หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เสื้อเกราะ(3)

โดยคุณ : PHEETOH เมื่อวันที่ : 05/02/2008 20:45:18

ราคาค่างวดของเสื้อเกราะไหมนี้แพงหูตูบในสมัยก่อนคือประมาณ800ดอลลาร์ เป็นราคาในปี1914หรือปีที่เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป หากจะเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันก็คือ15,000ดอลลาร์ ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็คือมันเป็นเสื้อเกราะที่อาร์คดยุคฟรานซ์ แฟร์ดินันด์ องค์รัชทายาทแห่งออสเตรียทรงสวมขณะเสด็จพระดำเนิน แต่มันช่วยพระองค์ไม่ได้เพราะกาฟริลโล ปรินซิปผู้เหนี่ยวไกปลงพระชนม์ไม่ได้ยิงที่เสื้อ เขาเล็งที่พระเศียรแต่พลาดไปถูกที่พระศอ(ลำคอ)ด้วยปืนพกใช้กระสุนขนาด.32

                ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าถึงมีเสื้อเกราะแต่ก็ป้องกันมหาสงครามโลกครั้งที่1ไม่ได้

                พอสงครามโลกครั้งที่1ระเบิด ชาติคู่สงครามต่างพัฒนาอาวุธและเครื่องป้องกันขนานใหญ่ ปืนใหญ่,ปืนเล็กและรถถังรุ่นใหม่ได้ปรากฎโฉมเป็นครั้งแรกในสมรภูมิยุโรป สหรัฐฯเองก็พัฒนาเกราะกันกระสุนไว้หลายแบบรวมทั้งแบบชุบโครมเมียมและนิกเกิลชื่อบริวสเตอร์ บอดี้ ชีลด์(Brewster Body Shield) สร้างจากแผ่นเหล็กป้องกันลำตัวและหมวกเหล็กป้องกันศีรษะ มันทนแรงทะลุทะลวงของปืนกลลิวอิสความเร็ว2,700ฟุต/วินาทีได้แต่หนัก(โคตรๆ)ถึง18ก.ก.(ประมาณว่าแบกกระสอบอาหารหมาPedigreeวิ่ง) ไม่รวมน้ำหนักของอาวุธและสัมภาระอื่น

                เกราะอีกแบบถูกประดิษฐ์ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี1918 โดยพิพิธภัณธ์ศิลปะเมโทรโปลิแตน(Metropolitan Museum of Art) เกราะป้องกันหน้าอกยังใช้รูปแบบเดียวกับพวกอัศวินยุคกลาง น้ำหนักย่อมลงมาอีกนิดคือ12ก.ก.แต่เคลื่อนไหวทีเสียงดังครืดคราดไปสามบ้านแปดบ้าน จะวิ่ง,เดินหรือหมอบก็ไม่สะดวก และเพื่อให้ป้องกันลงมาถึงอวัยวะอันอ่อนไหวอย่าง”น้องชาย”ของทหารด้วย จึงมีแผ่นเกราะยึดด้วยสายหนังต่อลงมาคล้ายกับเกราะที่ทหารอเมริกันใช้ในอิรักและอาฟกานิสถาน

                ช่วงปี1920ถึง1930พวกมือปืนรับจ้างในสหรัฐฯ เริ่มใช้เสื้อเกราะสร้างจากชั้นผ้าฝ้ายและผ้าชนิดต่างๆทั้งไหมและเนื้อผ้าอื่น มันกันลูกกระสุน.22ได้จนถึง.45หรือ11ม.ม.ที่ความเร็วต่ำกว่า1,000ฟุต/วินาที พอรู้ว่าผู้ร้ายมีเสื้อเกราะใช้ทั้งตำรวจและFBIก็แก้ลำด้วยการใช้กระสุน.357ที่เล็กกว่าแต่แรงสูงเจาะทะลุทะลวงได้ดีกว่า

                ผ่านทศวรรษ1930มาได้โลกก็ยังเรียกว่าสงบได้ไม่เต็มปาก เพราะการเถลิงอำนาจของสิบโทชาวบาวาเรียชื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ทำให้ยุโรปหวั่นไหวว่าอาจเกิดสงครามใหญ่ขึ้นอีก คาดไม่ผิดจริงๆเมื่อเยอรมันยกทัพบุกโปแลนด์ในปี1940 ระหว่างชาติในยุโรปกำลังถูกกองทัพของฮิตเลอร์กลืนไปทีละชาติสองชาติ สหรัฐฯก็เตรียมพร้อมด้วยการออกแบบเกราะกันกระสุนให้ทหารราบใช้ แต่แบบที่ออกมานั้นก็เหลือทนเพราะทั้งหนักและเคลื่อนไหวลำบาก ไม่เข้าชุดกับยุทโธปกรณ์ กองทัพจึงเบนเข็มมาสร้างเกราะกันสะเก็ดหรือ”flak jacket”สำหรับนักบินแทน มันสร้างจากใยไนลอนและกันสะเก็ดกระสุนปืนใหญ่แตกอากาศได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่กระสุนจากปืนเล็กยาวหรือปืนกล

                ระหว่างสงครามโลกครั้งที่2เช่นกัน ที่ฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนให้ทหารของตนใช้  ทหารลูกพระอาทิตย์ไม่ได้นำไปใช้เพราะภูมิประเทศไม่อำนวย การรบในป่าร้อนชื้นไม่เหมาะต่อการสวมเกราะครบเครื่อง ทหารต้องเคลื่อนที่อยู่เสมอจึงไม่คล่องตัวหากสวมเกราะ

                กองทัพแดงของโซเวียตรัสเซียที่ต้องรบติดพันกับเยอรมันตลอดสงครามโลกครั้งที่2 ก็มีเกราะกันกระสุนให้ทหารใช้ มีชื่อภาษารัสเซียว่า”สตาลินอย นากรุดนิก”(Stalynoi Nagrudnik) แปลว่า”เกราะเหล็กป้องกันลำตัว” ใช้ตัวเลขปีค.ศ.เป็นรหัสเช่นSN-42 คือเกราะที่ผลิตใช้ในปี1942 สร้างจากแผ่นเหล็กกล้าคู่เชื่อมติด ปกป้องลำตัวด้านหน้าถึงเชิงกรานหนา2ม.ม.น้ำหนัก3.5ก.ก. แจกจ่ายให้เหล่าทหารช่างจู่โจมและทหารม้าบรรทุกยานยนต์ มันป้องกันทหารกองทัพแดงได้จากกระสุน9ม.ม.ที่ใช้กับปืนกลมือMP40ของเยอรมันในระยะต่ำสุดคือ100ถึง125เมตร เป็นประโยชน์มากกับการรบจากอาคารถึงอาคารแบบในสตาลินกราด แต่ก็อีกนั่นแหละที่มันไม่เหมาะเพราะเมื่อทหารสวมแล้วเคลื่อนไหวค่อนข้างยาก ทหารหมีขาวเลยไม่นำไปใช้ ไปแต่ตัวเปล่าๆยังจะปลอดภัยเสียกว่า