หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ยานใต้น้ำ ทัพเรือโตขึ้นเราจะเป็นเรือดำน้ำ!

โดยคุณ : Ronin เมื่อวันที่ : 14/04/2008 21:50:39

ยานใต้น้ำทัพเรือโตขึ้นเราจะเป็นเรือดำน้ำ!


ยานใต้น้ำขนาดเล็ก ก้าวย่างเล็กๆ ของกองทัพเรือ ซึ่งจะเติบโตสู่การสร้าง เรือดำน้ำ ในอนาคต ใช้ประโยชน์ได้ทั้งสำรวจทรัพยากร โบราณคดี และฝึกหัดกำลังพล ใช้งบเกือบ 30 ล้าน คาดปี 52 เสร็จสมบูรณ์



ความฝันที่จะมีเรือดำน้ำ เข้าประจำการในกองทัพเรือไทยดูยากที่จะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ ทั้งด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ เนื่องจากเรือแต่ละลำมีมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้าน และข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า น้ำตื้นๆ ในอ่าวไทยเหมาะสมแล้วหรือที่จะมีกองเรือดำน้ำ

กระนั้นแม้จะเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ แต่ราชนาวีไทยก็ยังไม่ละทิ้งความฝันนี้ไปง่ายๆ ล่าสุด สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ได้ทำสัญญาจ้างบริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด สร้าง ยานใต้น้ำขนาดเล็ก เพื่อเก็บองค์ความรู้สู่การสร้างเรือดำน้ำต่อไป



พล.ร.ต.พงศ์สรรถวิลประวัติ นายทหารโครงการยานวิจัยใต้น้ำขนาดเล็กกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า กองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำประจำการเมื่อ 70 ปีที่แล้ว แต่ต่อมาได้ปลดระวางไปทำให้เทคโนโลยีและการปฏิบัติภารกิจใต้น้ำหายไปนับตั้งแต่นั้น

กองทัพเรือจึงมีแนวความคิดที่จะจัดสร้างยานใต้น้ำขึ้นมาใหม่จึงมอบหมายให้ สวพ.ทร.ดำเนินการโครงการและทำเรื่องเสนอสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.) ให้ความเห็นชอบ และเริ่มจัดทำโครงการยานวิจัยใต้น้ำขนาดเล็กขึ้นในปีงบประมาณ 2548 

การจัดสร้างยานใต้น้ำน่าจะแล้วเสร็จภายในปี2551 นี้ และน่าจะทดสอบทดลองได้ในประมาณกลางๆ ปี 2552 โดยตั้งเป้าว่าจะนำเรือไปทดลองที่อ่าวสัตหีบ จ.ชลบุรี

จะใช้ทรัพยากรในประเทศให้มากที่สุด แต่บางอย่างยังมีขีดความสามารถที่ยังทำไม่ได้ เช่น โซนาร์ ก็จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ก็น่าดีใจที่ แบตเตอรี่ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง สามารถผลิตในประเทศได้หมด

พล.ร.ต.พงศ์สรรเชื่อว่ายานใต้น้ำจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก โดยในภาคพลเรือนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสำรวจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การสำรวจทางโบราณคดี และการซ่อมแซมแท่นขุดเจาะ ท่อน้ำมันใต้ทะเล 

ส่วนทางการทหารจะเป็นการฝึกให้กำลังพลมีความคุ้นเคยกับยานใต้น้ำซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้สู่การจัดสร้างเรือดำน้ำ และการปฏิบัติภารกิจใต้น้ำในอนาคต

ยานใต้น้ำกับเรือดำน้ำมีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่การใช้ยานใต้น้ำในภาคพลเรือนเท่านั้นจะสร้างยานใต้น้ำให้เป็นเรือดำน้ำ ต้องมีการติดตั้งระบบอาวุธและใช้ความเงียบในการปฏิบัติการอย่างมาก ซึ่งต้องพัฒนาต่อในอนาคตและศึกษาสักระยะหนึ่ง

ด้านพล.ร.ต.สมหมายปราการสมุทร ผอ.สวพ.ทร.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการนี้กองทัพเรือได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาร่วมโครงการ 

ส่วนพื้นฐานความรู้ในการสร้างยานเริ่มจากการศึกษาการจัดสร้างยานใต้น้ำของประเทศต่างๆและเนื่องจากประเทศอังกฤษมีการศึกษาทดลองในเรื่องนี้มาก ฉะนั้นพื้นฐานในการวิจัยจึงได้ร่วมกับบริษัทสร้างยานใต้น้ำของประเทศอังกฤษ

เมื่อถามถึงข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะสมในการมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยพล.ร.ต.สมหมา ก็สบช่องชี้แจงทันทีว่า ที่เราคุยกันว่าเรือดำน้ำในประเทศไทยไม่สามารถใช้ได้ ตนเป็นผู้บังคับการปราบเรือดำน้ำมาก่อนและเคยมีประสบการณ์ฝึกในอ่าวไทยด้วย

ฝรั่งพูดไว้ว่าการปราบเรือดำน้ำก็เหมือนกับการหาแมวดำในห้องมืด ฉะนั้น โอกาสที่จะเจอมันยากมาก ผมเคยทดลองแบบใกล้ๆ เลยนะครับคือ ชี้ให้เขาดำแล้วตรวจจับ แต่ขนาดนั้นก็ยังจับโซนาร์ได้แค่ครึ่งเดียว

พล.ร.ต.สมหมายอธิบายถึงความยากในการตรวจจับเรือดำน้ำขณะที่การจัดหาเครื่องมือปราบเรือดำน้ำก็มีราคาแพงมาก และอยู่ภายใต้เทคโนโลยีของต่างชาติ ซึ่งเขามักจะไม่ถ่ายทอดให้ จึงต้องมีการทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เทคโนโลยียานใต้น้ำเกิดขึ้นมา

ขณะที่น.อ.ชุมพลพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด กล่าวถึงสาเหตุที่ได้รับการคัดเลือกให้สร้างยานใต้น้ำว่า บริษัทแห่งนี้มีประสบการณ์การจัดสร้างและซ่อมเรือให้แก่กองทัพมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยจากเดิมบริษัทเป็นของเอกชนชาวอังกฤษ และคณะนายทหารเรือ แต่ปัจจุบันได้ดำเนินการในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงกลาโหม

น.อ.ชุมพลกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของบริษัทในโครงการนี้ว่านอกจากจะได้รับการว่าจ้างให้จัดสร้างยานขึ้นมาตามแบบของนักวิจัยแล้ว ระหว่างที่มีการวิจัยและออกแบบยาน บริษัทก็ได้ส่งวิศวกรเข้าไปร่วมในทีมวิจัยด้วย 

ส่วนระยะเวลาในการจัดสร้างยานลำนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ8-10 เดือน คงสามารถทดลองได้แล้ว โดยจะเริ่มทดลองว่าระบบการเชื่อมมีการรั่วหรือไม่ จากนั้นจึงเป็นการทดสอบทดลองในการปฏิบัติงานต่อไป 

เชื่อว่ายานลำนี้จะมีประโยชน์อเนกประสงค์มากทั้งการสำรวจสมุทรศาสตร์ในท้องทะเล การท่องเที่ยว การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการสำรวจสภาพของแท่นขุดเจาะและระบบวาล์วต่างๆ ที่อยู่ใต้น้ำ 

นอกจากนี้ในอนาคตก็สามารถจะพัฒนาเป็นยุทโธปกรณ์ได้ หากสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติม

ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะได้สร้างยานใต้น้ำขึ้นมาเองหลังจากห่างหายจากเรือดำน้ำไปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้จะไม่ได้กำไร แต่บริษัทก็มีความภูมิใจที่ได้ทำงานให้ประเทศชาติ และตัวผมเองก็ได้เคยศึกษาในโรงเรียนนายเรือและได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนายเรือให้เรียนต่อในสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ จึงมีความภาคภูมิใจมากเป็นพิเศษ

ความก้าวหน้าอีกขั้นของกองทัพเรือนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่สุภาพบุรุษชาวเรือทุกคนแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงกลาโหมที่เน้นให้กองทัพ พึ่งตนเอง โดยเฉพาะการซื้อเครื่องบินและเรือดำน้ำที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล

กองทัพเรือโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด สร้างยานใต้น้ำขนาดเล็กขั้นที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 

พล.ร.ต.รศ.พงศ์สรร ถวิลประวัติ เป็นนายทหารโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.) เป็นเงิน 24,953,200 บาท และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเงิน 5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 29,953,200 บาท มีระยะเวลาในการดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2549-2552)

ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในระยะที่2 กองทัพเรือ ได้จัดพิธีปฐมฤกษ์การสร้างยานใต้น้ำขนาดเล็ก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 โดยมี พล.ร.อ.สถิรพันธุ์เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธาน และคาดว่าจะเสร็จสิ้นโครงการวิจัยภายในปีงบประมาณ 2552

คณะวิจัยได้กำหนดขนาดมิติตลอดจนขีดความสามารถของยานใต้น้ำที่จะดำเนินการสร้าง ดังนี้

ขนาดความยาว 11 เมตร

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาน 1.80 เมตร

ระวางขับน้ำประมาณ  27 ตัน

ปฏิบัติการที่น้ำลึกไม่เกิน  50 เมตร

จำนวนลูกเรือ  3 คน

ระยะเวลาปฏิบัติการใต้น้ำ  3-5 ชั่วโมง

ความเร็วประมาณ  5 นอต

 

ที่มา : http://www.komchadluek.net/





ความคิดเห็นที่ 1


ยานใต้น้ำนี้มีประโยชน์อยากมากครับในการวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรม การสำรวจใต้ทะเล รวมถึงอาจจะสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติการของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือหรือการกู้ภัยใต้ทะเลได้ในอนาคตเช่นเดียวกับยาน DSRV ของสหรัฐฯครับ

แต่ก็ตามที่หลายๆท่านเคยแสดงความเห็นครับว่า ยานใต้น้ำกับเรือดำน้ำนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องเรือดำน้ำของกองทัพเรือนั้นยังคงต้องดูกันต่อไปอีกนานครับ

แต่ที่อ่านจากข้างต้นนี้ถ้ากองทัพเรือมีการจัดหาเรือดำน้ำมาจริงอย่างน้อยในส่วนของ Battery เราน่าจะสร้างหรือซ่อมใช้งานได้เองครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 14/04/2008 09:44:27


ความคิดเห็นที่ 2


ขอบคุณสำหรับบทความครับ ^ ^

โดยคุณ analayo เมื่อวันที่ 14/04/2008 09:58:58


ความคิดเห็นที่ 3


ดีมากเลย มีประโยชน์แน่ครับ ทำให้ดีๆอย่างน้อยถ้าเราซื้อเรือดำน้ำมา

จะได้สร้างยานกู้ภัยใต้น้ำที่คอยสนับสนุนเรือดำน้ำได้เอง

โดยคุณ love เมื่อวันที่ 14/04/2008 10:50:40