|
Novator K-100/172 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเย็น ส่วนเวอร์ชั่นล่าสุดนี้เปิดตัวครั้งแรกที่งานมอสโคว แอร์โชว์ ปี 2007 | |
|
หวนฉิวเน็ต สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าจีนมีขีปนาวุธรุ่นล่าสุด PL-13 ซึ่งจะเสริมเขี้ยวเล็บให้แก่ทัพฟ้าของจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และคาดว่าเทคโนโลยีของ PL-13 ได้รับการพัฒนามาจาก R-77M-PD ของรัสเซีย แต่มีสมรรถนะที่เหนือกว่ามาก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศูนย์ประเมินและยุทธศาสตร์นานาชาติแห่งวอชิงตันสหรัฐอเมริกาได้เสนอบทความของ ริชาร์ด ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ระบุว่าขณะนี้จีนอาจมีขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-13 อยู่ในครอบครอง ขีปนาวุธรุ่นดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไอพ่น และอาจมีพิสัยการยิงไกลถึง 100 กิโลเมตร สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ของจีนแห่งหนึ่งปรากฏภาพกราฟิกของขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-13 ของจีน ซึ่งนับเป็นภาพแรกของขีปนาวุธรุ่นนี้ที่เผยแพร่ออกมา และการมีอยู่ของมันจะจริงหรือไม่ ยังต้องรอพิสูจน์ต่อไป ถึงกระนั้นก็ตาม ภาพดังกล่าวที่แสดงภาพขีปนาวุธ 3 ลูก 2 ใน 3 คือขีปนาวุธรุ่นใหม่ของจีน PL-12 และ PL-10 จึงทำให้คนคิดโยงว่าขีปนาวุธอีกลูกที่เหลือ น่าจะเป็นรุ่นล่าสุด PL-13 เพราะมีรายงานว่าสถาบันวิจัยขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแห่งลั่วหยังสนใจที่จะพัฒนา PL-12 โดยใช้เครื่องยนต์ไอพ่น อย่างไรก็ตาม ภาพของ PL-13 ที่เผยแพร่ออกมานี้ มีความเป็นไปได้มากว่าจะเป็นภาพที่บริษัท Vympel ผู้ออกแบบขีปนาวุธของรัสเซียนำเสนอเพื่อขายเทคโนโลยีนี้ให้แก่จีน เพราะภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ขีปนาวุธนี้ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นแบบท่อดูดอากาศ 2 ท่อ ซึ่งเหมือนกับขีปนาวุธรุ่น R-77M-PD ที่ Vympel และบริษัท MATRA ของฝรั่งเศสพัฒนาร่วมกันในช่วงทศวรรษที่ 90 และหลังจากนั้นบริษัทของรัสเซียแห่งนี้ ก็มักใช้เครื่องยนต์แบบนี้กับขีปนาวุธที่พัฒนาขึ้นมาใหม่แทบทุกรุ่น บทความยังอธิบายเพิ่มว่า เนื่องจากกองทัพรัสเซียยังไม่ตัดสินใจซื้อ R-77M-PD ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ Vympel จะเสนอขายเทคโนโลยีให้แก่กองทัพจีนแทน นอกจากนี้ ภาพที่หลุดออกมายังแสดงให้เห็นปีก 4 ด้านทั้งที่ส่วนหัวและส่วนหางของ PL-13 ซึ่งคล้ายกับรุ่น R-27 ที่ Vympel พัฒนา ยิ่งเป็นการยืนยันว่าเป็นเทคโนโลยีของรัสเซีย แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจเป็นเทคโนโลยีจากแอฟริกาใต้ เพราะแอฟริกาใต้มีโครงการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลอยู่โครงการหนึ่ง (LRAAM) เช่นกัน บทความระบุว่า เมื่อ PL-13 ของจีนประจำการจะช่วยเสริมสมรรถนะให้แก่ทัพฟ้าของจีนอย่างมาก เพราะมีรายงานว่าระยะยิงของ R-77M-PD ไกลถึง 160 กิเมตร ฉะนั้นความสามารถของ PL-13 จึงน่าจะใกล้เคียงหรือไกลกว่า 225 กิโลเมตร และเนื่องจาก PL-13 ใช้เครื่องยนต์ไอพ่น ความเร็วของขีปนาวุธน่าจะสูงถึง 4 เท่าของความเร็วเสียง เป้าหมายหลบหลีกได้ยาก ซึ่งในขณะนี้ขีปนาวุธที่มีสมรรถนะเทียบเคียงกันได้นั้น มีเพียงขีปนาวุธรุ่น Meteor ที่บริษัท MBDA ผู้ผลิตขีปนาวุธจากฝั่งยุโรปพัฒนาขึ้นมาเท่านั้น เมื่อเครื่องบินรบที่ติดตั้ง PL-13 ออกรบ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ทำงานร่วมกับเครื่องบินรบจะส่งข้อมูลของเป้าหมายที่อยู่นอกระยะการมองเห็นไปยังเครื่องบินรบ เจียน-11B หรือเจียน-10 ของจีน ทำให้สั่งการยิงไปยังเป้าหมายได้ เมื่อพิจารณาจากพิสัยยิงของ PL-13 ทำให้คาดเดาต่อไปได้ว่าบางทีกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนคงกำลังพัฒนาเรดาร์ตรวจจับระยะไกลอยู่ หรืออาจสนใจนำเข้าเรดาร์ตรวจจับระยะไกลของรัสเซีย เพื่อยกระดับสมรรถนะของเครื่องบินรบที่ประจำการอยู่ในขณะนี้ สำหรับระบบนำวิถีของ PL-13 คาดว่าจะเป็นระบบนำวิถีด้วยเรดาร์ เช่นเดียวกับขีปนาวุธรุ่น R-27 และ R-77 ที่ผลิตโดย Vympel จากการประเมินสมรรถนะของ PL-13 ทำให้คาดเดาได้ว่าขีปนาวุธรุ่นล่าสุดของจีน อาจจะกลายเป็นรุ่นพื้นฐานให้กับจรวดนำวิถีต่อต้านเรดาร์ขนาดเบาและจรวดนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำเร็วกว่าเสียงที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน จีนยังต้องการเพิ่มเขี้ยวเล็บให้แก่กองทัพมากขึ้นอีก เพราะมีรายงานระบุว่า จีนกำลังสนใจสั่งซื้อเครื่องบินรบ SU-35 ของรัสเซียจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากข่าวนี้เป็นความจริง จีนจะนำเข้าระบบอาวุธพิเศษที่ติดตั้งกับเครื่องบินรบรุ่นนี้ด้วย เช่น K-100/172 (R-172) ขีปนาวุธที่มีระยะยิง 300-400 กิโลเมตร ที่พัฒนาโดยบริษัท Novator ด้านผู้เชี่ยวชาญการทหารทวีปเอเชียกล่าวว่า จีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธพื้นสู่อากาศระยะยิง 400 กิโลเมตร และหากจีนพัฒนาขึ้นมาจาก S-400 ของรัสเซีย ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศรุ่นใหม่ของจีนนี้ อาจถูกพัฒนาให้กลายเป็นขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยไกล หรือแม้แต่กลายเป็นขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธแห่งอนาคต.
ที่มา
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000028023
นับเป็นความก้างหน้ของPLA Air Force
|