ปัญหาระหว่างไทยกับพม่า
ปัญหายาเสพติด
การผลิตยาเสพติดบริเวณชายแดนไทย - พม่า เป็นภัยคุกคามต่อไทย ไทยถือว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเป้าหมายหลักประการหนึ่งในการดำเนินนโยบายของไทยต่อพม่าที่สืบเนื่องมาจากปี ๒๕๔๔ ฝ่ายพม่าได้ให้ความร่วมมือด้วยดีในการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ผลิตอย่างเข้มงวดทั้งผู้ค้ารายใหญ่ และโรงงานผลิตเป็นระยะ และแลกเปลี่ยนข่าวกรองระหว่างกัน ซึ่งเป็นพันธกรณีสืบเนื่องมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น เมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกพืชทดแทนยาเสพติดในพม่า โดยไทยและพม่าได้ตกลงนำเงินงบประมาณ ๒๐ ล้านบาท ที่ไทยจัดสรรไปดำเนินการ เมื่อ มกราคม ๒๕๔๕ ในการพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่างที่บ้านยองข่า รัฐฉาน (บริเวณชายแดนไทย - พม่า ตรงข้ามอำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย) ให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติดสาธิต และการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รับที่จะสนับสนุนทางด้านงบประมาณให้กับโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน ๑๐ ล้านเยน (ประมาณ ๓ ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี รากเหง้าของปัญหาที่มาจากปัญหาชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลพม่าไม่สามารถเข้าไปควบคุมกลุ่มว้ายังไม่ได้รับการแก้ไข จึงส่งผลให้ปริมาณยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าที่หลั่งไหลเข้ามาในไทยยังคงอยู่ในปริมาณสูง ทั้งนี้ รายงานยุทธศาสตร์การควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศประจำปี ๒๕๔๖ (International Narcotics Control Strategy Report ๒๐๐๓) ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่เมื่อ ๑ มีนาคม ๒๕๔๗ ระบุว่าไทยเป็นผู้นำเข้ายาบ้ารายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่าและยาเสพติดที่ลักลอบเข้าสู่ไทยยังส่งไปขายยังสหรัฐฯ ด้วย
ปัญหาเขตแดน
มีสาเหตุจากหลักฐานตามสนธิสัญญาสูญหาย และการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ทั้งเขตแดนทางบกและทางน้ำ รวมถึงทางทะเล (ชายแดนไทย - พม่า มีระยะทาง ๒,๔๐๑ กิโลเมตร ทางบก ๑,๘๐๐ กิโลเมตร ทางน้ำและทางทะเล ๖๐๑ กิโลเมตร) สำหรับปัญหาเขตแดนที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้มี ๑๒ แห่ง ดังนี้
๑) แม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก มีการแบ่งเขตแดนแบบคงที่ (Fixed Boundary) ตามร่องน้ำลึกในปี ๒๕๓๒ แต่หลักอ้างอิงเขตแดน ๔๙๒ หลัก ระยะทาง ๕๙ กิโลเมตรได้สูญหายหรือถูกย้ายที่ ๒) สำนักสงฆ์กู่เต็งนาโย่ง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ฝ่ายพม่าได้เข้ามาตั้งสำนักสงฆ์ในปี ๒๕๓๓ ปัจจุบันมีการวางกำลังของสองฝ่ายบนสันเขากู่เต็งนาโย่ง ๓) สันต้นดู่ ดอยลาง - ดอยห้วยฮะ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เกิดจากแผนที่ปักปัน พ.ศ. ๒๔๓๕ ไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย เมื่อกำลังขุนส่าถอนออกไปในปี ๒๕๔๐ ทพม. ได้ส่งกำลังเข้าควบคุมพื้นที่เช่นเดียวกับที่ ๔) วัดฟ้าเวียงอินทร์ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ (ห้วยหลักแต่ง) ๕) บ.อรุโณทัย (หนองจุก) อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลักเขตแดนส่วนใหญ่สูญหาย และแต่ละฝ่ายยึดถือแผนที่ที่เขียนเส้นแนวเขตแดนไม่ตรงกัน ๖) แม่น้ำเมย ซึ่งได้กำหนดให้ใช้ฝั่งลำน้ำเป็นเขตแดน แต่สภาพธรรมชาติทำให้เกิดการกัดเซาะและตลิ่งพังทะลาย ทั้งสองฝ่ายจึงดำเนินการเพื่อรักษาตลิ่ง เช่น การสร้างหลักรอ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งที่สำคัญคือ พม่าถมทรายและสร้างเขื่อนรุกล้ำแม่น้ำเมย กรณีพิพาทบริเวณวัดคอกช้างเผือก และที่ บ.แม่โกนเกน อ.แม่สอด จ.ตาก ๗) ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เกิดจากการยึดถือแผนที่คนละฉบับ และหาจุดควีวอทุงไม่พบ ปัจจุบันพม่าอนุญาตให้ชาวมอญตั้งบ้านเรือน และเก็บภาษีการค้าและโรงเรือน ๘) ทพม.สร้างเจดีย์บริเวณใกล้ช่องตะโกล่าง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อ มิถุนายน ๒๕๔๑ คร่อมสันปันน้ำบนสันเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดน บางส่วนของเจดีย์ได้ล้ำเข้ามาไทย ๙) เนิน ๔๙๑ ต.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ทพม.ได้เข้ายึดใน กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ โดยอ้างว่าเพื่อปราบปรามกลุ่ม KNU ๑๐) เกาะกลางแม่น้ำกระบุรี (เกาะตายิ้ม) อ.กระบุรี จ.ระนอง เมื่อ ปลายตุลาคม ๒๕๔๑ ทพม.ได้เสริมกำลังใกล้เกาะกลางลำน้ำกระบุรี และยื่นประท้วงกรณีเจ้าหน้าที่และราษฎรไทยนำธงชาติไปปักไว้ที่เกาะตายิ้ม โดยอ้างว่าเป็นเกาะของพม่า ซึ่งฝ่ายไทยได้ยินยอมถอนธงชาติออกแล้ว ๑๑) ปัญหาเขตแดนทางทะเลจากการยึดแนวเขตแดนที่ต่างกันทำให้เกิดปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเล และมีการเผชิญหน้าระหว่างกำลังทางเรือบ่อยครั้ง ๑๒) เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก ซึ่งมิได้ถูกระบุไว้ในแผนที่แนบท้ายสัญญา ทำให้ไทยและพม่าต่างอ้างสิทธิ์เหนือเกาะดังกล่าว เนื่องจากจะมีผลสืบต่อถึงเขตแดนทางทะเลด้วย
ปัญหาชนกลุ่มน้อยและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่า
ปัจจุบัน กกล.ชกน. กลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าที่ติดอาวุธจำนวนมากยังสู้รบกับกองทัพพม่าที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กลุ่มกองทัพรัฐฉาน (SSA) และกลุ่มพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา (KNPP) ถือเป็นอุปสรรคของการแก้ไขปัญหาการรวมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่พม่าให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกยังไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้
ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะการสู้รบของทั้งสองฝ่ายบริเวณใกล้ชายแดนไทยก่อให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านชายแดน รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาราษฎรพม่าหลบหนีภัยจากการสู้รบเข้ามาอยู่ในเขตไทย อีกทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านดังกล่าวโดยเฉพาะการจัดการประชุม การพบปะกับบุคคลสำคัญจากประเทศตะวันตก และการให้การสนับสนุนของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศ ตลอดจนการลักลอบค้าอาวุธสงครามและโจรสลัดบริเวณทะเลอันดามันที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อย ได้ก่อให้เกิดปัญหาความหวาดระแวงและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเป็นระยะ นอกจากนี้ ผู้นำพม่ามักนำปัญหาชนกลุ่มน้อยเข้ามาเชื่อมโยงและเป็นเงื่อนไขในการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยด้วย
ปัญหาผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบและผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
จากปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจในพม่า ทำให้มีประชาชนพม่าจำนวนมากหลบหนีเข้ามาในเขตไทย โดยแบ่งเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ซึ่งเข้ามาในไทยก่อน ๙ มีนาคม ๒๕๑๙ มีจำนวน ๒๒,๓๒๑ คน มท.ได้จัดทำบัตรควบคุมไว้ หากพิสูจน์ได้ว่าเกิดในไทย ก็จะเข้าสู่กระบวนการได้สัญชาติไทย ส่วนที่เหลือมีสถานะเป็นคนต่างด้าว ส่วนผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เชื้อสายไทย มีจำนวน ๗,๘๔๙ คน ได้รับอนุมัติจาก ครม. ในการดำเนินการแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว ๕,๗๓๖ คน ส่วนที่เหลือ ๒,๑๑๓ คน ไม่มารายงานตัว นอกจากนี้ยังมีผู้พลัดถิ่นอีก ๖๑๙ คน ที่ไม่อยู่ในบัญชีการให้สถานภาพ ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แบ่งเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ใกล้จังหวัดควบคุมจำนวน ๔๒,๘๗๙ คน อยู่ในการดูแลของนายจ้าง อีก ๑๗,๙๐๔ คน ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าอยู่ในพื้นที่พักพิงใน จ.กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และราชบุรี จำนวน ๑๑๑,๔๗๒ คน นักศึกษาพม่าซึ่งเดินทางไปพักพิงในประเทศที่สามเป็นระยะ ปัจจุบันเหลือ ๙๖ คน (มกราคม ๒๕๔๗)
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นภาระแก่ไทยในการให้ความช่วยเหลือ และบางส่วนมีความเคลื่อนไหวที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทย ทั้งยังสร้างความหวาดระแวงระหว่างไทย - พม่า ฝ่ายไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยมอบเอกสารแนวคิด (concept paper) เกี่ยวกับการส่งกลับผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบให้ฝ่ายพม่าพิจารณา ตั้งแต่ มกราคม ๒๕๔๕ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย การศึกษา สาธารณสุข และการสร้างงานรองรับ อย่างไรก็ตาม พม่าได้กำหนดเงื่อนไขการรับกลับประเทศว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นชาวพม่าเท่านั้น
ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย
ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้น ขณะที่ความต้องการแรงงานราคาถูกยังมีความจำเป็นเพื่อลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับลักษณะงานบางอย่าง แรงงานไทยไม่นิยมทำ ภาครัฐจึงต้องกำหนดนโยบายผ่อนผันแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายมารายงานตัวขึ้นทะเบียนเพื่อให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ชั่วคราว ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๔ และต่อใบอนุญาตใน สิงหาคม ๒๕๔๕ อีกครั้งหนึ่ง พบว่าแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าที่มาต่อทะเบียนมีจำนวน ๒๙๗,๐๗๓ คน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ายังมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าลักลอบทำงานอยู่ในไทยมากกว่านี้
การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายระหว่างไทยกับพม่านั้น เป็นความร่วมมือที่มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่องตลอดปี ๒๕๔๕ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วม (Joint Task Force - JTF) ไทย - พม่า เพื่อหารือแนวทางในการส่งกลับแรงงานผิดกฎหมายชาวพม่าและการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นกรอบการจัดระเบียบการใช้แรงงานจากพม่าในไทยในอนาคต คณะทำงานดังกล่าวประชุมร่วมกัน ๕ ครั้ง ครั้งหลังสุด เมื่อ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ที่พุกาม ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในรูปแบบและกระบวนการของการส่งกลับ ในการนี้ ฝ่ายพม่าได้ตั้งศูนย์รับกลับที่เมืองเมียวดีและเริ่มดำเนินการรับกลับ ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ โดยได้รับกลับแรงงานผิดกฎหมายแบบมีบัญชีรายชื่อ ๑๓๙ คน และแบบที่ไม่ได้ส่งบัญชีรายชื่ออีก ๙,๕๕๔ คน (๒๖ เมษายน ๒๕๔๖) รวมทั้งได้เห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจ ขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อให้มีการลงนามต่อไป
ปัญหาประมง
ปัญหาประมงเกิดจากความไม่ชัดเจนของแนวเขตทางทะเล และความไม่ซื่อตรงของเรือประมงไทย ซึ่งเป็นสาเหตุให้พม่าระงับสัมปทานที่ให้แก่เรือประมงไทยทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าเพื่อการสำรวจและอนุรักษ์ทางทะเล ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมงได้รับความเสียหายอย่างมาก จากการที่พม่าได้ยกเลิกสัมปทานทำประมงในน่านน้ำพม่าเดิมทั้งหมด และได้เปิดสัมปทานทำประมงใหม่ หลังปี ๒๕๔๔ โดยเน้นการเปิดสัมปทานให้กับเรือประมงพม่า และบริษัทประมงที่ขอสัมปทาน ทั้งของพม่าและต่างประเทศที่จดทะเบียนสัมปทานในนามของคนพม่า ในลักษณะของการร่วมทุนและการทำกิจการประมงครบวงจร ตลอดจนการเรียกเก็บค่าสัมปทานในราคาสูง ซึ่งทำให้เรือประมงไทยที่มิได้ขอสัมปทานประมงในพม่า ลักลอบเข้าไปทำการประมง จึงถูกเรือรบพม่ายึดและจับกุมเรือประมงไทย ทั้งในเขตน่านน้ำพม่าและบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเยือนพม่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในปี ๒๕๔๖ ทางพม่าได้ตกลงพิจารณาเงื่อนไขสัมปทานประมงให้แก่ไทยเป็นกรณีพิเศษ
สถานการณ์ด้านการทหาร
ยุทธศาสตร์และนโยบาย
พม่าให้ความสำคัญต่อกองทัพเป็นสถาบันหลักในการปกครองประเทศ รวมทั้งได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารให้กองทัพพม่ามีภารกิจในการรักษาความมั่นคงภายใน เสริมสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ ปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และสนับสนุนการปรองดองภายในชาติ ตลอดจนคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเล รวมทั้งดำเนินความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และยึดถือแนวทางแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติวิธี โดยวางตัวเป็นกลางอย่างแท้จริงในปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาค และมีการใช้ยุทธศาสตร์ป้องกันเชิงรับ และพัฒนากองทัพให้มีขีดความสามารถในการป้องกันการรุกรานจากภายนอก อีกทั้งไม่รุกรานประเทศใด และไม่ส่งทหารไปรบนอกประเทศ รวมทั้งไม่เข้าร่วมเป็นภาคีทางทหาร และไม่ยินยอมให้ประเทศใดใช้พม่าเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารต่อประเทศอื่น และไม่ยอมรับความช่วยเหลือทางทหารจากต่างประเทศโดยมีข้อผูกพัน
ขีดความสามารถของกองทัพ
รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับความมั่นคงเป็นอันดับแรก ยุทธศาสตร์ทางทหารของพม่าเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงภายใน โดยกองทัพบกยังคงเป็นกำลังรบหลักในการป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และการปราบปรามชนกลุ่มน้อย โดยมีกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นหน่วยสนับสนุนในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ
กองทัพพม่ายังคงเพิ่มขีดความสามารถ (Capabilities) มากขึ้น จากการขยายกำลังทหาร ความได้เปรียบในการจัดหายุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยได้รวดเร็ว โดยได้รับความช่วยเหลือจากจีน รัสเซีย และยุโรปตะวันออกบางประเทศ มีการปรับปรุงระบบการส่งกำลังบำรุงโดยใช้เครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่พัฒนาจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทำให้การเคลื่อนย้ายกำลังสู่พื้นที่ชายแดนรวดเร็วขึ้น ทั้งยังได้เพิ่มการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ กองทัพพม่ายังให้ความสำคัญต่อข่าวกรองในทุกระดับ โดยสำนักงานข่าวกรองทางทหาร (Office of Chief of Military Intelligence : OCMI) ซึ่งเป็นหน่วยที่มี
เมื่อปี ๒๕๔๔ มีการรวมหน่วย OSS + DDSI เป็น OCMI Office of Chief of Military intelligence โดยมีหน่วย MIS ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองทางทหารวางกำลังทั่วประเทศ จำนวน ๒๙ หน่วย ประสิทธิภาพสูงในการปฏิบัติงาน และกำกับดูแลหน่วยข่าวกรองทางทหาร (MIS) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศและตามแนวชายแดน ทั้งนี้ หน่วยข่าวกรองดังกล่าว ถือว่าเป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่งของรัฐบาลพม่า ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งด้านการทหารและการปกครองประเทศ นอกจากนี้ กองทัพพม่ายังได้จัดตั้งศูนย์สารสนเทศกิจการสงคราม (Cyber Warfare Center) ที่กรุงย่างกุ้ง ทำหน้าที่รวบรวมข่าวกรองทางการสื่อสาร ตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ ทางโทรศัพท์ โทรสาร ไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ และการสื่อสารทางวิทยุ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการศึกษาทางด้านยุทธศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะการรวบรวมข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ คือ จีน อินเดีย บังกลาเทศ และไทย นอกจากนี้กองทัพพม่ายังมุ่งจัดระเบียบหมู่บ้านชายแดนเพื่อควบคุมพื้นที่ให้ทั่วถึงและสามารถขยายพื้นที่ไปในเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยให้มากที่สุด
ในห้วงต่อไป คาดว่า กองทัพบกพม่าจะสามารถจัดตั้งกรมทหารปืนใหญ่ และกองพันป้องกันภัยทางอากาศ สนับสนุนทุกภาคทหารบก ซึ่งน่าจะให้ความเร่งด่วนกับภาคทหารบกที่ติดกับชายแดนไทยเป็นลำดับแรก อีกทั้งจะมีการซ้อมรบและฝึกกำลังพลให้มีความพร้อมต่อการปฏิบัติการ ปรับปรุงฐานที่มั่น ปรับปรุงเส้นทางที่จะใช้เป็นเส้นทางการเคลื่อนย้ายกำลังและส่งกำลังบำรุง
ทางด้านกองทัพเรือพม่านั้นเป็นการเสริมสร้างกำลังทางเรือ เพื่อที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลมากกว่าจะปฏิบัติการเชิงรุก ส่วนการพัฒนาศักยภาพของกองทัพอากาศ โดยการพัฒนาระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ และการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ฐานบินมะริด เพื่อวางกำลัง บ.MiG - 29 นั้น อาจถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อไทยในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคใต้ตอนบน ส่วนการใช้กำลังขนาดใหญ่รุกรานประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
นอกจากนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านเครื่องมือข่าวกรองทางการสื่อสาร ของรัฐบาลพม่าจากความช่วยเหลือของจีน ทำให้ปัจจุบันทหารพม่ามีขีดความสามารถในการดักฟังและหาทิศในการติดต่อสื่อสาร ทั้งทางวิทยุ โทรศัพท์ชนิดต่าง ๆ ทั้งมีสายและไร้สาย การส่งโทรสาร โทรเลข การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางคอมพิวเตอร์ โดยมีศูนย์การดักฟังการติดต่อสื่อสารอยู่ทั่วประเทศตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ตามแนวชายแดนไทย พม่า ซึ่งในห้วงเวลาต่อไป คาดว่าขีดความสามารถในการดักฟังและหาทิศในการติดต่อสื่อสารจะพัฒนาอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การที่พม่าจัดตั้งหน่วยยิงสนับสนุนให้กับภาคทหารบกและพัฒนาทางด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทโธปกรณ์ประเภทปืนใหญ่ รถถัง และอาวุธต่อสู้อากาศยาน อาจเป็นอันตรายต่อหน่วยที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ชายแดน
ในด้านการส่งกำลังบำรุง คาดว่า ทหารพม่าจะสามารถพัฒนาระบบการส่งกำลังบำรุง โดยใช้เครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่พัฒนาจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายกำลังและสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการ ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในด้านการทหารจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะ ๓ ปีข้างหน้า คาดว่ากองทัพพม่าจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพให้เข้าสู่กองทัพที่มีศักยภาพในการรบตามแบบ และจะมีการปฏิบัติการรบร่วมอากาศ พื้นดินมากขึ้น รวมถึงจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถในระบบปฏิบัติการสนามรบครบทั้ง ๗ ประการ (การข่าว การดำเนินกลยุทธ์ การยิงสนับสนุน การป้องกันภัยทางอากาศ ความอยู่รอดในสนามรบ การส่งกำลังบำรุง และการควบคุมบังคับบัญชา) ซึ่งไทยต้องเพิ่มน้ำหนักและความเร่งด่วนในการดำเนินการข่าวกรองต่อระบบปฏิบัติการสนามรบดังกล่าวต่อไป
รัฐบาลพม่าใช้กำลังพลและยุทโธปกรณ์จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศ นอกเหนือจากการกวาดล้างกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังต้องจัดการกับปัญหาในพื้นที่เขตเมืองซึ่งเกิดขึ้นบ่อยขึ้น อาทิ ในวันคล้ายวันสถาปนากองทัพพม่าครบรอบ ๔๘ ปี เมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๖ ได้เกิดเหตุระเบิดที่หน้าอาคารสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขของพม่าทางตอนใต้ของกรุงย่างกุ้ง การวางระเบิดโรงภาพยนต์ในเมืองปยู เขตพะโค การวางระเบิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ๓ ครั้ง ในช่วงกุมภาพันธ์ - เมษายน ๒๕๔๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ได้มีการก่อวินาศกรรมถึง ๔ แห่ง ในเขต จ.ท่าขี้เหล็กของพม่า ด้านตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย และในช่วงเวลาเดียวกันได้เกิดระเบิดขึ้นอีก ๗ ครั้ง ที่เมืองมัณฑะเลย์ รัฐฉาน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากทางการพม่าได้ควบคุมตัวออง ซาน ซู จี พร้อมคณะ และได้ปิดที่ทำการสาขาพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดแล้ว ทางการพม่าได้สั่งเตรียมพร้อมและให้กำลัง ทพม.ประสานการปฏิบัติกับตำรวจและ อส. ทุกภาค/รัฐ และกำหนดมาตรการในการปราบปรามการก่อการจลาจลอย่างเข้มงวด
ความตั้งใจ/เจตนา (Intention) ของพม่าที่จะใช้กำลังปฏิบัติการทางทหารต่อไทยนั้น ในห้วงที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย พม่า อยู่ในระดับที่ดีมาก มีการพัฒนาสัมพันธ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะนโยบายการแก้ไขปัญหาในประเทศรอบบ้าน โดยใช้กลไกทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เพื่อทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประเทศเพื่อน-บ้านดีขึ้น ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี เจ้าพระยา แม่โขง (Ayeyawady Chaophraya Mekong Economic Cooperation Strategy / ACM - ECS) อันจะส่งผลให้ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของไทยลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น มีความเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น กลไกท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนสามารถประสานงานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะนโยบายของไทยที่เข้มงวด ไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยใช้ไทยเป็นฐานดำเนินกิจกรรมการต่อต้านรัฐบาลพม่า ดังนั้นจากท่าทีความร่วมมือดังกล่าว เชื่อว่าไม่มีเงื่อนไขใดที่จะทำให้พม่าตั้งใจใช้กำลังคุกคามต่อไทย
ความล่อแหลม (Vulnerabilities) พัฒนาการที่สำคัญในระยะ ๓ ปีข้างหน้า คือ การตั้งหน่วยยิงสนับสนุนให้กับภาคทหารบกต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยตามแนวชายแดน หากพม่าใช้ยุทโธปกรณ์ขีดความสามารถสูงดังกล่าวในการสนับสนุนการปราบปรามชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน เช่น อาจมีกระสุนตกในเขตไทย รวมทั้งการวางกำลัง บ.รบหลัก ใกล้พื้นที่ส่วนกลางของไทย อาจเกิดความตึงเครียดจากการบินล้ำแดนโดยไม่ตั้งใจขึ้นได้
ข้อมูลนี้น่าจะ(ของกองทัพบกจากLinkในTopicบน)เรียบเรียงก่อนปี ๒๕๔๗-๔๘ครับ เพราะในช่วงดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลกลางพม่าโดยมีการปลด พลเอก ขิ่น หยุ้น ซึ่งคุมกำลังข่าวกรองออกมีผลให้หน่วยข่าวกรองทหาร MIS เปลี่ยนเป็น MAS ครับ
ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองพม่าและกำลังด้านชายแดน Na Sa ga หลายส่วนก็มีการโยกย้ายหรือปลดไปจนต้องมีการจัดระเบียบหน่วยด้านข่าวกรองกันใหม่หมดในช่วงนั้นครับ
พี่สาวผมเป็นครูสอนหนังสืออยู่ติดชายแดนพม่าแถวจังหวัดตาก กลับมาเที่ยวบ้านที่หัวหินช่วงปิดเทอมมักจะมีเรื่องเล่าจากชายแดนให้ฟังเสมอ เพราะโรงเรียนที่สอนอยู่ติดชายแดนพม่า มีเรื่องขำๆจากเพื่อนเขาที่เป็นครูสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับต้นแม่น้ำเมย ทำให้บริเวณนั้นยิ่งติดกับพม่ามากถึงขนาดนักเรียนจากฝั่งพม่าเดินข้ามน้ำเข้ามาเรียนที่โรงเรียน แล้วก็มีอยู่วันหนึ่งมีนักเรียนชนกลุ่มน้อยในฝั่งพม่าขโมยเงินจากโรงเรียนไปประมาณว่าเป็นหลักหมื่นแล้วหนีข้ามน้ำกลับบ้าน บรรดาครูที่โรงเรียนก็ข้ามน้ำตามไปฝั่งตรงข้ามแล้วไปเจรจากับผู้ที่ดูแลฝั่งโน้นให้ตามเงินกลับคืนให้โดยทางฝั่งโน้นก็ยินดีจัดการให้ ทางบรรดาครูก็เลยนั่งรอที่ศาลาในฝั่งโน้นโดยกะว่าได้เงินแล้วถึงจะกลับฝั่งไทย ทางผู้ดูแลฝั่งโน้นก็นำเด็กคนนั้น(จะเรียกว่าลากมาก็ได้)เดินผ่านหน้าไปข้างบ้านหลังหนึ่งใกล้ๆแล้วสอบสวนเด็กคนนั้น ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงขึ้นลำลูกเลื่อนปืนดังขึ้นมา บรรดาครูที่นั่งรออยู่พอได้ยินก็พากันโกยอ้าวกลับฝั่งไทย ตะโกนว่า กูไม่เอาแล้วโว้ย ! เงินน่ะ.. มึงเอาไปเลย ! ตัวใครตัวมันเฟ้ย ! ทหารฝั่งโน้นก็มองกันงง ๆ ปนขำ ป้าดธ่อ ! เขาจะทำอะไรใครที่ไหนเล่า เขาแกล้งขึ้นลำลูกเลื่อนปืนเพื่อขู่ให้เด็กยอมรับสารภาพว่าเอาเงินไปไว้ที่ไหนต่างหากเล่า..
ปล.ถ้าเรื่องนี้ไม่เหมาะสมประการใดก็ลบได้นะครับ ท่านวมต.