หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


อยากทราบผลของโครงการกำลังสำรองทดลองประจำการ

โดยคุณ : teera_aod เมื่อวันที่ : 03/07/2008 20:43:25


พล.ต.พลางกูร กล้าหาญ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ว่า จากกรณีที่กองทัพบกประสบปัญหาด้านการพัฒนาอันเนื่องมากจากงบประมาณที่จำกัด และปัญหาที่กำลังพลมีมากเกินความจำเป็น กองทัพบกจึงหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงระบบการผลิตกำลังพลและกำลังสำรองใหม่ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องทดลองจัดตั้งหน่วย ในระบบกำลังสำรองของกองทัพบก โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1) ยกเลิกการผ่อนผันการเข้ารับราชการทหาร เนื่องจากการเข้าศึกษาวิชาทหารหรือ ร.ด. และให้ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับราชการทหารเป็นเวลา 2 ปี ในลักษณะทหารกองประจำการ ชั้นยศพลทหาร นายทหารประทวน และนายทหารสัญญาบัตร ตามวุฒิการศึกษา

2) ผู้ที่ได้รับการตรวจเลือก จะผ่านการผึกอบรมเพิ่มเติม ก่อนเข้ารับราชการตามอัตรากำลังพลสำรอง ของหน่วยเป็นเวลา 2 ปี แล้วปลดประจำการเป็นกำลังพลสำรอง โดยไม่ต้องผ่านระบบกำลังสำรองเพิ่มเติมอีก

3) โครงการนำร่องดังกล่าวจะทำให้ลดการผลิตนายทหาร ทั้งชั้นสัญญาบัตรและประทวนลงได้มาก ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหากำลังพลคับคั่งในยศสูง รวมทั้งแก้ไขปัญหางบประมาณ 4) โครงการนี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่ตุลาคม 2546 ถึงสิงหาคม 2547 โดยจะทดลองใน 2 กองพัน คือ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 29 จ.นครราชสีมา และกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 3 จ.กาญจนบุรี โดยจะเข้ารับการฝึกและเข้ารับราชการ 1 ปี และประเมินในตอนเดือนกันยายน 2547 ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวได้ผล กองทัพก็อาจจะนำมาปรับปรุงในการคัดเลือกกำลังสำรองของประเทศต่อไป

แหล่งที่มาของแนวความคิด

- เอกสารวิจัยส่วนบุคคลเรื่อง : การปฏิรูปการผลิตกำลังพลกับการพัฒนา ทบ.
โดย พล.ต.วีระชัย เอี่ยมสอาด (เสธ.สบส.)/นศ.วปอ. รุ่นที่ ๔๐ ปีการศึกษา ๒๕๔๐ - ๒๕๔๑, วปอ.สปท.

- บทความเรื่อง : ทิศทางกองทัพ จากนิตยสารยุทธโกษ ประจำเดือน ก.ค. – ก.ย. ๔๕ หน้า ๑๓ - ๑๘ โดย พล.ท.วีระชัย เอี่ยมสอาด (จก.ยศ.ทบ.)

สรุปสาระสำคัญจากแนวความคิด

๑. ในปัจจุบัน ทบ. นอกจากประสบกับปัญหาด้านการพัฒนากองทัพกับงบประมาณที่จำกัดแล้ว ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบกำลังพลอยู่อีกหลายประการ ซึ่งเป็นปัญหาของระบบสำคัญหลายระบบและมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ดังนั้นจะต้องใช้การพิจารณาแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปรับปรุงระบบต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผลิตกำลังพลด้วยวิธีการเดิมนั้น สรุปได้ดังนี้

๑.๑ ระบบการผลิตกำลังพล

๑.๑.๑ เป็นระบบที่ไม่มีความอ่อนตัว เนื่องจากกำลังพลทุกคนจะเกษียณอายุ ๖๐ ปีเท่ากันทุกคน แต่กำลังพลบางประเภท โดยเฉพาะ นายทหารประทวน มีแนวทางการรับราชการที่ไม่ก้าวหน้าและท้าทายเพียงพอ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานได้ง่าย (อายุ ๔๕ ปีขึ้นไป)

๑.๑.๒ กำลังพลนายทหารสัญญาบัตรในอัตราชั้นยศ ร.ต. ถึง พ.ต. มีจำนวนขาดอัตรามาก ในขณะที่มีความคับคั่งในอัตราชั้นยศสูง

๑.๒ ระบบการฝึกวิชาทหาร

๑.๒.๑ เป็นระบบที่นักศึกษาวิชาทหาร สมัครเข้ารับการศึกษาวิชาทหารด้วยวัตถุประสงค์ที่จะไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร

๑.๒.๒ ไม่มีความสอดคล้องกับระบบการผลิตกำลังพล กล่าวคือบุคคลพลเรือนที่จะเข้ารับราชการทหารนั้น ไม่ต้องผ่านระบบการฝึกวิชาทหาร

๑.๓ ระบบกำลังสำรอง

๑.๓.๑ ยังไม่มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะเป็นกำลังทางยุทธศาสตร์ สำหรับการป้องกันประเทศได้ เนื่องจากกำลังพลสำรองประเภท นศท. ที่ผลิตโดยระบบการฝึกวิชาทหารนั้นส่วนใหญ่ไม่ต้องการเป็นทหาร

๑.๓.๒ แนวทางการรับราชการของกำลังพลสำรองยังขาดความก้าวหน้า และขาดสิ่งจูงใจ

สรุป :ระบบการผลิตกำลังพล ระบบการฝึก นศท. และระบบกำลังสำรองไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพให้กะทัดรัดและการพัฒนา ทบ. ให้มี
ประสิทธิภาพ

๒. ข้อเสนอแนวทางการผลิตกำลังพลด้วยวิธีการใหม่

๒.๑ ยกเลิกการผ่อนผันเข้ารับราชการทหารเนื่องจากเรียน รด.และให้ชายไทยต้องรับการตรวจเลือก (เกณฑ์ทหาร) ทุกคน เพื่อให้รับราชการเป็นเวลา ๒ ปี ในชั้นยศตั้งแต่พลทหาร, นายทหารประทวน และนายทหารสัญญาบัตร ตามวุฒิการศึกษาและวุฒิการศึกษาวิชาทหาร (วุฒิ นศท.) โดยสรุปดังนี้

๒.๑.๑ ทบ. ทำการตรวจเลือก (เกณฑ์ทหาร) ทหารกองเกินเข้ารับ
ราชการตามความต้องการ และผู้รับการตรวจเลือกทุกคนฝึกร่วมกันทั้งหมด ในชั้นต้นประมาณ ๑ เดือน

๒.๑.๒ ให้เข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมแล้วบรรจุเข้ารับราชการ และรับเงินเดือนตามอัตรา (ตำแหน่งชั้นยศ) ที่จะบรรจุ ดังนี้

- ผู้ที่จบ รด.ปี ๑ - ๒ ทุกระดับการศึกษา จะรับราชการเป็น พลฯ และรับการฝึกทหารใหม่จนจบหลักสูตร

- ผู้ที่จบ รด.ปี ๓ และจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ จะรับราชการในชั้นยศ ส.ต. หลังจากการฝึกอบรมตามหลักสูตรประมาณ ๓ เดือน

- ผู้ที่จบ รด.ปี ๔ และจบการศึกษาระดับอนุปริญญา หรือ ปวส. จะรับราชการในชั้นยศ ส.อ. หลังจากฝึกอบรมตามหลักสูตรประมาณ ๓ เดือน

- ผู้ที่จบ รด.ปี ๕ และจบการศึกษาระดับอนุปริญญา หรือ ปวส. จะรับราชการในชั้นยศ จ.ส.ต. หลังจากการฝึกอบรมตามหลักสูตรประมาณ ๔ - ๕ เดือน

- ผู้ที่จบ รด.ปี ๕ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป จะรับ ราชการในชั้นยศ ว่าที่ ร.ต. หลังจากการฝึกอบรมตามหลักสูตรประมาณ ๕ - ๖ เดือน

๒.๒ เมื่อรับราชการครบ ๒ ปี แล้วปลดประจำการจะบรรจุเป็นกำลังพลสำรองและรักษาสถานภาพไว้ในระดับกองร้อย โดยไม่ต้องมีการฝึกเพิ่มเติม (เนื่องจากทำงานจริงมาแล้ว ๒ ปี) จะระดมพลหรือฝึกเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติเท่านั้น

๒.๓ พัฒนาระบบกำลังสำรองสำหรับผู้ที่ปลดจากกองประจำการแล้วให้สมัครเป็นกำลังพลสำรอง ตามแนวทางรับราชการที่มีอัตราชั้นยศและหน้าที่รับผิดชอบสูงขึ้น โดยจะต้องเข้ารับการฝึกศึกษาตามหลักสูตรและระยะเวลาที่กำหนด

๒.๔ นายทหารที่สำเร็จการศึกษาจาก รร.จปร. จะเป็นนายทหารหลัก โดย รร.จปร. จะรับนักเรียนนายร้อยในจำนวนที่มากขึ้น แต่จะบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตรเพียงรุ่นละ ๕๐ - ๑๐๐ นาย

๒.๕ โรงเรียนนายสิบทหารบกจะผลิตนายสิบหลักจำนวนหนึ่งหรือหยุดการผลิตนักเรียนนายสิบ และปรับปรุงให้มีหน้าที่ให้การฝึกศึกษาตามแนวทางรับราชการ เช่น หลักสูตรนายสิบชั้นต้น, นายสิบชั้นกลาง, นายสิบอาวุโส และหลักสูตรอื่น ๆ ที่จำเป็น

๒.๖ ทบ. รับนายทหารประทวน และนายทหารสัญญาบัตรที่พ้นพันธะจากการรับราชการทหาร เพื่อรับราชการต่อตามความต้องการ (จำนวน, ตำแหน่ง) โดยอาจมีสัญญาเวลารับราชการตามที่จะกำหนด

๒.๗ ทบ. สามารถที่จะขยายหรือลดกำลังพลตามความต้องการด้วยการปรับจำนวนกำลังพลที่ต้องการจากการตรวจเลือกให้มากขึ้นหรือน้อยลง

๒.๘ ขยายการฝึกวิชาทหารให้กว้างขวางขึ้น โดยเสนอเปิดคณะวิชาวิทยาการทหารในสถาบันอุดมศึกษาและให้นักศึกษารับผิดชอบค่าหน่วยกิตประเด็นนี้จะส่งเสริมอาชีพที่สองสำหรับทหารได้

๓. สรุปแนวความคิดการปฏิรูปการผลิตกำลังพลกับการพัฒนา ทบ. ตามวิธีการใหม่

๓.๑ การจะนำแนวความคิดในการปฏิรูประบบการผลิตกำลังพลที่เสนอไปใช้เพื่อการรื้อปรับระบบ (Reengineering) ของกองทัพบก จำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยการสำรวจความคิดเห็นจากประชากรกลุ่มต่าง ๆ คือ กลุ่มผู้ปกครองของนักศึกษา ซึ่งครอบคลุมข้าราชการ พลเรือน และประชาชน กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งครอบคลุมนักการเมือง กลุ่มนักศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาและนักเรียนวิชาทหาร และกลุ่มผู้ปฏิบัติได้แก่ทบวงมหาวิทยาลัยและผู้บังคับหน่วยทหารตั้งแต่ระดับหมวดขึ้นไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติที่จะทำให้การปฏิรูประบบการผลิตกำลังพลประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหากำลังพลที่มีอยู่ในปัจจุบัน และบรรลุวัตถุประสงค์ในการเอื้ออำนวยต่อการปรับปรุงโครงสร้างกำลังกองทัพบกให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

๓.๒ นอกเหนือไปจากการสำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติมแล้ว ควรที่จะจัดทำโครงการทดลองก่อนนำไปใช้ปฏิบัติในขั้นต้น แนวทางของการจัดทำโครงการทดลองมีดังต่อไปนี้

๓.๒.๑ ใช้กองพันทหารราบหนุนเป็นหน่วยทดลอง จำนวน ๑ - ๒ กองพัน

๓.๒.๒ ใช้วิธีอาสาสมัคร โดยรับสมัครจากผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร แล้วบรรจุตามจำนวนและตำแหน่งที่ต้องการ

๓.๒.๓ ทดลองดำเนินการอย่างเต็มระบบ ตั้งแต่การฝึกทหารใหม่ การฝึกเพิ่มเติมสำหรับนายทหารประทวนและนายทหารสัญญาบัตร การบรรจุ แต่งตั้งยศ การฝึก และปฏิบัติภารกิจของหน่วยตามปกติ จนถึงขั้นปลดจากกองประจำการ

๓.๒.๔ ประเมินผลการปฏิบัติ ทั้งในระหว่างที่ประจำการอยู่ใน
กองประจำการ และความคาดหวังจากการเป็นกำลังสำรองของกำลังพลหลังปลดจาก
กองประจำการแล้ว

๓.๒.๕ พิจารณาความเป็นไปได้ และปรับปรุงขั้นตอนและรายละเอียดการปฏิบัติให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อนำแนวความคิดในการปฏิรูประบบการผลิตกำลังพลไปใช้อย่างเต็มรูปแบบ

๓.๓ การดำเนินการเพื่อปฏิรูประบบการผลิตกำลังพลตามแนวความคิดใหม่

๓.๓.๑ หากโครงการทดลองประสบความสำเร็จ และมีการตกลงใจที่จะนำแนวความคิดในการปฏิรูประบบการผลิตกำลังพลไปใช้อย่างเต็มรูปแบบ ควรเริ่มการปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในขั้นต้นพิจารณาบรรจุกำลังพลจากการตรวจเลือกในตำแหน่งที่ขาดอัตราในขณะนั้น แล้วใช้เวลาระยะหนึ่งขยายการดำเนินการให้กว้างขวางทั่วทั้งกองทัพบก อย่างไรก็ตาม ควรได้พิจารณาปรับโครงสร้างกำลังพลของกองทัพบกให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและความต้องการที่แท้จริง เพื่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดของภารกิจหลัก

๓.๓.๒ ปรับปรุงหลักสูตรการฝึกวิชาทหารทุกระดับให้ได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายการฝึกให้ นศท. มีความรู้และขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในระดับต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมั่นใจ

๓.๓.๓ จัดตั้งคณะวิชาวิทยาการทหารในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อ
รับผิดชอบการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ ๔ และ ๕ และขยายการจัดการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ ๑ - ๓ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้กว้างขวาง เพื่อจูงใจและให้ความเสมอภาคในโอกาสที่จะฝึกวิชาทหาร และเพื่อให้ นศท. ได้พัฒนาขีดความสามารถให้สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพบก โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังต่อไปนี้

-ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการศึกษาและกองทัพบก อาจให้เป็นภาระของนักศึกษาในลักษณะเป็นค่าหน่วยกิตวิชาวิทยาการทหาร

-รับสมัครอาจารย์และผู้ฝึกวิชาทหารจากทหารกองหนุนที่สมัครใจ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นอาชีพที่สองของทหารได้อีกด้วย

-จัดทุนการศึกษาในการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ ๔ และ ๕ สำหรับ นศท. ที่กองทัพบกพิจารณาเห็นว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ และสมัครใจที่จะเข้ารับราชการทหารในตำแหน่งที่กองทัพบกต้องการ

-จัดทำหลักสูตรการฝึกภาคสนาม

๓.๓.๔ จัดทำหลักสูตรการฝึกเพิ่มเติมในระดับต่าง ๆ ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งยศ

๓.๓.๕ จัดทำแผนแม่บทในด้านต่าง ๆ เช่น การลดกำลังพล การฝึกศึกษา การฝึกวิชาทหาร การกำลังสำรอง การประชาสัมพันธ์ และอื่น ๆ ที่จำเป็น

๔. ประโยชน์ที่ได้จากแนวทางการผลิตกำลังพลด้วยวิธีการใหม่ เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างกำลังกองทัพบกเป็นสิ่งจำเป็นและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต ดังนั้นจึงคาดว่าแนวทางด้านกำลังพลด้วยวิธีการใหม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณา
แนวทางดำเนินการดังนี้

๔.๑ ใช้ประโยชน์ในการปฏิรูประบบการผลิตกำลังพลให้มีประสิทธิภาพสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้

๔.๒ ใช้ประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบการฝึกวิชาทหารให้สนองตอบต่อความต้องการกำลังพลของกองทัพบก ทั้งกำลังพลประจำการและกำลังพลสำรอง

๔.๓ ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงระบบกำลังสำรอง โดยกำหนดแนวทางการผลิต การฝึกศึกษา การรักษาและการใช้กำลังพลสำรองที่จะปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ สามารถสนองตอบต่อความต้องการในการขยายกำลังของกองทัพบกในภาวะไม่ปกติได้

๔.๔ ใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนโครงสร้างกำลังกองทัพบกในอนาคต โดยมีแนวทางที่จะสามารถลดกำลังพล และหน่วยลงให้มีความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถขยายเพิ่มได้เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น

๔.๕ การผลิตกำลังพลระบบใหม่จะทำให้ ทบ. ลดงบประมาณด้านสวัสดิการต่าง ๆ ลงได้เป็นอย่างมาก


 





ความคิดเห็นที่ 1


ตอนราว ๆ 2 -  3 ปีที่แล้วรับสมัครทหารกองหนุนที่จบรด.ไปทดลองแล้วครับ ยังไม่ทราบผลการประเมินเหมือนกัน

โดยรวมแล้วผมเห็นด้วยกับงายวิจัยชิ้นนี้ในหลายส่วนนะครับ เพราะจุดมุ่งหมายของมันคือการลดกำลังพลประจำการและเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ให้กับพลเรือน เช่นเรื่องให้จปร. รับนักศึกษาเพิ่มแต่บรรจุจริงแค่จำนวนหนึ่งซึ่งคล้าย ๆ กับระบบของ West Point ที่ให้พลเรือนมาเรียนแล้วรับปริญญาวิศวะออกไป ส่วนคนที่จะเป็นทหารก็เข้ารับราชการต่อ

แต่มีส่วนหนึ่งซึ่งผมอ่านแล้วยังไม่เข้าใจคือข้อ 2.1 และ 2.2 ......... คืออ่านแล้วผมงงครับ ถ้าผมแปลผิดฝากแก้ด้วยครับว่า ชายไทยทุกคนจะต้องเกณฑ์ทหารหมด ไม่มีการจับใบดำใบแดงหรือผ่อนผันแบบรด.หรือสาเหตุอื่น ทำการตรวจเลือกและเข้ารับการฝึกเบื้องต้น 1 เดือน และแยกฝึกไปตามคุณวุฒิทางทหารและทางวิชาการ จากนั้นรับราชการเป็นทหารประจำการ 2 ปีก่อนปลดเป็นทหารกองหนุนโดยไม่ต้องเรียกมาทำการฝึกอีก ........ ผมแปลแล้วกลายเป็นว่ามันเหมือนระบบของเกาหลีที่ผู้ชายทุกคนต้องถูกเกณฑ์ไปประจำการจริง ๆ จำนวน 2 ปีแล้วปลดออกมา ซึ่งถ้าผมแปลถูก ผมยังไม่เห็นว่า ทบ. จะมีความสามารถทำได้ในภาวะงบประมาณแบบนี้ และไม่มีประโยชน์เลยที่จะทำ เพราะทุกวันนี้มันมีจำนวนคนที่เกินความต้องการอยู่จำนวนมากแล้ว (คือประเภทบางเขตสมัครเต็ม คนอื่นไม่ต้องจับใบดำใบแดง) ถ้าเอาคนพวกนี้มาเป็นทหารหมด มันจะลดกำลังพลและค่าใช้จ่ายตรงไหน? กำลังรบมันจะยิ่งขยายมากขึ้นด้วยซ้ำ ยิ่งเปลืองเข้าไปใหญ่ครับ ......... แต่ถ้าเกิดเป็นแบบว่า ชายไทยทุกคนจะต้องเกณฑ์ทหารหมด ไม่มีการจับใบดำใบแดงหรือผ่อนผันแบบรด.หรือสาเหตุอื่น ทำการตรวจเลือกและเข้ารับการฝึกเบื้องต้น 1 เดือน และแยกฝึกไปตามคุณวุฒิทางทหารและทางวิชาการ จากนั้นปลดจากการประจำการไปทำอาชีพหรือไปศึกษาต่อ แต่ยังอยู่ในระบบกำลังรบซึ่งต้องเข้ารายงานตัวเมื่อมีการเรียกระดมพลเป็นเวลา 2 ปีก่อนปลดเป็นทหารกองหนุนโดยไม่ต้องเรียกมาทำการฝึกอีก ......... ถ้าอย่างนี้เห็นด้วยครับ เพราะประเทศเราไม่ได้ตึงเครียดตลอดแบบเกาหลี ไม่จำเป็นต้องคงกำลังประจำการจำนวนมาก แต่เอาไปทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศดีกว่า เอาเป็นคล้าย ๆ ระบบของสิงคโปร์ที่ยังไงก็ต้องเรียกทุกคนมาฝึกครับ แต่ไม่ได้เอาไปประจำการยาวถึง 2 ปี คนฝึกจบแล้วให้ไปทำอาชีพอื่นหรือศึกษาต่อเสีย พอพ้นระยะเวลาหนึ่งก็ลดระดับลงมาเรื่อย ๆ ...... ถ้าได้อย่างงี้จะสวยเลยครับ อย่างผมจบรด. ปี 5 เนี๊ย ก็เรียกผมไปฝึก Basic Course 1 เดือน และฝึก Specialist Course อีก 6 เดือน แล้วปลดผมซะให้ไปทำงานหาเงิน แต่มีกำหนดเรียกมาเข้างาน พอพ้น 2 ปีก็ปลดเป็นกองหนุน ........ เท่ากับว่าผมรับราชการจริงแค่ 7 - 9 เดือน นอกนั้นไปทำงานหาเงิน สร้างรายได้อีก 14 เดือน ตรงนี้กองทัพก็ไม่ต้องจ่ายเงินเดือน แต่ยังคงความพร้อมได้อยู่ ถ้าทำอย่างงี้ผู้ชายไทยก็จะได้เป็นทหารกันทุกคนแต่ประเทศก็จะไม่ต้องเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในการที่จะเอาคนไปลงในกองทัพเปล่า ๆ ถึง 2 ปี และกองทัพก็สามารถลดอัตราของตำแหน่งประจำลงได้ ลดการจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการไปได้มาก

แบบไหนที่ผมแปลถูกครับ?

โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 24/06/2008 07:16:26


ความคิดเห็นที่ 2


ก็เห็นด้วยในการพัฒนากำลังพล กำลังพลสำรอง..

แต่ข้อสงสัยของผมว่า เมื่อมีกำลังสำรอง  แล้วอาวุธสำรองเราได้คิดและศึกษาและจัดหาจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอหรือไม่ครับ  ยังไม่คิดเรื่องอาวุธหนักก่อนนะครับ
เอาแค่อาวุธประจำกายเครื่องกระสุนเครื่องยุทธภัณฑ์ เราพร้อมแค่ไหนครับ เรื่องกำลังพลเมื่อยามสงครามผมว่าประชาชนทุกคน ชายหญิงก็เป็นทหารได้หมด แม้ยังไม่เคยผ่านการฝึกหัด แต่ยามจำเป็นสามารถฝึกได้ในเวลาอันสั้น..
  แต่เรื่องอาวุธประจำกายเราได้คิดเผื่อไว้บ้างหรือเปล่าครับ.. เครื่องกระสุนของ ปลย.ขนาดมาตรฐานเราสามารถผลิตเองได้ในทันทีและเพียงพอหรือเปล่า...
เรื่องการผลิตผมอาจจะมองไปถึง อาวุธประจำกาย ปลย.ด้วยเลยครับ..

แล้วตอนนี้ที่ว่า ทบ. ก็ซื้อ ปลย.ใหม่เป็นหมื่นกระบอก ก็ให้คิดสงสัยอีกว่า ของเก่าจะไปไหน เก็บและดูแลบำรุงรักษายังไงครับ...


โดยคุณ charchar เมื่อวันที่ 24/06/2008 10:23:42


ความคิดเห็นที่ 3


ชายไทยอายุครบเกณท์ ก็เข้าค่ายไปเลย  สองปี
เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่เลยทีเดียว คล้ายๆกับสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ถ้าเอามาทำเดี๋ยวนี้  ?

มาดูเรื่อง All Conscript VS All Volunteer เกณท์หมดทุกคน กะ สมัครล้วน ดีกว่า

ในยุโรปยังมีหลายประเทศ ที่ยังบังคับให้ทุกคนต้องเป็นทหาร / All Conscript มีผู้ใหญ่เล่าว่าในเยอรมัน และฝรั่งเศส มีการเกณท์ แต่กำหนดระยะเวลาค่อนข้างสั้นไม่เกิน ๖ เดือนและ ของเขาเปิดกว้าง ไม่บังคับจะต้องเป็นทหารเท่านั้น ผู้ถูกเกณท์ยังสามารถเลือกเป็นตำรวจ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือในองค์กรที่ให้บริการแก่สังคม (Public Service) ได้
ที่น่าสนใจคือ ท่านเล่าว่า เมื่อทุกคนต้องเกณท์เข้ามาเหมือนกัน
พวก Cadet และ NCO ก็คัดจากพลทหารที่พ้นเกณท์ และอยากจะเป็นทหารต่อ โดยใช้คะแนน  ความประพฤติ หรือผลการปฏิบัติงาน
ผลการทดสอบและความเป็นผู้นำ ระหว่างการเป็นพลทหารเกณท์มาพิจารณา อิสราเอล ก็ทำคล้ายๆกัน แต่ ตัวเลือกองค์กรที่ไม่ใช่กองทัพ ท่านเล่าว่ามีน้อยกว่า ทางยุโรป
ส่วนนี้จำจากผู้ใหญ่บ้านเราเล่ามา ถ้าไม่ถูกต้อง ขอผู้รู้ชี้แจงครับ

คราวนี้ All Volunteer Army อย่างสหรัฐ
ตั้งอยู่บนพื้นฐาน สงครามสมัยใหม่ กองทัพต้องการคนที่มีคุณภาพ มากกว่า การมีจำนวนคนมาก ๆและ คนที่ทำอะไรด้วยความสมัครใจ ได้ผลดีกว่า คนที่ถูกบังคับให้ต้องทำ เอาทุนทั้งหมดที่มี มาทำคนจำนวนน้อย ให้มีคุณภาพดีกว่า
การที่กองทัพสหรัฐ เปลี่ยนมาเป็น All Volunteer Army แทน GI /enlist ก็มีที่ไปที่มา
เพราะสมัยสงครามเวียตนามGI อเมริกันจำนวนมากไม่ต้องการ เป็นทหาร ไปรบ คนหนีทหารจำนวนมาก และอีกมากที่ยอมเป็นทหาร แต่อยู่อย่างไม่มีวินัย เสพยา เป็นทหารHippy มีปัญหาการFlanking (การยิงนายทหารในสนามรบแล้วอ้างว่า โดนซุ่มโจมตี ) เพื่อไม่ต้องออกรบ
สำหรับสหรัฐ กองทัพของคนที่สมัครใจเป็นทหาร เป็นคำตอบของปัญหาทั้งหมด

กองทัพปลดปล่อยประชาชน ใช้All Volunteer Army มาตั้งแต่ต้น
แต่ที่น่าสนใจคือไม่นานมานี้มีการรวบรวม คนทำงานด้าน IT ชาวจีน ในแหล่งอุตสาหกรรม IT ให้ทำหน้าที่เป็นกองกำลังแนวร่วม/Militia ด้าน Cyber ให้ทางการจีน
ผมว่าคนเหล่านี้ ที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบ แต่ทำงานให้กองทัพด้วยความสมัครใจ หนึ่งคน สามารถทำอะไร ที่เป็นประโยชน์ ต่อชาติมากกว่า คนที่ถูกบังคับให้ต้อง สวมใส่เครื่องแบบ  เป็นสิบ

โดยคุณ Oldtimer เมื่อวันที่ 03/07/2008 09:39:14


ความคิดเห็นที่ 4


สำหรับ West Point (Indianapolisและที่ Colorado ด้วยก็ได้)
เป็นUnited States Military Academy ไม่เหมือนของเรา ครับ
เพราะที่นั่งเรียนเกือบทั้งหมดเป็นโควต้าของรัฐ/ State
นอกจากที่นั่งเรียนแล้ว ยังรวมไปถึงอัตราที่จะได้บรรจุเป็นนายทหารในกองทัพหลังจบ ด้วย ถ้าเรียนจบแล้วเกิดไม่อยากเป็นทหาร ก็เท่ากับโยนโควต้านายทหารของรัฐทิ้งเลย
ผู้ว่าการรัฐของแต่ละรัฐ มีหน้าที่คัดเด็กในรัฐของตัว ที่ต้องการเป็นนายทหาร ส่งให้ DoD
เด็กที่เกือบทุกคนมีสิทธิเข้าเรียนใน U ที่คณะวิศวะอยู่ในระดับ Top Ten แต่เลือกที่จะเป็นทหาร
คนอื่นๆอย่างประธานาธิบดี ก็มีสิทธิเสนอชื่อเพื่อให้รัฐสภาอนุมัติด้วย (พวกนักเรียนจากต่างชาติ)
ส่วนพวกที่สถาบันเสนอชื่อ ก็จะมักเป็นพวกเด็กนักกีฬา ที่เอาไว้เสริมทีม ปีละไม่กี่คน
ทุกคนต้องเข้ามาเป็น Cadet ก็มีส่วนน้อยที่ เรียนจบแล้วเลือก ไม่เป็นทหาร เช่น Roger Strawback ของ Dallas Cawboys หรือ Robinson ของ San Antonio Spur ก็ไปเป็นนักกีฬาอาชีพชั้นนำไปเลย (นายเรือทั้งคู่)
รู้สึกว่า ในปีสุดท้าย พวกROTC (เทียบ คล้ายๆกับ รด.ปี๕ของเรา) ต้องเข้ามาเรียนด้วย
อย่างไรก็ตามก็ยังมี Virginia Militay Institute (VMI)และ Citadel Military College of South Calorina  ที่เหมือนเป็นโรงเรียนนายร้อย ของรัฐ แต่ถ้าอยากเป็นนายทหารเมื่อจบ ก็ต้องเรียน ROTC
ไม่สนับสนุนเรื่อง จะไม่ให้พวกCadet ของเราที่จบแล้ว จะไม่ให้เป็นทหาร ครับ
โดยคุณ Oldtimer เมื่อวันที่ 03/07/2008 09:43:26