หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 บทบาทของ ทหาร ในสายตาและความนึกคิดของประชาชนชาวไทยแล้ว ดูเหมือนจะถูกเก็บเข้าไว้ในลิ้นชักลึกสุดของความคิดที่ว่า
ทหารจะไม่ลุกขึ้นมาปฏิวัติหรือรัฐประหารอีก
เพราะบทเรียนที่ผ่านมาทำให้ทหารวางตัวอย่างเงียบเชียบที่สุด แต่แล้วเหตุการณ์ในเดือนกันยายน 2549 ความคิดดั้งเดิมของคนไทยเกี่ยวกับทหารก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะทหารยังได้แสดงให้เห็นว่า
ทหารยังคงมีบทบาทนำเสมอในสังคมการเมืองไทย
แม้ว่าสังคมการเมืองไทยจะพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ทหารทุกเหล่าทัพยังคงมีบทบาทและถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกจับตาอย่างต่อเนื่อง
16 มีนาคม 2550 กองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเหล่าทัพ ทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ จะครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนา เป็นห้าสิบปีที่เมืองไทยมีกองบัญชาการทหารสูงสุด และอาจจะเป็นปีสุดท้าย
เพราะอนาคตข้างหน้าอีกไม่นานนัก กองบัญชาการทหารสูงสุด ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กองบัญชาการกองทัพไทย
ปีนี้ บก.สส.จึงจัดงานฉลองยิ่งใหญ่ทั้งที่เป็นปีแรกที่มีการจัดงาน!!
บก.สส.เป็นกองบัญชาการ กำลังของ บก.สส.คือ 3 เหล่าทัพ ซึ่งทั้งสามเหล่าทัพนี้ก็คือกำลังของกองทัพไทย ดังนั้น เขาจะเปลี่ยนชื่อแล้ว แทนที่จะเป็น บก.สส. ก็เป็น กองบัญชาการกองทัพไทย จะได้เข้าใจกันดีขึ้น ฉะนั้น กำลังของกองบัญชาการกองทัพไทยก็คือกองทัพไทย คือ กองทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ พล.อ.บุญสร้างกล่าวเพิ่มเติม
และยังอธิบายด้วยว่า กองบัญชาการจริงๆ ไม่ควรมีกำลัง แต่มีผู้บังคับบัญชา แต่ขณะนี้ บก.สส.ก็เป็นกำลังช่วยเหลือประชาชน เพราะมีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ซึ่งมีหน่วยอยู่ทั่วประเทศ กระจายกันทั่วไป ทำงานหลากหลาย ทั้งเรื่องปศุสัตว์ หน่วยชุดแพทย์ ทำถนน
การปฏิบัติงานของทหารพัฒนาทำได้รวดเร็ว สั่งวันนี้พรุ่งนี้ก็เริ่มได้ เพราะขั้นตอนเราน้อย
หากย้อนรอยประวัติศาสตร์กลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่จะมีกองบัญชาการทหารสูงสุดในปัจจุบัน
เคยมีการจัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุดมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นการเฉพาะในยามสงคราม เพื่อทำหน้าที่ด้านบัญชาการรบ
คือเมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส กับในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดทั้ง 2 ครั้ง และเมื่อหมดภารกิจแล้ว ทางราชการได้ยุบเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และกองบัญชาการทหารสูงสุดลง
การจัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุดในครั้งนั้น จึงเป็นเพียงการจัดตั้งชั่วคราวระหว่างที่มีศึกสงคราม ไม่มีอัตรากำลังพลบรรจุเป็นการประจำ อาศัยกำลังพลจากหน่วยงานที่มีอยู่แล้วเรียกเข้ามาปฏิบัติงาน เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ กำลังพลเหล่านั้นก็กลับไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต้นสังกัดของตนตามเดิม
27 กันยายน 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมีกรมเสนาธิการกลาโหม ทำหน้าที่เป็นส่วนบัญชาการของผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ต่อมาใน 2503 ทางราชการเห็นความจำเป็นของตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุดขึ้นเป็นการถาวร เพื่อเตรียมกำลังรบและป้องกันราชอาณาจักร จึงได้แปรสภาพ กรมเสนาธิการกลาโหม ให้เป็น กองบัญชาการทหารสูงสุด และปรับปรุงเพิ่มเติมหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2503
กองบัญชาการทหารสูงสุดตอนนั้น แบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนาธิการ ฝ่ายกิจการพิเศษ ฝ่ายยุทธบริการ และฝ่ายการศึกษา และได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งเพื่อความเหมาะสม จนกระทั่งในปัจจุบันได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่
ส่วนบังคับบัญชา ส่วนเสนาธิการร่วม ส่วนปฏิบัติการ ส่วนกิจการพิเศษ และส่วนการศึกษา
หน้าที่ของกองบัญชาการทหารสูงสุดจะควบคุมบังคับบัญชาอำนวยการปฏิบัติของกำลังทหารสามเหล่าทัพ และควบคุมบังคับบัญชาอำนวยการปฏิบัติของตำรวจตระเวนชายแดนด้วย
ปัจจุบันผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คือ พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ นายทหารจากเหล่าปืนใหญ่ที่ก้าวขึ้นมาบังคับบัญชากำลังของกองทัพไทย
พล.อ.บุญสร้างพูดถึงวาระครบ 50 ปีแห่งการสถาปนากองบัญชาการทหารสูงสุดว่า บก.สส.จะยังคงเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของชาติ และทำงานการพัฒนาด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งดูแลสวัสดิการของผู้ใต้บังคับบัญชา ดูแลความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างสันติภาพในภูมิภาค
ผบ.สส.ยังบอกด้วยว่า ในฐานะ บก.สส.ได้ดำเนินการหลายเรื่องด้วยกัน อย่างเรื่องเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ก็สนับสนุนให้มีโครงการต่างๆ เช่น บก.สส.เองมีเรื่องการสนับสนุนแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศ ซึ่งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาดำเนินการอยู่
และที่สำคัญคือ เราได้จัดทำ พิพิธภัณฑ์จอมทัพไทย 60 ปี ซึ่งตั้งอยู่ที่ บก.สส.ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่รวบรวมเรื่องราวของพระเจ้าอยู่หัวกับกองทัพไทย เพราะเมื่อท่านขึ้นครองราชย์ ท่านก็ทรงเป็นจอมทัพไทยทันที อีกอันคือจัดตั้งศูนย์สันติภาพ ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อมาว่า ศูนย์สันติภาพจอมทัพไทย 60 ปี เป็นการจัดตั้งอาคารขึ้นมาใหม่ จะเปิดเร็วๆ นี้
และสิ่งหนึ่งที่ บก.สส.อยู่ระหว่างดำเนินการ เพราะเป็นปีสำคัญแห่งการเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา คือ การขอพระบรมราชดำริจัดการเดินสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ขณะนี้เรื่องยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนั้น ได้จัดทำโครงการปลูกป่าดอยแม่สลอง จ.เชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เนื่องเพราะระยะหลังมีผู้บุกรุกเข้าไปมาก และป่าไม้ถูกทำลาย
อีกเรื่องหนึ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือ การจัดตั้ง ศูนย์ยุทธศาสตร์กองทัพไทยเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นเรื่องที่สำคัญในการจัดให้มีสถานที่และหน่วยงานที่จะช่วยเหลือประเทศชาติ ช่วยกองทัพไทย ช่วยสังคมไทย โดยจะเป็นในลักษณะระดมความคิดเพื่อช่วยกันกำหนดยุทธศาสตร์หรือแนวทางของสังคมไทยในระยะยาว ซึ่งเราไม่ค่อยมี แต่ในต่างประเทศเขาทำกันมาก เพราะเป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง
ในวาระ 50 ปี บก.สส. พล.อ.บุญสร้างในฐานะผู้บัญชาการ ยืนยันว่ากองทัพไทยพร้อมจะใช้ทรัพยากรทุกด้านที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาของชาติในทุกด้าน
โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยากของประชาชนทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว รวมถึงการฟื้นฟูสภาพความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติทั้งมวลในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
พล.อ.บุญสร้างบอกว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่ บก.สส.ปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอดนั้น มาจากสิ่งที่ตระหนักและยึดถือ คือ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานว่า
ความสมัครสมานสามัคคีของเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องรักษาไว้ให้ยั่งยืนอยู่ตลอดไป หากเรามีความประมาท เราแตกแยกสามัคคีกันเมื่อใด เราก็จะเป็นอันตรายย่อยยับลงเมื่อนั้น
พระบรมราโชวาทนี้จะอยู่กับเหล่าทหารไม่มีเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมิใช่ บก.สส.อีกต่อไป แต่เป็น กองบัญชาการกองทัพไทย
http://www.asia-online.ch/index.php?option=com_content&task=view&id=488
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/026/35.PDF
พระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 3)
2. กำหนดให้ทหารประกอบด้วยข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่เป็นข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ นักเรียนสังกัดกระทรวงกลาโหมที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และบุคคลที่ถูกเรียกเข้ารับราชการทหาร โดยให้แบ่งข้าราชการกระทรวงกลาโหมเป็นสองประเภท คือ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนกลาโหม (มาตรา 5)
3. กำหนดให้การบริหารราชการกระทรวงกลาโหมต้องดำเนินการตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ (มาตรา 6 และมาตรา 7)
4. กำหนดให้การใช้กำลังทหารนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 8)
5. ให้แบ่งส่วนราชการกระทรวงกลาโหมออกเป็น 5 ส่วนราชการประกอบด้วยสำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมราชองครักษ์ กองทัพไทยและส่วนราชการอื่นที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ (มาตรา 9 ถึงมาตรา 13)
6. ให้แบ่งส่วนราชการกองทัพไทยออกเป็น 5 ส่วนราชการ ประกอบด้วยกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ (มาตรา 15 ถึงมาตรา 21)
7. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติราชการกระทรวงกลาโหม โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนได้ และในกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงกลาโหมมีอำนาจดำเนินการอนุญาต การอนุมัติ และการปฏิบัติราชการประจำแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ โดยให้อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้และกำหนดให้ผู้รับมอบอำนาจอาจมอบอำนาจช่วงได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (มาตรา 22)
8. กำหนดให้การบริหารจัดการกำลังพล การข่าวกรอง และการต่อต้านข่าวกรองทางทหารให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (มาตรา 23 และมาตรา 25)
9. กำหนดให้โครงสร้างองค์กรการฝึก และการศึกษาของข้าราชการทหารต้องมีเอกภาพ เชื่อมโยงซึ่งกันและกันตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และให้มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับระบบส่งกำลังบำรุงและมาตรฐานยุทโธปกรณ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยให้มีคณะกรรมการส่งกำลังบำรุงร่วมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ (มาตรา 26 และมาตรา 27)
10. ให้มีการจัดระเบียบราชการทหารในสถานการณ์ไม่ปกติ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นของของสภากลาโหม และกองทัพไทย มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ และในกรณีที่เห็นสมควรให้มีการใช้กำลังทหารหรือการวางกำลังเพื่อเตรียมการยุทธ ให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหาร และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ และเมื่อการรบหรือสงคราม หรือการปราบปรามกบฎสิ้นสุดลงให้มีอำนาจสั่งยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวที่กำหนดไว้ได้ รวมทั้งกำหนดพื้นที่ใดเป็นยุทธบริเวณหรือเขตภายในก็ได้ สำหรับการใช้กำลังทหารเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยเร็ว ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพ ให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม และมติคณะรัฐมนตรี และให้การปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 31 ถึงมาตรา 36)
11. กำหนดให้มี สภากลาโหม ประกอบด้วย สมาชิกโดยตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมโดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ซึ่งการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากลาโหม กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งกำหนดองค์ประชุมของสภากลาโหมด้วย (มาตรา 37 ถึงมาตรา 42)
12. กำหนดให้มี คณะผู้บัญชาการทหาร ประกอบด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหาร โดยมีผู้บัญชาการทหารสูดเป็นประธานคณะผู้บัญชาการทหาร มีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งในยามปกติและในสถานการณ์ไม่ปกติ (มาตรา 47)
13. ในบทเฉพาะกาล
13.1 ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของกองบัญชาการทหารสูงสุด ไปเป็นของกองบัญชาการกองทัพไทยตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 44)
13.2 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ตราพระราชกฤษีกากำหนดส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ส่วนราชการ เพื่อรองรับกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 48)
http://www.schq.mi.th/index_new.htm กองบัญชาการกองทัพไทย
แบ่งส่วนราชการเป็น 5 ส่วนประกอบด้วย
1. ส่วนบังคับบัญชา - สนง.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, สนง.เลขานุการกองบัญชาการกองทัพไทย, สนง.เจรทหาร, สนง.ตรวจสอบภายในทหาร, สนง.แพทย์ทหาร และกรมกิจการชายแดน
2. ส่วนเสนาธิการร่วม - กรมกำลังพลทหาร, กรมข่าวทหาร, กรมยุทธการทหาร, กรมส่งกำลังบำรุงทหาร, กรมกิจการพลเรือนทหาร, กรมการสื่อสารทหาร และ สนง.ปลัดบัญชีทหาร
3. ส่วนกิจการพิเศษ - กรมสารบรรณทหาร, กรมการเงินทหาร, กรมแผนที่ทหาร, กรมยุทธบริการทหาร และกรมการสนเทศทหาร
4. ส่วนปฏิบัติการ - หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และศูนย์รักษาความปลอดภัย
5. ส่วนการศึกษา - สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, วิทยาลัยเสนาธิการทหาร, สถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์ และสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง) และกรมยุทธศึกษาทหาร (โรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนช่างฝีมือทหาร)
สำหรับประเทศสหรัฐฯนั้นตามรัฐธธรรมนูญประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งจอมทัพของกองกำลังทหารสหรัฐฯทั้งหมด โดยความเข้าใจคืออำนาจการสั่งการใช้กำลังทหารของสหรัฐฯนั้นอยู่ที่คณะรัฐบาลพลเรือนครับ
แต่สำหรับกองบัญชาการกองทัพไทยที่มีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่นั้นไม่ทราบว่าจะอยู่ในกรอบแนวคิดเดียวกับสหรัฐฯคือ รมต.กลาโหม เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติการตัดสินใจใช้กำลังทางทหารโดยมีคณะผู้บัญชาการทหารเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือไม่ครับ
นั่นสิครับ อ่านไปอ่านมา คล้าย ๆ Joint Chief of Staff เลย
เพียงแต่ที่ต่างกันแน่ ๆ ก็คือ สหรัฐจะมีเสนาธิการเหล้าซึ่งเทียบเท่า ผบ.เปล่าทัพ แต่ของเรายังคงเรียกว่าผบ.เหล่าทัพอยู่ ถ้าอย่างงั้นก็ยังคงเป็น Commander In Chief อยู่สิครับ ถ้าเป็นลักษณะนี้หมายความว่า Commander In Chief ก็ยังคงมีอำนาจในการสั่งการใช้กำลังอยู่? ถ้าใช่ กองบัญชาการกองทัพไทยอาจจะเป็นแค่หน่วยประสาน (เหมือนเดิม) ?
สรุปคือยังงงอยู่ครับ
ครับ สรุปก็คือ ยังเหมือนเดิมอยู่ดี เท่าที่อ่านจาก พรบ.ใหม่นี้นะครับ คือ เหล่าทัพยังคงมีหน้าที่ทั้งเตรียมกำลังและใช้กำลังอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นกองบัญชาการกองทัพไทยก็ยังคงมีหน้าที่ประสานงานเหมือนเดิม แต่ดูเหมือนว่างานนี้ รมต.กลาโหม จะมีอำนาจในการสั่งการมากอยู่เหมือนกัน