|
เอเชียกลางภูมิภาคที่สามมหาอำนาจ จีน, รัสเซีย และอเมริกาเข้าไปพัวพัน | |
| ในการเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังรับตำแหน่งของประธานาธิบดี ดิมิทรี เมดเวเดฟแห่งรัสเซียเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมานั้น ได้มุ่งมาที่จีนเป็นเป้าหมายหลัก การเยือนดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 23 พ.ค.เป็นภาพสะท้อนที่สื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์อันหวานชื่นว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับจีนมาก อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเดินทางมาเยือนจีนเมดเวเดฟได้แวะเยือนคาซัคสถาน ซึ่งนักวิเคราะห์ชิ้ว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังจีนและตะวันตก ที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียกลาง1 ท่วงทีของประธานาธิบดีรัสเซียชี้ชัดว่า ภูมิภาคเอเชียกลางที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทย (เรียกได้ว่าพอพูดชื่อแล้วยังคิดไม่ออกเลยว่าอยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก) กำลังเป็นสมรภูมิเดือดที่มีมหาอำนาจเข้าไปพัวพันในเรื่องผลประโยชน์ทั้ง จีน, สหรัฐฯ และรัสเซีย นอกจากนี้แต่ละประเทศในภูมิภาคก็ยังมีปัญหาการเมืองภายใน กระทั่งมีการกล่าวว่า ภูมิภาคนี้จะเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งแห่งใหม่ของโลกต่อจากตะวันออกกลาง กล่าวสำหรับจีนแล้ว เอเชียกลางซึ่งประกอบด้วยประเทศอุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน และคาซัคสถาน เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและพลังงานที่สำคัญ เนื่องจากเอเชียกลางเป็นทางเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลาง, ยุโรป และเอเชียใต้ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรน้ำมัน และที่สำคัญที่สุดคือ มีพรมแดนติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง (ซินเกียง) ซึ่งเป็นพื้นที่ล่อแหลมทางด้านความมั่นคงของจีน ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2008 ก็มีข่าวใหญ่เรื่องเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายในเมืองอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของซินเจียง ปัญหาก่อการร้ายซินเจียงกับสัมพันธ์เอเชียกลาง ซินเจียงเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่ยิ่งใหญ่มาก่อน ก่อนที่จะกลายมาส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีนในปัจจุบัน โดยค่อยๆถูกผนวกกลืนกลายมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ และถูกรวมเข้ามาอย่างเด็ดขาดหลังพรรคคอมมิวนิสต์เถลิงอำนาจในปี 1949 อย่างไรก็ตามสำนึกเกี่ยวกับวัฒนธรรม และความรุ่งเรืองในฐานะส่วนหนึ่งของอดีตรัฐที่ยิ่งใหญ่ นาม เตอร์กีสถาน ซึ่งเป็นประตูเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจและอารยธรรมตะวันออกกับตะวันตก ทำให้ชาวอุยกูร์ส่วนหนึ่งรวมตัวเป็น องค์การปลดปล่อยเตอร์กีสถานตะวันออก (ETLO) และ ขบวนการอิสลามเตอร์กีสถานตะวันออก (ETIM) เพื่อต่อต้านรัฐบาลจีน โดยเบื้องหลังขององค์การเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตของนโยบายต่างประเทศจีนยุคสงครามเย็น ที่ช่วงหนึ่งขัดแย้งกับโซเวียต ช่วงทศวรรษ 1980 จีนจึงร่วมกับอเมริกาฝึกนักรบและสนับสนุนขบวนการอิสลาม ต่อต้านการยึดครองอัฟกานิสถาน2 ของโซเวียต โดยทางการจีนได้ส่งที่ปรึกษานับร้อยรายจากองทัพปลดแอกเข้าไปฝึกนักรบในค่ายที่ปากีสถาน และซินเจียง โดยนักรบที่ถูกฝึกมีชาวอุยกูร์จากซินเจียงรวมอยู่ด้วย ความร่วมมือกับสหรัฐฯเพื่อต่อต้านโซเวียตทำให้ในที่สุดเกิดคนอย่างอุซามะห์ บิน ลาดิน และองค์กรก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์3 ที่กลับมาหลอกหลอนจีน โดยทางการจีนอ้างว่าอัลกออิดะห์มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายในซินเจียง หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัฐต่างๆในเอเชียกลางได้รับเอกราช เป็นรัฐอิสระซึ่งภาวการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาตร์ (geopolitic) ทำให้จีนต้องเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศใหม่ จากเดิมที่มุ่งเน้นต่อต้านโซเวียต การเกิดขึ้นของรัฐใหม่ยิ่งทำให้ชาวอุยกูร์เกิดแรงบันดาลใจที่จะมีรัฐอิสระเป็นของตนบ้าง ชนชาวอุยกูร์ในรัฐเกิดใหม่เช่น คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน และทาจิกิซสถาน ได้ร่วมสนับสนุนต่อสู้เพื่อสถาปนา เตอร์กีสถานตะวันออก4 อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสยบขบวนการแบ่งแยกดินแดน ด้วยการปราบปรามอย่างหนักหน่วง พร้อมกับเริ่มยุทธศาสตร์พัฒนาภาคตะวันตก (Great Western Development Strategy) ในปี 2000 สร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในซินเจียงด้วยการลงทุน และอพยพชาวฮั่นมาตั้งถิ่นฐานเพื่อกลืนกลายชนชาติอุยกูร์ ทว่ายุทธศาสตร์พัฒนาภายในเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาซินเจียงได้ เนื่องจากปัญหาการก่อการร้ายมีลักษณะข้ามพรมแดน และขบวนการเหล่านี้ก็อาศัยฐานประเทศในเอเชียกลางเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังและปฏิบัติการ อาทิเมื่อปี 2002 นักการทูตจีนระดับสูง และนักธุรกิจถูกสังหารอย่างอุกอาจกลางกรุงบิชเกค ประเทศคีร์กีซสถาน5 ฉะนั้นจีนจึงต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศในเอเชียกลางเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในซินเจียง
|
|
ชาวมุสลิม อุยกูร์ ขณะสวดภาวนา นอกมัสยิดในอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง | |
| บุกเอเชียกลางเพื่อความมั่นคงพลังงาน นอกจากผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแล้วจีนยังเล็งเห็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน โดยหวังพึ่งน้ำมันจากเอเชียกลางลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง ทั้งโดยการลงนามความร่วมมือด้านพลังงานกับรัฐและเอกชนต่างๆในภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งริเริ่มโครงการเครือข่ายท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะช่วยให้การขนส่งน้ำมัน สามารถทำการขนผ่านท่อจากอิหร่านผ่านเอเชียกลางสู่ซินเจียง ซึ่งจะเป็นหลักประกันด้านความมั่นคง เนื่องจากการขนส่งน้ำมันส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางทะเล โดยใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกาก่อนที่จะเข้าสู่จีนทางมณฑลชายฝั่งด้านตะวันออก ทว่าเส้นทางดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงคือ การนำเข้าน้ำมันของจีนกว่า 90% อาศัยเรือบรรทุกน้ำมันเป็นพาหนะสำคัญ และเรือบรรทุกน้ำมันของจีนกว่า 80%6 เดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปัญหาโจรสลัดชุกชุม นอกจากนี้ช่องแคบมะละกายังอยู่ภายใต้อิทธิพลการลาดตระเวนของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่ ชางกี ประเทศสิงคโปร์7 และถึงแม้จะผ่านช่องแคบมะละกามาได้โดยปราศจากปัญหา ทว่าหากเกิดปัญหาระหว่างจีนกับไต้หวัน การขนส่งน้ำมันขั้นสุดท้ายลงที่มณฑลชายฝั่งตะวันออกก็อาจสะดุด8 นอกจากนี้การเชื่อมโยงซินเจียงเข้ากับเอเชียกลางด้วยการช่วยลงทุนพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบก จีนก็หวังรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในเอเชียกลาง ซึ่งจะสามารถทำให้ซินเจียงสามารถระบายสินค้าออกไปยังเอเชียกลาง สู่ยุโรป และตะวันออกกลาง9 และหากมองให้ลึกลงไปอีกจะพบว่า โครงการเชื่อมโยงทางรถไฟยังมีเหตุผลเบื้องหลังสำหรับเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมัน แทนที่การพึ่งพาท่อขนส่งเพียงอย่างเดียว มหายุทธเอเชียกลาง เมื่อมังกรถูกปิดล้อม อย่างไรก็ตามนับแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 สหรัฐฯได้รณรงค์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย เข้าไปปฏิบัติการในอัฟกานิสถานและอิรัก แถมยังได้กระจายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและทหาร เข้าไปช่วงชิงทรัพยากรในเอเชียกลาง ฐานทัพอเมริกันผุดขึ้นในแทบทุกประเทศในเอเชียกลางจากอุซเบกิสถาน, คาซัคสถานจนถึงคีร์กิซสถานซึ่งมีพรมแดนจ่อติดกับจีนโดยตรง แม้จีนจะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อหวังผลทำลายการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในซินเจียง ทว่าการปรากฏตัวของสหรัฐฯได้สร้างความวิตกให้กับจีนอย่างยิ่ง กระทั่งจีนกับรัสเซียต้องทำการซ้อมรบในปี ค.ศ. 2005 ภายใต้รหัส Peace Mission 2005 การซ้อมรบดังกล่าวได้สร้างกระแสความตื่นตระหนกให้กับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอย่างรุนแรง เนื่องจาก กองทัพ, บก, เรือ และอากาศ ของรัสเซียได้ทำการเคลื่อนพลจากเมืองท่าวลาดิวอสต็อค ชายฝั่งทะเลตะวันออกที่ติดกับทะเลญี่ปุ่นและอยู่ห่างประเทศญี่ปุ่นไม่กี่ไมล์ทะเล มาบรรจบกับกองทัพจีนจากมณฑลซันตงในคาบสมุทรเจียวตงบริเวณฝั่งทะเลเหลือง ซึ่งการซ้อมรบดังกล่าวมิได้สอดคล้องกับข้ออ้างที่ทั้งสองฝ่ายประกาศไว้ว่า เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย10 เพราะหากจุดประสงค์ของทั้งสองฝ่ายคือ การต่อต้านก่อการร้ายจริง สมรภูมิสำหรับการซ้อมรบน่าจะอยู่บริเวณตะวันตกของทั้งสองประเทศมากกว่า ทว่าการใช้พื้นที่บริเวณภาคตะวันออกในการซ้อมรบครั้งนี้ สะท้อนถึงนัยความอึดอัด ที่จีนและรัสเซียมีต่อการปรากฏตัวทางทหารและการช่วงชิงทรัพยากรในเอเชียกลางของสหรัฐอเมริกา ทางด้านสองพันธมิตรจีน-รัสเซีย ที่มาจับมือต้านอเมริกาก็มีความขัดแย้งคุกรุ่นอยู่ภายใน หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียซึ่งสืบทอดมรดกต่อจากโซเวียตอยู่ในฐานะอ่อนแอ ไม่สามารถแผ่อิทธิพลเข้ามายังเอเชียกลางได้อย่างเต็มที่ จึงต้องอาศัยร่วมมือกับจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการที่ รัสเซียยอมจับมือกับจีนก่อตั้งองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) เมื่อปี 2001 โดยมีสมาชิกคือ จีน, รัสเซีย, อุซเบกิสถาน, คาซัคสถาน, ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและเสริมความร่วมมือในภูมิภาค เพราะรัสเซียเองก็ประสบปัญหาการก่อการร้ายของชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกับจีน อย่างไรก็ตามภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รัสเซียมีนโยบายที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่เฉกเช่นที่เคยมีในสมัยสหภาพโซเวียต ซึ่งรวมถึงการแผ่อิทธิพลในเอเชียกลาง ซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของโซเวียตมาก่อน รัสเซียซึ่งเริ่มเติบโตจากการค้าทรัพยากรพลังงาน เริ่มมองเห็นการแผ่อิทธิพลอย่างเงียบๆของจีน ด้วยการค้าอาวุธ, ให้เงินช่วยเหลือ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเอเชียกลาง11 เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของรัสเซีย ประธานาธิบดีรัสเซียคนปัจุบัน ดิมีทรี เมดเวเดฟ ก็มิได้ดำเนินนโยบายต่างจากปูติน หลายฝ่ายกลับมองว่าเมดเวเดฟเป็นร่างทรงของปูตินด้วยซ้ำ ฉะนั้นอุดมการณ์รื้อฟื้นความยิ่งใหญ่จึงสืบทอดต่อมา และการเยือนคาซัคสถานก่อนเยือนจีนก็เป็นการสะท้อนท่าทีของรัสเซียได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการย้ำเตือนสหรัฐฯและจีนว่า นี่คือเขตอิทธิพลของรัสเซีย การรุกเข้าไปในเอเชียกลางเพื่อผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงในซินเจียง ซึ่งตอนนี้ถูกแปรเปลี่ยนไปเน้นมิติด้านความมั่นคงทางพลังงานมากกว่า จึงต้องเผชิญกับศึกรอบด้าน นอกจากการปะทะกับสหรัฐฯและรัสเซียแล้ว การดำเนินนโยบายบางอย่างเพื่อพัฒนาซินเจียง ยังถูกบางประเทศในเอเชียกลางต่อต้านอาทิ โครงการผันน้ำจากแม่น้ำอีลี่ และแม่น้ำอีร์ติช ซึ่งไหลผ่านจีนสู่คาซัคสถาน เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมันในอูหลู่มู่ฉี ได้สร้างความขัดแย้งระหว่างคาซัคสถานกับจีน12 เหมือนกับที่โครงการหลากหลายในแม่น้ำโขงทำให้จีนต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ เอเชียกลางจึงเป็นพื้นที่มหายุทธ ที่เต็มไปด้วยการปะทะระหว่างมหาอำนาจ และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่ายๆ การดำเนินนโยบายของจีนจึงเป็นไปอย่างระมัดระวัง แม้เงื่อนไขสภาวการณ์ปัจจุบันจะบีบบังคับให้รัสเซียร่วมมือกับจีนอย่างแน่นแฟ้น เพื่อต่อต้านสหรัฐฯ ทว่าหากเงื่อนไขดังกล่าวหมดไปเมื่อไร บางทีความขัดแย้งที่ซุกซ่อนอยู่อาจปรากฏชัดมากขึ้น กระทั่งคลี่คลายให้เห็นความตึงเครียดภายในภูมิภาคที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตะวันออกกลาง
เอกสารอ้างอิง [1] ผู้จัดการออนไลน์, เมดเวเดฟ ปิดฉากเยือนจีน ย้ำส่งเสริมความสัมพันธ์ 2 ยักษ์, [ http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000060480], 25 พฤษภาคม 2551 [2] บางที่ก็จัดนับอัฟกานิสถานป็นส่วนหนึ่งของเอเชียกลาง [3] Vincent Kolo, The national question in Xinjiang, [http://socialistworld.net/eng/2008/01/09chinaa.html], 9 January 2008. [4] Ramakant Dwivedi, Chinas Central Asia Policy in Recent Times, [http://www.silkroadstudies.org/new/docs/CEF/Quarterly/ November_2006/Dwivedi.pdf], 15 May 2008. [5] จันทร์จุฑา สุขขี, จีนกับปัญหาผู้ก่อการร้ายในซินเจียง, มติชน, 8 กันยายน 2548, 7. [6] C. Fred Bergsten et al., eds., China: The Balance Sheet (New York: Public Affairs, 2006), 130. [7] Will Hutton, The Writing On The Wall: China And The West In The 21st Century (London: Little, Brown, 2006), 236. [8] Ramakant Dwivedi, Chinas Central Asia Policy in Recent Times, [http://www.silkroadstudies.org/new/docs/CEF/Quarterly/ November_2006/Dwivedi.pdf], 15 May 2008. [9] Xinjiang to Forge Overland Channel for Energy Transmission, [http://www.china.org.cn/english/ environment/199295.html],17 February 2007. [10] ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, แผนพิชิตมังกร (กรุงเทพฯ: openbooks, 2549), 62-63. [11] Niklas Swanstrom, China and Central Asia: a new Great Game or traditional vassal relations?, [http://www.silkroadstudies.org/docs/publications/ 2005/JCC_Swanstrom.pdf], 15 May 2008. [12] Ramakant Dwivedi, Chinas Central Asia Policy in Recent Times, [http://www.silkroadstudies.org/new/docs/CEF/Quarterly/ November_2006/Dwivedi.pdf], 15 May 2008.
| |