ยกมือไหว้รอบวงวันหวยออกครับ ;) เห็นท่านกัปตันนีโมนีโมลงบทความแล้วผมทนไม่ได้ เอ๊ย..! เห็นว่าถึงกับวาระแล้วเลยเอาบทความใหม่ของตัวเองมาเผยแพร่ ต้นฉบับอยู่ตามลิงค์นี้ครับ ------> Link
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Republic of Korea Navy and Japan Maritime Self-Defense Force
กองทัพเรือเกาหลีใต้และกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น
เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็น2ประเทศที่ผ่านสงครามใหญ่ระดับโลกมาแล้วพร้อมความบอบช้ำ จนถึงทุกวันนี้ทั้งคู่ยังมีภัยคุกคามเกาะติดชายแดนตัวเองอยู่ ศัตรูที่รักตลอดกาลของเกาหลีใต้คือเกาหลีเหนือเพื่อนร่วมชาติที่ยังคงประกาศสงครามกันไม่เลิก นอกจากนี้ยังมีมหานครเซี่ยงไฮ้ของจีนอยู่ห่างออกไปแค่ทะเลขวางกั้น ยักษ์ตัวโตแหวกม่านไม้ไผ่ออกมาแล้วและแผ่อิทธิพลทางการทหารมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนประเทศญี่ปุ่นแม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงสงครามแล้วก็ตาม แต่ประเทศอยู่ห่างจากเกาหลีใต้ไม่ไกลเลยและอยู่ในรัศมีที่จรวดจากเกาหลีเหนือสามารถยิงถึงได้อย่างสบาย ทั้งยังถูกขนาบข้างจากจีนทางทะเลใต้และรัสเซียทางฝั่งทะเลเหนือ ซึ่งพวกเขาเคยมีกรณีพิพาทกันมาก่อนและยังมีพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันมาแต่ไหนแต่ไร
ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีภัยคุกคามที่เหมือนกันๆ ระบบอาวุธที่ใช้บนเรีอรบก็เหมือนๆกันและยังสนิทกับอเมริกามากเหมือนๆกันอีกด้วย ดูผิวเผินเหมือนทั้งคู่น่าจะสนิทสนมและร่วมมือกันป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิด ทว่าทั้ง2ประเทศในอดีตเคยมีความขัดแย้งกันมาก่อนจนกลายเป็นเรื่องจำฝังใจ ทำให้สิ่งที่ดูเหมือนจะง่ายกลับไม่ง่ายอย่างที่คิดซึ่งก็คงโทษใครไม่ได้นอกจากต้องโลดแล่นไปตามบทบาท บทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกองทัพเรือทั้ง2ประเทศในช่วงเวลาปัจจุบันและใกล้เคียงด้วยความชอบส่วนตัวล้วนๆ
เริ่มกันที่กองทัพเรือเกาหลีใต้ก่อนนะครับ ถึงนาทีนี้พวกเขามีเรือดำน้ำติดอาวุธจำนวน15ลำจากแผนการจัดหา18ลำ และอยู่ในช่วงเริ่มโครงการต่อเรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีก2ลำจากทั้งหมด9ลำ นอกจากนี้ยังมีเรือดำน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้ในการฝึกอีก2ลำ มีเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศระบบเอจิสอันทันสมัยจำนวน3ลำด้วยกัน เรือพิฆาตอเนกประสงค์อีก9ลำโดยที่6ลำหลังติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานSM-2และจรวดปราบเรือดำน้ำK-ASROC เรือรบทุกลำของเกาหลีใต้ต่อขึ้นโดยอู่ต่อเรือภายในประเทศ มีเพียงเรือกู้ภัย Pyeongtaek class เพียงลำเดียวที่ยังเป็นเรือต่อจากอเมริกา เมื่อเรือลำนี้ปลดระวางในอนาคตลงจะถูกแทนที่ด้วยเรือรุ่นใหม่ต่อเองในประเทศ น่าภูมิใจแทนนะครับที่อุตสาหกรรมหนักของเขาสามารถทำได้เองทั้งหมดและทำมานานแล้ว
Future Frigate eXperimental (FFX)
นอกจากเรือพิฆาตทั้ง12ลำซึ่งเป็นกำลังรบสำคัญแล้ว เกาหลีใต้มีโครงการต่อเรือฟริเกตรุ่นใหม่เพื่อนำมาทดแทนเรือเก่าๆเป็นจำนวนถึง18-24ลำ Future Frigate eXperimental (FFX) คือชื่อเต็มๆของโครงการนี้ เรือฟริเกต Incheon class ลำที่1ได้มีพิธีปล่อยลงน้ำในปี2011และเข้าประจำการในปี2013 และล่าสุดเรือลำที่6ได้ถูกปล่อยลงน้ำในวันที่11สิงหาคม 2015โดยอู่ต่อเรือ STX Offshore & Shipbuilding เรามาดูข้อมูลของเรือลำนี้กันครับ
Incheon class มีความยาว114เมตร กว้าง14เมตร ระวางขับน้ำเรือเปล่า2,300ตันและระวางขับน้ำสุงสุด3,250ตัน ระบบขับเคลื่อนแบบCODOG มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางจำนวน1ลำ ระบบอาวุธประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด127/62 1กระบอก จรวดต่อต้านเรือ SSM-700K Hae Sung 8ท่อยิงผลิตเอง แท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำชนิดแฝด3จำนวน2แท่นยิงใช้ตอร์ปิโดK745 LW Blue Sharkขนาด324มม.ผลิตเองในประเทศเช่นกัน ระบบอาวุธป้องกันตัวเองประกอบไปด้วยCIWSปืนอัตโนมัติรุ่นฟาลังซ์1ระบบ และCIWSจรวดรุ่นRAM ( Rolling Airframe Missile) จำนวน21ท่อยิงอีก1ระบบ ระบบเรดาร์ระบบอำนวยการรบและระบบโซนาร์มาจาก Samsung Thales และบริษัทในเครือ ติดตั้งระบบเป้าลวงจรวดจำนวน2ระบบ และเป้าลวงตอร์ปิโดแยกต่างหากอีก2ระบบ
มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยอ่านจบบางท่านอาจส่ายหัว เนื่องจากเรือไม่มีอาวุธจรวดระยะยิงไกลที่เราเรียกว่าลูกยาวเลยไม่ถูกใจจ๊อด เกาหลีใต้กำหนดให้เรือเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแต่ไม่มีจรวดK-ASROCที่ใช้ยิงจากระบบท่อยิงแนวดิ่ง กรณีนี้ผู้เขียนมองเหตุผลได้หลายประการ ข้อแรกเกาหลีใต้ต้องการเรือฟริเกต18-24ลำซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล จึงจำเป็นจะต้องมีการตัดทอนบางสิ่งบางอย่างบ้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ ข้อสองเรือทั้ง6ลำเป็นรุ่นแรกสุดพวกเขาต้องการให้เรือเข้าประจำการอย่างรวดเร็วและไม่มีปัญหาในการใช้งาน ฉะนั้นแล้วจึงยังไม่ต้องการติดอาวุธทันสมัยราคาแพงในBatch I อีกทั้งอาวุธจรวดที่จะนำมาใช้งานก็ยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จ ข้อสามเรือทั้ง18-24ลำจะถูกนำไปแทนเรือฟริเกตรุ่นเก่าที่มีขนาดเล็กกว่าพอสมควรจำนวน8ลำ รวมทั้งเรือคอร์เวตขนาด1,200ตันที่ยังประจำการอยู่อีก19ลำ เรือทั้งหมดที่จะถูกทดแทนไม่มีอาวุธจรวดต่อสู้อากาศยานหรือระบบCIWSทำงานอัตโนมัติแม้แต่ลำเดียว Incheon class Batch-I ผู้มาแทนที่จึงทันสมัยมากกว่าหลายขุม
ต่อกันไปเลยก็จะเป็นคิวของ FFX Batch-II ที่มีหน้าตาเหมือนกับเรือฟริเกตลำใหม่ของเราราวกับฝาแฝด เรือจำนวน8ลำจะถูกต่อจากอู่ต่อเรือแดวู(DSME)ทั้งหมด Incheon class Batch II ถูกปรับปรุงใหม่ทันสมัยมากขึ้น ติดตั้งระบบท่อยิงแนวดิ่งจำนวน2ชุด16ท่อยิง คาดว่าจะใช้สำหรับจรวดจรวดK-ASROCจำนวน8ท่อยิง และอาจจะเป็นจรวดต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง M-SAM Block II missile หรือ Cheongung ระยะยิงประมาณ40กม.ที่ใกล้สมบูรณ์แบบอีก8ท่อยิง ลานจอดท้ายเรือถูกขยายให้รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด10ตัน ติดตั้งระบบเรดาร์เรือและเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นใหม่กว่าเดิม ราคาเฉลี่ยต่อเรือ1ลำอยู่ที่ประมาณ300ล้านเหรียญ น่าจะมาจากจำนวนเรือที่มีมากถึง8ลำ การต่อเรือเองในประเทศ และอาจจะยังไม่ได้รวมราคาอาวุธบางอย่างเข้าไปด้วยผู้เขียนไม่แน่ใจ
FFX Batch-I ถูกำหนดให้เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ (Anti-Submarine Warfare Frigate) FFX Batch-II ถูกกำหนดให้เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ ( Mutiporpose Frigate) และ FFX Batch-III รุ่นถัดไปถูกกำหนดให้เป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ (Anti-Air Warfare frigate) จึงคาดได้ว่าจะมีการติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน M-SAM Block II รวมถึงจรวดรุ่นใหม่กว่ามีระยะยิงไกลกว่าเดิม(100-150กม.) FFX Batch-III เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานจึงยังไม่มีภาพต้นแบบของจริงให้ชมกัน เป็นโครงการที่มีพัฒนาการสุงมากน่าติดตามมากเราคงได้รู้กันในไม่ช้า
กองทัพเรือเกาหลีใต้ใช้บริการจากอู่ต่อเรือภายในประเทศหลายราย โครงการเรือฟริเกต Batch-I 3ลำแรกต่อที่ฮุนได (Hyundai Heavy Industries หรือ HHI) 3ลำถัดมาต่อที่STX Offshore & Shipbuilding ส่วนBatch-IIจำนวน8ลำต่อที่แดวู (Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering หรือ DSME) จึงไม่มีการผูกขาดทั้ง3อู่จะได้เทคโนโลยีที่ทัดเทียมกันและใช้เวลารวมทั้งหมดน้อยลงกว่าเดิม นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอู่ต่อเรือฮันจิน (Hanjin Heavy Industries) ซึ่งเคยแสดงฝีมือต่อเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกขนาด18,000ตันมาแล้ว สุดท้ายก็คืออู่ต่อเรือกังนัม (Kangnam corporation) ที่มีความถนัดด้านเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กไปจนถึงเรือล่าทุ่นระเบิด เท่ากับว่ากองทัพเรือเกาหลีใต้มีอู่ต่อเรือมาตราฐานรองรับถึง5รายด้วยกัน ฮุนไดที่เป็นอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและแดวูที่ใหญ่รองลงมาสามารถต่อเรือดำน้ำติดอาวุธขนาด3,500ตันได้ สรุปสั้นๆแช็งแกร่งสมบรูณ์แบบและน่าอิจฉามากครับ
MLS-II Project
ขอพาผู้อ่านไปยังกองเรือทุ่นระเบิดของเกาหลีใต้กันบ้าง ระบบอาวุธที่เคยได้รับความนิยมสุงมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่2 กระทั่งหลังสงครามเกาหลีจนถึงสงครามเวียตนามอาวุธชนิดนี้ก็เริ่มโรยราลง ปัจจุบันนี้เราจะหาชาติที่ให้ความสำคัญกับกองเรือทุ่นระเบิดเป็นลำดับ1ได้น้อยเต็มที แต่ก็ยังพอหาได้แถวๆยุโรปนะครับวันหลังผู้เขียนจะเขียนถึงเรื่องนี้บ้าง เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับสงครามทุนระเบิดมาก เพราะยังมีอีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่ให้ความสำคัญกับอาวุธชนิดนี้มากเช่นกัน ประเทศที่ว่าถึงก็คือเกาหลีเหนือของท่านผู้นำXXXนั่นเอง เกาหลีใต้มีเรือกวาดทุ่นระเบิดทันสมัยจำนวน9ลำด้วยกัน พร้อมกับเรือสนับสนุนและวางทุ่นระเบิดขนาด3,300ตันอีก1ลำ วันที่ 26 พฤษภาคม 2015 อู่ต่อเรือฮุนไดได้ทำพิธีปล่อยเรือสนับสนุนและวางทุ่นระเบิดลำใหม่ลงน้ำซึ่งก็คือ MLS-II หรือ Nampo Class เรือหมายเลข570มีความยาว114เมตร กว้าง 17เมตร ระวางขับน้ำ3,000ตัน เรือมีรูปร่างหน้าตาตามภาพนี้เลยครับ
ใช่แล้วครับ นี่คือเรือวางทุ่นระเบิดๆจริงผู้เขียนไม่ได้ลงภาพผิด รูปร่างหน้าตาผิวพรรณเหมือนกับเรือฟริเกต Incheon class ไม่มีผิดเพี๊ยนเพราะใช้แบบเรือเดียวกันมาปรับปรุง ระบบเรดาร์และโซนาร์เหมือนกันทั้งหมดยกเว้นเป้าลวงจรวดเปลี่ยนไปใช่รุ่นอื่น ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด76/62มม.ผลิตเองในประเทศ และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแฝด3ท่อยิงอีก2แท่นยิง หลังปล่องควันติดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ออกแบบให้สามารถติดตั้งระบบแท่นยิงแนวดิ่งได้4ท่อยิง สามารถใส่จรวดต่อสู้เรือดำน้ำK-ASROCหรือจะเป็นจรวดต่อสู้อากาศยาน M-SAM Block IIได้ นับเป็นเรือวางทุ่นระเบิดที่ทันสมัยและมีพิษสงรอบตัวจัดจ้าน เรือลำนี้สามารถบรรทุกทุ่นระเบิดไปได้ประมาณ500ลูก แบ่งพื้นที่ภายในตัวเรือเป็นพื้นที่จัดเก็บไว้อย่างปลอดภัย โครงการนี้ต่อแค่เพียง1ลำก่อนและอาจจะสั่งเพิ่มในอนาคตอีกประมาณ4-5ลำ พวกเขายังมีโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ล่าทุ่นระเบิดรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้กองเรือทุ่นระเบิดเกาหลีใต้มีความพร้อมในการทำสงครามทุ่นระเบิดได้ครบทุกมิติ
LST-II project , Landing Platform Experimental (LPX), and Marine Corps Plan 307
ย้อนกลับไปเพียงปีเดียวได้มีพิธีปล่อยเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่ลงน้ำ เรือ LST 2 หรือ Cheon Wang Bong class มีระวางขับน้ำ4,950ตัน และระวางขับน้ำสุงสุดประมาณ7,000ตัน ความเร็วสุงสุด18น๊อต ระยะทำการ8,000ไมล์ทะเลที่ความเร็ว12น๊อต ติดอาวุธปืนกลขนาด40มม.ลำกล้องคู่ผลิตเองในประเทศ ปืนกลขนาด20มม.อีก2กระบอก และระบบเป้าลวงของ Rheinmetallอีก2ระบบ สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ไปได้จำนวน2ลำ รองรับทหารและยุทธปัจจัยจำนวน300นาย เรือจำนวน4ลำจะถูกสร้างขึ้นภายในปี2017และทยอยเข้าประการในเวลาต่อไป ทำให้กองทัพเรือเกาหลีใต้มีเรือ LST(Landing Ship Tank) ที่สามารถนำหัวเรือเทียบฝั่งเพื่อขนส่งรถถังหลักได้เป็นจำนวนถึง8ลำด้วยกัน
กองเรือยกพลขึ้นบกของเกาหลีใต้มีเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบหรือ Landing Platform Helicopter (LPH) ขนาด18,800 ตันอยู่แล้ว1ลำ Dokdo Class ถูกออกแบบให้ติดระบบเรดาร์สุดทันสมัยและอาวุธป้องกันตัวชั้นดี เรือลำที่2อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะปล่อยลงน้ำได้ภายในปี2018 นั่นหมายอีกเพียงไม่กี่ปีเหล่าคอหนังจำนวน29,000นายจะมีเรือสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นอีก1เท่าตัว นาวิกโยธินเกาหลีใต้เองก็มีแผนพัฒนาขนาดใหญ่เช่นกันโดยใช้ชื่อว่า Plan 307 มีทั้งปืนใหญ่อัตราจรขนาด155มม.รุ่นใหม่ จรวดต่อสู้รถถัง จรวดต่อสู้อากาศยานระยะสั้น จรวดเอนกประสงค์ขนาด130มม เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงสะเทินน้ำสะเทินบกรุ่นใหม่ 32ลำ รวมถึงเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นAH-1S Cobra พร้อมปรับปรุงใหม่ที่ได้รับการโอนมาจากกองทัพบกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ทั้งนั้นกองทัพบกเกาหลีใต้ได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นใหม่ AH-64D Block III Apache Longbows จำนวน36ลำวงเงิน3.6พันล้านเหรียญและเริ่มส่งมอบแล้วจำนวนหนึ่ง Apacheเอาชนะ AH-1Zจากอเมริกาเช่นกันไปได้ทั้งที่ลำหลังใช้วงเงินเพียง2.6พันล้านเหรียญเท่านั้น อาจเป็นเพราะเฮลิคอปเตอร์ติดตั้ง Longbow Radar เข้าไปด้วยราคาจึงโดดสุงขึ้นจนน่าใจหาย ในโครงการนี้ AgustaWestland T-129 จากอิตาลีก็เขาประกวดเช่นกันแต่ชิงตกรอบแรกไปก่อน AH-64D Apache ของกองทัพบกอังกฤษสามารถใช้งานบนเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นยกดาดฟ้าเรียบได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังเคยออกปฎิบัติการจริงที่ลิเบียมาแล้วอย่างโชกโชนโดยไม่มีปัญหาติดขัด ผู้อ่านพอจะคาดเดาสิ่งที่อยู่บนดาดฟ้ากว้างๆของเรือ Dokdo ในอนาคตได้แล้วใช่ไหมครับ
หน้าที่หลักโดยทั่วไปของเหล่าคอหนังก็คือยกพลขึ้นบกรักษาพื้นที่เอาไว้ก่อนส่งมอบให้กองทัพบกอีกที นาวิกโยธินเกาหลีใต้เองก็ไม่ต่างกันกับทุกๆประเทศ พวกเขามีหลักนิยมในการใช้เรือยกพลขึ้นบกแบบLSTเข้าจอดเกยหาดเพื่อปล่อยรถถังหลักที่ขนมาด้วย โดยมีเรือLPHบรรทุกเฮลิคอปเตอร์และเรือระบายพลขนาดกลางคอยสนับสนุนอยู่ชายฝั่งไม่ไกลนัก เกาหลีใต้ยังไม่มีแนวคิดจัดหาเรือยกพลขึ้นบกมีอู่ลอย หรือ Landing Platform Dock (LPD) แบบที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะใน ดูเหมือนว่าเกาหลีใต้กำหนดขอบเขตการรบของนาวิกโยธินไว้ไม่ไกลมาก ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลเพราะเกาหลีเหนือมีพื้นที่ติดกันและจีนก็อยู่ห่างออกไปนิดเดียว
Patrol Killer Experimental (PKX)
เรามาที่เรือตรวจการณ์ขนาดเล็กแต่มีความสำคัญมากกันบ้างนะครับ พวกเธอเป็นม้างานหลักที่คอยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่สุ่มเสี่ยงทุกวัน เรือตรวจการณ์ของเกาหลีใต้เคยเข้าปะทะกับเรือเกาหลีเหนือมาแล้ว ถึงขั้นเอาเรือไล่ชนกันแล้วใช้ปืนบนเรือระดมยิงใส่ในระยะประชิด กองทัพเรือเกาหลีใต้เริ่มพัฒนาโครงการPKXในปี2003 เพื่อนำมาแทนที่เรือตรวจการณ์รุ่นเก่าๆทั้งหมดรวมถึงเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีที่ล้าสมัยไปแล้ว พวกเขาเริ่มจากเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาด500ตันที่รู้จักกันในชื่อ PKG-A จำนวนทั้งหมด18ลำ จากนั้นจึงเป็นคิวของเรือตรวจการณ์ปืนขนาด200ตันหรือ PKG-B อีก24ลำในภายหลัง
Gumdoksuri class patrol vessel ลำที่1ทำพิธีปล่อยลงน้ำในปี2007และเข้าประจำการในปี2008 PKG 711 Yoon Youngha ถูกนำมาทดสอบการใช้งานจริงเพื่อหาข้อบกพร่องอยู่ประมาณ1ปีเต็ม และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงเรือลำอื่นๆต่อไปทันที พวกเขาใช้เวลา6ปีและ2อู่ต่อเรือในการสร้างเรือจำนวน16ลำเข้าประจำการ นับไปนับมาจึงพบว่ายังมีเรือที่ไม่ได้ส่งมอบอีก1ลำ ผู้เขียนเดาว่าเนื่องมาจากวันที่25พฤษจิกายน 2013 ได้มีเรือลำหนึ่งที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์อยู่ได้ประสบอุบัติเหตุจมลง สาเหตุเนื่องมาจากโดนคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าใส่เรือตลอดเวลา จนในที่สุดเรือก็จมลงไปในน้ำสุงถึงหอบังคับการเสียหายหนัก โชดยังดีที่ไม่มีใครเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนั้น
Gumdoksuri class มีความยาว63เมตร กว้าง9เมตร ระวางขับน้ำปรกติ430ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่570ตัน ใช้ระบบขับเคลื่อนCODOGพร้อมWaterJet สามารถทำความได้สุงสุดถึง41.5น๊อต ติดอาวุธปืน76/62มม.รุ่นผลิตเองในประเทศ1กระบอก ปืนกล40มม.ลำกล้องคู่รุ่นผลิตเองในประเทศ1กระบอก จรวดต่อต้านเรือ SSM-700K Hae Sung จำนวน 4นัด นอกจากนี้ยังสามารถติดจรวดต่อสู้อากาศยานขนาดเล็กได้อีกด้วย มีระบบเรดาร์ตรวจการณ์3มิติที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสุง ควบคุมปืนด้วยเรดาร์ควบคุมการยิง SAAB Ceros200 และ Thales electro-optical targeting ระบบเป้าลวง KDAGAIE Mark 2 จำนวน2ชุด ระบบสงครามอิเลคโทรนิค LIG Nex1 Sonata SLQ-200(V)K ECM suite สุดท้ายเป็นระบบติดต่อสื่อสารที่มีทั้งSatCom Link11 และLink16 รูปทรงของเรือช่วยลดการตรวจจับของเรดาร์ลงได้พอประมาณ เป็นเรือตรวจการณ์ที่ผู้เขียนเมื่อยมือมากกว่าจะบรรยายครบ แต่เป็นเรือที่จะต้องเขียนถึงให้ได้เพราะเรือตรวจการณ์ติดจรวดของเขาติดอุปกรณ์ป้องกันตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะยัดลงไปได้ แนวความคิดที่ว่าเอาเรือต.994ของเรามาติดจรวดเข้าไปเท่ากับหาเรื่องใส่ตัว เพราะเรือไม่มีอะไรใช้ป้องกันตัวจากจรวดกระทั่งเรดาร์ตรวจการณ์ดีๆหน่อยก็ยังไม่มีเลย Gumdoksuri classมีราคาเฉลี่ยต่อเรือ1ลำอยู่ที่37.7ล้านเหรียญ แต่ราคารวมเมื่อติดอาวุธพร้อมรบคงโดดสุงขึ้นพอสมควร
Korean Attack Submarine program
กองเรือดำน้ำเกาหลีใต้ประกอบไปด้วยเรือดำน้ำขนาด1,200ตัน KSS-I Chang Bo-go หรือ Type-209 จำนวน 9ลำ และเรือดำน้ำขนาด1800ตัน KSS-II Son Won-Il หรือType 214 AIP อีกจำนวน9ลำ ซึ่งลำที่6เพิ่งปล่อยลงน้ำในเดือนพฤษภาคมปีนี้เอง นอกจากนี้แล้วพวกเขายังได้เริ่มโครงการ Jangbogo III programme โดยแดวูจะสร้างเรือดำน้ำ KSS-III Batch-I จำนวน2ลำแล้วเสร็จภายในปี2018และเข้าประจำการภายในปี2022 ต่อจากนั้นจะเป็นคิวของฮุนไดบ้างกับเรือดำน้ำ KSS-III Batch-II จำนวน3ลำ ปิดท้ายกันด้วยเรือดำน้ำKSS-III Batch-III จำนวน4ลำท้ายสุดที่ยังไม่ได้กำหนดอู่ต่อเรือแต่ต้องการให้แล้วเสร็จภายในปี2029
ข้อมูลคร่าวๆของ KSS-III Batch-I ก็คือมีความยาว 83.5เมตร กว้าง9.6เมตร ระวางขับน้ำที่ผิวน้ำ 3,358 ตัน ระวางขับน้ำขณะดำน้ำ 3,705ตัน ใช้ระบบโซนาร์จากThalesและอาจมีของLIG Nex1จากเกาหลีใต้ผสมด้วย ใช้ระบบแบตเตอร์รี่ลิเธียมไอออนรุ่นใหม่ที่พัฒนาเอง นอกจากท่อยิงตอร์ปิโดที่หัวเรือแล้วยังมีระบบท่อยิงแนวดิ่งบริเวณกลางเรือค่อนไปทางท้ายจำนวน6ท่อยิง เข้าใจว่าสำหรับติดตั้งจรวดร่อนระยิงไกลที่LIG Nex1กำลังพัฒนาอยู่ ข้อมูลบางอย่างยังไม่มีความชัดเจนคงต้องรอจนกว่าเรือจริงจะเข้าประจำการ
KS 500A Midget Submarine
นอกจากเรือดำน้ำพิฆาตที่เป็นกำลังหลักแล้วเกาหลีใต้ยังมีเรือดำน้ำขนาด175ตันสำหรับฝึกอีก2ลำ เนื่องมาจากใช้งานมาพอสมควรแล้วจึงได้จัดหาเรือรุ่นใหม่มาทดแทน KS 500Aคือเรือดำน้ำรุ่นใหม่มีความยาว 37 เมตร กว้าง 4.5 เมตร ระวางขับน้ำที่ผิวน้ำ 510 ตัน ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอร์รี่ลิเธียมไอออนจำนวน 2 ชุด สามารถติดตั้งFlexible Payload Module(FPM) หรือช่องสำหรับปล่อยชุดปฏิบัติการพิเศษ นักประดาน้ำไปจนถึงยานใต้น้ำได้ ติดตั้งตอร์ปิโดขนาด533มม.2ท่อยิงและ 324มม.อีก4ท่อยิง พร้อมระบบโซนาร์เทคโนโลยีเยอรมันยกชุด
เรือลำแรกจากความต้องการ5ลำเริ่มสร้างแล้วแต่แทบไม่มีข่าวเลย ปีนี้เองฮุนไดได้เสนอแบบเรือดำน้ำ HDS-500RTN กับกองทัพเรือไทย ซึ่งคาดว่าเป็นรุ่นดัดแปลงมาจาก KS 500A โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นระบบขับเคลื่อน เป็นเรือดำน้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดและมีโอกาสน้อยที่สุดเช่นกัน ถึงนาทีนี้โอกาสที่ว่านั่นก็หมดลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง คาดว่าฮุนไดจะเสนอเรือดำน้ำแบบเดียวกันให้กับกองทัพฟิลิปปินส์ในอนาคต
Future developments
นอกจากโครงการต่างๆที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันแล้ว กองทัพเรือเกาหลีใต้ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะเกิดหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โครงการสำคัญอาทิเช่น KDX-II A ซึ่งเป็นการนำเรือพิฆาต Chungmugong Yi Sun shin class หรือ KDX-II มาขยายขนาดและติดเรดาร์ทันสมัยสำหรับภาระกิจป้องกันภัยทางอากาศ ข้อมูลจากปี2009ระบุว่าเรือจะมีขนาด5,600ตันและมีจำนวนรวมอยู่ที่6ลำ โดยจะติดระบบเอจิสและเรดาร์SPY-1อันทันสมัยจากอเมริกา ทว่าในปีที่แล้วนี้เองก็มีแบบเรือที่ใหม่กว่าติดตั้งเรดาร์ของThalesมาจัดแสดงด้วย ตามความต้องการเดิมเรือลำแรกจะแล้วเสร็จภายในปี2019 แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นตามแบบเรือล่าสุดจริงหรือไม่
เกาหลีใต้ได้กำหนดความต้องการเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กไว้ที่2ลำในปี2036 ค่อนข้างนานมากจนไม่สามารถเดาแบบเรือรูปร่างหน้าตาหรือระวางขับน้ำได้เลย มีข้อมูลว่าเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบ Dokdo Class ลำที่2จะติดตั้งสกีจัมพ์บริเวณหัวเรือด้วย จึงสามารถรองรับเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้นได้ที่ในปัจจุบันนี้เหลืออยู่เพียงรุ่นเดียวก็คือF-35B คงต้องรอไปอีกซักพักถึงจะรู้ว่ามีอะไรติดตั้งอยู่บนเรือจริงบ้าง
มองภาพรวมในอนาคตของกองทัพเรือเกาหลีใต้ พวกเขาจะมีเรือฟริเกตขนาด3,000ตันจำนวน18-24ลำเป็นกำลังรบหลักในการป้องกันประเทศเป็นด่านแรก โดยมีเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาด500ตันจำนวน18ลำ และเรือตรวจการณ์ปืนขนาด200ตันจำนวน24ลำในภาระกิจลาดตระเวณในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ส่วนในด้านภาระกิจลาดตระเวณในพื้นที่สำคัญทางเศรษกิจ ค้นหากู้ภัยผู้ประสบเหตุ และบังคับใช้กฎหมายทางทะเลกับเรือที่กระทำความผิดเป็นหน้าที่ของหน่วยยามฝั่ง Korea Coast Guard เหมือนกับอีกหลายสิบประเทศ เรือทั้งหมดของหน่วยยามฝั่งติดอาวุธปืนกล40มม.และปืนกล20มม.เท่านั้น เมื่อมีความเสี่ยงในการเกิดการปะทะหรือพบการบุกรุกน่านน้ำอย่างจงใจจากเรือรบต่างชาติ พวกเขาจะรีบถอนตัวและส่งหน้าที่ให้กับกองทัพเรือเกาหลีใต้ต่อไป
อย่างที่ทราบดีกันว่าภัยคุกคามหลักของเกาหลีใต้ก็คือเกาหลีเหนือ และภัยคุกคามทางทะเลที่สำคัญอันดับแรกสุดก็คือเรือดำน้ำขนาดเล็ก เรือดำน้ำพวกนี้มีระวางขับน้ำประมาณ100-150ตันแต่มีพิษสงรอบตัว สามารถเล็ดลอดเข้ามาสร้างอันตรายหรือลำเลียงหน่วยแทรกซืมเข้ามาส่งถึงชายฝั่งได้ นอกจากเรือดำน้ำขนาดเล็กแล้วเกาหลีเหนือยังมีเรือดำน้ำเก่า Romeo class อีกประมาณ22ลำ และเริ่มโครงการเรือดำน้ำรุ่นใหม่ขนาดประมาณ1,500ตันซึ่งมีข่าวว่าสร้างเสร็จแล้ว1ลำ ภัยคุกคามที่สำคัญรองลงไปก็คือจรวดพื้นสู้พื้นระยะปานกลางและระยะไกล รวมทั้งจรวดต่อต้านเรือรุ่นใหม่เอี่ยมที่เกาหลีเหนือเพิ่งพัฒนาเสร็จ เรือรบทุกลำของเกาหลีใต้จึงต้องติดอาวุธและระบบป้องกันตัวอย่างเต็มที่รวมถึงเรือช่วยรบด้วย ที่เป็นข่าวดีอยู่บ้างก็คือกองเรือผิวน้ำของเกาหลีเหนือมีขนาดค่อนข้างเล็กและมีแต่เรือเก่าๆไม่ค่อยทันสมัย กองเรือผิวน้ำเกาหลีใต้มีความสามารถรับมือได้อย่างสบายมาก
แม้ภัยคุกคามจะมาจากใต้น้ำเป็นหลักแต่เกาหลีใต้เองก็ไม่ได้ประมาท เพราะภัยคุกคามที่ลอยมาจากฟ้าก็เริ่มมีมากขึ้นทุกวันทุกวัน ปัจจุบันนี้พวกเรามีเรือพิฆาตติดจรวดต่อสู้อากาศยานจำนวน12ลำก็จริง แต่ทว่าเป็นเรือที่ติดระบบเอจิสอันทันสมัยและเป็นเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศจริงๆแค่เพียง3ลำ KDX-IIA คือโครงการที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องนี้ได้อย่างดี โดยมีราคาที่ไม่แพงเกินไปและเป็นไปตามนโยบายพึ่งพาตัวเอง ขณะเดียวกันอาวุธสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างเรือดำน้ำก็มีการสร้างเข้าประจำการจนใกล้ครบแล้ว ส่วนโครงการเรือดำน้ำ KSS-III ก็เริ่มต้นเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตเมื่อเรือดำน้ำ KSS-III ที่สามารถบรรทุกจรวดพื้นสู่พื้นระยะปานกลางและระยะไกลเข้าประจำการครบ พวกเขาจะมีความพร้อมในด้านยุทธวิธีครบทุกมิติโดยสมบูรณ์แบบ
ภัยคุกคามนอกเหนือจากนี้ยังคงคลุมเคลืออยู่ ประเทศจีนที่น่าจะเป็นของหนักก็ยังดูไม่ชัดเจนเท่าไหร่ แม้ว่าจีนจะมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับเกาหลีเหนือถึงขนาดเคยส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยรบในสงครามเกาหลีด้วยก็ตาม ทว่าความสัมพันธ์กับท่านผู้นำXXXในตอนนี้ช่างดูเปาะบางเสียเหลือเกิน ยิ่งตอนนี้จีนมีคนจองกฐินเยอะมากจะด้วยฝีมือตัวเองหรือผีจับยัดให้ก็แล้วแต่ ทำให้จีนยังคงรักษาความสัมพันธ์ระดับประเทศกับเกาหลีใต้ในระดับเดิมต่อไป ประเทศญี่ปุ่นที่เคยรบพุ่งกันหลายครั้งจนมองหน้ากันไม่ติด แม้ทั้งสองชาติจะเหม็นขี้หน้ากันอยู่บ้างแต่ถึงขั้นยิงกันเองคงเกิดได้ยากมาก ทั้งคู่เคยผ่านสงครามใหญ่มาแล้วและรู้ดีว่าถ้าอยากรอดจะต้องไม่สร้างศัตรูรอบด้าน ภัยคุกคามหลักของเกาหลีใต้ในเวลานี้ก็ยังคงเป็นศัตรูอันเป็นที่รักเพียงอย่างเดียว
เขียนมาถึงตรงนี้ผู้เขียนยังไม่ได้เอ่ยถึงกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นแม้แต่น้อย แต่จำเป็นจะต้องจบบทความนี้เอาดื้อๆให้เสียอารมณ์เล่น สาเหตเนื่องมาจากเนื้อหามีความยาวเยอะไปนิด ข้อมูลของฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าเกาหลีใต้แต่อย่างใด ผู้เขียนสัญญาว่าจะพยายามต่อภาค2ให้จบโดยเร็วถ้าไม่มีคิวลัดคิวแทรก ขอบคุณมากครับที่ติดตามจนกว่าจะพบกันใหม่
-----------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
http://thaimilitary.blogspot.com/2015/08/republic-of-korea-navy-and-japan.html
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_Republic_of_Korea_Navy_ships
http://www.navyrecognition.com/index.php?option=com_content&task=view&id=2979
http://www.marinelink.com/news/minelayer-launches-koreas391923.aspx
http://www.janes.com/article/52547/south-korea-debuts-indigenous-lst-in-amphibious-drill
http://english.yonhapnews.co.kr/national/2015/07/30/0301000000AEN20150730002700315.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Japan_Maritime_Self-Defense_Force
ข้อมูลเพิ่มเติมของเรือLSTลำใหม่ก็คือ ในช่วงแรกของโครงการพวกเขาต้องการแบบเรือเหมือน Newport Class ซึ่งเปิดหัวเรือแล้วปล่อยรถจากดาดฟ้าไม่ใช้ใต้ท้อง แต่มีราคาสุงเกินไปจึงเปลี่ยนมาเลือกแบบที่ต่อขึ้นมาจริง ซึ่งดูจากภาพแล้วด้านท้ายเรือมีช่องเปิดให้รถหุ้มเกราะลอยน้ำใช้ขึ้นลงและไม่มีอู่ลอยเหมือนNewport Classนั่นแหละ ราคาเฉลี่ยต่อลำอยู่ที่62.5ล้านเหรียญไม่ทราบเหมือนกันว่าถูกหรือแพง ไว้รอดูตอนซ้อมรบแล้วกันนะครับว่าเรือLSTรูปแบบใหม่ลำนี้ทำอะไรได้บ้าง จะว่าไปแล้วถ้าใส่อู่ลอยเข้าไปท้ายเรือก็คือเรือLPDดีๆนี่เอง ส่วนตัวผมชอบเรือขนาดประมาณนี้นะเพราะไม่ชอบเรือใหญ่ชนิดขนไปได้หมดทั้งกองพัน เนื่องจากคืบก็ทะเลศอกก็ทะเลถ้าเรือเสียหายหรือเครื่องยนต์พังเท่ากับกองพันอีซี่หายไปจากการรบเลย
Newport Class กับการเปิดหัวเรือ
Cheon Wang Bong class LST
บทความดีมากครับ ข้อมูลแน่นจริงๆ
หลังจากเหตุการณ์เรือปืนเกาหลีเหนือ-ใต้ยิงใส่กัน 3 ครั้ง
จมเรือโชนัน รวมถึงการยิงถล่มเกาะยอนพยอง
เกาหลีใต้ต้องเร่งพัฒนากองเรือของตน
เพราะระยะหลังภัยคุกความทางทะเลของเกาหลีเหนือ มีโอกาสเกิดขึ้นสูง
นอกเรื่องนิดนึง
มีภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์การปะทะทางเรือของเกาหลีเหนือ-ใต้ ครั้งที่ 2
เรื่อง northern limit line (NLL) หนังปีนี้แหล่ะ น่าจะหาดูได้ตามเวปนะครับ
ดูแล้วก็ยังงงว่าเรือเกาหลีเอาเรือลำเลียงไปทำไรบนดาดฟ้า สรุปเรือน้ำเป็น lpd หรือ lst
ปกติ lst สามารถลำเลียงยานยนต์ขึ้นหาดได้โดยตรงโดยการเปิดหัวเรือ (หรือกรณี newport class มีแรมป์ให้วิ่งลง) แต่ของเกาหลีนี้เหมือนต้องเอาเครนยก lcu ลงน้ำแล้วค่อยวิ่งเข้าหาด อย่างนั้นใช้เป็นอู่ลอยข้างหลังแบบ lpd ไม่ดีกว่าหรือ เพราะเท่าที่ดูไม่สามารถเปิดหัวได้เพราะมี bulbous bow แปลว่าไม่สามารถเข้าประชิดหาดได้
สรุปมันเป็นเรือ lpd ที่ไม่มีอู่ลอยหรืออย่างไร หรือว่ามี เพราะเรือนี้ใหม่ รูปน้อย ผมหารูปด้านท้ายไม่เจอ
ตามความเข้าใจของผมเรือLPDจะต้องมีอู่ลอยทุกลำเพราะเป็นที่มาของ d=dock
เรือNewport ไม่มีอู่ลอยแต่มีประตูไว้ปล่อยยานเกราะให้วิ่งลอยน้ำไปขึ้นฝั่งได้
ส่วนเรือเกาหลีภาพชัดจะเห็นประตูด้านขวามือตรงใต้เครนซึ่งพอจะขนรถคันเล็กๆลงได้แต่รถถังไม่น่าไหว
มาดูท้ายเรือนะครับ มีแต่ภาพตอนก่อสร้างก็ดูยากอยู่เหมือนกัน ตามข้อมูลมันไม่มีอูลอยแต่จะเป็นประตูเปิดได้หรือเปล่าเนี่ยสิ คือถ้าเรือวิ่งไปใกล้ชายฝั่งตรงที่น้ำลึกซัก8เมตร แล้วปล่อยรถถังให้ดำน้ำมาขึ้นฝั่งโดยใช้อุปกรณ์ช่วยมันก็พอกล้อมแกล้มน่ะนะ แต่ถ้าไม่มีประตูหลังก็คงใช้ขนของและยานยนต์ขนาดเบา(เกาหลีมันทำอะไรของมันฟระ)
ตามความเข้าใจของผม LST คือต้องปล่อยยานยนต์ลงหาดโดยตรงได้ เกยหาดว่ายังงั้น เช่นรล.สุรินทร์
ส่วน LPD เรืออยู่ห่างจากฝั่งแล้วปล่อยยานลูกว่ายป๋อมแป๋มๆออกมา ซึ่งก็ปล่อยออกอู่ลอยนั่นแหละ
ผมเลยจัดให้เรือ Newport Class เป็น LST ส่วนเกาหลีนี่เป็นอะไรไม่รู้ ถ้ามีอู่ลอยก็เป็น LPD ธรรมดาๆนี่แหละ เรื่องประตูข้างน่าจะสำหรับยานยนต์วิ่งขึ้นลงท่าเทียบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีกันหมดทั้ง LPD และ LST
แต่เท่าที่ผมเข้าใจคือสมัยใหม่จะไม่มีการสร้าง LST กันแล้วเพราะอันตรายกับการเอาเรือใหญ่ไปเข้าใกล้หาดขนาดนั้น จึงหันมาเป็น LPD ถ้าบ้าพลังหน่อยก็ LHA/LHD นู่น
เรือLSTยังมีขายนะครับ นาทีนี้เลยDamenมี3รุ่นคือ LST80 LST100และLST120 แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า Landing Ship Transport และไม่มีภาพขนรถถังนำเสนอเลย หน้าตาคล้ายๆเกาหลียกเรือระบายพลขึ้นมาบ้างบนเหมือนกันด้วย สิ่งแตกต่างคือมีประตูหน้าและประตูท้ายส่วนLST-II มีแต่ประตูข้างและอาจจะมีประตูท้าย จะเห็นได้ว่าเรือมันอ้วนและสั้นกว่าเรือหลวงสุรินทร์พอสมควร ตามแบบเรือรุ่นใหม่ที่อเนกประสงค์มากขึ้น
เรือของอินโดที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน มีประตูหน้าและพื้นที่บรรทุกผู้โดยสารเยอะมากขึ้น
เรือตุรกีที่ได้แบบเรือและเริ่มก่อสร้างแล้ว มีประตูหน้าและประตูข้างและรถถังกำลังปีนขึ้น ก็ไม่รู้ว่าของจริงจะทำได้ไหม ถ้าทำได้เกาหลีล่ะทำได้หรือเปล่า
นี่คือเรือ Osumi LST4001 ของญี่ปุ่น เอ่อ..... มีอู่ลอยไม่มีประตูหน้าดาดฟ้าเรียบ ประเทศแถวนั้นคงชอบชื่อLSTกระมังไม่ก็เพี๊ยนกันไปแล้ว
ลำสุดท้ายเว็บไซค์รัฐบาลสิงคโปร์ เรียกว่าEndurance-Class Landing Ships Tankนะครับ มีอู่ลอยมีประตูหน้ามีทุกอย่างครบ
ภาพจาก FB Republic of Korea Navy เรือลำใหม่ออกงานแรกแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปแล้ว 9 วันกระทู้นี้ยังอยู่อันดับที่ 5 +__+