นี่ก็อีกเรื่องที่ลงในมติชนเดือนที่แล้ว สำหรับคนที่สนใจครับ
โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีง่ายๆและกว้างขวางทำให้โลกแคบลง คนอยู่กรุงเทพฯสามารถคุยกับเพื่อนในลอนดอนได้ด้วยอินเตอร์เน็ต มองเห็นหน้ากันได้ด้วยเว็บแคมราคาไม่กี่ร้อยบาท เทคโนโลยีนับวันจะมีแต่ราคาถูกลง คอมพิวเตอร์ราคาเหยียบแสนเมื่อสิบกว่าปีก่อนเหลือราคาแค่หมื่นกว่าในปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำงานได้สารพัดทั้งใช้ติดต่อ,เก็บข้อมูลและถ่ายรูปได้มีขายเกือบทุกสี่แยก ทั้งเครื่องรับสัญญาณ GPS และอุปกรณ์สื่อสารอีกหลากชนิดล้วนเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ง่าย ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชังว่าใครซื้อได้หรือห้ามใครซื้อ
ใครๆก็เข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหรือไอที(Information Yechnology)ได้ถ้ามีเงินและรู้แหล่ง และเทคโนโลยีนี้เช่นกันที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือใช้ทำสงครามก่อการร้ายในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน ปี 2001 เมื่อผู้ก่อการร้ายจากอัล กออิดะของโอซามา บิน ลาเดนได้ใช้เครื่องบินโดยสารโจมตีสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐฯอย่างเหนือความคาดหมาย ก่อความเสียหายได้มหาศาล และกว้างกว่าเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
ถ้าใครคิดว่าอัล กออิดะห์จะเป็นแค่กองกำลังซำเหมาที่ใช้เป็นแต่ปืนอาก้ากับระเบิดแสวงเครื่องโลว์-เทค ผิดถนัด เพราะแท้จริงแล้วมันเป็นกองทัพที่จัดได้ว่าทันสมัย รายงานของซีไอเอระบุรายละเอียดขององค์กรกึ่งทหารนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าเป็นกองกำลังที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ต่างจากบริษัทไอทีใหญ่ๆอย่างไอบีเอ็ม เป็นรูปร่างขึ้นด้วยมันสมองและทุนของบิน ลาเดนผู้มีดีกรีเป็นถึงวิศวกร ลูกชายเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างใหญ่แห่งซาอุดิอาเรเบีย ผู้ทำงานระดับบริหารขององค์กรส่วนใหญ่เป็นชายชั้นกลางมีการศึกษาดี
การดักสกัดข่าวสารของอัล กออิดะห์ทำได้ยากเพราะรู้เท่าทันเทคโนโลยีไม่ต่างจากอเมริกัน เสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยได้ ก่อนสื่อจะแพร่ข่าวว่าฝ่ายอเมริกันดักฟังคลื่นโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมที่บิน ลาเดนโทรหาแม่ในซาอุดิ อาเรเบียด้วยซ้ำ ลูกน้องบิน ลาเดนในยุโรปและอเมริกาใช้อี-เมลสื่อสารกันจากทุกแห่ง ไม่ว่าจะในบ้าน,ไซเบอร์คาเฟ่หรือห้องสมุดและทุกที่ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ใช้ไฟล์เข้ารหัสเพื่อสื่อสารข้อมูลสำคัญและใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่นานแค่หนึ่งหรือสองสัปดาห์ ก่อนโยนทิ้งแล้วซื้อใหม่โดยฝ่ายปราบปรามไม่ทันตะครุบ
พวกนี้รู้ว่าข้อมูลข่าวสารที่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลกมีปริมาณมากขึ้นเท่าทวีคุณในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หมกข้อมูลได้ทุกซอกหลืบของระบบโดยฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ กว่าจะรู้ก็ปฏิบัติการได้บรรลุผลไปแล้ว อินเตอร์เน็ตที่กองทัพสหรัฐฯคิดค้นขึ้นมาได้กลายเครื่องมือประสานงานของนักรบกลุ่มนี้ ก่อนรวมกำลังเข้าโจมตี
เป้าหมายทางทหารและพลเรือนต่างถูกดาวน์โหลดเก็บไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นสะพาน,อาคารสถานที่ ทุกสิ่งที่ต้องการมีหมดในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งแห่งที่ แผนผังอาคารหรือแม้แต่ความสูง !
เมื่อเทคโนโลยีไอทีเป็นสิ่งหาง่าย ฝ่ายปราบปรามและฝ่ายก่อการร้ายจึงเข้าถึงและนำมาใช้งานได้เหมือนกัน แม้จะแตกต่างกันในอาวุธ,ลักษณะทางกายภาพและการแต่งกาย แต่ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ยุทธวิธีเดียวกัน เปรียบเทียบได้พอสังเขปดังนี้
ประเด็นคือเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้นหาง่าย จนบีบให้ทั้งผู้ก่อการร้ายและฝ่ายปราบปรามจำต้องใช้ยุทธวิธีเดียวกัน ใช้ให้เป็นมันจะกลายเป็นอาวุธร้ายแรงชนิดคาดไม่ถึง ประเทศห่างไกลความเจริญไหนๆก็สามารถก่อการใหญ่สั่นคลอนประเทศมหาอำนาจได้ เทคโนโลยีที่อันร่นระยะทางและเวลาการติดต่อสื่อสารนี้เอง ที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้กองกำลังขนาดใหญ่ หากแต่เป็นกองกำลังขนาดย่อยที่เชื่อมต่อกันด้วยการสื่อสารแบบเครือข่าย เมื่อเห็นจุดอ่อนสำคัญของศัตรูก็จะใช้เครือข่ายนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อรวมตัวเข้ารุมต่อตี ส่งผลกระทบรุนแรงเกินความคาดหมาย ด้วยคุณสมบัติเด่นๆของเครือข่าย 3 ประการ
ข้อแรก ประกอบด้วยหน่วยงานเล็กๆหรือเซลที่สื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา สามารถทำงานได้เป็นอิสระให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ทุกหน่วยจะติดต่อกันและกันตลอดเวลาโดยหาประโยชน์ให้มากที่สุดจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ฝังตัว
ข้อที่สอง แต่ละหน่วยย่อยจะติดอาวุธร้ายแรง เป็นได้ทั้งอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงแบบที่ใช้ในกองทัพ ทั้งอาวุธเคมี,ชีวภาพหรือนิวเคลียร์ถ้าหาได้ หรือเป็นอาวุธเหนือความคาดหมายอย่างที่อัล กออิดะห์ใช้คือเครื่องบินโดยสาร,ระเบิดซ่อนในรถบรรทุกหรือแพยางบรรทุกระเบิด(ในกรณีเรือรบยู.เอส.เอส.โคลของสหรัฐฯโดนถล่ม) ในอนาคตอาวุธที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งระเบิดหุ่นยนต์หรือเครื่องบินบังคับด้วยวิทยุบรรทุกระเบิด เลียนแบบอากาศยานไร้นักบินพรีเดเตอร์ของสหรัฐฯ และ...
ข้อสุดท้าย หน่วยย่อยเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายการสื่อสารเข้ารหัส ประสานงานได้ทั้งการส่งกำลังบำรุงและการบัญชาการ-ควบคุม ระบบดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งระบบการสื่อสารแบบทหารหรือแบบพลเรือนที่หาซื้อได้ตามห้างร้านทั่วไป วอยซ์เมลบ็อกซ์,อี-เมล,แฟกซ์,ธัมป์ไดรฟ์หรืออะไรก็ตามที่ใช้ส่งผ่านข้อมูลได้ ด้วยความคล่องตัวเหลือเชื่อโดยไม่ต้องผ่านศูนย์บัญชาการ
เครือข่ายต่อสู้จึงหลากหลาย เป็นได้ตั้งแต่กลุ่มนักรบแค่สอง-สามคนถึงกองกำลังเฉพาะกิจจำนวนนับพัน ระบบไอทีช่วยให้ขอบข่ายการปฏิบัติงานยืดหยุ่น เป็นได้ทั้งระยะแค่แยกถนนจนกว้างถึงคนละมุมโลก ใช้อาวุธได้ไม่จำกัดตั้งแต่ระเบิดแสวงเครื่องไปจนถึงอาวุธอานุภาพสูงมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ เครือข่ายทรงประสิทธิภาพย่อมสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายได้มหาศาล
จะเรียกวิธีการใช้เทคโนโลยีไอทีของอัล กออิดะห์ว่าอย่างไรก็ตาม ผลงานของบิน ลาเดนนับเป็นของใหม่และเป็นก้าวสำคัญ ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน มันง่าย ลงทุนต่ำแต่ได้ผลมหาศาลในการทำลายล้างทั้งทรัพย์สินรวมถึงขวัญและกำลังใจของชาวอเมริกัน
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 พิจารณาตัวเลขให้ดีจะพบว่าอัล กออิดะห์ตีแสกหน้าอเมริกันสำเร็จ แม้จะไม่ทำให้สหรัฐฯเลิกยุ่งกับตะวันออกกลางได้(เข้าไปยุ่งเพราะอะไรก็รู้อยู่) แต่ก็คร่าชีวิตชาวอเมริกันได้ถึง 3,025 คน เป็นความเสียหายมหาศาลที่สุดในประวัติการถูกโจมตีภายในวันเดียว เทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิต 2,403 คนในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 เมื่อญี่ปุ่นถล่มฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์แล้ว ต้องบอกว่าบิน ลาเดนทำได้แสบกว่า เบี้ยประกันอาคารสถานที่ในนิวยอร์กแห่งเดียวพุ่งสูงขึ้นถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของมหานครแห่งนี้เป็นมูลค่า83,000 ล้านดอลลาร์ งานว่าง 52,000 ตำแหน่ง ยังไม่รวมถึงค่าซ่อมแซมอาคารกระทรวงกลาโหมเพนทากอนอีก 800 ล้านดอลลาร์
การทำสงครามเครือข่ายของบิน ลาเดนยังสร้างความวายวอดได้มากกว่าที่นิวยอร์กและเพนทากอน เศรษฐกิจโดยรวมของอเมริกาดิ่งเหว การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุชถูกรื้อปรับเปลี่ยนใหม่หมด งบประมาณถูกตัดทอนจากด้านอื่นๆมาใช้ในการรักษาความสงบภายใน กิจการสายการบินอเมริกันทยอยปิดตัวเองกราวรูดหลังจาก 11 กันยายน 2001ไม่ถึงปี จนรัฐบาลต้องกันเงินมาหนุนกิจการถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ ยิ่งกว่านั้นคือผลจากการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขอเมริกา ที่พบว่าสุขภาพจิตของชาวอเมริกันทั่วประเทศ 44 เปอร์เซ็นต์เสื่อมทราม ต่างรู้สึกไม่มั่นคงกับการดำรงชีวิตประจำวัน ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปไม่มีวันเหมือนเดิมอีกหลังเหตุการณ์9/11
จะเรียกการกระทำของบิน ลาเดนและพวกว่าอะไรก็ตาม จะเรียกว่าความหฤโหดไร้ศีลธรรมหรือป่าเถื่อนอย่างไรก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืออัจฉริยภาพทางทหาร เป็นการชิงลงมือก่อนหรือแทรกแซงวงรอบการตัดสินใจ(OODA loop)ของฝ่ายตรงข้ามอย่างได้ผล และนี่คือรูปแบบของสงครามสมัยใหม่ที่เราเองก็กำลังพบอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลเองต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับระบบข้อมูลข่าวสาร เพราะสงครามในยุคใหม่นี้ชนะกันที่การบริหารข้อมูล ใครมีข้อมูลมากกว่า ประมวลผลเร็วและตัดสินใจลงมือก่อนย่อมชนะ
บทความทั้งหมดที่ผมนำลงทั้งในนิตยสารและเว็บไซต์ใดๆ หากผู้ใดต้องการเผยแพร่ ให้ติดต่อโดยตรงกับผมได้ ที่นี่ ห้ามลักขโมยไปเผยแพร่แล้วใช้คำว่าขอยืมหน่อยเดียวเองหรือใช้ถ้อยคำอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา หากผมรู้ ผมจะดำเนินคดีตามที่บัญญัติไว้สูงสุด หรือถ้าหากการดำเนินคดียุ่งยากเสียเวลาจนผมระอาที่จะดำเนินการ ผมจะด่าบุคคลผู้นั้นให้เสียคน ไม่เชื่อลองดู