"ยานใต้น้ำไร้คนขับ"ทร.ใช้ฝึกปราบเรือดำน้ำ |
ความฝันของกองทัพเรือที่ต้องการจะมี "เรือดำน้ำ" เข้าประจำการในกองทัพเพื่อหลักประกันทางยุทธศาตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ดูจะไกลเกินฝัน เนื่องจากเรือดำน้ำแต่ละลำมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และการจัดซื้อจะต้องซื้อหลายลำเพื่อนำมาประกอบเป็นกำลังรบ แม้ความฝันในการมีกองเรือดำน้ำจะยากที่จะเป็นจริงแค่ไหน แต่กองทัพเรือไทยก็มุ่งมั่นที่จะไล่ตาม และพัฒนาเทคโนโลยีเรือดำน้ำขึ้นมาเองให้ได้ โดยได้พัฒนาโครงการ "ยานใต้น้ำ" ขึ้นมาเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีเบื้องต้นของเรือดำน้ำเพื่อต่อยอดขึ้นสู่ระดับสูงในอนาคต เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ร.อ.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วีรวัฒน์ วงษ์ดนตรี หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ปฏิบัติหน้าที่นายทหารโครงการวิจัย และพัฒนา ยานใต้น้ำไร้คนขับสำหรับฝึกปราบเรือดำน้ำ พร้อมนักวิจัยจากกองทัพเรือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทนนทรี จำกัด ได้ร่วมทดสอบยานใต้น้ำไร้คนขับ บริเวณอ่าวสัตหีบ ระหว่าง เกาะตอม่อ กับ เกาะพระ การทดสอบยานใต้น้ำครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าของโครงการใน "ระยะสุดท้าย" ก่อนจะปิดโครงการภายในวันที่ 30 กันยายน เพื่อส่งมอบยานใต้น้ำไร้คนขับ จำนวน 3 ลำ ให้กองทัพเรือไว้ใช้ในราชการต่อไป พล.ร.อ.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วีรวัฒน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า ยานใต้น้ำไร้คนขับที่จัดสร้างขึ้นจะมีคุณลักษณะเหมือนเรือดำน้ำที่ใช้ในแวดวงการทหาร แต่มีขนาดเล็กกว่า กองทัพเรือ ตั้งเป้าจะใช้ยานใต้น้ำในโครงการนี้เพื่อ "ฝึกปราบเรือดำน้ำ" เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีเรือดำน้ำประจำการ แม้โครงการเรือดำน้ำจะมีการริเริ่มมานานกว่า 60 ปี ตามพระดำริของ จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครั้งยังทรงรับราชการอยู่ในกองทัพเรือ แต่หลังจากนั้นก็มิได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พล.ร.อ.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วีรวัฒน์ กล่าวย้ำว่า เรือดำน้ำของข้าศึกเป็นภัยคุกคามสำคัญสำหรับเรือรบของกองทัพเรือ เนื่องจากการตรวจพบเรือดำน้ำทำได้ยาก แม้ว่าจะมีเครื่องมือที่ทันสมัยก็ตาม ดังนั้น กำลังพลประจำเรือผิวน้ำ จึงต้องฝึกฝนอย่างหนักถึงจะมีขีดความสามารถในการ "ปราบเรือดำน้ำ" ของข้าศึกได้ การฝึกปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุด คือ การฝึกค้นหา และปราบเรือดำน้ำจริงๆ แต่เนื่องจากกองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการ จึงต้องรอคอยโอกาสที่เรือดำน้ำจากมิตรประเทศเดินทางมายังน่านน้ำไทย และอาศัยห้วงดังกล่าวทำการฝึกเป็นครั้งคราว ด้วยอุปสรรคประการสำคัญนี้ทำให้คณะวิจัยของกองทัพไทย นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และช่างเทคนิค จากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อใช้เป็น "เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ" ตามนโยบายการพึ่งพาตนเองของกระทรวงกลาโหม ระยะแรก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2543 โดยสามารถพัฒนายานใต้น้ำที่ขับเคลื่อนใต้น้ำได้จริง เป็นยานรูปร่างคล้ายตอร์ปิโด ความยาว 3 เมตร น้ำหนัก 300 กก. ดำน้ำลึกสุด 30 เมตร ใช้กำลังแบตเตอรี่ขับใบจักร อยู่ใต้น้ำติดต่อกันได้นาน 2 ชั่วโมง แล่นด้วยตัวเองในลักษณะอิสระ และจะลอยขึ้นเมื่อหมดพลังงานทำให้มีปัญหาในการเก็บกู้ และไฮโดรโฟน (เครื่องส่งสัญญานเสียงใต้น้ำ) ของยานก็ยังทำงานได้ไม่ดีพอ แต่มีข้อดี คือ ใช้งบประมาณการผลิตเพียง 3 แสนบาท...ขณะที่ต่างประเทศตั้งราคาขายตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนยานใต้น้ำลำปัจจุบันได้รับการปรับปรุงจนมีขีดความสามารถสูงกว่ารุ่นแรกมาก โดยสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานต่อเนื่อง 4 ชั่วโมง ความเร็วสูงสุด 5 น็อต มีระบบหาตำแหน่งด้วยสัญญาณดาวเทียม (GPS) และสามารถส่งคลื่นวิทยุบอกตำแหน่งไปยังเรือใหญ่ทำให้สามารถตามเก็บยานขึ้นจากน้ำได้ง่าย มีระบบส่งสัญญาณเสียงใต้น้ำ ทำให้เกิดสัญญาณปรากฏบนจอโซนาร์ของเรือผิวน้ำได้เหมือนสถานการณ์จริง ทั้งยังสามารถกำหนดรูปแบบการเคลื่อนที่ใต้น้ำ เพื่อประโยชน์สำหรับการฝึกพนักงานโซนาร์ให้ค้นหาเรือด้วยสัญญาณวิทยุได้ถึง 10 รูปแบบ ยานใต้น้ำในปัจจุบันใช้งบประมาณราว 9 แสนบาท...ถูกกว่าของต่างประเทศ 5 เท่าในยานที่มีประสิทธิภาพพอๆ กัน ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ เพราะทุกระบบสามารถทำงานได้ถูกต้องเที่ยงตรงตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ ไม่มีปัญหาการรั่วซึม สามารถเคลื่อนที่ท่ามกลางกระแสน้ำ และสภาวะแวดล้อมจริงได้ดี ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพกับหน่วยงานพลเรือน และภาคเอกชนต่างๆ ประกอบด้วย กรมอู่ทหารเรือ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ ภาควิชาวิศวกรรมการบิน และอากาศยาน ม.เกษตรศาสตร์ และบริษัท นนทรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านการสร้างเครื่องจักรสำหรับงานอุตสาหกรรม "เราทำงานร่วมกันมายาวนานหลายปีด้วยความวิริยะอุตสาหะ ซึ่งนอกเหนือจากจะได้มาซึ่งยานใต้น้ำอันเป็นเป้าหมายแล้ว การแสดงบทบาทนักวิจัยไทยบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองยังเป็นอีกตัวอย่างที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถในสาขาอื่นหันมาใช้ศักยภาพของตนริเริ่มพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่จะยังประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคตต่อไป"
เรื่อง/ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา ที่มา : http://www.komchadluek.net/2008/08/25/x_mili_u001_217552.php?news_id=217552 |
ขอบคุณท่าน Ronin ที่ช่วยเผยแพร่ข่าวดีๆ ของกองทัพ
นี่ก็เป็นมิติที่ดีสำหรับประเทศไทย ในการที่กองทัพมีการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการวิจัยพัฒนายุทโธปกรณ์ นับเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
สำหรับด้านกองทัพอากาศ นอกจากเครื่องทอ.6 แล้วก็น่าจะมีการสัมมนากับภาคสถาบันการศึกษาเพื่อ brain storm ให้เกิดนวัตกรรมใหม่
เพิ่งสังเกตุจากภาพว่ายานใต้น้ำลำนี้มีชื่อว่าไกรทองครับ(ไม่ทราบว่าจะอีกลำ2ที่เหลือนี้มีการตั้งชื่อให้หรือไม่ครับ เช่น สุดสาคร เป็นต้น)
อย่างไรก็ตามยานใต้น้ำก็คือยานใต้น้ำครับ ก็เคยให้เหตุผลคล้ายกันในหัวข้อเกี่ยวกับโครงการพัฒนายานใต้น้ำขนาดเล็กประมาณ20ตันที่บรรทุกลูกเรือได้3นายก่อนหน้านี้ครับว่า ยานกลุ่มนี้นั้นมีขีดความสามารถจำกัดซึ่งอย่างไรก็ไม่สามารถใช้งานได้แทนเรือดำน้ำจริงๆได้ครับ
แต่โครงการนี้ก็มีประโยชน์อย่างมากต่อการวิจัยและการนำไปใช้ในการฝึกครับ (แต่การนำไปใช้ทางด้านยุทธวิธีนั้นคงมีข้อจำกัดอยู่ดีครับ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป)
ชื่อ ไกรทอง เป็นไปตามการตั้งชื่อ เรื่อดำน้ำหรือ ยานใต้น้ำ ที่จะใช้ชื่อตัวละครในวรรณคดีไทย