อาทิตย์ที่ผ่านมามีโอากาสไปเยี่ยมพี่ที่เป็นนักบินที่ฝูง 604 ดอนเมืองครับ ฝูง 604 Sunny ของกองบิน 6 เป็นฝูงฝึกการบินพลเรือน โดยครูที่สอนก็คือครูจากกองทัพอากาศนี่เองครับ เปิดรับสมัครพลเรือนเข้าเรียนการบินในราคาถูก (ราว 3 แสนบาท) ซึ่งฝูงนี้เองที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเคยฝึกการบินครับ
เดินเข้าไปในโรงเก็บ ไปสะดุดตากับเครื่องบินสีส้มแปร๊ดนี่เข้าครับ เลยจำได้ทันที่ว่านี่มัน บ.ชอ.2 นี่น่า นาน ๆ เห็นที เลยถือโอกาสเก็บภาพมาฝากกันครับ
ครั้งสุดท้ายที่กองทัพอากาศสร้างเครื่องบินเองคือการสร้างเครื่องบิน Fantrainer จำนวน 32 เครื่องในปี 2525 ซึ่งกองทัพอากาศร่วมมือกับบริษัท ไรน์ฟลุกซอยบาว ประเทศเยอรมนี ในการทำวิจัย เครื่องบินแบบนี้เข้าประจำการในกองทัพอากาศราว 10 ปีก็ปลดประจำการลงเนื่องจากประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นับตั้งแต่นั้นมากองทัพอากาศก็ไม่มีการสร้างเครื่องบินเองอีกเลย
จนเมื่อราวปี 2548 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กองทัพอากาศวิจัยและพัฒนาเครื่องบินฝึกใบพัดจำนวน 2 โครงการ โดยกรมช่างอากาศรับหน้าที่เป็นผู้วิจัย โครงการแรกเรียกว่า บ.ชอ.2 ซึ่งทำการสร้างเครื่องบินต้นแบบจำนวน 1 เครื่องเพื่อหาองค์ความรู้เพื่อนำไปสร้างเครื่องบินในโครงการที่ 2 คือ บ.ทอ.6 ต่อไป
บ.ชอ.2 ใช้ต้นแบบจากเครื่องบินฝึกแบบที่ 15 หรือ SF-260MT ของบริษัท Aermacchi ประเทศอิตาลี ซึ่งกองทัพอากาศเคยจัดหามาใช้ในการฝึกศิษย์การบิน โดย การสร้าง บ.ชอ.2 ใช้การ Reverse Engineering จาก SF-260MT (ได้รับอนุญาตจากบริษัทแล้ว)
นายทหารของกรมช่างอากาศได้ทำการวิเคราะห์แบบของ SF-260MT และพัฒนาเทคนิคการสร้างโครงสร้างเครื่องบิน การสร้างปีกเครื่องบิน ระบบไฟฟ้าและเครื่องยนต์ รวมถึงเพิ่มที่นั่งของผู้โดยสารเข้าไปอีก 2 ที่นั่ง เพื่อหาองค์ความรู้ในการสร้างเครื่องบินทั้งลำและเป็นพื้นฐานในโครงการ บ.ทอ.6 ซึ่งจะมีสมรรถสูงกว่าต่อไป
อย่างภาพนี่ที่เห็นมีเชือกและมีเทปติดนั้นคือการทดสอบการไหลของกระแสอากาศผ่านปีกครับ
บ.ชอ.2 ใช้เวลาราวสองปีในการสร้าง และสามารถขึ้นบินเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2550 ณ กองบิน 4 ตาคลี โดยมีนาวาอากาศเอก กฤษดา สุพิชณ์ เป็นนักบิน
และหลังจากนั้นก็มีการบินทดสอบอีกหลายเที่ยวเพื่อทดสอบเครื่องบินในภาวะการบินจริง เพื่อที่จะนำข้อมูลไปใช้ในโครงการ บ.ทอ.6 ที่ดำเนินการไปพร้อมกัน
คาดว่ากองทัพอากาศปิดโครงการ บ.ชอ.2 ไปแล้วครับ โดยมีการสร้างเครื่องบินต้นแบบจำนวน 1 เครื่อง ทั้งนี้ โครงการ บ.ทอ.6 มีกำหนดขึ้นบินทดสอบภายในปลายปีนี้ (ตามกำหนดการเดิม) และถ้าการทดสอบประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี กองทัพอากาศก็อาจจะสร้างเพื่อนำเข้าประจำการต่อไป โดยโครงการ บ.ชอ.2 ใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท (ถ้าจำไม่ผิด) โครงการ บ.ทอ.6 ใช้งบประมาณราว 37 ล้านบาทครับ
เครื่องบินลำนี้ สีส้มแสบตาจริง ๆ ครับ
สมรรถณของ บ.ชอ.2
ประเภท: เครื่องบินฝึกขั้นต้น
กางปีก: 8.35 เมตร
พื้นที่ปีก: 10. ตารางเมตร
ยาว: 7.1 เมตร
สูง: 2.68 เมตร
จำนวนนักบิน: 2 คน
ผู้โดยสาร: 2 คน
เครื่องยนต์: เครื่องยนต์ลูกสูบนอนแบบ Lycoming AEIO-540 ให้กำลังขับ 260 แรงม้า
ใบพัด: 2 กลีบ รุ่น Hartzell HC-C2VK-1BF/8477-8R
ความเร็วสูงสุด: 182 น็อต
ความเร็วเดินทาง: 174 น็อต
เพดานบินสูงสุด: 19,000 ฟุต
พิสัยบินไกลสุด: 710 ไมล์
อ่านเพิ่มเติม
"กองทัพอากาศประสบผลสำเร็จในการสร้างเครื่องบินต้นแบบ บ.ชอ.๒"
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=06-11-2007&group=1&gblog=64สำหรับวันนี้ จบเพียงเท่านี้ ขอบคุณทุกท่าน สวัสดีครับ
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=22-09-2008&group=2&gblog=96