หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


F/A-18C/D มือสองจากกองทัพสหรัฐฯ สำหรับกองทัพเรือไทย

โดยคุณ : AAG_th1 เมื่อวันที่ : 21/01/2009 20:28:24

หัวข้อนี้จะกล่าวถึงความเป็นไปได้ชองการจัดหา บ.F/A-18C/D มือสองจากสหรัฐฯมาประจำการในกองทัพเรือตามโครงการจัดหา บ.โจมตีใหม่จำนวน 8ลำ เพื่อทดแทน A-7E ครับ

โดยทั่วไปอากาศยานประเภท บ.ขับไล่ที่ประจำการในแต่ละฝูงบินของกองทัพสหรัฐฯ นั้นจะมีระยะเวลาประจำการเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 25ปีครับ
เฉพาะในส่วนของฝูงบินขับไล่โจมตีของกองทัพเรือสหรัฐฯนั้นมีฝูงบินที่ยังคงปฏิบัติการด้วย บ.F/A-18C เท่าที่สืบค้นได้ดังนี้ครับ(ไม่นับฝูงบินฝึกเปลี่ยนแบบ ฝูงทดลองเครื่อง และฝูงสำรอง)

VFA-15   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1987
VFA-25   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1989
VFA-34   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1996
VFA-37   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1990
VFA-83   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1988
VFA-86   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1987
VFA-87   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1993
VFA-94   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1990
VFA-97   เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1991
VFA-113 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1989
VFA-131 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1990
VFA-146 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1989
VFA-151 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1993
VFA-192 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1991
VFA-195 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1987

ซึ่งการจัดหา บ.F/A-18C ซึ่งเป็นที่นั่งเดียวนั้นจำเป็นต้องมีการจัดหา บ.F/A-18D รุ่นสองที่นั่งสำหรับใช้ในการฝึกเปลี่ยนแบบด้วย ถ้ามองว่า บ.ขับไล่/โจมตีในปัจจุบันที่เป็น บ.ขนาดใหญ่สองเครื่องยนตร์ที่ต้องปฏิบัติการได้นานๆโดยเฉพาะการปฏิบัติการในทะเลนั้น บ.สองที่นั่งจะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากว่า
ดังนั้นการจัดหา บ.มือสองในชุดนี้ก็เป็นไปได้ที่จะมีการเลือก บ.F/A-18D สองที่นั่งทั้งหมดครับ ซึ่ง บ.F/A-18D รุ่นที่ประจำการในส่วนของนาวิกโยธินสหรัฐฯ มีการปรับปรุงระบบที่นั่งนักบินให้เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมอาวุธ(WSO) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีทุกกาลอากาศมากกว่ารุ่น D สองที่นั่งพื้นฐาน

ซึ่งฝูงบินของนาวิกโยธินสหรัฐฯที่ประจำการด้วย F/A-18D นั้นมีดังนี้

VMFA(AW)-121 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1989
VMFA(AW)-224 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1993
VMFA(AW)-225 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1991
VMFA(AW)-242 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1991
VMFA(AW)-533 เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1992

ตามที่กล่าวข้างต้นว่าฝูงบิน บ.ขับไล่สหรัฐฯนั้นจะมีระยะเวลาประจำการราว 25ปี
ซึ่งเครื่อง F/A-18C/D ที่ประจำการในส่วนของกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐฯนั้นจัดหามาในช่วงปี 1987-1996 อายุเฉลี่ยของแต่ละเครื่องจะอยู่ที่ราว 13-22ปีครับ
โดยในส่วนของกองทัพเรือนั้น F/A-18C จะถูกประจำการแทนด้วย F-35C ตามแผนเดิมในปี2012-2015 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามการพัฒนา บ.F-35C ซึ่งเป็นรุ่นของกองทัพเรือนั้นมีความล่าช้ามาก ปัจจุบันเครื่องต้นแบบของ F-35C นั้นยังไม่ได้มีการประกอบเลยครับ(ตามที่ทราบๆกันในส่วนวงในของ Lockheed Martin ว่า "กองทัพเรือเรื่องมาก") ดั้งนั้นฝูงบิน F/A-18C ของกองทัพเรือที่มีเครื่องที่โครงสร้างใกล้จะหมดอายุนั้นคงจะถูกแทนที่ด้วย F/A-18E/F ไปก่อน ซึ่งกองทัพเรือก็มีการสั่งซื้อ บ.Super Hornet เป็นจำนวนมากต่อเนื่องหลายปีแล้วครับ

ในส่วนของนาวิกโยธินสหรัฐฯ F/A-18D ในฝูงบินขับไล่โจมตีทุกกาลอากาศนั้นมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะประจำการไปอีกราวปี 2014-2018 หรืออาจจะถึงปี 2020ครับ โดย บ.F-35B ซึ่งเป็นรุ่นสำหรับนาวิกโยธินสหรัฐฯนั้นจะเข้าประจำการแทนฝูงบินโจมตี AV-8B เป็นหลัก และปัญหาเรื่องความล้าช้าในการพัฒนาเครื่อง F-35B ก็ยังมีอยู่เช่นกันครับ

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ส่วนตัวมีการกล่าวมาแล้วหลายครั้งคือเริ่องอายุโครงสร้างเครื่องครับ ซึ่งเครื่องที่ปฏิบัติการจากเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นหลักที่ต้องวิ่งขึ้นจากรางดีดไอน้ำ ลงจอดด้วยมุมปะทะสูงนั้นจะมีความล้าของโครงสร้างตัวเครื่องมากกว่าเครื่องที่ใช้งานตามฐานบินบนบกทั่วไปครับ
ร่วมถึงประสบการณ์ที่กองทัพเรือไทยจัดหา บ.มือสองเช่น AV-8S และ A-7E ซึ่งใช้งานได้เพียงไม่เกิน10ปีก็ไม่สามารถปฏิบัติการต่อได้เนื่องจากขาดอะไหล่และโครงสร้างเครื่องหมดสภาพไม่สามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัยนั้นถึงแม้ว่า F/A-18C/D จะเป็น บ.ที่มีผู้ใช้งานแพร่หลายและมีอะไหล่เป็นจำนวนมากนั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่คุ้มครับ

ดังนั้นโครงการจัดหา บ.โจมตี 8ลำนั้น น่าจะเป็น บ.ใหม่มากกว่าครับ อีกประการคือโครงการนี้ไม่ใช้โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของกองทัพเรือครับ ในส่วนของอากาศยานนั้นการจัดหา ฮ.ประจำเรือคือ Super Lynx 300และ ฮ.ลำเลียงอเนกประสงค์ เช่น MH-60S นั้นจำเป็นและสำคัญกว่าครับ





ความคิดเห็นที่ 1


ขำๆ นะครับ สุดท้าย ทร. ไปถอย F/A-18C/D มือสาม 

ทำไมต้องมือ 3 ก็คือ เป็นเครื่องจาก นย.สหรัฐฯ 8 เครื่อง ที่รัฐบาลไทยสมัยหนึ่งขอร้องให้ นย. ซื้อต่อจาก ทอ.ไทย เพราะ เจอพิษต้มยำกุ้งไม่มีเงินจ่ายไงครับ

เหอๆๆ

โดยคุณ rinsc seaver เมื่อวันที่ 16/01/2009 23:17:21


ความคิดเห็นที่ 2


หน้าที่หลักของกองทัพเรือนี่ต้องใช้เจ้านี่ด้วยเหรอ........

เหอ...เหอ...เหอ....

โดยคุณ น่าคิด เมื่อวันที่ 17/01/2009 00:40:33


ความคิดเห็นที่ 3


ผมไม่เห็นด้วยครับ�
เพราะหน้าที่หลักมันก็ซํ้าซ้อนกับกองทัพอากาศอยู่แล้ว�
กองทัพอากาศมี JAS39 ติด RBS15 คุ้มกันให้�

งบกองทัพมีจำกัดครับ�
ถ้าตังมีเยอะจริง เอาตังไปซื้อจรวดเพกวิน ซื้อโวโนบุยติด ฮ. ดีกว่า
อ่อ น่าจะเอาไปซื้อ ฮ. ประจำเรือให้ครบทุกลำ

แล้วก็ัอัพเกรดจรวดต่อต้านอากาศยานป้องกันเรือดีกว่าไหมครับพี่น้อง�



เค้าจาอาววววว ESSM RIM-162
โดยคุณ semakutek เมื่อวันที่ 17/01/2009 03:44:01


ความคิดเห็นที่ 4


  จริงหรือเปล่าครับ ที่ กบร. จะได้งบ ซื้อเครื่องบินขับไล่/โจมตี จำนวน 8 เครื่อง ( แต่ไม่ใช่โครงการเร่งด่วน )

    ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง F/A-18C/D  ผมขอค้านว่า ไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจ

   เพราะทางกองทัพเรือ และ นาวิกโยธิน สหรัฐ ตะบี้ตะบัน ใช้มันในสงครามกับ อัฟกานิสถาน และ อิรัก

   เคยได้ยินข่าวว่า.....มีอยู่ช่วงหนึ่ง ทร.สหรัฐ ถึงกับไปเอา F/A-18C/D ที่ปลดประจำการไปแล้ว......มาปรับปรุงใช้ใหม่ด้วย

    หันมองซ้าย - มองขวา ว่าผมจะหา Candidate จากไหน มาให้ กบร. พิจารณาดี

   เลยไปนึกถึง............AV-8B HARRIER II PLUS

   ผมว่าเจ้านี่ ถึงจะใช้งานมาหลายปี........แต่โครงสร้างก็คงจะไม่ล้ามาก เพราะการขึ้นลง ของ AV-8B+...........

  ถ้าขึ้นลงแบบ ธรรมดา........ก็ไม่ต้องใช้ Catapult เพราะ สามารถ Short-Take off โดยใช้ Ski-Jump ได้

 หรือ จะขึ้นลง ในแนวดิ่ง ( แนวตั้ง ) ก็ยิ่งไม่มีปัญหา กับ AIR FRAME สักเท่าไหร่ ( ปัญหาของขึ้นลงทางดิ่ง ก็คือ ใช้เชื้อเพลิงเยอะ รับประทาน น้ำมัน มาก นั่นเอง )

    *ถ้าจะซื้อ มือ 2 มาจริงๆ ล่ะก็ ตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ.................AV-8B+  Harrier II Plus

  จะได้นำมาปฏิบัติการ บนเรือ จักรีนฤเบศ...............นี่แหล่ะครับ ชาวบ้านเขาจะเรียกว่า อาวุธเชิงรุก

  เดี๋ยวมีต่อ......แล้วถ้าเป็น มือ 1 ล่ะ

โดยคุณ TOP SECRET เมื่อวันที่ 17/01/2009 04:33:48


ความคิดเห็นที่ 5


จริงๆแล้ว การที่กองทัพเรือจะมีเครื่องบินขับไล่นั้น บอกชื่อมันเหมือนจะซ้ำซ้อนกับกองทัพอากาศก็จริงครับ แต่ว่าภารกิจหลักของเครื่องบินขับไล่กองทัพเรือนั้นน่าจะใช้ในภารกิจโจมตีกองเรือและสนับสนุนภาคพื้นดิน(กรณีใช้นาวิกโยธิน)เป็นหลัก และการขับไล่เป็นภารกิจรอง(กรณีคุ้มกันเครื่องที่ใช้โจมตีหรือป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือ) เพราะการขับไล่หลักๆและครองอากาศนั้นควรให้กองทัพอากาศรับผิดชอบโดยตรงมากกว่าจะให้กองทัพอากาศมาทำภารกิจสนับสนุนกองเรือ เพราะการฝึกในด้านนี้แตกต่างกัน การโจมตีเรือนั้น นักบินกองทัพเรือจะเน้นฝึกด้านนี้โดยตรงและการติดต่อสื่อสารจะง่ายและรวดเร็วทำให้การโจมตีเรือมีความผิดพลาดน้อยกว่าการมอบหน้าที่นี้ให้กองทัพอากาศ แต่ความเป็นจริงคือ เราทำแบบนี้ได้ยากเพราะงบประมาณที่จำกัด จึงทำให้กองทัพอากาศต้องรับหน้าที่นี้ไป ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงว่า นักบินกองทัพอากาศต้องมีการฝึกศึกาการใช้อาวุธทางทะเลเพิ่มเข้าไป อีกทั้งต้องมีการพัฒนาด้านการติดต่อประสานงานกันระหว่างเหล่าทัพให้ดีกว่าเดิมครับ ส่วนที่ว่า หากกองทัพเรือต้องการจริงๆ ผมว่าไม่ควรใช้มือสองแล้วล่ะครับ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมามันบอกอย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นอย่างไร แต่การจะมีสงสัยจะไม่ใช่เร็วๆนี้แน่ นอกจากจะเป็นมือสองเหมือนเดิม
โดยคุณ เด็กทะเล เมื่อวันที่ 17/01/2009 04:39:41


ความคิดเห็นที่ 6


    ถ้าจะจัดหาเครื่อง มือ 1

       ผมจะจัด Candidate ให้ เอาเป็นเครื่องบิน ทะเล ล้วนๆ

1.F/A-18E/F  จาก BOEING                                                               

2.SU-33 FLANKER - D  จาก  SUKHOI

3.F-35B ( ขึ้นลงทางดิ่ง ) หรือ F-35CV สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน ขึ้น-ลงธรรมดา จาก LOCKHEED MARTIN

4.RAFALE M  จาก บริษัท DASSAULT AVIATION

      แถมอีกรุ่นหนึ่ง ให้ เสี่ยโย มาทำการตลาดอีกรอบ

JAS-39 รุ่นที่ SAAB ออกแบบ ให้ NORWAY สำหรับปฏิบัติ ภารกิจ ทางทะเล

 

      เดี๋ยวจะมา วิเคราะห์.................

โดยคุณ TOP SECRET เมื่อวันที่ 17/01/2009 04:43:06


ความคิดเห็นที่ 7


ส่วนตัวผมแล้ว...ผมอยากให้ทร.มีเครื่องบินปีกตรึงประจำการ  อย่างน้อยก็ซัก 1 ฝูง เพื่อ......

1. เป็นการฝึกทักษะการบินทางทะเลด้วยแทคติคที่ค่อนข้างแตกต่างจาก ทอ.

2. กองทัพอากาศต้องรับผิดชอบพื้นที่มากกว่า 500,000 ตร.กม.(แผ่นดินไทย) อีกทั้งท้องทะเลนั้นกว้างใหญ่นัก นับเป็นภาระที่หนักเอาการ....หาก ทร. มีฝูงบินขับไล่ ก็จะเป็นการดีกว่า อีกทั้งหมายถึงความภูมิใจของ ทร.

ดังนั้น....หากยืนยันบ.สองเครื่องยนต์ ผมว่าต้องเป็นบ.ใหม่(ไม่ใช่มือ2มือ3นะครับ) เห็นใจทร. *_* 

...เราเคยต่อเฉพาะตัวเรือจากจีนแล้วมาติดตั้งระบบต่างๆจากยุโรป&สรอ. เป็นไปได้มั๊ยครับ....หากเราจะซื้อบ.รบจากจีนแต่ติดตั้งอวิโอนิคซ์และเครื่องยนต์จากค่ายตะวันตก  ด้วยเหตุผลด้านราคาที่เชื่อว่าเราน่าจะจัดหาได้... ใช่ครับ เมื่อก่อนอาวุธจากจีน(เครื่องบิน / รถถัง , etc.)มีความเชื่อถือต่ำ  แต่ปัจจุบันเค้าพัฒนาฝีมือไปมาก...  หากถามคห.ส่วนตัว..ผมเชียร์ J-11 ครับ....

 

ยืมภาพจาก www.defencetalk.com ครับ


โดยคุณ nui-714 เมื่อวันที่ 17/01/2009 04:59:49


ความคิดเห็นที่ 8


  เห็นด้วยกับท่าน เด็กทะเล ครับ

 ผมวาง ภารกิจหลัก ของเครื่องบินทางทะเล ก็คือ โจมตี เรือข้าศึก

 ภารกิจรอง ก็คือ ขับไล่ และ ทำลายเครื่องบินข้าศึก และทำการ คุ้มครอง กองเรือด้วย

   เพราะฉะนั้น เครื่องบินที่เลือกมาต้องมีหมัดเด็ด ในการ จมเรือ.........ซึ่งเครื่องบินที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็มีหมัดเด็ดกันทุกๆ เครื่อง

 F/A-18E/F  มี AGM-84 HARPOON

 RAFALE มี EXOCET AM-39

 SU-33 มี 3M80 MOSKIT หรือชื่อ นาโต้ ว่า SS-N-22 Sunburn

 F-35B & CV  น่าจะติดได้ทั้ง HARPOON และ NSM เวอร์ชั่น นอร์เวย์

 JAS-39 NG  มี RBS - 15F

   เออ.....ตอนแรกลืมใส่ชื่อ MIG-29K ไปด้วย แต่มันมีความเป็นไปได้น้อย ไม่ใส่ดีกว่า

  จากนั้นก็มาดูประสิทธิภาพ ทางการรบทางอากาศ.................ข้อนี้ ไม่ขอวิเคราะห์ แล้วกันครับ เพราะ สมาชิก หลายๆท่าน ก็คงจะรู้อยู่แล้ว

 

  ประเด็นสุดท้าย ก็คือ เม็ดเงิน ครับ........ก็คือ ทาง กบร. มีงบประมาณเท่าไร ที่จะซื้อเครื่องบิน 8 เครื่อง

  จะคำนวน ราคาเครื่องบิน + อาวุธ + การฝึกหัดนักบิน และ อื่นๆ...........จะได้ตัด ตัวเลือกออก

 ตอนนี้ผมตัด F-35 ออกเพราะว่า.........โครงการ ล่าช้า ยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่าง

 ตัด JAS-39 ออกเพราะว่า จะไปทับซ้อนกับ กองทัพอากาศ ( เว้นเสียแต่ว่า ไม่อยากให้มีเครื่องบินหลายแบบเกินไป และอาจใช้ อะไหล่ ร่วมกัน หวยอาจออก JAS-39 )

   เหลือ 3 ตัวเลือก

ถ้าหวยจะมาออกที่ SU-33 ผมว่าน่าจะเปลี่ยนเป็น SU-30MKI มากกว่า เพราะเราไม่ได้มีเนือบรรทุกเครื่องบิน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ SU-33

 *เพราะ SU-30 MKI ก็ติด MOSKIT ได้ หรือว่า Brahmos ไม่แน่ใจ

 ส่วน RAFALE ก็แพงเกินไป.............แต่ถ้าได้ รับ งบประมาณเยอะ ผมก็เชียร์ ราฟาล เพราะจะเอา ค่านายหน้า ( แต่ไม่รู้กี่หมื่นล้าน ) คงได้มากกว่าเสี่ย.........ถ้า ฟลุ๊ค ได้มาจริง ขอให้เป็นรุ่น Standard F-3 ติด เรดาร์ AESA.............อย่างนี้พูดได้เลยว่า กบร. มีเครื่องบิน ที่เหนือกว่า ทอ. เสียอีก

   F/A-18F  คงจะเป็นตัวเลือก ที่เป็นไปได้มากที่สุด ณ เวลานี้........ไม่ต้อง สาธยาย มาก ประสิทธิภาพ ไอ้กัน มันก็ใช้ให้เราเห็นอยู่ทุกวัน ฝึกร่วมก็เคยแล้ว ประสิทธิภาพในการโจมตี ทั้งทางบก/ทางทะเล ก็พิสูจน์ มาแล้ว

  ราคาจัดว่าค่อนข้างแพง ถ้าเป็น เวอร์ชั่น ออสเตรเลีย แพงกว่า RAFALE  แต่ถ้าไม่เรื่องมาก เอาแบบ ธรรมดา BLOCK 1  ราคาก็อยู่ที่ 60 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ราคาถูกกว่า RAFALE

  RAFALE M  ราคา  67.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

***แต่ กาก้า แพงกว่า แมน ซิตี้ ยื่นข้อเสนอ  246 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อ กาก้า จาก เอซี มิลาน

  108 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นค่าตัว ให้ เอซี มิลาน

  108 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นค่าเหนื่อย กาก้า

ที่เหลือ เป็นค่า เซ็นสัญญา และ อื่นๆ จิปาถะ

 ตอนนี้ ค่าเงินปอนด์ อยู่ที่เท่าไร ใครทราบบ้าง คูณ เข้าไป..........กาก้า 1 คน ซื้อเครื่องบินได้กี่เครื่อง...............คงไม่ว่าน่ะ กับ สาระปิดท้าย

 

โดยคุณ TOP SECRET เมื่อวันที่ 17/01/2009 05:20:15


ความคิดเห็นที่ 9


 เพิ่มเติม ท่าน NUI-714 ครับ

   ผมว่าก็น่าจะดีครับ.........

    เอา J-11B  มาติดตั้ง ระบบ อวิโอนิกส์ จาก อิราเอล ฝรั่งเศส............พูดง่ายๆ ก็คือ.............ติดระบบ ทุกอย่างให้เหมือนกับ SU-30 MKI ของ อินเดีย ครับ

   เพราะ J-11 มันก็ SU-27 ดีๆ นีเอง...............

   ส่วนตัวแล้ว ไม่ว่าจะ SU-30MKI / SU-33 / J-11B ล้วนแล้วแต่มีความสามรถ ในการรบทางอากาศได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ครับ

   และก็คงจะทำให้ เพื่อนบ้าน เกรงใจ ได้พอสมควร

   อีกอย่างหนึ่ง...............ถูกใจ ท่าน กบ ด้วยเห็นบอกว่า อย่างได้เครื่อง ใหญ่ๆ 2 เครื่องยนต์ อยู่ด้วย

 

  แต่ส่วนตัวผม ผมชอบ......................ใครไม่รู้ก็บ้าแล้ว อิอิ

โดยคุณ TOP SECRET เมื่อวันที่ 17/01/2009 05:29:34


ความคิดเห็นที่ 10


ส่วนตัวชอบ Su-27 กับ Su-33 และเห็นด้วยกับคุณ Nui-714 นะครับ

แต่เครื่องยนต์จากตะวันตก (ตามมิติของเครื่อง Su อาจได้สั่งทำรุ่นใหม่)และระบบอวิโอนิคต่าง ๆ คงต้องเขียนโปรแกรม Flight Control Module ใหม่ (โอ้ งานใหญ่)

ถ้าทำได้จริง เราคงได้ Su-27 RTN

แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร

โดยคุณ Nuipibah เมื่อวันที่ 17/01/2009 06:16:23


ความคิดเห็นที่ 11


....บ.ข.รัสเซีย หากนำมาใช้ที่ กบร. แล้วน่าสนใจครับเพราะประสิทธิภาพดีมากมายก่ายกองโดยเฉพาะอาวุธโจมตีมีให้เลือกเพียบ อย่างน้อยๆระบบอาวุธต่อตีเรือแต่ล่ะอย่าง แซม เพื่อนบ้านประจำเรือก็ส่องไม่ถึงแล้วล่ะ  แต่ว่า

.....กบร. ต้องเริ่มใหม่ที่อะไรบ้าง การซ่อม อาวุธ ค่าบำรุงรักษา ส่วนไอ้เรื่องให้ยิวโม ฝรั่งเศสโม ก็ให้มันอายุยืนยาวๆ ไม่ยำแบบ มิก-29 เอ็น มาเลเซีย ก็จะดีมากเลยล่ะครับ (หนึ่งในต้นแบบที่เราควรดู เสือเหลืองเราโมแหลก)  หากรับประกันตรงนี้ได้ว่าโมแล้วใช้ได้นานเหมือนเครื่องใหม่ๆจนปลดประจำการก็โอเค  แต่หากโมแล้วงบประมาณบานปลายแถมซ่อมบำรุงยากเย็นก็ไม่ควรจะโมล่ะครับ

....ส่วนเรื่องตัวเลือกที่เหมาะสมนั้น  ส่วนตัวอยากให้ แจส-39 นี่ล่ะ ประหยัดงบและยืมจากกองบินอื่นได้  อาวุธจัดจ้านแค่บรรทุกได้น้อยกว่า(ตรงนี้ก็ดูว่ามีงบหาอะไรมาติดได้มั้ง)  ใช้ร่วมกับ ท.อ.เป็นตัวเลือกที่ดี ประหยัดนะ  ส่วนประสิทธิภาพในการโจมตีต้องฝึกกันไปครับ ฝรั่งเศสยังใช้ อิเทนดาร์ท ประจำเรืออยู่เลยทั้งๆที่เก่ากว่าเป็นไหนๆ

โดยคุณ MIG31 เมื่อวันที่ 17/01/2009 07:08:33


ความคิดเห็นที่ 12


 

   ซื้อได้ครบตามที่ทร.เราต้องการล่ะครับ   พร้อมจรวดอีกนิดหน่อย    เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลนี่รวยกว่าทร.เราอีกเน๊อะ

 

โดยคุณ neosiamese เมื่อวันที่ 17/01/2009 07:09:04


ความคิดเห็นที่ 13


โครงการจัดหา บ.โจมตี จำนวน8ลำของกองทัพเรือนั้นเป็นโครงการที่มีบันทึกอยู่ในแผนพัฒนากองทัพของกระทรวงกลาโหมรายละเอียดมีดังนี้

บันทึก 8 รายละเอียดความต้องการเครื่องบินโจมตีทางทะเลของ ทร. 
             8.1 ประเภท  :  บ.โจมตีทางทะเล
             8.2 โครงการ  : 8 เครื่อง    ระยะเวลาโครงการ : 2553-2555
             8.3 ขีดความสามารถที่ต้องการ
                   8.3.1 โจมตีเรือผิวน้ำและเป้าหมายในทะเล
                   8.3.2 ป้องกันภัยทางอากาศให้แก่กองเรือ
                   8.3.3 สนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดทั้งบกและในทะเล
             8.4 คุณลักษณะสำคัญ
                   8.4.1 ปฏิบัติงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
                   8.4.2 รัศมีปฏิบัติการไม่ต่ำกว่า300ไมล์ทะเล
                   8.4.3 ติดตั้งอาวุธนำวิถีอากาศ-สู่-พื้นสำหรับทำลายเรือผิวน้ำระยะไม่ต่ำกว่า 40 ไมล์
                   8.4.4 ติดตั้งระเบิดทำลายเป้าหมายบนบกและในทะเล
                   8.4.5 ติดตั้งอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศ
                   8.4.6 มีอายุการใช้งานและสายการผลิตที่สามารถสนับสนุนอะไหล่ในการซ่อมบำรุงได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี

อย่างไรก็ตามตามที่กล่าวข้างต้นครับว่าโครงการ บ.โจมตีทางทะเล 8ลำนั้นไม่ใช่โครงการจัดหาอากาศยานที่เร่งด่วนถ้าเทียบกับ ฮ.ประจำเรือฟริเกต และ ฮ.ลำเลียงอเนกประสงค์

ซึ่งถ้าดูในข้อกำหนดด้านคุณสมบัติแล้ว บ.โจมตีจะต้องมีขีดความสามารถในการใช้อาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศและอากาสู่พื้นซึ่งพื้นฐาน บ.โจมตีส่วนใหญ่สามารถติดใช้งานได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้ามาดูในส่วนของรัศมีทำการที่ต้องไม่ต่ำกว่า 300nm รวมถึงเครื่องต้องมีอายุการใช้งานและสายการผลิตรองรับไม่ต่ำกว่า 20ปีนั้น ค่อนข้างชัดเจนครับว่า บ.ดังกล่าวต้องเป็น บ.ใหม่ขนาดกลางขึ้นไปแน่นอน เพราะฉนั้นคงต้องตัด บ.มือสองออกไปครับ

ทั้งนี้ในส่วนของนาวิกโยธินสหรัฐฯนั้นมีหลายฝูงที่ใช้ F/A-18A+ ซึ่งปรับปรุงมาจากรุ่น A เดิมอยู่ครับ บางฝูงก็ใช้ F/A-18C ซึ่งก็มีคละๆกัน
ในส่วนของ AV-8B นั้น ฝูงบินโจมตีที่มีประจำการอยู่จะมีทั้งรุ่น AV-8B Harrier II Night Attack ซึ่งไม่ติด Radar และ AV-8B Harrier II Plus ซึ่งติด Radar AN/APG-65 ผสมครับ
อย่างก็ตามในรุ่น Harrier II Plus ของนาวิกโยธินสหรัฐฯนั้นไม่มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธปล่อย AMRAAM ได้แบบของ สเปน หรือ อิตาลี ครับ เพราะต้องมีการปรับปรุงทั้ง Hardware และ Software เพิ่มเติม
โดย บ.AV-8B ของนาวิกโยธินสหรัฐฯก็เข้าประจำการในช่วงไล่เลี่ยกับ F/A-18D ของนาวิกโยธินสหรัฐฯครับคือราว ปี 1987-1993 อายุการใช้งานก็น่าจะใกล้เคียงกัน ซึ่งความล่าช้าในการพัฒนา F-35B ก็คงทำให้ระยะเวลาในการปลด AV-8B ต้องยืดออกไปอีกครับ
ก็ตามที่กล่าวในข้างต้นครับว่าจากประสบการณืที่ผ่านมา กบร.คงจะเลือกจัดหา บ.ใหม่มากว่า ซึ่ง บ.ที่จะมาแทน AV-8S คงต้องรอ F-35B ครับถ้ามีงบประมาณเพียงพอและสหรัฐฯมีนโยบายจะขายให้

ถ้าดูจากคุณสมบัติพื้นฐานโดยรวมแล้วส่วนตัวเชื่อว่าเป็นไปได้มากที่ F/A-18F นั้นจะเป็นตัวเลือกที่กองทัพเรือสนใจที่สุดครับ เพราะราคาดูจะแพงน้อยกว่าตัวเลือกอื่นเช่น Rafale และถ้าเทียบกับ Su-30MK ซึ่งต้องทำการจัดหาอาวุธและระบบสนับสนุนประกอบอื่นๆใหม่หมดแล้ว อย่างน้อย F/A-18F นั้นยังสามารถติด AIM-9, กระเปาะจรวด 2.75", ระเบิดไม่นำวิถี Mk80s และ AGM-84 ซึ่งเป็นอาวุธพื้นฐานที่ กบร.มีใช้งานติดตั้งกับอากาศยานในปัจจุบันอยู่แล้วครับ

ในส่วนของ บ.โจมตีจีนนั้นส่วนตัวคิดว่าจำเป็นที่จะต้องขอตัดออกไปเช่นกัน
บ.ขับไล่/โจมตีทางทะเลที่จีนพัฒนาขึ้นเพื่อส่งออกแบบหนึ่งคือ FBC-1 Flying Leopard หรือ JH-7A รุ่นส่งออกนั้นเป็น บ.ที่จีนมีกาประชาสัมพันธ์มาได้ ระยะหนึ่งแล้วครับ โดยคุณสมบัติก็ตรงกับบันทึกของกองทัพเรือ แต่ว่าในส่วนของฝูงบินของกองทัพเรือจีนเองนั้นยังจัดหา JH-7 เข้าประจำการจำนวนไม่มากและไม่มีประเทศใดสนใจจะจัดหาไปใช้เลยครับ ซึ่งจีนเองก็พอใจกับการจัดหา Su-30MK2 ซึ่งมีสมรรถนะสูงกว่ามากกว่า JH-7 ครับ

และ J-11B ซึ่งเป็น Su-27SK ที่จีนผลิตขึ้นเองในประเทศโดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมโดยใช้เครื่องยนตร์ระบบ Avionic และ อาวุธที่จีนพัฒตนาเองล้วนนั้น เป็นไปได้น้อยมากๆที่จีนจะมีการส่งออกครับ
เพราะสถานการณ์ตลาด บ.ขับไล่ในปัจจุบันต่างจากสมัยสงครามเย็นที่จีนสามารถ Copy MiG-21 แบบผิดกฎหมายเป็น J-7 แล้วส่งขายได้ทั่วโลกมาก
ก็มีข่าวมาตลอดว่ารัสเซียมีความไม่พอใจมากครับโดยเกรงว่าจีนจะผลิต J-11B แข่งกับ Su-27SK/Su-30MK ของรัสเซ๊ยเอง ซึ่งปัจจุบันจีนเองก็เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สำคัญที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย การทำให้รัสเซียไม่พอใจไม่ใช่ผลดีต่อจีนครับ ฉนั้นจีนคงจะผลิต J-11B เพื่อใช้ภายในประเทศเป็นเท่านั้นครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 17/01/2009 07:10:17


ความคิดเห็นที่ 14


ไม่ สน J10 บ้างหรือครับ ติด C802 สุดยอดไปเลย ราคาไม่แพงด้วย
โดยคุณ sherlork เมื่อวันที่ 17/01/2009 18:57:28


ความคิดเห็นที่ 15


เห็นด้วยกับท่าน AAG_th1 ครับ...เรื่อง ถ้า ทร. จะมี บข.ใหม่ น่าจะเป็น F/A-18F มากกกว่า...แต่ผมยังมีข้อสงสัย ในเรื่องของ A-7 กับ AV-8 ตามนี้ครับ..

"รวมถึงประสบการณ์ที่กองทัพเรือไทยจัดหา บ.มือสองเช่น AV-8S และ A-7E ซึ่งใช้งานได้เพียงไม่เกิน10ปีก็ไม่สามารถปฏิบัติการต่อได้เนื่องจากขาดอะไหล่และโครงสร้างเครื่องหมดสภาพไม่สามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัย"

ผมว่าปัญหาของ ทร. น่าจะเป็นเรื่อง งบประมาณ มากกว่า ครับ...นักบิน A-7 ของ ทร. นั้น ผมไม่ทราบว่ามีกี่ท่าน แต่เท่าที่เห็นตามหนังสือ จะมีอยู่ประมาณ 9 ท่าน...และข่าวของนักบิน ทร. ในส่วนของ A-7 และ AV-8 ก็ไม่เคยปรากฎ ว่าบินครบ 1,000 ช.ม. (ในสมมติฐานปีละ 100 ช.ม.บิน) หรือ 100 หรือ 200 หรือ 500 ช.ม. บิน...

ในขณะที่ A-7 มีเครื่องบินพร้อมรบ ในขณะรับมอบ จำนวน 18 ลำ (พร้อม ลำอะไหล่อีกประมาณ 2 ลำ) ถ้า ทร. ใช้งานบินประมาณ 50% ของทั้งหมด ก็ประมาณ 9 ลำ ก็น่ายังมี บ.พร้อมรบ ที่สามารถนำอะไหล่ มาซ่อมกินตัวได้อีก ประมาณ 9 ลำ....รวมกับ บ.อะไหล่อีก 2 ลำ...ผมก็คิดเอาเองว่า บ.อะไหล่ จะมากกว่า บ.ที่ใช้งานจริง...และในความจริง ทร. ได้บิน A- 7 รวมทั้งหมดได้กี่ ช.ม. บิน...(ซึ่งหมายถึง ค่าใช้จ่ายต่อ ช.ม.บิน x ชม.บิน = ค่าใช้จ่ายของ ทร. ในขณะที่ งบประมาณของ ทร. จะน้อยที่สุดของทั้ง 3 เหล่าทัพในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 40-44  ทร.ได้รับมอบปี 39) ซึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เราจะได้รับข่าวสารในงานของ AV-8 มากกว่า...

และตามที่เคยมีข่าวการขอประมาณ จัดซ่อม AV-8 ประมาณ 100 ล้านบาท...แต่งบประมาณก็ยังไม่ได้รับอนุมัติ ก็ถูกรัฐประหารไปก่อน จนถึงปัจจุบัน...

ผมจึงมองว่า บ.มือสอง ของ ทร. ไม่น่าจะเป็นปัญหาหลัก เท่ากับ งบประมาณ ของ ทร. ที่ทำให้ไม่สามารถ บินได้คุ้มค่า มากกว่า และงบประมาณในการซ่อมบำรุง และหน่วยงานบุคคลากรของ ทร. ที่มีประสิทธิภาพในเรื่องเทคนิคของ บ.ไอพ่น...

 

 

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 17/01/2009 19:46:54


ความคิดเห็นที่ 16


คราวนี้ มาดูถึง งบประมาณ ในการจัดหาของ ทร.

ในส่วน ฮ.ประจำเรือ SUPER LYNX 300 กับ บ.ลำเลียงเปิดท้าย และ ฮ.MH-60 S จะเป็นโครงการเร่งด่วนของ ทร. ผมว่างบประมาณในส่วนนี้ ไม่น่าต่ำกว่า 500-600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 16,000 - 19,000 ล้านบาท)

ในขณะนี้ ทร. ยังไม่รู้ว่างบประมาณในการต่อเรือ สมรรถนะ สูง อีกจำนวน 2 ลำ จะสามารถเกิดขึ้นได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือไม่...ในขณะที่ประเทศ ก็มีความเสี่ยงในเรื่อง เศรษฐกิจ อยู่...โดยงบประมาณของเรือ สมรรถนะสูง (ต่อต้านเรือผิวน้ำ และต่อต้านภัยทางอากาศ) ผมว่าก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 19,000 ล้านบาท) และเมื่อ บวกกับระยะเวลาในการสร้างอีกประมาณ 4 ปี ในระหว่าง 6 - 7 ปี ข้างหน้า...กำลังทางเรือของ ทร. จะยังคงเท่าเดิม...ในขณะที่ เพื่อนบ้าน ในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น มาเลเซีย ก็มีข่าวการจัดหาเรือ ลิเคียว รุ่น 2 ออกมาแล้ว คงรองบประมาณ เท่านั้น และเรือดำน้ำ สกอร์ปิเน่ ก็จะเข้าประจำการ...และ สิงคโปร์ ก็จะมีเรือชั้น Formidable ประจำการพร้อมรบ ครบ 6 ลำ...รวมถึงเรือดำน้ำใหม่ ก็น่าจะเริ่มเข้าประจำการแทน เรือดำน้ำ เดิม...

ดังนั้น โอกาส ที่ถ้า ทร. มี บ.ขับไล่ ที่มีความสามารถต่อต้านเรือรบผิวน้ำ ได้ และสามารถป้องกันตนเองได้ จากเรือที่มีสมรรถนะป้องกันภัยทางอากาศ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถคุ้มครองน่านน้ำในทะเลได้ ผมดู ก็น่าจะช่วยสมดุลทางทหาร ทางเรือ ได้เหมือนกันครับ...

และจากปัญหาเดิม คือ เรื่อง งบประมาณ โอกาส บ.มือ 1 เช่น F/A-18F คงยังไม่น่าเกิด (ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านเหรียญ ประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งซื้อเรือรบสมรรถนะสูง ได้ 1 ลำ)

เมื่อเทียบกับ ซื้อ บ.มือ 2 ประมาณ 80-100 ล้านเหรียญ + งบประมาณ ปรับปรุงอีก 1 เท่าตัว คือ ประมาณ 80-100 ล้านเหรียญ รวมประมาณ 160-200 ล้านเหรียญ (5,000 - 6,000 ล้านบาท ราคาประมาณเรือ OPV 1 - 2 ลำ ซึ่งยังไม่ใช่ภาระกิจต่อต้านเรือรบผิวน้ำ) ได้เครื่องบินพร้อมรบ ต่อต้านเรือผิวน้ำ ครองอากาศเหนือน่านน้ำ จำนวน 8 ลำ อายุใช้งานประมาณ 15 ปี

เมื่อมองในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ โอกาส เครื่องบินขับไล่ ของ ทร. แทบจะไม่น่าเกิด...แต่ในขณะเดียวกัน โอกาส เรือสมรรถนะสูง ก็ดูไม่น่าจะต่างกันเท่าไหร่ เพราะงบประมาณใกล้เคียงกัน...เพราะดูเป้าประสงค์ ทร. คงมีความต้องการ OPV ประจำการครบจำนวน ก่อน เรือสมรรถนะสูง...

ในแง่ทางเลือก บ.มือ 2 ที่มีสมรรถนะ ต่อต้านเรือรบผิวน้ำ และครองอากาศในน่านน้ำ ก็น่าจะทดแทน เรือสมรรถนะสูง ได้ในช่วงระยะเวลา ที่ ทร. ยังไม่สามารถมีงบประมาณมาจัดหาได้...โดยในงบประมาณ น่าจะประมาณ 1/2 หรือ 1/3 ของการจัดหา เรือสมรรถนะสูง...

ผมเลยมองว่า เป็นแค่ อีกทางเลือกหนึ่งครับ

 

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 17/01/2009 20:21:29


ความคิดเห็นที่ 17


ขอแก้ไขครับ...

"ในงบประมาณ น่าจะประมาณ 1/2 หรือ 1/3 ของการจัดหา เรือสมรรถนะสูง..."

เป็น

"โดยในงบประมาณ น่าจะประมาณ 1/3 หรือ 1/4 ของการจัดหา เรือสมรรถนะสูง..."

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 17/01/2009 20:29:48


ความคิดเห็นที่ 18


แหม อ่านข้อความของท่าน Juldas แล้วโดนใจมากครับ  และถูกต้องด้วย ยืนยันครับ
ปัญหาของ กบร. คืองบประมาณครับ เงินไม่พอ งบสำหรับฝึกบินไม่พอครับ

A-7 โครงสร้างเครื่องบิน ไม่มีปัญหา ใช้ได้อีกหลายปี มีอะไหล่ จำนวนมาก สามารถถอดได้จากเครื่องอื่น แต่ก็มีอะไหล่บางอย่างที่จำเป็นต้องซื้อใหม่ เครื่องยนต์สภาพดีมากครับ ยังกริบอยู่เลย มีปํญหาเรื่องดินขับของเก้าอี้ดีดตัว หมดอายุ และระบบไฟฟ้า รวมถึงสายไฟ จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ และนักบิน A-7 หลายท่านลาออกไปเป็นนักบินพาณิชย์ และบางท่านก็เปลี่ยนแบบ ไปบินเครื่องใบพัด หรือปีกหมุนครับ สรุปคือ A-7 ไม่มีนักบินพร้อมรบแล้วครับ  รวมถึงไอ้กันเองก็ทำเราแสบมากเรื่อง A-7  ขอเล่าให้ฟังอีกครั้งนะครับ
กบร. เคยมีโครงการปรับปรุงสภาพ A-7 จำนวน 3 เครื่อง เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว งบประมาณมีแล้วนะครับ ตอนแรกติดต่อกับไอ้กัน ผลปรากฏว่ามันเสนอราคาแพงมาก เราก็ไม่เอา และไปติดต่อกรีซแทน ซึ่งวกรีซ ให้ราคาถูกกว่ามาก จึงกำหนดวันเซ็นสัญญา รู้มั้ยครับว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนถึงกำหนดการเซ็นสัญญา 1 วันทางกรีซ แจ้งมาขอยกเลิก เนื่องจากว่า ถูกมหามิตรของเรา คือไอ้กัน กดดัน 

AV-8 ปัญหา หนักกว่า A-7 ครับ อะไหล่ขาดมากกว่า และไม่มีงบเหมือนกัน และนักบินก็มีคุณสมบัติที่ไม่สามารถได้รับอนุญาตให้บินเดี่ยวได้ เนื่องจากขาดการบิน ต่อเนื่องเกินกว่าที่กำหนดไว้ครับ  

กบร มีงบประมาณสำหรับฝึกบินไม่พอครับ


โดยคุณ โต้ง เมื่อวันที่ 17/01/2009 20:33:09


ความคิดเห็นที่ 19


ความเป็นไปได้ที่จัดหา f-18 เป็นไปได้น้อยเนื่องจากราคา และการจัดหาเครื่องบินมากแบบในประเทศสารขัณฑ์อย่างเราจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ผมมองตัวเลือกในอนาคตได้ดังนี้
jas-39 c/d/e/f
f-35 a/b (อันนี้เหมาะกับกองทัพเรือแต่คงจะนาน ไม่ทราบว่ายังจะเปิดให้ประเทศอื่นร่วมโครงการอยู่หรือเปล่า)
f-16 c/d หรือ MLU

โดยคุณ sam เมื่อวันที่ 17/01/2009 22:57:43


ความคิดเห็นที่ 20


ผมเห็นด้วยครับ หากกองทัพเรือต้องการเครื่องบินขับไล่จริง และตัวเลือกที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ F/A-18F ที่ระบุเฉพาะรุ่น F ก็เพราะมีความต้องการเพียง 8 เครื่อง และเน้นบทบาทที่ภารกิจโจมตีและสนับสนุนกองเรือ สองที่นั่งดูจะเหมาะสมที่สุดและสามารถใช้ฝึกนักบินได้อีกทาง ส่วนรุ่นที่เป็นเครื่องยนต์เดี่ยวนั้น ถ้าเทียบกับภารกิจที่ต้องทำของกองทัพเรือนั้นไม่เหมาะนักครับ เพราะเครื่องบินที่ต้องบินอยู่เหนือน่านน้ำทะเลนานๆนั้นควรจะมีสองเครื่องยนต์ เนื่องจากป้องกันกรณีเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งดับ อีกเครื่องหนึ่งยังอาจจะ(อาจจะ นะครับเพราะยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์กรณีนี้ให้พิสูจน์)ยังพอประคองกลับมาที่ฐานหรือสนามบินอื่นที่ลงได้ ทำให้ลดการสูญเสียได้ โดยเฉพาะนักบินหากดีดตัวกลางทะเลและการค้นหาล่าช้าหรือไม่พบก็คงจะไม่รอดเช่นกัน ในขณะที่เครื่องยนต์เดี่ยวนั้นหากดับกลางทะเลแล้วคงต้องเตรียมดีดตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะมีข้อทักท้วงว่า "อ้าว ! ทีกองทัพอากาศยังเอา JAS-39 เครื่องยนต์เดี่ยวมาใช้ในภารกิจทางทะเลเลย" ซึ่งหากจะตอบก็ต้องพูดถึงภารกิจของกองทัพอากาศว่า กองทัพอากาศไม่ได้มีภารกิจทางทะเลเป็นหลัก แต่จะเน้นป้องกันภัยทางอากาศเป็นหลักและจะไม่ออกนอกน่านฟ้าไทยหากไม่จะเป็นจริงๆ(เพราะถ้าออกไปเมื่อไหร่นั่นหมายถึงรุกเข้าไปโจมตีประเทสอื่น) ส่วนจะทำภารกิจทางทะเลนั้น อาจจะเพื่อสนับสนุนกองเรือของทางกองทัพเรือหากมีการร้องขอ ไม่ได้ลาดตระเวณทางทะเล เมื่อทำภารกิจจบแล้วก็จะบินกลับฐาน ดังนั้นหากเกิดปัญหากับเครื่องบินขณะอยู่กลางทะเลนั่นก็คือยังอยู่ในน่านน้ำไทย ซึ่งมีทำให้การค้นหานักบินไม่น่าจะกินเวลานานมากนัก ผมจึงมองว่าหากกองทัพเรือจะมีการจัดหาควรเป็นสองเครื่องยนต์ และที่มองว่า F/A-18F เหมาะสมเพราะอาวุธที่กองบินทหารเรือมีใช้มันเป็นของอเมริกาซึ่งน่าจะสามารถนำมาติดตั้งให้กับ F/A-18F ได้เลยดดยไม่ต้องเปลี่ยนแบบจัดหาจนดูหลากหลายมากไป

ข้อความทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวครับ ข้อมูลอาจผิดพลาดไปประการใดต้องขออภัย ณ ที่นี้ครับ

โดยคุณ เด็กทะเล เมื่อวันที่ 18/01/2009 00:43:57


ความคิดเห็นที่ 21


ผมลองสังเกตุ การวางกำลังรบ ของ ทร. หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นะครับ...

ในสงครามทางเรือ ไม่ได้หมายความว่า มีแค่ เรือรบ สู้ กับ เรือรบ เท่านั้น...

เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด ก็เป็นอาวุธทางทะเล ในการจมเรือรบ ด้วยเช่นกัน...อเมริกา กับ ญี่ปุ่น มีชัยชนะทางทะเล ที่สำคัญ ๆ หลายครั้ง ก็ด้วย เครื่องบินโจมตีทะเล...ในขณะที่ อังกฤษ และ เยอรมัน แม้จะมีเรือรบที่ดี แต่ก็ไม่ปรากฎ ชัยชนะที่สำคัญ ๆ เลย...เพราะ อังกฤษ และเยอรมัน ไม่มีเครื่องบินโจมตีทะเล ที่ดี...

และ ทร. ก็คงมองเช่นนั้น เหมือนกันว่า เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด ก็เป็นอาวุธทางทะเล แบบหนึ่ง...ในช่วงปี 2494 ทร. จึงได้รับความช่วยเหลือทางทหารจาก สหรัฐ ในส่วนของ บ.เฮลไดเวอร์ และ แบร์แคท...ซึ่ง ก่อนหน้านี้ ทร. ก็ได้จัดหา Firefly มาก่อนหน้านี้แล้ว...ซึ่ง บ. เหล่านี้ ก็เป็น บ.โจมตีทิ้งระเบิด ซึ่งผมมองเป้าประสงค์ขณะนั้น ก็คือ ทิ้งระเบิดจมเรือรบ...

ดังนั้น การที่ ทร. จะจัดหา เครื่องบินรบ เพื่อใช้ในการต่อต้าน เรือผิวน้ำ ก็น่าจะเป็นเหมือน แนวคิดเดิม ที่มีการจัดหา Firefly Helldiver และ Bearcat

ก็อยู่ที่ว่า ทร. จะเสนองบประมาณ และจัดวางงบประมาณ เพื่อเสนอกับ ผู้มีอำนาจอนุมัติ อย่างไร....

และจากข้อมูลของท่านโต้ง...ถ้า ทร. มีงบประมาณในการปรับปรุง A-7 ตามเงื่อนไขของ สหรัฐ...ก็น่าจะหมายความว่า A-7 ยังคงมีสมรรถนะในการรบตามปกติ...เพียงแต่ ในความหมายว่า ราคาแพง...เป็นราคาแพง ของ ครม.ในขณะนั้นหรือเปล่า...และ ทร. สามารถชี้แจง ได้เพียงพอหรือไม่...ถึงความจำเป็น ระหว่าง งบประมาณซ่อมราคาแพง กับ การต้องปล่อยทิ้งให้สูญเสีย และต้องดำเนินการจัดหาใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะใช้งบประมาณที่สูงกว่าหลายเท่า...ผมว่า ทร. ควรจะต้องปรับวิธีการนำเสนองบประมาณ ในลักษณะที่ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง จ่ายแพง กับ ไม่จ่าย กับ ซื้อใหม่ เทียบกับ ภัยคุกคามที่คาดว่าน่าจะเกิด.....ให้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณ มีความเห็นที่คล้อยตาม....

เพราะ A-7 ถ้าผมจำไม่ผิด ทร. ก็เสียงบประมาณในการจัดหาน่าจะประมาณ 80-100 ล้านเหรียญหรือเปล่า...ผมไม่แน่ใจ ก็ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากพอกับการจัดหาเรือรบใหม่ ได้ในขณะนั้น...จึงทำให้การที่ A-7 ไม่ได้รับงบประมาณในการซ่อมแซมเพื่อให้ทำการรบได้ เป็นการสูญเสียจำนวนเงินดังกล่าวไป โดยไม่เกิดประโยชน์เพียงพอ ครับ....

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 18/01/2009 03:07:10


ความคิดเห็นที่ 22


อันนี้ไปค้นเจอมาครับ

การดำเนินการโครงการของกองทัพเรือ
มติคณะรัฐมนตรี -- อังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2001

คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ การดำเนินการโครงการของกองทัพเรือ แล้วมีมติ ดังนี้

1. รับทราบรายละเอียดการดำเนินการโครงการและเงื่อนไขต่าง ๆ ตลอดจนความจำเป็นในการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และการจ้างซ่อมคืนสภาพเครื่องบินโจมตีทางทะเล แบบ A-7

2. อนุมัติให้กองทัพเรือระงับการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จากโครงการซ่อมคืนสภาพเครื่องบินโจมตีทางทะเล แบบ A-7 เป็นโครงการซ่อมคืนสภาพเครื่องบินทางทะเล แบบ CL-215
                   ทั้งนี้ ในปี 2539 กองทัพเรือได้จัดหาเครื่องบินโจมตีทางทะเลฯ จำนวน 18 เครื่อง จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้าประจำการ ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องบินแบบดังกล่าวนี้ จะต้องเข้ารับการซ่อมบำรุงระดับโรงงานทุกวงรอบ 48 เดือน แต่เนื่องจากกองทัพเรือไม่มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงระดับดังกล่าว กองทัพเรือจึงได้จัดทำโครงการซ่อมคืนสภาพเครื่องบินโจมตีทางทะเลฯ จำนวน 4 เครื่อง วงเงินรวม 334,110,000 บาท โดยจะพิจารณาจ้างบริษัท Hellenic Aerospace Industry (HAI) ประเทศกรีซ (เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำการซ่อมอากาศยานให้กับกองทัพอากาศและกองทัพเรือกรีซ) ซึ่งเสนอเงื่อนไขและราคาดีที่สุด แต่เนื่องจากเครื่องบินโจมตีทางทะเลฯ ดังกล่าวเป็นยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อจากรัฐบาลสหรัฐฯ การจะให้ HAI ดำเนินการซ่อมทำจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ (Third Party Transfer) ก่อน ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการร้องขอต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ตามขั้นตอนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ทำให้กองทัพเรือเกิดความไม่มั่นใจและเกรงว่า หากไม่สามารถทำสัญญาผูกพันได้ตามกำหนด อาจเป็นเหตุให้งบประมาณปี พ.ศ. 2544 จำนวน 66,822,000บาท ต้องพับไป ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กองทัพเรือจึงขอเปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จากโครงการซ่อมคืนสภาพเครื่องบินโจมตีทางทะเล แบบ A-7 เป็นโครงการซ่อมคืนสภาพเครื่องบินทางทะเลแบบ CL-125 ซึ่งเป็นโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนรองลงมา แต่อย่างไรก็ดีกองทัพเรือได้พิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่าการดำเนินการขออนุญาตรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งเครื่องบินโจมตีทางทะเล แบบ A-7 ไปซ่อมทำระดับโรงงานที่ประเทศกรีซมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จึงได้พิจารณาที่จะดำเนินการซ่อมคืนสภาพเครื่องบินโจมตีทางทะเล แบบ A-7 ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนสูงกว่าต่อไป และขอถอนเรื่องการเสนอขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณต่อไป
        
3. ให้กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติให้กองทัพเรือขยายระยะเวลาการกันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2544 ของโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 640,000,000 บาท และโครงการซ่อมคืนสภาพเครื่องบินโจมตีทางทะเล แบบ A-7 จำนวน 66,822,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 706,822,000 บาท ไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน จากเดิมภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 เป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2545 เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

กรีซได้จัดหา A-7H ซึ่งเป็น A-7E รุ่นที่ผลิตสำหรับกรีซ(มีความแตกต่างจาก A-7E ของสหรัฐฯบางจุดเช่นไม่มีท่อเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศเป็นต้น) มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 1970s และต่อมาก็มีการจัดหา A-7E มือสองจากสหรัฐฯเพิ่มเติมในช่วงปี 1990s ซึ่งตอนนั้นกองทัพอากาศกรีซมีฝูง A-7 ประจำการอยู่สองกองบินครับ
โดยกรีซได้ทำการปรับปรุง A-7 ของตนเพื่อยืดอายุการใช้งาน เช่นการปรับปรุงเครื่องยนตร์ Allison TF-41 และระบบ Avionic ในทันสมัยขึ้น ซึ่งในช่วงที่กองทัพเรือไทยมีการจัดหา A-7E มือสองจากสหรัฐฯนั้น ก็มีแผนที่จะทำการปรับปรุงเครื่องโดยให้กรีซดำเนินการครับ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าการปรับปรุงอากาศยานแบบใดๆก็ตามที่มีการจัดหาจากสหรัฐฯจำเป็นที่ประเทศนั้นต้องได้รับการยินยอมจากสหรัฐฯก่อน ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามที่คุณโต้งได้กล่าวไว้ในข้างต้นแล้วครับ(ไม่ใช่แต่ไทยประเทศเดียวแต่สหรัฐฯมีนโยบายลักษณะนี้ทุกประเทศครับ มีหลายๆตัวอย่าง เช่นการที่อิสราเอลจะขายต่อ F-16 ของตนหรือแม้อาวุธหรืออุปกรณ์ที่จะติดตั้งกับ F-16 ให้ประเทศอื่นได้นั้นก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐฯก่อน)

ปัจจุบันกรีซยังคงมีฝูงบิน A-7 ประจำการอยู่1ฝูงครับ ซึ่งกรีซมีแผนที่จะปลด A-7 ทั้งหมดภายในปี 2012 ซึ่งก่อนหน้านั้นส่วนหนึ่งก็ได้ถูกแทนที่ด้วยเครื่องที่ใหม่และทันสมัยกว่าอย่าง F-16C/D Block 52+ ไปแล้วครับ
ส่วนตัวคิดว่าว่าถ้าดูจากระยะเวลาในการจัดหา A-7E ของ กบร.ในช่วงนั้น ร่วมกับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโดยใช้แบบแผนของสหรัฐฯที่สูงมากในตอนนั้น และการปลดประจำการของ A-7 ของกรีซเองในช่วงเวลาต่อมาแล้ว ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญที่กองทัพเรือตัดสินใจที่จะไม่ปรับปรุง A-7 ต่อครับ เพราะคงไม่คุ้มที่จะทำนั้นเอง ช่วงนั้นกองทัพยังมีโครงการจำเป็นเร่งด่วนมากว่าครับเช่นการจัดหาเรือ ตกก.เป็นต้น

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 18/01/2009 07:08:59


ความคิดเห็นที่ 23


"ระยะเวลาโครงการ" อย่างที่ท่าน AAG_th1

ได้กล่าวได้ก็คือ ปี 2553 -2555

หมายความว่า กบร.จะจัดหาบ. ภายในปี 2553-2555 หรอครับ

เชียร์ F-18Fครับ (ความชอบส่วนตัว)

โดยคุณ Wins เมื่อวันที่ 18/01/2009 07:56:37


ความคิดเห็นที่ 24


ราคาของ A-7E เก่าที่สหรัฐขายให้ไทย จำได้ว่าJanes ระบุไว้ ลำละประมาณหกแสนบาท ถูกกว่าราคา BMW สมัยนั้นเกือบครึ่ง ถ้าราคานั้น เอาน่า ได้มาแล้วค่อยหางบซ่อมเอา (ซ่อมไม่ได้ขอแพนหางมาทำโต๊ะทำโม)                                  

วันนี้ผมได้ไปทำบุญล่ากว่าที่ตั้งใจหนึ่งวัน ได้อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สละชีวิตในยุทธนาวี เกาะช้าง ขอสนับสนุนให้ทหารเรือได้มีเครื่องบินรบของตนเอง ครับ

โดยคุณ Oldtimer เมื่อวันที่ 18/01/2009 09:44:38


ความคิดเห็นที่ 25


เรื่องราคา A-7 ข้อมูลไม่ คอนเฟริมส์ ใน SIPRI ว่า Deal ที่ 82 ล้านเหรียญ ครับ...ตกลำละประมาณ 4.5 ล้านเหรียญ....

แต่ช่วงนั้น เกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง เลยไม่แน่ใจว่า ได้ชำระครบ ตาม Deal แล้ว หรือว่า สหรัฐ ยกหนี้ให้...เพราะเศรษฐกิจของประเทศเอง ก็ต้องเข้า IMF....ราคาจึงออกมาต่ำตาม Jane เคยมีข่าว...

ซึ่งถ้า ยังชำระเขาไม่ครบ...ก็อาจจะเป็น เหตุ ให้ สหรัฐ หาทางเรียกเก็บจากการซ่อมบำรุง เมื่อครบรอบ 48 เดือน...เพื่อให้เป็นไปตามมติของสภาครองเกรส ที่ขายให้ไทยในราคาข้างต้น....

เท่าที่ สังเกตุ สหรัฐ จะดำเนินการตาม มติของสภาครองเกรส...แม้ในขณะนั้น จะดำเนินการไม่ครบถ้วน...แต่ในภายหลัง ก็ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามมติ....

เช่น สภาครองเกรส มีมติช่วยเหลือประเทศไทย ในการมอบ เรือตรวจการณ์ ชั้น ไซโคลน ให้...แต่ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบ ประเทศไทย ไม่ได้รับมอบ...และ สหรัฐ ได้ไปมอบให้ ฟิลิปปินส์ แทน...

สหรัฐ จึงใช้มติดังกล่าว มาช่วย ไทย ในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ โดยขณะนั้น ไทยขอซื้อเรือจำนวน 4 ลำ แต่สุดท้าย ก็มีความสามารถชำระได้เพียง 1 ลำ ส่วนอีกลำ สหรัฐ ก็ทำการปรับปรุงให้เรียบร้อยแล้ว และสภาครองเกรส ก็มีมติส่งมอบให้ไทยแล้ว...ในเรือ ชั้น ร.ล.พุทธยอดฟ้าฯ ทำให้ ประเทศไทย ชำระเงินซื้อ เพียง 1 ลำ อีก 1 ลำ สหรัฐ มอบให้ฟรี เพื่อทดแทน ตามมติเดิมที่ยังไม่ได้ส่งมอบ เรือชั้น ไซโคลน ให้ไทย....

เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ...

 

 

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 19/01/2009 00:43:19


ความคิดเห็นที่ 26


     เชียร์ของ มือ 1 ออกห้างครับ....................กระแสมาแรง เลยต้องคล้อยตาม

   กบร.ใช้ทนคุ้มค้า.........ที่มีปัญหา ส่วนมาก เพราะ ขาดแคลน อะไหล่ ถ้าเป็น มือ 1 ล่ะก็ เยี่ยมเลย

     เชียร์ F/A-18F BLOCK II  SUPER HORNET

-เรดาร์ AN/APG-79 AESA  ( ตัวนี้ เจ๋งมาก สามารถ ทำ ELECTRONIC ATTACK ได้ )

-LINK 16 

-AN/AVS-9 night vision goggles ( สำหรับ ปฏิบัติงาน ในเวลา กลางคืน ตาม สเป๊ค ทร. )

    ไม่เอาระบบ มากมายเหมือน ออสเตรเลีย เดี๋ยวจะแพง เกินงบ

   

    อาวุธหลัก

1.AIM-120 C-5  ระยะยิง 105 กิโลเมตร

2.AIM-9X รุ่นใหม่ล่าสุด ( เอามาใช้ร่วมกับ JAS-39 ด้วย) แต่ ไอ้กัน มันจะขายให้เราหรือเปล่า กกลัวว่าจะได้ รุ่นเก่า

3.AGM-84 HARPOON สำหรับเป้าหมายในทะเล

4.GBU-12 PAVEWAY II  สำหรับเป้าหมาย บนบก

  ความจริงอยากได้ JDAM ด้วย เห็น สิงคโปร์ มี เลยอยากมีบ้าง ( แต่คงจะเกินงบ เลยตัดออก )

 

   ตาม สเป๊ค ของ ทร.ไทย ที่ท่าน AAG_th ลงไวทุกประการ  ทั้ง โจมตี ทั้งทางบก และ ทางทะเล

  และ สามารถป้องกันภัย ทางอากาศ ให้กับกองเรือ

**แต่ มันก็ยังหวั่นๆ อยู่น่ะ  SUPER SLOW HORNET  มันอืดอาด มันจะไป DOGFIGHT  สู้กับ เครื่อง SUPER MANEUVERABILITY ที่ท่อ ไอพ่น ปรับเปลี่ยน ทิศทาง ได้ หรือเปล่าหว่า

 

   

 

โดยคุณ TOP SECRET เมื่อวันที่ 19/01/2009 04:42:09


ความคิดเห็นที่ 27


เชียร์ของมือ 1

ส่วน j-11 รุ่นโมแบบ VERSION  RTN  ของ NUI -714 ช่วยขยายหน่อยครับ

ว่าครอบคลุมภาระกิจของ ทร. ได้หรือเปล่าครับ

โดยคุณ tik เมื่อวันที่ 20/01/2009 05:11:01


ความคิดเห็นที่ 28


ถ้าความต้องการเน้นโจมตีเป็นหลักลองหาของจีนมาใช้สักทีก็เข้าทีเหมือนกันจะได้ลองของและอาจได้ข้อเสนอดีๆติดไม้ติดมือกลับมา

อย่าง j-10 ,FC-1 แบบขอถ่ายทอดเทคโนโลยีกับเอามาประกอบในไทย

แต่ไม่รู้จะคุ้มรึเปล่าน้อ

โดยคุณ mang0sab เมื่อวันที่ 20/01/2009 06:01:33


ความคิดเห็นที่ 29


เป็นไปได้น้อยมากที่จีนจะผลิต J-11 สำหรับส่งออกครับ เพราะ J-11 ก็คือ Su-27SK ซึ่งรัสเซียอนุญาตสิทธิบัตรให้จีนทำการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันที่แตกต่างไปจากช่วงสงครามเย็น ถ้าจีนจะผลิต J-11 เพื่อการส่งออกจริงจะเป็นการสร้างความไม่พอใจให้รัสเซียมากครับ ซึ่งไม่คุ้มที่จีนจะปัญหาขัดแย้งกับหุ้นส่วนทางยุทธศาตร์หลักในปัจจุบันอย่างรัสเซียโดยการผลิต บ.ขับไล่แบบเดียวกันมาแข่งกับรัสเซียเองครับ

อากาศยานจากจีนในปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือมากขึ้นก็จริง แต่จากประสบการณ์การใช้งานอาวุธที่จัดหาจากจีนของทุกเหล่าทัพที่ผ่านมานั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ บ.โจมตีจากจีนไม่ใช้ตัวเลืกที่เหมาะสมครับ เช่น FBC-1 หรือ JH-7A นั้นจีนเองยังให้ความสำคัญกับ Su-30MK2 มากกว่าจึงผลิตออกมาเป็นจำนวนน้อยมากครับ และ J-10 ในรุ่นส่งออกนั้น ราคาถูกกว่า บ.ขับไล่ในระดับเดียวกันบ้างก็จริง แต่ก็คล้ายกันกับการจัดหา บ.จากรัสเซียครับคือ อาวุธและอุปกรณ์สนับสนุนพื้นฐานต้องจัดหามาใหม่หมด ไปๆมาๆจะแพงเกินไปไม่คุ้มค่าในระยะยาวครับ

หรือแม้แต่การปรับปรุงให้ บ.รัสเซียเช่น Su-30MK เองรองรับระบบอุปกรณ์และอาวุธมาตรฐานตะวันตกได้อย่าง L-39ZA/ART นั้น ในทางปฏิบัติแล้วส่วนตัวคิดว่าทำได้ยากมากเพราะ บ.ขับไล่สมรรถนะสูงมีความซับซ้อนมากการดัดแปลงจำเป็นต้องมีการวิจัยและจัดหาอุปกรณ์จากภายนอกหลายๆแหล่งและมีระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนานานกว่าปกติมาก ไปๆมาๆตัวเครื่องอาจจะแพงกว่า บ.ตะวันตกหลายช่วงตัวครับ ซึ่งถ้าอย่างนั้นไปซื้อเครื่องมาตรฐานตะวันตกแต่แรกไปเลยจะดีกว่าครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 20/01/2009 07:03:28


ความคิดเห็นที่ 30


เรียนคุณ tik ครับ...

J-11 ตัวเปล่าจากจีน+ระบบอวิโอนิคซ์ / อาวุธของอิสราเอล+เครื่องยนต์RM-15 หรือ GE-404 .... อาวุธ ASM-Popeye , AAM-Python 5 & Darby ...............   อาจดูแล้วความเป็นไปได้ยากเช่นท่าน nuipibah และท่าน AAG_th1 กล่าวไว้ข้างต้น  แต่ก็ไม่ใช่ว่าโอกาสเป็นศูนย์... L-39 เราก็ทำมาแล้ว   ด้วยงป.ที่จำกัดของทร. และถึงเวลาต้องจัดหาบ.ขับไล่จริงๆ  ผมจึงเสนอคห.ส่วนตัวประมาณนี้  อย่างน้อยก็คิดว่าราคาถูกกว่า Su-30 MKM ของมาเลฯแหงๆ (แต่สมรรถนะสูสีครับ!)   ขอบคุณครับ

โดยคุณ nui-714 เมื่อวันที่ 21/01/2009 02:26:08


ความคิดเห็นที่ 31


เอาเฉพาะกรณีเครื่องยนตร์นะครับ

บ.ในตระกูล Flanker ทุกแบบนั้นใช้ ย.ในรุ่น Saturn Lyulka AF-31 ครับ ยกเว้นแต่ J-11B ของจีนที่ใช้ ย.WS-10 ซึ่งจีนผลิตเองในประเทศ ซึ่ง ย.AF-31 นั้นเป็น ย.ขนาดใหญ่ที่ให้กำลังขับสูงสุดถึง 137kn หรือ 30,800lbs 

ในขณะที่ ย.Volvo RM-12 หรือ General Electric F404 นั้นเป็น ย.ขนาดเบากว่าให้กำลังขับเพียง 18,000lbs เท่านั้นครับ

ซึ่งอธิบายง่ายๆคือการ ย.ของเครื่องบินจาก ย.ขนาดใหญ่มาเป็น ย.ขนาดเล็กนั้นมันไม่ต่างอะไรกับการ "ออกแบบเครื่องบินใหม่" ครับ คล้ายๆกับการพัฒนา F/A-18C/D Hornet มาเป็น F/A-18E/F Super Hornet หรือการพัฒนา Gripen DEMO ที่เป็นการขยายขนาด บ.รุ่นเดิมให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งต่างจากการดัดแปลงระบบ Avionic และ ระบบอาวุธ บ.เดิมอย่างการปรับปรุง L-39ZA/ART มาก เพราะ L-39 ก็ยังใช้ ย.ดั้งเเดิมครับ และตัวอย่างที่กล่าวมาก็ยังเป็น ย.ในรุ่นใกล้เคียงกันครับคือ GE F404เป็น GE F414 ไม่ใช่กระโดดข้ามค่าย

ซึ่งการออกแบบตัวเครื่องใหม่ยกเครื่องระบบแบบนานาชาติแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ครับ ถ้าจะทำจริงต้องใช้งบประมาณและเวลาในการวิจัยและพัฒนาที่สูงมากๆ ราคาต่อเครื่องที่ได้จะแพงกว่าเครื่องรุ่นทั่วไปมากๆไม่คุ้มครับ

การเลือก บ.ที่มีสายการผลิตรองรับอยู่แล้วในปัจจุบันเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ครับ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 21/01/2009 09:28:24