ยานเกราะรัสเซีย...แลกน้ำมัน ปมร้อนที่ค่ายยูเครนต้องหนาว |
เปิดประเด็นร้อนเมื่อตัวแทนฝั่งรัสเซียเปรยจะขอพ่วง ยานเกราะล้อยาง เพื่อแลกกับน้ำมันราคาถูก หลัง สมัคร เชียร์ให้ซื้อน้ำมันจากค่ายหมีขาวแทนโอเปก ยกข้อมูลโจมตีรถยูเครนล้าสมัย แต่ฝั่งยูเครนโต้กลับรถทันสมัย-แถมสมรรถนะก็ดีกว่า
โครงการจัดซื้อรถยานเกราะล้อยาง รุ่น BTR-3E1 จากประเทศยูเครน จำนวน 96 คัน ตามวงเงินงบประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท เงียบหายไปนาน หลังเผชิญกับกระแสข่าวเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ ตลอดจนสมรรถนะของตัวรถอย่างต่อเนื่อง พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม จึงไม่เซ็นอนุมัติให้จัดซื้อในขั้นตอนสุดท้าย หลังมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จนกลายเป็นข่าวครึกโครม ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า มีแนวโน้มสูงที่ เค้ก จะเปลี่ยนมือจากค่ายยูเครน เป็นอดีตลูกพี่อย่าง รัสเซีย แทน ภายหลัง รมว.กลาโหม คนเก่า ปฏิเสธที่จะเซ็นอนุมัติ ทางคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) ก็ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาไปยัง สตง. ถึง 3 ครั้ง เพื่อยืนยันถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อ หลังจากชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ครบถ้วนแล้ว กองทัพบกยังคงเดินหน้าเสนอเรื่องผ่านไปยัง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทหารสูงสุด) ขั้นตอนต่อไป ก็คือ ให้กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทหารสูงสุด) เสนอเรื่องต่อ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เซ็นอนุมัติโครงการ ทีแรกโปรเจกท์นี้ทำท่าว่าจะราบรื่นด้วยความสัมพันธ์อันหวานชื่นระหว่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับนายกฯ สมัคร ที่ควงคู่กันไปเยือนต่างแดนบ่อยๆ แต่สุดท้ายเหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อ คู่แข่ง จากค่ายรัสเซียโผล่เข้ามาขวาง วงใน กระทรวงกลาโหม คุยกันให้แซดว่า รัสเซียได้ทำหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม เพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนการจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากค่ายยูเครน เนื่องจากมีการดัดแปลงแบบมาจากของรัสเซีย ทางค่ายรัสเซีย ระบุว่า รถยานเกราะล้อยาง รุ่น BTR สายพันธุ์ต่างๆ เป็นสายการผลิตของบริษัท Arzamas Machinery Plant มาตั้งแต่ปี 1980 แม้ในอดีตยูเครนจะเป็นรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิดค้น หรือออกแบบใดๆ นอกจากนี้ ทางฝั่งรัสเซีย ยังอ้างว่า รถยานเกราะล้อยาง รุ่น BTR 3E1 ของยูเครน แทบจะไม่มีความแตกต่างจากรุ่น BTR-80 ของรัสเซีย ยกเว้นยางที่ของรัสเซียเป็นล้อยางกันกระสุน สำหรับรถหุ้มเกราะล้อยางตระกูล BTR-3 เป็นรถ 8?8 (ขับเคลื่อนทั้ง 8 ล้อ) มีกำลัง 300 แรงม้า ประกอบจากโรงงาน KMDB ในประเทศยูเครน น่าสนใจว่า รัฐบาลทหารพม่าสั่งซื้อรถรุ่น BTR3Us รวม 1,000 คัน ทั้งหมดนำมาประกอบในประเทศพม่าเอง แต่ BTR-3U ของพม่าเป็นรถรุ่นใหม่ ไม่เหมือนกับ BTR-3E1 ที่มีการอัพเกรดจากรุ่น BTR-80 ปัจจุบันประเทศยูเครน เริ่มผลิตรถยานเกราะล้อยางไปถึงรุ่น BTR-4 แล้ว โดยนำออกแสดงเมื่อปี 2006 ในขณะที่ไทยยังมีความพยายามที่จะจัดซื้อรถรุ่นเก่าของยูเครน อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างต่างๆ จากค่ายรัสเซียอาจจะแค่ น้ำจิ้ม ประกอบเมนูมื้อนี้เท่านั้น เพราะมันมีข้อเสนอแบบ ยื่นหมู-ยื่นแมว มาเป็นตัวเร่งในการตัดสินใจด้วย คงจำกันได้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมัครกล่าวถึงแนวคิดที่จะซื้อน้ำมันดิบจากประเทศรัสเซีย ซึ่งมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาก ทั้งยังเป็นประเทศนอกกลุ่มโอเปก จึงน่าจะขอซื้อน้ำมันดิบในราคาถูก คือ ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ไม่ยาก วงในกลาโหมจึงให้จับตาแพ็กเกจ ซื้อรถเกราะพ่วงน้ำมัน ให้ดี เพราะมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้สูง นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า ผู้มีอำนาจของไทยเคยไปรับปากว่าจะซื้อ เครื่องบินซู-30 MK ของรัสเซีย มาแทนเครื่องบินเอฟ-5 ที่กำลังจะปลดประจำการ แต่สุดท้ายกลับหันไปซื้อ เครื่องบินกริพเพนจากสวีเดน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า บิ๊กๆ รัสเซียนั้น เขม้นมองจนหนวดกระดิก ถ้าความเคลื่อนไหวดำเนินไปบนเส้นทางนี้โอกาสที่รถถังรัสเซียจะเข้าวิน จึงเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง แต่กระนั้นตัวแทนจากฝั่งยูเครนก็ให้ข้อมูลอีกด้านว่า การผลักดันให้เลือกรถจากค่ายรัสเซียมาจากบิ๊กรายหนึ่งใน คมช. ซึ่งมีแรงจูงใจสำคัญมาจากผลตอบแทนที่คุ้มค่าเหนื่อย สำหรับเจ้า BTR 80 ของรัสเซีย เริ่มการผลิตมาตั้งแต่ปี 1980 สมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต และไม่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอะไรมากนัก ผิดกับ BTR-3E1 ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ BTR 70, BTR 80 เรื่อยมาถึง BTR-3E1 นับตั้งแต่ยูเครนแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาตลอด โดยสายการผลิตรถถังของสหภาพโซเวียตกว่า 80% อยู่ในประเทศยูเครน ซึ่งก็น่าจะสมดั่งคำอวดอ้าง เพราะเมื่อเทียบกับ BTR 80 ที่ติดอาวุธปืนกลแค่กระบอกเดียว แต่เจ้า BTR-3E1 มีอาวุธถึง 5 ระบบ เช่น ปืนกล 30 มม. ปืน 72 มม. อาวุธนำวิถี ลูกระเบิดควัน นอกจากนี้ ระบบการขับเคลื่อน ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ เครื่องมือสื่อสาร ฯลฯ ล้วนทันสมัย มีระบบสั่งการยิงจากภายใน และสามารถเคลื่อนที่ภายในน้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนข้อครหาที่ว่า ใช้ตัวถังของ BTR 80 แต่อัพเกรดขึ้นใหม่นั้น ถูกลบล้างด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะเกิดผลเสีย เพราะเจ้า BTR-3E1 ยาวกว่า BTR 80 นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าหากมาต่อเติมให้ยาวขึ้นก็จะเจอกับปัญหา 1.โครงสร้างจะไม่แข็งแรงเท่าเดิม 2.ต้นทุนในการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้ เขาจึงยืนยันว่า ยานเกราะล้อยางของยูเครนเป็นรถที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นไปตามคำชี้แจงของสถานทูตยูเครนอย่างแน่นอน และประสิทธิภาพการใช้งานของรถค่ายนี้ก็ไม่เป็นรองรถจากค่ายอื่น นั่นคือ มุมมองของ 2 ฝ่ายที่เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของการจัดซื้อรถยานเกราะล้อยางรุ่นใหม่มาประจำการในกองทัพบก ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ชี้ให้เห็นถึงข้อดีในฝ่ายของตนอย่างเต็มที่ ประเด็นนี้จึงต้องดูว่า กองทัพบกยังจะเลือกรถจากค่ายยูเครนอยู่เช่นเดิม แต่ก็มีข่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ ยังยืนกรานที่จะเดินหน้าซื้อจากค่ายยูเครนต่อไป โดยในสัปดาห์หน้าน่าจะมีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพ เพื่อกำหนดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามงบประมาณปี 2552 กระนั้น แม้ ผบ.ทบ.จะตกลงปลงใจเอารุ่นเดิม แต่สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับ ลายเซ็น ของ รมว.กลาโหม ที่ชื่อ สมัคร สุนทรเวช ว่าจะโอเคตามนั้น หรือ จะเลือกออพชั่นรถถังพ่วงน้ำมันราคาถูกหรือไม่
ที่มา : www.komchadluek.net
ไม่อยากให้พูดถึงการเมืองน่ะครับ |
ส่วนตัวว แม้อยากได้ของยูเครนครับ แต่ขอเป็นเจ้า btr-4 จะดีกว่า
เปิดท้ายได้ จะได้ไม่ต้อง ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีฝึกใหม่
ส่วนนึงคงต้องยอมรับว่า ระบบของยูเครน ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร
ใช้เครื่องยนต์ กับ เกียร์จากเยอรมัน คงเหมือนกับเจ้า type 85 เราที่ รถจีนเครื่องเยอรมัน
แต่ว่าระบบอาวูธนี่สิ น่าสนใจครับ แม้ว่า ไม่ได้ติดให้รถหุ้มเกราะทุกคัน แต่ ก็หมัดหนัก น่าดู