จากการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับกองเรือเฉพาะกิจนานาชาติหรือ Task Force 150 ที่ปฏิบัติการปราบปรามโจรสลัดโซมาเลียที่ออกปล้นสะดมและจับลูกเรือพลเรือนเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่นั้น กองทัพเรือเดนมาร์กก็ได้ส่งเรือรบของตนเข้าร่วมปฏิบัติการเช่นกัน ซึ่งข่าวที่ออกมาล่าสุดนั้น เรือเรือบัญชาการและสนับสนุน HDMS Absalon (L16) ก็ได้ร่วมกับหน่วยรบพิเศษ FKP (มนุษย์กบ)ของกองทัพเรือเดนมาร์กทำการจับกุมเรือพร้อมผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นโจรสลัดแถบอ่าวโซมาเลีย10คน
ถึงแม้ว่าเดนมาร์กจะเป็นประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกหลักของ NATO ในกลุ่มยุโรปตะวันตกแต่โดยรวมแล้วกองทัพเดนมาร์กนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็กและมีกำลังพลประจำการจำนวนไม่มากนัก เฉพาะในส่วนของกองทัพเรือนั้นเรือรบที่ประจำการส่วนใหญ่จะเป็น เรือคอร์เวตติดอาวุธนำวิถี หรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และเรือตรวจการณ์อื่นๆ โดยมีเรือที่ระวางขับน้ำมากกว่า1,500ตันไม่เกิน12ลำเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเนื่องจากการที่ที่ตั้งของประเทศตั้งอยู่บนคาบสมุทรJustland ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทวีปยุโรป และจากประสบการณ์ที่เดนมาร์กเองเคยถูก Nazi เยอรมันรุกรานทั้งๆที่วางตัวเป็นกลางและในช่วงสงครามเย็นที่โซเวียตอาจจะทำการบุกยึดประเทศเพื่อควบคุมทางออกด้านทะเลBaltic ทำให้กำลังทางเรือของกองทัพเรือเดนมาร์กนั้นก็จัดได้ว่ามีความทันสมัยสูงพอตัวทีเดียว
ในช่วงปี 2000-2005 นั้นหลายประเทศในยุโรปตะวันตกได้สร้างและประจำการเรือป้องกันภัยทางอากาศสำหรับกองทัพเรือของตนหลายชั้นเช่น เรือชั้น Sachsen ของเยอรมนี, เรือชั้น De Zeven Provincien ของเนเธอร์แลนด์, เรือชั้น Alvaro De Bazan ของสเปน, เรือชั้น Fridtjof Nansen ของนอร์เวย์, เรือชั้น Forbin Horizon ของฝรั่งเศสและ เรือชั้น Type 45 Duke ของอังกฤษเป็นต้น
สำหรับเดนมาร์กนั้นในปี 2004 กองทัพเรือเดนมาร์กได้ขึ้นระวางประจำการเรือชั้น Absalon ลำแรกคือ HDMS Absalon (L16) และลำที่สอง HDMS Esbern Snare (L17) ในปี2005ซึ่งดูจากรูปร่างแล้วเหมือนเรือฟริเกตตามการจัดของ NATO แต่จริงๆแล้วมีความแตกต่างออกไปซึ่งการออกแบบและสร้างเรือชั้น Absalon นั้นก็มีความน่าสนใจจะจะนำเสนอครับ
เรือชั้น Absalon ถูกจัดเป็นเรือประเภทเรือบัญชาการและสนับสนุนการรบซึ่งมีความอ่อนตัวในการปฏิบัติการสูง(Command Combat / Flexible support ship) เรือทั้งสองลำในชั้นต่อขึ้นที่อู่เรือ Odense Steel ของเดนมาร์ก โดยถูกออกแบบให้เป็นเรือบัญชาการที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการได้หลากหลายภารกิจ ทั้งการโจมตีเรือผิวน้ำ การโจมตีชายฝั่ง ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลังทางทะเลทางยุทธศาสตร์ จนถึงภารกิจกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล
เรือชั้น Absalon มีระวางขับน้ำสูงสุด 6,600ตัน ตัวเรือยาว 137เมตร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนตร์ดีเซล MTU 8000 2เครื่อง กำลังรวม 22,300แรงม้า ทำความเร็วได้สูงสุด 24น็อต โดยพิสัยทำการไกลสุดอยู่ที่ 9,000ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15น็อต
กำลังพลประจำเรือ 100นาย สามารถเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานและอื่นๆได้อีก 70นาย
ตัวเรือมีการออกแบบให้มีห้องดาดฟ้าบรรทุกเอนกประสงค์ภายในเรือ(flex deck)ขนาด 915ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับกำลังพลได้130นายซึ่งรวมถึงรถถังหลักขนาด 62ตันเช่น Leopard2 ซึ่งสามารถขึ้นลงเรือได้จากRamp ท้ายที่สามารถเปิดออกได้ขณะเรือเทียบท่าด้วย โดยเรือสามารถรองรับกำลังพลได้สูงสุด 300นาย
ตัวเรือมีโรงเก็บ ฮ.ประจำเรือซึ่งสามารถรองรับ ฮ.EH101 ได้2ลำ และลานจอด ฮ.ท้ายเรือนั้นมีความกว้างสามารถรองรับการลงจอด ฮ.ขนาด 22ตัน เช่น CH-47 Chinook ได้
นอกจากนี้ยังมีเรือเร็วท้องแบบSRC-90E ประจำเรือ2-3ลำ ใช้กำลังพลประจำเรือ3นายและรองรับผู้โดยสารซึ่งอาจจะเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้อีก 9นาย
เรือใช้ระบบควบคุมการรบแบบ Terma C-Flex โดยระบบปฏิบัติการ Workstation ภายในเรือในใช้ Windows2000 และตัว Server ใช้ระบบปฏิบัติการ Sun Solaris
ตัวตรวจจับของเรือมี Radar Thales SMART-S mk2 ซึ่งเป็นRadar ตรวจการณ์และจับเป้าหมาย 3D ย่านความถี่ S-band ระยะตรวจจับ 250กิโลเมตร
Radar ควบคุมการยิงแบบ Saab CEROS 200
และ Terma Scanter 2001 ซึ่งเป็นRadar ตรวจการณ์พื้นน้ำย่านความถี่ X-band
รวมถึงระบบตรวจจับสัญญาณElectronic ESM(Electronic Support Measures)ของ EDO แบบ ES 3701
Sonar แบบASO 94-01 ของAtlas Elektronik
รวมถึงแท่นยิงเป้าลวงของTerma ด้วย
ในส่วนระบบอาวุธของเรือนั้น เรือชั้นนี้ติดตั้งปืนใหญ่เรือแบบ Mk 45 ขนาด 5"/54cal 1กระบอก โดยในอนาคตมีแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้ Mk45 Mod4 ขนาด 5"/62cal พร้อมจัดหากระสุนนำวิถีพิสัยไกล EX-171 ER ระยะยิง20กิโลเมตร
ระบบป้องกันตัวระยะประชิดของเรือคือระบบ Millenium 2ระบบ ซึ่งเป็นปืนใหญ่กล Revolver ขนาด 35มม. สามารถยิงกระสุนแตกอากาศด้วยอัตราการยิง 1,000ต่อนาที โดยสามารถทำลายเป้าหมายอากาศยานได้ที่ระยะ 3.5กิโลเมตรและอาวุธปล่อยที่ระยะ 2กิโลเมตร และแท่นยิงอาวุธปล่อนนำวิถีความร้อนแบบ Stinger แฝดสอง2แท่นยิง
เรือชั้น Absalon ติดตั้งอาวุธปล่อยต่อต้านเรือผิวน้ำ Harpoon Block II ได้ถึง 16นัด อีกทั้งยังมีแท่นยิงแนวดิ่งแบบ Mk56 VLS 6ท่อยิงอีก3ระบบ ซึ่งสามารถติดตั้งอาวุธปล่อยต่อสู้อากาศยานแบบ RIM-162 ESSM ที่มีระยะยิง 55กิโลเมตร ได้36นัดในชุดยิงบรรจุแบบ Dual Pack
นอกจากนี้ยังติดตั้ง Torpedo เบาต่อต้านเรือดำน้ำแบบแฝดสองหรือแฝดสามแบบ MU90 และสามารถบรรทุกทุ่นระเบิดเพื่อนำไปวางในทะเลได้300ลูกอีกด้วย
โดยรวมแล้วถ้าเทียบกับเรือที่มีประจำการในกองทัพเรือไทย เรือชั้น Absalon ของเดนมาร์กนั้นมีอำนาตการยิงใกล้เคียงหรือสูงกว่าเรือรบผิวน้ำที่มีประจำการในกองทัพเรือไทยอยู่บ้าง แต่ในด้านความทันสมัยของระบบนั้นก็ถือว่าสูงกว่าในระดับหนึ่ง และในส่วนความเอนกประสงค์ของเรือที่สามารถขนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ภายในตัวเรือและรองรับปฏิบัติการของ ฮ.ขนาดใหญ่นั้น ก็เหมือนการการรวมเอาคุณสมบัติของเรือยกพลขึ้นบกเข้าไว้อีก ซึ่งยังไม่มีเรือแบบใดในกองทัพเรือที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
ส่วนตัวไม่ทราบว่ากองทัพเรือไทยสนใจเรือลักษณะนี้หรือไม่ครับ แต่ถ้าดูจากการออกแบบตัวเรือชั้นAbsalonที่เป็นการรวมเอาเรือรบผิวน้ำในลักษณะเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดอาวุธปล่อยนำวิถีที่มีลานจอดพร้อมโรงเก็บฮ.ขนาดใหญ่และเรือยกพลขึ้นบกหรือเรือระบายพลเข้าไว้ด้วยกันแล้ว
คิดว่าขีดความสามารถของอู่ต่อเรือในไทยอาจจะสามารถต่อเรือลักษณะนี้ได้ครับ ซึ่งถ้ามีการปรับแบบคุณสมบัติเช่น การรูปแบบอาวุธแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาดใหญ่ที่อาวุธหลักเป็นปืนใหญ่เรือขนาด 76มม. ติดอาวุธปล่อยนำวิถีป้องกันตัวระยะประชิดเช่น Sadral หรือ RIM-116 RAM พร้อมปืนรองขนาด 20มม-30มม (อาจติด อวป.ต่อต้านเรือผิวน้ำได้ในอนาคต) และมีห้องบรรทุกเอนกประสงค์ในเรือที่สามารถบรรทุกได้ในระดับเดียวกับเรือระบายพลขนาดใหญ่พร้อมลานจอด ฮ.ที่รองรับ ฮ.ขนาด 15ตันขึ้นไปได้(โรงเก็บ ฮ.อาจจะมีหรือไม่มี) โดยเรือน่าจะมีระวางขับน้ำที่ 3,000-4,000ตัน
ก็ไม่ทราบว่าเป็นแนวคิดที่เหมาะสำหรับกองทัพเรือไทยหรือไม่ครับ
Credit: Danskeren
http://www.navalhistory.dk/english/theships/classes/absalon_class(2004).htm
http://www.navalhistory.dk/english/theships/a/absalon(2004).htm
แจ่มครับ เพิ่งเข้าไปอ่านเรื่องทร.เดนมาร์กจับโจรสลัดโซมาเลียใน Blog ของท่านเมื่อบ่าย พอคืนนี้มา TFC ได้อ่านเรื่องเต็มของเรือธง L-16 กำลังว่าจะไปค้นข้อมูลอยู่พอดี...ขอขอบคุณครับสำหรับเนื้อหาดีๆ
ถ้าทัพเรือไทยต่อได้โดยย่อขนาดเรือลำนี้ลงมาสักหน่อยนะ ผมว่าคงเยี่ยมไม่น้อย
แต่สงสัยไม่มีทางต่อเองได้ช่วงนี้แน่ เพราะไม่มีคอมมิชชั่น
ยังไงก็ชอบเรือลำนี้มากครับ จับฉ่ายดี เหมาะสำหรับประเทศที่วางตัวอย่างเราดีครับ
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าเรือรุ่นนี้คงไม่เหมาะอย่างยิ่งกับ ทร.ไทย ครับ
เนื่องจาก
ถ้ามองว่าเป็นภารกิจ ตรวจการไกลฝั่ง OPV ทั้งขนาดและระบบอาวุธที่ติดมานั้นเกินความจำเป็น และค่าใช้จ่ายในการออกทะเลนี้ สุดๆแน่ครับ
ระบบอาวุธสมบูรณ์แบบกว่า เรือฟรีเกต ลำที่ดีที่สุดของเราเสียอีก
ครั้งจะให้เป็นเรือบัญชาการยกพลขึ้นบก จุดประสงค์ของไทยที่จะต่อเรือLPD นี้หลักๆเพื่อทดแทนเรือยกพลลำเก่าที่จะปลดฯ และมาเพื่องาน ช่วยเหลือเหตุประสพภัย โดยเน้นเรื่องค่าใช้จ่ายในการปฏิบัตรการต่ำ และไม่ได้เน้นแนวรุก จึงเน้นติดอาวุธป้องกันตัวเองเป็นหลัก และคงสามารถระดมยิงชายฝั่งได้บ้าง
ซึ่ง เรือชั้น Absalon นี้ก็เกินความจำเป็นในภารกิจนี้อีก
แต่ถ้านำมาเป็นแผนแบบเรือ ป้องกันภัยทางอากาศประจำกองเรือ ก็ยังเกินความจำเป็นสำหรับ ขนาดทัพเรือของเราที่เน้นป้องกันอยู่ดี ครับ
แต่ทั้งนี้ทั้นนั้นผมชอบการออกแบบเรือลำนี้ในแง่การจัดระบบอาวุธ และความครบเครื่องในการทำภารกิจได้ทุกมิติ แต่คงจะต้องเป็นประเทศที่มีความสามารถ วางกำลังทางเรือเชิงรุกมากกว่า
ถ้าจะมาเป็นของเราคงได้แบบ แยกมาเป็นเรือซัก 3 ลำ 3 ภารกิจ 555
ไม่น่าเชื่อเรือ 6000 กว่าตันนี้มันครบเครื่องจริงๆ
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
มันเป็นเรือที่ นาโต้ มากๆครับ ทำได้ทุกภารกิจอเนกประสงค์ แหม่น่าจะบรรทุกเครื่องบินไปด้วยให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย มันช่างเหมาะกับนาโต้ชาติเล็กๆมากๆ เวลาไปรักษาสันติภาพก็เอาเจ้านี่ไปจบ ประหยัดงบแต่มันไม่ประหยัดงบสำหรับเราหรอก เพราะภารกิจเรือแอลใหญ่ของเราในการช่วยเหลือประชาชน เจ้านี่ไม่น่าจะเพียงพอครับ
ถ้าในด้านฝั่งทะเล อันดามัน อาจจะเหมาะสม สำหรับเรือที่เอนกประสงค์ ครบครันขนาดนี้ครับ...เพราะฐานทัพเรือใหญ่เรา อยู่ฝั่งอ่าวไทย กว่าจะแล่นอ้อมมาเสริมกำลัง ไม่ว่าจะเรือยกพล หรือเรือต่อต้านผิวน้ำ ต่อต้านทางอากาศ คงต้องยก โขยง กันมา กว่าจะป้องกันทั้งทางผิวน้ำ ทางอากาศ และใต้น้ำ....ครบ...และถ้าจะนำเรือที่มีในปัจจุบันไปประจำการให้ครบทุกภาระกิจในฝั่งอันดามัน...กำลังรบทางฝั่งอ่าวไทย ก็จะด้อยลงไปพอสมควร ครับ....กำลังทางเรือทางฝั่น อันดามัน ควรจะเป็นเรือรบที่เอนกประสงค์ ทำได้หลากหลายภาระกิจ....
ปัจจุบัน ทางฝั่งอันดามัน ถ้าจะดูภัยคุกคามของเรือขนาดใหญ่ และมีประสิทธิภาพสูง มีได้มากกว่าฝั่งอ่าวไทย....เพราะติดทั้งน่านน้ำ อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย...และถ้าจะมีภัยคุกคามลามปาม เรื่องการก่อการร้านจากอ่าวเปอร์เซีย ก็น่าจะเกิดขึ้นกับทะเลฝั่งอันดามัน ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทย ติดน่านน้ำ เขมร เวียดนาม และมาเลเซีย...และไม่มีภ้ยคุกคามจากการก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง...
ส่วนตัวคิดว่ารูปแบบเรือสนับสนุนลักษณะนี้ถ้าจะมีการออกแบบเรือให้เหมาะกับกองทัพเรือไทยก็น่าจะเป็นรูปแบบเรือระบายพลใหญ่ขนาด800-1,000กว่าตัน ยาว70-80กว่าเมตรที่มีลานจอด ฮ.ท้ายเรือขนาดพอรองรับ ฮ.ขนาด 10-15ตันขึ้นไปได้1ลำ(ไม่จำเป็นต้องมีโรงเก็บก็ได้) สามารถเปิด Ramp บรรทุกทางท้ายเรือสามารถปล่อยรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกหรือเรือยางท้องแบนจนถึงบรรทุกกำลังพลได้(มีRampหัวเรือด้วยก็ดี) โดยหัวเรือติดอาวุธปืนขนาดกลาง 76มม.หรืออาจจะมีปืนใหญ่กล30-40มม.ร่วมด้วย มีอำนาจการยิงระดับเรือตรวจการณ์ปืน ลักษณะเดียวกับเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก(LSSL) เช่น ร.ล.นาคา ที่ปลดไปแล้ว
โดยการออกแบบรวมๆจะเป็นเรือเอนกประสงค์ที่ใช้งานได้ทั้งภารกิจลาดตระเวน สนับสนุนการส่งกำลังและยิงสนับสนุนการยกพลขึ้นบก จนถึงช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ในราคาตัวเรือที่ไม่แพงมาก ผลิตได้หลายลำใน1ชุด และมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่ำ
แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบการจัดกองเรือของกองทัพเรือในปัจจุบันนั้นยังคงแยกประเภทเรือออกตามภารกิจเฉพาะชัดเจนอยู่ครับเช่น เรือตรวจการณ์ก็เป็นเรือตรวจการณ์อยู่ในสังกัดกองเรือตรวจอ่าว เรือระบายพลก็เรือระบายพลอยู่ในสังกัดกองเรือยกพลขึ้นบก แยกกันชัดเจน เพราะฉนั้นรูปแบบเรือที่เสนอมาในข้างต้นนั้นยากที่จะเป็นไปได้ในปัจจุบันครับ