนี้ใช้เวลาเดินทางไปกลับรวม 15 วัน  นาวาเอกชลิต กุลกำม์ธร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับกองเรือ ซึ่งประกอบไปด้วยเรือรบและเรือช่วยรบจำนวน 8 ลำดังนี้

    - เรือสลุปจำนวน 2 ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงแม่กลอง

    - เรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงระยอง เรือหลวงตราด เรือหลวงสุราษฎร์ และเรือหลวงปัตตานี

    -  เรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวน 1 ลำ คือ เรือหลวงบางระจัน

    - เรือลำเลียงจำนวน 1 ลำ คือ เรือหลวงพงัน
 

  เรือหลวงท่าจีนและเรือหลวงแม่กลอง ขณะจอดในประเทศญี่ปุ่น

                                                
    กองเรือเฉพาะกิจออกเดินทางวันที่ 21 พฤศจิกายน 2484  เส้นทางเดินเรือเริ่มต้นจากกรุงเทพ-หมู่เกาะอ่างทอง-สงขลา-นราธิวาส ก่อนแล่นเรือข้ามอ่าวไทยไปที่เกาะกูด-สัตหีบ-กรุงเทพ การเดินทางในช่วงแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผ่านชุมพร นครศรีธรรมราช และถึงสงขลาตามกำหนด วันที่ 25 พฤศจิกายน 2484 ตรวจพบเรือสินค้าญี่ปุ่นขนาด 5,500 ตันจอดอยู่บริเวณนอกเกาะหนู วันรุ่งขึ้นกองเรือเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาส เมื่อได้รับข่าวทางวิทยุว่าสถานการณ์ประเทศไม่สู้ดี ผู้บังคับกองเรือตัดสินใจเดินทางไปเกาะช้างทันที แล้ววางตำแหน่งเรือพร้อมจอดพรางไฟอยู่บริเวณแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นชายแดนภาคตะวันออกติดกับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส และเป็นบริเวณที่เคยทำยุทธนาวีเกาะช้างกับฝรั่งเศสเมื่อตอนต้นปี วันที่ 29 พฤศจิกายน 2484 กองเรือจึงได้เดินทางไปจังหวัดระยองต่อไป แล้วจอดพักกองเรือรอดูสถานการณ์อยู่ที่สัตหีบ ระหว่างนั้นเองกองทัพเรือได้มีคำสั่งยึดเวลาเดินทางกลับ จากวันที่ 6 ธันวาคมไปเป็นวันที่ 8 ธันวาคม ช่วงวันที่ 7 ธันวาคม 2484  ผู้บังคับกองเรือสั่งให้เรือทุกลำไปจอดรอที่เกาะสีชัง เพื่อเตรียมพร้อมรอรับคำสั่งต่อไป

                    กลางดึกคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484  กองเรือเฉพาะกิจได้รับโทรเลขด่วนจากกองทัพเรือว่า ญี่ปุ่นได้ทำการการยกพลขึ้นบกพร้อมกันหลายจุดในช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. จึงได้มีการเรียกประชุมก่อนจัดทัพเรืออย่างเร่งด่วน โดยให้หมู่เรือที่ 1 คือ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง เดินทางไปสนับสนุนหน่วยทหารบริเวณเกาะไผ่ หมู่เรือที่ 2 คือ เรือหลวงตราด เรือหลวงปัตตานี มุ่งตรงไปยังอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หมู่เรือที่ 3 คือ เรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงระยอง เดินทางไปลาดตระเวนพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนตรงไปที่ฐานทัพเรือสัตหีบ  ส่วนเรือลำอื่่นๆให้จอดเตรียมความพร้อมอยู่บริเวณเกาะสีชังเช่นเดิมไปก่อน
  
    เวลาประมาณ 05.30 น.เรือทุกลำเริ่มออกเดินทาง ระหว่างนั้นได้พบกับเรือสินค้าลำหนึ่งลอยลำอยู่ไม่ไกลนัก เนื่องจากมีภารกิจเร่งด่วนจึงแล่นผ่านไปไม่ได้ตรวจค้น ระหว่างที่กองเรือกำลังจะแยกหมู่ออกไปนั้น ก็ได้รับแจ้งข่าวจากวิทยุให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศไทย และให้เรือทุกลำเดินทางไปยังฐานทัพเรือสัตหีบทันที

ความผิดพลาดหรือเหตุสุดวิสัย

    เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกลางดึกบริเวณกลางอ่าวไทย กองเรือญี่ปุ่นซึ่งประกอบไปด้วยเรือรบและเรือลำเลียงจำนวนมาก ได้เล็ดลอดการตรวจค้นจากกองเรือเฉพาะกิจไปได้อย่างไรนั้น ผู้อ่านจำนวนมากอาจสงสัยและตั้งเป็นข้อกังขาต่าง ๆ นานา ผู้เขียนพอมีข้อสรุปตามข้อมูลที่อยู่ในมือตนเองดังนี้คือ

    สาเหตุประการแรกสุด เป็นเพราะกองทัพเรือไทยยังไม่มีเรดาร์ใช้งานบนเรือรบทุกลำ ตลอดการเดินทางจึงต้องใช้การตรวจค้นด้วยสายตาเพียงอย่างเดียว และสามารถทำได้เฉพาะวันที่ทัศนวิสัยดีเท่านั้น การเดินเรือเวลากลางคืนก็เป็นไปอย่างยากลำบาก กองทัพเรือไทยเพิ่งจะมีเรดาร์ใช้งานหลังจากสงครามโลกผ่านไปแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือกลางปี 2490 ได้มีการสั่งซื้อเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำมือสามชั้น Flower จากประเทศอังกฤษจำนวน 2 ลำด้วยกัน โดยตั้งชื่อว่าเรือหลวงประแสลำที่ 1 และเรือหลวงบางปะกงลำที่ 1 เรือรบจากอังกฤษทั้งสองลำนี้ได้ไปราชการกรณีสงครามเกาหลีด้วย เป็นการอวดธงราชนาวีไทยในระดับโลกเป็นครั้งแรก ร่วมกับกองทัพเรืออีกหลายชาติในนามสหประชาชาติ (ขอปูเรื่องไว้ก่อนนะครับ ได้เขียนหรือไม่ค่อยว่ากัน : ผู้เขียน)

    สาเหตุประการต่อมา เป็นเรื่องความดวงซวยเล็กน้อย เรือสลุปทั้ง 2 ลำของกองทัพเรือไทย คือ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง ช่วงแรกที่เข้าประจำการสามารถบรรทุกเครื่องบินทะเลรุ่น WS-103S (หรือชื่อไทยว่ารุ่นราชนาวี 1) ได้จำนวน 1 ลำพร้อมกว้านชักรอกบนเสากระโดงหลัง WS-103S เป็นเครื่องบินใบพัดปีก 2 ชั้นทุ่นคู่ ทำความเร็วสุงสุด 128 ไมล์ต่อชั่วโมง บินได้นานสุด 5 ชั่วโมง ติดปืนกลและอาวุธได้ รวมทั้งบินขึ้นลงทะเลได้ เครื่องบิน 2 ลำสามารถลาดตะเวนทางอากาศได้ในพื้นที่ค่อนข้างกว้าง จึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดของกองเรือเฉพาะกิจ

    แล้วเราดันดวงซวยตรงไหนล่ะครับ นั่นก็เพราะช่วงปลายกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส หรือก่อนญี่ปุ่นบุกไทยไม่กี่เดือน กองทัพเรือได้ถอดเครื่องบินทะเลออก และติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 40/40 มม.แท่นคู่จำนวน 1 กระบอกทดแทน รวมทั้งถอดแท่นยิงตอร์ปิโดออกและติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 40/40 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 2 กระบอกทดแทน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือว่าสมเหตุสมผลอยู่ เพราะเรือสลุปของเราถูกออกแบบให้มีความสามารถเหมือนเป็ด นั่นคือสามารถทำได้ทุกภารกิจ แต่เอาดีจริงๆไม่ได้ซักเรื่อง เรือมีหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ ลาดตระเวนทางทะเล รวมทั้งเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารได้ด้วย มีปืนใหญ่ 120/45 มม.แท่นเดี่ยวจำนวน 4 กระบอก มีตอร์ปิโดขนาด 450 มม.แท่นคู่จำนวน 2 แท่นยิง มีพาราเวนสำหรับกวาดทุ่นระเบิดแบบ S TYPE C จำนวน 2 ชุด มีเครื่องบินทะเลอีก 1 ลำ ท้ายเรือยังมีรางทิ้งทุ่นระเบิด แบบ 70/80 จำนวน 2 ราง แต่ทว่า...

    แต่ทว่าเรือสลุปของเรามีปืนต่อสู้อากาศยาน  Madsen 20 มม.แท่นคู่เพียง 1 กระบอกเท่านั้น การถอดเครื่องบินทะเลและแท่นยิงตอร์ปิโดออก แล้วติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มเข้าไปถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มได้ไม่นาน ทุกคนก็รู้แล้วว่าภัยคุกคามทางอากาศมีความน่ากลัวมากที่สุด กองทัพเรือตัดสินใจติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องถอดเครื่องบินทะเลออกอย่างเลี่ยงไม่ได้

    สาเหตุประการที่สาม เป็นความเหลื่อมล้ำในเรื่องช่วงเวลา กองเรือเฉพาะกิจเริ่มออกเดินทางวันที่ 21 พฤศจิกายน 2484 และจะกลับกรุงเทพวันที่ 6 ธันวาคม 2484 ก่อนเลื่อนเวลาไปอีก 2 วัน ทางด้านกองเรือญี่ปุ่นได้เดินทางมาล่าช้ากว่ากัน นั่นคือเข้ามาตั้งขบวนเรือกลางอ่าวไทยคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ก่อนเข้าประชิดชายฝั่งเวลา 2.00 น.ของอีกวัน ซึ่งถ้ากองเรือของเรากลับไปก่อนก็จะไม่เห็นแม้แต่เงาอีกฝ่าย รวมทั้งญี่ปุ่นแอบส่งเรือสินค้ามาซุ่มดูกองเรือไทยอยู่เงียบ ๆ ทำให้รับรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายเราตลอดเวลา เมื่อถึงเวลานัดหมายกลางดึกคืนนั้นเอง กองเรือญี่ปุ่นจึงได้ใช้ความเร็วและความมืดเข้าวางตัวตามตำแหน่งอย่างรวด เร็ว

    สาเหตุเล็ก ๆ อีกหนึ่งประการ ที่แม้จะไม่ส่งผลต่อการตรวจค้นหาเรือโดยตรง ทว่ามีผลต่อประสิทธิภาพของกองเรือเฉพาะกิจก็คือ อาการอ่อนล้าของลูกเรือหลังออกทะเล 16 วันติดต่อกัน เนื่องจากเรือแต่ละแบบมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ความเหนื่อยล้าของลูกเรือแต่ละแบบก็มีไม่เท่ากันไปด้วย สำหรับเรือสลุปทั้ง 2 ลำซึ่งเป็นเรือธงและเรือลำใหญ่ที่สุดไม่น่ามีปัญหา การออกเดินทางกลางทะเลลึกถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก นอกจากนี้ยังเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารอยู่แล้ว จึงมีห้องพักรองรับลูกเรือทุกคนอย่างเพียงพอ ส่วนเรือลำเลียงพลเรือหลวงพงันก็ไม่น่ามีปัญหาเท่าไาหร่ ในภายหลังเรือยังสามารถเดินทางไปถึงประเทศเกาหลีได้ มาที่เรือกวาดทุ่นระเบิดเรือหลวงบางระจันกันบ้าง เป็นเรือลำเล็กที่สุดคือระวางขับน้ำเพียง 395 ตัน เรือน่าจะมีปัญหาพอสมควรเมื่อเจอคลื่นลมแรง ทั้งยังใช้เครื่องจักรดีเซลทำความเร็วสุงสุดได้เพียง 13 นอต การเดินทางรอบอ่าวไทยอย่างยาวนานติดต่อกัน น่าจะสร้างความอ่อนล้าให้กับลูกเรือมากพอสมควร แต่เรือที่มีปัญหามากที่สุดก็คือ เรือตอร์ปิโดใหญ่ทั้ง 4 ลำต่างหาก

    เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดมีระวางขับน้ำ 470 ตันก็จริง ทว่ากว้างแค่ 6.55 เมตรขณะที่ยาวถึง 68.5 เมตร เรือมีรูปทรงเรียวแหลมทำความเร็วได้สุงสุดถึง 32 นอต เหมาะสมกับภารกิจลอบเข้าโจมตีเรือฝ่ายตรงข้าม แต่การเอาเรือตอร์ปิโดมาโต้คลื่นกลางทะเลลึกเป็นเวลาหลายวันติด ลูกเรือทั้ง 4 ลำจะต้องมีความอ่อนล้ามากพอสมควร ปัญหาอีกเรื่องของเรือตอร์ปิโดใหญ่ก็คือ มีพื้นที่สำหรับลูกเรือพักผ่อนน้อยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และยังใช้เครื่องจักรกังหันไอน้ำแบบพาร์สันใช้ไอดงจำนวน 2 เครื่อง ทำให้ภายในเรือมีความร้อนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นที่บริเวณท้ายเรือไม่สามารถนอนหลับกันได้เลยทีเดียว ลูกเรือส่วนหนึ่งต้องใช้วิธีผูกเปลนอนกันบนดาดฟ้าเรือ แต่ต้องเผชิญกับคลื่นลม สภาพอากาศ ความชื้นและลมฝน รวมทั้งเสี่ยงกับการตกเรือแทน
 

             เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดเฟส 2


  
Tora! Tora! Tora!

    สงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามแปซิฟิก เริ่มต้นจากญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาร์เบอร์ของอเมริกา ในช่วงเวลาเช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 2484 หรือวันที่ 8 ธันวาคมตามเวลาญี่ปุ่น ย้อนกลับไปยังคืนวันเสาร์มีงานเลี้ยงสังสรรค์กันตามปรกติ รวมทั้งมีการประกวดวงดุริยางค์ประจำอาทิตย์นั้นด้วย ผลการตัดสินเรือรบ USS Arizona ได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ทหารบนเรือลำนี้จึงได้สิทธิ์นอนตื่นสายในวันถัดไป
  
    วันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 6.15 น.เรือพิฆาตอเมริกาตรวจพบเรือดำน้ำไม่ปรากฎสัญชาติ 1 ลำ ก่อนใช้อาวุธปราบเรือดำน้ำทำลายสำเร็จ จากนั้นไม่นานเครื่องบินรบก็สามารถทำลายเรือดำน้ำได้อีก 1 ลำ แต่พวกเขาไม่ทันเฉลียวใจว่าจะมีการโจมตีครั้งใหญ่เกิดขึ้น ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองห่างออกไปไม่ไกลนัก ฝูงบินโจมตีระลอกแรกจำนวน 183 ลำ ประกอบไปด้วย เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ 49 เครื่อง เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดเล็ก 51 ลำ เครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด 40 ลำ และเครื่องบินขับไล่คุ้มกันอีก 43 ลำ บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นจำนวน 6 ลำ ซึ่งเดินทางมาพร้อมกองเรือคุ้มกันขนาดใหญ่
  
เวลาประมาณ 07.02 น.เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเรดาร์โอปานา (Opana Radar Station) ทางตอนเหนือของหมู่เกาะฮาวาย ได้ตรวจพบฝูงบินโจมตีระลอกแรกของญี่ปุ่นบนจอเรดาร์ ทว่าก่อนหน้านี้พวกเขาได้รับแจ้งข่าวจากชายฝั่งตะวันตก ว่าจะมีฝูงบินรบจำนวนหนึ่งบินจากแคลิฟอร์เนียมาที่ฮาวาย เมื่อตรวจพบวัตถุประหลาดในจอเรดาร์จึงไม่ได้แจ้งเตือนแต่อย่างใด จากนั้นอีกเพียง 13 นาที ฝูงบินโจมตีระลอกที่สองจำนวน 169 ลำ ก็บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นอีกครั้ง มุ่งตรงมายังเพิร์ลฮาร์เบอร์เพื่อโจมตีดาบสองให้จมเขี้ยว

    เวลาประมาณ 07.30 น.เครื่องบินรบญี่ปุ่นปรากฏตัวเหนือฐานทัพอเมริกาเป็นครั้งแรก เมื่อได้รับคำสั่งจากเครื่องบินผู้บังคับการให้เครื่องบินทุกลำโจมตีได้ อากาศยานทันสมัยพร้อมสัญลักษณ์ทหารจักรพรรดิ ก็ปักหัวลงมุ่งไปยังเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ขณะที่คนด้านล่างจ้องมองการกระทำด้วยความแปลกใจอยู่นั้น มีเสียงหวีดหวิวจากลูกระเบิดลอยแหวกอากาศ แล้วตกลงสู่เป้าหมายสำคัญอย่างแม่นยำ เสียงระเบิดดังสนั่นตามมาพร้อมลูกไฟดวงโตลอยขึ้นฟ้า หลายชั่วโมงจากนั้นเป็นความสูญเสียย่อยยับชนิดไม่มีทางสู้ เรือรบหลายลำมีการระเบิดอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เพราะบนเรือมีทั้งตอร์ปิโดและกระสุนปืนเป็นจำนวนมาก เรือรบบางลำจมลงในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ขณะที่บางลำก็เอียงกระเท่เร่หัวปักจมน้ำท้ายโด่งขึ้นฟ้า กว่าอเมริกาจะรู้ตัวทุกอย่างก็สายเกินแก้

    นอกจากระเบิดขนาดเล็กใหญ่จำนวนมากแล้ว ญี่ปุ่นยังดัดแปลงตอร์ปิโดด้วยการติดชิ้นส่วนทำจากไม้เสริมเข้าไป ทำให้สามารถใช้งานในเขตน้ำตื้นบริเวณชายฝั่งได้ ตอร์ปิโดมีอำนาจร้ายแรงกว่าลูกระเบิด สามารถทำให้เรือจมลงได้ด้วยการยิงเข้าจุดสำคัญเพียงลูกเดียว ความเสียหายโดยรวมจากการโจมตีค่อนข้างรุนแรงมาก เรือรบอเมริกาจำนวน 19 ลำจมลงหรือเสียหายอย่างหนัก เครื่องบินรบถูกทำลายจำนวน 188 ลำ และเสียหายหนักเบาอีกจำนวน 159 ลำ มีทหารเสียชีวิตรวมจำนวน 2,403 นาย ลูกเรือเกือบทั้งหมดของเรือ “USS Arizona ยังนอนไม่ตื่นเมื่อถูกโจมตีทางอากาศ ร่างของพวกเขาติดอยู่ในเรือเนื่องจากเก็บกู้ออกมาไม่ได้ อเมริกาได้สร้างอนุสาวรีย์กลางน้ำครอบเรือเอาไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกโดยใช้ชื่อว่า “USS Arizona Memorial”
 


    การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนายพลยามาโมโต้ และเป็นจุดเริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามแปซิฟิกอย่างแท้จริง กองทัพญี่ปุ่นเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่และสวยหรู ด้วยการบุกถล่มกองทัพเรืออเมริกาจนราบคาบ ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของจารชนฝีมือดีจำนวนมาก ซึ่งได้แฝงตัวเข้าพื้นที่เป็นหมอฟันบ้าง พ่อค้าบ้าง เจ้าของร้านถ่ายรูปบ้าง หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยว เพื่อตรวจสอบข้อมูลสำคัญ ๆ รวมทั้งช่วยชี้เป้าหมายสำคัญทั้งหมดให้ ทว่าผลงานการเปิดตัวของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ดีเยี่ยมจนต้องให้เกรดเอบวก เนื่องจากในวันที่โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ทางอากาศนั้น เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาทุกลำไม่ได้อยู่ที่ท่าเรือ เมื่อเป้าหมายที่สำคัญที่สุดลอดหูลอดตาไปได้ การพิชิตสงครามมหาเอเชียบูรพาจึงเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก

    ย้อนกลับไปวันที่ 4 ธันวาคม 2484  กองเรือญี่ปุ่นขนาดใหญ่ประกอบไปด้วย เรือลาดตระเวน 5 ลำ เรือพิฆาต 7 ลำ และเรือลำเลียงขนาดใหญ่อีก 22 ลำ ได้ออกเดินทางจากท่าเรือซังจาซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะไหหลำ มุ่งหัวเรือตรงมาทางเอเชียตะวันออก บ่ายวันที่ 6 ธันวาคม 2484 เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลรุ่น PBY Catalina จากฝูงบิน 205 อังกฤษประจำฐานทัพสิงคโปร์ ได้ตรวจพบกองเรือญี่ปุ่นเข้าจึงรีบรายงานข่าวกลับฐาน ก่อนจะถูกเครื่องบินรบญี่ปุ่น 2 ลำไล่ยิงจนตกทะเลสูญหายทั้งลำ ช่วงเวลานั้นคลื่นลมในอ่าวไทยค่อนข้างรุนแรงมาก ทัศนวิสัยก็ไม่ดีเอาเสียเลย ทหารราบซึ่งไม่ชำนาญทะเลพากันเมาคลื่นยกกองทัพ กองเรือญี่ปุ่นลอยลำห่างชายฝั่งโกตาบารูประมาณ 100 ไมล์ทะเล วันที่ 7 ธันวาคม 2484 เวลา 23.00 น.ญี่่ปุ่นยื่นข้อเสนอสุดท้ายกับไทยเพื่อขอใช้ประเทศเป็นทางผ่าน ทว่านายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในเมืองหลวง รัฐบาลไทยจึงไม่มีคำตอบกลับไป

    วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 2.00 น.กองทัพญี่ปุ่นเริ่มต้นบุกประเทศไทยพร้อม ๆ กับ มาเลเซีย  ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาเดียวกับที่คนกรุงเทพกำลังร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศหนาวกำลังพอเหมาะและงานฉลองก็มีถึงรุ่งเช้า กองเรือขนาดใหญ่ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมพร้อมอยู่กลางอ่าวไทย ได้ทำการแยกกองเดินทางไปยังเป้าหมายจำนวน 7 เส้นทาง ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู (ประจวบคีรีขันธ์) ญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนกำลังพลทางบกจากพระตะบอง เข้าสู่ชายแดนไทยด้านอรัญประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน ปฐมบทสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทยเริ่มขึ้นแล้ว
 





ความคิดเห็นที่ 1


หน่วยทหารประจำภาคใต้

    ตาม "สนธิสัญญากรุงเทพฯ" ระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษ  ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2451 นั้น ประเทศไทยได้ทำการโอนรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงสำคัญจำนวน 3 เรื่องด้วยกัน นั่นก็คือ
  
    1.การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษในประเทศไทย
  
    2.ขอกู้เงินจำนวน 4 ล้านปอนด์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้สร้างทางรถไฟสายใต้
  
    3.การยกเลิกปฏิญญาลับ ค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ว่า รัฐบาลไทยตกลงว่าจะไม่ยินยอมให้ประเทศใดก็ตาม ซื้อ เช่า หรือถือกรรมสิทธิ์ดินแดนไทย ตั้งแต่บริเวณใต้ตำบลบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษก่อน และเพื่อเป็นการตอบแทน รัฐบาลอังกฤษจะให้ความช่วยเหลือแก่ไทยถ้าถูกชาติอื่นรุกราน หรือผู้เขียนจะเขียนให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม ก็คือ อังกฤษไม่ต้องการให้มีทหารไทย ประจำการอยู่ในดินแดนภาคใต้แม้แต่คนเดียว

    การยกเลิกปฏิญญาลับ ค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) ทำให้ประเทศไทยมีสิทธิบนดินแดนภาคใต้อย่างเต็มภาคภูมิ และเป็นการขจัดอิทธิพลของอังกฤษให้หมดไปจากแผ่นดิน ทว่าวันเวลาผ่านไปแล้วหลายสิบปี ก็ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยทหารประจำภาคใต้อย่างเป็นทางการ มีแค่เพียงการฝึกหัดหน่วยยุวชนทหารขึ้นมาเท่านั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นในทวีปยุโรป รัฐบาลจึงเริ่มมีแนวคิดจัดตั้งหน่วยทหารประจำภาคใต้เสียที และในวันที่ 18 กุมภาพันธ์  2482 กองทัพบกได้ทำการเคลื่อนย้ายกองพันทหารราบที่ 5 หรือ ร.พัน 5 จากบางซื่อ ไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จบริเวณเชิงเขาคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขึ้นตรงกับมณฑลทหารบกที่ 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช นับเป็นทหารประจำการหน่วยแรกสุดในดินแดนภาคใต้

 


    ต้นเดือนมิถุนายน 2483 หลังเหตุการณ์ฝรั่งเศสยอมแพ้แก่เยอรมันอย่างราบคาบ และทหารอังกฤษตาลีตาเหลือกถอยกลับประเทศไปได้ไม่นานนัก รัฐบาลไทยได้เกิดบรรลุธรรมขึ้นมาและเล็งเห็นแล้วว่า ในช่วงเวลานี้มีความจำเป็นอย่างถึงที่สุด ที่จะต้องมีการเสริมกองกำลังทหารทั่วประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องอธิปไตยจากภัยคุกคามขนาดใหญ่ ที่กำลังคืบคลานเข้าใกล้จนมาจ่ออยู่แถวคอหอย ซึ่งถ้าขืนยังชะล่าใจแบบนี้ต่อไปเห็นท่าจะไม่ดีเอา จึงได้มีการจัดพิจารณาสรรหาสถานที่เหมาะสม และจัดตั้งหน่วยทหารประจำภาคใต้เพิ่มขึ้นมาใหม่ ดังนี้

1. ร.พัน 38 จัดตั้งที่จังหวัดชุมพร

2. ร.พัน 39 จัดตั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

3. ร.พัน 40 จัดตั้งที่จังหวัดตรัง

4. ร.พัน 41 จัดตั้งที่บ้านสวนตูล จังหวัดสงขลา

5. ร.พัน 42 จัดตั้งที่บ้านบ่อทอง จังหวัดปัตตานี

6. ป.พัน 13 จัดตั้งที่บ้านสวนตูล จังหวัดสงขลา

    นอกจาก 6 กองพันทหารราบและ 1 กองพัทหารปืนใหญ่แล้ว กองทัพบกยังได้จัดตั้งกรมทหารรายที่ 18 ขึ้นที่บ้านสวนตูล จังหวัดสงขลา โดยมี ร.พัน 42 ร.พัน 5 และป.พัน 13 รวมทั้งหน่วยขึ้นตรงกรมทหารราบที่ 18 หรือ นขต ร.18 อยู่ในสังกัด ทหารทั้งหมดแม้ส่วนใหญ่จะเป็นทหารใหม่ กำลังพลก็ยังไม่เพียงพอต่ออัตราบรรจุ อาวุธที่มีก็ไม่ทันสมัยเทียบเท่าต่างประเทศ ทหารส่วนที่เหลือยังเป็นคนนอกพื้นที่ต่างหาก ไม่มีความชำนาญเรื่องเส้นทางและภูมิประเทศ อีกทั้งต้องมาเจอกับอาหารการกิน สภาพอากาศ และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป แต่ทหารทุกนายสมัครใจมาประจำการภาคใต้ด้วยความเต็มใจยิ่ง พร้อมตั้งใจปฎิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็ง มุ่งมั่น เพราะรู้ดีว่าประเทศกำลังจะเข้าสู่สงครามใหญ่ในอีกไม่นาน จากประเทศมหามิตรคนสำคัญที่ชื่อว่าญี่ปุ่น

แผนตั้งรับญี่ปุ่นที่ปัตตานี

    กองพันทหารราบที่ 42 หรือ ร.พัน 42 คือหน่วยทหารใหม่ประจำจังหวัดปัตตานี โดยได้เข้ามาตั้งฐานอยู่ในพื้นที่บ้านบ่อทอง อำเภอหนองจิก กำลังพลส่วนใหญ่มาจาก ร.พัน 2 และร.พัน 7 บางซื่อเป็นหลัก บวกกับทหารใหม่ที่เพิ่งรับเข้าประจำการได้ไม่นาน ร.พัน 42 ได้นายพันตรีขุนอิงคยุทธบริหารเป็นผู้บังคับกองพัน นายทหารที่เหลือแต่งตั้งมาจากกองพันทหารราบอื่น ๆ โดยมีนายสิบจากกองพันต่าง ๆ ทั่วประเทศ สมัครใจลงมารับราชการที่นี่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นกองพันที่ใหม่หมดทุกอย่าง แม้กระทั่งอาคารต่าง ๆ ก็ยังทาสีไม่เสร็จด้วยซ้ำ

    ร.พัน 42 มีกำลังรบหลักแค่เพียง 3 กองร้อย และมีผู้บังคับหมวดเพียงกองร้อยละ 1 นายไปก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการตั้งโครงสร้างของกองพันให้ครบถ้วน ตำแหน่งที่ว่างจะบรรจุนายทหารใหม่เพิ่มเติมในภายหลัง กองร้อยที่ 1 และกองร้อยที่ 2 จัดเป็นกองร้อยปืนกลเบา ส่วนกองร้อยที่ 3 จัดเป็นกองร้อยปืนกลหนัก ทางด้านกำลังพลส่วนอื่นประกอบไปด้วย หมวดปืนใหญ่ติดตามทหารราบ หมวดสื่อสาร หมวดเสนารักษ์ และหมวดสัมภาระ

    หลังจากเข้ามาอยู่ในพื้นที่ได้ไม่นาน ผู้บังคับกองพันเห็นความเคลื่อนไหวของคนญี่ปุ่นผิดแปลกไป เพราะมีจำนวนมากขึ้นในเวลาอันสั้น และมักไปถ่ายรูปตามชายทะเลจำนวนมาก รวมทั้งมีการหยั่งน้ำตรวจความลึกช่วงน้ำขึ้นน้ำลง โดยใช้เวลาสำรวจบริเวณหลังด่านศุลกากรนานที่สุด จึงสั่งให้ทหารแอบติดตามชาวญี่ปุ่นแบบเงียบๆตลอดเวลา รวมทั้งได้ประเมินว่าทหารญี่ปุ่นอาจยกพลขึ้นบกที่หลังด่านศุลกากร จึงได้เรียกประชุมนายทหารทั้งหมดทันที เพื่อจัดเตรียมที่ตั้งหมู่ปืนกลหนักสำหรับการยิงประสาน รอต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากแดนอาทิตย์อุทัย จารชนฝีมือดีจากญี่ปุ่นที่ถูกส่งมายังปัตตานี ได้แจ้งข่าวสำคัญกับทหารไทยโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว

  ชายหาดรูสะมิแล ที่อีก 26 ปีต่อมาได้กลายมาเป็น ม.อ.ปัตตานี

    ร.พัน 42 วางแผนตั้งรับญี่ปุ่นที่ปัตตานีเรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดปัญหาสำคัญมากที่สุดก็คือ กำลังพลส่วนใหญ่ยังเดินทางมาไม่ถึง เมื่อก่อสร้างอาคารในฐานที่ตั้งเสร็จแล้ว จึงได้รับทหารใหม่จากจังหวัดสงขลาเข้าประจำการ และรับการฝึกหลักสูตร 45 วันเป็นการเร่งด่วน แต่จำนวนกำลังพลทุกหน่วยก็ยังไม่เต็มอัตรา กองทัพบกจึงได้จัดกำลังพลจาก ร.พัน 2 และ ร.พัน 7 เพิ่มเติมในภายหลัง ทหารกองหนุนจากกรุงเทพเดินทางมาถึงค่ำคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2484 กว่าจะบรรจุหน่วยแจกอาวุธและเครื่องสนาม ทหารทุกนายก็ได้เข้านอนตอนเที่ยงคืนพอดี

สงครามกลางดึก

    เวลาประมาณ 3.00 น.วันที่ 8 ธันวาคม 2484 หรือ 3 ชั่วโมงหลังจากนั้น นายยุนุชาวบ้านจากรูสะมิแล ได้ไปเจอทหารญี่ปุ่นบริเวณชายหาดเข้า จึงรีบวิ่งไปบอกปลัดอำเภอเมืองปัตตานีทันที ปลัดอำเภอรีบแจ้งไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด ก่อนที่ข่าวสำคัญจะถูกส่งไปยังสถานีตำรวจและร.พัน 42 อย่างเร่งด่วน ทหารญี่ปุ่นที่ขึ้นปัตตานีสังกัดกองทัพที่ 25 มีจำนวนรวมหนึ่งกองพลทหารราบและหนึ่งกองพลน้อย ขบวนเรือที่มาใช้เรือลำเลียงมีจำนวน 6 ลำ ไม่มีเรือรบคุ้มกันเพราะไม่มีความจำเป็น ญี่ปุ่นเลือกสถานที่ขึ้นบกตรงตามที่คาดการณ์ไว้ คือริมฝั่งทะเลตำบลรูสะมิแล (ปัจจุบันคือที่ตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ยาวเรื่อยมาจนถึงด่านศุลกากร ทว่าญี่ปุ่นเลือกบุกกลางดึกจึงไม่มีการต่อต้านที่ริมหาด ทหารใหม่จาก ร.พัน 42 ที่เพิ่งเดินทางมาถึง ได้รับคำสั่งด่วนให้เข้าพื้นที่บริเวณคอกกักกันสัตว์ด่านศุลกากร เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้รับการต้อนรับเป็นลูกกระสุนจำนวนมาก เพราะทหารญี่ปุ่นเตรียมตัวรออยู่ในพื้นที่ตั้งรับเรียบร้อยแล้ว
 

  เรือลำเลียง Hirokawa Maru ขนทหารญี่ปุ่นขึ้นฝั่งปัตตานี
 



    นายพันตรีขุนอิงคยุทธบริหารรีบเดินทางไปสมทบด้วยรถยนต์ แต่รถเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเสียก่อน เมื่อไปถึงพื้นที่ปะทะทหารฝ่ายเราตกอยู่ในภูมิประเทศเสียเปรียบ ขุนอิงคยุทธรีบขึ้นไปยังแนวหน้าเพื่อสั่งการรบด้วยตนเอง กระทั่งพลาดท่าเสียทีถูกทหารญี่ปุ่นยิงใส่จนบาดเจ็บสาหัส ต้องนำตัวส่งไปรักษาและเสียชีวิตในเวลาต่อมา การปะทะกันที่คอกกักกันสัตว์ดำเนินต่อไปจนถึงรุ่งเช้า แต่พื้นที่การรบไม่ได้ขยายตัวออกไปซักเท่าไหร่ ทหารญี่ปุ่นที่ด่านศุลกากรยังคงอยู่ในที่ตั้งตัวเอง ไม่ได้ใช้กำลังที่มากกว่าตีโอบจากด้านอื่นแม้จะสามารถทำได้ การปะทะกันสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 13.00 น. เมื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่า รัฐบาลไทยตกลงให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศไทย ทหารทั้งสองฝ่ายจึงได้หยุดยิงอย่างถาวร

    นอกจากแนวปะทะตรงด่านศุลกากรริมทะเลแล้ว ญี่ปุ่นยังได้บุกไปยึดบริเวณตัวจังหวัดและบ้านพักราชการ ด้วยโดยการใช้เรือเล็กล่องเข้ามาทางปากแม่น้ำปัตตานี ก่อนขึ้นฝั่งและเข้าเมืองบริเวณสะพานเดชานุชิต ฝ่ายกำลังไทยประกอบไปด้วย ตำรวจ ยุวชนทหาร ข้าราชการ และประชาชน ได้ร่วมมือกันต้านทานผู้รุกรานชนิดสุดกำลัง เจ้าของร้านขายปืน 2 แห่งในตัวเมือง ได้ให้ยืมปืนและกระสุนเพื่อใช้ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น (แต่ได้ปืนคืนครบหรือเปล่าไม่ทราบนะครับ : ผู้เขียน) ความสูญเสียที่เกิดจากการปะทะบริเวณด่านศุลกากร ทหารจาก ร.พัน 42 เสียชีวิตประมาณ 40 นาย ความสูญเสียจากการปะทะบริเวณตัวจังหวัด ยุวชนทหารเสียชีวิต 5 คน ตำรวจ ข้าราชการและประชาชนเสียชีวิต 19 คน ฝ่ายทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตรวมกันประมาณร้อยกว่านาย มีข้อมูลจากที่อื่นระบุว่าทหารจาก ร.พัน 42 เสียชีวิตประมาณ 24 นาย  ยุวชนทหารเสียชีวิต 5 คน ตำรวจเสียชีวิต 5 คน และประชาชนเสียชีวิต 9 คน ผู้เขียนไม่แน่ใจเรื่องตัวเลขจึงขอลงทั้งหมดเพื่อบันทึกเป็นข้อมูล

    สถานการณ์ด้านตะวันออกของแม่น้ำปัตตานี ญี่ปุ่นส่งกำลังจำนวนหนึ่งขึ้นบกเช่นกัน ก่อนรวมขบวนแล้วเคลื่อนทัพไปตามถนนนาเกลือ และเข้าปะทะกับกำลังผสมฝ่ายไทยที่มีตำรวจประมาณ 10 นาย ข้าราชการ รวมทั้งประชาชน ใช้อาวุธปืนทุกชนิดที่หามาได้เข้าทำการสกัดกั้น เหนือท้องฟ้ามีเครื่องบินรบคาดรูปดวงอาทิตย์สีแดงบินว่อน แต่ก็แค่ลาดตระเวนไปมาโดยไม่สร้างอันตรายแต่อย่างใด ผลการปะทะที่แนวต้านนี้มีความสูญเสียน้อยมาก ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 3 นายส่วนฝ่ายไทยบาดเจ็บเพียง 1 นาย ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการรบแบบยันกันไปยันกันมา ทหารญี่ปุ่นไม่ได้ต้องการเข้าตีขั้นแตกหักแต่อย่างใด เมื่อมีคำสั่งให้ให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านได้ ปัตตานีทั้งเมืองก็กลับสู่ความเงียบสงบ ทหารญี่ปุ่นได้มาตั้งค่ายพักอยู่ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศอยู่ซักพักหนึ่ง ก่อนเดินทางลงไปยังโกตาบารู รัฐกลันตัน เพื่อสมทบกับกองทหารที่ขึ้นบกโกตาบารูก่อนหน้านี้  

    แผนตั้งรับญี่ปุ่นที่ปัตตานีถือว่าค่อนข้างพร้อมในทุกด้าน เพียงแต่ว่า ร.พัน 42 ไม่มีความพร้อมในทุกด้าน เพราะทหารมากกว่าครึ่งต้องใช้เวลาทั้งวัน เพื่อเดินทางไกลร่วม1,100 กิโลเมตรจากกรุงเทพมาปัตตานี พวกเขาได้พักผ่อนแค่เพียง 3 ชั่วโมงก็ต้องออกรบกลางดึก ทหารที่เหลือล้วนเป็นทหารใหม่เข้าประจำการได้ไม่นาน ได้รับการฝึกฝนยังไม่ทันครบทั้งหลักสูตรเลย เมื่อต้องรบกับกองทัพญี่ปุ่นขนาดใหญ่พร้อมอาวุธหนัก ทั้งยังสามารถขึ้นบกและอยู่ในที่ตั้งเรียบร้อยแล้ว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับฝ่ายทหารไทยถือว่าน้อยมาก

  ยุวชนทหารไทยพุทธและไทยอิสลาม ช่วยกันปกป้องปัตตานี
   

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 10/06/2016 20:13:16


ความคิดเห็นที่ 2


ญี่ปุ่นขึ้นที่สงขลา
  
    เวลาประมาณเที่ยงคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองเรือญี่ปุ่นจำนวนมากเข้าประชิดชายฝั่งสงขลาอย่างเงียบกริบ ก่อนจอดเรียงรายเป็นแนวยาวตั้งแต่แหลมสมิหลาถึงเก้าเส้ง จากนั้นจึงดับไฟเรือพร้อมปล่อยเรือระบายพลส่วนหนึ่งลงน้ำ  หนึ่งชั่วโมงต่อมาเรือระบายพลบางลำได้แยกตัวออกมาอย่างลับๆ ก่อนส่งหน่วยจู่โจมขึ้นฝั่งเพื่อยึดสถานที่ราชการและตัดสายโทรศัพท์ เวลาต่อมาที่เรือลำเลียงขนาดใหญ่จำนวน 12 ลำก็แล่นเข้าใกล้ชายหาดมากขึ้น ภายใต้การคุ้มกันจากเรือพิฆาตขนาด 2,000 ตันชั้น Fubuki Group II จำนวน 4 ลำ ได้แก่ DD-47 IJN Asagiri, DD-48 IJN Yugiri, DD-49 IJN  Amagiri, และ DD-50 IJN Sagiri

    การยกพลขึ้นบกที่สงขลามีลักษณะแตกต่างไปจากที่อื่น เนื่องจากสามารถลำเลียงพลขึ้นฝั่งได้อย่างค่อนข้างสะดวก นั่นเป็นเพราะมีหาดทรายที่ทั้งยาวและกว้างตลอดแนว รวมทั้งสามารถเดินทางต่อไปยังแหลมมลายูได้ใกล้ที่สุด จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอันดับหนึ่งในปฎิบัติการณ์คืนนี้ และเป็นจุดที่กองทัพญี่ปุ่นส่งกำลังทหารขึ้นฝั่งมากที่สุด ทหารทั้งหมดมาจากกองทัพที่ 25 โดยพล.ท.ยามาชิดะเป็นแม่ทัพ เช่นเดียวกับทหารญี่ปุ่นที่ขึ้นบกปัตตานีและโกตาบารู แม้ท้องทะเลสงขลาจะเต็มไปด้วยคลื่นสุงและหมอกจำนวนมาก ทว่าการส่งทหารชุดแรกขึ้นบกก็ทำกันได้อย่างง่ายดาย ด้วยความร่วมมือของจารชนญี่ปุ่นที่แฝงตัวเข้าพื้นที่ก่อนหน้านี้

 

  เรือพิฆาต IJN Sagiri ทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือลำเลียงที่สงขลา
 

  ปฎิบัติการณ์ยกพลขึ้นบกช่วงเช้าตรู่


    แต่ทหารไทยก็ค่อนข้างโชคดีที่ได้รับแจ้งข่าวสำคัญอย่างรวดเร็ว จึงมีเวลาเตรียมพร้อมตั้งรับได้ทันเวลา การรบที่สงขลาเป็นการรบตามยุทธวิธีและแบบแผนมากที่สุด กำลังทหารฝ่ายไทยก็มีค่อนข้างเยอะกว่าจุดอื่น นั่นคือประกอบไปด้วย กองพันทหารราบที่ 5 หรือ ร.พัน 5 จากเขาคอหงส์ กองพันทหารราบที่ 41 หรือ ร.พัน 41 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 หรือ ป.พัน 13 รวมทั้งหน่วยขึ้นตรงกรมทหารราบที่ 18 หรือ นขต ร.18 อีกจำนวนหนึ่ง ทหารทั้ง 2 กองพันสังกัดค่ายทหารบ้านสวนตูล ย้อนกลับไปวันที่ 6 ธันวาคม 2484 สถานีวิทยุ บี.บี.ซี.ของอังกฤษได้กระจายข่าวสำคัญว่า กองเรือญี่ปุ่นที่มีจำนวนเรือประมาณ 200 ลำ ได้เดินทางลงมายังทะเลจีนใต้อย่างเงียบๆ กรมทหารราบที่ 18 จึงได้สั่งให้ทุกกองพันเตรียมกำลังรบอย่างเต็มที่ ทหารไทยที่สงขลาพร้อมทำศึกแล้ว

    เวลาประมาณเที่ยงคืนจากชายหาดหน้าศาลจังหวัด คนบนฝั่งสามารถมองเห็นเรือขนาดใหญ่จำนวนมากได้อย่างชัดเจน  มีความพยายามติดต่อด้วยไฟฉายแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง กระทั่งมีคนพบทหารญี่ปุ่นบุกยึดสถานที่ราชการ จึงรีบรายงานไปยังข้าราชการระดับสุงทันที เมื่อทราบข่าวจากข้าหลวงประจำจังหวัดว่าญี่ปุ่นบุก ทหารจากกองร้อยที่ 1 ร.พัน 41 ก็รีบไปตั้งรับที่ถนนสายสำโรง-ทุ่งหวัง บริเวณกิโลเมตรที่ 1 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำหรับเดินทางไปยังแหลมมลายู ส่วนทหารจากกองร้อยที่ 2 ร.พัน 41 พร้อมหมวดปืนกลหนัก ได้ไปตั้งรับบริเวณด้านซ้ายของถนนเส้นเดียวกัน ทหารส่วนที่เหลือเข้าแนวป้องกันบริเวณเนินเขารูปช้าง โดยมีกองร้อยที่ 3 ป.พัน 13 ซึ่งใช้ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ตั้งแนวอยู่ด้านหลัง ปืนใหญ่รุ่นนี้สามารถช่วยยิงสนับสนุนทหารราบรวมทั้งยิงต่อสู้รถถังได้อีก หนึ่งภารกิจ ทหารจากบ้านสวนตูลเข้าประจำตำแหน่งตามแผนอย่างรวดเร็ว

    ทางด้านกองพันทหารราบที่ 5 หรือ ร.พัน 5 ซึ่งตั้งฐานอยู่บริเวณเขาคอหงส์ รับแจ้งโทรศัพท์จากอัยการจังหวัดว่าญี่ปุ่นบุกก่อนสายจะถูกตัด จึงไม่สามารถติดต่อกับพันเอกหลวงประหารข้าศึก ซึ่งทำหน้าที่ผู้บังคับการทหารทุกหน่วยในจังหวัดสงขลาได้ ผู้บังคับกองพันตัดสินใจเคลื่อนพลมารอตั้งรับที่แนวเขาบ้านน้ำน้อย โดยยึดช่องแคบแม่เตยเป็นที่มั่นขวางถนนสายสงขลา-ไทรบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางสู่แหลมมลายู พร้อมส่งทหารสื่อสารไปยังบ้านสวนตูลเพื่อติดต่อกับกำลังส่วนอื่น  โดยมีแผนลับสุดยอดท้ายสุดก็คือ ถ้ารับมือทหารญี่ปุ่นไม่ไหวจะให้กำลังพลข้ามไปฝั่งหาดใหญ่ แล้วระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำน้อยทิ้งเพื่อถ่วงเวลา ถึงตอนนี้ทหารไทยเข้าที่ตั้งเตรียมพร้อมรับมือกับญี่ปุ่นแล้ว ค่อนข้างใกล้เคียงกับแผนรับมือที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ติดแค่เพียงปัญหาเรื่องการสื่อสารเท่านั้น

เริ่มปะทะกัน

    หลังจากที่ทหารไทยเข้าแนวป้องกันได้ไม่นาน การรบกันระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ได้เปิดฉากขึ้นทันที เวลาประมาณ 02.40 น.กองกำลังจักรยานของทหารญี่ปุ่นประมาณ 1 กองร้อย ได้ปะทะกับ ร.พัน 5 ซึ่งตั้งรับอยู่ที่ช่องแคบแม่เตย ทหารญี่ปุ่นอยู่ในที่โล่งแจ้งจึงรีบถอยขบวนเข้าข้างทางทันที จากนั้นอีกไม่นาน ร.พัน 41 ก็ได้ปะทะกับหน่วยลาดตระเวนญี่ปุ่นที่เชิงสะพานสามแยกสำโรง กำลังทหารญี่ปุ่นจำนวนมากตามมาในอีกครึ่งชั่วโมง  ทหารญี่ปุ่นโหมเข้าตีโดยใช้กำลังบางส่วนโอบปีก แนวปะทะจุดนี้ขยายความกว้างมากกว่าเดิม การยิงปืนใหญ่สนับสนุนจากป.พัน 13 จึงต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย ปืนใหญ่วิถีราบขนาด 75 มม.ทั้ง 8 กระบอก ต้องปรับเปลี่ยนแนวยิงโดยใช้แผนที่ประกอบ การรบเป็นไปอย่างดุเดือดท่ามกลางทัศนวิสัยที่ค่อนข้างขมุกขมัว
 

                   กองร้อยจักรยานทหารญี่ปุ่น

    เวลาประมาณ 04.00 น.กำลังทหารจาก ร.พัน 5 ที่มาตั้งรับบริเวณช่องแคบแม่เตย (หลังจากติดต่อกับผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 18 ได้แล้ว ) ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังทั้งหมดมาสมทบกับร.พัน 41 ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรวมกำลังพลทั้งหมดไว้ด้วยกัน และการรบที่ถนนสายสำโรง-ทุ่ง ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ การแบ่งกำลังทหารออกเป็น 2 แนวรบจะส่งผลเสียมากกว่าดี เพราะกำลังของอีกฝ่ายมีปริมาณมากจนไม่อาจคาดเดาได้ ถนนสายสงขลา-ไทรบุรีจึงตกเป็นของทหารญี่ปุ่น ซึ่งแบ่งกำลังส่วนหนึ่งมาควบคุมเส้นทางไว้ก่อน

    หลังจากร.พัน 5 ไปรวมกับทหารจากบ้านสวนตูลแล้ว สถานการณ์ก็ดูเหมือนจะเป็นการพักรบชั่วคราว เพราะทั้งทหารไทยและทหารญี่ปุ่นต่างอยู่ในที่ตั้งตนเอง มีการยันกันไปยันกันมาพอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะทางด้านฝ่ายไทยต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น เนื่องจากการยิงตอนกลางคืนมีความแม่นยำค่อนข้างน้อย รวมทั้งทัศนวิสัยการมองเห็นค่อนข้างแย่ ผู้บังคับการจึงสั่งให้ยิงเฉพาะเป้าหมายที่เห็นชัดเจน ส่วนทางด้านฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นเพียงกำลังส่วนระวังหน้า (แต่ก็เยอะมาก) ก็ได้เงียบเสียงปืนลงไปด้วยไม่มีการโหมบุกเข้าตีเหมือนก่อน (ผู้เขียนเข้าใจว่า กำลังบางส่วนที่เคยเข้าตี ได้ถูกแบ่งไปยึดรถยนต์และรถประจำทางของคนไทย) กำลังรบส่วนใหญ่จากกองทัพที่ 25 ของญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในเรือลำเลียงกลางทะเลริมหาด และเตรียมพร้อมเคลื่อนพลขึ้นบกครั้งใหญ่ในอีกไม่นาน ทั้งสองฝ่ายต่างรอเวลาที่จะทำการรบขั้นแตกหัก เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องที่ชายหาดทะเลสงขลา

    ใกล้รุ่งเช้าทัศนวิสัยดีขึ้นมากกว่าเดิม จากจุดตรวจการณ์บ้านสวนตูลซึ่งเป็นจุดตั้งรับสำคัญ สามารถมองเห็นเรือลำเลียงพลญี่ปุ่นทาสีเทาจำนวน 12 ลำ กำลังทยอยปล่อยเรือท้องแบนลงน้ำด้วยปั้นจั่นขนาดใหญ่ลำละ 4 ตัว  ไกลออกไปหน่อยเป็นเรือพิฆาตจำนวน 4 ลำลอยลำตระหง่าน เพื่อทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือลำเลียงพลอีกที และที่อยู่ห่างลิบตาเป็นเงาเรือรบขนาดใหญ่สีดำทะมืน ซึ่งคาดว่าจะเป็นกองเรือลาดตระเวนบางส่วนหรือทั้งหมดจากจำนวน 5 ลำ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ถูกสั่งให้พร้อมยิงทุกเมื่อ โดยในส่วนกองร้อยที่ 1 รับหน้าที่คุ้มกันชายหาดตั้งแต่ แหลมทราย-แหลมสน-แหลมสมิหลา-แนวศาลจังหวัด ส่วนกองร้อยที่ 2 รับหน้าที่คุ้มกันชายหาดตั้งแต่ศาลจังหวัด-สนามบินสงขลา-เก้าเส้ง ทหารไทยทั้ง 3 กองพันจ้องมองทหารญี่ปุ่นหลายหมื่นนายอย่างเงียบสงบ

การรบเมื่อรุ่งสาง

    กระสุนปืนใหญ่ชุดแรกจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ถูกยิงออกมาเมื่อเวลาประมาณ 05.42 น.เพื่อถล่มเรือท้องแบนญี่ปุ่นที่ลอยลำอยู่ชายหาด เวลาต่อมาปืนทั้ง 8 กระบอกก็ต้องปรับมายิงแนวชายฝั่งแทน เนื่องจากตรวจพบทหารญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่บนชายหาด ตั้งแต่บริเวณสนามบินสงขลาไปจนถึงเก้าเส้ง และนั่นก็เท่ากับเป็นการกระตุกหนวดเสือ จากนั้นไม่นานนักสงครามปืนใหญ่ก็ได้เปิดฉากขึ้น เมื่อเรือพิฆาตญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ ได้ระดมยิงใส่ฝ่ายไทยด้วยปืนใหญ่เรือขนาด 127/50 มม.จำนวนรวม 24 กระบอก ปืนเรือรุ่นนี้สามารถยิงได้ไกลสุดถึง 18.4 กิโลเมตร แม้ผู้เขียนจะใช้คำสวยหรูว่าการดวลปืนใหญ่ก็ตาม ทว่ากลับเป็นทหารไทยต้องรีบหาที่หลบภัยกันจ้าล่ะหวั่น จุดตรวจการณ์ทหารปืนใหญ่ ป.พัน 13 ถูกยิงถล่มอย่างหนักรวมประมาณ 12 นัด จนหินก้อนใหญ่ที่เคยใช้เป็นแนวกำบัง กลับกลายเป็นลานกว้างใช้เตะตระกร้อได้ โชดดีที่ทหารทุกนายหลบหนีออกมาได้ทัน แต่ก็ต้องวุ่นวายกับการตั้งจุดตรวจการณ์ใหม่อย่างเร่งรีบ พลอยทำให้ปืนใหญ่ของฝ่ายไทยต้องเงียบเสียงลงชั่วเวลาหนึ่ง

    เวลาเดินทางผ่านพ้นไปเรื่อย ๆ จนใกล้ถึง 8.00 น.ทหารญี่ปุ่นทยอยขึ้นฝั่งมองเห็นเป็นแถวยาวเหยียด เป้าหมายปลายทางคือสนามบินสนามสงขลาซึ่งถูกยึดไปแล้ว กำลังบางส่วนโอบมาทางปีกซ้ายอันเป็นที่ตั้งยิงของปืนใหญ่ ป.พัน 13 ผู้บังคับกองพันต้องรีบแก้ปัญหา ด้วยการส่งกำลังพลสำรองจำนวน 1 หมวดเข้าไปช่วยป้องกัน ทว่าเรือพิฆาตญี่ปุ่นยังคงทำหน้าที่ตัวเองไม่หยุดหย่อน ด้วยการยิงถล่มที่ตั้ง ร.พัน 5 เขารูปช้างอย่างหนักหน่วง เพื่อเป็นการสนับสนุนทหารราบฝ่ายเดียวกัน ด้านแนวรบ ร.พัน 41 และ ป.พัน 13 ค่ายบ้านสวนตูลก็โดนยิงถล่มเช่นกัน ยังโชดดีอยู่ว่าปืนเรือถูกออกแบบให้ยิงวิถีราบเป็นหลัก กระสุนส่วนใหญ่จึงลอยข้ามหัวไปตกด้านหลังค่าย ครั้นจะยิงวิถีราบใส่แนวต้านทหารไทยตรง ๆ เลย ก็มีทหารฝ่ายเดียวกันเกะกะขวางทางอยู่เต็มหาด

      เรือพิฆาตชั้น Fubuki Group II ทำการระดมยิงชายฝั่ง

    ต่อมาไม่นานญี่่ปุ่นก็สามารถตั้งกองร้อยปืนใหญ่บริเวณสนามบินสงขลาได้ จึงเริ่มยิงถล่มใส่ทหารฝ่ายไทยมากขึ้น เครื่องบินรบบนท้องฟ้าจำนวนมากกว่า 20 ลำ ยิงปืนกลถล่มจุดตรวจการณ์เขารูปช้างตลอดเวลา แนวรบด้านนี้ทหารญี่ปุ่นประสบความยุ่งยากมาก เพราะที่ตั้งของทหารไทยอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่าค่อนข้างมาก และได้รับการสนับสนุนจากปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ซึ่งมีความคล่องตัวสุงเคลื่อนย้ายสะดวก การปะทะกันดุเดือดที่สุดอยู่ที่สามแยกถนนสายสำโรง-ทุ่งหวังเช่นเดิม ทหารจาก ร.พัน 41 ถูกตรึงให้กดหัวอยู่กับที่ ทั้งจากปืนใหญ่เรือและเครื่องบินรบ รวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนปืนใหญ่จาก ป.พัน 13 เพราะต้องย้ายจุดตรวจการณ์ไปที่ใหม่อีกครั้ง แต่ถึงจะโดนกดดันอย่างหนักแค่ไหนก็ตาม พวกเขาก็ยังเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ของกองทัพที่ 25 อยู่ดี

    ปืนใหญ่จาก ร.พัน 13 ทำการยิงได้อีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. พร้อมๆกับเครื่องบินญี่ปุ่นลำแรกลงจอดในรันเวย์สนามบินสงขลา เมื่อฝ่ายไทยยิงปืนใหญ่อีกครั้งฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่ยอมนิ่งเฉย จึงส่งฝูงบินมาทิ้งระเบิดใส่รังปืนใหญ่บ้าง โชดยังดีที่ระเบิดพลาดเป้าหมายหมดเพราะติดสวนมะพร้าว การรบที่เคยซาลงเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกครั้ง ครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นทหารที่อยู่แนวหน้าต้องร้องขอกำลังเสริม เพราะทหารญี่ปุ่นจำนวนมากดาหน้ากันเข้ามาหวังตีให้แตก ผู้บังคับการต้องส่งทหารช่วยรบที่เหลืออยู่ประมาณ 50 คนเข้าไปเสริมทัพ และเตรียมตัวในการถอนกำลังทั้งหมดไปยังบ้านทุ่งหวัง ซึ่งได้เตรียมไว้เป็นที่มั่นสำรองสุดท้ายไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมกันนั้นยังได้สั่งให้กองร้อยที่ 3 ร.พัน 13 ให้ถอนนตัวออกไปตั้งยิงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 8 เพื่อคุ้มกันการถอยทัพที่กำลังจะตามมาในอีกไม่นาน ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ขนาดปากลำกล้องปืนกว้าง 75 มม. มีขนาดกระทัดรัดผลิตโดยญี่ปุ่น ระยะยิงไกลสุดอยู่ที่ 6 กิโลเมตร สามารถใช้เทียมลากด้วยม้าได้จึงมีความคล่องตัวสุง การเคลื่อนย้ายจากเขารูปช้างไปยังที่ตั้งใหม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยความช่วยเหลือจากหมวดปืนกลหนักช่วยยิงคุ้มกันให้
  
    สถานการณ์ทหารไทยค่อนข้างแย่ลงไปทุกขณะ จำนวนกระสุนปืนชนิดต่างๆก็เริ่มก็ร่อยหรอมากขึ้น แต่ในความโชดร้ายก็ยังพอมีความโชดดีอยู่บ้าง เมื่อกระสุนปืนของอีกฝ่ายที่เคยหนาแน่นเริ่มน้อยลงทันตาเห็น ส่วนปืนใหญ่จากเรือและเครื่องบินบนฟ้าก็พลอยเงียบไปด้วย ญี่ปุ่นได้ทำการเปลี่ยนแผนอีกครั้ง โดยให้ทหารเดินเป็นแถวไปรวมพลที่สนามบินสงขลา เพื่อขึ้นโดยสารรถไฟตรงโค้งสนามบินซึ่งยึดมาก่อนหน้า การขนส่งทหารชุดแรกดำเนินไปอย่างรวดเร็ว นอกจากใช้ขบวนรถไฟในการเดินทางไปยังที่หมายแล้ว ญี่ปุ่นยังได้ยึดรถยนต์และรถประจำทางของคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นพาหนะสำหรับขนทหารไปยังแหลมมลายูต่อไป ความคิดที่จะหักด่านทหารไทยซึ่งยังคงขวางถนนเส้นหลักอยู่นั้น กลายเป็นจด ๆ จ้อง ๆ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อาจเป็นเพราะผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นต้องการลดความสูญเสียลง เนื่องจากภารกิจหลักของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่สงขลา หรือบางทีพวกเขาอาจรอให้มีผลการเจรจาเกิดขึ้น การปะทะกันในช่วงท้าย ๆ จึงลดความรุนแรงลงพอสมควร

    การเคลื่อนพลโดยรถไฟของทหารญี่ปุ่นอยู่ในสายตาทหารไทยตลอด เพียงแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดีเพราะมันถึงขีดสุดแล้ว ทหารทุกนายอยู่ในสนามรบไม่เว้นกระทั่งฝ่ายเสนาธิการ ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเองอย่างห้าวหาญเพื่อป้องกันประเทศ โชดยังดีที่สถานการณ์โดยรวมไม่เลวร้ายเหมือนรุ่งเช้า การรบพุ่งที่เคยดุเดือดเปลี่ยนไปเป็นหนังคนล่ะม้วน ยิ่งเวลาเดินไปมากเท่าไหร่การยิงกันก็ยิ่งน้อยลงตาม กลายเป็นว่าถ้าฝ่ายไทยไม่ยิงก่อนฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่ยิงตอบโต้ กระทั่งเวลาประมาณ 11.35 น. ได้มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชามณฑล 6 ค่ายนครศรีธรรมราช ให้เปิดทางให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปตามคำสั่งรัฐบาล การปะทะกันที่สงขลาจึงจบลงแต่เพียงเท่านี้

    ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ทหาร ร.พัน 41 เสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 22 นาย ทหาร ร.พัน 5 เสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 33 นาย ส่วนทหาร ป.พัน 13 ไม่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นกัน แต่ไม่ทราบจำนวนชัดเจน ทหารญี่ปุ่นมีความสูญเสียมากกว่าพอสมควร นั่นคือเสียชีวิตประมาณ 200 คน บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน
 

  ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 มีบทบาทสุงในการรบที่สงขลา

หลังสิ้นสุดการปะทะ

    คนญี่ปุ่นในสงขลาก็เหมือนกับปัตตานีและจังหวัดอื่นๆ ก่อนหน้านี้มีเพียงร้านหมอฟันแค่เพียงร้านเดียวร่วมสิบปี เวลาต่อมาจึงมีหมอรักษาโรคทั่วไปและหมอฟันเปิดร้านเพิ่มเติม ช่วงใกล้สงครามมีร้านขายถ้วยชามเปิดใหม่อีก 2 แห่ง คนที่มาทีหลังล้วนเป็นจารชนหรือมีส่วนช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2484 สงขลามีการซ้อมการป้องกันภัยทางอากาศ จัดเตรียมหลุมหลบภัยจากการทิ้งระเบิด รวมทั้งสร้างสนามบินแห่งใหม่เพิ่มริมชายหาดตรงข้ามบ้านด่าน  ทางราชการได้จัดตั้งกองอาสาสมัครขึ้น หวังใช้เป็นกำลังหนุนในยามฉุกเฉิน มีการฝึกใช้อาวุธที่ค่ายทหารบ้านสวนตูลด้วย ถือได้ว่าสงขลาเตรียมพร้อมรับมือญี่ปุ่นมากที่สุดแห่งหนึ่ง
  
    หลังหยุดยิงทหารญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงอยู่ร่วมกับคนไทย พวกเขามีแผนที่ตัวเมืองสงขลาอย่างละเอียด มีข้อมูลกระทั่งบ้านไหนมีรถยนต์กี่คันและรุ่นอะไร ทหารญี่่ปุ่นได้ใช้สถานที่ราชการทุกแห่งในตัวเมือง รวมทั้งอาคารบ้านเรือนของประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อดัดแปลงเป็นที่พักที่อาศัย โรงพยาบาล  ฐานบัญชาการ รวมทั้งเรือนรับรองแขก โรงเรียนมหาวชิราวุธถูกยึดไปทั้งหมด ทำให้นักเรียนไม่มีที่เรียนถึง 1 ปีการศึกษา ทางการไทยให้นักเรียนทุกคนสอบผ่านปีนั้นไปเลย จึงมืชื่อเรียกนักเรียนที่เรียนจบปีนี้ว่า "รุ่นม.6 นายพลโตโจ"

    ทหารญี่ปุ่นยังเป็นตัวนำโชคร้ายมาสู่ชาวสงขลาในภายหลัง เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งประกอบไปด้วยอังกฤษและอเมริกา ได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ใจกลางตัวเมืองกันเลยทีเดียว ระเบิดลูกแรกลงที่โบสถ์วัดใต้ (วัดดอนรัก ) มีประชาชนโดนลูกหลงเสียชีวิตทันที 1 คน ตามติดมาด้วยระเบิดลูกที่ 2 ลงตรงสี่แยกวัดเลียบ คราวนี้เป็นทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตบ้างจำนวน 2 นาย และมีการทิ้งระเบิดใส่ที่ตั้งทหารญี่ปุ่นอีกหลายครั้งหลายหน คนสงขลาต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงหวอเตือนภัยตลอดเวลา หลุมหลบภัยที่เคยขุดเตรียมไว้จึงได้ใช้งานกันอย่างทั่วถึง
  
    ทหารญี่ปุ่นจากกองทัพที่ 25 อยู่ที่เมืองสงขลาแค่เพียงไม่กี่เดือน ก็ได้ทำการเคลื่อนพลเข้าไปยังแหลมมลายูและสิงคโปร์ต่อไป ทว่าพอถึงปี 2487 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์การรบเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกสนามรบ ทหารจากแดนอาทิตย์อุทัยก็เริ่มทยอยเดินทางกลับมาที่สงขลา จะด้วยว่าถอยทัพกลับหรือเริ่มระแวงฝ่ายไทยมากขึ้นก็ตาม และอยู่ที่นี่จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง

    อังกฤษคำนวนว่าญี่ปุ่นใช้ทหารจำนวน 150,000 นาย ในการบุกเข้าโจมตีแหลมมลายูและสิงคโปร์ ทหารมากกว่าครึ่งขึ้นบกที่ชายหาดสงขลา จังหวัดที่สงครามโลกครั้งที่สองมาเยือนอย่างเต็มรูปแบบไม่น้อยหน้าใคร


บทส่งท้าย
  
    วิธีตั้งรับญี่ปุ่นขึ้นบกทั้งสองจุดแตกต่างกันอยู่พอสมควร ที่ปัตตานีมีทหารรบไม่พร้อมรบจำนวน 1 กองพัน การตั้งรังกลปืนที่ริมชายหาดน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะกำลังของอีกฝ่ายจะอยู่ในที่โล่งแจ้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงน่าจะสามารถต้านทานได้ระยะเวลาหนึ่ง ส่วนทางด้านสงขลามีทั้งจำนวนกำลังพลที่มากกว่า รวมทั้งอาวุธหนักเบาจำนวนเยอะกว่าหลายเท่า จึงให้ทหารราบจำนวน 2 กองพัน ตั้งด่านขวางเส้นทางหลักทั้ง 2 เส้นทางอย่างเร่งด่วน ถนนทั้ง 2 เส้นมุ่งไปยังแหลมมลายูซึ่งญี่ปุ่นต้องใช้อย่างแน่นอน โดยมีปืนใหญ่จากกองพันที่ 13 คอยสนับสนุนทั้ง 2 ด่าน และยกหน้าที่คุ้มกันชายหาดให้กับปืนใหญ่ทั้ง 8 กระบอก เมื่อปรากฎแน่ชัดว่าทหารญี่ปุ่นมีจำนวนหลายหมื่นคน การเลือกจุดตั้งรับเพียงจุดเดียวน่าจะทำให้ฝ่ายเราสูญเสียน้อยที่สุด
      

    ผู้เขียนขอจบบทความเรื่อง "สงครามโลกครั้งที่สอง : วันญี่ปุ่นขึ้นบก" ไว้เพียงเท่านี้ก่อน เนื่องจากกลัวว่ายาวเกินไปจนกลายเป็นตำราเรียนอันแสนน่าเบื่อ รายละเอียดส่วนที่เหลือจะตามมาในตอนต่อไปครับ รวมทั้งจัดเตรียมข้อมูลตอนอื่นที่ตั้งใจจะเขียนในภายหลัง ก่อนจากกันผู้เขียนขอออกตัวนิดหน่อย ว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลเท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ แต่ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ถูกต้องครบถ้วนทั้งหมด (ข้อมูลบางส่วนที่อาจผิดพลาด ต้องขออภัยล่วงหน้า) ขอบคุณที่ติดตามครับจนกว่าจะพบกันใหม่ ;)

                        ----------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Thailand_in_World_War_II
https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_invasion_of_Thailand
https://en.wikipedia.org/wiki/Pacific_War
http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711061&Ntype=15
http://www.navy.mi.th/newwww/document/history/royalnavy/chap506.htm
http://www.vcharkarn.com/forum/view?id=37386&section=forum&ForumReply_page=2
http://www.kananurak.com/mcontents/marticle.php?headtitle=mcontents&id=107113
http://www.khlong-u-taphao.com/index.php?file=article&obj=forum.view%28cat_id=at-gen,id=9%29
http://www.mtb42.mi.th/?name=page&op=%BB%C3%D0%C7%D1%B5%D4%A4%C7%D2%C1%E0%BB%E7%B9%C1%D2
http://blog.livedoor.jp/irootoko_jr/archives/975175.html
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5000.15
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Thailand_military_equipment_of_World_War_II
https://www.reddit.com/r/ColdWarPowers/wiki/thailand?v=4765eff8-9f8f-11e4-aaff-22000b368d04
https://en.wikipedia.org/wiki/Fubuki-class_destroyer
http://4.bp.blogspot.com/-IyNGHxOMbqA/VCf4mhG_1-I/AAAAAAAAuIA/F-4gTawerTc/s1600/10363577_509861209143676_7374725152890857868_n.jpg
http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711115
http://talung.gimyong.com/index.php?topic=134125.0
https://www.youtube.com/watch?v=oPdKeDV5qyk
บทความเรื่อง "เมื่อญี่ปุ่นบุกสงขลา" โดยท่านขุนศิลปกรรมพิเศษ หรือนายแปลก ศิลปกรรมพิเศษ
บทความเรื่อง "แผนตั้งรับญี่ปุ่นที่ปัตตานี" โดยกองทัพบกไทย
หนังสือโครงการ "มหาวชิราวุธกับสงครามโลกครั้งที่ 2"  โดยโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา

                        ----------------------------------------------------------------------------------------

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 10/06/2016 20:15:37


ความคิดเห็นที่ 3


ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ

โดยคุณ PATTON เมื่อวันที่ 11/06/2016 10:05:52


ความคิดเห็นที่ 4


ขอบคุณคร้าาบ คุณ superboy

โดยคุณ 8iam เมื่อวันที่ 11/06/2016 16:39:35


ความคิดเห็นที่ 5


ขอบคุณครับ ขออนุญาติโม้ถึงตอนต่อไปซักนิด เผื่อมีคนชอบอ่านและกดดันตัวเองไปในตัว ก็จะเป็น Japanese invasion of Thailand ตอนจบ และ Bombing of Bangkok ครับ เขียนเองสนุกเองมันส์เขาล่ะ ;)

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 12/06/2016 08:31:48


ความคิดเห็นที่ 6


ผมไปหยิบหนังเรื่อง "ยุวชนทหาร เปิดเทอม ไปรบ" ขึ้นมาดูอีกหนดีกว่า

โดยคุณ Naris เมื่อวันที่ 13/06/2016 09:50:35


ความคิดเห็นที่ 7


มีคำผิดนิดหน่อยเช่นเดิม ผมไล่แก้ในต้นฉบับแล้วแต่ตรงนี้ลืม แฮะ แฮะ... ไม่ได้ผิดมากจนความหมายเพี๊ยนอ่านรู้เรื่องครับ

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 13/06/2016 09:58:59


ความคิดเห็นที่ 8


ขอบคุณสำหรับบทความครับ เด๊่ยวจะรีบหาเวลาว่างมาอ่านให้จบ เยอะทีเดียวแฮะ

โดยคุณ MIGGERS เมื่อวันที่ 13/06/2016 11:05:14


ความคิดเห็นที่ 9


ตอนนี้อ่านถึงแค่ปัตตานี 

ยาวจัด ฮา

โดยคุณ toeytei เมื่อวันที่ 13/06/2016 14:24:00


ความคิดเห็นที่ 10


ขอบคุณครับ

โดยคุณ Akula เมื่อวันที่ 13/06/2016 20:46:09