หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ทายซิ จะผลิตอะไรเอ่ย

โดยคุณ : สมชาย เมื่อวันที่ : 05/01/2009 12:58:55

กลาโหมตั้งหน่วยงานใหม่"ถอดด้าม"มีหน้าที่พัฒนาโครงการอาวุธขนาดใหญ่-มีอำนาจร่วมทุนกับเอกชน

กระทรวงกลาโหมจัดตั้งหน่วยงานใหม่ถอดด้าม "สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เผยมีอำนาจในการร่วมทุนกับเอกชนในการพัฒนาอาวุธได้ด้วย

ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานว่า มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ในราชกิจจานุเบกษาโดยให้เหตุผลในการจัดตั้งสถาบันว่า ในการดำเนินกิจการของรัฐทางด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศต้องกระทำโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งต้องพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรให้มีความทันสมัยและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรง


ดังนั้น เพื่อให้กิจการของรัฐด้านนี้เป็นไปด้วยความคล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สมควรจัดตั้งสถาบันแห่งนี้เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนซึ่งมี่ชื่อย่อว่า "สทป." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Defence Technology Institute (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “DTI” โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้


(1) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ


(2) เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้แก่กระทรวงกลาโหมเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ


(3) ประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศกับหน่วยงานอื่นของรัฐสถาบันการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


(4) ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรม การค้นคว้าวิจัย และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ


(5) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการข้อมูลและสารสนเทศด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ


สำหรับอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของ สทป.ได้แก่


1. ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน


2.จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ


3.เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน


4. ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบันในการเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่


ในด้านการบริการงานนั้น ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ประกอบด้วย


(1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือด้านอื่น
ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน


(2) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม  เสนาธิการทหาร  เสนาธิการทหารบก  เสนาธิการทหารเรือ และเสนาธิการทหารอากาศ


(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน4 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงเป็นที่ประจักษ์ในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำร่วมอยู่ด้วย


ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น


ผู้อำนวยการสถาบันคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ ทั้งนี้มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียง
ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มีอยู่โดยไม่นับรวมตำแหน่งผู้อำนวยการ


เมื่อพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้มีการโอนบรรดากิจการทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของโครงการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคง (พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2559)ที่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปเป็นของสถาบัน


ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสามคน เป็นกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ


ในระหว่างที่ยังไม่มีผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนิยาม"โครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์"หมายความว่า โครงการที่สภากลาโหมกำหนดและอนุมัติให้มีแผนแม่บทในการดำเนินโครงการ และมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างต้นแบบยุทโธปกรณ์โดยวิธีการวิจัยและพัฒนา

 

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1230981237&grpid=00&catid=01

 

๑๑๑ เพื่อนสมาชิกลองทายกันหน่อยนะครับว่าจะผลิตอะไรกันได้บ้าง "โครงการขนาดใหญ่..." หวังว่าคงไม่ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินเองนะนั่น ๑๑๑





ความคิดเห็นที่ 1


โครงการขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องคิดสร้างของใหญ่ๆ อย่างการทำหุ่นยนตร์ขนาดเล็ก หรืิอ UAVจำนวนมากก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ได้ ขอสนับสนุนเรื่องนี้ ครับ
โดยคุณ Oldtimer เมื่อวันที่ 03/01/2009 11:05:42


ความคิดเห็นที่ 2


...เมื่อพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้มีการโอน บรรดากิจการทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของโครงการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนา จรวดเพื่อความมั่นคง (พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2559)ที่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปเป็นของสถาบัน...


จากข้อมูลข้างต้น โครงการจรวดเพื่อความมั่นคงที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้่านี้เมื่อปีที่แล้ว น่าจะเป็นโครงการแรก ๆ ที่จะอยู่ในความรับผิดชอบของ สทป. นะครับ

ว่าแต่จะถึงขั้นจรวดครุยซ์ ทางยุทธศาสตร์ รึแค่จรวดหลายลำกล้อง ทางยุทธวิธี ดีล่ะครับ  ^^

เพราะโครงการวิจัยของกองทัพที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน ผมไม่เคยเห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันถึงขั้นเปิดสายการผลิตเลยสักครั้ง นอกเสียจาก ต้นแบบ แล้วก็พับโครงการไป (อันเนื่องด้วยเหตุผลที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ)

ถึงเวลาที่กองทัพจะพิสูจน์ตัวเองลบคำสบประมาทได้สักทีรึยังคับ งานนี้ต้องรอดูผลงานกันต่อไปว่าจะออกหัวหรือก้อย หรือวกเข้าอีหรอบเดิม - -
โดยคุณ ท.กองหนุน เมื่อวันที่ 03/01/2009 11:21:25


ความคิดเห็นที่ 3


น่าจะถึงเวลาผลิตรถถัง รถเกาะ ยานยนต์ ปลย. ปก. ปญ.  จรวดนำวิถี,ไม่นำวิถี
เครื่องบินฝึก,โจมตี เรือรบขั้นสูง ไว้ใช้เองได้สักที..

ตั้งแต่อดีตมาก็ทำได้นั้นแหละ แต่ไม่ยอมทำกัน
โดยคุณ charchar เมื่อวันที่ 03/01/2009 11:44:49


ความคิดเห็นที่ 4


หวังว่าคงไม่มีพวกพ่อค้าแม่ค้า + นายหน้าค้าอาวุธทั้งหลายเดินเข้าออกกันให้วุ่นละนะ
แล้วก็คงไม่ใช่ที่ทำมาหากินของนายทหารที่ปลดเกษียนแล้ว

ถ้าพัฒนาเอง เพื่อใช้เอง สร้างได้เอง เห็นด้วยถึงจะแพงกว่าซื้อเค้าก็ตาม
อย่างเช่น การนำเอาโครงการณ์เก่าๆมาปัดฝุ่นทำใหม่ โครงการณ์ ผลิตปืนใหญ่ขนาด 105 มม. โครงการณ์จรวดขนาดเล็ก โครงการณ์ ผลิตปตอ.ขนาด 20 มม. โครงการณ์ผลิตปืนประจำกายของทหาร ทั้งสั้นและยาว โครงการณ์กระสุนปืนชนิดต่างๆ ( ทำให้ดีกว่าของเดิมที่เคยทำเอาไว้ )


ยังไม่คิดถึงโครงการณ์ใหญ่ๆอย่างผลิตเครื่องบิน รถถัง รถหุ้มเกราะต่างๆ
เอาโครงการณ์เก่าๆมาทำก่อนก็พอแล้ว แค่นี้ก็ดีใจตายแล้ว

โดยคุณ e21cye เมื่อวันที่ 03/01/2009 20:53:22


ความคิดเห็นที่ 5


เท่าที่จำได้และถ้าข้อมูลไม่ผิดนโยบายนี้ประกาศในสมัยนายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรีครับ หลังจากที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ยกเลิกกฏหมายห้ามเอกชนผลิตอาวุธ ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมก็บอกว่าเห็นด้วย และก็ยินดี แต่ไม่เชื่อว่าจะทำได้จริง ซึ่งในเมื่อองค์กรมันเกิดขึ้นมาก็จริง ๆ แล้วก็ถือว่าน่าดีใจในระดับหนึ่งครับ

 

ความจริงเราตั้งองค์กรนี้ช้ามา 20 ปี ถ้าตั้งตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ป่านนี้เราไปไกลแล้วครับ

 

แต่ก็นั่นแหละ มาช้ายังดีกว่าไม่มา คำถามต่อไปก็คือมันจะไปถึงตรงไหน เพราะดูโครงสร้างแล้ว ผมยังเห็นว่ามันควรจะทำมากกว่านี้ เช่นนอกจากจะรับโอนโครงการของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมและแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคงซึ่งร่วมมือทำวิจัยกับจีนแล้ว ควรดึงหน่วยงานวิจัยและพัฒนาอาวุธของแต่ละเหล่าทัพเข้ามาอยู่ในกำกับของ DTI ด้วย นั่นรวมไปถึงหน่วยงานวิจัยด้านกลาโหมอีกหลายสิบหน่วยงานที่กระจายออกไปแต่ละเหล่าทัพ แม้แต่โรงงานเภสัชกรรมทหารซึ่งก็มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับการรบอยู่เสมอ และดึงโรงงานผลิตอาวุธทั้งหลายของเหล่าทัพเข้ามาร่วมด้วยเช่นกัน เพราะผมว่าการที่ DTI กำหนดบทบาทของตนเดียงแค่วิจัยและพัฒนานั้นมันอาจจะฟังแล้วดูดี แต่มันก็คือแค่วิจัยและพัฒนา ขาดองค์กรที่จะสามารถผลิตอาวุธที่ได้จากการวิจัยได้ อีกทั้งมันยังทำให้เพิ่มขั้นตอนไปเสียเปล่า ๆ แทนที่จะทำให้ทุกอย่างตั้งแต่เริ่มคิดจนถึงการผลิตอยู่ที่ DTI เลย เราควรจะทำให้องค์กรสามารถทำงานได้ครบวงจรคือ วิจัย พัฒนา ประเมินค่า ประจำการ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ เมื่อ DTI ผลิตได้ ก็จะสามารถขายได้ เมื่อขายได้ก็มีรายได้ได้ เพราะถ้าต้องมารอรับงบประมาณจากรัฐอย่างเดียว ลำบากแน่ครับ

 

หรือถ้าเกิดไม่ทำแบบนี้ ก็ต้องให้แน่ใจว่าเราจะสามารถส่งอาวุธที่พัฒนาแล้วเข้าสู่สายการผลิตได้ เช่นต้องทำ contact กับโรงงานทั้งของรัฐและเอกชนในการผลิต ถ้าทำได้เข้มแข็งแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องรวมหน่วยงานอื่นเข้ามา

 

อีกทั้งเรายังต้องแก้ไขกฏระเบียบหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาและนำอาวุธไทยเข้าประจำการในเหล่าทัพ ซึ่งต้องให้กฏระเบียบนั้น "เลือกปฏิบัติ" พยายามให้สิทธิพิเศษกับอาวุธที่ผลิตโดย DTI หรือบริษัทเอกชนของไทยได้รับการพิจารณาก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีการหย่อนกฏระเบียบบางอย่างโดยไม่กระทบถึงความปลอดภัยในการใช้โดยรวม

 

อีกทั้งสิ่งที่สำคัญ อย่าเพิ่งไปหวังว่า DTI จะสามารถผลิตรถถัง เรือรบ เครื่องบินรบได้ ยังเป็นไปไม่ได้ครับ สิ่งนั้นยังอยู่อีกไกลมากกว่าจะไปถึง เหมือนกับว่าตอนนี้เราอยู่กรุงเทพและจะไปเชียงใหม่ ตอนนี้มันยังถึงแค่ปริมณฑลเอง

 

สิ่งที่ DTI ควรทำก็คือทำให้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของเทคโนโลยีด้านการทหารของไทยนั้นมั่งคง ต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการวิจัยเหมือนต่างชาติ ตอนนี้กองทัพมีศักยภาพในการผลิตกระสุนและระเบิด ขั้นแรกเราควรจะทำให้เราทำอุปกรณพื้นฐานต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน อาวุธปืน เครื่องยิงลูกระเบิด ปืนใหญ่ ให้มั่นใจว่าเราจะสามารถทำสิ่งพื้นฐานเหล่านี้ได้ดี (เนื่องจากที่ผ่านมาที่อาวุธไทยไม่ได้เข้าประจำการเพราะทำวิจัยออกมาแล้วผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้มาตราฐานที่ควรจะเป็น) สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า (คล้ายกับว่าถ้าบวกเลขไม่เป็นก็ทำแคลคูลัสไม่ได้) แล้วค่อย ๆ ขยายไปเป็นรถเกราะ อาวุธปืนบนเรือรบ จรวดบนเรือรบ ระเบิดติดเครื่องบิน ไปเรื่อย ๆ ครับ

 

ต่อมาก็คือต้องกำหนดมาตราฐานของอาวุธให้ได้ และทำการวิจัยให้เป็นไปตามมาตราฐานนั้นได้ และเมื่อมันผ่านมาตราฐานได้ ก็ต้องเอาเข้าประจำการให้ได้ ซึ่งตรงนี้ยังเป็นงานใหญ่อยู่ เพราะที่ผ่านมาอาวุธที่วิจัยได้หลายแบบมีศักยภาพและประสิทธิภาพดีมาก แต่รัฐไม่ให้เงินกองทัพในการจัดซื้อเข้าประจำการ เมื่อเงินไม่มีจัดซื้อเข้าประจำการ มันก็กลายเป็นงานวิจัยบนหิ้งต่อไป รัฐอาจจะต้องจัดงบประมาณเฉพาะขึ้นมาเป็นงบซื้ออาวุธที่เราวิจัยได้เข้าประจำการ และแก้กฏระเบียบอย่างที่ผมพูดไป

 

สุดท้ายต้องพยายามทำองค์กรให้เป็นเอกชน คือมีการบริหารจัดการแบบเอกชนที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ชื่อ เพราะการผลิตอาวุธไม่มีทางเจริญได้ถ้าให้หน่วยงานราชการผลิตหรือถ้ายังบริหารแบบราชการ DTI ต้องบริหารแบบเอกชน ต้องมีวิสัยทัศนแบบเอกชน ต้องมองงานแบบธุรกิจ เมื่อนั้นถึงจะไปรอดครับ

 

ผมยังไม่อยากหวังอะไรมาก รอดูไปก่อน แต่ก็ถือเป็นสัญญานที่ดี เพราะผมว่ายังมีอุปสรรคอีกมากในการจะทำให้อาวุธไทยเข้าไปสู่กองทัพได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ครับ ยังต้องลุ้นกันต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลหลายรัฐบาลตั้งแต่ปี 50 จนถึงปีนี้ ก็ช่วยปูพื้นฐานแล้ว แก้กฏหมายแล้ว ยกร่างกฏหมายใหม่แล้ว ตอนนี้มีองค์ใหม่แล้ว หวังว่ามันจะมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นมาบ้าง ส่วนตัวผมยังไม่ได้อ่านพระราชกฤษฎีกานี้ ยังไงขอไปอ่านละเอียด ๆ ก่อนครับ

 

-Skyman-

โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 04/01/2009 01:02:02


ความคิดเห็นที่ 6


รายละเอียด โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคง ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น เคยมีลงรายละเอียดไว้ใน ร่างแผนปฏิบัติการ4ปีครับ ซึ่งใช้ งป.ปี51-54 จำนวน 1,771.83ล้านบาท เป็นโครงการระดับ Flagship Project ครับ

ซึ่งโครงการพัฒนาจรวดทางยุทธศาสตร์หลายๆท่านคงจะทราบบ้างว่ามีข่าวออกมาได้1-2ปีแล้วครับ

http://www1.mod.go.th/opsd/plan/

http://www.nsc.go.th/index.php?option=com_content&task=view&id=569&Itemid=66

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 04/01/2009 01:22:30


ความคิดเห็นที่ 7


ผมคิดเล่นๆ...กรณีที่เราซื้อสิทธิบัตรอาวุธจากต่างประเทศมาก็น่าจะให้หน่วยงานนี้บริหาร ควบคุมการผลิตหรือแม้กระทั่งการพัฒนาต่อใช่ใหมครับ..........ส่วน Source Code ของ Gripen ก็น่าจะเป็นหน่วยงานนี้ดูแลร่วมกับทอ. (คล้ายการทำงานของ DSI กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือเปล่า? ที่ DSI จะทำเฉพาะคดีพิเศษ).....และก็ยังคล้ายกับกรณีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่การท่าอากาศยานฯ (ทอท) ตั้งบ.ลูกคือ บ.การท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ (บทม) มาเพื่อดูแลโครงการเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน....ท่านใดมีความเห็นอื่นมาแชร์บ้างครับ

โดยคุณ terdkiet เมื่อวันที่ 04/01/2009 09:10:03


ความคิดเห็นที่ 8


อยากให้ DTI ทำในส่วนพื้นฐานก่อน เช่นอาวุธประจำกาย และรถลำเลียงต่างๆมาใช้ หรือรถที่ใช้เป็นฐานปฏิบัติการต่างๆครับ เช่น รถลากจูงฐานยิงอาวุธนำวิถีเคลื่อนที่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโครงการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคง  และพวก UAV ดาวเทียมทหารหรือวิทยุสื่อสารทางทหารรุ่นใหม่ ตัวเล็กลง แบตเตอรี่ใช้ได้นาน ป้องกันการแจมมิ่ง

สิ่งที่น่าสนใจคือ โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคง อันนี้ถ้าดูจากความน่าจะเป็น ก็น่าจะเกี่ยวกับการพัฒนาเชิงป้องกัน

แต่เมื่อมานึกถึง กรณีจรวดปัจจุบันที่เริ่มจะใช้กันแพร่หลาย คือ จรวดที่ยิงเกินสายตา อันนี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับการป้องกันตนเองเป็นอย่างมาก และช่วยลดความกดดันจาก บินที่มีเรดาร์ตรวจจับ จากระยะไกล เช่นระยะทาง 350 กม. ซึ่งบินประเทศเพื่อนบ้านก็ระดับนี้

เห็นว่ามีการพัฒนาจรวดที่ทางสวีเดนกำลังวิจัยอยู่ซึ่งอาจจะนำมาใช้กับ กริพเพน และอาจสามารถนำมาใช้ยิงจากเรือได้ด้วยอันนี้น่าสนใจมาก

คือโครงการแบบนี้ได้อานิสง ถึง 3เหล่าทัพเลยครับ

สุดท้ายหากมีการพัฒนาถึงขั้นจรวดพิสัยกลางได้ แต่ไม่ได้ใช้รุกรานใคร

และสามารถ ลิงค์กับดาวเทียมทหารได้ ก็จะขอ ปรบมือให้เลย เพราะนั่นคือการถ่วงดุลย์ทางทหารที่น่าเกรงขามพอสมควร

ทุกคนลองหลับตานึกถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่นอาจเกิดข้อพิพาท บ่อน้ำมันกลางทะเล และถูกมหาอำนาจแทรกแซงทางทหารดูนะครับ ว่าถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้ การแทรกแซงทางทหารจากมหาอำนาจที่อาจเป็นฝ่ายตรงข้าม คงจะต้องเกรงใจเราบ้าง

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่ไม่นอน เช่นอินเดียและปากีสถานที่หนาวๆร้อนๆทุกวันนี้....................

โดยคุณ tik เมื่อวันที่ 05/01/2009 01:58:55