หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เสื้อเกราะ(4)

โดยคุณ : PHEETOH เมื่อวันที่ : 06/02/2008 14:31:11

ยิ่งเป็นสงครามที่มีพลซุ่มยิงเป็นพระเอกด้วยแล้วเกราะป้องกันลำตัวแทบไร้ความหมาย เพราะเยอรมันจ้องยิงหัวอย่างเดียว แล้วถึงจะยิงลำตัวมันก็ช่วยทหารไม่ได้เพราะกระสุนส7.92ม.ม.จากปากกระบอกปืนซุ่มยิงคาร์98เคของเยอรมันและปืนกลเอ็มจี42สามารถเจาะทะลุเกราะนี้ได้ราวกับยิงผ่านกระดาษแข็ง

                สิ้นสงครามโลกครั้งที่2สหรัฐฯก็กระโจนเข้าสู่สงครามเกาหลี เกราะยังถูกพัฒนาไม่หยุดยั้ง รุ่นM-1951คือผลลัพธ์แห่งความพยายามปกป้องชีวิตทหารจีไอ แต่พอใช้จริงๆกลับเหลวเป๋ว ทหารผู้ใช้งานรายงานมายังหน่วยเหนือและผู้ผลิตว่า”น้ำหนักเกราะเบาขึ้นมากแต่ไม่สามารถหยุดยั้งกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิดได้” ไม่มีรายงานว่ามันถูกพัฒนาไปถึงไหนจนกระทั่งสหรัฐฯขนทหารไปสู้ศึกในสงครามเวียตนามอีก เกราะถูกพัฒนาขึ้นเล็กน้อยให้สร้างจากชั้นของไนลอน มันทนสะเก็ดระเบิดได้ในระดับหนึ่งแต่เรื่องเหนียวจนกันกระสุนปืนอาก้าได้นั้นอย่าหวัง

                ปี1969บริษัทAmerican Body Armorจึงถูกก่อตั้งขึ้นแล้วเริ่มผลิตเสื้อเกราะแบบใหม่จำหน่าย ประกอบด้วยชั้นไนลอนถักทอเสริมด้วยแผ่นเหล็กหลายชั้น เกราะกันกระสุนที่จดสิทธิบัตรไว้แล้วนี้ถูกส่งมอบให้หน่วยงานรักษากฎหมายของอเมริกา ดำเนินการด้านการตลาดโดยบริษัทผลิตปืนพกลูกโม่ชื่อดังสมิธแอนด์เวสสันในชื่อ”Barrier Vest” เป็นเสื้อเกราะแบบแรกที่ตำรวจอเมริกันสวมระหว่างปฏิบัติหน้าที่ความเสี่ยงสูง

                วงการอุตสาหกรรมเกราะมาถึงจุดหักเห เมื่อบริษัทดูป็องต์ คอร์โปเรชั่นได้นำเส้นใยวัสดุสังเคราะห์มาใช้ ด้วยเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนว่า”Kevlar” ที่ดูเหมือนไม่สามารถป้องกันอะไรได้ก็จริง แต่จะเหนียวหนึบเมื่อนำมาถักทอเข้าด้วยกัน มันถูกสถาบันยุติธรรมแห่งชาติของสหรัฐฯ(National Institute of Justice)ทดสอบทันทีเพื่อประเมินผล ตามข้อกำหนดว่าต้องเบา ซ่อนพรางไว้ใต้เสื้อผ้าปกติได้ มันผ่านการทดสอบ ตำรวจสหรัฐฯใช้เสื้อเกราะนี้แพร่หลายภายใต้เครื่องแบบปกติ ต้องสัมผัสจึงจะรู้ว่าเขาสวมเกราะอยู่ใต้เครื่องแบบ มันบาง เบา และกันกระสุนปืนพกได้ตั้งแต่.22ถึง11ม.ม. ชีวิตตำรวจสหรัฐฯปลอดภัยขึ้นอีกมากเมื่อได้รู้จักกับ”เคฟลาร์”(อันเป็นชื่อทางการค้าจดทะเบียน หรือมีชื่อทางเคมีว่าเส้นใยAramid)

                ทุกสิ่งที่มีข้อเด่นก็ต้องมีข้อด้อย เกราะอ่อนเคฟลาร์นุ่มและเบาจริง ป้องกันกระสุนได้ แต่แรงปะทะจากกระสุนก็ทำเอาคนสวมเกราะย่ำแย่ไปเหมือนกัน ไม่ตายแต่ซี่โครงหักและมีหลายรายที่ออกอาการ”แหยง” กองทัพสหรัฐฯและบริษัทผลิตเกราะของเอกชนจึงต้องพัฒนาอุปกรณ์กันอีก เกราะชื่อว่าRanger Body Armorจึงถูกนำมาใช้ในปี1994 มันแข็งจนกระสุนปืนเล็กยาวไม่ระคายและเบาจนทหารสวมใส่วิ่งไปมาได้พร้อมอาวุธ แต่ก็ยังหนักอึ้งและไม่มีชั้นป้องกันกระสุนตรงลำคอและหัวไหล่

                ผลจากความต้องการนี้จึงเกิดเกราะแบบใหม่ขึ้นคือInterceptor Multi-Threat Armor System ที่ป้องกันสะเก็ดระเบิดได้ถึงระดับกระสุนปืนกล9ม.ม.(ประมาณปืนกลมือMP5) แต่หากต้องการให้ป้องกันกระสุนปืนเล็กอย่างM16ขนาด5.56ม.ม.หรืออาก้า(AK47)ขนาด7.62ม.ม. ก็มีช่องให้สอดแผ่นเกราะเซรามิก(Small Arms Protective Insertหรือ SAPI)เข้าไป ยิ่งต้องการให้ป้องกันกระสุนหน้าตัดใหญ่ขึ้นแผ่นเกราะก็ยิ่งต้องใหญ่และหนัก สังเกตได้ง่ายจากตัวอักษรว่า”Strike Face” ในบรรทัดบนและคำว่า”Level”ตามด้วยตัวเลขบอกลำดับชั้นของความหนาและหนัก(Level 1-2-3…) มันป้องกันได้ทั้งด้านหน้าและหลังเพียงแต่สอดเข้าในช่องทำไว้เฉพาะของเสื้อกั๊ก(vest)

ในเสื้อกั๊กยุทธวิธี(Tactical Vest)บางประเภทจะทำช่องไว้ให้สอดแผ่นเซรามิกด้านข้างเพื่อป้องกันสีข้างของทหารด้วย สำหรับการรบในเมืองอันกลายเป็นหลักนิยมแห่งการทำสงครามปัจจุบัน เช่นในเขตเมืองต่างๆของอิรักและอาฟกานิสถานนั้น จะมีแผ่นเคฟลาร์ติดป้องกันเลยลงมาถึงเชิงกรานเพื่อป้องกันอวัยวะสำคัญ(ไอ้น้องชาย) ตามที่เห็นได้จากภาพข่าวหรือสื่อทั่วไป ที่เสนอข่าวสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในสองประเทศนี้

                ถึงจะหนาและหนักแต่ทหารก็เคลื่อนไหวได้ง่ายกว่าเกราะแบบก่อน อุ่นใจยิ่งขึ้นเมื่อมีแผ่นเซรามิกเสริม มันลดอัตราการสูญเสียของทหารได้มากกว่าการเข้าสู่สงครามโดยไร้เกราะ นอกจากนี้มันยังถูกพัฒนาไปเป็นเกราะป้องกันทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า รวมทั้งเป็นระบบเกราะกล”Exoskelleton”เพื่อประกันความปลอดภัยให้ทหารราบ




ความคิดเห็นที่ 1


มาโพสต์แต่เช้าเลยนะครับพี่โต จะหาเวลาอ่านนะครับ  ขอบคุณสำหรับความรู้

โดยคุณ fd_3S เมื่อวันที่ 05/02/2008 21:31:26


ความคิดเห็นที่ 2


รูปแบบสงครามหรือความขัดแย้งที่ต้องใช้กำลังติดอาวุธเข้าจัดการปัญหาในอนาคตนั้นมีแนวโน้มการเกิดสงครามตามแบบที่ใช้อาวุธหนักเช่น รถถัง หรือ บ.ขับไล่สมรรถนะสูงน้อยมากครับ

การรบในปัจจุบันอย่างในอัฟกานิสถานหรืออิรักนั้นเป็นการรบของกำลังทหารราบขนาดเล็กในระยะประชิดในเขตป่า ภูเขา หรือตัวเมือง โดยมีการสนับสนุนจากกำลังรถรบติดอาวุธหรืออากาศยานได้ค่อนข้างจำกัด

หรือแม้แต่ในการปราบปรามอาชญากรรมในยามสงบก็ตาม ทุกวันนี้คนร้ายมีอิทธิพลและเงินทุนมากพอที่จะจัดหาอาวุธร้ายแรงสมรรถนะสูงได้ง่ายๆซึ่งเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่มากขึ้น

ดังนั้นการพัฒนาระบบเกราะสำหรับป้องกันตัวของทหาร-ตำรวจ จึงเป็นสิ่งที่กำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องครับ ซึ่งส่วนตัวนี้ไม่แน่ใจว่าโอกาสที่จะได้เห็นทหารใส่ชุด Exoskeleton Power Suite อันทรงประสิทธิภาพแบบที่เคยมาในภาพยนตร์ Sci-Fi ในอดีตนั้นจะกลายเป็นความจริงในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 06/02/2008 01:37:59