|
วิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปี
ดีเอ็นเอสามารถออกแบบได้ เชื้อโรคร้ายสร้างได้ไม่ยาก
ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มวิตกกังวลว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายจะใช้เทคโนโลยีนี้ผลิตอาวุธชีวภาพชนิดร้ายแรง
จึงได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันหาทางป้องกันเอาไว้ก่อนโดยเร็ว
(ภาพประกอบจาก www.cusa.uci.edu) | |
|
วิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจชีวภาพทั่วโลกผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด
ส่งผลให้นักวิทย์เริ่มหวาดหวั่นว่า
จะเป็นช่องทางให้อาชญากรและผู้ก่อการร้ายใช้เป็นช่องทางโจมตีฝ่ายตรงข้าม
จึงรวมกลุ่มกันเรียกร้องให้ประชาคมโลกเร่งกำหนดมาตรการปิดทางผู้ไม่หวังดีโดยด่วน
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานถึงการประชุมของนักวิทยาศาสตร์
และผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ
ที่จัดขึ้นในประเทศโมรอคโคเมื่อปลายสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า
ได้มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้
อาจเป็นเปิดโอกาสให้ผู้ก่อการร้ายหรืออาชญากรข้ามชาติใช้เป็นช่องทางทำลายล้างกลุ่มเป้าหมายได้
พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะมีเหตุร้ายดังกล่าวเกิดขึ้น
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
มีห้องปฏิบัติการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกิดขึ้นหลายร้อยแห่งทั่วโลก
ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและนวัตกรรมด้านการแพทย์เป็นหลัก โดยในปี 2545
นักวิทยาศาสตร์ทีมหนึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาการถอดรหัสจีโนมของไวรัสโปลิโอ (polio
virus) นานถึง 5 ปี และหลังจากนั้นเพียง 3 ปี
นักวิทยาศาสตร์อีกทีมหนึ่งที่มีจำนวนใกล้เคียงกันได้ถอดรหัสจีโนมไวรัสที่มีความยาวพอๆกันกับไวรัสโปลิโอ
โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น
ทิม เทรแวน (Tim
Trevan) จากสภาชีววิทยาศาสตร์สากล หรือไอซีแอลเอส (International Council for the
Life Sciences: ICLS) กล่าวว่า
ความรู้ในด้านแบคทีเรียวิทยาและการถอดรหัสดีเอ็นเอเจริญรุดหน้าไปมาก
ทำให้การออกแบบยีนมีแนวโน้มเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นตามไปด้วย
เพราะเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพันธุกรรม
หรือทำให้จุลชีพกลายพันธุ์เพียงเล็กน้อยก็สามารถเอาชนะวัคซีนได้
เชื้อโรคที่ไม่มีพิษภัยมากนักก็อาจสร้างให้มันกลายเป็นเชื้อมรณะได้
หรือทำให้มันทนทายาดได้ โดยใช้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ ที่เมื่อ 10
ปีก่อนยังหาไม่ได้ เช่น ถังปฏิกรณ์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไมโครรีแอคเตอร์
(micro-reactor), โฟล รีแอคเตอร์ (flow reactor) และดิสพอซิเบิล รีแอคเตอร์
(disposable
reactor)
"หากคุณต้องการโจมตีสังคมวงกว้างในคราวเดียว
คุณอาจต้องการบางสิ่งบางอย่างที่ช่วยให้เกิดการแพร่ระบาดในบริเวณกว้างได้เป็นอย่างดี
แต่ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าผู้คนหรือทำให้พวกเขาสูญเสียสมรรถภาพ
ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งสิ้น" เทรแวน
กล่าว
"คุณกำลังพูดถึงเรื่องของประชาชนและองค์ความรู้
แต่คุณจะต้องไม่กระโจนเข้าสู่ห้องแล็บเพื่อคิดค้นวัตถุอันตรายเหล่านั้นขึ้นมาอย่างเด็ดขาด"
เทอเรนซ์ เทย์เลอร์ ประธานไอซีแอลเอส กล่าว
โดยเขาได้ชี้ประเด็นไปที่เอกสารสำคัญของกลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกอดิดะห์ (Al
Qaeda)
ที่ระบุไว้ว่าพวกเขาต้องการพัฒนาอาวุธชีวภาพเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม "นี่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก
หายนะที่จะเกิดขึ้นนั้นมันเกี่ยวพันกับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ
มันจะทำให้ศาสตร์สาขานี้กลายเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงเหมือนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในเมืองเชอร์โนบิล
(Chernobyl) เมื่อหลายปีก่อน
ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงกังวลกับเรื่องนี้กันอย่างมาก"
เทย์เลอร์กล่าว
ทั้งนี้
เทคโนโลยีนิวเคลียร์เกือบทั้งหมดนั้นอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐบาล
และมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ขณะที่เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงนั้นได้ค่อยๆแพร่กระจายไปสู่ภาคเอกชนแล้ว
เทย์เลอร์กล่าวว่า
แม้ว่าในส่วนของรัฐบาลจะมีสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้นำประเทศ
หรือในส่วนของสมาพันธ์ชีววิทยาสังเคราะห์สากล (Association for Synthetic Biology)
ที่ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับให้องค์กรที่เป็นสมาชิกใช้คัดกรองลูกค้าหรือผู้มาติดต่อ
แต่ต้องการเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันเฝ้าระวังและป้องกันการก่อการร้าย
และการถูกคุกคามจากอาวุธชีวภาพ
โดยมีการแบ่งปันยุทธวิธีที่ดีที่สุดแก่กันด้วย ทั้งนี้
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่าในปี 2546 ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ
ถูกโจมตีด้วยจดหมายเชื้อโรคแอนแทรกซ์ (anthrax) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย
และผู้ป่วยอีก 13 ราย
และต้องรีบให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแอนแทรกซ์แก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงจำนวนหลายพันคนเป็นการเร่งด่วน
ส่วนในปี 2538 ลัทธิโอมชินริเคียว (Aum Shinrikyo)
ก่อเหตุวินาศกรรมในประเทศญี่ปุ่นโดยการปล่อยแก๊สซาริน (Sarin gas)
เข้าไปในสถานีรถไฟใต้ดิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย.
โดย
ASTVผู้จัดการออนไลน์ |
8 เมษายน 2552 |