ตามที่กล่าวไปแล้วว่าแม้เกราะจะป้องกันกระสุนได้แต่ผู้สวมก็ยังรู้สึกถึงแรงกระแทก เมื่อมันทะลุไม่ได้กระสุนก็จะเปลี่ยนรูปร่าง จากหัวแหลมๆกลมๆกลายเป็นรูปร่างบุบบู้บี้ โดยเฉพาะเกราะอ่อนนั้นมีอยู่เสมอที่กระสุนยุบตัวติดเกราะแต่ไม่ทะลุ ผู้สวมบาดเจ็บแค่รอยฟกช้ำและอาจขวัญเสียไประยะหนึ่ง ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าปล่อยให้มันทะลุเข้าไปทำอันตรายอวัยวะสำคัญๆในช่องท้อง เช่นตับ,ปอด,ม้าม,หัวใจ,ลำไส้และอื่นๆ เพราะอวัยวะในช่องท้องและหน้าอกนั้นสำคัญมาก หากถูกกระสุนที่หมุนรอบจัดๆเพราะเกลียวลำกล้องเจาะ มันจะไม่เพียงแค่เป็นรูขนาดเส้นผ่าศูนย์เท่าหัวกระสุนเท่านั้น แต่จะถึงกับแหลกเหลวไม่เหลือเค้าเดิมเลย ใครเคยเห็นเนื้อหมูสับแพ็กกล่องในซูเปอร์มาร์เก็ต คงนึกออกว่าตับไตไส้พุงของตัวเองจะเป็นอย่างไรเมื่อกระสุนปืนวิ่งผ่าน
แม้เกราะจะเป็นที่รู้จักมาหลายพันปีก็จริง แต่เกราะกันกระสุนที่ถือว่าแจ๋วที่สุดนั้นเกิดขึ้นในออสเตรเลียเมื่อปี 1879 ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของดินแดนแห่งจิงโจ้นี้ช่วงศตวรรษที่ 18 จะรู้จักแก๊งเคลลี่ดีว่าเป็นโจรพวกแรกที่รู้จักป้องกันตนเองด้วยเกราะเหล็ก แก๊งนี้มีเนด เคลลี่พี่ชายคนโตเป็นผู้นำ หลังจากก่อเรื่องเป็นปัญหากับรัฐบาลออสเตรเลียทั้งแบบตั้งใจและโดนใส่ความ เขาก็เกิดความคิดว่าเมื่อพวกน้อยก็ต้องช่วงชิงความได้เปรียบไว้ก่อน เกราะของแก๊งเคลลี่จึงเกิดขึ้นจากการใช้แผ่นเหล็กที่หนาและหนักมาตีและยึดติดด้วยหมุดเหล็กเพื่อสวมและถอดได้สะดวก
เกราะของแก๊งเคลลี่เวิร์คพอสมควร กว่าตำรวจออสซี่จะจัดการได้อยู่หมัดก็สูญเสียตำรวจมือดีไปพอประมาณ ลำพังยิงกระสุนใส่ยังทำอะไรพวกเคลลี่ไม่ได้เพราะเล่นคลุมกันตั้งแต่หัวถึงหน้าแข้ง ต้องใช่เล่ห์กลสารพัดจนถึงขนาดจุดไฟเผาบ้านไล่นั่นแหละจึงจะยอม เรื่องของKelly Gangเป็นอย่างไรคงต้องให้แฟนๆไปสืบค้นเอาเอง จะได้ทราบประวัติศาสตร์อันด่างพร้อมหน้าหนึ่งของออสเตรเลียเป็นของแถม
ถัดมาจากเกราะเหล็กของพวกเคลลี่ก็คือเกราะผ้าไหม วัสดุที่แทบไม่มีใครคิดว่าจะทำเสื้อเกราะได้ ขนาดแผ่นเหล็กยังโดนยิงทะลุแล้วผ้าไหมนุ่มๆนี่จะเหลือหรือ? คิดอย่างนี้ก็ถูก แต่ลองเอาผ้าไหมมาวางทับกันสัก18ถึง30ชั้นเถอะจะรู้ว่ามันโอเคเลยล่ะ ชาวยุโรปใช้วัสดุนี้มานานปีตั้งแต่ใช้ธนูรบกัน แต่เปลี่ยนมาใช้เหล็กเพราะหาง่ายและสร้างง่ายกว่าใยไหมซึ่งต้องผ่านกรรมวิธียุ่งยากมากมาย
เรื่องเริ่มขึ้นในปี1881ชายชาวอาริโซนานามว่านายแพทย์จอร์จ เอเมอรี่ กูดเฟลโลว์ ได้รักษาชายผู้ถูกยิงในการดวลปืนกับคู่อริแล้วพบว่ากระสุนที่ยิงโดนกระเป๋าเสื้อตรงหน้าอกนั้นช้าลง เป็นเพราะตรงนั้นเขายัดผ้าเช็ดหน้าไหมพับซ้อนหลายชั้นเอาไว้แผลเลยฉกรรจ์น้อยกว่าที่ควร พอเจอกรณีนี้หมอกูดเฟลโลว์เลยหันมาสนใจผ้าไหมในแง่ของการป้องกันกระสุนแทนที่จะเป็นความสวยงาม เขาเก็บสถิติของพวกถูกยิงเอาไว้มากเพราะช่วงนั้นอเมริกายังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ยิ่งแถบอาริโซนาที่คุณหมออยู่ยิ่งดวลปืนกันไม่เว้นแต่ละวัน แต่ก็ทำได้แค่เก็บสถิติไม่ได้สร้างสรรค์ชิ้นงานเป็นเรื่องเป็นราว จะเป็นเพราะมีงานผ่าตัดและรักษาคนล้นมือหรืออย่างไรไม่ทราบ ทั้งที่ค้นพบความโดดเด่นของผ้าไหมแต่ก็ไม่ได้สร้างเสื้อเกราะจากวัสดุนี้
คาซิเมอร์ เซกเลนจากชิคาโก อิลลินอยส์คือตาอยู่หยิบชิ้นปลามัน ที่ใช้ผลจากสถิติของกูดเฟลโลว์มาพัฒนาเกราะกันกระสุนในช่วงปลายปี1800 เสื้อเกราะจากไหมทับซ้อนของเซกเลนแพงก็จริงแต่สามารถป้องกันอันตรายจากกระสุนปืนคาบสิลาได้ ใครที่เคยดูหนังเรื่องนเรศวรของท่านมุ้ยมาแล้วคงนึกออก มันคือกระสุนกลมบรรจุทางปากกระบอกตามหลังดินขับแล้วใช้ก้านกระทุ้ง จะยิงทีก็ต้องบรรจุทีพร้อมดินขับ
เรื่องของ Kelly Gang เคยชมที่สร้างเป็นภาพยนตร์มาเมื่อสัก2-3ปีนี้ครับ สุดท้ายพรรคพวกในGang ที่รอดตายจากการปะทะก็ถูกจับ มีชาวบ้านออกมาลงนามคัดค้านการประหารชีวิตต่อทางการแต่สุดท้ายก็ถูกประหาร(ถ้าจำไม่ผิดแขวนคอ)อยู่ดีครับ(อันนี้จากภาพยนตร์นะครับ)