กองทัพสหรัฐอเมริกาคือกองกำลังที่ปฏิบัติงานเป็นขอบเขตกว้างขวางที่สุดในโลก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯยังส่งทหารเข้าสู้รบในสงครามใหญ่น้อยอีกหลายครั้ง ทั้งในนามของสหประชาชาติและที่บุกเดี่ยวโดยลำพัง ตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม ปานามา และล่าสุดคือสงครามยึดครองอิรัก การทำสงครามบ่อยครั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ทำให้กองทัพต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่อคงความได้เปรียบและลดการสูญเสียกำลังพล นอกจากยุทโธปกรณ์ต่างๆแล้วสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือรูปแบบและลวดลายของเครื่องแบบ ทั้งเครื่องแบบสนามและเครื่องแบบปกติ โดยเฉพาะเครื่องแบบสนามแบบล่าสุดนั้นถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันเพราะแตกต่างจากแบบเดิมสิ้นเชิง ทั้งสีสันและการตัดเย็บ
เครื่องแบบสนามกองทัพบกสหรัฐฯ(Army Combat Uniform ACU)ที่เราเห็นบ่อยขึ้นจากสื่อต่างๆนี้ เป็นผลมาจากกระบวนการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญด้านการซ่อนพรางของหน่วยรบภาคพื้นดิน หลังจากปล่อยให้เหล่านาวิกโยธินนำหน้าไปก่อนด้วยรูปแบบมาร์แพท(Marine Pattern MARPAT) เป็นลายพรางจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆหลากสีเรียงตัวเต็มพื้นที่ทั้งเสื้อและกางเกง โดยACUก็มีลักษณะการวางตัวของลวดลายแบบเดียวกัน เพียงแต่สีสันเท่านั้นที่แตกต่างเพื่อบ่งบอกสถานภาพชัดเจนว่าเครื่องแบบลวดลายนี้คือทหารบก
กระบวนการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบของท.บ.สหรัฐฯนี้ เริ่มต้นขึ้นเป็นทางการในเดือนเมษายน 2005 โดยการเข้ามาทดแทนเครื่องแบบเดิมทั้งแบบพรางป่า(
เครื่องแบบใหม่หรือACUนี้ใช้ลวดลายใหม่ในชื่อว่า Universal Camouflage Pattern(UCP)เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าลายพรางดิจิตอล จากลวดลายจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆคล้ายภาพสร้างจากคอมพิวเตอร์ เป็นการผสมผสานกันระหว่างสีเขียว,น้ำตาลอ่อนและเทา นอกจากลวดลายจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆเรียงรายไม่เป็นรูปทรง คล้ายคลึงกับลายMARPATดังกล่าว มันยังไปคล้ายกับลายCanadian Disruptive Pattern(CADPAT)ของท.บ.คานาดาด้วย
ไม่ว่าลวดลายทั้งของคานาดาและสหรัฐฯจะเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากลายพรางของกองทัพเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชื่อเรียกเฉพาะว่าเฟล็คตาร์น(Flecktarnการซ่อนพรางในภาษาเยอรมัน) ซึ่งต่อมาได้ถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อใช้เป็นลายพรางเครื่องแบบทหารในบุนเดสแวร์(Bundeswehr กองกำลังป้องกันสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี)ในปัจจุบัน
สีสันใหม่ที่ใช้กับACUนี้แตกต่างจากเดิม แม้จะมีสีเขียว,น้ำตาลและเทา แต่ก็ไม่มีสีดำเหมือนลายพรางป่าเดิม เพราะถูกพิจารณาแล้วว่ามองเห็นได้ง่ายไม่กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม และในสภาพธรรมชาติจริงๆก็มีสีดำให้เห็นน้อยมาก
ความโดดเด่นเห็นได้ชัดคือการใช้จุดสี่เหลี่ยมเล็กๆมาเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ทั้งแบบเป็นแถบและเป็นจุดเดี่ยวๆกระจายตัวเต็มผืนผ้าสลับไปมาทั้งสีเขียว,เทาและน้ำตาลอ่อน เมื่ออยู่ในภูมิประเทศโดยเฉพาะเขตเมือง จะแยกแยะตัวทหารออกจากฉากหลังได้ยากกว่าลวดลายเดิมแบบเส้นเรียบมีสีดำปน
ACUไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงด้านลวดลาย แต่รูปแบบการตัดเย็บก็แตกต่างจากของเดิมเห็นได้ชัด กระเป๋าเสื้อเดิมซึ่งมี 4 จุดยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนให้สองใบด้านล่างใกล้ชายเสื้อมาติดที่แขนเสื้อใต้แนวไหล่ มีแถบเวลโครเพื่อติดสังกัดและเหล่า ฝากระเป๋าแขนเสื้อมีแถบอินฟราเรดบอกฝ่ายกว้าง,ยาวด้านละ1ซ.ม.ทั้งซ้ายขวา ทหารสามารถมองเห็นแถบนี้ได้ด้วยกล้องมองกลางคืน(Night Vision Goggle) เครื่องหมายบอกชั้นยศเปลี่ยนจากหัวไหล่มาติดกึ่งกลางหน้าอกด้วยแถบเวลโคร เมื่อสวมเกราะทับก็ถอดเครื่องหมายยศมาติดบนเกราะหรือหมวกนิรภัยแทน กระดุมด้านหน้าถูกเปลี่ยนเป็นซิปมีแถบเวลโครติดสาบเสื้อเพื่อซ่อนซิป3จุด กระเป๋าหน้าอกที่ยังคงอยู่ถูกเปลี่ยนรูปแบบให้เฉียงลงแต่เล็กกว่าเดิมเพื่อสะดวกแก่การใช้สอย ฝาปิดติดแถบเวลโครเช่นกัน
หมวกนิรภัยก็เปลี่ยนใหม่เช่นกัน จากเดิมที่ใช้หมวกผลิตจากแผ่นเคฟลาร์แบบ K-Pot มีสายรัดคางยึดติดหมวก2จุดเช่นที่เห็นในสงครามอ่าวครั้งแรก ก็เปลี่ยนเป็น Advance Combat Helmet(ACH)ที่เล็กลงแต่บุภายในด้วยฟองน้ำ สายรัดคางยึดหมวกเพิ่มเป็น4จุดบุฟองน้ำที่ท้ายทอยเพิ่มความกระชับ ไม่กระเด้งกระดอนบนศีรษะขณะวิ่ง ใช้ประกอบชุดวิทยุสื่อสารหรืออุปกรณ์อื่นได้ เช่นระบบจอแสดงผลการรบ Head Up Display (HUD) ขาติดตั้งกล้องNVG หรืออุปกรณ์อื่น
ที่ลวดลายและรูปแบบการตัดเย็บเป็นเช่นนี้ เพราะสงครามสมัยใหม่เน้นการสู้รบในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากปฏิบัติการทางทหารของอเมริกาทั้งในอิรักและอาฟกานิสถาน เน้นการสู้รบระยะประชิดในย่านชุมชน รายล้อมด้วยหมู่อาคารใหญ่น้อย ทหารจึงเคลื่อนที่ช้าแบบอาคารต่ออาคาร เฝ้าระวังทั้งกองโจรปกติและพลซุ่มยิง ทำให้สวมเครื่องแบบแล้วยังต้องสวมเกราะและอุปกรณ์หลากหลายทั้งกระสุนและอุปกรณ์ช่วยรบอื่นๆ เครื่องแบบรุ่นใหม่จึงต้องเอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวและประโยชน์ใช้สอยจริงๆมากที่สุด โดยใช้ข้อมูลจากทหารในหน่วยรบมาเป็นตัวกำหนดรูปแบบการตัดเย็บ
แม้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาจะอ้างว่าเครื่องแบบใหม่นี้ใช้งานได้ทุกสภาพภูมิประเทศ แต่ทหารที่สวมใส่มันเข้าสู้รบจริงๆกลับบอกว่าเพราะมีสีเขียวตุ่นๆมากกว่าสีอื่น จึงพรางตัวได้ไม่ดีเท่าไรในเขตป่าและทะเลทราย กระนั้นฝ่ายวิจัยและพัฒนาก็แย้งกลับมา ว่าผลจากการทดลองในสภาพแวดล้อมเปรียบเทียบกับลายพรางอื่นๆแล้วลายพรางACUกลมกลืนกว่าจริงๆ
เป็นเพราะหลักนิยมของการทำสงครามปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อการสู้รบในปัจจุบันเป็นการรบในเมืองเสียเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายตั้งรับตักตวงผลประโยชน์เต็มที่ทั้งจากการแอบแฝงฝูงชนและซอกหลืบของอาคาร ทำให้ฝ่ายยกเข้ากวาดล้างต้องทำทุกอย่างเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ทหารท่านใดที่เคยฝึกเมาท์(Military Opration on Urban Terrain MOUT)มาแล้วย่อมทราบดีว่ากองโจรเพียงหยิบมือเดียวสามารถตั้งยันฝ่ายเข้าตีใช้กำลังมากกว่าหลายเท่าได้
ตัวอย่างเห็นชัดๆของเมาท์ คือสงครามยึดเมืองสตาลินกราดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ศึกวันตรุษญวนในเมืองเว้ครั้งสงครามเวียตนาม เหตุการณ์แบล็คฮอว์คดาวน์ที่กรุงโมกาดิสชูประเทศโซมาเลีย และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือสงครามกวาดล้างในเมืองฟัลลูจาห์ของอิรักทั้งสองครั้งในปี2004 ระหว่างกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯอาวุธครบมือทั้งเครื่องบินและรถถัง กับฝ่ายต่อต้านกำลังน้อยกว่าที่ใช้อาวุธพื้นฐานเช่นปืนAK-47และเครื่องยิงจรวดRPG แต่ใช้ประโยชน์เต็มที่จากหมู่อาคารและฝูงชน ทวีความยากลำบากให้แก่ฝ่ายปราบปรามซึ่งต้องใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองกว่าการรบในป่ามหาศาล
ราคาของเครื่องแบบใหม่ของท.บ.สหรัฐฯนี้ทั้งเสื้อและกางเกงคือ 76 ดอลลาร์ เทียบกับของเดิมแบบพรางป่ามีราคา 58 ดอลลาร์แต่กองทัพก็ปรับเพิ่มเบี้ยค่าเครื่องแบบให้ทหารตามไปด้วย ราคานี้ยังไม่รวมค่าแถบชื่อ เหล่า สังกัด ชั้นยศซึ่งทหารต้องจ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อยแต่จ่ายเพียงครั้งเดียว เครื่องหมายบุแถบเวลโครข้างหลังนี้สามารถดึงลอกไปติดเครื่องแบบชุดอื่นที่มีอยู่ได้
ข้อบ่งชี้เพื่อการบำรุงรักษาให้เครื่องแบบใช้งานได้นานได้บอกไว้ว่าห้ามลงแป้งเด็ดขาด ตามข้อความตอนหนึ่งในวิธีดูแลระบุว่าห้ามไม่ให้ทหารลงแป้งเครื่องแบบACUนี้เด็ดขาด การลงแป้ง แก้ไขขนาด หรือกระทำการด้วยกรรมวิธีอื่นใดเช่นซักแห้งหรืออบไอน้ำจะมีผลกระทบต่อความทนทานของเนื้อผ้า และไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น วิธีการดูแลที่ถูกคือต้องซักด้วยน้ำธรรมดากับผงซักฟอกอย่างอ่อน ปราศจากน้ำยาฟอกหรือกัดสีผ้า ให้ตากเครื่องแบบไว้ในที่อุณหภูมิห้อง หลังจากซักแล้วสะบัดแขวนเลยโดยไม่ต้องบิด
กองทัพจะแจกเครื่องแบบให้ปีละสองชุด เพราะอายุการใช้งานของเครื่องแบบถูกกำหนดมาให้ใช้ได้ชุดละ 6 เดือน ตอนเพิ่งเข้าประจำการใหม่ๆเครื่องแบบลายนี้ค่อนข้างมีปัญหา เช่นตะเข็บปริ เนื้อผ้าขาดแล้วลุ่ย ในปีหลังๆนี้มันได้ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยผ้าเนื้อคอตตอนผสมโพลีเอสเตอร์ เบาสบายไม่ลุ่ยลวดลายพิมพ์ชัดกว่าเดิม
ความเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบการตัดเย็บและลวดลายเครื่องแบบท.บ.สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงหลักนิยมในการทำสงครามที่เปลี่ยนไป จากการรบในป่าและทะเลทรายมาเป็นการรบในเมือง เป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายตั้งรับได้เปรียบ สามารถใช้กำลังพลน้อยช่วงชิงความได้เปรียบได้จากซอกมุมของอาคารสถานที่ กดดันและข่มขวัญฝ่ายกวาดล้างได้มหาศาล ด้วยอาวุธเบาทั้งปืนเล็กยาว,กับดักสังหารบุคคล,ทุ่นระเบิดทำลายรถถังและพลซุ่มยิง กองโจรไร้เครื่องแบบเร้นกายในฝูงชนยากต่อการพิสูจน์ฝ่าย
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากกองทัพสหรัฐฯจะบอกใครๆว่าตนพร้อมที่สุดในโลก ทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพราะต้องทำสงครามปกป้องผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าในยุคของประธานาธิบดีคนไหน ความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะคงความได้เปรียบไว้ได้ทุกสถานการณ์และทุกสมรภูมิ
แล้วกองทัพบกไทยของเราล่ะ เมื่ออเมริกามหามิตรที่ส่งทหารมาร่วมซ่อมรบเป็นประจำเปลี่ยนสไตล์การแต่งกาย ทหารบกไทยมีอะไรปรับเปลี่ยนบ้างหรือเปล่า? ตอบได้ว่าเปลี่ยนสีสันลวดลายของเครื่องแบบเหมือนกัน จากลายพรางป่าท.บ.ที่เราเห็นกันเจนตามาเป็นลายพรางป่าดิจิตอล คล้ายคลึงกับลายCADPATของคานาดา เพราะภูมิประเทศบ้านเราอยู่ในเขตร้อนชื้นจึงไม่เหมาะจะใช้สีสันแบบเดียวกับท.บ.สหรัฐฯ ลายพรางดิจิตอลของท.บ.ไทยนี้เปิดตัวไปแล้วในงาน Defense and Security 2007 ปลายปีก่อนที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพคต์เมืองทองธานี คาดว่าลายเครื่องแบบใหม่ของท.บ.ไทยจะเป็นที่พบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทยอยปลดประจำการเครื่องแบบลายเก่า
อาวุธของเราอาจด้อยกว่าก็จริง แต่เรื่องความเท่ทหารไทยไม่เคยเป็นรองใครอยู่แล้วครับท่าน!
ทหารอเมริกันคนหนึ่งที่มาเดินเที่ยวในงานรวมพลคนรักบีบี ที่กรมทหารราบที่ 11 กำลังให้สัมภาษณ์ เมื่อถูกถามความเห็นเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
รูปแบบลายพราง Digital ในงาน Defense & Security 2007 ถ่ายภาพโดยคุณCAPT.TOM
รูปแบบลายพรางนั้นคล้ายกับของเดิมครับ แต่ถ้าสังเกตุใกล้ๆแล้วจะเห็นว่าลายมีขนาดเล็กกว่า และเป็นเม็ด Pixel
ซึ่งรูปแบบนี้เหมือนกับว่าสร้างโดยการนำเอาลายพรางเดิมไปใส่ Photoshop แล้วทำ Filter Pixelate แล้วพิมพ์ครับ
(เคยเห็นมีขายเป็นกระเป๋าในจตุจักรมา2-3ปีแล้วครับ)
ชุดนี้ถูกแจกให้ทหารไทยที่ไปรักษาสันติภาพในนามกองกำลังสหประชาชาติที่ ดาร์ฟัวร์ ประเทศซูดานครับ ซึ่งถ้าผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจก็จะถูกผลิตขึ้นมาแจกให้กำลังพลเป็นจำนวนมากต่อไปครับ
(แต่จริงๆไปที่ซูดานนี้ภูมิประเทศมันเป็นเขตแห้งแล้งนะครับโทนพรางแบบนี้มันเหมาะกับป่าภูเขา ตอนนี้ชุดทหารที่ไปปฏิบัติการที่นั้นอาจจะกลับมาแล้วครับ แต่ผลการทดสอบชุดคงมีการรายงานเป็นการภายในครับ)
รูปไม่ติด Linkไปที่หน้านี้ครับ
http://www.pantown.com/board.php?id=428&area=4&name=board1&topic=4498&action=view
พูดถึงตอนประกวดลายพรางของอเมริกาก็มีการพูดถึงอีกลายหนึ่งเรียกว่า Multicam ที่ว่ากันว่าพรางดีนักดีหนาด้วยนี่ครับ (ขนาดในเกม GRAW ยังใช้เลย) อยากทราบเหมือนกันว่าอาโต และคนอื่นๆ มีความเห็นกับลายพรางอันนั้นว่าอย่างไรบ้าง เพราะส่วนมากผมไปดูในเว็บต่างประเทศคนเชียร์ Multicam ก็มากอยู่ ทั้งชาว BB ก็ใช้มาก
ปล. ผมคิดว่าเพราะ Multicam ราคาแพงอาเจียนเป็นโลหิตเลยไม่มีใครเอา
เข้ามาลงชื่ออ่าน
สบายดีไหมครับ พี่โต