-
ดาวเทียมทางทหารโดยเฉพาะ : ดาวเทียมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งานทางการทหารเท่านั้น
โดยมากเป็นดาวเทียมที่ใช้งานด้านการข่าว และดาวเทียมสื่อสาร
-
ดาวเทียมทางทหารที่มีการใช้งานร่วมกับพลเรือน : ดาวเทียมทางทหารที่มีการใช้งานสำหรับพลเรือนทั่วไปด้วย
โดยมากเป็นดาวเทียมที่ใช้งานเพื่อกำหนดตำลบที่ และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา
-
ดาวเทียมพลเรือนที่มีการใช้งานร่วมกับทหาร : ดาวเทียมพลเรือนที่มีข้อมูลหรือช่องสัญญาณที่สนับสนุนภารกิจทางทหารได้
โดยมากเป็นดาวเทียมสำรวจ ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมสื่อสาร
การใช้งานดาวเทียมทางทหารในช่วงแรกเป็นการใช้งานเพื่อถ่ายภาพทางอากาศในภารกิจด้านการข่าว
โดยดาวเทียมจะถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มและมีระบบการส่งฟิล์มกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อการเก็บกู้ต่อไป
ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นการใช้ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลและการส่งภาพกลับทางช่องทางการสื่อสารข้อมูล
จนในปัจจุบันได้มีการใช้ภาพถ่ายจากเรดาร์ (Synthetic Aperture Radar)
ที่สามารถถ่ายภาพทะลุทะลวงผ่านเมฆและฝนได้ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาดาวเทียมทางทหารในด้านอื่น
เช่นดาวเทียมกำหนดตำบลที่ ดาวเทียมสื่อสาร
และดาวเทียมสำหรับรวมรวมข้อมูลข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT)
เป็นต้น
ใช้ firefox โพสต์แล้วย่อหน้าเบี้ยวครับ ลองใช้ ie ดูมั่ง..
ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีการใช้งานดาวเทียมทางทหาร ส่วนมากเป็นการใช้งานด้านการข่าว และด้าน
การสื่อสาร อย่างไรก็ดีการใช้งานดาวเทียมทางทหารเป็นข้อมูลที่มีชั้นความลับของแต่ละประเทศ ข้อมูลที่รวบรวมได้จึงเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่มีการเปิดเผยในแหล่งข้อมูลเปิด โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประเทศจีน มีการใช้งานดาวเทียมทางทหารหลากหลายที่สุดในภูมิภาค โดยจีนได้มีการผลักดันการพัฒนาโครงการอวกาศทั้งทางพลเรือนและทางทหารมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยในปัจจุบันประเทศจีนมีระบบส่งดาวเทียมเป็นของตนเองด้วยจรวด Long March ที่พัฒนามาจากขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) Dong Feng รุ่นแรก ประเทศจีนมีการใช้ดาวเทียมทางทหารดังนี้
- ดาวเทียมกำหนดตำบลที่ ปัจจุบันจีนมีระบบดาวเทียมกำหนดตำลบที่ของตนเอง ชื่อว่าระบบ Bei Dou (ดาวเหนือ) เป็นระบบดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Orbit) ซึ่งต่างจากระบบดาวเทียมกำหนดตำบลที่แบบอื่นเช่น GPS หรือ GLONASS ทำให้มีจำนวนดาวเทียมในระบบน้อยกว่าแต่ก็มีพื้นที่ครอบคลุมจำกัดไปด้วย (พื้นที่ภายในแลต 5N-55N ลอง 70E-140E) โดยจีนมีโครงการพัฒนาระบบดาวเทียม Bei Dou 2 ด้วยดาวเทียมวงโคจรปานกลาง (Medium Earth Orbit) ที่สามารถกำหนดตำบลที่ครอบคลุมได้ทั่วโลกในลักษณะเดียวกับระบบ GPS และ GLONASS
- ดาวเทียมสื่อสาร จีนมีการใช้งานดาวเทียมสื่อสารทางทหารโดยเฉพาะ และมีดาวเทียมสื่อสารของพลเรือนที่แบ่งช่องสัญญาณสำหรับการใช้งานทางทหาร โดยดาวเทียมสื่อสารทางทหารโดยเฉพาะของจีนได้แก่ระบบดาวเทียม Feng Huo 1 (ประกอบด้วยดาวเทียม FH-1 และดาวเทียม FH-1A) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Qu Dian C4I โดยระบบดาวเทียม Feng Huo 1 มีช่องสัญญาณเข้ารหัสในย่าน C-Band และ UHF สำหรับระบบ Data Link และการสื่อสารทางเสียง ดาวเทียมสื่อสารทางทหารอีกระบบหนึ่งของจีนคือดาวเทียม Shen Tong 1 มีช่องสัญญาณเข้ารหัสในย่าน Ku-Band สำหรับการสื่อสารข้อมูลและการสื่อสารทางเสียง ในส่วนของดาวเทียมสื่อสารของพลเรือนที่แบ่งช่องสัญญาณให้กับการใช้งานทางทหารได้แก่ระบบดาวเทียม Dong Fang Hong ที่ใช้ช่องสัญญาณย่าน C-Band
- การข่าว ดาวเทียมทางทหารด้านการข่าวของจีนแบ่งออกได้เป็นดาวเทียมข่าวกรองทางภาพ (IMINT) และดาวเทียมข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT)
- ดาวเทียมข่าวกรองทางภาพ (IMINT) ของจีนแบ่งออกได้เป็นสองระบบ ได้แก่ระบบ FSW (Fanhui Shi Weixing) เป็นดาวเทียมถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม (ความละเอียด 10 เมตร) และกล้องดิจิตอล (ความละเอียด 50 เมตร) โดยดาวเทียม FSW มีระบบกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อการเก็บกู้ฟิล์ม ดาวเทียม IMINT อีกระบบหนึ่งได้แก่ระบบ Jian Bing เป็นดาวเทียมถ่ายภาพด้วยเรดาร์ (Synthetic Aperture Radar) ย่านความถี่ไมโครเวฟ สามารถถ่ายภาพผ่านเมฆฝนและในความมืดได้ โดยมีความละเอียด 5x5 ตรม. สำหรับพื้นที่ที่มีขนาดความกว้าง (Swath) 40 กิโลเมตร และความละเอียด 20x20 ตรม. สำหรับพื้นที่ที่มีขนาดความกว้าง (Swath)
100 กิโลเมตร
- มีการคาดการณ์ว่าจีนได้ส่งดาวเทียม SIGINT ได้แก่ระบบดาวเทียม JSSW, SJ, และ DQ ภายใต้โครงการดาวเทียมเพื่อการทดลองเทคโนโลยี (Technological Test Satellites) และโครงการทดลองและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ดียังไม่มีข้อมูลเปิดเผยเกี่ยวกับดาวเทียม SIGINT ของจีนมากนัก
ประเทศญี่ปุ่น ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดาวเทียมทางทหารเนื่องจากเดิมมีกฎหมายห้ามการใช้ห้วงอวกาศเพื่อกิจการทางทหาร อย่างไรก็ดีได้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาดาวเทียมทางทหารอย่างถูกกฎหมายได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นได้ส่งดาวเทียมข่าวกรองทางภาพ (IMINT) ขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่เกาหลีเหนือเริ่มมีการทดลองยิงขีปนาวุธในทะเลญี่ปุ่น (ทะเลตะวันออก) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารของเกาหลีเหนือ เพิ่มเติมจากการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมทางทหารของสหรัฐอเมริกา
ประเทศอินเดีย ได้ส่งดาวเทียม CARTOSAT-2A ซึ่งเป็นดาวเทียมทางทหารดวงแรกของอินเดียขึ้นเมื่อเดือน เม.ย.51 โดยดาวเทียม CARTOSAT-2A สามารถถ่ายภาพขาวดำที่ความละเอียด 1 เมตร มีอัตราการส่งสัญญาณภาพที่ความเร็ว 105 MBit/s หลังผ่านการบีบอัดข้อมูลแล้ว
ประเทศออสเตรเลีย มีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการใช้ดาวเทียมสื่อสารร่วมกันในระบบ Wideband Global Satellite Communication (WGS) โดยออสเตรเลียจะร่วมลงทุนกับดาวเทียมในระบบ 1 ดวง จากทั้งหมด 6 ดวง กับสร้างสถานีภาคพื้นในออสเตรเลียอีก 1 สถานี ระบบ WGS ใช้ย่านความถี่ X-Band และ
Ka-Band อัตราการส่งข้อมูล Downlink ที่ความเร็ว 2.4 Gbit/s โดยดาวเทียมแต่ละดวงมีช่องสัญญาณขนาด
125 MHz จำนวน 39 ช่องสัญญาณ และสามารถแบ่งย่อยเป็นช่องสัญญาณย่อยขนาด 2.6 MHz ได้ถึง
1900 ช่องสัญญาณ นอกจากนี้ออสเตรเลียยังมีดาวเทียมสื่อสารที่มีการใช้งานร่วมระหว่างทางทหารกับทางพลเรือน คือดาวเทียม Optus C-1 โดยแบ่งเป็นช่องสัญญาณพลเรือนย่าน Ku-Band จำนวน 20 ช่องสัญญาณ และช่องสัญญาณสำหรับการใช้งานทางทหารประกอบด้วยช่องสัญญาณย่าน X-Band จำนวน 4 ช่องสัญญาณ,
ย่าน Ka-Band จำนวน 4 ช่องสัญญาณ และย่าน UHF จำนวน 6 ช่องสัญญาณ
ประเทศเกาหลีใต้ มีดาวเทียม Koreasat 5 (Mugunghwa 5) เป็นดาวเทียมสื่อสารที่มีการใช้งานร่วมระหว่างทางทหารกับทางพลเรือน โดย KT Corp เป็นผู้รับผิดชอบช่องการสื่อสารของพลเรือน ได้รับจัดสรร 24 ช่องสัญญาณในย่าน Ku-Band ส่วนช่องสัญญาณทางทหารรับผิดชอบโดย Koreas Agency for Defense Development แบ่งออกเป็นช่องสัญญาณย่าน SHF จำนวน 8 ช่องสัญญาณ และช่องสัญญาณย่าน Ka-Band จำนวน 4 ช่องสัญญาณ ในส่วนของดาวเทียมทางทหารสำหรับการข่าว เกาหลีใต้มีดาวเทียม Arirang-2 (KOMPSAT-2) ซึ่งติดตั้งกล้องดิจิตอลความละเอียดสูงสำหรับถ่ายภาพพื้นที่ขนาด 15x15 ตารางกิโลเมตร สามารถถ่ายภาพขาวดำที่ความละเอียด 1 เมตร และภาพสีที่ความละเอียด 4 เมตร โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารของเกาหลีเหนือ
ประเทศสิงคโปร์ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดาวเทียมทางทหาร แต่เป็นที่สังเกตว่าสถานีดาวเทียมภาคพื้นที่ Bukit Timah ของบริษัท SingTel มีการจัดกำลังทหารเพื่อรักษาความปลอดภัยแทนการว่าจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยทั่วไป และสิงคโปร์ได้รับเทคโนโลยีดาวเทียมทางทหารผ่านการควบรวมบริษัท SingTel กับบริษัท Optus ของออสเตรเลีย (ผู้เป็นเจ้าของดาวเทียม Optus C-1) เมื่อปี พ.ศ.2544 ทำให้มีการคาดการณ์ว่าสิงคโปร์อาจมีโครงการดาวเทียมสื่อสารทางทหารของตนเอง
ประเทศมาเลเซีย มีโครงการดาวเทียม TiungSAT-1 และดาวเทียม RazakSAT ซึ่งเป็นดาวเทียมพลเรือน
ขนาดเล็ก (Micro Satellite) โดยดาวเทียม RazakSAT สามารถถ่ายภาพขาวดำที่ความละเอียด 2.5 เมตร และภาพสีที่ความละเอียด 5 เมตร ซึ่งผลการทดลองโครงการดาวเทียมทั้งสองโครงการอาจนำไปพัฒนาเป็นโครงการดาวเทียมทางทหารได้ต่อไป
ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีดาวเทียมเพื่อการทหารโดยเฉพาะ แต่มีการใช้งานร่วมกับดาวเทียมพลเรือนได้แก่ดาวเทียมสื่อสารไทยคม (THAICOM 5) และดาวเทียมสำรวจธีออส (THEOS) โดยการใช้ช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคมเป็นการใช้ช่องสัญญาณธรรมดา ไม่มีช่องความถี่สำหรับการใช้งานทางทหารโดยเฉพาะ (ดาวเทียมไทยคม 5 มีช่องสัญญาณย่าน C-Band จำนวน 25 ช่อง และย่าน Ku-Band จำนวน 14 ช่อง) ในส่วนของดาวเทียมธีออสเป็นดาวเทียมสำรวจที่สามารถถ่ายภาพขาวดำที่ความละเอียด 2 เมตร และภาพสีที่ความละเอียด 15 เมตร ซึ่งโดยทั่วไปดาวเทียมสำรวจที่จัดว่าเป็นดาวเทียมจารกรรม (Spy Satellite) มักมีความละเอียดภาพถ่ายที่ 1 เมตร หรือละเอียดกว่านั้น