อาหรับกับอิสราเอล ได้ทำสงครามกันอีกครั้งในปี 1973 เหตุเพราะอียิปต์กับ ซีเรียต้องการได้คืนดินแดน ที่อิสราเอลได้ยึดครองเอาไว้ ตั้งแต่ครั้งสงคราม 6 วันในปี 1967
ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียอย่างหนัก แต่อิสราเอลก็ยังคง รักษาดินแดนยึดครองเอาไว้ได้
เหตุที่ความขัดแยังครั้งนี้ระเบิดขึ้นในวันสำคัญทางศาสนาของ ชาวยิว คือวันโยมคิปปูร์ (Yom Kippur) อิสราเอลจึงเรียกสงครามครั้งนี้ว่า สงครามโยมคิปปูร์ ในขณะที่ชาวอาหรับเรียกว่าสงครามเดือนตุลาคม หรือสงครามรอมฎอน (Ramadan War)
แม้สงครามจะไม่ได้ทำให้เขตแดนของแต่ละฝ่ายเปลี่ยนแปลง ไป แต่ก็ได้ส่งผลยาวไกลต่อประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งผลต่อความ สัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ
อียิปต์ค่อยๆ ตีตัวออกห่างสหภาพโซเวียต ซึ่งได้ให้ความช่วย เหลือทางทหารและทางเศรษฐกิจแก่อียิปต์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แล้วหันไป ใกล้ชิดกับสหรัฐ ขณะที่ซีเรียกลายเป็นผู้ปกป้องสิทธิของชาวอาหรับที่แข็ง กร้าวที่สุด และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของโซเวียตในย่านตะวันออกกลาง
ในอิสราเอล สงครามครั้งนี้ทำให้ผู้นำรัฐบาลถูกวิจารณ์อย่าง หนัก จนในที่สุดต้องไขก๊อกลาออก ขณะที่สหรัฐก็ก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางใน การไกล่เกลี่ยและให้หลักประกันต่อข้อตกลงระหว่างอาหรับกับอิสราเอลอย่าง เต็มตัว
เนื้อหาหลักของข้อตกลงก็คือ ให้อิสราเอลคืนดินแดนยึดครองให้ อาหรับ และให้อาหรับยอมรับประเทศอิสราเอลและให้หลักประกันด้านความ มั่นคง
ถ้าจะว่ากันถึงสาเหตุของสงครามครั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าความ บาดหมางระหว่างยิวกับอาหรับในเรื่องดินแดนปาเลสไตน์เคยเป็นชนวน สงครามมาแล้วหลายรอบ คือในปี 1948, ปี 1956 และปี 1967 ชาติอาหรับ ล้วนไม่ยอมรับการก่อตั้งประเทศอิสราเอล และหลังจากปี 1964 ก็มีองค์การ ปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือพีแอลโอ เข้ามาร่วมทะเลาะกับรัฐยิวด้วย เพื่อหาทางสถาปนารัฐของชาวปาเลสไตน์
ตอนสงครามหกวันในปี 1967 อิสราเอลได้เข้ายึดแหลมซีนาย และฉนวนกาซาที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของอียิปต์ ยึดที่ราบสูงโกลันซึ่งเคย เป็นของซีเรีย และยึดเวสต์แบงก์กับเยรูซาเล็มตะวันออกซึ่งเคยบริหารโดย จอร์แดน
ปลายปีนั้น ยูเอ็นได้ออกข้อมติเรียกร้องให้อิสราเอลถอนตัวออก ไปจากดินแดนเหล่านี้ เป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ชาติอาหรับจะรับรอง เอกราชและความมั่นคงของอิสราเอล แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เกี่ยงงอนในเงื่อนไข เหล่านี้ และยังคงโจมตีและแก้แค้นกันไปมาข้ามพรมแดนอยู่เป็นประจำ
ปี 1969 ประธานาธิบดี กามาล อับเดล นัสเซอร์ ของอียิปต์ ได้เปิดศึกกับอิสราเอลที่คลองสุเอซ แต่ไม่ได้บานปลายเป็นสงครามเต็มรูป แบบ เพราะสหรัฐเข้ามาไกล่เกลี่ยให้หยุดยิงในปี 1970
ช่วงต้นทศวรรษ 1970 ประธานาธิบดีคนต่อมาของอียิปต์ อันวาร์ อัลซาดัต (Anwar al-Sadat) ได้ใช้หนทางการทูตผลักดันให้อิสราเอล ถอนตัวออกไป ขณะเดียวกันก็เตรียมกองทัพอียิปต์สำหรับทำสงครามไปด้วย
สหประชาชาติมีมติเรียกร้องให้อิสราเอลถอนตัวออกจากดินแดน ยึดครองทุกปี แต่อิสราเอลก็ไม่ยอม ขณะที่สหรัฐก็โดนนานาชาติรุมตำหนิที่ ให้การหนุนหลังอิสราเอล
ชาติอาหรับไม่ยอมเจรจาจนกว่าอิสราเอลจะถอนออกไป อิสราเอลไม่ยอมถอนโดยไม่มีหลักประกันต่อสันติภาพและความมั่นคง แถมยังเสริมความแข็งแกร่งตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในดินแดนอาหรับที่ได้ยึด ครองเอาไว้อีกด้วย
ทั้งสหรัฐและอิสราเอลต่างก็ตายใจ ไม่คิดว่ากองทัพอาหรับจะ กล้าลองของอิสราเอลหลังจากที่เคยพ่ายแพ้ย่อยยับมาแล้ว ข้างฝ่ายโซเวียตซึ่ง สนับสนุนชาติอาหรับในการทำสงครามกับอิสราเอลมาก่อนหน้านั้น และยังส่ง อาวุธให้อียิปต์มาโดยตลอดนั้น รู้เหมือนกันว่าอียิปต์กำลังเตรียมทำสงคราม แต่ไม่นึกว่าจะลงมือจริงๆ
ยิ่งกว่านั้น ทั้งวอชิงตันและมอสโกต่างก็ไม่สำเหนียกว่า ผู้นำอียิปต์กับซีเรียมีนโยบายแตกต่างกัน
แม้ผู้นำของทั้งสองชาติอาหรับจะมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การเอา ดินแดนกลับคืนจากอิสราเอล แต่ซาดัตมีท่าทีพร้อมจะใช้วิธีการทางทหารควบ คู่ไปกับวิธีการทางการทูต ในขณะที่ประธานาธิบดี ฮาเฟซ อัลอัสซาด (Hafez al-Assad) ของซีเรีย ไม่ต้องการลงนามในข้อตกลงใดๆ กับอิสราเอล ซึ่งจะเท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของรัฐยิว
ซาดัตนั้นต่างกับอัสซาด เพราะยินดีจะหันเหนโยบายต่าง ประเทศของอียิปต์จากโซเวียตไปหาสหรัฐ เพราะความที่อียิปต์มีปัญหา เศรษฐกิจภายในมาก ซาดัตเชื่อว่าสหรัฐต่างหากที่จะช่วยอียิปต์ได้มากกว่าใน ระยะยาว
แต่ถึงจะคิดไม่เหมือนกัน เนื่องจากต่างก็รู้สึกอึดอัดและหมด ความอดทนกับความชะงักงันด้านการทูต ซาดัตกับอัสซาดจึงจับมือกันวาง แผนโจมตีอิสราเอล
งานนี้ผู้นำทั้งสองมุ่งถึงผลประโยชน์ของชาติตัวเองเป็นหลักมาก กว่าประเด็นขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอลอย่างเรื่องอนาคตของ เวสต์แบงก์ เยรูซาเล็ม และเรื่องการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ ทั้งคู่จึงไม่ได้ชวน จอร์แดนกับพีแอลโอให้เข้ามาร่วมเตรียมทำสงครามด้วย
อียิปต์กับซีเรียเปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 6 ตุลาคม 1973 ในวันโยมคิปปูร์ อันเป็นวันที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในรอบปีของชาวยิว ผู้คนส่วน ใหญ่ในอิสราเอลจึงอยู่ในศาสนสถาน วิทยุประจำชาติก็หยุดส่งกระจายเสียง ประชาชนอยู่ในอารมณ์ผ่อนคลาย จึงได้ถูกโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว หน่วยข่าว กรองของอิสราเอลไม่นึกว่าอาหรับจะบุก กองทัพอิสราเอลก็ไม่ได้เตรียมเผชิญ หน้ากับสงคราม
กองทัพของซาดัตยกพลข้ามคลองสุเอซไปแบบสายฟ้าแลบ เอาชนะป้อมค่ายของอิสราเอลตลอดแนวคลองฝั่งตะวันออก ซึ่งอิสราเอลเชื่อว่า เป็นแนวป้องกันที่ไม่อาจทะลุทะลวงได้ จากนั้นอียิปต์ก็จัดตั้งฐานที่มั่นขึ้นคอย ป้องกันจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ
เพราะความที่รู้ขีดจำกัดของอำนาจการยิงของฝ่ายตนดี ซาดัตจึงไม่สั่งให้รุกไปทั่วแหลมซีนายที่อิสราเอลยึดครองอยู่ แต่ใช้วิธียึดเขต แดนตลอดแนวฝั่งตะวันออกของลำคลอง ขณะที่ซีเรียก็บุกเข้าสู่ที่ราบสูงโกลัน
ในช่วงสัปดาห์แรกของสงคราม ทั้งซีเรียและอียิปต์สร้างความ เสียหายให้แก่กองทัพอิสราเอลได้มาก ยึดครองเขตแดนได้เพิ่มขึ้น และทำให้ ชุมชนพลเรือนชาวอิสราเอลได้รับความเสียหายอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ในตอนแรกจะเป็นฝ่ายมีชัย อิสราเอลไม่ทัน ระวังตัวและสูญเสียอย่างมาก แต่กองทัพทั้งสองก็ไม่อาจรุกคืบไปได้มากกว่า นั้น เพราะข้อจำกัดด้านการสื่อสารระหว่างกรุงไคโรของอียิปต์กับกรุง ดามัสกัสของซีเรีย และระหว่างกรุงมองโกกับเมืองหลวงของทั้งสองชาติ อาหรับนี้
พอถึงกลางเดือนตุลาคม อิสราเอลเริ่มตั้งตัวติด มีการระดมพล เข้าโจมตีตอบโต้ทั้งสองแนวรบ จนสามารถยึดคืนดินแดนที่ซีเรียตีได้ และตะลุยข้ามพรมแดนซีเรียเข้าไปจนประชิดกรุงดามัสกัสในระยะยิงปืนใหญ่ถึง
ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ข้ามคลองสุเอซเข้าไปในอียิปต์ และล้อมกองทัพที่สาม (Third Army) ของอียิปต์เอาไว้ ตอนที่สงครามยุตินั้น กองทัพอิสราเอลจ่อกรุงไคโรในระยะ 100 กิโลเมตร และกรุงดามัสกัสในระยะแค่ 40 กิโลเมตร
แต่อิสราเอลเห็นว่าไม่มีประโยชน์ทางการเมืองที่จะเข้ายึดครองเมืองหลวงของประเทศทั้งสอง
สงครามครั้งนี้จึงเลิกแล้วต่อกันด้วยการหยุดยิง และอียิปต์ได้หันมาเป็นมิตรกับอิสราเอลและสหรัฐ