หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ระเบียบโลกแห่งความเป็นจริง - บทวิเคราะห์กรณีรัสเซียบุกจอร์เจีย

โดยคุณ : กัปตันนีโม เมื่อวันที่ : 24/08/2008 09:54:43

เป็นบทวิเคราะห์จากเวบต่างประเทศ แปลเค้ามาอีกทีครับ เห็นว่าน่าสนใจดี แต่ออกจะยาวนิดนึง..

เรียบเรียงจาก “The Real World Order” By George Friedman จาก http://www.stratfor.com
เรียบเรียงโดย กัปตันนีโม


เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1990 ประธานาธิบดีจอร์จ บุช (ผู้พ่อ) ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส ถึงระเบียบโลกใหม่ (New World Order)ภายหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก โดยสรุปความได้ว่าที่ผ่านมาผู้คนหลายร้อยชั่วคนได้พยายามค้นหาเส้นสางสู่สันติภาพ ในขณะที่ได้เกิดสงครามนับร้อยครั้งตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่บัดนี้โลกใหม่ที่ต่างจากโลกเดิมที่เราเคยรู้จักกำลังจะอุบัติขึ้น โลกใหม่ที่ยึดถือกฎระเบียบแทนความป่าเถื่อน โลกที่นานาชาติต่างร่วมกันรับผิดชอบในเสรีภาพและความยุติธรรม โลกที่ผู้แข่งแกร่งเคารพสิทธิของผู้ที่อ่อนแอกว่า

เป็นธรรมดาที่หลังจากสงครามขนาดใหญ่ผ่านพ้นไป จะมีความเชื่อว่าสงครามนั้นจะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายและจะไม่เกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก เนื่องจากว่าการได้มาซึ่งชัยชนะในสงครามขนาดใหญ่ย่อมต้องใช้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศพันธมิตร และกลุ่มประเทศพันธมิตรนั้นจะยังคงร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพ และท้ายสุดแล้วกลุ่มที่แพ้สงครามก็จะเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวเพื่อรักษาสันติภาพนั้นไว้ ซึ่งแนวคิดนี้เองที่ก่อให้เกิดการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนา องค์การสันนิบาติชาติ องค์การสหประชาชาติ และองค์การนาโต้ (ในกรณีหลังสงครามเย็น) โดยหวังว่ากลุ่มพันธมิตรอันประกอบด้วยกลุ่มประเทศคู่สงครามทั้งสองฝ่ายนี้จะร่วมกันแก้ปัญหาใดก็ตามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นว่าแนวคิดนั้นไม่เคยสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นาน สาเหตุของความล้มเหลวอาจเกิดจากความขัดแย้งภายในกลุ่มพันธมิตรของประเทศผู้ชนะสงคราม หรือกลุ่มประเทศผู้แพ้สงครามอาจไม่ให้ความร่วมมือ หรือกลุ่มอำนาจใหม่อาจเกิดขึ้นนอกกลุ่มพันธมิตรนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใด ความเป็นจริงของระเบียบโลกก็คือความแตกแยกและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และในที่สุดแนวคิดในอุดมคติก็ต้องพ่ายแพ้ต่อโลกแห่งความเป็นจริง กลายเป็นหนทางไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่




ความคิดเห็นที่ 1


ระเบียบโลกใหม่หลังยุคสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2551 เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและจอร์เจีย ซึ่งสงครามที่เกิดขึ้นอาจไม่มีความสำคัญในตัวเองเท่าใดนัก และอาจมีผู้กล่าวว่าจุดสิ้นสุดของระเบียบโลกใหม่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 แต่ความแตกต่างของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาคือการที่ประเทศรัสเซียเข้าทำการโจมตีประเทศอธิปไตยอย่างจอร์เจีย เนื่องมาจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจประเทศที่สาม อันได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนี้เองที่นำเรากลับเข้าสู่ระเบียบโลกแห่งความเป็นจริง

โลกในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาความไม่สมดุลอยู่สองประการ ประการแรกคือการที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจมากเสียจนกระทั่งไม่มีกลุ่มประเทศใดสามารถต่อรองหรือควบคุมพฤติกรรมของสหรัฐอเมริกาได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสหรัฐอเมริกาจะกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังคงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง และมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจอันดับรองลงมาถึงสามประเทศรวมกัน (ญี่ปุ่น, เยอรมนี, และจีน) นอกจากนี้กำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมเส้นทางคมนาคมขนส่งทางทะเลได้ทั้งหมด อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศเหนือพื้นโลกได้ตามต้องการ ด้วยเหตุนี้จึงยังกล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจมากที่สุดในโลก – แม้จะไม่เป็นที่ชื่นชมนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอำนาจมากที่สุดในปัจจุบัน

ความไม่สมดุลประการที่สองคือการที่สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเทกำลังทางบกและขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุงแทบทั้งหมดสำหรับพื้นที่ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอิรัคและอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ความขัดแย้งกับอิหร่านยังทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเตรียมกำลังทางอากาศไว้ในพื้นที่ตะวันออกกลางอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองเกิดขึ้น กล่าวคือ ในระยะยาวกำลังอำนาจของสหรัฐอเมริกามีมากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบโลกได้ แต่ในระยะสั้นสหรัฐอเมริกากลับไม่มีกำลังทหารเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความขัดแย้งในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งหมายความว่าสหรัฐอเมริกามีกำลังอำนาจในระยะยาว แต่ไม่สามารถใช้อำนาจนั้นได้ในช่วงระยะสั้น ทำให้เกิดเป็นช่องโอกาสระยะสั้นขึ้นมาสำหรับบางประเทศในช่วงนี้

ผลของสงครามในอิรัคกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกาได้ประสบความสำเร็จในการวางรากฐานสำหรับการแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างสันติระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ในอิรัคเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพขึ้นมาได้ แต่ปัญหาของสหรัฐอเมริกาคือช่วงเวลาที่ใช้กว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งกินเวลากว่า 5 ปี หลังจากการบุกอิรัคเมื่อปี พ.ศ.2546ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้เตรียมการสำหรับการรบที่นานขนาดนั้น ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอิรัค ส่งผลให้กำลังทางบกส่วนมากอยู่ในประเทศอิรัค หรือไม่ก็เป็นกำลังผลัดเปลี่ยนที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเตรียมการ ในขณะที่กำลังสำรองที่เหลืออยู่ก็ถูกใช้ไปกับการปฏิบัติการในอัฟกานิสถานจบแทบไม่มีกำลังทางบกเหลือสำหรับภารกิจอื่น
โดยคุณ กัปตันนีโม เมื่อวันที่ 20/08/2008 22:13:41


ความคิดเห็นที่ 2


ถึงแม้ว่ากำลังทหารส่วนมากของสหรัฐอเมริกาจะถูกส่งไปยังพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่สหรัฐอเมริกายังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศในภูมิภาคอื่น เช่นการขยายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้าไปในยุโรปตะวันออกและการขยายสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้ไปยังยูเครนและจอร์เจีย ซึ่งสหรัฐอเมริกามองบทบาทของตนเองว่าเป็นผู้ที่จะต้องไปวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยและตลาดเสรีในกลุ่มประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเดิม ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เข้าไปวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยให้กับเยอรมนีและญี่ปุ่นเมื่อครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และในครั้งนี้ก็เป็นความรับผิดชอบของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้เอาชนะสหภาพโซเวียตในสงครามเย็นที่จะเข้าไปวางรากฐานใหม่ให้กับกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต

ในช่วงแรกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กลุ่มประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ยังคงอยู่ในช่วงของความขัดแย้งและความสับสนวุ่นวายภายใน ซึ่งรัสเซียเองมองว่าเป็นผลมาจากการแทรกแซงจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศยุโรปที่แทรกแซงและขยายอิทธิพลเข้ามายังยุโรปตะวันออกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในมุมมองของสหรัฐอเมริกานั้นมองว่าการแทรกแซงดังกล่าว (ไม่ว่าจะเป็นการรบที่โคโซโว ไปจนถึงการขยายสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้และการตั้งฐานทัพอากาศในเอเชียกลาง) เป็นการช่วยสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคและส่งเสริมความมั่นคงให้กับกลุ่มประเทศเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของรัสเซียนั้น การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคแต่อย่างใด แต่เป็นการที่สหรัฐอเมริกาอาศัยช่องว่างในช่วงที่รัสเซียอ่อนแอเพื่อจะปิดล้อมรัสเซียด้วยกลุ่มประเทศที่อยู่ในการควบคุมของสหรัฐอเมริกาหรือเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้ ทั้งที่ในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตั้น ได้เคยมีการสัญญาว่าจะไม่มีการขยายสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้ไปยังประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียต แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่รักษาสัญญานั้นเพราะในขณะนั้นรัสเซียอ่อนแอเกินไปที่จะตอบโต้อะไรได้
โดยคุณ กัปตันนีโม เมื่อวันที่ 20/08/2008 22:14:37


ความคิดเห็นที่ 3


จุดแตกหักสำหรับรัสเซียคือการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ในยูเครน ซึ่งสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปมองว่าเป็นการเบ่งบานของระบอบประชาธิปไตย แต่รัสเซียกลับมองว่าเป็นปฏิบัติการต่อต้านรัสเซียที่ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ และเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มกล่าวถึงการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้ ก็ยิ่งทำให้รัสเซียเข้าใจว่าสหรัฐอเมริกาต้องการต้อนรัสเซียให้จนตรอก เนื่องจากหากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้แล้ว ย่อมเป็นการทำให้รัสเซียตกอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้อีกต่อไป และด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงได้เริ่มวางแผนที่จะตอบโต้การคุกคามของสหรัฐอเมริกา

อันที่จริงแล้วช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดหากสหรัฐอเมริกาต้องการจะบดขยี้รัสเซียคือในช่วง
ทศวรรษที่ 90 ก่อนที่ปูตินจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนเยลต์ซิน และก่อนเหตุการณ์ 9/11 อย่างไรก็ดีสหรัฐอเมริกาก็ไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสหรัฐอเมริกามองว่าตนยังมีเวลาอีกเหลือเฟือ แต่สหรัฐอเมริกาไม่เข้าใจว่ายุคของประธานาธิบดีเยลต์ซินเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายชั่วคราว และในที่สุดถึงแม้จะไม่มีปูติน ก็ต้องมีใครคนอื่นที่เข้ามาแก้ไขความวุ่นวายภายในของรัสเซีย นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังไม่เข้าใจว่าลำพังตนเองไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ที่มีความสำคัญในระดับระหว่างประเทศได้ทั้งหมด ซึ่งเหตุการณ์ 9/11 ทำให้สหรัฐอเมริการู้ตัวว่ายังต้องการความช่วยเหลือจากรัสเซียเกี่ยวกับปัญหาในอัฟกานิสถาน อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังต้องจมอยู่กับปัญหาในตะวันออกกลางไปอีกร่วมสิบปี ช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาจะสามารถบดขยี้รัสเซียได้จึงสิ้นสุดแต่เพียงแค่นั้น

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตเดิม โดยสหรัฐอเมริกายังคงนโยบายเดิมที่จะแทรกแซงและขยายอิทธิพลเข้าไปยังภูมิภาคนั้น รวมถึงความพยายามในการรวมยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้ ทั้งที่สหรัฐอเมริกาเองแทบไม่มีกำลังทางบกเหลืออยู่นอกภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว ในขณะที่ทั้งยูเครนและจอร์เจียมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่งต่อรัสเซีย โดยยูเครนกินพื้นที่ส่วนมากด้านตะวันตกของรัสเซียโดยไม่มีแนวป้องกันทางธรรมชาติใดๆ ระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่วนจอร์เจียนอกจากจะถูกมองเป็นตัวปัญหาในกรณีเชชเนียแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์อื่นของรัสเซียเขตเทือกเขาคอเคซัสอีกด้วย
โดยคุณ กัปตันนีโม เมื่อวันที่ 20/08/2008 22:15:02


ความคิดเห็นที่ 4


การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อนปี พ.ศ.2543 อาจดูสมเหตุสมผล เนื่องจากในขณะนั้นรัสเซียยังอ่อนแอ แตกแยก และขาดผู้นำที่เข้มแข็ง แต่หลังจากนั้นรัสเซียเริ่มเข้มแข็งมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่เหลือกำลังทางทหารที่สามารถทำการต่อรองได้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือสหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีคุกคามต่อรัสเซียในระยะยาว โดยที่ไม่มีกำลังทหารที่สามารถตอบโต้และตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างเด็ดขาดในระยะสั้นได้
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาประเมินว่ารัสเซียจะไม่กล้าเผชิญหน้ากับผลประโยชน์และอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในพื้นที่ รัสเซียกลับประเมินว่ารัสเซียไม่อาจรอได้อีกต่อไปที่จะเผชิญหน้ากับผลประโยชน์เหล่านี้ เนื่องจากสถานการณ์ในอิรัคที่กำลังกระเตื้องขึ้นซึ่งจะส่งผลให้กำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกากลับสู่สภาพปกติในเวลาอันใกล้นี้ ถ้ารัสเซียจะแสดงศักยภาพของตนเอง รัสเซียจะต้องรีบทำก่อนที่จะสายเกินไป

ส่วนหนึ่งที่ทำให้รัสเซียตัดสินใจที่จะแสดงศักยภาพในช่วงเวลานี้คือการเพิ่มกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาในอิรัค รัสเซียเลือกที่จะลงมือในช่วงที่สหรัฐอเมริกาไม่มีกำลังเพียงพอที่จะตอบโต้ นอกจากนี้รัสเซียยังมีไพ่ตายอีกใบอยู่ในมือ คืออิหร่านนั่นเอง

สหรัฐอเมริกากำลังเล่นเกมต่อรองอยู่กับอิหร่าน ด้วยการแสดงกำลังขู่ว่าพร้อมที่จะโจมตี ในขณะที่พยายามดึงอิหร่านเข้าสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการความร่วมมือจากรัสเซียในการต่อรองครั้งนี้ โดยสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้รัสเซียขายระบบป้องกันภัยทางอากาศให้กับอิหร่าน ดังนั้นหากสหรัฐอเมริกาทำการตอบโต้รัสเซียอย่างรุนแรงเกินไป รัสเซียก็สามารถสร้างความยุ่งยากให้กับสหรัฐอเมริกาในกรณีของอิหร่านได้ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่รัสเซียจะลงมือ
โดยคุณ กัปตันนีโม เมื่อวันที่ 20/08/2008 22:15:50


ความคิดเห็นที่ 5


การบุกโจมตีจอร์เจียแสดงให้เห็นว่ารัสเซียได้ฟื้นฟูศักยภาพทางการทหารจากยุคเสื่อมโทรมในทศวรรษที่ 90 นอกจากนี้รัสเซียยังได้แสดงให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียได้ โดยเป้าหมายหลักที่รัสเซียต้องการแสดงท่าทีเหล่านี้ให้เห็นคือยูเครน แต่กลุ่มประเทศบอลติค กลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลาง และประเทศเบลารุส ต่างก็เฝ้ามองดูท่าทีนี้อยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งรัสเซียก็กำลังเฝ้ามองประเทศเหล่านี้ว่าจะได้รับบทเรียนในครั้งนี้และมีการปรับเปลี่ยนท่าทีออกห่างจากสหรัฐอเมริกาและกลับเข้าหารัสเซียหรือไม่ ทั้งนี้รัสเซียเองเข้าใจดีกว่าประเทศเหล่านี้ย่อมต้องออกแถลงการคัดค้านและแสดงท่าทีต่อต้านบ้างในช่วงแรก แต่สิ่งที่รัสเซียเฝ้ามองอยู่คือท่าทีในระยะยาวมากกว่า

มีความเป็นไปได้สูงที่บทเรียนจากรัสเซียจะส่งผลต่อท่าทีของประเทศเป้าหมาย แต่รัสเซียเองก็รู้ตัวดีอยู่ว่าในระยะยาวรัสเซียเองยังคงอ่อนแออยู่ถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกา และโอกาสเดียวที่รัสเซียจะกลับไปสู่สถานะของประเทศทรงอิทธิพลในภูมิภาคคือการแสดงบทบาทในระหว่างที่สหรัฐอเมริกากำลังติดพันอยู่กับปัญหาในอิรัคเท่านั้น ดังนั้นหากการบุกจอร์เจียยังไม่สามารถส่งสัญญาณได้อย่างเพียงพอ รัสเซียต้องรีบฉวยโอกาสแสดงกำลังเพิ่มเติมในช่วงเวลานี้เท่านั้นก่อนที่ปัญหาในอิรัคจะคลี่คลายลง

อีกประเทศหนึ่งที่กำลังเฝ้ามองดูสถานการณ์รัสเซีย-จอร์เจียอย่างใกล้ชิดคืออิหร่าน ซึ่งปัจจุบันอิหร่านอยู่ในสถานะที่ไม่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียในการปกครองอิรัคได้ นอกจากนี้อิหร่านจำเป็นต้องใช้โครงการนิวเคลียร์ของตอนเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการต่อรองกับนานาชาติ มิเช่นนั้นอิหร่านสูญเสียโครงการนิวเคลียร์ของตนไปโดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย ซึ่งอิหร่านกำลังรอดูท่าทีของรัสเซียอยู่ ในขณะเดียวกันรัสเซียก็กำลังรอการตอบโต้จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากสหรัฐอเมริกาตอบโต้ในลักษณะที่รุนแรงต่อรัสเซีย ทางออกของรัสเซียคือการให้การสนับสนุนอิหร่าน แต่สหรัฐอเมริกาต้องการถอนกำลังออกจากอิรัคให้เร็วที่สุดและต้องการความช่วยเหลือจากรัสเซียในการยับยั้งอิหร่าน และรัสเซียเองก็ไม่ต้องการการตอบโต้จากสหรัฐอเมริกาโดยพร้อมที่จะยับยั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งรัสเซียเองก็ไม่อยากให้โครงการนี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ของอดีตประธนาธิบดีบุชผู้พ่อ คือการที่ประเทศต่างๆ ย่อมต้องการมีส่วนร่วมในกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา และที่มาของภัยคุกคามจะมาจากรัฐอันธพาล (rogue state) และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) อย่างเช่นประเทศเกาหลีเหนือและกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้าเท่านั้น นักวิเคราะห์บางคนยังได้กล่าวว่าจะไม่มีความขัดแย้งขนาดใหญ่ระหว่างรัฐชาติ (nation-state) ในศตวรรษที่ 21 อีก แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีภัยคุกคามจากรัฐอันธพาลและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ แต่ระเบียบโลกแห่งความเป็นจริงในศตวรรษที่ 21 ก็ยังคงไม่แตกต่างจากศตวรรษอื่นที่ผ่านมา  และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา รัสเซียก็ได้พาเรากลับเข้าสู่ระเบียบโลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง
โดยคุณ กัปตันนีโม เมื่อวันที่ 20/08/2008 22:16:17


ความคิดเห็นที่ 6


This world is the conplex game of chess and the only language they speak is the interest of its own. ^ ^
โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 20/08/2008 22:55:58


ความคิดเห็นที่ 7


แล้วอย่างนี้โลกจะกลับไปเป็นสองคั่วหรือไม่ วอซอว์แพ็คจะกำเหนิดอีกหรือเปล่า

โดยคุณ FOX2 เมื่อวันที่ 21/08/2008 02:43:47


ความคิดเห็นที่ 8


คงไม่กำเเนิดในนาม วอซอว์ แพคแล้วล่ะครับ ล่าสุดอเมริกาเซ็นสัญญาติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศในดินแดนของโปแลนด์เรียบร้อยแล้ว ที่เมืองวอซอว์นั่นเอง ดูแล้วยามนี้รอบบ้านรัสเซียเองหามิตรยากเหลือเกิน นอกจากจะบุกจอร์เจียแล้ว ยูเครนก็ร่ำๆว่าจะไม่ให้ใช้ฐานทัพเรือในทะเลดำอีกต่างหากอินเดียเองก็ยังไงๆ  อยู่ๆเริ่มบ่นว่ามีอาวุธรัสเซียมากเกินไปแล้วยังให้ไปร่วมมือกับอเมริกามากขึ้น
 ในความคิดผมเองคิดว่าอเมริกานั่นแหละที่สร้างความอึดอัดให้รัสเซียเอง เที่ยวไปติดตั้ง ระบบป้องกันขีปนาวุธรอบๆบ้านเขา แล้วก็กล่าวหาเขาไปทั่วว่าเป็นรัฐอันธพาล(อิหร่าน,เกาหลีเหนือ) รัสเซียเองก็ใช่ย่อล่าสุดถอนตัวจากการฝึกร่วมกับนาโตในทะเลบอลติก แล้วยังหันไปหาฐานทัพเรือในซีเรียโดยส่ง คุซเนซตอฟไปแล้ว ซึ่งถ้า ดูโอ รัสเซีย อาหรับ โคกันแน่นกว่านี้ น่าจะเกิดศึกใหญ่แน่ อีกฝ่ายมีตังอีกฝ่ายมีเทคโนโลยีน่ากลัวอยู่เหมือนกัน
โดยคุณ bebe_bravoo เมื่อวันที่ 21/08/2008 11:41:29


ความคิดเห็นที่ 9


กรณีโปแลนด์ ไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุบังเอิญที่มีการลงนามเรื่องโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธกันตอนนี้ (สหรัฐฯ เริ่มโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว) หรือว่านี่คือหนึ่งในมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ อ้างว่าระบบดังกล่าวมีไว้เพื่อป้องกันขีปนาวุธระยะไกลของอิหร่าน แต่ประเทศที่สหรัฐฯ วางแผนจะติดตั้งระบบนี้คือสาธารณรัฐเชคและโปแลนด์ ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นการปิดล้อมรัสเซียมากกว่า และรัสเซียก็ได้คัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ และสหรัฐฯ ก็เดินหน้ากับโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากเรื่องโครงการนี้แล้ว ยังมีเรื่องที่สหรัฐฯ และรัสเซียมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่อีกหลายเรื่อง ตั้งแต่การบุกอิรัคครั้งล่าสุดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไปจนถึงการขยายสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต้ และการประกาศเอกราชของโคโซโว ซึ่งที่ผ่านมารัสเซียเป็นฝ่ายถูกกดดันมาโดยตลอดและไม่สามารถทำอะไรได้เลย การบุกจอร์เจียนับเป็นครั้งแรกที่รัสเซียใช้กำลังตอบโต้ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่ากรณีความขัดแย้งอื่นๆ จะลงเอยอย่างไร

โดยคุณ กัปตันนีโม เมื่อวันที่ 22/08/2008 00:51:39


ความคิดเห็นที่ 10


ผมก็อ่านไม่ออกเหมือนกันครับว่าที่ต้องมาเซ็น Missile Shield กับโปแลนด์กันตอนนี้เพราะอะไร ...... ถ้าให้เดาก็คงคิดเหมือนกับคุณกัปตันนีโมล่ะครับว่าน่าจะเป็นการตอบโต้รัสเซีย และบอกว่านาโต้ก็ยังมีน้ำยาอยู่บ้าง เนื่องจากสหรัฐไม่มีวันที่จะไปรบให้จอร์เจียร์แน่นอน (ยิ่งจอร์เจียร์ยังไม่ใช่สมาชิกนาโต้ด้วย) ...... ถ้าเซ็นที่โปแลนด์ได้แล้ว บุชอาจจะรีบไปเซ็นที่เช็คเลยก่อนหมดวาระก็ได้ครับ เพราะถ้าโอบามาขึ้นมา โครงการนี้อาจมีการทบทวนบางประการ ..... ซึ่งถ้าได้เช็ค ยูเครนก็เป็นรายต่อไป (ยูเครนแสดงตัวออกนอกหน้าอยู่แล้วว่าอยากซบตะวันตก) ....... ล่าสุดรัสเซียก็ถอนความสัมพันธ์ทางการฑูตกับนาโต้ออกไปแล้ว ..... นี่ถ้าคิดว่ารัสเซียฟื้นฐานยิงขีปนาวุธในคิวบาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นโลกเราคงเริ่มสนุกแล้วล่ะครับ

ครั้งนี้ทุกอย่างมันประจวบเหมาะกันพอดี จอร์เจียร์ดันเฮียนไปตีกบฏ รัสเซียอยากจะเชือดไก่ให้ลิงดูอยู่แล้ว (พวกเช็ค โปแลนด์ ยูเครน) เลยเล่นงานซะ สหรัฐก็ทำอะไรไม่สะดวก เพราะนั่นมันมหาอำนาจ ไม่ใช่ไทยตีกับเขมร

แต่อย่างไรก็ตาม สบายใจได้อย่างหนึ่งว่าสถานการณ์แบบนี้จะไม่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สามแน่นอน

โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 22/08/2008 01:36:16


ความคิดเห็นที่ 11


ที่รบกัน และหยุดไม่ได้นอกจากการแยกเป็นเอกราชแล้ว

อีกส่วนหนึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็น 1000 ปี ก็คือ

การเอาประเทศอื่นที่มีทรัพยากร มาเป็นของตัวเอง โดยใช้กำลังเข้ายึด

โดยทำเป็นว่าเกิดจากเรื่องเล็กๆ เลยลุกลามจนถึงขั้นยึดประเทศ

คนเคยใหญ่ ไม่คิดเล็กหรอกครับ....

อันนี้ไง ที่เราจะมองข้ามอาวุธที่ดีป้องกันประเทศไม่ได้ เราต้องมีไว้.....

ซึ่งไม่เกี่ยวกับ ทรัพยากรคนที่จะนำมาเป็นทหารที่มีศักยภาพในการรบ

ส่วนประเทศที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ส่วนหนึ่งไม่อยากให้เกิดสงคราม

อีกส่วนหนึ่ง กำลังทำการแผ่การค้าของตัวเองเข้าไปโซนนั้น เพื่อความมั่งคั่งอันยืนยาว  โดยถือเป็น NEW WORLD ORDER ของตนเองเป็นตัวชูโรง โดยที่คนทั่วไปมองว่าเป็นฮีโร่....

โดยคุณ tik เมื่อวันที่ 22/08/2008 01:39:26


ความคิดเห็นที่ 12


รัสเซียฟื้นฐานยิงขีปนาวุธในคิวบา คิดตามแล้วขนลุกเลยครับท่านSkyman  
โดยคุณ bebe_bravoo เมื่อวันที่ 22/08/2008 03:48:55


ความคิดเห็นที่ 13


ตอนพี่หมีจะตั้งค์ฐานยิงขีปนาวุธที่คิวบา อเมริกาเต้นเป็นเจ้าเข้า ที่ตัวเองทำเป็นหน้ามึน  ฮ่า ๆ เกิดหมีคลั่งขึ้นมาล่ะสนุกกันละ อิ อิ
โดยคุณ Banyat เมื่อวันที่ 23/08/2008 02:17:37


ความคิดเห็นที่ 14


Cuban Missile Crisis คืนชีพ แต่ครั้งนี้ไม่มีทั้งเคนเนดีและครุชอฟ
โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 23/08/2008 06:54:50


ความคิดเห็นที่ 15


ก็ดีเหมือนกันจะได้ตอบโต้บ้าง อเมริกามันบ้าอำนาจมากเกินไป
โดยคุณ sherlork เมื่อวันที่ 23/08/2008 22:54:44