หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เรือรบเเบบต่างๆ

โดยคุณ : poom1.1 เมื่อวันที่ : 28/07/2008 11:49:07

รบกวนกูรูด้านเรือรบหน่อยครับ คือ ผมอยากทราบเเเละสงสัยมานานมากเเล้วว่า เรือโจมตี เรือคอร์เวต เรือฟริเกต เรือลาดตระเวณ เรือพิฆาต มันต่างกันอย่างไรครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ





ความคิดเห็นที่ 1


http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=skyman&month=05-2006&date=01&group=1&gblog=28

ของท่าน skyman ครับ

โดยคุณ tow เมื่อวันที่ 27/07/2008 09:46:08


ความคิดเห็นที่ 2


เริ่มแรกในยุคของเรือรบเหล็ก เรือชนิดแรกเลยก็เป็นเรือปืนหุ้มเกราะ ซึ่งต่อมาขยายขนาดปืนและเกราะจนกลายเป็นเรือ Dreadnough (เขียนผิดหรือเปล่าไม่รู้ไม่ได้เช็ค)ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเรือประจัญบาน แต่ต่อมามีความพยายามล้มเรือประจัญบานด้วยอาวุธชนิดใหม่คือ ตอร์ปิโด ซึ่งไม่ต้องการเรือขนาดใหญ่มาก จึงเกิดเรือตอร์ปิโดซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กขึ้นมาปราบเรือประจัญบาน แต่อย่างไรก็ตามก็ซ่าได้แค่ริมชายฝั่งที่มีเกาะแก่งเยอะได้เท่านั้น ส่วนเรือประจัญบานก็ต้องจอดในทะเลลึก ออกไปซ่าริมฝั่งไม่ได้เหมือนกัน สงครามที่จัตแลนต์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเรือประจัญบานจมด้วยเรือตอร์ปิโดได้ จึงต้องตอบโต้ด้วยเรือรบติดปืนขนาดเล็กเท่านั้น  เพราะเรือตอร์ปิโดมีขนาดเล็ก แล่นเร็วคล่องแคล่วว่องไว ปืนเรือประจัญบานยิงไม่ทัน อีกทั้งเรืออุ้ยอ้ายตามไม่ทัน แต่การที่จะเอาเรือตอร์ปิโดขนาดเล็กของฝ่ายตัวเองติดตามกองเรือประจัญบานไปในทะเลลึกก็ทำไม่ได้เช่นกัน จึงต้องขยายแบบเรือรบติดปืนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ทนทะเลพอที่จะติดตามเรือประจัญบานได้ พอถึงชายฝั่งศัตรู ศัตรูก็ส่งเรือตอร์ปิโดมา ทางเราก็ส่งเรือรบติดปืน ซึ่งมีความเร็วสูงและปืนใหญ่พอประมาณแต่คล่องแคล่วพอที่จะเก็บเจ้าเรือตอร์ปิโดเหล่านี้ได้ เรือแบบนี้เรียกว่าเรือพิฆาตเรือตอร์ปิโด หรือ Torpedo boat destroyer ต่อมาเีรียกสั้นๆ ว่า เรือพิฆาต หรือ Destroyer นั่นเอง ซึ่งในภายหลังได้เพิ่มออฟชั่นติดตอร์ปิโดไว้เก็บเรือประจัญบานด้วย ส่วนตอร์ปิโดต่อมามีการดัดแปลงใช้กับเรือชนิดใหม่เรียกว่าเรือดำน้ำ เรือพิฆาตก็เลยต้องติดลูกระเบิดน้ำลึกไว้จัดการเรือดำน้ำด้วย ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษเจอภัยจากเรือดำน้ำเยอรมันปิดล้อมเกาะ ทำให้ลำเลียงเสบียงมาไม่ได้ จึงต้องส่งเรือพิฆาตไปคุ้มกัน แต่เรือพิฆาตมีความเร็วสูง จึงต้องใช้งบประมาณมาก ผลิตช้าไม่เพียงพอกับความต้องการจึงต้องลดสเป็คเรือพิฆาตให้ช้าลง มาตรฐานการต่อลดลง และใช้เชื้อเพลิงน้อยลงเพื่อความประหยัด ความเร็วแค่เพียงพอติดตามกองเรือสินค้าได้และเร็วกว่าเรือดำน้ำ เรือชนิดใหม่นี้อเมริกาเรียกเรือพิฆาตเบา แต่อังกฤษตั้งชื่อให้ใหม่ โดยเอาชื่อของเรือใบสมัยโบราณซึ่งมีหลายแบบ เลือกเอาแบบที่เรียกว่า ฟรีิเกต Frigate มาใช้เป็นชื่อเรือชนิดใหม่นี้ เรียกว่า เรือฟริเกต หน้าที่หลักคือคุ้มกันกองเรือ จากเรือดำน้ำนั่นเอง เรือฟริเกตกับเรือพิฆาตในยุคนี้มีระวางขับน้ำไม่แตกต่างกันเลย แต่ต่างกันที่สมรรถนะ ทีนี้พอมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษรบกับเยอรมันอีกครั้ง และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีก เยอรมันล้อมอังกฤษด้วยเรือดำน้ำอีก คราวนี้หนักกว่าเดิม จำนวนเรือดำน้ำมีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะทางเยอรมันต้องการเน้นในเรื่องของเรือดำน้ำ คราวนี้ถ้าต้องต่อเรือฟริเกตซึ่งแม้ว่าจะสเป็คต่ำกว่าเรือพิฆาตแต่ขนาดก็ใกล้เคียงกัน ก็ยังทำให้มีค่าใช้จ่ายในการต่อสูงและต่อได้ไม่ทันกับภัยคุกคามอยู่ดี จึงต้องต่อเรือฟริเกตที่เล็กลง มาตรฐานใช้มาตรฐานเรือสินค้าก็พอ อาวุธเน้นที่การปราบเรือดำน้ำแทบจะอย่างเดียวเลย ความเร็วแค่พอฟัดกับเรือดำน้ำได้ ก่อให้เกิดเรือชนิดใหม่ ซึ่งอังกฤษก็ไปเอาชื่อเรือใบโบราณมาตั้งชื่ออีก คือ คอร์เวต หรือ Corvette ซึ่งเรือแบบนี้ลำแรกก็คือเรือชั้นฟลาวเวอร์ Flower Class ที่ไทยซื้อต่อมาเป็นเรือบางปะกงกับประแสร์ นั่นเอง เรือชั้นนี้มีหน้าที่ในการต่อกรกับเรืออูอย่างดุเดือด ถึงพริกถึงขิง ชนะบ้าง แพ้บาง จำนวนเรือถูกต่อมา 300 กว่าลำ ซึ่งถ้าเอางบเท่ากันไปต่อเรือฟริเกต ก็คงได้น้อยกว่านี้ ต่อมาในยุคหลังสงคราม ประเทศต่างๆ ต่างก็ย่ำแย่ เรือประจัญบานก็หมดพิษสงเพราะเครื่องบินได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว ชาติที่ร่ำรวยต่างก็เน้นไปที่เรือพิฆาตเพราะผลงานในสงครามโลกครั้งที่ 2 เด่นชัดว่าเป็นของจริงยิ่งกว่าเรือประจัญบาน สู้ได้หมด ไม่ว่าจะน้ำ ,ฟ้า และใต้น้ำ เรือพิฆาตยุคหลังเน้นการรบกับเครื่องบิน มีการติดอาวุธนำวิถีซึ่งยุคแรกๆ อุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดใหญ่จึงต้องขยายขนาด จนเทียบเท่าไ้ด้กับเรือลาดตระเวณเบาเลยที่เดียว แน่นอนค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นด้วย ส่วนชาติอื่นก็รับเอาเรือเหลือใช้จากทั้งอังกฤษและอเมริกาไปใช้ ทั้งเรือพิฆาต ,ฟริเกตและคอร์เวต แต่เรือพิฆาตไม่เป็นที่ปรารถนาในภาวะสงบสุข เพราะกินจุ ถ้าไม่รวยจริงก็ใช้ไม่ไหว จึงลดความนิยม ส่วนเรือคอร์เวตก็ความคงทนต่ำ จนทำให้ลูกเรือเมาเรือกันเป็นแถว จึงเรือแต่เรือฟริเกตที่พอดีๆ จึงได้รับความนิยมเพราะประหยัด ลาดตระเวณก็ได้ อาวุธพอประมาณ รบได้สามมิติเหมือนกัน แต่ต่อมาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ก็ทำให้ราคาเรือสูงขึ้นด้วย ประกอบกับการถือกำเนิดของอาวุธนำวิถีพื้นสู่พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำ  ทางรัสเซียซึ่งมีชายฝั่งยาวไกลได้ทดลองเอาอาวุธนำวิถีมาติดตั้งบนเรือตอร์ปิโดแทน ลูกตอร์ปิโดเลยถือกำเนิดเรือเร็วโจมตีติดอาวุธนำวิถีขึ้นมา   ปรากฏว่า work ดี   โดยทางอิยิปต์ เอาเรือเล็กนี้ไปยิงเรือพิฆาตอีเลียตของอิสราเอลซึ่งใหญ่กว่ามากจนจมลง   ทั่วโลกก็เลยตื่นตัวหาเรือเร็วโจมตีมาประจำการกันใหญ่  ท.ร.ไทยเราก็จัดหามาถึง 6  ลำด้วยกัน   แต่อย่างว่าเรือเร็วโจมตีก็ป้องกันได้แค่ชายฝั่งเท่านั้น   แต่ผลประโยชน์ของชาติต่างๆ มันเริ่มล่วงเข้าไปอยู่ในทะเล ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมทำอุตสาหกรรมประมงและอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องเข้าไปคุ้มครอง และบางประเทศก็ประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล ทีนี้จะเอาเรือเร็วโจมตีไปคุ้มครองมันก็สู้คลื่นลมไม่ไหว   ก็ต้องกลับมาที่เรือฟริเกตอีกครั้ง   แต่บรรดาชาติเล็กๆ ต่างก็ยังขัดสนด้วยเงินทอง     ฟริเกตชักไม่ไหว จึงอยากได้เรือที่อยู่ระหว่างเรือเร็วโจมตีกับเรือฟริเกต ซึ่งก็คอนเซปเดิมกับเรือคอร์เวต จึงเอาคำว่า คอร์เวตกลับมาใช้กับเรือที่นำมาเติมช่องว่างนี้อีกครั้ง สมัยก่อนคอร์เวตส่วนมากจะเป็นชั้น Flower Class แต่คอร์เวตยุคใหม่มีหลากหลายชั้น ไทยเราก็มีอยู่ 2 ลำ คือเรือรัตนโกสินทร์กับ เรือคอร์เวตยุคใหม่ ถ้าระวางขับน้ำมากกว่า 1,000 ตัน บางทีก็ถูกเรียกว่า ฟริเกตเบาเหมือนกัน สับสนกันเข้าไปอีก แต่ต่อมาด้วยเงื่อนไขภาวะเศรษฐกิจอีกเหมือนเดิมและสงครามเย็นก็ยุติลง โลกก็สงบสุขมากขึ้น ต่อเรือรบทั้งทีถ้าเอามาแค่ไล่ฟัดกับโจรสลัดดูมันจะไม่คุ้ม เรือคอร์เวตก็ยังทำให้ลูกเรือเมาคลื่นได้เหมือนเดิม ลองถามลูกเรือคอร์เวตของไทยดูสิ ความต้องการจึงมาอยู่ที่อยากได้เรือฟริเกตเหมือนเดิม แต่เอาแบบประหยัดๆ หน่อย อาวุธไม่ต้องครบเครื่องเอาไว้ยิงขู่ก็พอ เหลือที่ว่างเยอะ ๆ เพื่ออยากติดเพิ่ม มาตรฐานเรือเอาแบบเรือพาณิชย์ก็พอแล้ว ความเร็วก็ประมาณฟริเกตหรือน้อยกว่าหน่อยก็ได้ ใช้ชื่อว่าเรือตรวจการณ์แต่ให้ออกไปในทะเลลึกได้เรียกเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งหรือ Off Shore Patral Vessel หรือ เรือโอพีวี OPV นั่นเองครับ   ส่วน เรือลาดตระเวนนั้นถือกำเนิดขึ้นมายุคล่าอาณานิคมที่เจ้าของอาณานิคมต้องการเรือรบขนาดใหญ่มีความคงทนทะเลสูง ปฏิบัติการได้โดยอิสระ ติดอาวุธขนาดใหญ่และเกราะพอประมาณแต่ไม่เท่ากับเรือประจัญบาน เพราะต้องการความคล่องตัวและความประหยัดในการเดินทางไกล  เพื่อนำเอาเรือเหล่านี้ไปคุ้มครองดินแดนที่เป็นอาณานิคมของตนเอง อย่างเช่นฝรั่งเศสใช้เรือลาดตระเวนเบาลามอต์ปิเกตมาคุ้มครองเวียดนามซึ่งเป็นอาณานิคมของตนเอง  ส่วนเรือประจัญบานก็เก็บไปป้องกันประเทศตัวเอง   และทั้งอังกฤษและเนเธอแลนด์ก็ล้วนแต่ส่งเรือลาดตระเวนมาคุ้มครองผลประโยชน์ของตัวเองในแถบนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชวา ,มลายู สิงคโปร์  

โดยคุณ zeroman เมื่อวันที่ 28/07/2008 00:49:07