หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


Military of the Ancients: Roman Legion

โดยคุณ : Praetorians เมื่อวันที่ : 19/03/2008 13:16:34

บทความนี้ผมเขียนขึ้นมานานมากแล้วสำหรับงานสมัยผมยังเรียนมัธยมปลายอยู่  และเคยลองถามสมาชิกในบอร์ดแล้วว่าจะให้ลงได้หรือเปล่าในงานมีตติ้งซึ่งก็บอกว่าได้ ผมก็เลยลองนำเอามาลงดู มีอะไรก็แสดงความเห็นมาได้ครับไม่ต้องกังวล ผมอนุญาตเต็มที่


Military of the Ancients: Roman Legion

ทุกวันนี้หากเรามองไปที่ประเทศหนึ่งในทวีปยุโรปที่มีรูปร่างลักษณะเป็นรูปรองเท้าบูทขนาดยักษ์แขวนอยู่ใต้ท้องของทวีป คือประเทศอิตาลี จะเห็นว่าหากถามคนทั่วๆ ไปที่เดินตามท้องถนนเกี่ยวกับประเทศนี้จะพบว่าคนมักจะพูดถึงชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องศิลปะยุคเรเนอซองส์ เทคโนโลยี แฟชั่น หรือที่ดาษดื่นกว่านั้น ต้องเป็นอาหารอิตาเลียนยอดนิยมเช่นสปาเกตตี พาสตา พิซซ่า อะไรทำนองนี้ หรือที่ดังกว่านั้น ก็ต้องเป็นฟุตบอลกัลโช ซีรีอา ที่แข่งแต่ละนัดก็ต้องมีการถ่ายทอดออกทางช่องพิเศษ

 

แล้วก่อนหน้านั้นล่ะ ก่อนหน้าฟุตบอล แฟชั่น ก่อนหน้ายุคเรเนซองส์ ก่อนยุคมืด ไปยังสมัยคลาสสิกแล้วล่ะก็จะพบว่าครั้งหนึ่งประเทศอิตาลีที่ดูเล็กๆ ไม่น่ามีพิษสงมีขอบเขตอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล มากเสียจนกินทวีปยุโรปเกือบทั้งหมด ยกเว้นประเทศฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์เช่นเยอร์มาเนีย (เยอรมนี) เท่านั้น ในนามของจักรวรรดิโรมันอันเกรียงไกร (Imperium Romanum – Roman Empire) ซึ่งจัดเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของการจัดอันดับจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในโลกสมัยโบราณ ใหญ่ถึง 5,900,000 ตารางกิโลเมตร ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเคยได้รับการถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มในทันทีที่มีภาพยนตร์ออกมาเลยทีเดียว

 

แล้วทำไมแต่ก่อนอิตาลีถึงได้มีอาณาจักรกว้างใหญ่ถึงขนาดนั้น?Gladiator เป็นต้น (ซึ่งผมผู้เขียนชอบมากโดยเฉพาะเพลงของฮานส์ ซิมเมอร์) ซึ่งตอนนั้นกองทัพโรมันเป็นกองทหารยุคจักรวรรดิที่ไม่มีใครเอาชนะได้เลย ก็มีหลายปัจจัย แต่สาเหตุหลักก็คือพวกเขาต้องการหาหน้าด่านป้องกันอิตาลีเอาไว้จากข้าศึกศัตรูที่ต้องการจะเข้ามา แน่นอนว่าโรมต้องการกองทหารที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทุกคนคงจะนึกถึงภาพยนตร์ที่เคยดูเช่น

 

แต่ว่าสมัยก่อนกองทหารโรมันไม่ได้เป็นกองทหารที่เกรียงไกรมากนักเหมือนในสมัยจักรวรรดิเพราะในยุคของกษัตริย์ และสาธารณรัฐตอนต้นทหารโรมันได้ดึงเอารูปขบวน Phalanx Formation ของกรีกมาใช้งาน (เป็นรูปขบวนทหารจะจัดรูปขบวนชิดแล้วใช้หอกยาวชี้ไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน) เรียกว่าเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้สวมเสื้อเกราะเหมือนทหารกรีกทุกคนเพราะในสังคมของโรมตอนนั้นคนถูกแบ่งเป็น 5 ชนชั้นตามดีกรีฐานะ ดูได้จากความครบครันของเครื่องแบบ หากมีเกราะหนาครบเหมือนกรีกเปี๊ยบ ก็ชั้น 1 แต่ถ้าไม่มีเกราะเลย ก็ชั้น 5 สมัยนั้นเสื้อเกราะ อุปกรณ์ทั้งหลายแหล่ทหารแต่ละคนต้องหาซื้อกันเอาเองนะครับ และใช่ว่าทุกคนสามารถจะเป็นทหารได้ หากไม่มีที่ดินก็หมดสิทธิ์ เขารับเฉพาะคนที่มีที่ดินเป็นของตัวเองเท่านั้น ที่หนักกว่าคือกองทหารจะเกณฑ์มาเฉพาะยามสงครามเท่านั้น เมื่อสงครามยุติกองทัพจะสลายตัวไป

 

เรื่องทหารม้าชาวโรมไม่ค่อยให้ความสนใจนักเพราะในสภาพภูเขาแบบนั้นการเลี้ยงม้าทำได้ยากมาก และม้ากลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากจนไม่ใช่ของที่จะนำไปรบ ส่วนมากขุนนางเท่านั้นที่จะได้ขึ้นขี่เพราะมีเงินพอซื้อ

 

ปกติรูปขบวนนี้จะมีประสิทธิภาพมากเพราะการโจมตีจากด้านหน้าที่มีแต่ปลายหอกรอรับเต็มไปหมดนี่ก็เหมือนไปตายดีๆ นี่เอง แต่ว่าจุดอ่อนก็คือด้านข้างที่ทหารจะไม่สามารถป้องกันตัวเองจากการโจมตีได้เลย และแล้วการรบที่อัลเลียปี 387 BC ก็แสดงให้เห็นว่ารูปขบวนฟาลังซ์ไม่เหมาะสมกับชาวโรมอีกต่อไปเมื่อกอล (ฝรั่งเศส) ยกทัพมาตีอิตาลี แล้วชาวโรมที่ไม่คิดจะเจรจาโดยดีเข้าต่อสู้ เมื่อกองทหารที่ระวังด้านข้างให้ (ซึ่งมาจากชนชั้นที่ต่ำกว่าและหุ้มเกราะน้อยกว่า) ถูกตีแตกฟาลังซ์ก็เละตุ้มเป๊ะ เป็นผลให้ชาวกอลสามารถบุกปล้นสะดมกรุงโรมได้อย่างสะดวกดาย

 

ภายหลังกอลก็ต้องเจอปัญหาโรคระบาดเนื่องจากไม่ได้เตรียมการสำหรับการปิดล้อมโรมที่ยาวนาน ชาวโรมก็แย่พอกันเลยมีการเจรจาไถ่เมืองกันด้วยทองคำ (สมัยนั้นยังไม่มีการเปิดธนาคาร) แล้วเบรนนุส หัวหน้าเผ่ากอลกลับใช้ตาชั่งที่ถ่วงเอาไว้หมายเรียกเอาทองมากกว่าเดิม พอชาวโรมันโต้แย้งก็ต้องเจอกับคำพูดสุดเจ็บ ‘Vae Victis’ หมายถึงผู้แพ้ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น

 

ถึงจะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยคือมาร์คัส ฟิวริอุส คามิลลุส อดีตแม่ทัพผู้เก่งกาจผู้ยอมปลีกวิเวกตัวเองจากโรมไปอยู่ที่อื่น (เพราะเขาไม่ยอมปล้นสะดมเมือง Falerii คู่แข่งของเขาเลยป้ายสีว่าเขายักยอกเอาของทั้งหมดไว้คนเดียว) แล้วระดมเอาทหารทั้งหมดทั่วอิตาลีมาขับไล่กอลออกไปได้ แต่จากการจ่ายทองให้นี้ชาวโรมเป็นเดือดเป็นแค้นมากที่พ่ายแพ้และตั้งปณิธานว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แม้ว่าจะต้องเป็นการบุกรุก ถล่มถลุงเข้าไปถึงต้นตอของปัญหา ลุยเข้าไปในบ้านเมืองของคนอื่นก็ตามที

 

แต่ก่อนโรมนั้นไม่เคยมีกำแพงเมืองเลยซึ่งอาจเป็นเพราะว่าแต่ก่อนชาวอิทรัสคันที่เคยปกครองโรมอยู่ก่อนไม่ยอมให้มีการป้องกันใดๆ ในเมืองที่ตัวเองปกครองอยู่นอกจากภาคเหนือที่เป็นบ้านเกิด ภายหลังจากขับไล่กอลออกไปได้แล้วจึงมีการจัดสร้างกำแพงเซอร์เวียน (Servian Wall) ขึ้นมาปกป้องเมือง ชาวโรมเห็นว่ากองทัพโรมันที่ใช้ขบวนฟาลังซ์ไม่เหมาะกับการต่อสู้บนพื้นที่ภูเขาแบบอิตาลี ผิดจากกรีซที่เป็นพื้นราบมากกว่าทำให้รูปขบวนชิดแบบนั้นไม่แตกง่าย จึงทำการที่ง่ายที่สุดคือโละทิ้งทั้งหมด ไม่เอาอีกต่อไปแล้วรูปขบวนนี้ แล้วใช้อันใหม่แทน






ความคิดเห็นที่ 1


รูปขบวนใหม่ ต้นแบบทหารสามแถว ถึงมาเรียนรีฟอร์ม 300 – 1 BC

 

รูปขบวนใหม่สมัยศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาลที่จัดตั้งขึ้นนี้แบ่งออกเป็น 3 แถวหลักๆ แถวแรกคือกองทหารราบเบา (Hastati) กองทหารราบหนัก (Principes อ่าน พริน-คิ-เพส ไม่ใช่พรินซิป) และกองทหารหอก (Triarii) กองทหารราบเบาจะอยู่หน้าสุด เป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยสุดอาจจะแค่ราว 16-17 ปี อาจจะสวมเพียงเสื้อเกราะหนัง หมวกเหล็ก ดาบสั้น หอก และโล่ไม้ (Scutum) ซึ่งเป็นโล่ไม้โค้งทำจากไม้อัดซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งตอนนั้นชาวโรมันเป็นชาติแรกๆ ที่รู้การทำไม้อัด แต่ชาติแรกที่ทำได้คืออิยิปต์โบราณ จัดแบ่งเป็น 10 กอง (Maniples) กองละ 120 คน เป็น 1,200 นาย มีทหารโจมตีฉาบฉวยติดปลายนวมไปด้วยอีก

 

ต่อมาเป็นทหารราบหนักที่จะมีอายุเฉลี่ยมากกว่าหน่อยและส่วนมากผ่านศึกกันมาแล้ว และที่สำคัญคือรวยกว่า สามารถจัดหาของดีมาใช้ได้พอสมควร ดีกว่าทหารแถวแรก ถูกต้องแล้วครับ ทหารก็ยังคงต้องซื้อของกันเอาเองอีกตามเคย เกราะที่สวมจะเป็นเสื้อเกราะโซ่ที่สามารถป้องกันการโจมตีจากอาวุธได้ (เพราะจะติดห่วง แทงไม่ถึงตัว)

 

แถวที่สามเป็นทหารหอกที่ยังคงจัดรูปขบวนแบบฟาลังซ์อยู่ครับ แน่นอนว่าต้องรวยสุดถึงจะจัดซื้อเอาเสื้อเกราะแบบครบเซตเหมือนชาวกรีกได้ และยังมีกองทหารสำรองพิเศษ (Roarii และ Accensi) สำหรับใช้ในยามฉุกเฉินด้วย ซึ่งพวกนี้จะมีฐานะยากจนและไม่สามารถจัดหาชุดเกราะอะไรมาสวมได้มากนัก เอาจำนวนเข้าถลุงอย่างเดียว

 

กฎการปะทะสำหรับชาวโรมันกับรูปขบวนใหม่นี้คือทหารดาบเบาจะลุยก่อนเป็นแถวแรก ถ้าเกิดว่าเหลือกำลังลากพวกเขาจะถอยออกให้ทหารราบหนักเข้าลุยต่อ เปิดโอกาสให้ทหารราบเบาได้พักก่อนที่จะบาดเจ็บล้มตายกันมาก ถ้าทหารราบหนักยังไม่พออีกทหารหอกจะเข้าเสริมทัพ และถึงตอนนี้พวกเขาจะเริ่มเตรียมการถอยทัพแล้ว สำนวนใหม่เลยถือกำเนิด ‘ad triarios rediisse’ (มันมาถึงแนวทหารหอกแล้ว)

 

จุดอ่อนอีกอย่างของกองทัพโรมันก็คืออุปกรณ์ที่ทำมาจากสำริดไม่สามารถป้องกันดาบของชนเผ่าป่าเถื่อนที่ใช้ดาบอันโตเท่าขาได้เลยมีการเปลี่ยนหมวกใหม่เป็นหมวกเหล็กขัดมันอย่างดี แม้ว่าภายหลังหมวกสำริดจะกลับมาใหม่อีกก็เถอะ

 

รูปขบวนนี้ได้รับการทดสอบในที่สุดเมื่อต้องเจอกับคู่แข่งสุดอันตรายอย่างไพร์อุสแห่งเอพิรุส (Pyrrhus of Epirus) ผู้ปราดเปรื่องเรื่องการทำสงครามและเป็นถึงลูกพี่ลูกน้องของอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซิดอน หรือที่รู้จักกันในนามว่าอเล็กซานเดอร์มหาราช ดีกรีขนาดนี้เป็นกระดูกชิ้นโตอย่างแน่นอน ถึงชาวโรมจะชนะได้ด้วยจำนวนที่เหนือกว่าอย่างเทียบไม่ติด แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ให้ชาวโรมปรับตัวและปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น หลังจากเสร็จศึกกับไพร์อุสโรมมีกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในเมดิเตอร์เรเนียนคือทหาร 32,000 นาย ถ้าเรียกพรรคพวกมาช่วยจะเพิ่มได้อีกเป็น 340,000 นายซึ่งถือว่ามากมายมหาศาลในสมัยคลาสสิก

 

จากนั้นก็เกิดสงครามระหว่างโรมกับคาร์เธจ (เลบานอน ซึ่งตอนนั้นแผ่อาณาจักรไปไกลถึงแอฟริกาเหนือแล้ว) ขึ้นอีกในสมัยศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลหรือที่เรียกว่าสงครามพูนิคซึ่งได้ทำการต่อสู้กันทั้งหมด 3 ครั้ง กินเวลานานกว่าศตวรรษ แต่ที่สำคัญที่สุดคือครั้งที่ 2 เพราะว่าคาร์เธจมีแม่ทัพที่เก่งกาจนามว่าฮันนิบาล บาร์คา (อย่าสับสนกับเลคเตอร์เด็ดขาด) ผู้นำทัพข้ามเทือกเขาแอลป์บุกสู่คาบสมุทรอิตาลีท่ามกลางอุปสรรคนานับปการ ทั้งหิมะที่เย็นเฉียบ ทั้งสายการส่งกำลังบำรุงที่แทบจะสุดปลายเอื้อม ทหารจำนวนมากตายก่อนไปถึงที่หมายก็จริงแต่ผลที่ได้รับคุ้มค่ามาก คือสามารถตีกองทัพโรมให้แตกได้หลายครั้งด้วยการใช้ยุทธวิธีที่เหนือกว่าจนโรมเริ่มสะท้านเพราะไม่มีใครเอาชนะเขาได้เลย

 

จนกระทั่งฮันนิบาลต้องมาเจอกับขุนพลโรมที่มีฝีมือพอฟัดพอเหวี่ยงแต่อายุน้อยกว่าแยะนามว่าพูบลิอุส คอร์เนเลียส สคิปิโอ แอฟริกานัส (Publius Cornelius Scipio Africanus) ผู้ที่เปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่แล้วเริ่มใช้กลศึกในการรบแทนที่จะพึ่งพาแต่ทักษะการรบของทหารราบเพียงอย่างเดียว และฝึกทหารราบให้สามารถตามทันแนวคิดของเขาได้จนสามารถโค่นล้มฮันนิบาลลงได้ในการรบที่ซามาปี 202 BC เมื่อแอฟริกานัสส่งกองทัพบุกตะลุยถึงคาร์เธจบีบให้ฮันนิบาลต้องรีบกลับมารบในบ้านตัวเอง

 

หลังจากเสร็จศึกกับคาร์เธจในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลกองทัพโรมันมีการเปลี่ยนแปลงอีกเล็กน้อยกล่าวคือกองทหารเหล่าที่ 4 และ 5 อย่าง Roarii และ Accensi ถูกโละออกจากสารบบ แล้วทหารโจมตีฉาบฉวยทั้งหมดได้รับการจัดตั้งใหม่เป็น Velites ทหารราบเบาและหนักได้รับดาบสั้นคนละเล่มและหอกซัด (Pilum) หมวกเหล็กขัดมันถูกปลดออกไปแล้วกลับไปใช้หมวกสำริดอีกรอบ แต่ว่าหนากว่าเดิม

 

แต่ที่เปลี่ยนไปมากคือประชากรที่ต้องการเป็นทหารชักจะลดน้อยถอยลงไปทุกทีเพราะส่วนใหญ่ชอบไปทำธุรกิจมากกว่าปลอดภัยกว่าเยอะ ยิ่งถ้าถูกส่งไปฮิสปาเนีย (สเปน) ยิ่งไม่เอาเหมือนภาคใต้ของบ้านเราในขณะนี้ คือมีการก่อจลาจลบ่อยมาก

 

ไม่นานโรมก็ต้องเจอข้าศึกศัตรูรูปแบบใหม่จากเดนมาร์กที่ดุกว่าและฝีมือดีกว่าข้าศึกใดที่เคยพบซึ่งในขณะนั้นรู้จักกันในนามว่าเผ่าซิมบรีและติวตัน คนพวกนี้อันที่จริงคือทำการอพยพมาจากบ้านเกิดเพื่อหาที่อบอุ่นอยู่อาศัย แต่ว่าพวกเขาดันมาบุกเมืองนอริคุม (อยู่แถวแม่น้ำดานูบ) ที่เป็นพันธมิตรกับโรมอยู่จึงมีการส่งกำลังไปอวดธง เหมือนกับที่อเมริกาทำในสมัยสงครามเย็น

 

ตอนแรกทั้งสองเผ่าก็คิดว่าจะยอมถอนกำลังออกไปโดยดี แต่พอพบว่าแม่ทัพโรมัน คเนอุส ปาปิริอุส คาร์โบ (Gnaeus Papirius Carbo) แอบซุ่มกำลังไว้โจมตีเลยไม่พอใจ แล้วทำการบดขยี้กองทัพโรมันเสียราบคาบ ตั้งแต่นั้นมาพวกเขาเลยเป็นศัตรูกับโรมอย่างเปิดเผยลุยเข้ายึดจังหวัดชายแดนของโรมได้มากพอสมควร แต่ทั้งสองเผ่าก็ไม่ได้ใส่ใจกับการยึดครองเพราะการเข้าไปตั้งรกรากในฝรั่งเศสง่ายกว่าการรบกับชาวโรมเยอะ ที่ชนะมาได้ก็เป็นเพราะความงี่เง่าของแม่ทัพโรมันเองเสียมาก เทียบกันตัวต่อตัวแล้วชาวซิมบรีและติวตันไม่มีเสื้อเกราะจะสวมด้วยซ้ำ ส่วนมากสวมชุดธรรมดาเข้ารบ แต่จะเกิดจากเหตุผลใดไม่มีใครทราบแม่ทัพโรมันที่ถูกส่งไปล้วนแต่ทำพลาดมหันต์และเสียกองทัพไปโดยเฉพาะในการรบที่อาเราซิโอ เมื่อกงสุลสองคนที่นำทัพทำงานไม่ประสานกันส่งผลให้กองทัพขนาด 80,000 นายละลายหมดทั้งกอง

 

ข่าวความพ่ายแพ้แพร่สะพัดไปถึงโรมอย่างรวดเร็วและมีการเฟ้นหาตัวผู้ที่เก่งพอจะมาทำงานนี้ได้ และสายตาก็ไปหยุดอยู่ที่ไกอัส มาริอุส (คนนี้ดังมากเพราะเป็นลุงของจูเลียส ซีซาร์ จอมเผด็จการคนดัง) ผู้ได้รับเลือกเป็นกงสุลมา 5 สมัยรวด ผ่านศึกมาหลายแห่ง ที่สำคัญคือเขาเป็น Novus homo หมายถึงเป็นคนแรกในสกุลที่ได้เป็นสมาชิกสภาเซเนตในโรม สภาทำถึงขั้นให้เขาเป็นแม่ทัพสูงสุด (Imperator) มีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้เลยทีเดียว

 

จากความพ่ายแพ้จนเสียกำลังทหารไปมากทำให้จำนวนคนมีที่ดินที่จะเกณฑ์มาเป็นทหารได้เหลือน้อยมากจนไม่น่าจะสู้กับชนเผ่าที่มีกำลังรวมกันกว่า 300,000 คนไหว กฎที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงโรมก็ยังคงมีอยู่และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้อีก มาริอุสเลยเปลี่ยนโครงสร้างของกองทัพใหม่ทั้งหมด ต่อไปนี้รัฐจะจัดหาอุปกรณ์รบให้ทำให้กองทัพโรมันมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน กองคาราวานเสบียงที่เชื่องช้าอืดอาดโดนโละทิ้งแล้วให้ทหารแต่ละคนแบกของให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (เลยมีการเรียกทหารที่แบกของเต็มไปหมดว่า Marius’s Mule) ทำให้สามารถเดินทัพได้เร็วขึ้นอีกโข

 

เรื่องคนสำคัญสุดเพราะเป็นปัญหาโดยตรงมาริอุสจึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ จากกองทัพบ้านที่เกณฑ์มาจากชาวเมืองมีฐานะ และสลายตัวไปเมื่อจบงาน กลายเป็นกองทหารอาชีพตั้งถาวรรับคนที่ไม่มีที่ดินจำนวนมหาศาลทั่วทั้งสาธารณรัฐ ถึงจะบังคับว่าต้องอยู่นานถึง 25 ปี แต่แทบไม่ต้องเกณฑ์กันเลยครับ เพราะมาริอุสเสนอเงินเดือนให้และมีบำเหน็จก้อนโตหลังปลดเกษียณ และไม่ว่าทหารจะเกิดจากแห่งหนตำบลใดพอปลดเกษียณแล้วจะได้กลายเป็นพลเมืองโรมันเต็มตัวทันที

 

ผลคือชาวเมืองผู้ยากไร้จำนวนมหาศาลเข้าร่วมกองทัพตั้งแต่เปิดรับสมัครเพราะการเป็นทหาร มีเงินเดือนแล้วเสี่ยงต่อคมหอกคมดาบยังดีกว่าอดตายอยู่ข้างถนนในโรม ยังไม่ทันเคี้ยวหมากแหลกมาริอุสก็มีกองกำลังมากพอระเบิดศึกกับชนเผ่าซิมบรีกับติวตันได้ ตั้งแต่ต่อไปนี้ทั้งสองเผ่าจะไม่ได้เจอกองทัพโรมันแบบเก่าอีก แต่จะเป็นกองทหารอาชีพที่ได้รับการฝึกมาดี ใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพที่ดุดัน และเก่งกาจ รบแค่สองครั้งทั้งสองชนเผ่าก็ถูกกวาดล้างออกไปจากแผนที่โลกไม่เคยโผล่ออกมาระคายโรมอีกเลยในการรบที่ Aquae Sextiae และ Vercellae ที่ชาวโรมใช้ยุทธวิธีบดขยี้อย่างไม่ปรานีปราศรัยโดยที่ทหารโรมันเสียชีวิตรวมกันไม่ถึง 2,000 นาย

 

ในทางทหารแล้วถือว่ามาริอุสได้เปลี่ยนกองทัพโรมันให้เป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ต่อไปอีกหลายศตวรรษแต่ว่าก็มีผลข้างเคียงออกมาด้วยเหมือนกัน กล่าวคือทำให้อำนาจของสภาสั่นคลอนจากการที่ผู้ว่าการรัฐสามารถเกณฑ์ทหารได้เองโดยมิพักต้องขออนุญาตจากสภาก่อน และความจงรักภักดีของทหารได้เปลี่ยนจากโรมไปเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถแทน ซึ่งการที่แต่ก่อนโรมได้เกณฑ์เอาเฉพาะคนมีที่ดินก็เพื่อว่าจะใช้ทรัพย์สินที่มีเป็นตัวประกัน พอมาเกณฑ์คนที่ไม่มีอะไรจะเสียก็ไม่มีเหตุผลต้องจงรักภักดีต่อโรมนอกจากคนที่รักชาติจริงจำนวนไม่มาก

 

ตกมาถึงรุ่นหลานจูเลียส ซีซาร์ ที่น้อยคนจะไม่รู้จักได้ใช้กองทหารที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ในการรบหลายแห่งกับศัตรูเก่าอย่างกอล และสุดท้ายเขาก็สามารถยึดได้ทั้งประเทศในที่สุดสามารถล้างแค้นที่สั่งสมข้ามศตวรรษมาได้ในปี 52 BC ในการรบที่ Alesia โดยที่ทหารจำนวน 60,000 คนของเขาถล่มกอล 300,000 นายเรียบวุธ (สู้กับเวอร์คินเกโตริกซ์ ถ้าจำไม่ผิดเคยมีหนังชื่อนี้ ที่คริสโตเฟอร์ แลมเบิร์ตเล่น) สภาเซเนตถึงขนาดจัดงานขอบคุณพระเจ้านานถึง 20 วัน แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองที่เริ่มเข้มข้นในสมัยปลายยุคสาธารณรัฐกองทัพโรมเลยต้องเข้าฟาดฟันกันเองนานอยู่หลายสิบปีกว่าจะหมดลงไปได้ด้วยฝีมือของออคตาเวียน หลานของซีซาร์อีกที
โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 16/03/2008 01:50:31


ความคิดเห็นที่ 2


มีใครบอกวิธีโพสภาพให้ได้บ้างครับเนี่ย ผมจะได้ไม่ต้องเอาแ่ต่ตัวอักษรขึ้นมา
โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 16/03/2008 01:52:44


ความคิดเห็นที่ 3


คอเดียวกันคับท่าน   แต่ผมเหมือนเคยอ่านมาจากที่ใหนซักแห่งครับ 

ถ้าจำผิดก็ขออภัย  แต่ก็ได้รื้อฟื้นความทรงจำดีครับ 

ติดตามตอนต่อไปอยู่

อย่าพักโฆษณาน่านะท่าน

โดยคุณ Marcus_Aurelius เมื่อวันที่ 16/03/2008 07:08:34


ความคิดเห็นที่ 4


ก็แปลมาบ้าง เรียบเรียงเอาบ้างจากเว็บหลายเว็บครับจะมีคุ้นๆ บ้างก็ไม่แปลกสักเท่าไหร่ครับ ดีใจที่มีคนคอเดียวกันมาครับมีอะไรจะได้คุยกันได้ ถ้าถามผมว่าสนใจเรื่องนี้เพราะอะไรต้องโทษเกม Rome: Total War อย่างเดียวครับที่ทำให้ผมเริ่มสน บวกกับการได้ดูหนังเรื่อง Gladiator ด้วย เพลงของฮานส์ ซิมเมอร์ผมเอาเป็นเสียงเรียกเข้ามือถือประจำตัวเลยครับ

โอเค มาต่อกันเลยดีกว่า

กองทัพโรมยุคจักรวรรดิ ตำนานบนฮอลลีวูด 1 BC-250 AD

 

เวลาผ่านเลยไปจนกระทั่งในที่สุดสาธารณรัฐโรมันก็เปลี่ยนไปเป็นจักรวรรดิหรือที่เรียกว่า Imperium Romanum เต็มอัตราศึกด้วยอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของออคตาเวียนหรือตอนนี้คือออกัสตัส อันที่จริงเขาเป็นจักรพรรดิโดยพฤตินัยเท่านั้นเพราะเหลือแค่ชื่อที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเสียที เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาที่ทำให้ลุงของเขาจูเลียส ซีซาร์ ต้องตายมาแล้วด้วยฝีมือของสมาชิกสภาหัวเก่า

 

กองทัพโรมันในยุคของเขาจะกลายเป็นกองทัพแบบคลาสสิกอย่างแท้จริง ภาพที่ทุกคนมักจะเห็นเมื่อได้ยินก็มักจะเป็นกองทัพในยุคนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ ภาพกองทหารดาบจำนวนหลายพันคนสวมเสื้อผ้าที่ย้อมจนแดง ทับด้วยเสื้อเกราะแผ่น หมวกโลหะแวววาวเห็นได้ไกลเป็นกิโลเมตร ดาบสั้นในมือขวา โล่สี่เหลี่ยมใหญ่เกือบเท่าตัวในมือซ้าย รองเท้าแตะทำจากสายหนังสีน้ำตาล ธงประจำกองพันปลิวสะบัดที่ทำให้กองทัพทั้งหมดในเอเชียสมัยนั้นนอกจากกองทัพจีนหงอยไปเลย

 

ออกัสตัสได้รับอานิสงส์มาจากลุงของเขาไม่น้อยคือกองทหารจำนวนมากที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีและผ่านสงครามกลางเมืองของโรมมาแล้ว และเขาก็ต้องรับผิดชอบในการรักษาสภาพคนเหล่านั้นเอาไว้ป้องกันจักรวรรดิ หรือว่าทำสงครามขยายดินแดนออกไป กองทัพที่ไม่จำเป็นหรือมีกำลังคนไม่มากถูกยุบรวมกันเหลือเพียง 28 กองพล (Legion) กองละ 6,000 นายบวกทหารม้า 120 คน ทุกกองจะมีอินทรี (Aquila) เป็นสัญลักษณ์ และทหารทุกคนได้รับการสอนว่าอย่าให้มันตกไปอยู่ในมือข้าศึกเด็ดขาดเพราะอาจมีผลถึงขั้นถูกยุบกอง หรือไม่ก็จะต้องทำสงครามเพื่อชิงเอาอินทรีกลับคืนมา

 

แต่ละกองจะจัดแบ่งย่อยลงไปอีกคือเป็นกองพัน (Cohort) จำนวน 480 นาย ที่จะแบ่งเป็นกองร้อย (Centurion) จำนวน 80 นาย บัญชาการโดยเซ็นจูเรียนที่มักจะถือไม้ตะพดไปด้วยสำหรับหวดทหารที่ไม่ยอมเชื่อฟัง เล็กกว่านั้นจะกลายเป็นหมู่ทหารราบ 8 คน (Contubernium ตามจำนวนคนที่เข้าพักในเต็นท์หลังหนึ่งได้) บังคับการโดยหัวหน้าหมู่หรือ Decanus

 

ระเบียบวินัยของกองทัพโรมันยุคจักรวรรดิช่วงแรกถือว่าเข้ม ปึ้ก เหมือนกาแฟดำ เทียบได้กับกองทัพบกเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว เซ็นจูเรียนซึ่งจะเป็นทหารที่เคยผ่านศึกสามารถใช้ไม้หวดลงโทษทหารเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ และการฝึกจะโหดมากถึงมากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้เหตุผลเสียทีเดียวในเมื่อกองทัพโรมันต้องปะทะกับข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่ามาโดยตลอด ฉะนั้นคุณภาพทหารที่ดีหมายถึงชัยชนะเหนือปริมาณของชนเผ่าป่าเถื่อน โดยเฉพาะกองพันที่ 1 ของทุกกองพลจะเป็นทหารระดับหัวกะทิ เก่งกาจที่สุด

 

ในยุคนี้ชาวโรมันส่วนมากจะเป็นทหารดาบแทบทั้งสิ้นแต่ในสงครามกองทหารต้องมีหลายอย่างพร้อมกันเพื่อชัยชนะและชาวโรมก็รู้ดีจึงได้มีการจัดตั้งกองทหารช่วยรบ (Auxilia) ขึ้นมาเพื่อทำงานทุกอย่างนอกเหนือจากการเป็นทหารดาบโรมัน เช่นทหารม้า ทหารราบ พลธนู อะไรทำนองนี้ พวกนี้จะมีการจัดตั้งกองพลของตัวเองแต่ว่าจะมารบร่วมกับทหารดาบด้วยทุกครั้ง กำลังพลจะถูกดึงมาจากทั่วทั้งจักรวรรดิที่ตอนนั้นได้แผ่ขยายไปมากแล้ว

 

กองทัพโรมันยุคจักรวรรดิได้ทำการรบหลายต่อหลายที่และได้รับชัยชนะแทบทุกครั้งหากไม่นับการรบที่ป่าติวโตเบิร์กในเยอรมนีที่พ่ายแพ้ยับเยินด้วยสาเหตุหลายประการ และช่วยจักรพรรดิยอดเยี่ยมทั้ง 5 (เนอร์วา, ทราจัน, ฮาเดรียน, แอนโตนินุส ไพอุส และมาร์คัส ออเรเลียส 96-180 AD) ในการขยายอาณาจักรให้กว้างใหญ่กินเกือบหมดยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ตอนนี้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลายเป็น Mare nostrum หรือทะเลของเราสำหรับชาวโรมันไปเสียแล้ว

 

ช่วงหมดแรงและจักรวรรดิตะวันตกล่ม 250-600 AD

 

หลังจากยุคจักรพรรดิที่ดีทั้ง 5 จักรวรรดิโรมันก็ชักจะหมดแรงลงไปแล้วด้วยปัญหาสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในศตวรรษที่ 3 กองทัพโรมันเริ่มมีชนเผ่าสารพัดเข้ามาประจำการ กองทหารเริ่มกระจัดกระจายเพื่ออุดช่องว่างในชายแดนไม่ให้ข้าศึกเข้ามา หากพวกนั้นสามารถตีฝ่าเข้ามาได้จะไม่มีใครป้องกันต่อไปอีก จนจักรพรรดิไดโอคลิเชียนทนไม่ไหวสั่งจัดรูปแบบกองทัพใหม่อีกรอบหนึ่ง ต่อไปนี้กองทหารดาบโรมันจะแบ่งเป็นสองพวกคือทหารตระเวนชายแดน (Limitanei) และกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (Comitatenses) และกองกำลังสำรองอีกที (Pseudocomitatenses) กองกำลังเคลื่อนที่เร็วแต่ละกองจะมีทหารเพียง 1,000 นายเท่านั้นเพื่อให้คล่องตัว และเหตุการณ์สำคัญก็เกิดขึ้นคือจักรวรรดิถูกแบ่งเป็นสองซีกคือตะวันตกและตะวันออก

 

นอกจากนี้ยังมีการนำทหารม้าเยอรมันเข้ามาเป็นหน่วยช่วยรบเสียมากเป็นอันว่าทหารดาบจะไม่ได้ครองสนามรบต่อไปอีกถึงแม้จะยังมีการใช้อยู่ก็ตามที เพราะทหารม้าสามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วกว่าสำหรับการไล่ล่าชนเผ่าป่าเถื่อน ที่ส่วนมากจะแค่เข้ามาปล้นสะดมแล้วหนีไป ทหารราบอย่างเดียวไม่มีทางตามทันแน่

 

ทหารดาบหมดคุณค่าในสนามรบถาวรที่การรบที่อาเดรียโนเปิลในปี 378 AD เมื่อทหารม้าเยอรมันบดขยี้กองทหารดาบโรมันเสียราบคาบและทำให้จักรพรรดิโรมันตะวันออกวาเลนส์สวรรคตในการรบ จักรพรรดิตะวันออกองค์ต่อมาอย่างธีโอดิซิอุสจึงเริ่มจัดหาทหารม้าเยอรมันทั้งหมดเท่าที่จะหาได้มาประจำการแล้วจัดตั้งเป็นหน่วยทหารต่างชาติ (Foederati) และพาไปรบได้ชัยหลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะสงครามระหว่างตะวันตกกับตะวันออกที่เกิดขึ้นประปรายจนจักรวรรดิตะวันตกต้องหันมาใช้ทหารม้าเยอรมันบ้าง

 

ส่วนทหารราบก็ใช่ว่าจะโดนโละทิ้งไปเสียทีเดียวเพราะทหารม้าก็มีจุดอ่อนของตัวเองเหมือนกัน (เจอหอกเป็นเสร็จ) พวกเขาแค่ต้องปรับตัวให้เหมาะสมหน่อยคือสละเกราะหนาหนักทิ้งไปแล้วเริ่มฝึกการยิงธนู เผื่อว่าเจอทหารม้าข้าศึกชาร์จก็จะได้ยิงธนูใส่ให้บรรลัยไปเลย แต่ทหารม้าเยอรมันตอนนี้ก็ได้รับความนิยมมากจนมีผลต่อเสถียรภาพของกองทัพโรมันโดยเฉพาะตะวันตกไปเสียแล้ว คนเยอรมันได้ทำงานในกองทัพมากขึ้นทุกทีจนเริ่มเป็นภัยคุกคามเพราะพวกนี้ไม่ได้จงรักภักดีต่อโรมเลย พวกเขาทำเพื่อเงินและข้าวของเท่านั้นเอง

 

กองทัพโรมันตะวันออกไม่ได้พึ่งพาชาวเยอรมันมากเหมือนตะวันตกเลยปลอดภัยมากกว่า พวกเขาเริ่มนำเอาทหารม้าธนูแบบเปอร์เซียเข้ามาประจำการ ซึ่งทหารม้าธนูจะสวมเกราะมากพอกับอัศวินยุคกลางและได้รับการฝึกให้สามารถยิงธนูได้อย่างแม่นยำขณะกำลังควบม้าเต็มฝีเท้าได้ ผสมกับกองทหารม้าหนักเยอรมันที่ใช้ทวนกับดาบ เป็นส่วนผสมที่น่ากลัวยิ่งนักสำหรับทหารม้าข้าศึกจากเยอรมัน (เผ่ากอธ) ที่ไม่เคยคิดใช้ธนูเลย


โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 16/03/2008 09:34:20


ความคิดเห็นที่ 5


ทัพไบแซนไทน์ 600-1453 AD

 

หลังจากจักรวรรดิโรมันตะวันตกสิ้นชื่อไปในปี 476 AD จักรวรรดิตะวันออกเลยได้ชื่อใหม่ว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ กองทัพเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในสมัยศตวรรษที่ 7 เพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ คำกรีกและเยอรมันเริ่มเข้ามามากขึ้นในกองทัพ ทหารม้าหนักยังคงเป็นกำลังหลักในการพิชิตชัยร่วมกับทหารม้าธนู ทหารราบเริ่มมีพวกติดอาวุธเบาเช่นพลธนูที่ไม่มีเกราะเลย กับทหารราบหนักที่มีหมวกเหล็กทรงโคนไอศกรีมกับเสื้อเกราะโซ่ อุปกรณ์ชักจะเริ่มไม่เป็นเครื่องแบบเหมือนกับกองทหารสมัยต้นยุคจักรวรรดิอีกต่อไปแล้ว แต่โดยรวมกองทัพไบแซนไทน์ก็ยังคงความน่ากลัวเอาไว้ได้ โดยเฉพาะในยุคของจักรพรรดิบาซิลที่ 2 (958 – 1053 AD) ที่นำทัพบุกบัลแกเรียได้ชัยชนะอย่างงดงาม

 

กองทัพไบแซนไทน์ตอนนี้ได้รับการจัดกำลังใหม่เป็น Numeri หรือว่ากองพันขนาด 300 - 400 นายที่จะมีจำนวนไม่เท่ากันเพื่อตบตาข้าศึก (นโปเลียนก็ใช้) จากกองพันเป็นกองพลน้อย (Drungus) จำนวน 3,000 และกองพล (Turma) จำนวน 8,000 คน แต่ว่าปกติกองกำลังเหล่านี้จะไม่ได้อยู่รวมกันถึงระดับกองพลน้อยเพราะต้องกระจายไปอยู่ทั่วจักรวรรดิ พอมีสงครามค่อยรวมกำลังออกไปรบ

 

ส่วนกองทหารรับจ้างเยอรมันที่จ้างมาก็ทยอยปลดเพราะเงินคงคลังชักเหลือน้อย ที่เหลือก็แบ่งเป็นสามหน่วยคือ Foederati ตามปกติ Optimati ซึ่งเป็นหัวกะทิของหน่วยแรก และ Bucelarii คือองครักษ์จักรพรรดิ สำหรับ Optimati นี้ถือว่าเป็นต้นแบบของอัศวินสมัยกลางเลยทีเดียวเพราะว่ามีสถานะสูงในกองทัพ มีผู้ช่วยอย่างน้อยหนึ่งหรือสองคนด้วย

 

จนกระทั่งการรบที่แมนซีเคิร์ตในปี 1071 เท่านั้นแหละที่กองทัพโรมันตะวันออกอันเกรียงไกรถูกลบหายไปจากแผนที่โลกโดยกองทัพเติร์ก แล้วเอเชียไมเนอร์ยังถูกยึดไปอีกเป็นอันว่าจักรวรรดิไม่มีทรัพยากรคนเหลือสำหรับการฟื้นฟูกำลังใหม่จนจักรพรรดิไมเคิลที่ 7 ต้องจัดกองทหารม้าใหม่ให้ชื่อว่ากองทหารม้าอมตะ (Immortal) แต่ก็ยังมีจำนวนแค่ 10,000 คน ส่วนมากรอดชีวิตจากการรบมาได้เท่านั้น จนต้องมีการจ้างทหารรับจ้างมาจากทุกหนทุกแห่งเท่าที่จะทำได้เพื่อมาช่วยยันตุรกีที่กำลังแผ่ขยายอำนาจเข้ามา

 

ถึงจะเอาทหารรับจ้างมาหมดแล้วแต่กองกำลังก็ยังไม่พออยู่ดีจนจักรพรรดิอเล็กซิอุสที่ 1 ต้องขอร้องสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 จนเป็นต้นเหตุของสงครามครูเสดครั้งแรกกับชาวเติร์ก เป็นอันว่าไบแซนไทน์สามารถเอาดินแดนคืนมาได้ในที่สุด จักรวรรดิได้เป็นฐานทัพสำหรับกองทัพครูเสดอีกหลายครั้งโดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าสงครามครูเสดครั้งที่ 4 พวกนักรบครูเสดจะหันมาเล่นงานจักรวรรดิเสียเอง ปล้นสะดมจนไม่เหลือหลอ ที่ร้ายกว่านั้นคือหลังจากจักรวรรดิมานูเอลที่ 2 คอมเนนอสสวรรคตในปี 1180 จักรวรรดิจะไม่ฟื้นอีกเลยจนกระทั่งถูกจักรวรรดิออตโตมันยึดได้ในปี 1453

โอเค หมดสำหรับประวัติคร่าวๆ ของกองทัพโรมันแล้วครับ ต่อไปผมจะเริ่มเจาะลึกให้มากขึ้นเป็นหัวข้อๆ ไป ตอนนี้เอาประวัติไปเรียกน้ำย่อยก่อน แล้วผมก็จะหาวิธีเอารูปขึ้นบอร์ดให้ได้ด้วยครับ

โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 16/03/2008 09:37:18


ความคิดเห็นที่ 6


อันนี้เป้นภาพของกองทัพโรมันสมัยแรกครับซึ่งจะดูเหมือนกับในภาพ ลองดูซิว่าจะติดมั้ย
โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 16/03/2008 09:45:38


ความคิดเห็นที่ 7


ไม่เวิร์ก เอาลิงค์ไปก่อนก็แล้วกันครับ

http://i252.photobucket.com/albums/hh10/Col_Thompson/phalanx.jpg

อันนี้สมัยถัดมาหน่อย เป็น Hastati ครับ ภาพจาก RTW เพราะใกล้เคียงที่สุด

http://rtw.heavengames.com/rtw/info/units/hastati.jpg
โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 16/03/2008 09:52:12


ความคิดเห็นที่ 8


อ่าเพิ่มเติมอีกนิด ถ้าใครสนใจเรื่องโรม การกำเนิดของโรม

ถ้าเป็นนักศึกษาลองไปหา วิชาอารยธรรมตะวันตกดู

เรียนเอาเกรด ง่ายๆ สบายๆ

และเพิ่มอีกนิด การก่อกำเนิดโรมเกิดจากตำนาน หมาป่าสองตัว

ถ้าจำไม่ผิดชื่อ โรมุส กับโรมุรัส หรือเปล่าไม่แน่ใจ

ใครรู้ช่วยขยายความที...

โดยคุณ siamman18 เมื่อวันที่ 16/03/2008 22:58:20


ความคิดเห็นที่ 9


ชื่อโรมูลุส กับรีมุสครับ ก่อตั้งโรมในปี 753 BC แล้วภายหลังรีมุสก็โดนฆ่าตาย แต่นั่นมันตำนานนะครับ ของจริงเป็นยังไงยังมืดแปดด้านก็เพราะที่กอลมาปล้นโรมตอนปี 387 BC นั่นแหละ เล่นเอาหลักฐานหายเรียบ
โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 17/03/2008 07:13:54


ความคิดเห็นที่ 10


ก็คงมีผมล่ะมั้งครับที่ให้ความสนใจ เพราะศึกษามานานมากแล้วทั้งโรมันและกรีก เสร็จจากนี้ผมจะทำของกรีกออกมาบ้างเพราะว่าสมัยนี้ก็ยังเป็นประเทศที่ทรงอานุภาพทางทหารอยู่ (ถึงจะต้องซื้อเขาน่ะนะ)


กองทหารโรมัน – อาวุธยุทโธปกรณ์คู่กาย

 

ตลอดช่วงเวลาเกือบ 2,000 ปีที่กองทัพโรมันตั้งอยู่บนโลกนี้จนกระทั่งหายไปได้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ไปหลากหลายแบบเสียจนทำลิสต์ได้เต็มหน้ากระดาษ A4 เลยทีเดียว ซึ่งชาวโรมันเป็นนักปรับตัวที่ดีมากกล่าวคือจะปรับตัวไปใช้ของที่ดีกว่าในทันทีไม่ต้องเสียเวลา ซึ่งอุปกรณ์พวกนี้ส่วนมากไม่ได้มาจากมันสมองของชาวโรมโดยตรงครับ

 

- มีดสั้น (Pugio) เป็นมีดทรงใบไม้ยาวประมาณ 18 – 28 เซนติเมตร กว้างราว 5 เซนติเมตร ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวแต่โดยมากจะกลายเป็นมีดอเนกประสงค์มากกว่า แถมยังใช้ในการลอบสังหารบ่อยที่สุดด้วยเพราะเล็กพกพาง่าย ทหารจะพกไว้ที่เอวด้านขวา

 

- หอก (Hasta) อันนี้เป็นของชาวโรมโดยตรงเช่นเดียวกับที่เป็นของชาติอื่นๆ ทั่วโลก เป็นหอกปลายเหล็กมีด้ามเป็นไม้ Ashwood ยังไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงมันยาวเท่าไหร่แน่แต่เชื่อว่ายาวไม่ต่ำกว่า 6 ฟุตหรือ 182 เซนติเมตร แต่ไม่ยาวเท่าหอกฟาลังซ์ของกรีก ปลายอีกด้านหนึ่งเป็นเหล็กเหมือนกันใช้ปักลงดินกับสังหารข้าศึกที่นอนบนพื้น มีประโยชน์มากสำหรับการรับมือทหารม้า (เพราะม้าจะไม่ยอมวิ่งเข้าหาของแหลมๆ) ในยุคแรกทั้งทหารราบเบาและทหารหอกต่างใช้หอกทั้งสิ้นแต่ว่าภายหลังก็เหลือแต่ทหารหอก Triarii อย่างเดียว

 

- ดาบสั้น (Gladius) เป็นดาบสั้นที่มีต้นกำเนิดในฮิสปาเนียหรือว่าสเปนแล้วชาวโรมรับเอามาใช้งาน เป็นดาบยาว 60 เซนติเมตรซึ่งอาจจะดูสั้นสำหรับบางคนแต่ว่ามีประโยชน์มากในการต่อสู้แบบรูปขบวนประชิดเพราะไม่ต้องมีที่ว่างสำหรับกวัดแกว่งดาบไปมาเหมือนพวกที่ยาวกว่า ดาบสั้นใช้วิธีแทงสวบเข้าไปเลยเป็นอันจบเกม ดาบแบบดั้งเดิมของสเปนเอวจะคอดเล็กน้อยเหมือนนางแบบ แต่ว่าของโรมันแบบปอมเปอี (ดาบของโรมันมี 3 แบบตามเมืองที่ขุดพบ คือแบบไมนซ์ แบบฟูแลม และแบบปอมเปอี) จะตรงเหมือนดาบธรรมดา โลหะที่ใช้ทำดาบจะเป็นเหล็กกล้าอย่างดี อาจจะเป็นแบบตีทับกันหลายชั้นหรือว่าตีแผ่นเดียวก็ได้ ส่วนด้ามจะเป็นไม้ กระดูกหรืองาช้างขัดมันอย่างดี ทหารจะคาดดาบไว้ที่เอวด้านขวา

 

- ดาบยาว (Spatha) อันนี้ได้มาจากชนเผ่าเซลติกแถบยุโรปตอนเหนือ มีไว้ให้สำหรับทหารม้าซึ่งมีลักษณะเหมือนดาบสั้นแต่ยาวกว่าแต่ไม่เกิน 1 เมตร เพราะทหารม้านั่งอยู่บนม้าที่สูงเกือบ 2 เมตร และยังไม่มีแป้นเหยียบ (Stirrup) จึงต้องมีช่วงชกยาวหน่อยไม่อย่างนั้นกว่าจะเอนตัวลงไปแทงข้าศึกด้วยดาบก็มีหวังตกม้าลงไปคอหักก่อน และเนื่องจากมันยาวมากจึงต้องอยู่ที่เอวด้านซ้ายให้สามารถชักดาบออกมาได้อย่างสะดวก

 

- หอกซัด (Pilum) เป็นหอกที่ทหารดาบโรมันใช้ซัดใส่ข้าศึกเพื่อตัดกำลังก่อนชาร์จซึ่งการวิจัยล่าสุดพบว่าสามารถขว้างได้ไกลถึง 30 เมตร ตัวด้ามไม้ยาวไม่เท่าไหร่คือ 4 ฟุต ที่เหลืออีก 3 ฟุตเป็นเหล็กยาวแหลม มีปลายเป็นสามเหลี่ยมเหมือนลูกธนู ความสามารถพิเศษของหอกนี้ก็คือเวลาขว้างไปกระทบกับโล่ของข้าศึกแล้วก้านที่เป็นเหล็กจะงอแล้วจะดึงออกไม่ได้ ผลคือข้าศึกต้องโยนโล่ทิ้งแล้วเป็นเป้าให้กับอาวุธอย่างอื่น หากขว้างไม่โดนอะไรก็ยังกลายเป็นเครื่องกีดขวางได้ด้วย แต่ถ้าขว้างถูกคนแล้วจะเป็นยังไงเดากันเอาเองแล้วกันครับ มีเกราะไม่มีเกราะมีค่าเท่ากัน

 

- หอกซัดขนาดเล็ก (Verutum) เหมือนกับ Pila แต่มีขนาดเล็กกว่าคือยาวเพียง 1.1 เมตร สำหรับให้พลโจมตีฉาบฉวยเอาไว้ใช้งาน เพราะมีขนาดเล็กแต่ละคนเลยสามารถพกได้อย่างต่ำ 4-5 เล่มผิดกับทหารดาบที่พกได้แค่ 2 เล่ม หอกซัดเป็นอาวุธที่น่ากลัวมากพอสมควรเพราะใช้ได้กับข้าศึกทุกรูปแบบรวมถึงช้างศึกด้วย

 

- ธนู (Arcus) เป็นธนูคอมโพสิตที่พลช่วยรบเหล่าธนูจะใช้งานสำหรับยิงข้าศึกเพราะยิงได้ไกลและแรงมาก มีหลักฐานว่าธนูมีขาไม่เท่ากันคือด้านบนจะยาวกว่าด้านล่าง

 

- ลูกดอกยักษ์ (Plumbata) เป็นลูกดอกปาเป้าธรรมดาๆ ที่ขยายขนาดขึ้นมาอีกร้อยเท่าได้แล้วถ่วงด้วยตะกั่วเพื่อให้มีแรงปะทะมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนหางทำมาจากขนนกแทนพลาสติก

 

- ทวน (Contus) ซึ่งโรมได้มาจากกรีก แล้วกรีกได้มาจากทหารม้าหนักของซาร์มาเทียอีกทีหนึ่ง เป็นอาวุธคู่ใจทหารม้าโรมันเพราะมีความยาวมากกว่า Hasta เดิมมาก คือยาวถึง 3.5 – 4.5 เมตรเลยทีเดียว

 

แล้วก็มาถึงช่วงของเกราะกันบ้าง

 

- เสื้อเกราะโซ่ (Lorica Hamata) เป็นเสื้อเกราะรุ่นแรกๆ ที่โลกรู้จักนอกจากเสื้อเกราะหนัง ส่วนมากทำมาจากห่วงสำริดหรือว่าห่วงเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร ให้การป้องกันได้จากการโจมตีทุกรูปแบบเพราะส่วนมากดาบจะมีขนาดใหญ่กว่าห่วงทำให้แทงไม่ถึงตัว ต้องใช้ธนูหัวเจาะเกราะเล็กพิเศษเท่านั้นถึงจะเอาอยู่ อายุการใช้งานจัดว่ายาวนานมากแต่ว่าผลิตออกมาได้ยากพอสมควร ในสมัยโรมันจึงมีเพียงกองทหารราบหนัก (Principes) เท่านั้นที่มีโอกาสได้ใช้

 

- เสื้อเกราะแผ่น (Lorica Segmentata) อันนี้เป็นสัญลักษณ์ของกองทหารดาบโรมันยุคจักรวรรดิเลยทีเดียว แผ่นเกราะทำมาจากเหล็กกล้าอย่างดีรัดเข้าด้วยสายหนัง เสื้อเกราะนี้น้ำหนักเบากว่าเกราะโซ่ 4 เท่าแล้วยังป้องกันอาวุธได้ดีกว่าด้วย และปกติจะขัดกันจนมันเลื่อมสะท้อนแสงพอแสบตาไปได้หลายนาทีเลยทีเดียว เท่าที่มีการขุดพบมีอยู่ 3 แบบคือแบบ Kalkriese แบบ Corbridge และแบบ Newstead ซึ่งแบบหลังจะออกแบบดีที่สุด ปกติเวลารบทหารจะสวมผ้าพันคอเอาไว้ด้วยกันไม่ให้โลหะบาดคอ

 

- เสื้อเกราะเกล็ด (Lorica Squamata) เป็นเสื้อเกราะเกล็ดที่ออกแบบมาสำหรับทหารดาบและทหารช่วยรบเหมือนๆ กันทำจากเหล็กหรือสำริดไม่ก็ผสมเข้าไปด้วยกันเสียเลย แผ่นโลหะแต่ละแผ่นไม่ค่อยหนานักอาจจะแค่ 0.8 มิลลิเมตรเป็นอย่างมาก แต่การที่ซ้อนกันหลายๆ ชั้นช่วยเรื่องการป้องกันได้ดี ถึงตอนนี้ยังไม่มีการขุดพบเสื้อเกราะทั้งชุด เจอแต่เศษแผ่นโลหะ

 

- สนับแข้ง อันนี้สำคัญเพราะช่วยป้องกันขาของทหารจากการโจมตีได้ ทำจากเหล็กเป็นรูปโค้งครอบทั้งหน้าแข้งลงมาถึงข้อเท้า ปกติเซ็นจูเรียนเท่านั้นที่จะได้ใส่จนกระทั่งมาถึงยุคของจักรพรรดิทราจันที่ทหารทุกคนได้สวมสนับแข้งเหมือนกันหมด เพราะต้องดวลกับชาวดาเซียนหรือโรมาเนียที่มีง้าวเป็นอาวุธ

 

- เกราะแขน (Manica) เป็นเกราะแผ่นซ้อนเหลื่อมกันซึ่งปกติผู้ใช้มักจะเป็นนักสู้แกลดิเอเตอร์ แต่ว่าจักรพรรดิทราจันเองก็ได้เอามาใช้งานด้วยเหตุผลเดียวกับสนับแข้งคือป้องกันจากง้าวของชาวดาเซียน เกราะแขนนี้จะคลุมหมดทั้งท่อนแขนปลอดภัยจากการโจมตีทุกรูปแบบ

 

- โล่ (Scutum) เป็นโล่ไม้อัดรูปสี่เหลี่ยมโค้งที่ชาวโรมันทำได้เป็นรุ่นแรกๆ มีขนาดสูง 1 เมตรกว้าง 86 เซนติเมตร หนา 5-6 มิลลิเมตร แต่เบามากจนถือวิ่งได้สบาย ด้านหน้าโล่จะทาสีประจำสังกัดของกองพลทหารดาบแต่ส่วนมากจะเป็นสีแดงเลือดจนใครเห็นแล้วก็ต้องสะท้าน ตกแต่งด้วยลวดลายตามแบบที่กองพลได้วางเอาไว้ ซึ่งเจ้าโล่นี้จะป้องกันการโจมตีจากธนูและดาบได้เป็นอย่างดีจากรูปทรงโค้งที่จะทำให้การโจมตีทั้งหมดแฉลบไปเหมือนกับเกราะลาดเอียงของรถถังในสมัยปัจจุบัน ตรงกลางโล่จะเป็นปุ่มเหล็กยื่นออกมาเพราะด้านในเป็นมือจับ และใช้กระแทกข้าศึกได้ผลนัก

 

- โล่วงรี (Parma) เป็นโล่วงรีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตรสำหรับทหารช่วยรบและทหารม้าที่ไม่ต้องพึ่งการปกป้องมากเหมือนกับกองทหารดาบ แต่ว่ายังไงเสียโล่นี้ก็แข็งแกร่งมากเพราะใช้เหล็กทำเป็นโครง

 

- หมวกเหล็ก (Galea) อันนี้มีหลายแบบมากจนจาระไนกันไม่หวาดไม่ไหว แต่มีที่สำคัญจริงๆ อยู่ไม่กี่แบบคือ Montefortino, Coolus, Imperial Italic และ Imperial Gallic ซึ่งแบบหลังจะคุ้นหน้าคุ้นตาคนภายนอกมากที่สุด หมวกนี้ทำให้ข้าศึกต้องมึนเวลาโจมตีเพราะว่าตัวหมวกขัดมันปลาบ มีกระบังหน้ากันดาบ ด้านหลังก็มีปีกหมวกเหล็กที่ยาวกว่าหมวก Stahlhelm เสียอีกกันเอาไว้ ที่แก้มมีแผ่นเกราะเหล็กห้อยลงมาปกป้อง เรียกว่ามีแค่ใบหน้าเพียวๆ ที่โผล่ออกมาให้เห็น ถ้าเป็นนายทหารยศพิเศษจะมีแผงขนม้าประดับเอาไว้ด้วย

 

- เสื้อผ้า (Tunica) เป็นเสื้อทอจากผ้าขนแกะที่ทหารโรมันส่วนมากชอบย้อมสีแดงเข้มเข้าไปด้วย (สมัยนั้นสีแดงแบบสดใสมีราคาแพงมหาโหด) ลักษณะจะเป็นเสื้อมีแขนและชายเสื้อจะยาวลงมาคลุมถึงครึ่งหน้าแข้งหากไม่สวมเข็มขัด ทหารเลยมักจะรัดให้ชายเสื้อขึ้นมาถึงหัวเข่าแทน แล้วทับด้วยเสื้อเกราะ

 

- รองเท้า (Caligae) เป็นรองเท้าทำมาจากสายหนังสีน้ำตาลเย็บรวมกันเป็นรองเท้าแตะ พื้นรองเท้าจะเป็นหนังซ้อนทับกันหลายชั้น และมีตะปูเหล็กสำหรับยึดเกาะเย็บตามขอบรองเท้า ตรงกลางจะมีหมายเลขโรมันบอกถึงสังกัดเวลากระทืบหน้าข้าศึกจะได้กลับไปบอกได้ว่าโดนกองไหนโจมตี ภายหลังเมื่อกองทหารดาบต้องเดินทางไปในพื้นที่ชื้นแฉะรองเท้าบูทหนัง (calceus) เลยได้มาประจำการแทน แต่ยังคงมีปุ่มเหล็กเหมือนเดิม

 

- เข็มขัด (Balteus) เป็นเข็มขัดรัดเอวสำหรับคาดซองดาบติดตัวเวลาไปไหนมาไหนสำหรับทหารโรมัน ด้านหน้าเข็มขัดจะแขวนสายหนังติดแผ่นเหล็กกลมอันเท่าเหรียญเป็นแพซึ่งเชื่อว่าใช้ป้องกันเขตมีอาวุธจากคมดาบข้าศึก และใช้ปิดชายเสื้อเอาไว้ไม่ให้มันเปิดเวลาเจอลมแรงๆ

 

- กางเกง (Braccae) ปกติชาวโรมเกลียดการใส่กางเกงพอๆ กับเกลียดชนเผ่าป่าเถื่อนเพราะว่าพวกหลังชอบสวม แต่พอกองทหารถูกส่งไปทำการยังยุโรปตอนเหนือที่อากาศเย็นเฉียบถึงกระดูกก็ต้องยอมเพราะเสื้อผ้าปกติกันหนาวแทบไม่ได้เลย ซึ่งจะเป็นเพียงกางเกงรัดรูปขาสามส่วนคลุมแค่ใต้เข่าพอดีเท่านั้น

โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 17/03/2008 07:20:39


ความคิดเห็นที่ 11


ต่อครับ (หมดแม็กแล้วสำหรับบทความเริ่มแรก แต่ว่าถ้าอยากรู้อะไรก็ถามได้ครับ)

เงินเดือน

 

สมัยโรมันนั้นมีการใช้เงินตรากันแล้ว และอันที่จริงเงินตรามีมาตั้งแต่ 100,000 ปีก่อนเลยไม่แปลกกันมากนัก แต่ว่ายังไม่มีธนบัตรใช้ (แถมค่าเงินแกว่งง่ายเลยไม่ค่อยนิยม) ก็เลยต้องมีการใช้แร่มาหลอมทำเป็นเหรียญแทน การวัดค่าจะเหมือนกับเหรียญโอลิมปิกคือจากค่ามากที่สุดคือทองคำ เงิน สำริดไปหาทองแดงที่น้อยที่สุด

 

ก่อนหน้าที่กองทหารโรมันจะกลายเป็นทหารอาชีพไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้ เพราะว่าโดยมากจะโดนเกณฑ์ไปรบในฐานะทหารบ้านป้องกันเมือง (แรงจูงใจคือทรัพย์สินที่ตัวมี หากแพ้ก็ต้องถูกปล้นแน่นอน) แต่พออัส มาริอุสมาปุ๊บพลทหารธรรมดาสุดๆ จะได้รับ 225 เหรียญเงินเดนาริอุสต่อปี (1 เดนาริอุส = 20 เหรียญ) ซึ่งถือว่ามากสำหรับทหารที่แทบจะไม่ต้องซื้อหาอะไรมาสักอย่าง และยังไม่ได้รวมข้าวของที่ยึดจากข้าศึกได้อีก พอต่อมาในสมัยของจักรพรรดิโดมิเทียนเงินปีถึงได้เพิ่มเป็น 300 และท้ายสุด 500 เหรียญเงินต่อปีในสมัยของเซพติมิอุส เซเวอร์รัส ยิ่งถ้าเป็นระดับสูงขึ้นไปอย่างเซ็นจูเรียน ก็ได้รับอย่างเบาะๆ เกือบ 1,000 เหรียญเงินต่อปีแล้ว หากเป็นสมาชิกกองพันที่ 1 แล้วล่ะก็จะยิ่งได้เงินมากขึ้นไปอีก เคยมีถึงขั้นที่ว่าพอปลดประจำการแล้วสามารถกลายเป็นชนชั้นขุนนางได้ทันที (กำหนดไว้ว่าจะต้องมีทรัพย์สินมูลค่ารวมกัน 400,000 เหรียญทองแดง)

 

ทหารเมื่อปลดประจำการแล้วจะได้รับเงินบำเหน็จคนละ 3,000 เหรียญเงินพร้อมกับที่ดินคุณภาพดีไว้ใช้เพาะปลูกไปตลอดชีวิตที่เหลือ

 

ชีวิตในกองทัพ

 

ชีวิตในกองทหารอาชีพของโรมันก็ไม่ต่างไปจากชีวิตของทหารประจำการสมัยใหม่สักเท่าใด หลังจากสมัครเข้ากองทัพ รับเบี้ยหลวงแล้ววันๆ พวกเขาจะต้องฝึกแล้วฝึกอีก โดยในเวลา 24 ชั่วโมงจะแบ่งเป็นช่วงเวลา 8 กะ มีแตรบอกเวลาทุกครั้ง สำหรับทหารผ่านศึกจะฝึกแค่ช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่ถ้าหากเป็นทหารมาใหม่จะต้องโดนสองช่วงในตอนเช้ากับหลังมื้อเที่ยง การฝึกจะเป็นเดินขึ้นเขา 32 กิโลเมตร หรือวิ่ง 5 ไมล์โดยมีอุปกรณ์เต็มอัตราศึก

 

ทหารทุกคนจะได้รับการฝึกทักษะเหมือนกันหมดไม่เลือกว่าจะตำแหน่งอะไร ทุกคนต้องว่ายน้ำจนเป็นเพื่อความสะดวกในการข้ามแม่น้ำออกไปรบ ต้องขี่ม้าได้ ต้องใช้อาวุธได้ทุกประเภท มีด ไม้ ปืน เชือก ธนู ก้อนหิน ต้องได้หมด แต่ว่าไม่ต้องห่วงเรื่องการบาดเจ็บเพราะอุปกรณ์ในช่วงนี้จะเป็นของสำหรับฝึกโดยเฉพาะ เช่นดาบไม้ โล่สาน หอกไม่มีคมแล้วหุ้มด้วยผ้าหนาอีกทีเป็นต้น

 

สำหรับเป้าหมายในอาชีพกองทัพสำหรับทหารก็แล้วแต่ชนชั้นว่าเป็นชนชั้นใด หากว่าเป็นชนชั้นล่างคือขอให้ได้เป็นเซ็นจูเรียน ก็ถือว่าเยี่ยมยุทธ์มากแล้ว ส่วนชนชั้นกลางนั้นจะหาตำแหน่งที่สูงกว่าคือระดับรองแม่ทัพหรือผู้บัญชาการกองทหารเหล่าย่อยเช่นทหารช่วยรบหรือว่าทหารม้า ส่วนผู้บัญชาการใหญ่ทั้งกองทัพจะอยู่กับชนชั้นสูง

 

ถ้าหากว่าทหารคนใดเป็นทหารดีเด่น หรือแม่ทัพที่ชนะศึกมามากจะได้รับการตอบแทนอย่างงามในรูปของสร้อยคอ ถ้วย หรือเหรียญตราอันเกือบเท่าจานข้าวติดเสื้อเกราะ (จะติดเวลาเดินสวนสนาม) โดยภายในกองพลแม่ทัพจะเป็นคนเลือก

 

ระเบียบวินัยภายในกองทัพโรมันถือว่าเป็นตำนาน และถึงจะเคร่งครัดแต่ก็ใช่ว่าจะไร้เหตุผล หรือว่าปิดกั้นความคิดริเริ่มของทหารเสียทีเดียว อย่างไรเสียทหารที่มีความคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ จะอันตรายต่อข้าศึกมากกว่าทหารที่หลับหูหลับตาทำตามคำสั่งอย่างเดียว แต่อย่าคิดว่าทำผิดแล้วจะโดนลงโทษไม่มากเพราะหากมีทหารคนใดทำผิดระเบียบเช่นแอบหนีไปเที่ยว ลักขโมย หรืออะไรทำนองนี้จะถูกลงโทษอย่างหนักแบบที่ว่ากองทัพสมัยใหม่บางประเทศยังเสียวไส้ และถือว่าโหดมากแม้แต่ในมาตรฐานสมัยใหม่ เช่น

 

- ลงโทษประเภทก่อคดีเช่นขโมยของหรือแอบหนีเที่ยวก็จะมีวิธีการลงโทษหลายแบบแล้วแต่นายทหารจะต้องการ เช่นโดนเซ็นจูเรียนตีด้วยไม้ตะพด โดนหวดด้วยแส้ต่อหน้ากองทหาร โดนหักเงินเดือน ต้องสาบานตนเข้ากองทัพใหม่อีกรอบ ทำงานหนัก ถูกปลดจากกองทัพ โดนจับไดเอท (ลดปริมาณอาหาร) หรือให้กินข้าวบาร์เลย์แทน หนักสุดจะเป็นการจับยัดใส่กระสอบงูแล้วโยนทิ้งลงแม่น้ำ อย่างหลังสุดนี่โดนบ่อยเสียด้วย

 

- ลงโทษด้านผิดวินัยกองทัพอย่างแรงเช่นการหักหลัง หนีทัพแบบหายจ้อย ไม่ฟังคำสั่งหรือว่าละทิ้งหน้าที่มีโทษถึงตาย แต่ว่าจะมีการพิจารณาเป็นรายตัว และทหารหนุ่มๆ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะทหารผ่านศึกใช่ว่าจะหามาได้ง่าย ถ้าโดนประหารถือว่าโชคร้ายแบบสุดๆ วิธีการคือโดนปาด้วยก้อนหินจนตาย

 

ถ้าหากว่าเกิดการหนีทัพแบบมโหฬารจะมีมาตรการสุดโหดที่เดี๋ยวนี้เลิกกันไปหมดแล้ว คือการ Decimatio หรือว่าเก็บทุกๆ 10 คนแบบในภาพยนตร์ดังๆ เกี่ยวกับโรม คือจัดเรียงทหารเป็นกลุ่มละ 10 คน ทุกๆ คนที่ 10 จะโดนอีก 9 คนที่ถือรุมกระทืบตายโดยไม่สนว่าจะมีประวัติดีเด่นมายังไงหรือว่ามียศอะไรติดอยู่ คนที่รอดมาได้จะโดนไล่ออกไปนอนนอกแคมป์เป็นเวลาหนึ่งด้วย แต่ว่าการทำแบบนี้เกิดขึ้นแทบจะนับครั้งได้ เพราะว่าส่งผลต่อขวัญกำลังใจโดยรวมกับสมรรถนะการรบของกองทัพ (คนหายไป 1 ใน 10) ลงมาก ถ้าไม่ถึงขั้นจริงๆ จะไม่มีการทำ

 

ส่วนทหารที่สามารถหนีเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษไปได้จะมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีคือจะไม่มีใครออกไปตามตัวกลับมาลงโทษ แต่ข่าวร้ายคือจะติดบัญชีดำจากโรมโดยตรง คือต้องหลบซ่อนตัวไปตลอดชีวิต

 

เจาะลึก สาเหตุที่กองทัพโรมันสามารถเอาชัยได้แทบทุกที่

 

กองทัพแห่งจักรวรรดิโรมันถือว่าเป็นกองทัพที่น่าสนใจกองหนึ่งเพราะว่าสามารถแผ่ขยายอาณาจักรไปได้ไกลในสไตล์เดินฝ่าคมหอกคมดาบมาตลอด มีพื้นที่เล็กกว่าประเทศจีนสมัยฮั่น (206 BC -220 AD) ไม่เท่าไหร่ และหลายคนก็พยายามจะหาคำตอบมาตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ ว่าทำไมพวกเขาถึงได้ทรงประสิทธิภาพนักขนาดที่กองทัพสมัยกลางบางประเทศยังสู้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

 

ก่อนอื่นก็ต้องมาดูสิ่งที่ดูได้ง่ายที่สุดคืออุปกรณ์ กองทัพโรมันหุ้มเกราะหนาสวมหมวก ถือโล่เหมือนรถถังเดินได้ในขณะที่ข้าศึกส่วนใหญ่ยังเป็นคนป่าสวมเสื้อผ้าธรรมดา ถือโล่เล็กๆ อันหนึ่ง ไม่ก็ไม่สวมอะไรเลย เช่นกอล และเยอร์มาเนียเป็นต้น ในเมื่อทหารราบหนักมีบทบาทเฉพาะคือเข้าปะทะโดยตรงความคล่องตัวเลยไม่จำเป็นมาก เอาแค่พอเดินไหวเป็นใช้ได้ นอกจากนี้ชุดเกราะที่ว่ายังเป็นเครื่องแบบมาตรฐานที่รัฐจัดหาให้จึงเหมือนกันหมด ง่ายต่อการส่งกำลังบำรุงและคุณภาพยังเหมือนๆ กันด้วย ไม่ใช่คนหนึ่งมีเกราะอีกคนเป็นอาร์คีมิดิสเบอร์สองหรือสาม (จำได้หรือเปล่าครับ ตอนที่อาร์คิมิดีสค้นพบหลักการแทนที่ด้วยน้ำพี่ท่านเล่นวิ่งตัวเปล่าไปตามถนนร้องยูเรกา ยูเรกา)

 

และในสงครามปิดล้อมเมืองกองทหารโรมันแทบไม่ต้องนำเอาอุปกรณ์มาจากเมืองแม่ ขอแค่มีทรัพยากรพร้อมก็สามารถสร้างมันได้ตรงนั้นเลย ซึ่งทักษะทางวิศวกรรมนี้เปรียบเหมือนจุดแข็งของชาวโรมจนไม่มีเมืองใดที่ตีไม่แตกเลย

 

ระเบียบวินัยของกองทหารโรมันถือว่าแกร่งและเข้มเหมือนกาแฟอย่างที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วล่วงหน้าซึ่งเป็นประโยชน์มากในการต่อสู้กับข้าศึก การฝึกที่สม่ำเสมอทำให้พวกเขาต่อสู้ได้ยาวนานกว่าโดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพลงไปเลย การส่งกำลังบำรุง การสร้างป้อม ทุกอย่างมีระบบระเบียบแน่ชัด (ทำไมบ้านเราไม่มีบ้างนะ) แถมยังมีความอ่อนตัวในตัวของมันเองจึงสามารถรับมือกับข้าศึกได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะกองโจร ปิดล้อม หรือเจอทหารม้า รับได้หมด

 

และถ้าหากว่าศึกสงครามกำลังจะเข้ามายังบ้านของตัวเองชาวโรมจะเทกระเป๋าสู้เต็มที่อย่างเช่นในสงครามพูนิคกับคาร์เธจกองทัพโรมันต้องจัดหาชุดเกราะอย่างเร่งร้อนจนถึงขั้นต้องไปเอาชุดเกราะในวิหารเทพมาสวมออกรบ แต่ว่าพอปัดเป่าออกไปแล้วชาวโรมจะไม่หยุดอยู่แค่นั้นเสียด้วย คือสู้แบบเทกระเป๋ามันต่อไป สู้แบบไม่มีกำหนดจนกว่าบ้านเมืองของฝ่ายตรงข้ามจะราบเป็นหน้ากลอง หรือจนกว่าจะสาแก่ใจ

 

ถ้าทหารดีแต่ผู้นำแย่ก็ใช้ไม่ได้เหมือนสงครามซิมเบรียนที่กองทัพโรมันต้องพ่ายแพ้ต่อผู้อพยพเพราะผู้นำขาดประสิทธิภาพ ซึ่งในกองทัพโรมันก็มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป แต่ว่าส่วนมากผู้นำกองทัพล้วนแต่มีประสิทธิภาพ เช่นไกอัส มาริอุส, จูเลียส ซีซาร์, ออกัสตัส, หรือว่าทราจันเป็นต้น จนกระทั่งในยุคหลังๆ ที่ผู้นำพากันอ่อนเปลี้ยเพลียแรงจากปัญหาการเมืองสารพัดจนทหารอ่อนยวบตามไปด้วย

 

นอกจากนี้กองทัพโรมันยังพร้อมที่จะรับเอาของใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมมาใช้งาน เช่นดาบจากสเปน เรือรบจากคาร์เธจ ทหารม้าธนูจากเปอร์เซีย ชาวโรมันยินดีรับหมด ถ้าเปรียบกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็เหมือนโปรแกรมที่มีตัวแพทช์คอยปรับปรุงตลอดเวลาให้ดีขึ้นตามเวลาที่เปลี่ยนไป


โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 19/03/2008 02:16:34