หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ดร.ปณิธาน วัฒนายากร

โดยคุณ : โต้ง เมื่อวันที่ : 17/01/2009 15:40:08

ผมไปอ่านเจอ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เห็นว่าน่าสนใจ เนื่องจาก ดร.ปณิธาน บุคคลที่ไม่ไช่ทหารแต่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทหาร จึงนำมาโพสให้อ่านกันต่อครับ

Life Style

วันที่ 15 มกราคม 2552 01:00

ลงจาก.. หอคอยงาช้าง

ปณิธาน วัฒนายากร กับชุดสบายๆ (!!?!) ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 
 คุยกับ รองเลขาธิการนายกฯ และโฆษกรัฐบาล คนใหม่ ไม่กี่วันก่อนเก็บของจากจุฬาฯ ว่าด้วย ตัวตน การตัดสินใจ และชีวิตโสดในวัย 49 ปี

สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ปณิธาน วัฒนายากร ย่อมไม่ใช่หน้าใหม่ เพราะรองศาสตร์จารย์ ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายนี้ มีบทบาทการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ต่อเหตุการณ์ทางการเมืองในที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง

การเคลื่อนไหวซึ่งตกเป็นข่าวที่น่าจับตาล่าสุดของนักวิชาการหนุ่มใหญ่วัย 49 ปี คือการตัดสินใจรับตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงและปัญหาชายแดน กับหมวกอีกใบคือ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

ภายในไม่เกินหนึ่งสัปดาห์นับจากนี้ ที่ทำงานของเขาย่อมเป็นที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช่ห้องพักอาจารย์ ซึ่งเป็นสถานที่นัดหมายเพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวในชีวิตระหว่างช่วงรอยต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างวันนี้

"ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติ หนักกว่าทุกยุค สังคมแตกแยก ความเป็นกลางมีน้อย ความน่าเชื่อถือด้านข้อมูลจากแต่ละฝ่ายมีไม่มาก คนสับสน รวมทั้งปัญหาความน่าเชื่อถือของไทยในสายตาต่างชาติ ปัญหาความมั่นคง แล้วยังมีวิกฤติเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายในรุมเร้า"

ปณิธาน เปิดฉากให้เหตุผลถึงการตัดสินใจครั้งนี้ด้วยบริบทของสถานการณ์ ซึ่งมีส่วนให้เขาก้าวลงจาก "หอคอยงาช้าง" เพื่อลงมือทำงานในช่วงเวลาแห่ง "วิกฤติ" ซึ่งต่างจากการทำงานให้กับรัฐบาลด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านๆ มา แน่นอน นี่ย่อมไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิชาการมีชื่อเสียงระดับนี้จะถูกชักชวนจากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เพียงแต่ที่แล้วมา เขาไม่เคยจากสถาบัน ไม่เคยห่างนิสิต

"เมื่อมีนโยบายการเมืองลงมาจากผู้บริหาร เราเป็นข้าราชการต้องรับฟังและตอบสนอง ซึ่งผมก็ยินดีและเต็มใจ รวมทั้งการปรึกษาผู้บังคับบัญชาทุกระดับก็เห็นสอดคล้องกันว่าควรจะไปช่วย แต่ดูว่าจะช่วยแบบไหน และควรจะไปช่วยชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็กลับมาสอนหนังสือเหมือนเดิม หวังว่าจะนำความรู้จากการทำงานมาสอนนิสิต ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาด้วย"

และแม้เป็นช่วงเวลา ยากที่สุด แต่เขาก็เชื่อมั่นไม่น้อยกับกลไกการเมือง ณ วันนี้ 

"เข้าไปในเวลาที่ยากที่สุด และน่าหนักใจที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศไทย แต่ก็มั่นใจระดับหนึ่งกับกลไกทางการเมือง ต้องยอมรับว่า 76 ปีที่ผ่านมา การเมืองของเราไม่สมบูรณ์ แต่ก็มาได้ไกล และตอนนี้เรียกว่าเข้มแข็งขึ้น และดีที่สุด เรามีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีโอกาสลงคะแนนสนับสนุน และหลายฝ่ายบอกว่าสะท้อนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่หลายคนบอกว่าต้องปรับปรุง ก็ไปว่ากันในกระบวนการปฏิรูปการเมือง"

งานในตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงและปัญหาชายแดน นั้น เขามองว่ายังอยู่ในขอบเขตของการทำงานวิชาการ เพียงแต่ก้าวไปอีกขั้นโดยการผลักดันด้านนโยบาย ขณะที่หมวกอีกใบ เขายังแบ่งรับแบ่งสู้ ช่วยปฏิบัติหน้าที่แค่ชั่วคราว ด้วยพิจารณาว่างาน "โฆษกรัฐบาล" เหมาะกับจังหวะก้าวของ "นักการเมือง" ก่อนจะเติบโตในตำแหน่งสำคัญๆ ตามสายงานวิชาชีพในลำดับต่อไป ..นั่นจึงไม่ใช่หนทางที่ "ปณิธาน" เลือกเดิน เพราะเขาไม่ต้องการเป็น "นักการเมือง"

พลเรือนอยากรู้เรื่องทหาร

แม้ไม่ได้มีความมุ่งมั่นมาแต่แรกกับวิชาชีพนักวิชาการ แต่ตลอดมาในชีวิต ปณิธาน วัฒนายากร บอกว่า เขาไม่เคยทำสิ่งอื่นใด นอกจากเป็นอาจารย์ และทำงานวิชาการ

ในลำดับของการศึกษา เขาใช้เวลาเพียง 3 ปี เพื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐ จนคว้าปริญญามหาบัณฑิตมา 2 ใบ จากนั้นปริญญาเอกการเมืองเปรียบเทียบ วิชาโท รัฐประศาสนศาสตร์ วิชาเฉพาะด้าน นโยบายการป้องกันประเทศเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัย Nothern illinois รัฐอิลลินอยส์ เป็นความรู้ที่เขานำกลับมารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี พ.ศ.2536

"ประวัติการเรียนผมค่อนข้างพลิกผัน อยู่เตรียมอุดมฯ เรียนวิทยาศาสตร์ คิดว่าจะเป็นหมอ วิศวะ แต่เรียนแล้วไม่ชอบ เราชอบวิเคราะห์วิจารณ์ สนใจบ้านเมือง แต่ตอนนั้นตัดสินใจไม่ได้ เลยคิดว่าลองเรียนด้านบริหารจัดการของรัฐ น่าจะพอมีงานทำ ปรากฏว่าเรียนแล้วสนุก ได้คะแนนดีมาก รู้สึกว่ามาถูกทาง แต่คิดว่าความรู้ไม่พอ" จึงเป็นที่มาของการศึกษาต่ออย่างไม่หยุดยั้งในสาขาด้านสังคมศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา

ปณิธาน ยอมรับว่าในช่วงที่กำลังศึกษาเล่าเรียน เขาไม่ชัดเจนนักว่าสิ่งที่ตัวเองสนใจและต้องการที่จะเรียนรู้จะนำเขาไปสู่วิชาชีพสาขาใด แต่ขณะใช้ชีวิตที่สหรัฐ ดีกรีด้านรัฐประศาสนศาสตร์ กับการได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้านบริหารรัฐกิจ โดยการฝึกงานกับหน่วยงานของมลรัฐอยู่หลายปี ทำให้เขามีความมั่นใจว่าคงเอาตัวรอดได้ไม่ยากจากความรู้ที่มี นั่นทำให้เขาตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโท และเอก ในสาขาวิชาที่สนใจอย่างจริงจัง โดยพักจากโจทย์ที่ว่า "จะเรียนไปทำไม" เอาไว้ก่อน

"ตัดสินใจกลับมาเรียนด้านการทหาร การต่างประเทศ เพราะมั่นใจว่าถึงไม่มีงานทำ ก็ยังมีปริญญาโทใบแรกกับประสบการณ์ทำงาน ถ้าไม่สำเร็จในการเรียนด้านการทหารซึ่งยากมาก พลเรือนไม่ค่อยมาเรียนกัน เรียนเรื่องนโยบายป้องกันประเทศ ระบบสงคราม อาวุธยุโธปกรณ์ พอเรียนแล้วชอบมาก เรียนได้ดี ไปปรู๊ดปร๊าด อาจารย์แนะนำให้เรียนต่อเอก" และนั่นจึงเป็นความรู้อันมีค่าที่ผลักดันให้เขามายืนต่อหน้าสาธารณชนในวันนี้ ด้วยสถานะของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งมีอยู่เพียงน้อยคนในประเทศไทย

ทำไม "ปณิธาน" จึงสนใจเรื่องการทหาร และความมั่นคงถึงขนาดนี้ ?

การเมืองในชีวิตประจำวัน 

วัยเด็ก "ปณิธาน" เกิดและเติบโตในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใน พ.ศ.นั้น พื้นที่ดังกล่าวถือว่าอยู่ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนของสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ความรุนแรงไม่ปรานีใคร ญาติพี่น้องเพื่อนพ้องของเด็กชายปณิธานในวันนั้นล้วนต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายที่มาเยือน และนั่นก็เป็นเหตุให้ครอบครัววัฒนายากรต้องสูญเสียสมาชิกคนสำคัญ "มงคล วัฒนายากร" ผู้เป็นคุณพ่อของปณิธาน ไปในเหตุร้ายที่ไม่คาดฝัน ครอบครัวเล็กๆ ที่ คุณแม่ ประณีต วัฒนายากร ต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว พาลูกๆ อพยพมายังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และกรุงเทพฯ ตามลำดับ

"วัฒนายากร" เป็นสกุลเก่าแก่ ที่ขยายเป็นตระกูลใหญ่ในท้องที่ แม้ครอบครัวเล็กๆ ของปณิธานจะมาตั้งหลักปักฐานในเมืองกรุง แต่ครอบครัวใหญ่ญาติมิตรของเขายังคงพักอาศัยในพื้นที่ภาคใต้อยู่อีกจำนวนไม่น้อย หลายคนมีบทบาทสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของท้องถิ่น

"ครอบครัวโบราณเป็นครอบครัวใหญ่ เดิมเป็นพ่อค้า สมัยรัชกาลที่ 3 ทำประโยชน์ให้หัวเมืองจึงมีบรรดาศักดิ์ ต่อมาเริ่มเข้ารับราชการ บริหารงานท้องถิ่น บางคนก็เป็นพ่อค้า เมื่อเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซึ่ง 70 เปอร์เซนต์เป็นคนไทยเชื้อสายมลายู คนไทยเชื้อสายอื่นๆ จะเกาะกลุ่มกัน" 

และนั่นเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสนใจใคร่รู้ของเขาอยู่ลึกๆ มาตลอด

"อยู่ในพื้นที่มีปัญหาความมั่นคงสูง เกิดความสูญเสีย เราไม่เข้าใจ สงสัย ทำไมถึงเกิดความรุนแรง สาขารัฐศาสตร์ความมั่นคงมีคำถามตลอดเวลาว่า อะไรคือสาเหตุของความขัดแย้ง และสงคราม ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราสนใจ และพยายามหาคำตอบว่า อะไรคือเงื่อนไขของสันติภาพ"

ปณิธาน เล่าถึงบรรยากาศการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐ ว่าที่นั่นนักวิชาการศึกษาเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มข้น อาจารย์หลายคนพูดภาษาไทยคล่องแคล่ว บางคนมาศึกษาข้อมูลในพื้นที่ภาคใต้เป็นเวลาหลายๆ ปี และผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเดินทางมาเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงถือว่าเขามีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนกับผู้ที่มีความรู้อย่างลึกซึ้ง

ตัวเขาเองมีความใกล้ชิดกับข้อมูลในหลายมิติ

"กลับมาสอนหนังสือที่จุฬาฯ ได้ทำวิจัยในพื้นที่มากขึ้น คงเพราะจบมาด้านนี้ซึ่งมีคนเรียนไม่มาก เลยมีโอกาสได้ทำงานให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ เช่นการประเมินโครงการตามแนวชายแดน ได้ไปเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้มีความเข้าใจและได้รู้จักข้าราชการทหารตั้งแต่ยังมียศนายพัน แล้วเปลี่ยนไปรับตำแหน่งต่างๆ จนเกษียณอายุ เราตามตลอด ก็ทำให้มีเครือข่าวและเข้าใจเรื่องเหล่านี้พอสมควร 

"เพื่อนและญาติๆ อยู่ในพื้นที่เยอะด้วย โทรศัพท์คุยกันอยู่ดีๆ เกิดระเบิดร้านน้ำชาที่นราธิวาส เพื่อนผมนั่งอยู่เงียบไปเลย โทรกลับมาอีกทีพูดไม่รู้เรื่อง หูไม่ได้ยิน ต้องรีบพากันไปหาหมอ" ปณิธาน เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้เขาอยู่ในฐานะของนักวิชาการด้านความมั่นคง ที่คลุกคลีอยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จนแทบแยกไม่ออกจากชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ในสถานการณ์การเมืองร้อนๆ ของไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ดึงให้ปณิธานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกไม่ได้ด้วยเช่นกัน

"การมีบทบาทในการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ ต้องติดตามสถานการณ์ทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รวดเร็ว เกิดความรุนแรง เกิดการเผชิญหน้า เรากลายเป็นส่วนหนึ่งในกลไกที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่งานของเราจริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น" ปณิธาน พูดถึงชีวิตนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่น่าจะเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่สถานการณ์ร้อนแรงทางการเมืองย่อมส่งผลไม่น้อยต่อนักวิชาการที่ออกมาทำหน้าที่เช่นนี้นอกมหาวิทยาลัย

"ชีวิตเลยไม่น่าเบื่อ แต่บางครั้งก็ผกผันและถูกคาดหวังสูง ผมจำได้ 1 เดือนก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน คุณปกรณ์ พึ่งเนตร (ผู้สื่อข่าวสายการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ) มาสัมภาษณ์ คุยกันไปกันมา ผมบอกว่า ผมยังไม่เคยเห็นโอกาสของการปฏิวัติสูงอย่างนี้มาก่อน ดูตัวแปรหลายตัวแล้วน่าเป็นห่วงมาก สงสัยว่าจะวิกฤติ วันรุ่งขึ้น กรุงเทพธุรกิจพาดหัวเลย มีการปฏิวัติแน่ ผมก็ตกใจ ถ้าไม่ปฏิวัติผมแย่แน่ แต่ถ้าปฏิวัติก็จะหาว่าผมมีส่วนอะไร รู้เรื่องภายในหรือเปล่า คือเราพูดจากการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เข้าใจว่าสำหรับงานข่าว นี่เป็นประเด็นพาดหัว ทำเอาผมพลอยตื่นเต้นไปด้วย" ปณิธาน เล่าขำๆ ถึงชีวิตที่พัวพันกับการบ้านการเมืองได้ถึงขนาดนี้
 
Wind Beneath My Wings

ปรับโหมดจากเรื่องวิชาการ หันมาดูชีวิต หนุ่มโสด ที่หลายคนสนใจ (และสงสัย) คงเป็นด้วยวัยและความคุ้นชินต่อสื่อ อาการเขินเลยมีให้เห็นแค่นิดเดียว ตอนได้ยินคำถาม

"เป็นเรื่องที่เรากำหนดด้วยตัวเองไม่ได้ทั้งหมด ที่สำคัญคือขอให้มีคนที่รู้ใจ เข้าใจ มีคนที่เรารู้สึกดี เขารู้สึกดี ผมค่อนข้างโชคดีที่มีคนรู้ใจอย่างนี้เป็นระยะ แต่องค์ประกอบในการมีครอบครัวของเราไม่พร้อมเท่าคนอื่น ผมอาจไม่โชคดีเท่าคนอื่น ถ้าจะให้พูดถึงชีวิตด้านนี้ บอกได้เลยว่างานที่ยากมากๆ คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแต่ละครั้งคือแฟน...

...อย่างตอนตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก สับสนว่ามีปริญญาโท 2 ใบ ควรเรียนอีกมั้ย เรียนแล้วทำอะไร โอเวอร์ควอลิไฟร์ไปหรือเปล่า จะมีงานทำหรือเปล่า จะเป็นอาจารย์กลับมาเมืองไทยก็เงินน้อย ถ้าจะทำงานอยู่เมืองนอกก็ไม่ต้องเรียน แล้วจะกลับหรือจะอยู่ แต่คนที่ให้กำลังใจ บอกว่าควรจะเรียน ก็คือแฟน เขาเป็นคนเก่ง ผมวิเคราะห์วิจัยอะไรยากๆ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ เขาคอยให้คำปรึกษา วิทยานิพนธ์ของผมอุทิศให้เขาทั้งเล่ม ผมทำเองก็จริง แต่มันจะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีเขาคอยสนับสนุน แต่พอผมกลับไทย เขาไม่ได้กลับมาด้วย ก็เป็นคนที่นึกถึงอยู่เสมอ…

…พอกลับมาอยู่ที่นี่ สับสน หลงทิศหลงทาง ทั้งที่ศึกษามาเยอะ ก็ได้คนคอยช่วย เขารู้ระบบ เป็นอาจารย์อยู่ ก็ช่วยให้เราเปลี่ยนผ่าน กลับมาตั้งหลักที่เมืองไทยได้ แล้วเขาก็ไปเรียนต่อต่างอังกฤษก็ห่างกันไปอีก"

ปณิธานเปรยว่า เขาไม่ค่อยชอบพูดเรื่องตัวเอง แต่ที่ต้องลำดับเหตุการณ์ให้ฟังกันถึงขนาดนี้ก็เพราะพอรู้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของใครๆ

"ด้วยความที่ยังครองตัวเป็นโสด คนก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ ผมไม่ชอบที่จะมีครอบครัวหรือเปล่า ..หรือผมเป็นอะไรหรือเปล่า (หัวเราะ)"

ต่อประเด็นเดิมด้วยว่า "ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่งานที่ยากมากอีกงาน ก็มีคนที่ให้กำลังใจให้ข้อคิด ทำให้รู้สึกมั่นใจ" ..ประโยคหลังสุดนี่ย่อมสื่อความถึงสาวหน้าใส ที่มาปรากฏตัวในช่วงท้ายของการสนทนา พร้อมรูปธรรมของน้ำใจเป็นขนมอร่อยชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้การสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ยุติลงแบบน่าประทับใจพอสมควร

ภาพ: นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา





ความคิดเห็นที่ 1


ถ้าจำไม่ผิด ดรปณิธาน คือหนึ่งในทีมงาน(สำคัญ)ที่ไปทวงเงินค่า f18 คืนจากรัฐบาลสหรัฐนะครับ

ไม่ยืนยันนะครับ ใครข้อมูลแน่นกว่า รบกวนด้วยครับ
โดยคุณ BloodRoyal เมื่อวันที่ 15/01/2009 03:34:06


ความคิดเห็นที่ 2


มีเบอร์โทรของ ดร.มั๊ยครับ มีคำถามหลายอย่างเลย.. มันวนเวียนอยู่ในสมอง  งิงิ.. ^^
โดยคุณ charchar เมื่อวันที่ 15/01/2009 10:23:17


ความคิดเห็นที่ 3


เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ผมอยากเรียนด้วย

 

โดยคุณ น่าคิด เมื่อวันที่ 16/01/2009 06:46:45


ความคิดเห็นที่ 4


อาจารย์คนนี้ไม่เป็นกลางขอให้ดูรายการที่แกออกทางทีวีได้ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุขมีความเป็นกลางทางการเมืองมากกว่าครับ

โดยคุณ sepia เมื่อวันที่ 17/01/2009 04:40:09