ที่มา :� The Nation
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?lang=T&newsid=314298
�
�
ข่าวย้อนหลัง
�
ยกเครื่องนกเหล็ก อัลฟ่าเจ็ต แปลงเครื่องบินรบทำฝนหลวง
ทอ.แปลงโฉม อัลฟ่าเจ็ต รับภารกิจ ฝนหลวง ฉลองเนื่องในโอกาส ที่ในหลวงครองราชย์ 60 ปี เตรียมติดตั้ง แผงยิงสารเคมี คาดเดือน พฤษภาคม 2549 ใช้งานได้ ระบุ ค่าสารเคมี ถูกกว่าของนอกกว่า 2 พัน
ทอ.วิจัยจนได้สารต้นแบบ ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับของ ต่างประเทศ แต่มีราคาถูกกว่ามาก โดยของต่างประเทศ ราคา 3,500 บาท แต่ ทอ.ผลิตได้ในราคาเพียง 1,250 บาท
เครื่องบินรุ่น อัลฟ่าเจ็ต เคยตกเป็นประเด็นร้อน เมื่อหลายปีก่อน ด้วยข้อครหา ซื้อเศษเหล็ก แม้จะมีราคาถูก เพียงลำละ 1 ล้านบาทเศษ แต่ก็เป็นเครื่องบินที่ผ่านการใช้งานมานานจนหลายฝ่ายเกรงกันว่า ไม่คุ้มค่า ที่จะนำเข้ามาประจำการ ซ้ำยังอาจเสี่ยงต่อชีวิตของนักบิน
แต่ ณ วันนี้ เครื่องบินรุ่นดังกล่าวจะถูกปรับภารกิจครั้งใหญ่ เมื่อกองทัพอากาศ พัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์ แผงเครื่องยิงกระสุนสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อให้อัลฟ่าเจ็ตสามารถปฏิบัติภารกิจ ทำฝนหลวง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ครองราชย์ครบ 60 ปี เพราะ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเครื่องบินทำฝนหลวงเพียง 2 เครื่อง จึงไม่เพียงพอต่อภารกิจการสู้ภัยแล้ง
พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึง ที่มาของภารกิจนี้ว่า ปกติเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต มีภารกิจหลัก คือ การโจมตี ขัดขวางทางอากาศ และการปฏิบัติการทางอากาศร่วมกับเหล่าทัพอื่น ส่วนภารกิจรอง คือ สนับสนุนการค้นหา และช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ
แต่เมื่อภารกิจหลัก และรองยังไม่จำเป็นต่อสถานการณ์ในขณะนี้ จึงปรับเปลี่ยน เพื่อนำเครื่องบินมาปฏิบัติการสู้ภัยแล้งให้ประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ แทน!!!
พล.อ.อ.ชลิต ย้อนถึงที่มาของโครงการนี้โดยสังเขปว่า เมื่อปี 2538 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอให้ ทอ.วิจัยพัฒนาสารเคมีในการทำฝนหลวง ขึ้นมา เพื่อทดแทนการซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากมีราคาสูงมาก
ต่อมา ทอ.วิจัยจนได้สารต้นแบบที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับของต่างประเทศ แต่มีราคาถูกกว่ามาก โดยของต่างประเทศ ราคา 3,500 บาท แต่ ทอ.ผลิตได้ในราคาเพียง 1,250 บาท
พล.อ.อ.ชลิต ย้ำว่า การนำเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตมาปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวง ไม่ถือว่าผิดภารกิจ แต่เป็นการใช้เครื่องบินให้มีประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก เดือนหนึ่งเครื่องบินต้องการขึ้นบินเดือนละ 150 ชั่วโมง และนักบิน จะต้องฝึกบินเดือนละประมาณ 80 ชั่วโมง ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ ขณะนี้อยู่ระหว่าง ขั้นตอนการทดลองติดอุปกรณ์ยิงกระสุนสารเคมีเพื่อทำฝนหลวง แต่เครื่องรุ่นนี้ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจตามเดิมอยู่
ซึ่งแม้ว่าจะมีภารกิจทำฝนหลวง แต่ภารกิจพร้อมรบ หรือต่อต้านศัตรู ทางอากาศ อัลฟ่าเจ็ตยังคงปฏิบัติภารกิจนี้อยู่เช่นเดิม
พล.อ.อ.ชลิต ยกตัวอย่างเครื่องบินรุ่นซี 130 ซึ่งภารกิจจริงๆ แล้วไม่ได้ ใช้ขนส่งผู้โดยสารโดยตรง แต่เป็นเครื่องบินลำเลียงยุทธภัณฑ์และสัมภาระ แต่ยามปกติเมื่อไม่มีสงครามหรือสถานการณ์รุนแรงก็สามารถดัดแปลง เครื่องบินลำเลียงมาช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนภารกิจต่างๆ ทำให้เกิดประโยชน์มาก
สำหรับภารกิจของเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตจะทำการฝึกบินทาง ยุทธากาศเป็นประจำ แต่ในเมื่ออัลฟ่าเจ็ตยังไม่มีบทบาทอะไรมาก ทอ.จึงมีแนวคิดที่จะนำเอาเครื่องรุ่นนี้จากองบิน 23 จ.อุดรธานี 2 ลำ มาช่วยในการทำฝนหลวงอีกภารกิจหนึ่ง โดยเครื่องบินรุ่นนี้สามารถบิน ได้รวดเร็ว และไต่เพดานบินได้สูง
ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเตรียมการทดลองติดแผงเครื่องยิงกระสุน สารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ รวมถึงการฝึกนักบินด้วย โดยนักบินต้องเรียนรู้ และฝึกการยิงจรวดสารเคมีเข้าไปในเมฆเย็นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผบ.ทอ. กล่าวทิ้งท้าย
น.อ.เจษฎา ศีรีรัฐนิคม หัวหน้ากองวิศวกรรมวัตถุระเบิด สำนักงานวิจัย และพัฒนาอาวุธ ศูนย์วิทยาศาสตร์ และพัฒนาระบบอาวุธ กองทัพอากาศ จำแนกการทำฝนหลวงเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ประเภทแรก การทำฝนจาก เมฆอุ่น ซึ่งจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 0 องศา ที่ความสูงต่ำกว่า 10,000 ฟุต
ประเภทที่สอง คือ การทำฝนจาก เมฆเย็น ซึ่งจะทำฝน ในเมฆที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา ที่ความสูงประมาณ 21,000 ฟุต
กรณีที่ใช้กระสุนสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ยิงจากเครื่องบิน จำเป็นจะต้องใช้เครื่องบินที่สมรรถนะสูง และมีระบบตัดความดัน ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องบินแบบโจมตีรุ่นอัลฟ่าเจ็ต
โครงการนี้ ทอ.จะพัฒนาอุปกรณ์สำหรับทำฝนหลวงเพื่อติดตั้งกับเครื่องบิน อัลฟ่าเจ็ต 2 เครื่อง โดยระยะแรกจะติดตั้งอุปกรณ์สำหรับยิงกระสุนสารเคมี ซิเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่ง ทอ.เคยสนับสนุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้เครื่องบินโจมตี แบบที่ 6 หรือ อาร์เอ 37 เมื่อปี 2536
วิธีการติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำลักษณะหูแขวนติดตั้งกับเครื่องบินได้ โดยแผงเครื่องยิงกระสุนจะบรรจุกระสุนข้างละ 200 นัด
สำหรับความสำคัญของภารกิจนี้ ปกติกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะใช้เครื่องบินรุ่น king air 2 เครื่อง ทำให้ไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการ ทั่วประเทศได้ และในวาระที่เข้าซ่อมก็จะขาดเครื่องบิน ดังนั้น เครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต จะเข้ามาเพิ่มโอกาสการทำฝนจากเมฆเย็นได้มากขึ้น
สำหรับเทคนิคการโจมตีเมฆพระราชทาน หรือ เทคนิค ซุปเปอร์แซนด์วิช เมื่อปี 2542 จะเป็นการโจมตีโดยใช้เครื่องบินโปรยสารฝนหลวง ในเมฆอุ่น และใช้เครื่องบินสมรรถนะสูงยิงกระสุนสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ ในส่วนของเมฆที่ก่อตัวสูงไปจนถึงระดับเมฆเย็น เจ้าหน้าที่นักวิชาการของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำการตรวจดูเมฆด้วยเรดาร์ตรวจอากาศ และจะแจ้งให้นักบินทราบเพื่อเข้าโจมตีเมฆ
นักบินที่ร่วมปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำการอบรมเพื่อให้สังเกตเมฆว่าสภาพไหนที่เหมาะสมกับการยิงสาร โดยสภาวะเหมาะสมที่จะยิงสารมี คือ อุณหภูมิอยู่ที่ -8 หรือ -12 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำที่เป็นของเหลวปริมาณเพียงพอ และมีกระแสไหลประมาณ 1,000 ฟุต ต่อนาที สภาวะเช่นนี้จะทำให้เกิดฝนมาก เพราะเมื่อเมฆเย็น มีขนาดใหญ่มาก ปริมาณน้ำที่ได้จากเมฆก็มาก
ส่วนค่าใช้จ่ายในการยิงสารเคมีจะตกนัดละ 1,250 บาท ซึ่งการยิง แต่ละครั้งจะไม่ถึง 10 นัด
สำหรับความคืบหน้าของโครงการนี้ว่า การยิงกระสุนสารเคมีซิลเวอร์ ไอโอไดด์ด้วยเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต ขณะนี้อยู่ระหว่าง การดำเนินการ และคิดว่าภายในปี 2549 จะเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐ เคยใช้เครื่องโจมตีแบบ เอ 4 ยิงกระสุนเหมือนกัน ส่วนอัลฟ่าเจ็ต มีใช้ที่ประเทศโมร็อกโก เพราะพิจารณาแล้วว่าเป็นเครื่องบินที่มีความเหมาะสมมากที่สุด
ขณะที่ น.ท.ชาติ ดิถีเพ็ง ผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23 จ.อุดรธานี ระบุว่า ปัจจุบันเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตที่ประจำอยู่ในฝูงบิน เหลืออยู่ 19 ลำ หากนำไปใช้ ทำฝนหลวง 2 ลำ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะหลังจากที่ปฏิบัติการทำฝนหลวง แล้วสามารถนำมาปฏิบัติภารกิจเดิมได้ตามปกติ
น.ท.ชาติ กล่าวถึงโครงการนี้ด้วยว่า ขณะนี้ได้เตรียมความทดสอบ กับอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต และหากให้ปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถ ทำได้เลย เพราะนักบินมีความชำนาญอยู่แล้ว เพียงแค่นำอุปกรณ์ มาติดตั้งเพิ่มเติมตามแผนที่กำหนดไว้เท่านั้น
น.ท.ชาติ ย้ำว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภายในเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ก็จะสามารถปฏิบัติภารกิจได้เลย
เปิดใจ นักบินฝนหลวง
น.ต.สารัฐ เรืองเดช นักบินอัลฟ่าเจ็ต ฝูงบิน 231 กองบิน 23 จ.อุดรธานี หนึ่งในนักบินที่ถูกคัดเลือกให้ปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ กล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้ถือว่า มีความท้าทายอีกภารกิจหนึ่ง ส่วนการนำเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตมาติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อทำฝนหลวงก็ไม่ผิดภารกิจของเครื่องบินรบแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งจนได้รับ ความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีน้ำกินน้ำใช้
น.ต.สารัฐ กล่าวเปรียบเทียบว่า หากนำเครื่องบินเอฟ 5 หรือ เอฟ 16 มาปฏิบัติภารกิจจะทำให้ใช้งบประมาณสูงกว่าปกติ โดยที่ผ่านมากองทัพอากาศ ของประเทศโมร็อกโก เคยนำเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตมาปฏิบัติการทำฝนหลวง ก็ไม่มีปัญหา และสามารถปฏิบัติงานได้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะก่อนที่จะนำเครื่องรุ่นนี้ไปปฏิบัติการทำฝนหลวง จะต้องศึกษาในรายละเอียดว่า มีผลกระทบกับเครื่องบินหรือไม่
ผมมั่นใจว่าการนำเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตมาทำฝนหลวงจะ ไม่เกิดปัญหาอะไร เพราะนักบินทุกคนมีความชำนาญมาก ทั้งนี้ ปฏิบัติการ ทำฝนหลวงจะสำเร็จลุล่วงได้จะต้องเช็คให้ละเอียด ทั้งคน และเครื่องบิน เมื่อทุกอย่างประจวบเหมาะก็จะทำให้ภารกิจนั้นสมบูรณ์ นิกบินฝนหลวง เชื่อเช่นนั้น
สมรรถนะเครื่องอัลฟ่าเจ็ต
เครื่องบินแบบโจมตีแบบที่ 7 (อัลฟ่าเจ็ต) เป็นเครื่องบินขับไล่ และโจมตี ผลิตโดยบริษัท FAIRCHILDORNIER ประเทศเยอรมนี ใช้เครื่องยนต์ TURBO-FAN SNECMA LARZAC 04/C 20 จำนวน 2 เครื่อง แรงขับสูงสุด 6,350 ปอนด์ กางปีก 29.9 ฟุต ความยาว 40.89 ฟุต สูง 13.75 ฟุต ความเร็วสูงสุด 0.95 มัคต่อ 550 นอต น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 16,500 ปอนด์ เพดานบิน 45,000 ฟุต สามารถบินได้ไกลสุด 1,000 ไมล์ เมื่อติดถังเชื้อเพลิง อะไหล่ รัศมีในการปฏิบัติการ 220 ไมล์
เครื่องบินรุ่นนี้กระทรวงกลาโหมเยอรมนีเสนอขายให้กองทัพอากาศไทย ในราคามิตรภาพ ในปี 2542 เนื่องจากกองทัพอากาศเยอรมนีต้องการปลด ประจำการเครื่องบินรุ่นนี้ และก็ตรงกับความต้องการของไทยที่จะจัดหาเครื่องบิน ทดแทนเครื่องบิน OV-10 และ AU-23A ของกองทัพอากาศ ที่กำลังจะถูกปลดประจำการในขณะนั้น
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อ เครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล 25 เครื่อง วงเงินประมาณ 1,286,562,592 บาท โดยให้ทำการปรับเครื่องบินให้บินได้ตามมาตรฐานของเยอรมนี 20 เครื่อง และเก็บไว้เป็นอะไหล่ 5 เครื่อง สมรรถนะของอัลฟ่าเจ็ต ยังสามารถใช้ปฏิบัติการได้อย่างน้อย 15-20 ปี
เนื่องจากชั่วโมงบินที่กำหนดไว้ 10,000 ชั่วโมงบิน กองทัพอากาศเยอรมนี เพิ่งจะบินไปได้แค่ 2,000 ชั่วโมง ยังเหลืออีกประมาณ 7,800-8,000 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องลำละ 200 ชั่วโมงบินต่อปีจะสามารถใช้งานไปได้อีก 20 ปี � ที่มา : http://www.komchadluek.net/column/military/2006/02/19.php