หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เสื้อเกราะ(1)

โดยคุณ : PHEETOH เมื่อวันที่ : 06/02/2008 08:16:13

เมื่อพูดถึงเสื้อเกราะกันกระสุน  เคยคิดบ้างไหมว่ากว่าจะมาเป็นเสื้อเกราะเพื่อรักษาชีวิตทหารได้นั้นมันวิวัฒนาการมาไกลแค่ไหน  เพราะกว่าจะเป็นเกราะกันกระสุนสร้างจากเส้นใยอารามิด(Aramid)ที่มีชื่อตามเครื่องหมายการค้าของบริษัทดูป็องต์ว่า”เคฟลาร์”(Kevlar)  มนุษย์รู้จักแสวงหาความได้เปรียบจากการป้องกันตนมาเนิ่นนาน  นับแต่สมัยยังนุ่งห่มหนังสัตว์จนกระทั่งรู้จักการยกพวกเข้ารบราฆ่าฟันกันเป็นกองทัพ  เช่นในสมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจเมื่อสองพันปีก่อน

แม้แต่กองทัพไทยก็ยังมีเสื้อเกราะใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง  เมื่อได้รับอิทธิพลจากทหารรับจ้างชาวปอร์ตุเกสและชาติยุโรปอื่นๆ  นายทหารระดับนายกองทั้งหลายต่างมีเสื้อเกราะสร้างจากโลหะใช้กันถ้วนทั่ว  เว้นแต่ทหารเดินเท้าเคลื่อนที่เร็วยศต่ำๆที่ต้องอาศัยความคล่องตัว

                เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม  มีการผลิตกระสุนใช้ดินขับคัดปลอก  เกราะเพื่อป้องกันส่วนสำคัญของร่างกายก็ถูกพัฒนาขึ้นด้วย  มันไม่ได้ป้องกันคมมีดได้อย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว  แต่ต้องป้องกันได้ด้วยทั้งสะเก็ดระเบิดและกระสุนปืน  ตั้งแต่ปืนพกไปถึงปืนเล็กยาว  เรื่องราวต่อไปนี้จึงเป็นการแบ่งปันความรู้ให้แฟนๆของเราได้รู้จักกับเกราะป้องกันร่างกาย  เพื่อต่อยอดความรู้ในสิ่งที่ตนเองใช้อยู่   โดยเน้นที่เกราะกันกระสุนเป็นหลัก

                เสื้อเกราะที่ทหารใช้อยู่ทุกวันนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่าballistic vestหรือbullet-proof vest ด้วยความหมายตรงตัวคือเป็น”เสื้อ”ใช้ใส่เพื่อกันกระสุน  แต่ไม่ใช่กระสุนอย่างเดียวที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญช่วงลำตัว  มันยังต้องกันสะเก็ดระเบิดได้ด้วยในระดับหนึ่ง   ผู้สวมใส่จะปลอดภัยจากกระสุนปืนเล็กตั้งแต่ปืนพก,ลูกซอง,ปืนเล็กยาวและสะเก็ดระเบิด  เพื่อให้ป้องกันได้ครบถ้วนถึงศีรษะทหารต้องสวมหมวกนิรภัย  หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า”หมวกเหล็ก”ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ทำจากเหล็ก  แต่ทำจาก”เคฟลาร์”หรือเรียกรวมๆว่าวัสดุคอมโพสิต(composite)เช่นเดียวกับเกราะป้องกันลำตัว

                ตามปกติเสื้อเกราะจะใช้วัสดุเสริมหลากหลาย  ที่เคยมีคือแผ่นเหล็ก,ไททาเนียมหรือแผ่นโพลีเอธีลีนเพื่อปกป้องอวัยวะส่วนสำคัญ  แผ่นเกราะแข็งนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าป้องกันได้ทั้งกระสุนปืนพกและปืนเล็กยาว  เป็นเสื้อเกราะ”ทางยุทธวิธี”ที่ใช้ในหน่วยทหารทั่วโลก  ที่ต้องใช้เกราะแข็งเป็นแผ่นๆยัดเข้าในเสื้อกั๊ก ก็เพราะเกราะอ่อนแบบที่ใช้สวมในเครื่องแบบอย่างที่ตำรวจใช้นั้นกันได้แค่กระสุนปืนพก  แต่ป้องกันกระสุนปืนเล็กยาวที่แรงกว่าไม่ได้  เพราะในสนามรบจริงๆนั้นน้อยมากที่ทหารทั้งสองฝ่ายจะยิงปืนพกใส่กัน  เว้นแต่ในกรณีกระสุนปืนเล็กยาวหมดหรือเข้าเคลียร์พื้นที่ในอาคารระยะประชิด

                แล้วที่เรียกว่าเสื้อเกราะนี้มันป้องกันคนสวมใส่ยังไง?  สวมแล้วปลอดภัย100เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า? ความจริงก็คือมันช่วยไม่ให้กระสุนเจาะทะลุผิวหนังได้จริง  แต่ไม่ใช่ว่าผู้สวมใส่จะไม่รู้สึกถึงแรงปะทะเลย  เพราะจริงๆแล้วมันทำหน้าที่แค่กระจายแรงปะทะไปทั่วแผ่นเกราะ  แทนที่จะให้ความแรงไปกระจุกอยู่ตรงจุดปะทะเพียงตำแหน่งเดียว  แรงปะทะนี้จะกระจายและจางหายไปอย่างรวดเร็ว  ผลก็คือคนสวมเกราะไม่ตายแต่จะรู้สึกได้ถึงแรงปะทะหรือแรงถีบตามแต่จะกล่าว

เพื่อให้การใช้เกราะเป็นมาตรฐานเดียวกันและปกป้องชีวิตทหารอย่างได้ผล  หน่วยงานหนึ่งของนาโตคือ CRISAT NATO(Collaborative Research Into Small Arms Technology-North Atlantic Treaty Organization)ได้วางมาตรฐานเอาไว้ว่าต้องใช้แผ่นโลหะไททาเนียมเป็นเกราะรองใน  ทำได้ทั้งเย็บติดตายหรือใส่/ถอดเปลี่ยนได้





ความคิดเห็นที่ 1


แวะมาชมวาทะพี่โต
โดยคุณ Banyat เมื่อวันที่ 05/02/2008 21:07:03