ในช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรใกล้กลับเมืองไทย มีข่าวจริงบ้างไม่จริงบ้างหลายกระแสเกี่ยวกับท่านทั้งดีและไม่ดี ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือการจัดหาปืนซุ่มยิงจำนวนหนึ่งโดยนายทหารระดับสูง ที่โยงใยไปถึงหน่วยรบพิเศษของกองทัพบก เป็นทำนองว่าจะใช้ปืนพิเศษนี้เพื่อต้อนรับใครหรือเปล่า หรือการจัดหายุทธภัณฑ์ชนิดนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างอื่น นั่นคือจุดที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับคำว่าซุ่มยิง เลยไปถึงผู้ใช้อาวุธหรือพลซุ่มยิงที่เราคุ้นเคยกันกับชื่อภาษาอังกฤษว่าsniperซึ่งมีอยู่ในเหล่าทัพของทุกชาติ
พลซุ่มยิงซึ่งเรียกชื่อตามภารกิจ ก็คือทหารราบผู้ชำนาญการใช้อาวุธยิงทำลายเป้าหมายจากตำแหน่งซุ่มซ่อน ด้วยระยะไกลเป็นพิเศษเกินความคาดหมายหรือระยะตรวจการณ์ของฝ่ายตรงข้าม และต้องกระทำด้วยอาวุธพิเศษเฉพาะภารกิจคือปืนซุ่มยิง(sniper rifle) ประกอบกล้องเล็งและกระสุนที่ถูกออกแบบพิเศษเพื่อการทำลายเป้าหมายจากระยะไกลเท่านั้น จะไกลได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักๆทั้งสี่อย่างที่กล่าวมาแล้วคือคน ปืน กล้องเล็งและกระสุน
กองทัพของแต่ละประเทศจะกำหนดภารกิจให้พลซุ่มยิง ตามแต่หลักนิยมในการป้องกันประเทศของประเทศนั้นๆ โดยส่วนใหญ่หน้าที่หลักของพลซุ่มยิงคือการลาดตระเวนหาข่าวจากตำแหน่งซุ่มซ่อน และถ้าจำเป็นก็ให้ลดความสามารถสู้รบของฝ่ายตรงข้ามได้ ด้วยการทำลายเป้าหมายสำคัญๆโดยเฉพาะเป้าหมายบุคคลหลักๆเช่นนายทหารผู้คุมกำลัง ผู้สั่งการระดับสูงสุดเช่นผู้นำหมู่บ้าน หรือเจ้าของเครือข่ายค้ายาเสพติด ฯลฯ
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าพลซุ่มยิงมีตำแหน่งแห่งที่ในกองทัพตั้งแต่เมื่อใด เท่าที่สันนิษฐานได้คือโลกน่าจะรู้จักพลซุ่มยิงตั้งแต่มนุษย์รู้จักรบกันด้วยอาวุธยิง อย่างธนูหรือปืนคาบสิลาในระยะแรก เมื่อมีกระสุนดินดำใช้กับปืนระบบคัดปลอกและเกลียวลำกล้อง การซุ่มยิงก็ทวีความสำคัญขึ้นเพราะผลของปฏิบัติการสามารถทำลายขวัญและกำลังใจข้าศึกได้สูง ด้วยกระสุนเพียงไม่กี่นัดก็สามารถเปลี่ยนแปลงผลของการรบได้ สร้างผลกระทบทางจิตวิทยาได้สูงต่อลูกแถวเมื่อนายทหารถูกยิง กองกำลังต้องเปลี่ยนเส้นทางหรือลดความเร็วในการเคลื่อนที่เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของกำลังพล ทำให้หน่วยของพลซุ่มยิงมีเวลาดำเนินกลยุทธ์อื่นใดหรือมีเวลาพอเพื่อตระเตรียมความพร้อมในการล่าถอย
ตามปกติพลซุ่มยิงในกองทัพจะปฏิบัติงานเป็นคู่ ทหารหนึ่งนายเป็นพลซุ่มยิงและอีกนายเป็นพลชี้เป้าคอยส่องกล้องหาเป้าสับเปลี่ยนหน้าที่กันในเวลาที่กำหนด เพื่อลดความอ่อนล้าสายตาจากการจ้องจับเป้าหมายนานๆด้วยกล้องเล็ง สำหรับกองทัพของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรซึ่งใช้พลซุ่มยิงอย่างแพร่หลาย ภารกิจส่วนใหญ่คือการลาดตระเวนและสอดแนม ต่อต้านการซุ่มยิงของฝ่ายตรงข้าม สังหารนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา และแม้แต่ทำลายเป้าหมายอาคารหรืออุปกรณ์สื่อสารสำคัญ
พลซุ่มยิงของกองทัพบกและนาวิกโยธินสหรัฐฯ สร้างผลงานได้ผลยอดเยี่ยมมาแล้วช่วงก่อนเปิดฉากสงครามอ่าวทั้งสองครั้ง ด้วยการเร้นกายเข้าทำลายระบบสื่อสารของอิรักด้วยปืนซุ่มยิงขนาดหนัก ใช้กระสุนขนาด.50นิ้ว(ขนาดเดียวกับที่ใช้ในปืนกลบราวนิ่ง .50 คาลิเบอร์) ยิงจากปืนซุ่มยิงหลากแบบ เช่นTAC-50 แมคมิลแลน,บาร์เร็ตต์ M82 ระยะสังหารไกลที่สุดเท่าที่เคยบันทึกคือ 2,430 เมตรจากฝีมือของสิบโทร็อบ เฟอร์ลองจากกรมทหารราบเบาพรินเซส แพทริเชียของคานาดา ช่วงบ่ายวันหนึ่งของเดือนมีนาคม 2002 ในอาฟกานิสถาน ด้วยกระสุนฮอร์นาดี A-MAXเวรี่ โลว์ แดร็กหนัก750เกรน ขนาด.50คาลิเบอร์จากปืนซุ่มยิง TAC-50 แมคมิลแลนด์
แม้เทคโนโลยีการสร้างปืนยุคปัจจุบันจะทำให้พลซุ่มยิงทำงานง่ายขึ้น ยิงได้ไกลขึ้น แต่ทหารหน้าที่พิเศษนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์เอาไว้มากในสงครามใหญ่หลายครั้งที่ผ่านมา พลซุ่มยิงฝรั่งเศสคือผู้เขียนประวัติหน้าสุดท้ายของพลเรือโทโฮเรชิโอ เนลสันแห่งราชนาวีอังกฤษ ครั้งทำสงครามทางทะเลกับกองทัพนโปเลียน เยอรมันนำพลซุ่มยิงมาใช้งานได้ประโยชน์สูงสุดในแนวสนามเพลาะของสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยการแจกกล้องเล็งประกอบปืนให้ทหารมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่สงคราม เพียงฝ่ายตรงข้ามยื่นมือพ้นแนวหลุมเพลาะเท่านั้น เขาจะตกเป็นเหยื่อกระสุนจากทหารเยอรมันทันที เริ่มแรกทั้งฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสต่างคิดว่าความแม่นของเยอรมันเป็นความบังเอิญ จนกระทั่งยึดกล้องเล็งได้พร้อมปืนความจริงอันน่าหวาดหวั่นจึงปรากฏ
ชื่อเสียงพลซุ่มยิงเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นที่เลื่องลือ ส่วนหนึ่งมาจากความแม่นที่ได้จากเลนส์กล้อง เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่าอุตสาหกรรมผลิตเลนส์ของเยอรมันเป็นที่1ของโลก ไม่มีใครไม่รู้จักเลนส์จากบริษัทคาร์ล ไซส์แห่งเมืองเยนา(Jena) พอรู้ว่าเยอรมันไปได้สวยกับพลซุ่มยิง อังกฤษก็เริ่มฝึกพลซุ่มยิงฝ่ายตนบ้างเพื่อลดความเสียเปรียบระหว่างฝ่ายตนกับเยอรมัน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ยุทธวิธีเดียวกันคือออกทำงานเป็นทีมพลซุ่มยิงและพลชี้เป้าทีละสองคน จะมีแต่แนวรบด้านตะวันออกที่ประจันหน้ากับรัสเซียที่เยอรมันเด็ดชีพข้าศึกได้คล่อง เพราะขณะนั้นรัสเซียยังไม่ให้ความสำคัญกับพลซุ่มยิงเป็นเรื่องเป็นราว
พลซุ่มยิงได้ออกศึกใหญ่อีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 พลซุ่มยิงอังกฤษผู้ซ่อนตัวในที่มั่นมิดชิดสามารถหน่วงเวลากองทัพเยอรมันผู้ไล่ขยี้ได้จนมีเวลาอพยพจากดันเคิร์ก ผลงานนี้ทำให้อังกฤษหันมาพัฒนากิจการซุ่มยิงเป็นการใหญ่ กระนั้นก็ยังจำกัดอยู่ให้เป็นภารกิจของนายทหารสัญญาบัตรและชั้นประทวน ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับคู่สงครามอย่างเยอรมันซึ่งไม่จำกัดชั้นยศของผู้สมัครเป็นพลซุ่มยิง ทั้งที่เป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ความต่อเนื่องในการพัฒนาพลซุ่มยิงของเยอรมันไม่ได้ลดหย่อนลงเลย พลซุ่มยิงเยอรมันสร้างผลงานเด่นๆหลายครั้งระหว่างสงครามกลางเมืองสเปนและในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อเยอรมันรุกรานโซเวียต สงครามระหว่างพลซุ่มยิงของทั้งสองชาติรุนแรงยิ่งขึ้น สมรภูมิสตาลินกราดคือพื้นที่ห้ำหั่นระหว่างพลซุ่มยิงโดยแท้ เมื่ออาคารใหญ่ๆในเมืองถูกปืนใหญ่และระเบิดของเยอรมันทำลายจนเหลือแต่ซาก ทหารรบกันทุกที่ตั้งแต่ในอาคารบนท้องถนนจนถึงท่อระบายน้ำ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งสังหารเป้าหมายด้วยปืนซุ่มยิงจากซอกเล็กหลืบน้อยของอาคาร
รัสเซียดูเหมือนจะได้เปรียบเพราะเป็นฝ่ายตั้งรับที่คุ้นเคยดีกับชัยภูมิของตน พลซุ่มยิงรัสเซียทั้งบุรุษและสตรีสังหารนายทหารเยอรมันได้มาก วาสิลี ซาอิเซฟ ผู้ใช้ปืนเล็กยาวโมซิน-นากันต์ปลิดชีพข้าศึกได้นับร้อย ได้รับความสำคัญจนถูกยกเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ จนฝ่ายเยอรมันต้องส่งพันตรี(เอส.เอส.)ไฮนซ์ ธอร์วัลด์พลซุ่มยิงชั้นครูจากโรงเรียนฝึกพลซุ่มยิงเมืองซอสเซนมาปราบ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจทหารฝ่ายตนกลับคืน แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่าต้องเสียทีให้ซาอิเซฟแห่งกองทัพแดง (ดังเรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Enemy at the Gate และหนังสือชื่อเดียวกัน) ปืนคาร์ 98Kของเขาที่ถูกยึดได้ยังตั้งแสดงอยู่ในกรุงมอสโก
ฝ่ายสหรัฐฯเองก็ใช้พลซุ่มยิงอย่างกว้างขวางไม่แพ้เยอรมันและอังกฤษ พลซุ่มยิงกองทัพสหรัฐฯทำงานได้ผลทั้งในสมรภูมิอาฟริกาเหนือ ฝรั่งเศส และใช้ต่อต้านการซุ่มยิงของเยอรมันในช่วงรุกเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน
ปัจจุบันกิจการนี้ยังถูกพัฒนาไม่หยุดยั้งทั้งยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์ ปืนซุ่มยิงถูกพัฒนาให้เบา แรงรีคอยล์น้อย ใช้ระบบลำกล้องลอย(free float barrel)เพื่อทวีความแม่น ที่ใดที่ทหารสามารถซุ่มซ่อนตัวเองได้แนบเนียน ดัดแปลงภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อตนได้มากที่สุด ที่นั่นย่อมมีพลซุ่มยิง
นอกจากกองทัพที่ต้องใช้ทหารหน้าที่พิเศษนี้ ตำรวจก็ต้องพึ่งพาพลซุ่มยิงเช่นกันโดยจะถูกบรรจุไว้ในอัตราของหน่วยปฏิบัติการพิเศษSWAT(Special Weapons And Tactics) ประกอบทีมเช่นเดียวกับทหารคือ1พลซุ่มยิงกับ 1พลชี้เป้าทำหน้าที่สลับกัน เพื่อเป็นคำตอบสุดท้ายเมื่อการเจรจาล้มเหลวและการส่งทีมจู่โจมเข้าที่หมายดูจะปลอดภัยน้อยกว่า
เมื่อพิจารณาจากภารกิจ พลซุ่มยิงคือทหารที่แตกต่างจากหน่วยรบปกติ เป็นหน้าที่พิเศษจริงๆซึ่งไม่อาจเป็นกันได้ทุกคน เขาสามารถปฏิบัติการได้ทั้งเดี่ยวและเป็นทีม ต้องมีความอดทนสูงสุด นอนแช่ปลักหรือหมอบซุ่มท่ามกลางแสงแดดแผดเผาได้เป็นวัน เคลื่อนที่ได้ช้าและแนบเนียน ดัดแปลงสิ่งต่างๆในภูมิประเทศเพื่อการซ่อนพรางได้เก่ง ใจเย็น รอบคอบและละเอียดละออเมื่อต้องเลือกอาวุธ กระสุน ที่ตั้ง ต้องยิงแล้วทำลายเป้าหมายให้ได้ในนัดเดียว ต้องฆ่าให้ตายด้วยกระสุนนัดนั้น เพราะนัดต่อไปอาจไม่มีโอกาสหากฝ่ายตรงข้ามรู้ที่ซ่อน
เมื่อกระสุนนัดเดียวเปลี่ยนสถานการณ์ในสนามรบได้ มันย่อมเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองได้เช่นกันเมื่อถูกนำมาใช้กับผู้นำประเทศหรือศัตรูทางการเมือง ราฟาเอล ทรูจิลโลผู้นำเผด็จการแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน อเมริกากลาง เสียชีวิตจากการซุ่มยิงเมื่อปี 1961 ด้วยปืนจากการจัดหาโดยซีไอเอ เมื่อทำท่าว่าจะขวางหูขวางตารัฐบาลสหรัฐฯขณะนั้น
กระสุนนัดเดียว(แต่พุ่งมาจากหลายที่)เช่นกัน ที่ปลิดชีวิตอดีตประธานาธิบดีคนที่35ของสหรัฐฯ จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี้ในวันที่ 22พฤศจิกายน 1963 ด้วยหัวกระสุนขนาด 6.5 ม.ม.หนัก160 เกรนจากปืนเล็กยาวแมนลิเคอร์-คาร์คาโนติดกล้องเล็งของลี ฮาร์วี ออสวอลด์ หนุ่มสติเฟื่องที่ไปยืนอยู่ในอาคารเท็กซัส สกูล บุค ดีโพซิทอรี่ในบริเวณดีลีย์พลาซา ดัลลัส เท็กซัส แต่ภายหลังปรากฏหลักฐานว่ากระสุนสังหารนัดสำคัญที่ระเบิดสมองท่านประธานาธิบดีกระจุยนั้นไม่ได้มาจากแหล่งเดียว ภาพยนตร์ที่พยานถ่ายไว้นั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีพลซุ่มยิงวางตัวอยู่อีกอย่างน้อยก็สองที่ คือที่อาคารเดียวกันชั้นต่ำลงมา และบริเวณเนินหญ้าตรงจุดที่รถเลี้ยวแล้วเหยื่อหันข้างศีรษะให้เห็นชัดๆ
ไม่ว่ากระสุนนั้นจะเป็นฝีมือของออสวอลด์จริงๆ หรือมีใครการลงขันจ้างมือซุ่มยิงเป็นทีม การเสียชีวิตของเคนเนดี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปทั้งโลก เมื่อลินดอน เบนส์ จอห์นสันสาบานตนเป็นประธานาธิบดีแล้วส่งเด็กหนุ่มอเมริกันนับแสนเข้าสู่สงครามเวียตนาม รบต่อกันมานานนับสิบปี ทหารอเมริกันเสียชีวิตเกือบหกหมื่น บาดเจ็บพิการนับแสน ชาวเวียตนามทั้งเหนือและใต้เสียชีวิตเป็นล้านก่อนรวมประเทศ
การซุ่มยิงจึงยังเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลตลอดกาล ความเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากปฏิบัติการนั้นมากมายจนยากจะละเลย กองทัพของทุกประเทศจึงมีพลซุ่มยิงประจำการ มีหลักสูตรเข้มข้นเพื่อคัดสรรผู้สมัครรับการฝึก เพื่อเค้นเอาหัวกะทิจริงๆมาทำหน้าที่ที่พลาดไม่ได้นี้
เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าพระมหาษัตริย์ของเราในอดีตก็ทรงทำหน้านี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงใช้พระแสงดาบข้ามแม่น้ำสะโตงยิงมังสุรกรรมา แม่ทัพพม่าที่ยกพลตามบดขยี้ตกม้าตายด้วยกระสุนนัดเดียวจนหยุดการรุกไล่ กระนั้นการสังหารนักการเมืองจากระยะไกลด้วยปืนซุ่มยิงก็ยังไม่เคยมีประวัติ และขออย่าให้มีเลย ไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะเลวแค่ไหน ดูเหมือนว่าปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษยังจะดีเสียกว่า
ผมเขียนเอง เพิ่งลงมติชนไปเมื่ออาทิตย์ก่อน เอามาให้น้องๆอ่านกันครับ เชิญตามอัธยาศัย
ขอบคุณครับ เพิ่งรู้นะนี่เรื่อง enemy at the gate นี่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง เหอๆ
ขอบคุณครับพี่โต สำหรับบทความดีๆที่เอามาให้อ่าน(ฟรี) อิอิ พูดเล่นครับพี่
ขอบคุณมากครับ
ช่วงท้ายของบทความมีจุดที่คลาดเคลื่อนไปเล็กน้อยนะครับคือ ขออนุญาตเสริมครับ
ปืนนกสับที่พระนเรศวรทรงใช้นั้นมีชื่อภายหลังว่า พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงครับ (พระแสงดาบคือดาบ พระแสงปืนคือปืน)
และตอนที่ยิงนั้นสุรกรรมา แม่ทัพพม่านั่งบนช้างแล้วโดนยิงตกลงมาครับ ไม่ใช่ม้า
การเข้ามาของปืนไฟนั้นทำให้การรบบนหลังช้างนั้นลดความสำคัญลงไปมากครับ เพราะบ่อยครั้งที่พวกแม่นปืนจะสามารถใช้ปืนไฟยิงแม่ทัพตกจากหลังช้างได้ง่ายๆครับ เนื่องจากเป็นจุดเด่นในสนาม
ขอบคุณน้องAAG ผมพลาดไปจริงๆเรื่องพระแสงดาบ ที่จริงใจจะพิมพ์ว่าปืนแต่กลายเป็นพิมพ์ว่าดาบ ขออภัยทุกท่านในความคลาดเคลื่อนครับ
นอกจากพระแสงปืนข้ามแม่น้ำ สะโตง ที่ฝ่ายไทยบันทึกไว้ในพงศาวดารแล้ว ทางฝ่ายพม่าเองก็มีบันทึก เรื่องราวคล้ายคลึงกันเช่นกัน
ในพงศาวดารพม่า กล่าวไว้ว่าพระมหาอุปราชาถูกกระสุนปืนของฝ่ายไทยเสียชีวิต ในระหว่างการปะทะกันกับ กองทัพของ พระนเรศวร
เรื่องราวนี้ยังคงเป็นหัวข้อการสนทนาในวงการนักประวัติศาสตร์อยู่
หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง มันคงเป็นหน้าแรกของประวัติศาสตร์พลซุ่มยิงไทยครับ
แก้เรปบนนิดส์นึงครับ ถ้ายิงข้ามแม่น้ำแบบเปิดเผยตัวเค้าเรียกพลแม่นปืนจ๊ะ ^ ^
พลซุ่มยิง - พลแม่นปืน
แก้เรปบนนิดส์นึงครับ ถ้ายิงข้ามแม่น้ำแบบเปิดเผยตัวเค้าเรียกพลแม่นปืนจ๊ะ ...
งง
พลซุ่มยิง------Sniper
พลแม่นปืน-------Marksman
สไนเปอร์ ซุ่ม+แม่น เน้นอำพรางกาย ทำงานหลังแนวข้าศึก
พลแม่นปืน แม่น รบกันซึ่งๆหน้า
ถ้าผมเข้าใจผิดช่วยแก้ด้วยนะครับ
ตามข้อมูลที่ได้ๆกันมานั้น พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงกระบอกเดิมได้สูญหายไปตั้งแต่ครั้งเสียกรุงฯครั้งที่สองครับ ต่อมาล้นเกล้ารัชกาลที่๑ ท่านทรงสร้างพระแสงปืนต้นจำลองเพื่อใช้ประกอบในงานพระราชพิธีครับ
ซึ่งพระแสงปืนต้นที่สร้างนั้นเป็นปืนคาบชุด(Matchlock) ที่ใช้หัวนาคคาบสายชนวนติดไฟครับ ซึ่งต่างจากในภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ที่พระแสงปืนต้นนั้นเป็น ปืนคาบศิลา(Flintlock) ซึ่งพระแสงปืนต้นจำลองดังกล่าวนั้นถ้าจำไม่ผิดถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติครับ
ผมว่าหัวใจหลักของ สไนเปอร์ หรือ พลซุ่มยิง นั้นนอกจากจะต้องเก่งในเรื่องของการใช้อาวุธ(ก็คือปืนซุ่มยิงนั่นเอง) แล้วสิ่งหนึ่งที่ทำให้มันต่างออกไปจาก พลแม่นปืน ธรรมดาก็คือ การซ่อนพรางและการเข้าหาที่หมายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง
ปัจจุบันถ้าพูดถึงคำว่า สไนเปอร์แล้ว คนส่วนมากก็จะนึกภาพถึง บุคคลที่แต่งกายด้วยสุดที่รกรุงรัง ถือปืนติดกล้องเล็ง ยิงปืนแม่น แต่ในเนื้อแท้เบื้องหลังแล้ว บุคคลดังกล่าวจะต้องมีอะไรที่มากกว่าแค่ ยิงปืนแม่น..............เรามาว่ากันที่เรื่องอาวุธก่อน ปัจจุบัน ยังมีความเข้าใจผิดๆ(รวมถึงผู้ที่เป็นทหารเองด้วย) เกี่ยวกับปืนที่ใช้ศูนย์เล็งแบบศูนย์กล้อง(ปืนติดกล้องเล็งนั่นแหละครับ) ซึ่งส่วนมากจะคิดว่าปืนติดกล้องเป็นปืนที่ดี ยิงแม่น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่จะทำให้ปืนติดกล้องนั้นทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ.........ศูนย์เล็งแบบศูนย์กล้องหัวใจหลักของมันคือการช่วยย่นระยะ(ปรับกำลังขยายได้ตามขีดความสามารถของกล้องเล็งแบบนั้นๆ)ในเรื่องของภาพการเล็ง(ความชัดเจนในการมองเป้าขณะเล็ง)และเรื่องของความง่ายในการจัดภาพการเล็งคือไม่ต้องมามองผ่านทั้งศูนย์หลังและศูนย์หน้าในกรณีของศูนย์เล็งแบบศูนย์เปิดทั่วๆไป แต่ นั้นไม่ได้หมายความว่า คนทุกคนอยู่ๆมาจับปืนที่ติดศูนย์กล้องแล้วจะยิงแม่น..........ปืนติดศูนย์กล้อง ก็ยังคงต้องมีการยิงเพื่อปรับศูนย์เช่นเดียวกับศูนย์เปิด ถ้าตราบใดที่กระสุนปืนยังคงวิ่งวิถีโค้งอยู่(หาอ่านได้ในบทความเก่าๆของผม) ดังนั้นผู้ที่จะใช้งานปืนลักษณะดังกล่าวจะต้องทำการปรับศูนย์ ในขั้นต้นก็ต้องบอร์ไซด์ เสียก่อน การบอร์ไซด์แบบง่ายๆ ก็คือ ยึดปืนให้มั่นคง(มัดติดหรือหาอะไรจับยึดก็ได้) ถอดชุดลูกเลื่อนออก แล้วเล็งผ่านลำกล้องปืน ให้ลำกล้องปืนตรงกับเป้า แล้วปรับศูนย์กล้องให้เส้นเล็งทาบตัดที่กลางเป้า หลังจากนั้นจึงนำปืนไปยิงแล้วปรับกล้องเล็งให้กลุ่มกระสุนเข้าตรงกลางอีกทีหนึ่ง(การบอร์ไซด์ศูนย์นั้น แม้แต่ ปรส.หรือปืนไร้แรงสะท้อนซึ่งก็ใช้ศูนย์เล็งแบบศูนย์กล้องนั้นก็ยังทำในลักษณะคล้ายๆดังที่กล่าว)..........เมื่อได้ปืนที่ทำการปรับศูนย์แล้วเราก็จะได้ปืนที่เหมาะกับบุคคลที่ทำการยิงนั้น ถ้าจะให้คนอื่นมายิงปืนกระบอกนั้นโดยที่ไม่ได้ยิงปรับก่อน รับรองได้ว่ากลุ่มกระสุนจะเปลี่ยนไปทันที เพราะสายตาคนเราไม่เหมือนกันและรวมไปถึงการจัดวางตำแหน่งของใบหน้าในการทาบกับพานท้ายปืนก็ไม่เหมือนกัน(เป็นเหตุผลที่ว่า ปืนซุ่มยิงคุณภาพดีๆจะทำพานท้ายปืนมาให้สามารถปรับตำแหน่งของส่วนที่จะเอาแก้มไปทาบกับพานท้ายปืนได้) ......ต่อไปก็เป็นการนำปืนไปฝึกยิงในระยะยิงต่างๆ เพื่อหาความชำนาญ........ปัจจัยที่ส่งผลต่อ วิถีกระสุนหลักๆมี 2 อย่างคือ ปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอก.......ปัจจัยภายในได้แก่ ชนิดของกระสุน(น้ำหนักหัวกระสุน ชนิดดินปืน) กระสุนปืน ถึงแม้จะเป็นกระสุนขนาดเดียวกันแต่ ผลิตต่างกัน(คุณภาพในการผลิต น้ำหนักหัวกระสุน และ ชนิดดินปืนต่างกัน) ค่าขีปนวิถีของกระสุนก็ต่างกัน ยิ่งกระสุนมีคุณภาพดีเท่าไหร่ ค่าขีปนวิถีในการยิงแต่ละครั้งก็จะแตกต่างกันน้อยมาก(ส่งผลถึงกลุ่มกระสุน) ปืนซุ่มยิงที่มีขนาดกระสุน แบบเดียวกับปืนที่ใช้งานในหน่วยแบบอื่นๆนั้น ถ้านำกระสุนปกติซึ่งคุณภาพการผลิตไม่สูงมากมาใช้ค่าความคลาดเคลื่อนก็จะมีสูง เช่น ปืนสโตนเนอร์ที่ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 51 ม.ม. ซึ่งเป็นขนาดกระสุนเดียวกันกับ ปืนกล แม็ก 58 ถ้านำกระสุนล็อตทั่วๆไปที่ใช้กับปืนกลมาใช้ยิง ค่าคลาดเคลื่อนก็จะสูง แต่ถ้าใช้กระสุนเกรดดีๆที่ออกแบบมาสำหรับยิงแข่งขัน ค่าคลาดเคลื่อนก็จะต่ำ......ปัจจัยภายในอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกลียวลำกล้อง สภาพเกลียวลำกล้องจะส่งผลถึงค่าของขีปนวิถี ปืนถึงจะเป็นปืนแบบเดียวกัน แต่สภาพเกลียวลำกล้องต่างกันวิถีกระสุนก็ต่างกัน ปืนที่ผ่านการยิงมามากหรือดูแลรักษาไม่ดี สภาพเกลียวลำกล้องก็จะไม่ดี.................ปัจจัยภายนอก ได้แก่ แสง และ ลม สภาพแสงจะส่งผลถึงต่อภาพการมองในขณะเล็ง ปืนกระบอกเดียวกันยิงด้วยคนคนเดียวกันแต่ยิงในสภาพแสงต่างกัน กระสุนก็จะชนเป้าต่างกัน สภาพของลมในขณะยิงก็ส่งผลในการเบี่ยงเบนของวิถีกระสุนเช่นดียวกัน หัวกระสุนยิ่งน้ำหนักเบา ลมก็จะยิ่งส่งผลมากต่อค่าขีปนวิถี.........ยิ่งมีระยะยิงไกลเท่าไหร่ ค่าเบี่ยงเบนจากปัจจัยต่างๆก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อค่าขีปนวิถีมากเท่านั้น..............พลซุ่มยิง ต้องมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับปืน เรียกได้ว่าต้องรู้ใจเพื่อนคู่ชีวิตซึ่งเป็นเครื่องทำมาหากินนั่นก็คือ ปืนของตนเองเป็นอย่างดี ต้องสามารถยิงในสภาวะต่างๆกันได้ อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกันและต้องเป็นสิ่งแรกที่ต้องทราบก่อนที่จะทำการยิงนั่นก็คือ ระยะห่างของเป้าหมายจากตำแหน่งที่เราจะยิง พลซุ่มยิง จะต้องมีความชำนาญในการกะระยะห่างของเป้าหมาย เพื่อที่จะได้ปรับศูนย์เล็งของตนเองให้เหมาะสมกับระยะยิงนั้นๆ ต่อไปก็ต้องรู้สภาพแสงและลม เพื่อใช้ในการเล็งแก้ กล้องเล็งคุณภาพดีๆนั้น นอกจากเส้นเล็งแล้วมันจะมีมาตราง่ายๆเพื่อช่วยในการกะในการเล็งแก้เล็งเผื่อ บางแบบก็มีมาตราเพื่อช่วยในการกะระยะคร่าวๆด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อได้ภาพการเล็งแล้วต่อไปหัวใจสำคัญที่จะทำให้กระสุนพุ่งออกไปโดนเป้าหมายตรงตำแหน่งที่เราเล็งนั้นก็คือ การลั่นไก ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่ยิง ผู้ยิงต้องชำนาญในการกำหนดลมหายใจและเหนี่ยวไก ถึงแม้ว่าผู้ยิงจะมีความชำนาญในการจับภาพการเล็งแต่ถ้าการกำหนดลมหายใจและลั่นไกไม่ดี กระสุนก็จะไม่โดนตรงจุดที่เราต้องการ.................อีกหัวข้อที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะเป็น พลซุ่มยิง ทางทหารก็คือ ขั้นตอนในการเคลื่อนที่เข้าสู่ตำแหน่งยิงและการซ่อนพราง เนื่องด้วยชุดซุ่มยิง ทำงานเป็นชุดเล็กๆ ถ้าหากเทียบกันถึงอำนาจการยิงซึ่งๆหน้ากับข้าศึกแล้วแถบไม่ติดฝุ่น ถ้าหากถูกข้าศึกตรวจการณ์พบตำแหน่งที่วางตัวยิงแล้วละก็มันจะกลายเป็นแม่เหล็กดูดกระสุนทุกชนิดที่ข้าศึกมีทันที และก็คงมันพิลึก จากผู้ล่ากลายเป็นผู้ถูกล่าทันที
เหตุผลที่ว่าทำไม ชุดซุ่มยิง ต้องทำงานกันเป็นทีม 2 คน คนหนึ่งยิง อีกคนหนึ่งตรวจการณ์เป้าหมาย(ชี้เป้านั่นแหละครับ) ก็เพราะว่าข้อเสียจากกำลังขยายของกล้องเล็งนั่นเอง กล้องเล็งที่มีกำลังขยายสูงทำให้มองเห็นเป้าได้ชัดแต่จุดบอดที่เป็นเงาตามตัวก็คือ มุมมองในการตรวจการณ์ก็จะลดลงไปด้วย ดังนั้นจึงต้องมีคู่บัดดี้ ที่ใช้กล้องส่องมุมมองกว้างเพื่อช่วยในการตรวจการณ์.......หนังเรื่อง Shooter ในฉากเริ่มเรื่อง จะชี้ให้เห็นการทำงานของ พลยิง และพลชี้เป้าเป็นอย่างดี และแสดงถึงการกะระยะ(อุปกรณ์สมัยใหม่ที่ช่วยให้การหาระยะเป้าหมายเที่ยงตรงขึ้นก็คือ กล้องเลเซอร์วัดระยะ แต่ยังไงพื้นฐานเบื้องตนก็ยังคงต้องสามารถกะระยะด้วยสายตาได้) การเล็งแก้เล็งเผื่อ รวมไปถึงสภาพเมื่อโดนข้าศึกตรวจการณ์พบตำแหน่งยิง แต่การเล็งยิง ฮ. ที่เคลื่อนที่เข้าหานั้นผมยังสงสัยว่า ทำไมถึงเล็งยิงไปที่เป้าหมายยากและมีขนาดเล็ก(ถ้าจำไม่ผิดในหนังจะเล็งยิงไปที่ แกนโรเตอร์หรือเครื่องยนต์นี่แหละครับ) การเล็งยิงเป้าหมายเคลื่อนที่นั้น ด้วยจุดบอดของกล้องเล็งที่มีกำลังขยายสูง ถึงแม้เราจะสามารถซูมเข้าไปเห็นแกนโรเตอร์หรือเครื่องยนต์ได้ชัดเจนแต่นั้นมันหมายถึง ฮ. นั้นต้องอยู่นิ่งๆ ลองนึกภาพตามครับ กล้องเล็งที่ปรับกำลังขยายสูง มุมตรวจการณ์ต่ำ ถ้าเป้าหมายเคลื่อนที่ตลอดไม่อยู่นิ่ง(โดยเฉาะ ฮ. ที่เคลื่อนไหวได้หลายแกน) รับรองภาพการเล็งที่มองผ่านกล้อง เป้าหมายจะเคลื่อนไหวไปมาโดยที่เราจับเป้าไม่ทันแน่นอน และยิ่งเล็งยิงต่อเป้าหมายขนาดเล็ก ผมว่าถ้าจะยิงจริงๆทำไมไม่เล็งยิงต่อเป้าหมายที่ง่ายกว่านั่นคือ ตัวนักบิน ลองนึกภาพมุมมองในขณะ ฮ. เคลื่อนที่เข้าหาเราครับว่าเป้าไหนมีขนาดใหญ่และง่ายกว่ากัน ด้วยอานุภาพของกระสุนขนาด .50 (ตามเนื้อเรื่องในหนังดังกล่าว) รับรองว่าถึงยิงไม่โดนตัวนักบิน แค่ขอให้โดนใกล้เคียงตรงส่วนหัว ฮ. ก็เป็นการรบกวนและข่มขวัญนักบินแล้ว นักบินคงมีอาการสะดุ้งโหย่ง กันบ้างละ สงสัยต้องการโปรโหมทอาวุธว่า ปืนซุ่มยิง ขนาด .50 ยิงทำลายยุทโธปกรณ์ได้เป็นอย่างดี จึงยิงเครื่องยนต์ ฮ. ให้ดูซะเลย...................
การใช้งานทีมของพลซุ่มยิงนั้นเหมาะสมในการ ทำงานเป็นอิสระ ถ้านำพลซุ่มยิง มาทำงานอยู่ใกล้ๆกับ ชุดดำเนินกลยุทธอื่นๆ แล้วละก็ คุณค่าและขีดความสามารถของพลซุ่มยิงจะหมดไป กลายเป็นนำพลซุ่มยิงมาเสี่ยงในการโดนทำลายไปพร้อมกับชุดดำเนินกลยุทธ
ปัจจุบันหน่วยทั่วๆไปมีการตื่นตัวเรื่อง พลซุ่มยิง เป็นอย่างมาก มีการโชว์ออฟตลอดในเรื่องดังกล่าว หลายหน่วยได้รับยุทโธปกรณ์ดีๆ นั่นก็คือ ปืนซุ่มยิง คุณภาพดี(ชนิดกึ่งอัตโนมัติ แบบ SR 25 สโตนเนอร์ และชนิดลูกเลื่อนแบบ ซิก 3000) แต่การพัฒนาถึงหลักการใช้ไม่รู้ว่าพัฒนาตามไปด้วยหรือเปล่า เพราะเคยเห็นภาพการทำงานจริงคือ หน่วยหน่วยหนึ่งปฏิบัติภารกิจในการตัดทำลายไร่ฝิ่น ชุดปฏิบัติการดังกล่าวมีการนำปืนซุ่มยิง ซิก 3000 ไปด้วย แต่มองดูแล้วมันแปลกๆ คือ ผู้ที่ถือปืน ซิก 3000 นั้นก็ปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งกับชุดดำเนินกลยุทธ(ติดฝิ่น)ด้วย ซึ่งมันดูว่าใช้งานยุทโธปกรณ์ไม่คุ้มค่าได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ถ้าหากเกิดเจ้าของ(ไร่ฝิ่น) มันเกิดหวงของอยากได้คืน จัดชุดเข้าทวงคืนด้วยลูกปืน เกิดการปะทะขึ้นแล้ว ผู้ที่ยิงปืนซิก 3000 นั้นจะช่วยเหลือในเรื่องของความแม่นยำได้ยังไง เพราะทุกคนภายในชุดจะอยู่ในสภาวะถูกระดมยิงทันที พลยิงซิก 3000 จะตรวจการณ์หาเป้าหมายยังไง ถ้าบอกว่าใช้กล้องเล็งติดปืนตรวจการณ์ละก็คงทำได้ยาก(เรื่องมุมมองการตรวจการณ์) หรือบอกว่า ตรวจการณ์ด้วยสายตาก่อน แล้วค่อยเล็งยิงด้วยกล้อง ก็ต้องบอกว่า ภายใต้สภาวะถูกกดดัน มีกระสุนวิ่งผ่านหัว มีระเบิดระเบิดใกล้ๆ และต้องเคลื่อนที่ตามชุดดำเนินกลยุทธด้วยแล้ว พลยิงจะทำการยิงได้แม่นยำเพียงใดในสภาวะดังกล่าว ปืนซุ่มยิงแถบจะหมดคุณค่าทันที ที่ผมบอกดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเอาปืนซุ่มยิงไปกับชุดไม่ดี แต่มองที่ว่าการใช้งานไม่เหมาะสม ถ้าหากนำพาไปในลักษณะดังกล่าว ผู้ที่ถือ ซิก 3000 นั้นน่าจะไปอยู่ในส่วนของการ รวป.(ระวังป้องกัน) เช่น หาที่ตั้งที่เหมาะสมในการตรวจการณ์ต่อพื้นที่ที่คาดว่าอาจจะมีฝ่ายตรงข้ามเคลื่อนที่เข้ามา(รวป.) ซึ่งควรจะอยู่ห่างจาก ชุดเปฏิบัติการพอสมควร(ไม่เป็นอันตรายร่วมกัน) ซึ่งสามารถตรวจการณ์และดึงขีดความสามารถของปืนมาใช้ในการยิงคุ้มกันได้ดีกว่าอยู่กับชุดปฏิบัติการ...................บางหน่วยไม่ได้รับปืนซุ่มยิงดังกล่าว แต่ก็พยายามปรับปรุงดัดแปลงเพื่อโชว์ออฟ ด้วยการนำปืนที่มีนั่นก็คือ เอ็ม 16 มาติดกล้องเล็ง เพื่อหวังให้เป็นปืนซุ่มยิง และจัดพลซุ่มยิงขึ้น ก่อนอื่นมาดูกันที่ตัวอุปกรณ์ก่อน เอ็ม 16 ติดกล้องเล็งกำลังขยายสูงนั้น ข้อจำกัดที่ตามมาคือ เมื่อติดกล้องเล็งบนหูหิ้วแล้ว(ไม่สามารถถอดหูหิ้วได้ แต่ถ้าเป็น เอ็ม 16 รุ่นที่ถอดได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง) จะทำให้กล้องเล็งอยู่สูง ผลที่เกิดคือ เมื่อต้องวางแก้มแนบกับพานท้ายปืนเพื่อทำการเล็งศูนย์กล้องแล้ว มันจะเกิดอาการยงโย่ยงหยก เนื่องจากแต่เดิมปืนออกแบบมาเพื่อให้การแนบแก้มกับพานท้ายแล้วเล็งผ่านศูนย์เปิดปกติแล้วจะพอดี แต่เมื่อติดกล้องเล็งซึ่งอยู่สูงขึ้นไปอีก จึงทำให้แนวการเล็งเปลี่ยนไป พานท้ายปืนไม่สามารถรองรับการเล็งได้ ผลที่เกิดคือ ตัวคนยิงจะไม่สามารถหาหลักฐานอ้างในการแนบแก้มเล็งยิงได้เลย การยิงปืนให้แม่นยำนั้นถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ต้องยิงเหมือนเดิมทุกนัด และการที่จะยิงให้เหมือนเดิมทุกนัดทุกครั้งที่ยิงได้ก่อนอื่นเราจะต้องจัดภาพการเล็งซึ่งก็คือ การแนบแก้มเข้ากับพานท้ายในตำแหน่งเดิม(ระยะห่างและมุมของตากับศูนย์หลังหรือศูนย์กล้อง)ทุกครั้งที่ทำการยิง ดังนั้นเมื่อเอ็ม 16 ติดกล้องแล้วไม่สามารถแนบแก้มที่เดิมได้ทุกครั้ง คนยิงต้องยกศีรษะตัวเองสูงขึ้น แก้มไม่สามารถแนบกับพานท้าย(เพื่อให้สายตาเรานิ่ง)หรือพิงกับอะไรได้ ดังนั้นการยิงจะไม่เหมือนเดิมทุกครั้ง กระสุนจะสะเปะสะปะไปเรื่อย(โดยเฉพาะการยิงระยะไกลๆ) รวมไปถึงกระสุนที่ใช้เป็นกระสุนล็อตปกติด้วยแล้ว ทำให้การหวังผลในการใช้งาน เอ็ม 16 ติดกล้องเล็ง เพื่อให้เป็นปืนซุ่มยิงนั้นได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าดัดแปลงอีกเล็กน้อย(ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อตัวปืนตามปกติ) ด้วยการหาอะไรมาติดกับพานท้ายเพื่อใช้ในการแนบแก้มในการเล็งยิงแล้ว จะทำให้ขีดความสามารถดีขึ้นกว่าเดิม การติดกล้องเล็งบนหูหิ้ว เอ็ม 16 ในกรณีเป็นกล้องเล็งที่ช่วยในการยิงระยะประชิด เช่น เรด ด็อท นั้น ปัญหาเรื่องการแนบแก้มดังกล่าวจะไม่ส่งผลมากนัก เพราะการเล็งยิงประชิดไม่จำเป็นต้องใช้การเล็งยิงปราณีตมากนัก..............ดังนั้นการใช้งาน เอ็ม 16 ติดกล้องเล็งจึงยังไม่น่าจะใช้เป็น ปืนซุ่มยิงได้ เท่าที่ควร แต่ถ้าใช้งานในกรณีที่ระยะยิงไม่มาก เช่น การรบในสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้ช่วยในการเป็นอาวุธสนับสนุนของหน่วยดำเนินกลยุทธ ถ้าใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์แล้วละก็ ก็สามารถเรียกคะแนนได้เยอะขึ้นพอสมควร แต่นั่นเราจะเรียกว่า พลซุ่มยิง หรือ พลแม่นปืน ดี
ปืนซุ่มยิงในปัจจุบัน หลักๆมี 2 แบบใหญ่ คือ แบบกึ่งอัตโนมัติ(ยิงทีละนัดระบบปืนจะโหลดกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิงให้เอง) เช่น สโตนเนอร์ และแบบระบบลูกเลื่อน(Bolt Action) ซึ่งในการยิงแต่ละนัดผู้ยิงจะต้องบริหารกลไกของลูกเลื่อนเพื่อคัดปลอกทิ้งและบรรจุกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิง...........ข้อดีของระบบกึ่งอัตโนมัติคือ สามารถยิงซ้ำได้เร็ว ผู้ยิงไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายในการกระชากลูกเลื่อน ทำให้ลดโอกาสในการถูกตรวจการณ์พบ ส่วนข้อดีของระบบลูกเลื่อนที่ผู้ชื่นชอบระบบดังกล่าวเชื่อมั่นก็คือ แม่นยำกว่าระบบกึ่งอัตโนมัติและมีปัญหาเรื่องปืนติดขัดน้อย รวมไปถึงความรู้สึกมั่นใจส่วนตัวในการที่ตนเองเป็นคนนำกระสุนเข้ารังเพลิงเอง............ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า ระหว่างปืนกึ่งอัตโนมัติกับปืนลูกเลื่อนอันไหนเหมาะสมกว่ากันในภารกิจ ซุ่มยิง แล้วท่านละคิดว่ายังไง?
หมวดๆ
แล้วอีตาคนนี้อยู่หน่วยไหนครับ
พลแม่นปืน หรือพลซุ่มยิง