หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


สงครามอาหรับ-อิสราเอล สงคราม 6 วัน

โดยคุณ : omaha เมื่อวันที่ : 29/08/2009 08:51:12

เพราะความที่ยังไม่บรรลุ ข้อตกลงสันติภาพร่วมกันเสียที อิสราเอลกับประเทศอาหรับ จึงทะเลาะกันเรื่อยมา กระทั่งระเบิดเป็นสงคราม อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 1967
ซึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่าง อิสราเอลฝ่ายหนึ่ง กับอียิปต์ จอร์แดน และซีเรียอีกฝ่ายหนึ่ง



ภายในเวลา 6 วัน อิสราเอลสามารถยึดครองคาบสมุทรซีนาย ฉนวนกาซา ดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนหรือเวสต์แบงก์   และเขตที่ สูงโกลันได้ ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าเขตยึดครอง (Occupied Territories)

หลังจากแพ้อิสราเอลในวิกฤตการณ์คลองสุเอซ หรือบางทีก็ เรียกว่าสงครามสุเอซ-ซีนาย (Suez-Sinai War) ในปี 1956 ประธานาธิบดีกา มาล อับเดล นัสเซอร์ ของอียิปต์ ก็ประกาศจะล้างแค้น และสนับสนุนขบวน การชาตินิยมของชาวปาเลสไตน์ พร้อมกับลงมือจัดตั้งพันธมิตรอาหรับที่ราย รอบประเทศอิสราเอล และระดมสรรพกำลังเตรียมทำสงคราม

อิสราเอลอยากรอให้ถูกเล่นงาน จึงเป็นฝ่ายชิงโจมตีก่อน ณ วันที่ 5 มิถุนายน 1967 ซึ่งในวันต่อๆ มาก็สามารถรุกไล่กองทัพอาหรับออก ไปจากดินแดนต่างๆ ข้างต้นได้ แล้วเข้ายึดครองเอาไว้

อิสราเอลยังได้ผนวกเยรูซาเล็มตะวันออกซึ่งจอร์แดนได้เข้าควบ คุมตั้งแต่ช่วงสงครามปี 1948-1949 ด้วย สงครามซึ่งต่อมาเรียกว่าสงครามหก วัน (Six-Day War) ในครั้งนี้จึงนับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของอิสราเอล แม้ว่าในเขตยึดครองจะมีการปะทะไม่หยุดหย่อน

ในช่วงหลายปีก่อนเกิดสงครามหกวันนั้น ประเทศอาหรับต่างๆ ยังคงไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐยิว ซึ่งนักชาตินิยมชาวอาหรับซึ่งนำ โดยนัสเซอร์ได้เรียกร้องให้ทำลายอิสราเอลให้ราบคาบ อียิปต์กับจอร์แดนได้ ให้การหนุนหลังบรรดานักรบชาวปาเลสไตน์ให้โจมตีกองทหาร และพลเรือน ในเขตประเทศอิสราเอลอยู่เนืองๆ พอลงมือเสร็จก็ถอยเข้าไปอยู่ที่ฉนวนกาซา ซึ่งอยู่ในความควบคุมของอียิปต์ หรือไม่ก็ในเวสต์แบงก์ซึ่งอยู่ในความควบคุม ของจอร์แดน ในขณะที่ซีเรียก็ใช้ที่สูงโกลันซึ่งเป็นชัยภูมิที่ได้เปรียบยิงถล่มไร่ นาของอิสราเอลอยู่ไม่ขาด

ข้างฝ่ายอิสราเอลก็ไม่ยอมรับต่อการที่จอร์แดนควบคุมสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชาวยิวในเยรูซาเล็มตะวันออก มีการตอบโต้การบุกรุก ของฝ่ายอาหรับด้วยการเข้าไปแก้แค้นในเขตแดนของอาหรับเป็นประจำ

ในเดือนเมษายน  1967  หลังจากซีเรียระดมยิงจากที่สูงโกลัน เข้าใส่หมู่บ้านต่างๆ ของอิสราเอลอย่างหนัก อิสราเอลกับซีเรียก็เปิดศึกเวหา กัน โดยอิสราเอลได้ยิงเครื่องบินรบแบบมิกของซีเรียที่ได้รับจากสหภาพ โซเวียตตกไป 6 ลำ พร้อมกับเตือนไม่ให้ซีเรียโจมตีอีก

ซีเรียหันไปขอแรงสนับสนุนจากนัสเซอร์แล้วกลางเดือน พฤษภาคม กองทัพอียิปต์ 100,000 นาย กับรถถัง 1,000 คันก็เคลื่อนพลเข้าสู่ คาบสมุทรซีนาย ซึ่งติดกับพรมแดนด้านทิศใต้ของอิสราเอล ที่ซึ่งมีกองกำลัง ของสหประชาติตั้งอยู่ก่อนแล้วในฐานะผู้สังเกตการณ์

แต่ในวันที่ 17 พฤษภาคม นัสเซอร์ได้ขอให้บุคลากรของยูเอ็น ถอนออกไปจากหลายเขต ซึ่งบรรดาผู้สังเกตการณ์ก็ถอนตัวออกไปหมด พอถึงวันที่ 22 พฤษภาคม นัสเซอร์ก็ประกาศปิดช่องแคบทิรัน ซึ่งอิสราเอล อาศัยเป็นทางออกสู่ทะเลแดง และเป็นแหล่งน้ำมันดิบแหล่งใหญ่

ตอนที่เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซเมื่อปี 1956 อียิปต์ก็เคยปิด ช่องแคบแห่งนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว กระทั่งเป็นต้นเหตุของสงครามดังกล่าว ซึ่งอิสราเอลเคยประกาศชัดไว้ตั้งแต่บัดนั้นแล้วว่า ถ้าอียิปต์ปิดช่องแคบทิรันอีก จะถือเป็นการทำสงคราม

อิสราเอลยังได้กลิ่นสงครามโชยมาอีกกระแสหนึ่งด้วย เมื่ออียิปต์กับจอร์แดนลงนามในข้อตกลงให้กองทัพของทั้งสองประเทศอยู่ภาย ใต้การบัญชาการร่วมกัน

เพราะเหตุที่อิสราเอลกลัวจะต้องรับศึกถึง 3 ด้าน คือ อียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย และด้วยความที่อยากให้สงครามเกิดนอกบ้านมากกว่าใน บ้าน อิสราเอลจึงตัดสินใจชิงลงมือก่อน

เช้าวันที่ 5 มิถุนายน ฝูงบินของอิสราเอลได้โจมตีอียิปต์ ซึ่งมีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนั้น ในเวลา 8.45 น. ซึ่งอิสราเอลลงมือนั้น เครื่องบินส่วนใหญ่ของอียิปต์ยังจอดอยู่ พวกผู้บัญชาการทหารก็ต้องเจอสภาพ รถติดกว่าจะมาถึงกองบัญชาการ โดยเครื่องบินของอิสราเอลสามารถหลบหลีก เรดาร์ของอียิปต์ไปได้ และเข้าโจมตีในทิศทางที่ไม่มีใครคาดคิด มหกรรม เซอร์ไพรส์ครั้งนี้จึงได้ผล

ภายในไม่กี่ชั่วโมง อิสราเอลซึ่งเน้นโจมตีกองทหารและสนาม บิน ได้ทำลายเครื่องบินรบของอียิปต์ไป 309 ลำจากทั้งหมด 340 ลำ จากนั้นทหารราบของอิสราเอลก็เคลื่อนเข้าสู่คาบสมุทรซีนายและฉนวนกาซา เข้าสู้รบกับหน่วยทหารของอียิปต์ ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายอียิปต์สูญเสียอย่างหนัก ขณะที่ทหารอิสราเอลเสียชีวิตเพียงไม่กี่คน

ขณะเดียวกัน อิสราเอลได้บอกไปยังกษัตริย์ฮุสเซนแห่ง จอร์แดนว่าอย่ายุ่งเกี่ยวกับการศึกครั้งนี้ แต่ในเช้าวันแรกของสงครามนั้น นัสเซอร์ได้แจ้งไปยังกษัตริย์ฮุสเซนว่าอียิปต์กำลังมีชัยชนะ ซึ่งประชาชนชาว อียิปต์ก็เชื่ออย่างนั้นอยู่หลายวัน ในเวลา 11.00 น. ของเช้าวันแรก กองทัพ จอร์แดนจึงโจมตีอิสราเอลที่เยรูซาเล็มด้วยปืนครกและปืนยาว และยิงปืนใหญ่ เข้าใส่เป้าหมายต่างๆ ในเขตประเทศอิสราเอล

เมื่อทำเอากองทัพอากาศของอียิปต์เดี้ยงไปแล้ว   ฝูงบินของ อิสราเอลก็หันมาเล่นงานจอร์แดน พอตกตอนเย็น กองทัพอากาศของจอร์แดน ก็แทบไม่มีอะไรเหลือ ขณะที่อิสราเอลสูญเสียเพียงเล็กน้อย เมื่อถึงเที่ยงคืน ทหารราบของอิสราเอลก็เข้าโจมตีทหารจอร์แดนในเยรูซาเล็ม รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 6 มิถุนายน ทหารอิสราเอลก็ล้อมเมืองนี้ไว้ได้เกือบหมด

ในวันที่สอง กองทัพอากาศของอิสราเอลยังโจมตีฐานทัพ อากาศต่างๆ ของฝ่ายอาหรับอย่างต่อเนื่อง เพิ่มยอดความสูญเสียของเครื่อง บินเป็น 416 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบิน 2 ใน 3 ของซีเรีย เมื่อสามารถ ครองน่านฟ้าได้เกือบสมบูรณ์เช่นนี้ เครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิดของ อิสราเอลก็สามารถสนับสนุนการรุกของรถถังและทหารราบบนภาคพื้นดินได้ อย่างสบาย

ฉะนั้น กำลังเสริมของจอร์แดนจึงไม่สามารถไปถึงเยรูซาเล็ม ได้ ในเวลา 10,00 น.ของวันที่ 6 มิถุนายน อิสราเอลก็สามารถยึดกำแพงตะ วันตก (Western Wall) หรือกำแพงพิลาป (Wailing Wall) ในเขตกรุงเก่า (Old City) ของเยรูซาเล็มได้ ซึ่งกำแพงนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของ ศาสนายูดาย

นับเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเกือบ 2,000 ปีที่ชาวยิวสามารถเข้า ควบคุมกำแพงแห่งนี้ได้ ขณะที่การสู้รบภาคพื้นดินในแหลมซีนายยังดำเนินต่อ ไป โดยอียิปต์เป็นฝ่ายร่นถอยต่อการรุกของอิสราเอล

ในวันที่สามของสงคราม คือ 7 มิถุนายน กองทัพจอร์แดนได้ ถูกผลักดันออกจากเวสต์แบงก์ข้ามแม่น้ำจอร์แดนกลับไปยังเขตแดนของตน สหประชาชาติได้จัดให้อิสราเอลกับจอร์แดนหยุดยิงกันโดยมีผลในเย็นวันนั้น

วันต่อมา วันที่ 8 มิถุนายน กองทัพอิสราเอลก็บุกถึงคลองสุ เอซ มีการยิงปืนใหญ่ต่อสู้กันตลอดแนว ขณะที่เครื่องบินของอิสราเอลก็ถล่ม ทหารอียิปต์ที่แตกร่น พอควบคุมแหลมซีนายได้แล้ว อิสราเอลก็หันเป้าไปสู่ที่ สูงโกลัน

วันที่ 9 มิถุนายน อิสราเอลเจองานหิน เพราะต้องรุกขึ้นที่สูง ชันไปสู้กับทหารซีเรียที่มีแนวหลุมเพลาะเป็นชัยภูมิอย่างดี โดยอิสราเอลส่ง ทหารม้ายานเกราะขึ้นไปรบกับแนวหน้าของซีเรีย ขณะที่ทหารราบก็รายล้อม ที่ตั้งต่างๆ ของทหารซีเรียไว้

ขณะที่อิสราเอลกำลังทำท่าจะมีชัย ในเวลา 18.30 น.ของวันที่ 10 มิถุนายน อิสราเอลกับซีเรียก็ตกลงหยุดยิงกัน โดยอิสราเอลเข้าควบคุมที่สูงโกลันไว้ทั้งหมด

ส่วนสงครามระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์นั้นไม่ได้ยุติอย่างเป็นทางการอยู่ตั้งหลายปี โดยอิสราเอลได้ควบคุมคาบสมุทรซีนายเอาไว้เรื่อยมา ทั้งสองฝ่ายเพิ่งจะจับมือกันได้ในปี 1979 ตามข้อตกลงแคมป์เดวิด

การที่อิสราเอลสามารถได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วและกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายอาหรับเสียกระบวนไปเลยทีเดียว อียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย สูญเสียเครื่องบินรบไปเกือบหมด อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ถูกทำลายไปมาก

เฉพาะที่แหลมซีนายและฉนวนกาซา ทหารอียิปต์เสียชีวิตไปราว 10,000 นาย ขณะที่อิสราเอลสูญเสียแค่ 300 นาย โดยรวมแล้ว อียิปต์เสียทหาร 11,000 นาย จอร์แดนเสียประมาณ 6,000 นาย ซีเรียเสียราว 1,000 นาย และอิสราเอลเสีย 700 นาย

พวกผู้นำอาหรับจึงสูญเสียความนิยมภายในบ้าน ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลได้คะแนนนิยมจมหู ข้างฝ่ายโซเวียตซึ่งหนุนหลังอาหรับเต็มตัวก็เสียหน้า เพราะชาติอาหรับถูกพันธมิตรของสหรัฐคืออิสราเอลถล่มแทบไม่เหลือชิ้นดี และอาวุธของโซเวียตก็เอาชนะอาวุธของตะวันตกไม่ได้

ในวันที่  22  พฤศจิกายน   สหประชาชาติได้ออกข้อมติที่  242  เรียกร้องให้อิสราเอลถอนทหารออกจากดินแดนยึดครอง   และให้ชาติอาหรับรับรองเอกราชของอิสราเอลเป็นการแลกเปลี่ยน และให้หลักประกันความสงบตามแนวพรมแดนเป็นการตอบแทน

แต่เหตุการณ์ก็หาเป็นไปตามข้อมติที่ 242 ไม่ ฝ่ายอาหรับกับปาเลสไตน์ยังคงประกาศจะรบกับอิสราเอลต่อไป ขณะที่อิสราเอลก็ไม่ยอมคืนดินแดนยึดครองภายใต้บรรยากาศที่ยังไม่เลิกเป็นศัตรูกัน

ด้วยเหตุนี้ การโจมตีด้วยการก่อการร้ายและการตอบโต้ก็ยังมีอยู่ต่อไป อิสราเอลกับอียิปต์ยังคงยิงปืนใหญ่ ใช้พลแม่นปืน หรือโจมตีทางอากาศต่อกันเป็นครั้งคราวต่อมาอีกหลายปี ถึงจะมีข้อตกลงหยุดยิงกันแล้ว แต่สถานการณ์ในภูมิภาคก็ยังเปราะบางมาก

อิสราเอลได้เสริมความมั่นคงในดินแดนยึดครองด้วยการขยายแนวป้องกันออกไปจนจรดพรมแดนของบรรดาประเทศอาหรับ ทั้งแหลมซีนาย เวสต์แบงก์ และที่สูงโกลัน มีป้อมค่ายแข็งแรง

อิสราเอลยังประกาศความตั้งใจที่จะเก็บเยรูซาเล็มไว้เป็นเมืองหลวงชั่วนิรันดร์ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของตน ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองให้ชาติอาหรับ กระทั่งนำไปสู่สงครามอีกครั้งในปี 1973

ถึงจะไม่ปรากฏผลในเวลานั้น แต่ข้อมติที่ 242 ก็ได้วางรากฐานให้กับกระบวนการสันติภาพซึ่งเริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างในช่วงทศวรรษ 1970

ใต้ภาพ

Wailing1

กำแพงพิลาป ซึ่งอิสราเอลยึดได้ในสงครามหกวัน