ASTVผู้จัดการออนไลน์ โครงการจัดซื้อยานเกราะยูเครนฉาวของ บิ๊กป๊อก มีอันต้องจอดสนิท เมื่อเยอรมันปฏิเสธผลิตเครื่องยนต์ให้ยูเครนหวั่นติดร่างแหร่วมย้อมแมวขาย ซ้ำยังติดเงื่อนไขสัญญารัฐต่อรัฐต้องต้องผ่านสภาก่อน คู่แข่งจากรัสเซียได้ทีรอจังหวะเสียบแทน หวังหยิบชิ้นปลามันออเดอร์จากทัพเรือ 12 คัน มูลค่า 400 กว่าล้านนำร่อง
ความคืบหน้ากรณีการจัดซื้อจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางจากประเทศยูเครน ระยะแรก จำนวน 96 คัน มูลค่า 3,800 ล้านบาท ของกองทัพบก ปรากฏว่า จนกระทั่งบัดนี้บริษัทตัวแทนจำหน่ายยานลำเลียงพลหุ้มเกราะล้อยางของประเทศยูเครน ยังไม่สามารถส่งมอบรถหุ้มเกราะล้อยางให้กับกองทัพบกได้ เนื่องจากประเทศเยอรมัน ซึ่งผลิตเครื่องยนต์ยี่ห้อ ดอยซ์ ปฏิเสธที่จะผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถหุ้มเกราะล้อยางให้กับประเทศยูเครน ตามสเปกเครื่องยนต์ที่ตัวแทนจำหน่ายฯ ได้ยื่นไว้กับกองทัพบก รวมถึงกองทัพเรือด้วย เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาจากกรณียูเครนนำรถเก่าของรัสเซียมาดัดแปลงขายให้กองทัพประเทศต่างๆ
แหล่งข่าววงการค้ายุทโธปกรณ์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ทางบริษัทเอ็นจีวีเอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บริษัทนายหน้าของยูเครน ได้วิ่งเต้นทำหนังสือถึงกองทัพบกและกองทัพเรือ เพื่อขอเปลี่ยนสเปกเครื่องยนต์เป็นของยี่ห้ออื่นแทน ซึ่งทางกองทัพบกรับเรื่องไว้แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะพิจารณาเรื่องที่เสนอขึ้นมาหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าจะผิดระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หากให้มีการเปลี่ยนสเปกไปจากรายละเอียดที่บริษัทตัวแทนจำหน่ายฯ ได้เคยยื่นข้อเสนอไว้กับกองทัพบก
นอกจากนั้น ที่ผ่านการจัดซื้อจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางของกองทัพบกถูกตรวจสอบจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ชี้ว่ามีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดหา เอื้อประโยชน์ให้เอกชนผิดพ.ร.บ.ฮั้ว เช่นเดียวกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและยังมีข้อกังขาถึงประสิทธิภาพการใช้งาน การประมูลที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ
การวิ่งเต้นเปลี่ยนสเปกเครื่องยนต์ของยูเครนครั้งนี้ ปรากฏว่า มีผู้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าการ สตง. เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยนายมงคล สติพลัน ผู้ร้องเรียน อ้างว่า การทำหนังสือถึงกองทัพเรือและกองทัพบกเพื่อขอเปลี่ยนสเปกเครื่องยนต์เป็เครื่องยนต์ของยี่ห้ออื่นที่ไม่เคยยื่นรายละเอียดในการยื่นซองเทคนิกให้กับกองทัพ ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของทางราชการ จึงขอให้ทาง สตง. เข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย
สำหรับการจัดหายานเกราะล้อยางของกองทัพ นอกจากติดปัญหาประเทศเยอรมัน ไม่ผลิตเครื่องยนต์ให้แล้ว ยังติดปัญหาที่กองทัพจะต้องนำเรื่องเสนอเข้าสู่สภาเพราะเป็นการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ ที่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 190
อนึ่ง กองทัพบก ได้รับอนุมัติในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโห ให้จัดซื้อจัดจ้างรถหุ้มเกราะล้อยางจากยูเครน ล็อตแรก จำนวน 96 คัน จำนวน 3,800 ล้าน และกองทัพเรือ จำนวน 12 คัน มูลค่า 420 ล้านบาท นอกจากนั้น กองทัพบก ยังตั้งเรื่องจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากยูเครน ล็อตสอง อีก 121 คัน ในโครงการจัดหาและซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โดยตั้งงบผูกพันในปีงบประมาณ 2552 เอาไว้จำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบราคายานเกราะยูเครนที่จัดซื้อไปราคาคันละประมาณ 42 ล้านบาท การจัดซื้อจัดหาลอตใหม่ จำนวน 121 คัน จะตกประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท และปกติการผูกพันงบประมาณจะจัดสรรไว้ไม่เกิน 3 ปี
มีรายงานข่าวแจ้งว่า จากปัญหาที่บริษัทจัดจำหน่ายรถหุ้มเกราะล้อยางจากยูเครน มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่กองทัพจะพิจารณาจัดซื้อจัดหารถหุ้มเกราะฯ จากประเทศอื่นแทน ซึ่งขณะนี้ ทางกองทัพเรือ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะเรียกผู้เสนอราคาที่ชนะประมูลอันดับสองคือบริษัทตัวแทนจากประเทศรัสเซีย เข้ามาเจรจาหรือไม่
///////////////////////
***พลิกปูมโครงการฉาว ยานเกราะยูเครน ****
ความเป็นมาของโครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะล้อยาง เป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนพัฒนากองทัพบก ปี 2540 2549 ที่ต้องการยานเกราะล้อยางเข้าประจำการใน พล.ร. 2 รอ. ประมาณ 98 คัน งบประมาณ 8,000 ล้านบาท เวลานั้น พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็นผบ.ทบ. จึงแต่งตั้งคณะทำงานเลือกแบบยานเกราะฯ ขึ้นในปี พ.ศ. 2539 2540 และมีบริษัทต่างๆ นำยานเกราะฯ เข้ามาทำการคัดเลือกทั้งสิ้น 9 บริษัท ต่อมา คณะทำงานชุดดังกล่าวได้สิ้นสุดการปฏิบัติงานลงเมื่อเดือน ส.ค. 2540 แต่ทางทบ. ยังไม่มีงบประมาณจัดซื้อยานเกราะฯ เพราะประเทศชาติเจอวิกฤตเศรษฐกิจพอดี
หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ทาง คณะกรรมการมาตรฐานยุทธโธปกรณ์ของกองทัพบก (กมย.ทบ.) ได้ประชุมและมีมติ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2550 เห็นควรให้กำหนดแนวทางดำเนินการโครงการจัดหายานเกราะล้อยางที่ ทบ. มีแผนจัดหาในปีงบประมาณ 2550 พร้อมกับมีมติให้ ยก.ทบ. ขออนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานเลือกแบบยุทโธปกรณ์ขึ้นเพื่อดำเนินการคัดเลือกแบบ และเสนอให้ กมย. ทบ. พิจารณาภายในเดือนพ.ค. 2550
ต่อมา ผบ.ทบ. ได้อนุมัติและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2550 โดยมี พล.ต.นิวัตร มีนะโยธิน ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ เป็นประธาน คราวนี้ ทบ. ลดจำนวนยานเกราะฯ ลงเหลือ 48 คัน และลดวงเงินเหลือประมาณ 4,000 ล้าน
โครงการดังกล่าว ระบุถึงความต้องการใช้งานเพื่อตอบสนองภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประสบกับภัยคุกคามของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยพานะลำเลียงพลที่มีประสิทธิภาพ เข้าออกพื้นที่สะดวกและปลอดภัยต่อกำลังพล ที่สำคัญ ต้องฝ่าด่านตะปูเรือใบอันเป็นอุปสรรคสำคัญทางยุทธวิธีในการสงครามครั้งนี้
ต่อมา คณะทำงาน ได้รวบรวมข้อมูลยานเกราะล้อยางในขั้นต้น และยังได้ข้อมูลต่างๆ จากการที่ ทบ.อนุมัติหลักการให้บรรยายสรุป สาธิต ทดสอบและทดลองการใช้งานยุทโธปกรณ์ ณ หน่วยใน ทบ. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตจากต่างประเทศและบริษัทผู้แทนจำหน่ายยุทโธปรกรณ์ในไทย นำเสนอข้อมูลยุทโธปกรณ์ให้ ทบ.รับทราบ และพิจารณาใช้ประโยชน์ในขั้นต้น
ซึ่งที่ผ่านมามียานเกราะล้อยางของบริษัทต่างๆ เข้ามาดำเนินการให้ทบ.ได้รับข้อมูล ทดลองใช้ หลายรายด้วยกัน รวมทั้งข้อมูลจากทดสอบยานเกราะล้อยางของ 9 บริษัทที่คณะทำงานชุดแรก จัดทำไว้ทั้งการทดสอบทางเทคนิกในโรงงาน และการทดสอบทางยุทธวิธีในสนาม
คณะทำงานฯ ได้เริ่มขั้นตอนการดำเนินงาน โดยประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2550 ณ ห้องประชุม กบ.ทบ. (1) เพื่อพิจารณาคุณลักษณะทั่วไปของยานเกราะล้อยางที่ต้องการและกำหนดขั้นตอนดำเนินงาน และขออนุมัติต่อ ผบ.ทบ. ผ่านทาง ยก.ทบ. โดยได้รับอนุมัติ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2550
จากนั้น ในวันที่ 9 พ.ค. 2550 ออกประกาศเชิญชวนให้บริษัทต่างๆ เสนอข้อมูลยานเกราะล้อยาง โดยประชาสัมพันธ์ผ่านทางทีวี ช่อง 5 และสถานีวิทยุ พล. 1 รอ. เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศและในประเทศ ได้เสนอข้อมูลมายังคณะทำงานภายในวันที่ 16 พ.ค. 2550 เวลา 16.30 น.
ต่อมา คณะทำงาน ประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2550 ณ ห้องประชุม กบ.ทบ. (1) เพื่อพิจารณาลักษณะเฉพาะยานเกราะล้อยางที่พึงประสงค์และเพื่อพิจารณาหัวข้อการลงคะแนน ครั้งที่ 1 และประชุมพิจารณาปรับปรุงคุณลักษณะยานเกราะฯ และแบบหัวข้อลงคะแนน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 พ.ค. 2550 จากนั้น ในวันที่ 16 พ.ค. 2550 มีบริษัทต่างๆ ยื่นพร้อมแสดงเอกสารแสดงความประสงค์ เข้ามายังคณะทำงานฯ เพื่อนำเสนอข้อมูล จำนวน 10 บริษัท ต่อมาได้สละสิทธิ์ไป 2 บริษัท
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2550 ณ ห้องจามจุรี (1) สโมสรทบ. คณะทำงานฯ ประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิต โดยสาระสำคัญของการประชุมชี้แจงคือ นัดหมายและชี้แจงทำความเข้าใจให้บริษัทต่างๆ จัดเตรียมข้อมูลเพื่อเข้าทำการบรรยาย อธิบาย สาธิตต่อคณะทำงานฯ ในวันที่ 21 22 พ.ค. 2550
จากนั้น ในวันที่ 21 - 22 พ.ค. คณะทำงานฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุป อธิบาย สาธิตและตอบข้อซักถามของบริษัทต่างๆ จำนวน 9 บริษัท โดยบริษัทของประเทศยูเครน ได้ขอเข้าบรรยายสรุป ในวันที่ 22 พ.ค. 2550 ทั้งที่ไม่ได้ยื่นเสนอข้อมูลภายในวันที่กำหนดคือ 16 พ.ค. 2550 เวลา 16.30 น. แต่อย่างใด
ผลจากการรับฟังข้อมูล คณะทำงานฯ ได้คัดเลือกแบบจำนวน 4 แบบ ได้แก่ ประเทศแคนาดา (บริษัท ฮอคอายส์ จำกัด) ประเทศรัสเซีย (บริษัท โรสโอโบรอนเอกซ์ปอร์ต จำกัด) ประเทศฟินแลนด์ และประเทศยูเครน (บริษัทเอ็นจีวีเอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด)
พลันที่คณะทำงานฯ อนุญาตให้ประเทศยูเครน โดยตัวแทนบริษัทเอ็นจีวีเอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในไทยให้กับบริษัท UKRSPETSEXPORT จำกัด รัฐบริษัทของยูเครน เข้าบรรยายสรุป ในวันที่ 22 พ.ค. 2550 และได้รับการคัดเลือก 1 ใน 4 ราย ก็เกิดข้อร้องเรียนจากผู้เข้าร่วมประมูลว่าทำให้ผู้เสนอแบบรายอื่นไม่ได้รับความเป็นธรรมในขั้นตอนการคัดเลือกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
นอกจากนั้น การเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทจากประเทศยูเครน ยังเข้าข่ายเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อรัฐ พ.ศ 2542 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 13 อีกด้วย กระทั่งนำไปสู่การทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสข้างต้น
ไม่เพียงเท่านั้น นายวลาดิเมียร์ กราฟอฟ ผู้ช่วยทูตพาณิชย์รัสเซียประจำประเทศไทย ผู้ได้รับมอบอำนาจอย่างเป็นทางการในการเสนอขายยานเกราะล้อยางในรูปแบบรัฐต่อรัฐ ยังได้ทำหนังสือไปถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2550 สอบถามถึงความชัดเจนโปร่งใสในการคัดเลือก จัดหายานเกราะล้อยางของกองทัพบกในครั้งนี้ เนื่องจากในบัญชีรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 10 แบบ 10 บริษัท จาก 10 ประเทศ ไม่ปรากฏการเข้าร่วมของรถจากประเทศยูเครนเลย
อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานคัดเลือกฯ และ กมย.ทบ. ได้ให้ความเห็นว่า ยานเกราะจากยูเครนมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเสนอราคาเบื้องต้นถูกที่สุด และเสนอให้ผู้บัญชาการทหารบก ลงนามอนุมัติเสนอต่อกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
แต่เมื่อกระแสข่าวเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแพร่ออกไป พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ก็ได้ดึงเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่ ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ขณะนั้น ยืนยันว่าทางกองทัพจะไม่ตั้งงบเพื่อซื้อของเก่าหรือเศษเหล็กอย่างแน่นอน
นอกเหนือจากการเอื้อประโยชน์ให้กับยูเครนแล้ว ข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการจัดหายานเกราะล้อยางของ ทบ. ยังพุ่งตรงไปที่แบบและรุ่นของยานเกราะ โดยเฉพาะรุ่น BTR 3E1 ของยูเครนซึ่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบริษัท โรสโอโบรอนเอกซ์ปอร์ต จำกัด จากรัสเซีย ระบุในคำร้องต่อ สตง.ว่า ยานเกราะล้อยางรุ่น BTR 3 E 1 ของยูเครนเป็นรถยานเกราะที่ดัดแปลงมาจากยานเกราะรุ่น BTR 70 ของสหภาพโซเวียต ซึ่งยุติการขายไปแล้วหลายปี แต่มีประจำการอยู่ในยูเครนมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นจำนวน 1,105 คัน
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่าล้อยางของยานเกราะรุ่น BTR 3E1 ไม่สามารถทนทานต่อตะปูเรือใบ กระสุนปืนเอ็ม 16 หรือกระสุนปืนขนาด 7.62 มม.ได้ เนื่องจากประเทศยูเครนไม่มีเทคโนโลยีสำหรับยางป้องกันกระสุนขนาดดังกล่าวซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การใช้งานในกองทัพบกได้
ข้อสังเกตนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหม ระบุว่า พล.อ. บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม และ พล.อ. วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เคยแสดงความคิดเห็นว่า ยานเกราะฯจากยูเครน เป็นรถเก่าและอาจมีปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุง ที่สำคัญ มีแบบที่ค่อนล้างล้าสมัย ทั้งยังขึ้น-ลงยังต้องใช้ด้านข้างตัวรถยนต์ ขณะที่ยานเกราะฯ ของแคนนาดา และรัสเซีย จะขึ้น-ลงด้านท้ายรถยนต์ จึงน่าจะปรับให้เหมาะสม
จากนั้นไม่กี่วัน สถานทูตยูเครนประจำประเทศไทย แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยานเกราะรุ่น BRT 3E1 ในประเด็นด้านเทคนิคว่า ยานเกราะล้อยางรุ่นดังกล่าวได้รับการออกแบบโดยสถาบันออกแบบและวิจัย Kharkiv Morozov Machine Building Design Bureau ซึ่งเป็นสถาบันออกแบบและวิจัยหลักและรัฐบริษัทของยูเครนเอง ซึ่งมี ความสามารถและประสบการณ์ที่ไม่ด้อยไปกว่าบริษัทต่างๆ พร้อมยืนยันว่ายานเกราะล้อยาง BTR 3E1 เป็นยานยนต์ใหม่ ทันสมัย และผลิตขึ้นตามมาตรฐานการผลิตของยุทธภัณฑ์จากโรงงานของยูเครน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดซื้อจัดหาที่กองทัพบกตกลงเลือกยานเกราะล้อยางจากยูเครน มีอันสะดุดลงเมื่อขั้นตอนการขออนุมัติต้องผ่าน พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะนั้น ซึ่งดูแลกลั่นกรองงานด้านส่งกำลังบำรุง มีข้อท้วงติง กระทั่งนำไปสู่การปลดพล.ร.อ.บรรณวิทย์ กลางอากาศในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ตามกระบวนการจัดซื้อจัดหายานเกราะฯ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้เป็นผู้เซ็นอนุมัติแผนจัดหาที่เลือกแบบจากประเทศยูเครน จากนั้นกรมสรรพาวุธ ได้เรียกยูเครนมาเจรจาต่อรองเงื่อนไขการจัดซื้อแบบรัฐบาลกับรัฐบาลและตกลงราคา
ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์ ได้เป็นผู้เซ็นอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างยานเกราะจากยูเครนในระหว่างที่ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ทบ. แทนพล.อ.สนธิ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเซ็นอนุมัติของพล.อ.อนุพงษ์ เป็นการด้านการเงินที่มีข้อกังขาว่า พล.อ.อนุพงษ์ สามารถทำได้หรือไม่ ?
หลังจาก พล.อนุพงษ์ เซ็นอนุมัติแล้ว ทางกองทัพบก ได้นำเสนอเรื่องไปยังให้ผบ.สูงสุด ลงนามเห็นชอบ และส่งเรื่องไปยังสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องผ่านการพิจารณาของพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มาจากสายกองทัพเรือ ซึ่งได้รับมอบหมายจากพล.อ.วินัย ภัทริยกุล ปลัดกระทรวงฯ ให้ดูแลกลั่นกรองงานด้านส่งกำลังบำรุง
ทาง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ จึงได้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดหายานเกราะฯไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งทาง สตง.แจ้งว่า กำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอยู่และเห็นว่าการดำเนินการของกองทัพบก อาจเข้าข่ายทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
ทางพล.ร.อ.บรรณวิทย์ จึงแทงหนังสือไปยังพล.อ.วินัย ภัทริยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ท้วงติงว่าเรื่องดังกล่าวสตง. กำลังสอบและไม่เซ็นอนุมัติตามที่ผบ.สูงสุด เสนอเรื่องขึ้นมา ทำให้เรื่องการจัดซื้อจัดหายานเกราะมีปัญหาสะดุดลง
เมื่อเรื่องที่เสนอขึ้นมาถูกพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เบรกไว้ ขณะที่ใกล้จะหมดปีงบประมาณในสิ้นเดือนก.ย. 2550 ทางกองทัพบก จึงดำเนินการอีกทางหนึ่ง โดยตั้งเรื่องขึ้นมาใหม่เพื่อขอผูกพันงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยเสนอเรื่องผ่านไปทางรองปลัดกระทรวงกลาโหม สายกองทัพอากาศแทน พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ที่มีอำนาจกลั่นกรองโดยตรง
จากนั้น รองปลัดกระทรวงฯ ก็ส่งเรื่องขึ้นไปยังปลัดกระทรวงกลาโหม และรมว.กลาโหม เพื่ออนุมัติตามลำดับชั้น กระทั่ง พล.อ.บุญรอด สมทัต รมว.กลาโหม นำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2550 ที่ผ่านมา เพื่อขอผูกพันงบประมาณ ซึ่งเป็นช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมประจำปีของสหประชาชาติที่สหรัฐฯ โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกฯ เป็นประธานในที่ประชุมครม.
มติ ครม. วันดังกล่าว เห็นชอบให้กองทัพบกก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปี โครงการจัดหารถหุ้มเกราะจำนวน 96 คัน ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 50-53 วงเงิน 3,898,892,400 บาท และให้ ผบ.ทบ.หรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายรถหุ้มเกราะ ระหว่างรัฐบาลไทยกับยูเครน
ในการประชุมครม. ครั้งนั้น นายฉลองภพ สุสังกาญจน์ รมว.กระทรวงการคลัง เป็นผู้ท้วงติงการผูกพันงบประมาณและรายละเอียดการจัดซื้อจัดหาว่ายังไม่สมบูรณ์ แต่สุดท้าย ครม. ก็มีมติอนุมัติให้กระทรวงกลาโหมผูกพันงบประมาณจัดหายุทโธปกรณ์ วงเงิน 7,000 กว่าล้าน ใน 4 รายการ ซึ่งรวมถึงยานเกราะฯ จากยูเครนด้วย
ผลสะท้อนการจากการขวางกองทัพบกจัดซื้อยานเกราะยูเครน ทำให้รมว.กลาโหม มีสั่งย้าย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ออกจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม และแต่งตั้งพล.อ. ทสรฐ เมืองอ่ำ ขึ้นมาแทน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ พล.อ.ทสรฐ เซ็นอนุมัติเรื่องการจัดซื้อจัดหายานเกราะฯ ที่ถูกพล.ร.อ.บรรณวิทย์ ท้วงติงและตีกลับไป
เมื่อการเสนอเพื่ออนุมัติตามลำดับชั้นครั้งใหม่จากกองทัพบก ขึ้นมายังบก.สูงสุด และสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม และรมว.กระทรวงกลาโหม เพื่ออนุมัติอีกครั้งไม่มีปัญหา ทำให้การจัดซื้อจัดหายานเกราะล้อยางมีผลในทางปฏิบัติครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่ต้องนำเรื่องเข้าครม.อีกครั้งเพราะครม.ได้อนุมัติรายการและวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณแล้ว ทั้งที่การอนุมัติของครม. เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2550 นั้น เรื่องที่นำเสนอเข้ามาไม่ได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนการกลั่นกรองที่ถูกต้องตามสายงานแต่อย่างใด
แต่ถึงแม้จะไม่ต้องนำเรื่องการขออนุมัติผูกพันงบประมาณเข้าครม.อีกครั้ง เพียงแต่เสนอให้นายสมัคร สุนทรเวช รมว.กลาโหม (ขณะนั้น) ซึ่งมีอำนาจอนุมัติวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่การอนุมัติโดยมีเงื่อนไขให้สตง.เข้าร่วมตรวจรับด้วยนั้น ทำให้โครงการจัดหายานเกราะล้อยางของกองทัพบกไม่สามารถเดินหน้าไปได้จนกระทั่งบัดนี้
หากสามารถยกเลิกสัญญาจัดซื้อนี้ แล้วไปเลือกของเจ้าอื่นเช่นรัสเซีย น่าจะดีกว่าครับ(ความคิดเห็นส่วนตัวครับ) ^ ^
อ่านๆแล้วเหมือนประเมินรถจากยูเตรนต่ำไปน่ะครับ แต่เอาเถอะแข่งขันใหม่ เพื่อความโปร่งใสในยุคที่งบประมาณน้อยๆน่ะครับ ดีไม่ดีอาจเป็นของรัสเซียมีชัยก็ได้
ทำไมถึงเป็นแบบนี้อีกแล้ว ถ้าเป็นตามที่อ่านข้างบนก็มีอะไรไม่ชอบมาพากลนะครับ คิดแล้วท้อแท้ ประเทศไทย