หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ถึงเวลาต้องทบทวนฮัมวี จากมติชนสุดสัปดาห์

โดยคุณ : PEETOH เมื่อวันที่ : 03/06/2008 00:21:07

ผมเขียนลงมติชนไปเมื่ออาทิตย์ก่อน  เอามาให้เพื่อนในบอร์ดอันเป็นอาหารสมองครับ

รถยนต์คือพาหนะที่มนุษย์คุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นกิจการพลเรือนหรือทหาร  โดยเฉพาะการทหารรถยนต์ถูกนำมาใช้คู่กับเกวียนตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่1  ภารกิจของมันโดดเด่นขึ้นในสงครามโลกครั้งที่2เมื่อกองทัพพึ่งพายานยนต์มากขึ้น  เคลื่อนที่เร็วกว่าเดิมทั้งในการรุกรบ,ลาดตระเวนหรือล่าถอย  นอกจากรถถังที่ทรงพลานุภาพทั้งการทำลายเป้าหมายและข่มขวัญ  รถอีกชนิดที่ถูกใช้งานแพร่หลายไม่แพ้กันคือรถใช้งานทางธุรการ  โดยเฉพาะในกองทัพสหรัฐฯซึ่งเข้าสู่สงคราม(หรือบางครั้งก็ก่อสงครามเอง)บ่อยๆ 

ภาพเจนตาจากข่าวหรือเอกสารอื่นคือทหารราบกับยานยนต์  เริ่มจากจีป”วิลลี่”ในสงครามโลกครั้งที่2และสงครามเกาหลี  ตามด้วยฟอร์ดM151รูปร่างหน้าตาคล้ายกันแต่กว้างและต่ำกว่าในสงครามเวียตนาม  และปัจจุบันคือHMMWV(High Mobility Multipurposed Wheeled Vehicle รถปฏิบัติการเอนกประสงค์)หรือในชื่อที่คุ้นเคยคือ”ฮัมวี”(Humvee)ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอดีตในอนาคตอันใกล้  เมื่อได้รถแบบใหม่เข้าประจำการแทน

เรื่องราวของฮัมวีเริ่มจากปลายทศวรรษ1970  หลังสหรัฐฯถอนตัวจากเวียตนามและทุกเหล่าทัพต้องการยานยนต์ใช้งานทางธุรการหลังแนวรบมาทดแทนฟอร์ดM151เดิม เน้นหนักที่กองทัพบกซึ่งเป็นกองกำลังหลัก  เพราะรูปแบบของสงครามหลังจากนั้น  รถยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิมในฐานะรถธุรการเอนกประสงค์  โครงสร้างต้องแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพภูมิประเทศอันทารุณ นอกจากใช้เพื่อธุรการและส่งกำลังบำรุงหลังแนวแล้วยังใช้เป็นฐานอาวุธได้ด้วย  ทั้งปืนกล,เครื่องยิงลูกระเบิดและเครื่องยิงจรวด  เมื่อกองทัพบกสหรัฐฯวางข้อกำหนดยานยนต์ชนิดใหม่ขึ้นในปี1979พร้อมกับชื่อใหม่ว่า High Mobility Multipurposed Wheeled Vehicle ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน  บริษัทเอเอ็ม เจเนอรัลจึงเริ่มออกแบบรถยนต์ให้เข้ากับข้อกำหนดนั้น  ในระยะไม่ถึงปีก็ได้M998ส่งเข้าทดสอบแข่งขัน

การทดสอบสมรรถนะและพัฒนาแผนแบบดำเนินไปจนถึงปี1981  เอเอ็ม เจเนอรัลชนะประมูลจึงได้สัญญาจากกองทัพบก  ให้พัฒนารถต้นแบบและทดสอบจนกว่าจะได้ข้อยุติก่อนส่งมอบให้ใช้งานจริง  กิจการทุกอย่างดำเนินมาจนสำเร็จได้สัญญาให้ผลิต”ฮัมวี”รุ่นแรกจำนวน55,000คัน  ส่งมอบได้ในปี1985 เข้าสู่สงครามเป็นครั้งแรกในยุทธการ”จัสต์ คอส”เมื่อสหรัฐฯรุกรานปานามาปี1989  หลังจากนั้นมันได้เข้าแทนที่รถเดิมซึ่งเล็กกว่า  ในกองทัพสหรัฐฯและชาติพันธมิตรทั่วโลก  เป็นกระดูกสันหลังของทหารราบและทหารม้ายานเกราะ  เช่นเดียวกับ”จีป วิลลี่”และฟอร์ด M151ม้าใช้รุ่นพี่  เป็นภาพเจนตาชาวโลกจากสงครามอ่าวครั้งแรกในปี1991    ในปฏิบัติการอันล้มเหลวของสหรัฐฯ”แบล็คฮอว์กดาวน์”ปี1993 และสงครามอ่าวครั้งที่อิรักเสรี”ในปี2003ถึงปัจจุบัน

แม้จะถูกติดปืนหรือเครื่องยิงจรวดบนหลังคา แต่แท้จริงแล้วฮัมวีไม่ใช่รถรบหุ้มเกราะเช่นรถถังหรือรถหุ้มเกราะล้อยาง  วัตถุประสงค์แท้ๆดั้งเดิมของมันคือเป็นรถน้ำหนักเบาใช้งานทางธุรการหลังแนวรบ ด้วยวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากยานยนต์รุ่นพี่ดังกล่าว  ไม่มีเกราะหรืออุปกรณ์ป้องกันพลประจำรถจากสงครามนิวเคลียร์-เคมี-ชีวภาพ  ใช้ปืนเล็กยาวอย่างM16หรือAK47ยิงก็เข้า  แต่เพราะความทนทานต่อภูมิประเทศกันดารเป็นเลิศ  อัตราการสูญเสียจึงน้อยมากแม้ในสภาพแวดล้อมสุดโหดของทะเลทราย  มันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าไม่พรั่น  เกาะติดและสนับสนุนการรบได้ทุกหนแห่ง 

 





ความคิดเห็นที่ 1


การใช้งานในที่กว้างอย่างทะเลทรายไม่มีปัญหา  แต่ความสูญเสียกลับสูงเมื่อเข้ามารบในเมือง  ตัวอย่างชัดเจนคือเหตุการณ์”แบล็คฮอว์กดาวน์”ที่กรุงโมกาดิสชูเมืองหลวงของโซมาเลีย  เมื่อขบวนฮัมวีถูกบีบให้วิ่งผ่านย่านเมืองเต็มไปด้วยจุดซุ่มโจมตี  เมื่อมันไม่หุ้มเกราะจึงเสียหายหนักจากคมกระสุนและเครื่องยิงจรวด(RPG)  แต่ด้วยความแข็งแกร่งของช่วงล่างจึงเอาตัวรอดมาได้  แม้จะไม่มีเกราะและป้องกันอะไรไม่ได้  แต่แนวโน้มสงครามในปัจจุบันที่เกิดในเมืองมากขึ้นทำให้ฮัมวีถูกนำมาใช้ในรูปแบบนี้บ่อย  ทั้งที่แท้จริงแล้วมันไม่ได้เกิดมาเพื่อรบเช่นยานเกราะของทหารราบเลย

หลังจากเหตุการณ์ในโมกาดิสชูและการทำสงครามในเมืองที่นับวันจะถี่ขึ้น  กองทัพจึงเร่งปรับปรุงฮัมวีให้ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กและปืนกลได้  ฮัมวีรุ่นปรับปรุงมีรหัสเป็นทางการว่าM1114คันแรกออกจากสายการผลิตในปี1996  ถูกใช้งานระยะสั้นๆในแหลมบอลข่านก่อนจะใช้อย่างจริงจังในทะเลทรายตะวันออกกลาง  ฮัมวีหุ้มเกราะเหนือกว่าM998เดิมด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จ ระบบปรับอากาศใหม่ เสริมความแข็งแกร่งช่วงล่าง ติดเครื่องปรับอากาศ  ยิ่งกว่านั้นคือเสริมเกราะให้หนาขึ้นด้วยในส่วนที่นั่งและกระจกกันกระสุน  แม้จะปลอดภัยกว่าเดิมจากกระสุนปืนเล็กแต่ข้อเสียคือน้ำหนักมากขึ้น  พลประจำรถเจ็บหรือตายหนักกว่าเดิมเมื่อรถเสียศูนย์แหกโค้ง  ตามรายงานของกองทัพบกสหรัฐฯในอิรักที่เผยแพร่เมื่อปี2005  หลังจากรับฮัมวีหุ้มเกราะไปใช้ได้ระยะหนึ่ง   น้ำหนักเกราะที่มากขึ้นอีกเกือบตันทำให้ซดน้ำมันหนัก แม้จะเสริมความแข็งแรงแล้วแต่ชิ้นส่วนที่รับน้ำหนักก็ยังสึกหรอเร็ว

ปัญหาของกองทัพสหรัฐฯในอิรักคือถูกบีบให้รบในเมือง  เจตจำนงดั้งเดิมของมันคือใช้งานหลังแนวรบ เพื่อสังเกตการณ์หรือลาดตระเวนหาข่าวความเร็วสูง   ติดอาวุธไว้เพียงเพื่อป้องกันตัว  ถึงจะปลอดภัยกว่าจีปเดิมแต่ด้วยสภาพสงครามรบเต็มพื้นที่แบบไร้แนวรบของอิรัก  การเอาฮัมวีติดปืนกล.50คาลิเบอร์จึงไม่แตกต่างจากเอาทหารไปขับรถล่อเป้าวัดดวงกับกระสุนและระเบิดแสวงเครื่อง 

ช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันจึงมีเสียงวิพากษ์ว่ามันถูกใช้งานหลากหลายเกินพอดี  ส่วนใหญ่เป็นภารกิจเสี่ยงที่ต้องปกป้องทหารให้มากกว่านี้  ควรจะใช้ยานยนต์ที่ปลอดภัยกว่าให้มากขึ้น  เช่นรถเกราะล้อยาง”สไตรเกอร์”,รถเกราะสายพานลำเลียงพล”แบรดลีย์”หรือแม้แต่รถถังหลักM1”เอบรัมส์”  อีกแนวความคิดหนึ่งคือเปลี่ยนจากฮัมวีเป็น”รถเกราะป้องกันทุ่นระเบิด”(Mine Resistant Ambush Protected  MRAP)  เสริมเกราะหนาและกระจกกันกระสุน หน้าตัดท้องรถเป็นรูปตัวVเพื่อเบี่ยงเบนแรงระเบิด

ที่เป็นไปได้มากที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้  คือจะมีรถรบพันธุ์ใหม่มาแทนฮัมวีในรูป”รถปฏิบัติการร่วมเบา”(Joint Light Tactical Vehicle  JLTV)เพื่อให้เข้ากับการสู้รบปัจจุบันและอนาคต  เมื่อยุทธวิธีเปลี่ยนไปยานรบก็ต้องเปลี่ยนตาม  คุณสมบัติของJLTVตามที่กองทัพสหรัฐฯวางไว้คือต้องปกป้องทหารได้จากสะเก็ดระเบิด,ต่อต้านแรงอัดจากระเบิดแสวงเครื่อง(IED)  มีอุปกรณ์ช่วยรบเป็นเครือข่าย  อัตราการอยู่รอดในสนามรบสูง  น้ำหนักต้องเบากว่า7ตันครึ่งเพื่อสะดวกแก่การลำเลียงด้วยเครื่องบิน  แล่นได้อีกไกลแม้ระบบหล่อเย็นเสียหาย เข้า-ออกได้ง่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน

เมื่อหันมามองกองทัพของเรา 1ใน36ชาติทั่วโลกที่มีฮัมวีประจำการ  หากพิจารณาถึงความเหมาะสมทางยุทธวิธี,ภูมิประเทศและเศรษฐกิจ  จะพบว่ารถแบบเดียวกันแต่มีความแตกต่างในองค์ประกอบแวดล้อมหลายอย่าง สำคัญที่สุดคือชาติเราไม่ได้ร่ำรวยพอจะปรนนิบัติบำรุงยานรบให้ได้ตามข้อกำหนดจากโรงงานเช่นสหรัฐฯ  ด้วยเครื่องยนต์8สูบความจุถึง6,500ซีซี.นั้น  ถึงจะใช้น้ำมันดีเซลแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่ใช่แค่”กิน”น้ำมัน  ฮัมวีแทบจะยกถังน้ำมัน”อาบ”กันเลยโดยเฉพาะเมื่อเข้าภูมิประเทศ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องมิติที่กว้างถึง2เมตรครึ่ง  เปรียบเทียบแล้วเห็นได้ชัดว่ากว้างกว่ารถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้ออื่นๆ  เมื่อเข้าทางซอยในชนบทจึงกินพื้นที่ถนนมากกว่าครึ่ง    

โดยคุณ PEETOH เมื่อวันที่ 30/05/2008 10:27:43


ความคิดเห็นที่ 2


เมื่อมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สู้รบโดยตรงดังกล่าวแต่ต้น  เมื่อแล่นทับระเบิดแสวงเครื่องเช่นที่ภาคใต้จึงรักษาชีวิตทหารไม่ได้  ในเมื่อระเบิดที่วางมีอานุภาพร้ายแรงและใช้มาก  ถึงจะใช้รถหุ้มเกราะหนา,หนักกว่าเช่นV150ก็ยังเอาไม่อยู่  ดังปรากฏในช่วงหนึ่งของข่าวการก่อการร้ายเป็นภาพรถเกราะชนิดนี้หงายท้องล้อหลุดกระเด็นจากเพลาเหมือนของเล่น

เท่าที่พบในงานแสดงยุทโธปกรณ์”ดีเฟนซ์ แอนด์ ซีเคียวริตี้ 2007” ที่เมืองทองธานี  สิ่งที่ทำให้เราอุ่นใจเล็กๆคือกองทัพบกไทยได้ผลิต”รถปฏิบัติการต้นแบบ”ขึ้นมาใช้ในภารกิจเดียวกับฮัมวีแล้ว  เป็นรถSUVเหมือนกันแต่ใช้เครื่องยนต์เล็กกว่าคือดีเซล3,000ซีซี.คอมมอนเรล เป็นเครื่องยนต์แบบเดียวและความจุกระบอกสูบเท่ากับSUVปกติ  ช่วงล่างจากรถปิคอัพสัญชาติญี่ปุ่น  เล็กและคล่องตัวกว่าแต่บรรทุกทหารได้เท่ากัน ที่สำคัญคือประหยัดกว่าครึ่งต่อครึ่งตั้งแต่ราคาตัวรถ  ไปจนถึงค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษา   นำมาดัดแปลงให้ติดอาวุธเหมือนฮัมวีก็ได้ทุกประการ  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยิงลูกระเบิด,ปืนกลขนาด.50นิ้ว,ปืนกลM60และอื่นๆ  ทำความเร็วทางเรียบได้สูสีแต่เมื่อขึ้นทางชันจะไต่ได้เร็วกว่าฮัมวีเพราะน้ำหนักน้อยกว่า หากจริงจังกับการพัฒนาและผลิต   ผลพวงอีกอย่างคือมันจะเป็นตัวสร้างงานและรายได้ให้ประเทศ  มีโอกาสส่งออกก็จะนำรายได้เข้าประเทศได้มหาศาลเช่นกัน  ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่น้ำมันแพงคงไม่ใช่แต่ชาติเราเท่านั้นที่คิดประหยัด

การริเริ่มดัดแปลงรถยนต์ใช้งานทางทหารจึงเป็นความคิดที่ดี  เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจที่เราต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น  ใช้จ่ายอย่างพอเพียง  ฮัมวีอาจจะเหมาะกับสหรัฐฯหรือประเทศร่ำรวยอื่นก็จริง  แต่ด้วยราคาน้ำมันอันเป็นต้นทุนของทุกสิ่งนับวันจะแพงขึ้น  การจะคงขีดความสามารถของกองทัพไว้ให้พร้อมป้องกันประเทศเสมอ  จึงต้องคำนึงถึงความประหยัดและสามารถหาทดแทนได้ในประเทศ

อีกแนวความคิดที่กำลังถูกทดสอบ  คือการใช้รถATV(All Terrain Vehicle)กับพลประจำ2นายเหมือนมอเตอร์ไซค์แต่มี4ล้อ  แบบเดียวกับที่ใช้ในกีฬาเอ็กซ์ตรีมหรือเพื่อการสำรวจ   ดัดแปลงดีๆจะบรรทุกทหารได้ถึง3นายพร้อมอาวุธ  ด้วยความคล่องตัวและเครื่องยนต์กำลังสูงที่บุกไปได้ทุกที่  หน่วยรบพิเศษเช่นSEALของสหรัฐฯในอิรักจึงดัดแปลงใช้ในหลายภารกิจ  ทั้งการลาดตระเวน สอดแสม รวมถึงธุรการ  ในภาคใต้ของไทยก็เริ่มใช้รถประเภทนี้แล้วเช่นกัน  ถึงจะดูเสี่ยงเหมือนมอเตอร์ไซค์แต่ก็ยังเสี่ยงน้อยกว่าฮัมวีเมื่อแล่นเข้าสู่พื้นที่    ความแคบของยานและทัศนวิสัยที่ดีกว่าช่วยให้มองเห็นทางง่ายและหลบหลีกกับระเบิดได้ดี เว้นแต่กรณีที่ซุ่มคอยกดสวิทช์ข้างทางซึ่งหากโดนเข้าไปสภาพก็คงไม่ต่างจากฮัมวี

การใช้ATVนี้หากพิจารณาประวัติศาสตร์จะพบว่าไม่ใช่ของใหม่  เมื่อสงครามโลกครั้งที่2กองทัพเยอรมันก็มียานชนิดเดียวกันคือ”เคตเตนคราฟทราด”(Kettenkraftrad)  ATV กึ่งสายพานบังคับทิศทางล้อหน้าด้วยแฮนด์เหมือนมอเตอร์ไซค์ ลุยได้ทุกภูมิประเทศ  ใช้ได้ผลมาแล้วกับสมรภูมิในเมืองทั้งแนวรบตะวันออกและตะวันตก

เมื่อสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไป  รูปแบบสงครามเปลี่ยน  กองทัพคือองค์กรที่รับผลกระทบโดยตรง    เมื่อปัญหาคือต้องเปลี่ยนแปลงตามเพื่อคงขีดความสามารถไว้ให้ได้  ในสภาพที่ถูกกดดันหนักที่สุดทั้งเศรษฐกิจและการเมือง  คำตอบคือต้องหาวิธีให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุดให้ได้  เมื่อฮัมวีเริ่มทำให้รู้สึกว่า”จ่ายแพง”และไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของเรา  ถึงเวลาหรือยังที่จะทดแทนด้วยพาหนะอื่นที่เหมาะกว่า ประหยัดกว่า และหาชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทนภายในประเทศได้ง่ายกว่า?

 

 

โดยคุณ PEETOH เมื่อวันที่ 30/05/2008 10:28:15


ความคิดเห็นที่ 3


ขอบคุณสำหรับบทความครับ

อ่านเรื่องรถ REVA ของคุณ Skyman แล้วมาเจอเรื่องนี้นี่คนละทางกันไปเลย
โดยคุณ Tasurahings เมื่อวันที่ 30/05/2008 10:53:46


ความคิดเห็นที่ 4


ผมว่ารัฐบาลชุดนี้คงต้องออกงบประมาณ

สำหรับความมั่นคงในประเทศและระหว่างประเทศเยอะมากขึ้นกว่ารัฐบาลพลเรือนที่ผ่านมา ก็เพราะต้องเอาใจเหล่า สาม สีทั้งหลายเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ วิปโยคซ้ำอีกครั้ง เป็นหมูและแมว ทำนองนี้อะครับ

    งบประมาณของทหารถึงได้ผ่านฉลุยดั่งใจนึก ไม่ต้องมาเข้ารัฐสภาชี้แจงขัดขากันให้เมื่อยปาก

โดยคุณ siamman18 เมื่อวันที่ 30/05/2008 13:09:06


ความคิดเห็นที่ 5


รถต้นแบบ กลัวว่าสุดท้ายก็ยังเป็นต้นแบบ ของจริงกับซื้อต่างประเทศ ไม่พอเพียง

ทหารเรือ ต่อเรือขึ้นเองหรือสั่งต่อในประเทศ พอเพียง

ทหารอากาศ มีการสร้างเครื่องบินต้นแบบ ถ้าหากมีการสั่งซื้อใช้งานจริง ผลิตจริง ก็พอเพียง

ทหารบก รถสามารถผลิตได้ในประเทศ สามารถออกแบบเองได้ในประเทศและทำได้ง่ายกว่าทหารเรือและทหารอากาศ มีบริษัทที่ทำได้ในเมืองไทย แล้วทำเอง พอเพียง

แต่ถ้าซื้อของนอกแล้วคุณสมบัติไม่ต่างจากที่ทำเอง..จะพอเพียงอย่างไร ไม่สมควร...

โดยคุณ เด็กทะเล เมื่อวันที่ 31/05/2008 05:52:52


ความคิดเห็นที่ 6


ผมว่ารถต้นแบบสร้างมาผมว่าลองสนามจริง อ่ะดีที่สุด
เพราะเท่าที่รู้จักอาจารย์ที่ร่วมออกแบบ ในแง่โครงสร้างของวัสดุ
คือสามารถทนได้จริงแต่ก็ต้องลองสนามจริงเช่น กัน

โดยคุณ c_hai เมื่อวันที่ 31/05/2008 10:20:08


ความคิดเห็นที่ 7


เท่าที่เห็นหน่วยทหารหลักๆก็ยังใช้ฮัมวี่ อยู่ครับ แต่รถ ฮัมวี่จูเนียร์ มีใช้ในหน่วยงานของ มหาดไทย ครับ มักจะเห็น อส.ใช้กัน แต่ยังไม่ค่อยจะเห็นที่เป็นหน่วยทหารหลักใช้ครับ(หรืออาจจะไม่เห็นเอง)

เห็นด้วยครับกับการนำมาใช้แทนฮัมวี่ เพราะมันใหญ่ เปลืองน้ำมันสุดๆ รู้สึกจะประมาณ 5 หรือ 6 โลลิตรนี่แหละ แต่ไม่สามารถป้องกันตัวเองอย่างที่เห็นๆกันอยู่ ใน พท.จริงๆเป็นถนนตามหมู่บ้าน ใช้รถเล็กน่าจะมีความคล่องตัวมากกว่า เนื่องจากถนนเล็กเส้นทางคดเคียว เจ้าฮัมวี่นี้มันเทอะทะจริงๆครับ ยิ่งมาวิ่งในตัวเมืองที่ถนนไม่ใหญ่นี้ คับซอยเลยครับ

ส่วนเจ้า REVA เนี่ยยังรู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่โดยส่วนตัวเห็นจากภาพแล้วคิดว่าน่าจะได้ดีตรงการป้องกันการโจมตีโดยอาวุธยิง กับทัศนวิสัยที่ดีกว่า เจ้าฮัมวี่ แต่ถ้าโดยวางกับระเบิด คงจะยากเท่าที่เห็นช่วงล่างจากภาพ แต่ยังหวังว่าการออกแบบจะเน้นให้ลดการสูญเสียของกำลังพลที่โดยสารไปด้วย

โดยคุณ wingboy เมื่อวันที่ 01/06/2008 11:59:55


ความคิดเห็นที่ 8


เอาฮัมวีมาโมใหม่ดีไหน เสริมเกราะป้องกันทั้งปืน จรวด RPG และป้องกันระบิด IED ได้ระดับหนึ่ง

โดยคุณ sam เมื่อวันที่ 02/06/2008 13:21:08