หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ทร.51 แผนพิทักษ์อธิปไตย ทัพเรือไทยพร้อมรบ 4 มิติ

โดยคุณ : Ronin เมื่อวันที่ : 29/04/2008 23:17:33

ทร.51 แผนพิทักษ์อธิปไตย ทัพเรือไทยพร้อมรบ 4 มิติ


แผนพิทักษ์อธิปไตย รหัส ทร.51 กองทัพเรือ พร้อมรบ 4 มิติ ทั้งบนบก-ฟ้า-ผิวน้ำ-ใต้น้ำ ก่อนเข้ายึดหัวหาด ใช้ขบวนเรือรบนำโดย ร.ล.จักรีนฤเบศร ร่วมกับเอฟ-5 ฮ.โจมตี รถสะเทินน้ำสะเทินบก นาวิกโยธินกว่า 400 นาย เข้าปฏิบัติการขั้นสุดท้าย

กองทัพเรือ (ทร.) ถือฤกษ์เช้าตรู่วันที่ 6 เมษายน 2551 อันเป็นมงคลฤกษ์เนื่องในวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี เคลื่อนขบวนเรือรบ นำโดย ร.ล.จักรีนฤเบศร มุ่งหน้าสู่ทะเลหลวงด้วยกำลังรบเต็มพิกัด

 จุดหมายคือ การฝึกยกพลขึ้นบก ภายใต้รหัส ทร.51 ณ ชายหาดบ้านทอน ในพื้นที่ของกรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส ในวันที่ 8 เมษายน 2551



 พล.ร.ต.วิฑูรย์ คัมภีระพันธุ์ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วมทางเรือ (ผบ.กกล.ร่วม ฉก.ทร.) ให้ข้อมูลว่า การฝึกครั้งนี้เป็นการฝึกนำกำลังรบของนาวิกโยธินยกพลขึ้นบกเพื่อที่จะช่วยตีโอบร่วมกับกองกำลังจากกองทัพบก

 มีการกำหนดฉากว่าจะมีเรือที่เป็นเรือบรรทุก ฮ. ใช้สำหรับการลาดตระเวน และใช้ร่วมกับเครื่องบิน โดยมีเรือฟริเกตมาคุ้มกัน 4-5 ลำ และเรียกกองเรือนี้ว่า กองกำลังเฉพาะกิจร่วมทางเรือ

 ส่วนเรือที่บรรทุกกำลังพลนาวิกโยธินจะเป็น ร.ล.จักรีนฤเบศร ส่วนหนึ่ง และจะมี ร.ล.สุรินทร์ ซึ่งจะบรรทุกกำลังพลนาวิกโยธิน และรถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) จำนวน 8 คัน



 จริงๆ แล้วกำลังพลจะต้องมีมากกว่านี้ แต่เผอิญว่าเรามีข้อจำกัด เพราะถูกตัดงบประมาณค่อนข้างมาก ฉะนั้นจาก 1 กองพันเพิ่มเติมกำลัง จึงเหลือแค่ 1 กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง

 ยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนกำลังในครั้งนี้คือ การช่วยตีโอบกำลังของกองทัพบก ทำให้ข้าศึกต้องแบ่งกำลังออกมาสู้ ห่วงหน้า-ระวังหลัง

 การฝึกครั้งนี้เราไม่ได้หวังผลแพ้ชนะ แต่จะฝึกเพื่อดูว่าแผนที่เราวางเอาไว้มันมีจุดอ่อนไหม ทำยังไงถึงจะเสียหายน้อยกว่านั้น



 น.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บังคับการ ร.ล.จักรีนฤเบศร อธิบายถึงภารกิจหลักในการฝึก ทร.51 ว่า ร.ล.จักรีนฤเบศร ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเรือโจมตีและคุ้มกัน

 ใน ร.ล.จักรีนฤเบศร จะมีห้องควบคุมอากาศยานอยู่ 3 ห้อง

 1.ห้องควบคุมการบิน จะสามารถควบคุมเครื่องบินขึ้นลงได้พร้อมกัน 5 จุด ขณะเดียวกัน ก็มีการสั่งการไปยังสถานที่ต่างๆ ในการที่จะสนับสนุนอากาศยาน ห้องนี้จะใช้ควบคุมอากาศยานในระยะประมาณ 5 ไมล์ หรือ 8 กิโลเมตร กล่าวคือ ในระยะสายตามองเห็นเท่านั้น

 2.ห้องแอร์ทราฟฟิกคอนโทรล จะควบคุมอากาศยานต่อจากห้องควบคุมการบิน คือ หลังจากเครื่องไปหรือกลับจากภารกิจแล้ว

 3.ห้องศูนย์ยุทธการ จะใช้สำหรับควบคุมอากาศยานด้านยุทธการ

 ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้รับมอบหน้าที่หลักในการป้องกันภัยทางอากาศ โดยหากมีภัยคุกคามจากทางอากาศมาก็จะเป็นหน้าที่หลักที่จะรับผิดชอบ

 ส่วน น.ท.นึกอนันต์ แสนอุบล ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กล่าวถึงภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยว่า นาวิกโยธินเป็นหน่วยกำลังรบหนึ่งของกองทัพเรือในการรุกจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง

 การฝึกครั้งนี้จะใช้กำลังสาธิต 1 กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง โดยจะมีการยกพลขึ้นบก 2 ลักษณะ คือ การเคลื่อนที่ผิวพื้น ใช้ยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) จำนวน 8 คัน และการเคลื่อนที่ทางอากาศ จะใช้เฮลิคอปเตอร์ซีฮอว์ก 2 เที่ยวบิน จำนวน 4 ลำ

 กำลังพลที่ร่วมยกพลขึ้นบกในครั้งนี้ ได้แก่ กองเรือยุทธการ หน่วยปฏิบัติการนาวิกโยธิน และกองบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง

 ในส่วนของนาวิกโยธินได้ระดมพลจำนวน 460 นาย พร้อมยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 8 คัน และรถฮัมวี ติดจรวดต่อสู้รถถัง 2 คัน เข้าร่วมปฏิบัติการ

 ส่วนขั้นตอนของภารกิจนี้ ก่อนจะทำการยกพลขึ้นบกจะต้องสำรวจหาดและหาข่าวหลังแนวข้าศึก ซึ่งจะใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เช่น หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (มนุษย์กบ) หรือ กองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธิน เข้าปฏิบัติการ

 หน่วยกำลังรบหลักจะมาจาก กองพันทหารราบ ซึ่งจะมีหน้าที่ในการยกพลขึ้นบกเพื่อ สถาปนาแนวหัวหาด

 ส่วนอาวุธของทหารนาวิกโยธิน ได้แก่ อาวุธประจำกาย คือ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 เอ 1 และเอ 2 ปืนกลประจำบุคคลและมีอาวุธสนับสนุนของกองร้อย ได้แก่ ปืนกลเอ็ม 60 และเครื่องยิงลูกระเบิดหนัก 60 มม. เป็นต้น

 ในการรุกจะใช้นาวิกโยธินเพียงหน่วยเดียวไม่ได้ เพราะจะต้องมีการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่เรือ และอากาศยาน (เอฟ-5) จากกองทัพอากาศในการบินคุ้มกันและโจมตีเป้าหมายให้นาวิกโยธินก่อน

 นอกจากนี้ ยังมีกองร้อยสนับสนุนการยกพลขึ้นบก 1 ชุด เพื่อปฏิบัติกิจการพลเรือน คือ ศูนย์ควบคุมผู้อพยพไปสู่พื้นที่ปลอดภัย

 ในศูนย์อพยพจะมีการเข้าสถานีต่างๆ ประมาณ 11 สถานี ตั้งแต่การคัดแยกบุคคล การตรวจสอบเอกสาร การตรวจสอบอาวุธ โดยขั้นตอนสุดท้ายคือ การเข้าที่พักรอก่อนการขนส่งทางอากาศยานและทางเรือต่อไป

 นี่คือรายละเอียดทั้งหมดในการฝึก ทร.51 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมปกป้องอธิปไตยของชาติ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว การประมง รวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะด้าน พลังงาน นับวันจะทวีความสำคัญและมีมูลค่าที่มีแต่จะพุ่งสูงขึ้นจนอาจเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งได้ทุกเมื่อ

ผบ.ทร.ยันกองทัพพร้อมรบ

แต่ อาวุธ ยังไม่ครบตามเป้า

 พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า การฝึก ทร.51 เป็นการฝึกภาคประจำปีของกองทัพเรือ โดยเป็นการฝึกรวมทุกหน่วย ตั้งแต่ส่วนบัญชาการ กำลังรบ และหน่วยสนับสนุน โดยมีระยะเวลาการฝึกทั้งหมดประมาณ 3 เดือน

 ส่วนช่วงเดือนแรกจะเป็นการฝึกในลักษณะปัญหาที่บังคับการตามหน่วยต่างๆ จากนั้นจะนำข้อมูลต่างๆ ให้แต่ละหน่วยนำไปแก้ปัญหา ในช่วงหลังจะเป็นการฝึกการออกปฏิบัติการในสนาม หรือในทะเล ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการฝึก

 เรามีความพร้อมในสถานภาพที่เรามีอยู่คือ กำลังพลมีความรู้ความสามารถในระดับที่ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งเรือและอากาศยานก็อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี

 แต่ในแง่ของจำนวนนั้นขอเรียนว่า คงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ เพราะว่าหากจะต้องปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ เราจะต้องมีกำลังรบ โดยเฉพาะเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ เรือ และอากาศยาน มากกว่านี้

ยกพลแตะหาด..พิฆาตศัตรู !

 น.อ.ปิยะศักดิ์ นิลนิมิตร รองเสนาธิการกองเรือยกพลขึ้นบก (รอง เสธ.กยพ.กร.) บรรยายยุทธวิธีการฝึกครั้งนี้ว่า ในการฝึกทั้งหมดจะใช้เรือ 9 ลำ คือ

 (1) ร.ล.จักรีนฤเบศร ทำหน้าที่ควบคุมอากาศยานเป็นหลัก

 (2) ร.ล.ปิ่นเกล้า และ (3) ร.ล.มกุฎราชกุมาร ทำหน้าที่ยิงสนับสนุนปืนฝั่ง

 (4) ร.ล.ปัตตานี และ (5) ร.ล.สุโขทัย ทำหน้าที่คุ้มกันและโจมตี

 (6) ร.ล.สิมิลัน เป็นเรือส่งกำลังบำรุง

 (7) ร.ล.สุรินทร์ (8) ร.ล.มันนอก และ (9) ร.ล.มันกลาง เป็นเรือลำเลียงกำลังรบ นาวิกโยธิน ยกพลขึ้นบก

 ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามจะมีเรือประมาณ 5 ลำ และมีอากาศยานร่วมด้วย

 น.อ.ปิยะศักดิ์ระบุว่า การโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกในครั้งนี้จะมีการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางอากาศของกองทัพอากาศ (ทอ.) โดยมีการกำหนด เวลา น. หรือ เวลาแตะหาด เพื่อดำเนินกลยุทธ์ในเวลา 09.00 น.

 ก่อนเวลา.. น. 9 นาที : เครื่องบินโจมตีเอฟ-5 ของ ทอ.จะเข้ามาปฏิบัติกิจ โดยที่ ร.ล.จักรีนฤเบศร จะทำหน้าที่ประสานและอำนวยการควบคุมอากาศยานเพื่อดำเนินการต่อตีทิ้งระเบิดเป้าหมายคือ สโมสรฉัตรนรา ซึ่งเป็นเป้าหมายของ กกล.ฉก.ร่วมทางเรือในเที่ยวที่ 1

 จากนั้นในเที่ยวที่ 2 เครื่องบินเอฟ-5 จะโจมตีเป้าหมายที่ 2 คือ สโมสรร่มเกล้า ซึ่งเป็นเป้าหมายของกำลังรบยกพลขึ้นบก

 ก่อนเวลา.. น. 6 ถึง 3 นาที : ร.ล.มกุฎราชกุมาร และ ร.ล.ปิ่นเกล้า จะทำการยิงสนับสนุนฝั่ง เป็นการยิงเตรียมฝั่ง โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญบริเวณชายหาด ก่อนที่กำลังรบยกพลขึ้นบกหลักจะแตะหาด

 ก่อนเวลา.. น. 2 นาที : หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ หรือ มนุษย์กบ จะเป็นหน่วยแรกที่แทรกซึมเข้าไปหาข่าวและส่งรายงานลักษณะของข้อมูลหาดให้กองเรือรับทราบว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะเข้าเกยหาด และส่งกำลังรบเข้าดำเนินกลยุทธ์

 นอกจากนี้ มนุษย์กบยังมีหน้าที่ระเบิดสิ่งกีดขวางหน้าหาด ซึ่งข้าศึกมักจะวางสิ่งกีดขวางหน้าหาดกันไว้ไม่ให้เรือเข้าไปเกยหาดได้

 เวลา น. : จะใช้คลื่นโจมตี 3 ระลอก

 คลื่นโจมตีที่ 1 คลื่นผิวพื้น ประกอบด้วย รถสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 8 คัน

 คลื่นโจมตีที่ 2 คลื่นผิวน้ำ เป็นเรือระบายพลขนาดเล็ก จำนวน 4 ลำ

 สองคลื่นนี้จะมีกำลังรบยกพลขึ้นบกเป็นนาวิกโยธิน ประมาณ 224 นาย เข้าดำเนินกลยุทธ์ยึดสโมสรฉัตรนรา

 คลื่นโจมตีที่ 3 คลื่นทางอากาศ ซึ่งจะทำการบินจาก ร.ล.จักรีนฤเบศร ประกอบกำลังด้วย ฮ.ปราบเรือดำน้ำแบบที่ 1 หรือ เอส-70 บราโว่ จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งจะบินมาลง ณ แลนดิ้งโซน เพื่อส่งกำลังรบยกพลขึ้นบกเข้าดำเนินกิจต่อเป้าหมาย คือ สโมสรกอล์ฟ

 ภารกิจนี้จะใช้ 2 เที่ยวบิน บรรทุกกำลังรบประมาณ 52 นาย ดำเนินกลยุทธ์ต่อจากกำลังรบยกพลขึ้นบก

 นอกจากนี้ ในการดำเนินกลยุทธ์ยึดเป้าหมายจะต้องมีการส่งกำลังบำรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องใช้ ร.ล.มันนอก และ ร.ล.มันกลาง เข้าไปเกยหาดเพื่อส่งรถถากถางและรถฮัมวีติดเครื่องยิงจรวดต่อต้านรถถัง จำนวน 2 คัน ขึ้นไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินกลยุทธ์

 ในห้วงระยะเวลาดังกล่าว หากเกิดกรณีต้องมีการ ส่งกลับสายแพทย์ จะใช้ ฮ.จำนวน 4 เครื่อง ในการปฏิบัติการ และขณะที่ ฮ.กำลังปฏิบัติการนั้น จะมี ฮ. รุ่นเบลล์ 212 ติด กันชิพ ในการยิงป้องกันการโจมตีจากข้าศึกด้วย 

 

ที่มา : ทีมข่าวความมั่นคง

www.www.komchadluek.net

 





ความคิดเห็นที่ 1


ดูสถานการณ์แล้ว F-5 น่าจะจำลองการปฏิบัติการของ Harrier จาก 911 ของ carrier battle group ซะมากกว่าล่ะครับ นัยว่าทร.อยากฝึกเต็ฒรูปแบบจริง ๆ แต่เครื่องไม่มีให้บิน ...... เศร้า
โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 27/04/2008 23:51:25


ความคิดเห็นที่ 2


หากประเทศนั้นที่คิดจะบุกรุกบ้านเรามีเรือดำน้ำ ผมว่าทางกองทัพเรือ ต้องฝึกอีกรูปแบบล่ะครับ คงไม่ใช่เอา AAV เกยตื้นได้ง่ายแน่นอน คงต้องรีบยกพลขึ้นบกโดย ฮ. และคงมีเรือคุ้มกันมากกว่านี้แน่น่อน

 

 

 

โดยคุณ Webmaster เมื่อวันที่ 28/04/2008 04:06:29


ความคิดเห็นที่ 3


จากสถานการณ์การข่าวกรองที่ ทร.นำไปฝึกในคราวนี้ ไม่ได้มีเฉพาะการยกพลขึ้นบกที่หาดบ้านทอนเท่านั้น ในส่วนของกองเรือเฉพาะกิจก็มีการฝึกการคุ้มกันกระบวนเรือระหว่างเดินทางไปพื้นที่ยกพลขึ้นบก  โดยรับภัยคุกคามทั้งสามมิติ รวมทั้งในหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ทั้งกองเรือภาคที่ ๑ ทัพเรือภาคที่ ๒ และ ทัพเรือภาคที่ ๓ ก็มีการฝึกลาดตระเวนรักษาพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยตนเอง
ซึ่งก็เป็นไปตามความมุ่งหมายทีจะเป็นการฝึกแบบบูรณาการกองกำลังทั้งหมด เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแผนได้จริงๆ หากเกิดภัยคุกคาม(จากประเทศทางทิศใต้)
แต่ก็อย่างที่เห็นละครับ ทร.เรายังขาดยุทโธปกรณ์ที่จะทำให้การฝึกเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เราไม่มี บ.สกัดกั้นที่จะใช้ในการฝึกป้องกันภัยทางอากาศของกองเรือ เราไม่มีเรือดำน้ำเพื่อใช้ฝึกเป็นภัยคุกคามใต้น้ำของกองเรือเฉพาะกิจ เป็นต้น
โดยคุณ kjnavy เมื่อวันที่ 28/04/2008 06:22:47


ความคิดเห็นที่ 4


คือว่า เมื่อวันที่ 18 เมษา ที่ผ่านมา บังเอิญ เจอท่าน ผบ.ทร พร้อมคณะที่โรงแรม Royal Lancaster โดยมี ฑูตทหารเรือ และ เจ้าหน้าที่ กระทรวงกลาโหม
ของ อังกฤษ เป็นผู้ต้อนรับ ก็เลย ยกมือสวัสดี ท่านและคณะไป ไอ้เราจะถาม
ฑูตทหารเรือ ว่าท่านมาทำธุระ เรื่องอาวุธหรือเปล่า ก็พอดีงานเข้า ก็เลย
ไม่ได้ถาม จะถามวันหลังก็ลืม พอมาอ่านเจอความเห็นของคุณ Skyman
ก็เลยนึกขึ้นมาได้ ใครพอจะทราบอะไร เอามาขยายให้ ฟังบ้างนะครับ
โดยคุณ viggen เมื่อวันที่ 28/04/2008 08:53:35


ความคิดเห็นที่ 5


ขอบคุณท่าน Ronin มากครับ...ชอบมากครับ...

ผมว่า ทร. มาถูกทางแล้วครับ...การฝึกสร้างความชำนาญ และหาข้อบกพร่อง ให้ได้มากที่สุด...โดยใช้ยุทธโธปกรณ์ ในปัจจุบัน  สร้างเงื่อนไขการสงครามในหลาย ๆ รูปแบบ...และเก็บข้อมูล นำเสนอ รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในการจัดหาอาวุธมาชดเชย ในจุดอ่อน  (ใช้คำว่า ชดเชย ในสภาพปัจจุบันที่งบประมาณไม่เอื้ออำนวย แต่ยังมีความสามารถต่อต้านได้อยู่ ) หรือ จัดหาอาวุธมากำจัดจุดอ่อน (ในสภาพที่งบประมาณมีเพียงพอที่จะจัดหา หรือ เป็นความจำเป็น ที่ต้องจัดหาแม้สภาพงบประมาณจะไม่เอื้ออำนวย)

ข้อมูล และประสิทธิภาพ ในการฝึกซ้อมรบตามความเป็นจริง ผมว่าน่าจะเป็น จุดเสริมน้ำหนักในการตัดสินใจของรัฐบาล ที่จะอนุมัติงบประมาณ หรือพยายามหางบประมาณ มาสนับสนุน ทั้งในการฝึก และอาวุธ ที่มีความจำเป็น

ผมว่าน่าจะตั้งคณะกรรมการของ 3 เหล่าทัพ เพื่อจัดเตรียมการฝึกความพร้อมรบ แบบครบทุกมิติ เพื่อเสนอให้รัฐบาลจัดหางบประมาณเตรียมไว้ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าเป็นการฝึกในรอบ xx ปี ตั้งเป้าหมายว่าไว้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า  ในการฝึกบางแบบ ที่สามารถเปิดให้ประชาชนให้ชมได้ ก็เปิดให้ชม....และเตรียมคำตอบ สำหรับ คำถาม ทีว่า ฝึกไว้จะไปทำสงครามกับใคร ที่มันจะต้องมี....จัดเป็น Royal Thai Military Defence Exercies 2011 (RTM-EX-2011...ไม่รู้ว่าพอจะเท่..ม่ะ)  ซึ่งผมว่าอาจจะจัดหางบประมาณบางส่วน จากสปอนเซอร์ บริษัทขายอาวุธต่าง ๆ ก็ยังน่าจะได้บ้างครับ...

โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 28/04/2008 20:38:39


ความคิดเห็นที่ 6


^
^
^
เห็นด้วยกับท่าน juldas ครับ

Network Centric กับการประชาสัมพันธ์ สำคัญมากครับ

โดยคุณ นายหน้าค้าอาวุธ เมื่อวันที่ 28/04/2008 21:09:28


ความคิดเห็นที่ 7


 

Scale การฝึกเล็กไปหน่อยครับ เนื่องจากติดขัดด้านงบประมาณ  เรื่องบางเรื่องทดสอบในขอบเขตเล็กๆ มันจะไม่ส่งปัญหาน่ะครับ แต่ถ้าลองฝึกยกพลในระดับกองพัน นย (+) อาจจะได้เห็นสิ่งที่ควรต้องปรับปรุงเช่น การสื่อสาร การส่งกำลัง

 

จุดที่น่าชมเชยคือการรบร่วมเหล่าครับ  ทร เริ่มฝึกร่วมกับ ทอ ทำให้เกิดความรู้ความชำนาญมากขึ้น ผมไม่ทราบว่า ทบ ฝีกแบบนี้บ้างหรือเปล่า ทบ อาจจะฝึกกับ ทอ บ้าง แต่ฝึกกับ ทร ล่ะครับ จุดนี้น่าสนใจน่ะครับ

 

 

โดยคุณ CoffeeMix เมื่อวันที่ 28/04/2008 22:13:26


ความคิดเห็นที่ 8


ถ้าจำไม่ผิดเคยมีการฝึกร่วมสามเหล่าทัพหรือ กฝร. (ล่าสุดเข้าใจว่าราวปี๒๕๔๖ นะครับ) แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าทางกองทัพบกกับกองทัพเรือนั้นมีการฝึกร่วมกันอย่างไรครับ ซึ่งถ้างบประมาณเอื้ออำนวยก็น่าจะมีการฝึกร่วมสามเหล่าทัพในอนาคตครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 29/04/2008 02:42:43


ความคิดเห็นที่ 9


กองทัพบกเคยส่งพล.ร.21 ไปทำการฝึกยกพลขึ้นบกกับ ท.ร. ที่สัตหีบครับ มีข้อมูลแค่นี้ ต้องรอกูรูท่านอื่นมาขยายความครับ
โดยคุณ SpruenceT เมื่อวันที่ 29/04/2008 12:17:34