หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


กองทัพบกจะจัดหา UAV Raven เข้าประจำการ

โดยคุณ : monsoon เมื่อวันที่ : 06/08/2008 22:05:49

แวะไปเยี่ยมเวปของท่าน AAG_th เห็นข่าวกองทัพบกจะจัดหา RQ-11 Raven เข้ามาใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คลิ๊กดูข่าวของRavenในเวปท่านAAG_th (ต้องขอขอบคุณท่าน Skyman ที่ชี้แนะการทำคลิ๊ก link)

คิดว่าเหตุผลที่เลือก Raven ก็เพราะประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิบัติภารกิจในประเทศอัฟกานิสถาน แต่สภาพพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างจากประเทศอัฟกานิสถาน อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศปราบเซียน โดยเทคโนโลยี่ที่ว่าแน่ๆ พอเจอความชื้นในประเทศไทย ก็มีอันเดี้ยงไปหลายราย

อีกอย่างเคยเห็นกระทู้ใน TFC (อันไหนจำไม่ได้) เสนอแนะว่ากองทัพน่าจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยเทคโนโลยี่ต่างๆ ในประเทศ ช่วยกันพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นใช้เอง UAV นี่ก็ไม่น่าจะเหนือกำลังความสามารถ

ขนาดเครื่องบินน้ำ ม.เกษตร วิทยาเขตศรีราชา ยังวิจัยพัฒนาเองเลย (ปลาบิน KU SRC-2DEV)





ความคิดเห็นที่ 1


ตัว UAV ปักษิณที่กำลังทำ เป็นคนละสเกลกับ Reven ล่ะครับผม เพราะปักษิณใหญ่กว่า Reven ครับ (ลองดูภาพใน Blog ของคุณ AAG_th ครับ) อีกอย่างการจัดหาโดยตรงน่าจะเป็นเพราะอยากจะเร่งนำมาใช้ในภาคใต้ เพราะถ้าต้องรอพัฒนาโปรเจ็คใหม่อีกโปรเจ็คนึงอาจจะต้องใช้อีกหลายปีครับ

ทบ. ตั้งใจจะจัดหาจำนวน 3 ระบบ แจกไปจังหวัดละระบบ ราคาระบบละราว 10 ล้านบาท เพราะทบ. ตั้งงบไว้ 30 ล้าน ราคานี้คงรวมทุกอย่างแล้วล่ะครับ

โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 04/08/2008 21:05:56


ความคิดเห็นที่ 2


ส่วนตัวคิดว่า บ.UAV ขนาดเล็กอย่าง Raven นี้จัดหาเพียง3ลำเพื่อใช้ในพื้นที่สามจังหวัดค่อนข้างน้อยไปหน่อยครับ แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นการจัดเพื่อประเมินการใช้งานในเบื้องต้นด้วยว่าเหมาะสมกับพื้นที่ปฏิบัติการจริงหรือไม่ ซึ่งถ้ามีประสิทธิภาพดีก็หวังว่าจะมีการจัดหาเพิ่มเติมในอนาคตครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 04/08/2008 22:43:03


ความคิดเห็นที่ 3


เข้าไปตามหาข่าวของ UAV พันธ์ไทย ปักษิณ ในเน็ท เพราะไม่เคยทราบข่าวของโครงการมาก่อน ก็ขอนำข้อมูลที่ได้มาเผยแพร่ให้ทุกท่านได้รับทราบกันบ้าง

รายละเอียดของโครงการ
ประเทศไทยได้มีการนำ Searcher อากาศยานไร้คนขับเข้าประจำการในประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2540 โดยประเทศไทยต้องเสียค่าบำรุงรักษาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงตั้งโครงการ วิจัย อากาศยานไร้คนขับขึ้นมา โดยจัดงบประมาณเริ่มต้น 97 ล้านบาท

โดยมีสถาบันร่วมโครงการดังนี้

  • สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม (สวพ.กห.)
  • สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.)
  • สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.)
  • กองพลทหารปืนใหญ่ (พล.ป.)
  • กรมช่างอากาศ (ชอ.บนอ.)
  • โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.)
  • โรงเรียนนายเรือ (รร.นร.)
  • โรงเรียนนายเรืออากาศ (รร.นอ.บศอ.)
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • ชมรมเครื่องบินเล็กบังคับวิทยุ

เบื้องต้นได้ตั้งภารกิจไว้ให้คล้ายคลึงกับ Seacher โดยแบ่งทีมงานเป็น 5 ทีม
ได้แก่ 4 กลุ่มวิจัย และ 1 กลุ่มบริหาร ได้แก่

1.กลุ่มโครงสร้างอากาศยาน
2.กลุ่มระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ
3. กลุ่มระบบสื่อสารการบิน
4 กลุ่มออกแบบและวิเคราะห์วิจัยระบบประมวลผลการติดต่อสื่อสารและอุปกรณ์ภาพ
5.กลุ่มระบบบริหารจัดการโครงการเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยอากาศยานไร้นักบิน

UNMAN AERIAL VEHICLE    ( UAV )  อากาศยานไร้นักบิน

 นับว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจากนักวิจัยและพัฒนาของคนไทยล้วนๆ    จากการทดลองอย่างหนักตลอดระยะเวลา  2  เดือน  โดยใช้เครื่องมือการออกแบบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก  กล่าวคือ  โครงการมีใบพัดที่สามารถบินด้วยความเร็วสูงกว่า   250  กม/ชม  มีน้ำหนักเบา  แข็งแรง ทนทาน และเสียงเบากว่าใบพัดทั่วไป ถึง 3 เท่า   วัสดุที่ใช้ทำใบพัดมาจาก  เส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์  จัดเรียงในโมลด์ ที่ถูกออกแบบให้สามารถกำเนิดความร้อนในตัวเอง   ส่วน  HUB ของใบพัดทำมาจากอลูมินั่มอัลลอยด์  2 ชิ้นประกบกัน  โดยใช้เทคโนโลยี CNC เพื่อความสมมาตรของใบพัดเมื่อเวลาประกอบเข้าหากัน

นอกจากนี้ก็เจอบทความของคุณวรวรรณิณี สกว. เขียนไว้ ขอนำเนื้อความบางส่วนมาเผยแพร่ให้ทุกท่านได้ทราบถึงคุณสมบัติของ ไทย UAV ชิ้นนี้ ดังนี้
...ก่อนจะเริ่มสาธิตเราก็เห็นภาพจากจอทีวี มันแสดงให้เห็นภาพที่มองจากใต้ท้องเครื่องบิน ซึ่งจะมีล้อของเครื่องบินบังอยู่นิดหน่อย (ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงหนังสงคราม action ของฝรั่ง) ก็จะมีภาพสั่นๆ นิดหน่อยเนื่องจากสภาพพื้นของรันเวย์ พอเครื่องจะ take off เราก็นึกว่ามันจะบินขึ้นได้ยังงัย กล้องก็หนักใบพัดก็นิดเดียว แต่นักวิจัยบอกว่าไม่ต้องห่วงในส่วนการสร้างตัวเครื่องบินมีกลุ่มออกแบบและจัดทำโครงสร้างอากาศยานเป็นคนดูแล จะมีการคำนวณโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หางจะยาวจะสั้นเท่าไหร่รู้ได้โดยการใส่ค่าของน้ำหนักและปริมาตรของอุปกรณ์ที่ต้องการติดตั้งทั้งหมดเป็นเท่าไหร่ แล้วเราก็จะได้สัดส่วนของตัวโครงสร้างเครื่องบินออกมา
         พอเครื่องบินวิ่งออกไปที่รันเวย์ ใจมันตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่ามันจะบินได้ไหม ปรากฏว่ามันบินขึ้นได้อย่างสวยงาม แถมยังมีการบอกระดับความสูงและความเร็วของเครื่องบินได้ เหมือนเวลาเรานั่งเจ้าจำปีไปได้สักพัก กัปตันก็จะประกาศความสูงและความเร็วอย่างงัยอย่างงั้นเลย ในส่วนนี้ที่ทำได้เพราะมีกลุ่มระบบควบคุมการบิน ซึ่งจะสร้าง software ที่จะควบคุมระบบการบินทั้งหมด ให้บินซ้ายขวาหรือขึ้นลงได้ปลอดภัย และแถมยังมีการบินแบบ auto pilot โดยสาธิตให้เห็นว่าจะมีการกำหนดจุดที่เครื่องบินจะต้องบินให้ถึงไว้ 4 จุด แล้วตั้งระบบเป็น auto pilot แล้วเครื่องบินจะบินไปแตะตามจุดนั้นๆ ให้เห็น (อันนี้เขามีจอที่แสดงภาพเส้นทางการบินอยู่ที่ฐานข้างล่าง) จึงพิสูจน์ได้ และก็มีคำถามว่าถ้าเราเปลี่ยนจุดในระหว่างการบินจะสามารถทำได้มั๊ย ก็มีการพิสูจน์ให้เห็นอีกโดยมีการเปลี่ยนจุดระหว่างการบินแบบ auto pilot โดยผู้สงสัย (กิตติมศักดิ์) ซึ่งเครื่องบินก็บินแตะจุดต่างๆ ได้ตามที่กำหนด ซึ่งในวันที่ทำการสาธิตนั้นได้กำหนดให้เครื่องบิน บินที่ความสูงประมาณ 1,000 เมตร และบินในระยะห่างจากฐาน  3 กิโลเมตร (อันนี้แหละที่มันต่างจากเครื่องบินบังคับของเล่น ถ้าเป็นของเล่นเราต้องมองเห็นเครื่องบินจึงจะบังคับให้บินซ้ายขวาได้ แต่ UAV ไม่เห็นตัวเครื่องบินก็บินได้) แต่ที่เจ๋งสุดๆ (ขออนุญาตใช้คำวัยรุ่นหน่อย เพราะได้อารมณ์จริงๆ) คือการบินกลับบ้านเองได้ ถ้าเกิดการขาดการติดต่อ lost communication จากทางศูนย์ควบคุม มีผู้ได้รับเชิญ (แบบกิตติมศักดิ์อีกแล้ว) ให้ถอดปลั๊กเพื่อให้เกิดการ lost communication (มีการออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่เกี่ยวนะถ้ามันกลับบ้านไม่ได้)
         ขอตัดตอนมาเล่าถึงศักยภาพของเครื่องบิน UAV ในช่วงที่บินอยู่ว่ามันสามารถส่งสัญญาณภาพมาที่ฐานได้ โดยจะมีภาพปรากฏบนจอทีวีข้างล่างถึงภูมิประเทศที่เครื่องบินได้บินผ่าน มีการซูมภาพได้ในระยะใกล้ ปรับมุมกล้องได้รอบทิศทาง และที่สำคัญเป็นแบบ real time ซึ่งเป็นระบบ digital ซึ่งต่างจากที่กองทัพเคยซื้อ UAV ที่เป็นเทคโนโลยีของอิสราเอลเมื่อประมาณ 10 ที่แล้วที่ยังเป็นระบบ analog (ราคาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาประมาณ 200 ล้านบาท ถ้าซื้อตอนนี้ ก็ไม่แพงหรอกค่ะแค่ 1,000 ล้านเท่านั้น) ในการส่งสัญญาณภาพแบบ real time ได้นั้นเกิดจากออกแบบและพัฒนาโดยกลุ่มระบบสื่อสารการบิน ซึ่งจะออกแบบและพัฒนาระบบสื่อสาร เพื่อการควบคุมและส่งสัญญาณภาพแบบสื่อสารระยะไกลได้ และการที่มีกล้องที่ซูมและหมุนได้รอบทิศแถมไม่สั่นและถ่ายทอดสัญญาณได้นั้น เกิดจากการทำงานของกลุ่มระบบประมวลผลสื่อสารและอุปกรณ์การภาพ....
         ......จากการสัมมนาพอจับใจความได้ว่า ก็เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้เห็นประโยชน์จากการทำวิจัยทั้งจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบการใช้งบประมาณ และผู้ใช้ประโยชน์ โดยผู้ใช้ประโยชน์สามารถนำไปปรับความต้องการในการใช้ UAV เพื่อใช้ในกิจการของหน่วยงานของแต่ละท่าน ในอนาคตหากต้องการสามารถแจ้งความประสงค์พร้อมสั่งซื้อได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้นักวิจัยที่คิดค้นงานวิจัยแล้วมีการนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์ โดยไม่ต้องการให้งานขึ้นหิ้งนั่นเอง
         ที่เล่ามานี้ยังเป็นเพียงแค่ half scale เท่านั้น ประมาณเดือนมิถุนายน 2549 นี้ จะมีการสาธิตแบบ full scale ซึ่งเครื่องบินจะมีความกว้างของปีกถึง 7 เมตร และสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 40 กิโลกรัมเลยทีเดียว


โดยคุณ monsoon เมื่อวันที่ 05/08/2008 00:32:56


ความคิดเห็นที่ 4


ชอบๆๆๆ อย่างนี้ดีเลยครับ เอาใจช่วยเต็มที่ พัฒนาให้สุดยอดไปเลยครับ เก่งๆกันทั้งนั้นเลยครับคุณนักวิจัย

โดยคุณ bebe_bravoo เมื่อวันที่ 05/08/2008 03:46:41


ความคิดเห็นที่ 5


3 ระบบ = 12 ลำ หรือเปล่าครับ คงไม่ใช่แค่ 3 ลำล่ะครับ

โดยคุณ rinsc seaver เมื่อวันที่ 05/08/2008 07:55:25


ความคิดเห็นที่ 6


ตอนแรกที่อ่านนึกว่า3เครื่องครับ

ถ้าเป็น3ระบบ ระบบละ4ลำนี้ก็น่าจะมีจำนวนเครื่องพอครอบคลุมการปฏิบัติการในพื้นที่ได้ระดับหนึ่งครับ (จังหวัดละ4ลำ ก็น่าจะใช้ในการประเมินผลการใช้งานจริงได้ในขั้นต้นก่อนจะจัดหาเพิ่มครับ)

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 05/08/2008 22:19:57


ความคิดเห็นที่ 7


ใช่ครับ 3 ระบบ ระบบละ 4 ลำครับผม
โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 05/08/2008 10:51:09


ความคิดเห็นที่ 8


ไม่ทราบว่าผลการทดสอบแบบ full scale เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ของเจ้าปักษิณนี่เป็นอย่างไรบ้างครับ
โดยคุณ pixelchio เมื่อวันที่ 06/08/2008 11:05:50