ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนกับประเทศฝรั่งเศสขึ้น
กองทัพอากาศไทยก็ได้แสดงศักยภาพการเป็นเสืออากาศอันห้าวหาญให้ปรากฏเป็นครั้งแรกในปีนั้น
สงครามอินโดจีนเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลไทยในสมัยที่จอมพล ป.
พิบูลย์สงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
ได้เกิดปัญหาการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับเขตอินโดจีน (ลาว กัมพูชา)
ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส โดยที่ก่อนหน้านั้น
ฝรั่งเศสได้ยึดดินแดนบางส่วนของไทยไปแล้วถึง ๕ ครั้ง ความขัดแย้งกันในปี
พ.ศ.๒๔๘๓
นี้เองที่เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ที่คนไทยเรียกร้องขอดินแดนบางส่วนคืนจากฝรั่งเศส
หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ทำการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสมานาน
แต่ฝรั่งเศสได้บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอดแถมยังทำการยั่วยุทางการไทยต่างๆ นานา
เช่น
ส่งเครื่องบินบินล้ำน่านฟ้าเข้ามาทางเขตจังหวัดหนองคายและในจังหวัดอื่นๆ
วันละไม่ต่ำกว่า ๓๐ เที่ยวบินในเชิงลักษณะการข่มขู่
หรือส่งกำลังทหารล่วงล้ำเข้ามาในเขตบ้านโคกสูง อำเภออรัญประเทศ
จังหวัดปราจีนบุรี
และใช้อาวุธปืนระดมยิงเข้ามาทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย
ซึ่งพฤติกรรมของฝรั่งเศสในครั้งนี้ส่อเจตนาที่จะเข้ารุกรานเราโดยตรง
การที่ฝรั่งเศสทำการข่มขู่คนไทยได้ถึงขนาดนี้
ทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความเคียดแค้นชิงชังฝรั่งเศส
จนกระทั่งมีนิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงเรียนเตรียมอุดม
ร่วมกับประชาชนเป็นจำนวนมากออกมาเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเรียกร้องขอดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
จนในที่สุด ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓
รัฐบาลจึงมีคำสั่งเตรียมพร้อมสำหรับสงครามอินโดจีน
และได้ส่งกองกำลังทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
รุกคืบหน้าเพื่อยึดดินแดนที่เรียกร้องคืนมาให้จงได้
มาดูกันที่กองทัพอากาศของไทยเราในตอนนั้น
เครื่องบินที่พร้อมกระโจนเข้าสู่สงครามอินโดจีน
ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินที่เราสั่งซื้อเข้ามาในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๔๘๐ เช่น
เครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยว ปีก ๒ ชั้นคือ เคอร์ติส ฮอว์ก - ๒ ขาแข็ง
(พับฐานไม่ได้) จำนวน ๑ ฝูง และเคอร์ติส ฮอว์ก - ๓ พับฐาน จำนวน ๒ ฝูง
กับเครื่องบินโจมตีและตรวจการแบบ วอจ์ต คอร์แซร์ ปีก ๒ ชั้น ๒ ที่นั่ง
มีพลปืนหลัง จำนวน ๒ ฝูง ต่อมากองทัพอากาศไทยได้ซื้อลิขสิทธิ์แผนแบบ ฮอว์ก
๓ กับคอร์แซร์ มาให้กรมช่างอากาศยานผลิตออกมาใช้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้แล้ว กองทัพอากาศยังจัดซื้อเครื่องบินทิ้งระเบิด มาร์ติน ๑๓๙
ดับบลิวเอสเอ็ม แบบปีกชั้นเดียว ๒ เครื่องยนต์ จำนวน ๖ เครื่อง
แต่เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นนี้ถูกส่งมาถึงได้ไม่นาน
ลำตัวเครื่องก็มีอันหักพังเสียหายไป ๑ เครื่องในทุ่งนาแถวสถานีรถไฟหลักสี่
ยังมีเครื่องบินขับไล่ที่มีสมรรถนะเท่าเทียมกับเครื่องบินของฝรั่งเศส
ซึ่งกองทัพอากาศไทยสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา
คือเครื่องบินขับไล่ปีกชั้นเดียว เคอร์ติส ฮอว์ก ๗๕ เอ็น จำนวน ๑๖ เครื่อง
มูลค่า ๔๖๘,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น ๑ เหรียญ เท่ากับ
๒.๕๐ บาท) แต่ในขณะที่กำลังขนส่งมาทางเรือถึงกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
รัฐบาลสหรัฐได้สั่งกักเครื่องบินทั้งหมดที่จะนำมาให้กองทัพอากาศไทยไว้ที่นั่นโดยที่ฝ่ายเราก็ไม่ทราบเหตุผล
ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันกับที่ไทยเรากำลังพิพาทกับฝรั่งเศสอยู่ก็อาจเป็นได้
เมื่อสหรัฐฯ เกลอเก่าของไทยเราเล่นไม่ยอมส่งเครื่องบินมาให้ดื้อๆ
เสียอย่างนี้
กองทัพอากาศจึงหันหน้าไปพึ่งญี่ปุ่นผู้ซึ่งทำตัวเป็นมหามิตรรายใหม่ทันที
ญี่ปุ่นจึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยการส่งเครื่องบินขับไล่ ตาชิกาว่า
มาให้ ๑๐ เครื่อง ในโอกาสนี้ไทยเราจึงได้ซื้อเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด
มิตซูบิชิ กิ - ๓๐ (นาโกย่า) จำนวน ๒ ฝูง แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ
ได้ยอมปล่อยเครื่องบิน ฮอว์ก ๗๕
ที่กักเอาไว้ที่ฟิลิปปินส์มาให้แก่ไทยเข้ามาได้ทันใช้ในช่วงท้ายๆ
ของสงคราม
ยุทธเวหาระหว่างเสืออากาศไทย ฝรั่งเศสกำลังจะระเบิดขึ้นแล้ว....!!
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๓
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยจะประกาศสงครามกับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ
ในช่วงนั้น ฝรั่งเศสมักส่งเครื่องบินเข้ามาบินก่อกวนในเขตของไทยเราบ่อยๆ
และในวันนี้เอง เครื่องบินทิ้งระเบิด ฟามัง จำนวน ๒ เครื่อง
บินล้ำเข้ามาเหนือน่านฟ้า อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
ไทยเราจึงส่งเครื่องบินขับไล่ ๓ เครื่องขึ้นไปสกัดกั้น
จนมีทีท่าว่าจะปะทะกันอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆ เครื่อง ฟามัง
ชิ่งหนีกลับไปทางเวียงจันทน์เสียก่อน หลังจากนั้น
ฝรั่งเศสก็ได้ปฏิบัติการบินยุแหย่ไทยเราตลอดมาจนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน
ปะทะ โมราน ซอนเยร์ :
การสู้รบที่แท้จริงของเสืออากาศไทยเกิดขึ้นในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓
เวลา ๘.๐๐ น. เครื่องบินไทย ๒ เครื่อง
ขึ้นบินสกัดกั้นเครื่องบินของฝรั่งเศส ๔ เครื่อง
เหนือน่านฟ้าจังหวัดอุดรธานี ปะทะกันได้ครู่หนึ่งฝรั่งเศสก็ถอนตัวกลับไป
แต่ในวันเดียวกันและเวลาเดียวกันนี้เอง ได้มีเครื่องบินแบบโมราน ซอนเยร์
ของฝรั่งเศสจำนวน ๕ เครื่อง บินเข้ามาทิ้งระเบิดที่นครพนม
ฝ่ายไทยเราก็ได้ส่ง บ.ข. ๑๗ ฮอร์ค ๓ จำนวน ๒ เครื่อง และเครื่องบิน บ.ต.
๒๓ คอร์แซร์ ๑ เครื่อง ขึ้นบินสกัดกั้น ในแถลงการณ์ระบุว่า
เมื่อเครื่องบินของทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าปะทะกัน โมราน ๒
เครื่องดำดิ่งลงมาหาเครื่องบินทั้ง ๓ ของไทยเพื่อล่อให้แตกหมู่ออกมา
ส่งผลให้เครื่องของ ร.ท.ศานิต นวลมณี หลุดเดี่ยวออกไป โมราน อีก ๓
เครื่องจึงบินเข้ามารุมกินโต๊ะทันทีเป็นศึก ๓ ต่อ ๑
แต่เสืออากาศไทยของเราควบคุมสติไว้มั่น
พยายามล่อหลอกให้เจ้าโมรานที่มีสมรรถนะสูงกว่าไล่เกาะหลัง
เมื่อยิงพลาดโมรานทั้ง ๓ เครื่องจึงบินถลำหน้าไปแล้วตกเป็นเป้าเสียเอง
เลยถูกยิงควันโขมง ร.ต.ทองใบ พันธุ์สบาย
ลูกหมู่อีกคนหนึ่งได้เข้าช่วยแก้สถานการณ์ ชุลมุนกันอยู่พักใหญ่
เครื่องของฝรั่งเศสต้องบินหนีไป รวมเวลารบกันทั้งสิ้น ๑๗ นาที
ต่อมามีรายงานภายหลังว่าเครื่องบินแบบโมรานของฝรั่งเศสตก ๑
เครื่องในเขตอินโดจีน ส่วนเครื่องบินฝ่ายไทยไม่ได้รับความเสียหาย
นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของกองทัพอากาศไทย
วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓
มีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาบินตรวจการณ์เหนือเมืองนครพนม
ไทยเราจึงส่งเครื่องบิน ฮอว์ก ๓ ขึ้นขับไล่จนข้าศึกต้องบินหนีออกไป
วันต่อมา ข้าศึกเข้ามาบินตรวจการณ์เหนือบ้านศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ
จังหวัดหนองคายอีก
ไทยจึงส่งเครื่องบินคอร์แซไปทิ้งระเบิดทำลายหน่วยที่ตั้งทางทหารของฝรั่งเศสที่เมืองท่าแขก
ผลก็คือ หน่วยทหารแห่งนั้นโดนถล่มยับเยินไม่มีชิ้นดี
เริ่มขึ้นเดือนใหม่ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓
เกิดการปะทะกันกลางอากาศเหนือน่านฟ้านครพนม ระหว่างเครื่องบินของไทย ๑
เครื่องกับเครื่องบินข้าศึก ๒ เครื่อง โดยมี ร.อ.ไชย สุนทรสิงห์เป็นนักบิน
ปะทะกันอยู่ราว ๑๐ นาที เครื่องบินข้าศึกจึงถอยหนีไป
และไม่ปรากฏความเสียหายทั้งสองฝ่าย
วันเดียวกัน ข้ามฟากจากฝั่งอีสานลงมาทางด้านชายทะเลฝั่งตะวันออกกันบ้าง
ในเวลา ๘.๓๐ น.
นาวิกโยธินฝรั่งเศสยกพลมาทางเรือพยายามจะขึ้นบกที่ฝั่งทะเลจังหวัดตราด
เมื่อไทยเราทราบ กองบินจังหวัดจันทบุรีจึงส่งเครื่องบินขับไล่โดยมี น.ต.
หลวงล่าฟ้าเริงรณ (กิ่ง ผลานุสนธิ) เป็นผู้บังคับฝูง
เข้าถล่มกองเรือนาวิกโยธินฝรั่งเศส
ทำให้ข้าศึกไม่สามารถยกพลขึ้นบกได้และถอยกลับไปทางเกาะกง
(ไม่มีรายงานความเสียหายจากฝรั่งเศส)
ไทยเราจึงตอบแทนฝรั่งเศสบ้าง ในวันที่ ๘ ธันวาคม ปีเดียวกัน
เราได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด คอร์แซร์ โดยมี ร.ท.ศานิต นวลมณี กับ
ร.ต.เฉลิม ดำสัมฤทธิ์
ขึ้นบินจากฐานบินอุดรธานีไปโจมตีที่ตั้งทางทหารของฝรั่งเศสที่เวียงจันทน์
ผลปรากฏว่าฐานที่มั่นข้าศึกเสียหายยับเยิน
แต่คอร์แซร์ของเราก็ถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงอย่างหนักหน่วง
แม้ว่าคอร์แซร์ของนักบินไทยจะถูกกระสุนถึง ๒๐ แผล
แต่ก็ยังสามารถประคองเครื่องกลับมาถึงฐานบินได้สำเร็จ
ส่วนวีรบุรุษนักบินทั้ง ๒ ท่านปลอดภัยทั้งคู่
วันรุ่งขึ้น ฝรั่งเศสตอบโต้โดยการเข้ามาทิ้งระเบิดที่อุดรธานี
เครื่องบินขับไล่ของไทยขึ้นสกัดกั้น แต่คราวนี้ เครื่องของ ร.ท.บุญ
สุขสบาย ถูกยิงตกและได้เสียชีวิต (ภายหลังท่านได้เลื่อนยศเป็น
นาวาอากาศโท)
ในระหว่างนี้มีการรบกันกลางอากาศในรูปแบบตัวต่อตัวระหว่างเครื่องบินขับไล่ของ
ร.อ.ทองใบ พันธุ์สบาย กับเครื่องของฝรั่งเศส ผลปรากฏว่า ข้าศึกถูก
ร.อ.ทองใบ เป่าเสียชิ้นชีพและตกลงสู่พื้นดิน
วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓
เราก็ส่งเครื่องบินคอร์แซร์ไปทิ้งบอมบ์ที่เวียงจันทน์อีกครั้ง
โดยสองคู่หูเสืออากาศเจ้าเก่าอย่าง ร.ท. ศานิต นวลมณี นักบิน และ จ.อ.
เฉลิม ดำสัมฤทธิ์ พลปืนหลัง
แต่คราวนี้เครื่องของเราได้ถูกปืนต่อสู้อากาศยานของฝรั่งเศสยิงโดนเข้าที่ถังน้ำมัน
จนไฟลุกไหม้ ร.ท.ศานิต ถูกกระสุนเข้าที่เข่าและถูกไฟลวก
แต่ก็ยังพยายามประคองเครื่องคอร์แซร์คู่ชีพเข้ามายังฝั่งไทยและกระโดดร่มลงมา
ส่วน จ.อ.เฉลิม ตกลงพร้อมกับเครื่องเสียชีวิต ร.ท.ศานิต
บาดเจ็บสาหัสและได้เสียชีวิตในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓
กองทัพอากาศจึงสูญเสียวีรบุรุษทั้ง ๒ ท่านไปอย่างที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้
วีรกรรมของ ร.อ.จอน สุกเสริม :
๒.๐๐ น. กลางดึกของวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓
ขณะที่ทั่วทั้งเมืองนครพนมกำลังเข้าสู้ห้วงแห่งนิทรา
เสียงหวอเตือนภัยก็ดังขึ้นไปทั่วทั้งเมือง
เครื่องบินของข้าศึกจำนวนหนึ่งบินจู่โจมทิ้งระเบิดกลางเมืองนครพนม
ในขณะที่ ป.ต.อ.ของไทยยิงกราดขึ้นไปบนฟ้าในคืนนั้น ร.อ.จอน สุกเสริม
จึงรีบขึ้นประจำเครื่องฮอว์ก ๒ บินขึ้นสกัดแต่เพียงลำพัง
และได้เข้าปะทะกับข้าศึกไม่ทราบจำนวน
ทราบแต่เพียงว่ามีมากกว่าเครื่องบินของเรามากนัก ผลก็คือ เครื่องบินของ
ร.อ.จอน ถูกยิงตก และท่านก็ได้เสียชีวิตอย่างไว้ลายชายชาติทหาร
ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ จึงได้มีพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มกล้าหาญแก่วีรบุรุษเสืออากาศทั้ง ๓ ท่าน คือ
- นาวาอากาศตรี ศานิต นวลมณี
- นาวาอากาศตรี เฉลิม ดำสัมฤทธิ์
- นาวาอากาศตรี จอน สุกเสริม
ขึ้นต้นปีใหม่ พ.ศ.๒๔๘๔ ในวันที่ ๘ มกราคม
เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดในเขตอำเภอขุขันธ์และอำเภอเมืองศรีสะเกษ
ได้รับความเสียหายไม่มากนัก
วันเดียวกันเสืออากาศของไทยก็ตอบโต้ฝรั่งเศสอย่างทันควันด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าไปถล่มเมืองพระตะบองและเสียมราฐ
ผลก็คือฐานทัพของฝรั่งเศสเละจนแทบจำฐานเดิมไม่ได้
ต่อมา วันที่ ๑๐ มกราคม ฝรั่งเศสเข้ามาทิ้งระเบิดในตัวเมืองอุบลราชธานีได้
๑๐ ลูก เครื่องบินขับไล่ของไทยจึงขึ้นสกัดกั้น
สามารถไล่ต้อนให้ข้าศึกบินหนีกลับไปได้
ในวันเดียวกันนี้เอง เราได้รับรายงานว่า ตัวอันตรายต่อภาคพื้นดินของไทย
ซึ่งนั่นก็คือฝูงบินทิ้งระเบิด ฟามัง จอดอยู่ที่ฐานบินเมืองเสียมราฐ
ไม่ไกลจากเขตแดนของไทยมากนัก
เราจึงยกไปโจมตีฐานบินฝรั่งเศสที่เมืองเสียมราฐในวันนั้นเอง
โดยการปฏิบัติการครั้งนี้
เป็นการเปิดศักราชเครื่องบินแบบใหม่ที่ทางญี่ปุ่นจัดส่งมาให้ นั่นก็คือ
เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด มิตซูบิชิ กิ - ๓๐ นาโกย่า แบบปีกชั้นเดียว
สมรรถนะสูง มีพิสัยในการปฏิบัติการได้ไกล และบรรทุกระเบิดได้ทีละมากๆ
การโจมตีในครั้งนี้ ได้ น.ท. หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร
(ภายหลังได้เลื่อนยศเป็นพลอากาศโท) ทรงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมู่
มีลูกหมู่อีก ๒ เครื่อง คือ ร.อ.ประสงค์ สุชีวะ(นักบิน) และ ร.อ.มานพ
สุริยะ(พลปืนหลัง) จับคู่กับ ร.ท.บุญเยี่ยม ปั้นสุขสวัสดิ์ รวมเป็น ๓
เครื่อง
เมื่อถึงเป้าหมาย นาโกย่า ของเสืออากาศไทยทั้ง ๓
เครื่องจึงจิกหัวดำดิ่งลงทิ้งระเบิดทันที
ซึ่งเป็นการทิ้งใส่เป้าหมายที่เครื่องบินทิ้งระเบิด ฟามัง ที่จอดอยู่บนฐาน
เสืออากาศไทยทำการทิ้งระเบิดแบบปลดครั้งเดียวหมดทั้งตับ
ส่งผลให้เครื่องฟามังที่จอดเรียงรายอยู่บนฐานโดนทำลายหมดยกฝูง
แต่ระหว่างที่กำลังดำดิ่งทิ้งระเบิดใส่ฐานอยู่นั้น ได้มีเครื่องบินขับไล่
โมรานซอนเยร์ จำนวน ๔ เครื่อง ขึ้นสกัดกั้น
จนเกิดการปะทะกันกลางอากาศอยู่เป็นเวลานาน ทำให้เครื่องหมายเลข ๓ ของ
ร.อ.มานพ กับ ร.ท.บุญเยี่ยม เกิดโชคร้ายหลุดออกจากหมู่ จึงถูกโมรานทั้ง ๔
เครื่องรุมยิงจนตก เสียชีวิตทั้งคู่ ส่วนอีก ๒ เครื่อง
บินกลับฐานได้อย่างปลอดภัย
ในวันที่ ๑๒ มกราคม เครื่องบินข้าศึกได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดที่พระธาตุพนม
ส่งผลให้ราษฎรได้รับบาดเจ็บไป ๓๑ คน และในวันที่ ๑๖ มกราคม เครื่อง ฟามัง
ก็เข้ามาโจมตีอรัญประเทศในยามดึก
มาในวันที่ ๑๗ มกราคม
ไทยจึงเปิดแผนการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่เพื่อครองความเป็นเจ้าอากาศ โดยมี
น.ท.ขุนรณนภากาศ (จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี)
ผู้บังคับฝูงบินพิบูลสงคราม นำเครื่อง นาโกย่า ที่มีอยู่ทั้งหมด
บินไปถล่มฐานทัพฝรั่งเศสที่เมืองสตรึงเตรง
ผลก็คือฐานของฝรั่งเศสต้องถึงคราวพินาศ เมื่อถล่มจนไม่มีระเบิดเหลือแล้ว
เสืออากาศทั้งหมดจึงบินกลับฐานโดยปลอดภัยทุกเครื่อง
ต่อมาในวันที่ ๒๑ มกราคม
ฝูงบินกลุ่มเดิมได้ขึ้นไปโจมตีเมืองสตรึงเตรงอีกเป็นครั้งที่ ๒
ทำให้ฐานของฝรั่งเศสแห่งนี้สลายตัวไปอย่างเด็ดขาด ยากที่จะรวมตัวกันติด
วันที่ ๒๓ มกราคม เมืองอุบลก็ได้ลิ้มรสการโดนบอมบ์อีกเป็นครั้งที่ ๒
วันต่อมา น.ท.ขุนรณนภากาศ (จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี)
ได้ฉายเดี่ยวนำเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด กิ ๓๐ นาโกย่า
บินไปโจมตีฐานที่ตั้งทางทหารของฝรั่งเศสในเมืองเสียมราฐ ใกล้กับนครวัด
จนฐานนั้นเสียหายมาก ขากลับก็มาพบกับเครื่องบินโมรานของฝรั่งเศส ๔ เครื่อง
การต่อสู้ทางอากาศก็เริ่มขึ้นอย่างดุเดือดแบบ ๔ ต่อ ๑ เป็นเวลา ๒๐ นาที
ในที่สุดเสืออากาศผู้กล้าหาญของไทยเราฝ่าวงล้อมบินกลับฐานได้อย่างปลอดภัย
วันที่ ๒๔ มกราคม ขณะที่ ฮอร์ค ๒ ของไทยจำนวน ๓ เครื่อง
บินลาดตระเวนอยู่เหนือน่านฟ้าบ้านยาง อ.อรัญประเทศ โดยการนำของ ร.อ.
เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูล ผู้เป็นหัวหน้าหน่วยบิน
ได้พบกับเครื่องบินทิ้งระเบิด โปเตซ์ ๑ เครื่อง
และเครื่องบินขับไล่แบบโมราน ๔๐๖ อีก ๓ เครื่องของฝรั่งเศส ทั้ง ๒
ฝ่ายจึงได้เข้าประจัญบานกันทันที ผลก็คือเครื่องแบบโมราน
ถูกนักบินไทยยิงตกไป ๒ เครื่อง เครื่องหนึ่งตกในป่าไฟลุกไหม้
ส่วนอีกเครื่องหนึ่งตกลงไปในหมู่บ้านทางทิศตะวันตกของเขาศรีโสภณ
ทำให้เครื่องบินที่เหลือของฝรั่งเศสต้องล่าถอยออกไป
การรบทางอากาศขั้นสุดท้ายของไทยก่อนที่สงครามอินโดจีนจะสงบ
กองทัพอากาศไทยได้ส่งเครื่องบิน กิ ๓๐ นาโกย่า จำนวน ๙ เครื่อง
ไปโจมตีทิ้งระเบิดที่บ้านไพลินและบ้านศรีโสภณ โดยมี ฮอร์ค ๗๕ จำนวน ๓
เครื่องที่สหรัฐฯ ยอมส่งมาให้หลังจากที่ถูกกักอยู่ที่ฟิลิปปินส์
บินคุ้มกัน การปฏิบัติการครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับข้าศึกมาก
ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมาไกล่เกลี่ยและเจรจายุติสงครามกันในที่สุด
สงครามอินโดจีนครั้งนี้ ได้สร้างตำนานวีรบุรุษขึ้นมาอย่างมากมาย
ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเสืออากาศไทยในครั้งนี้นี่เอง
เราจึงได้ดินแดนของ พระตะบอง ศรีโสภณ และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในเขตลาว
หลวงพระบาง จำปาสัก กลับคืนมาเป็นของไทย
อีกเรื่องหนึ่งครับเรื่องนี้เจ็บใจมาก
ยุทธนาวีที่เกาะช้างเป็นเหตุการณ์รบทางเรือ ซึ่งเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจาก
กรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส กล่าวคือ ในเดือนกันยายน
พ.ศ.๒๔๘๒ ขณะที่ฝรั่งเศสจะประกาศสงครามกับเยอรมัน ฝรั่งเศสขอให้
รัฐบาลไทยทำสัญญาไม่รุกรานกันทางแหลมอินโดจีน รัฐบาลไทย
ได้ตอบฝรั่งเศสไปว่าไทยยินดีจะรับตกลงตามคำของฝรั่งเศส แต่ขอให้
ฝรั่งเศสตกลงบางประการ กล่าวคือ ให้ฝรั่งเศส ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน
ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม
กล่าวคือ ฝ่ายไทยได้เสนอให้ถือแนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ และให้
ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปคืนให้ไทย เป็นต้น
จึงปรากฏว่าไม่เป็นที่ตกลงกัน ต่อมาราษฎรได้เดินขบวนแสดงประชามติ
เรียกร้องดินแดนที่เสียไปหนักขึ้น กรณีพิพาทจึงได้เริ่มลุกขึ้นตามชายแดน
เป็นแห่ง ๆ และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นใช้กำลังทหารเข้าทำการ
สู้รบกัน ทั้งกำลังทางบก เรือ และอากาศ สำหรับทางเรือได้มีการรบกัน
บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง ระหว่างกำลังทางเรือของไทย และของฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๙๔
โดยมีรายละเอียดโดยย่อดังนี้ วันที่ ๑๖
มกราคม ๒๔๘๔ ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในอินโดจีน
ในบังคับบัญชาของ นาวาเอก เบรังเยร์ อันมีเรือลาดตระเวน ลามอตต์ปิเกต์
เป็นเรือธง พร้อมด้วยเรือสลุป ๒ ลำ เรือปืน ๔ ลำ
เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ ๑ ลำ และเรือดำน้ำอีก ๑ ลำ รวมทั้งสิ้น ๙ ลำ
เข้ามาในน่านน้ำไทยทางด้านเกาะช้าง
ด้วยความมุ่งหมายที่จะระดมยิงหัวเมืองชายทะเล ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย
เป็นประการสำคัญ เช้าวันที่ ๑๗ มกราคม
กำลังทางเรือของข้าศึกได้อาศัยความมืด
และความเร็วรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีจำนวนด้วยกันทั้งหมด ๗ ลำ
คือ เรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกต์ เรือสลุป ๒ ลำ เรือปืน ๔ ลำ
เรือเหล่านี้ได้แยกออกเป็น ๓ หมู่ หมู่ที่ ๑ มี
เรือลามอตต์ปิเกต์ลำเดียวเข้ามา
ทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย หมู่ที่ ๓ มีเรือสลุป ๑ ลำ
กับเรือปืนอีก ๓ ลำ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตก
ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้า เกาะช้าง ส่วนเรือดำน้ำ
และเรือสินค้าติดอาวุธ คงรออยู่ด้านนอกในทะเล
และไม่ได้เข้าทำการรบกำลังเรือฝ่ายไทยที่เข้าทำการรบมี ๓ ลำ คือ
เรือหลวงธนบุรี ระวางขับน้ำ ๒,๒๐๐ ตัน จอดอยู่ที่บริเวณเกาะลิ่ม
ส่วนเรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ซึ่งมีระวางขับน้ำลำละ ๔๗๐ ตัน
จอดอยู่ที่อ่าวสลักเพ็ชร
กำลังทางเรือฝ่ายข้าศึกที่เข้าทำการรบ รวมด้วยกัน ๗ ลำ
เฉพาะเรือลามอตต์ปิเกต์ลำเดียวมีระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน
ซึ่งมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือรบของเราทั้ง ๓ ลำ รวมกัน
นอกจากนั้นก็มีเรือสลุปอีก ๒ ลำ ระวางขับน้ำลำละ ๒,๑๕๖ ตัน และเรือปืนอีก
๔ ลำ
เมื่อเปรียบเทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่าย
จะเห็นได้ว่าเราได้เข้าทำการต่อสู้กับข้าศึก ที่มีทั้งจำนวนเรือมากกว่า
ระวางขับน้ำมากกว่า จำนวนปืนหนัก และปืนเบามากกว่า
และจำนวนทหารประจำเรือมากกว่า
ฝ่ายเราคงได้เปรียบเฉพาะที่ว่ามีปืนหนักที่มีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น
แต่ก็กลับเสียเปรียบที่ยิงได้ช้ากว่าการรบระหว่างเรือหลวงธนบุรีกับเรือลามอตต์ปิเกต์
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้มีการปะทะกันระหว่างเรือหลวงสงขลา
และเรือหลวงชลบุรี กับเรือรบฝรั่งเศสแล้วในตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๑๗ มกราคม
๒๔๘๔ ขณะที่ทหารเรือหลวงธนบุรี กำลังฝึกหัดศึกษาตามปกติอยู่นั้น ประมาณ
๐๖๑๒ ยามสะพานเดินเรือ ได้เห็นเครื่องบินข้าศึก ๑ เครื่อง
บินมาทางเกาะกูดผ่านเกาะกระดาษมาตรงหัวเรือ
ทางเรือจึงได้ประจำสถานีรบแต่ยังมิได้ทำการยิง
เนื่องจากว่าเครื่องบินข้าศึกได้บินเลี้ยวไปทางเกาะง่าม
ตรงบริเวณที่เรือตอร์ปิโด ทั้ง ๒ ลำ จอดเสียก่อน
และทันใดนั้นทหารทุกคนก็ได้ยินเสียงปืนจากเรือตอร์ปิโดทั้งสองลำนั้น คือ
เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรี ทำการยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึก
โดยทุกคนได้เห็นกลุ่มกระสุนระเบิดในอากาศใกล้เครื่องบิน
และเครื่องบินหายลับตาไป และชั่วในขณะนั้นเอง
ทุกคนกลับได้ยินเสียงปืนถี่และหนักขึ้น ทันใดนั้นยามสะพานเดินเรือ
ได้รายงานว่าเห็นเรือข้าศึกทางใต้เกาะช้าง
โดยที่ยามมองตรงช่องระหว่างเกาะช้างกับเกาะไม้ซี้ใหญ่
เรือที่ยามเห็นนี้คือเรือลามอตต์ปิเกต์ ซึ่งกำลังระดมยิงเรือหลวงสงขลา
และเรือหลวงชลบุรีของเราอยู่นั่นเอง
ลักษณะอุตุในขณะนั้นปรากฏว่ามีเมฆขอบฟ้า พื้นทะเลมีหมอกบาง ๆ
ลมเซ้าท์เวสท์ กำลัง ๑ ไม่มีคลื่นทัศนวิสัย ๖ ไมล์อากาศค่อนข้างหนาว ปรอท
๒๗๐ซ เมื่อปืนป้อมทั้ง ๒ ป้อมพร้อม น.ท.หลวงพร้อม วีรพันธุ์
ผู้บังคับการเรือได้สั่งเดินหน้าเต็มตัว ๒ เครื่อง ความเร็ว ๑๔ นอต
ถือเข็มประมาณ เซ้าท์อีสท์ เข้าหาข้าศึก และได้สั่งเตรียมรบกราบขวาที่หมาย
เรือลาดตะเวนข้าศึก
ประมาณ เวลา ๐๖๔๐ ขณะที่เรือหลวงธนบุรี ได้ตั้งลำพร้อม เรือลามอตต์ปิเกต์ก็โผล่จากเกาะไม้ซี้ใหญ่ และเป็นฝ่ายเริ่มยิงเราก่อนทันที
เรือหลวงธนบุรีได้เริ่มยิงตับแรกด้วยป้อมหัว และป้อมท้ายโดย ตั้งระยะ
๑๓,๐๐๐ เมตร ทันใดนั้นเองกระสุนตับที่ ๔ ของเรือลามอตต์ปิเกต์
มีนัดหนึ่งเจาะทะลุผ่าห้องโถงนายพล
และชอนระเบิดทะลุพื้นหอรบขึ้นมาเป็นเหตุให้ น.ท.หลวงพร้อมวีรพันธุ์
และทหารในหอรบอีกหลายนายต้องเสียชีวิตในทันที
และมีอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิด
และถูกไฟลวกตามหน้าและตามตัว
กระสุนนัดนี้เองได้ทำลายเครื่องติดต่อสั่งการไปยังปืน
และเครื่องถือท้ายเรือ เรือซึ่งกำลังเดินหน้าด้วยความเร็ว ๑๔ นอต
ต้องหมุนซ้ายเป็นวงกลมอยู่ถึง ๔ รอบ ซึ่งในขณะนี้เอง
เรือลามอตต์ปิเกต์ได้ระดมยิงเรือหลวงธนบุรี อย่างหนาแน่น
ปืนป้อมทั้งสองของเรือหลวงธนบุรีต้องทำการยิงอิสระ
โดยอาศัยศูนย์ข้างและศูนย์ระยะที่หอกลาง
ปรากฏว่าเรือลามอตต์ปิเกต์ได้ถูกกระสุนปืนจากเรือหลวงธนบุรี เช่นกัน
โดยมีแสงไฟจากเปลวระเบิด และควันเพลิงพุ่งขึ้นบริเวณตอนกลางลำ
จำต้องล่าถอยโดยมารวมกำลัง กับหมู่เรือฝรั่งเศสอีก ๔ ลำ
ทางตะวันตกของเกาะเหลาใน และแล่นหนีไปในที่สุด
เมื่อเรือของฝรั่งเศสได้ไปจากสนามรบหมดแล้ว
ก็ปรากฏว่าได้มีเครื่องบินลำหนึ่งบินมาทางหัวเรือ
และดำทิ้งระเบิดระยะต่ำจำนวน ๒ ลูก
ลูกระเบิดตกบนดาดฟ้าเรือโบตหลังห้องครัวทหาร
และเจาะทะลุดาดฟ้าเป็นรูโตประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ลงไประเบิดในครัวทหาร
ทำให้ทหารตายอีก ๓ คนทางเรือไม่ได้ยิงต่อสู้ประการใด
เพราะเครื่องบินลำนั้นมีเครื่องหมายไทยติดอยู่ เวลา ๐๘๓๐
เรือหลวงธนบุรีแล่นไป ทางแหลมน้ำ ไฟลุกทั่วไปในช่องทางเดิน ต้นเรือ
(นายทหารอาวุโสที่สองรองจากผู้บังคับการเรือ) พาเรือมาทางแหลมงอบ
เรือเอียงทางกราบขวา และต่อมาก็หยุดแล่น เรือหลวงช้างได้เข้าช่วยดับไฟ
และจูงเรือธนบุรีไปจนถึงหน้าแหลมงอบ เพื่อเกยตื้น
และต้นเรือได้สั่งสละเรือใหญ่ เมื่อเวลา ๑๑๐๐ ต่อมา ประมาณเวลา ๑๖๔๐
กราบเรือทางขวาก็เริ่มตะแคงเอนลงมากขึ้นตามลำดับ เสาทั้งสองเอนลงน้ำ
กราบซ้ายและกระดูกงูกันโครงโผล่อยู่พ้นน้ำในการรบครั้งนี้
ทางฝ่ายเราได้เสียชีวิตเป็นชาติพลี รวมทั้งสิ้น ๓๖ นาย เป็นนายทหาร ๒ นาย
พันจ่า จ่า พลทหาร และพลเรือ ๓๔ นาย
ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทหารประจำเรือหลวงธนบุรี ๒๐ นาย เรือหลวงสงขลา ๑๔ นาย
และเรือหลวงชลบุรี ๒ นาย
ส่วนจำนวนทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บของฝ่ายข้าศึกนั้นไม่ทราบจำนวนแน่นอน
และนับจากได้เกิดการรบที่เกาะช้างแล้วจนกระทั่งวันลงนาม ในสัญญาสันติภาพ
คือ วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ที่กรุงโตเกียว
ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรือรบของข้าศึกเข้ามาในอ่าวไทย
การรบทางเรือที่เกาะช้างในครั้งนี้ แม้จะไม่จัดว่าเป็นการยุทธ์ใหญ่ก็ตาม
แต่ก็นับว่าเป็นการรบทางเรือตามแบบอย่างยุทธวิธีสมัยใหม่
กำลังทางเรือของไทยเข้าทำการสู้รบกับกำลังทางเรือของข้าศึก
ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจทางเรือ และมีจำนวนเรือที่มากกว่า
จนข้าศึกต้องล่าถอยไม่สามารถทำการระดมยิงหัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทยได้สำเร็จ
จึงนับเป็นเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
ซึ่งจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย และทหารเรือสืบไป