ผมเป็นคนบ้าเครื่องบินครับ คนประเภทนี้มีลักษณะพิเศษอยู่อย่าง คือเห็นอะไรบินได้ ตั้งแต่เครื่องบิน เครื่องร่อน บอลลูน ไปจนถึงนก ถึงผีเสื้อ หรือแม้แต่สากกะเบือที่บินข้ามหัวมา ก็ยังต้องเหลียวมอง (อันหลังมองเพราะกลัวว่ามันจะหล่นมาลงหัวหรือเปล่า)
ผมนั่งอ่านประวัติศาสตร์การบินของไทยมาก็หลายครั้ง นึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่า สมัยนั้น มันเป็นยังไง ...... พอมาเห็นโปสเตอร์ของหนังเรื่องนี้จึงค่อนข้างตกใจ .....
ตกใจเพราะ ไม่คิดว่า จะมีนายทุนและผู้กำกับ ที่ใจกล้า ท้าความเจ้ง ทำหนังประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ท่ามกลางหนังตลกไทย หนังซุปเปอร์ฮีโร่ฮอลลิวู้ด และหนังรักเกาหลี ..... ยิ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อเกือบร้อยปีก่อนอีกด้วย ที่สำคัญ เป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนมาก แทบจะลืมไปแล้ว
ผมไม่ใช่นักวิจารณ์หนังครับ
อีกอย่างผมก็ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ด้วย แต่มานั่งคิดว่า เรื่อง
ราวที่เกิดขึ้นจริงข้างหลังหนังเรื่องนี้ พอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้าง จึงขออนญาต ใช้พื้นที่ตรงนี้ เล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษการบินสยาม ที่ใจกล้าไม่น้อยไปกว่าสตั้นแมนส์สมัยนี้ วางรากฐานของกิจการการบินของไทย ให้ก้าวหน้าจนถึงทุกวันนี้ หวังว่าคงได้รับอนุญาตครับ
.....ข้าพเจ้าตกลงใจทำเรื่องการบินขึ้น ด้วยเห็นเป็นประโยชน์
โดยได้แผ่ความรู้ เรื่องนี้ให้แพร่หลายออกไปในหมู่คนไทย
ซึ่งยังไม่สู้ได้เอาใจใส่ในเรื่องการบินกันนัก
และก็ไม่ค่อยปรากฏว่าผู้ใดได้เรียบเรียงขึ้นไว้
สำหรับอ่านกันเป็นความรู้ ทั่ว ๆ ไปเลย...
นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต
บ้านเหนือสถานีสามเสน.
จังหวัดพระนคร.
วันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖
(ขอบคุณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ)
เพียง 7 ปี หลังจากวิวเบอร์ และ เออร์วิล ไรต์ สร้าง Flyer เครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ลำแรก พามนุษย์บินขึ้นท้องฟ้าได้เป็นผลสำเร็จ ณ เนินเขา Kitty Hawk ในสหรัฐ ......
พ.ศ. 2453 ชาร์ล ฟัน เดอร์ บอร์น (Charles Van Den Born) ชาวเบลเยี่ยม ได้ขับเครื่องบินที่ชื่อ Henri Farman IV ร่อนลงจอดที่สนามม้าปทุมวัน .....
สนามบินแห่งแรกของประเทศไทย ...
เพื่อแสดงการบินให้คนไทยในสมัยนั้นได้ชม
[ภาพ Charles Van Den Born] ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของ
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ที่ทรงดำริที่จะตั้งกิจการการบินขึ้นในประเทศสยาม
จึงทรงส่งนักบินไทยชุดแรก 3 ท่าน ไปเรียนการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านการบินของโลกในสมัยนั้น คือ
- นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ
- นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร
- นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต หลังจากที่เดินทางกลับมาประเทศไทยในปี พ.ศ. 2456
ทั้งสามท่าน ได้กลายมาเป็นบุพารีของกองทัพอากาศ และสร้างกองบินทหารบก ซึ่งต่อมากลายเป็นกองทัพอากาศไทย (Royal Thai Air Force) และเราถือว่า ปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) คือจุดเริ่มต้นของกิจการการบินของไทย
ทั้งสามท่านไม่ได้กลับมาตัวเปล่า แต่จัดซื้อเครื่องบินกลับมาด้วยจำนวน 8 ลำ คือ
Breguet ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 ลำ และ
Nieuport ปีกชั้นเดียว จำนวน 4 ลำ
เครื่องบินที่เห็นในภาพยนต์ ก็คือ Breguet เครื่องบินแบบแรกของไทยนั่นเองครับ
[ภาพวาดของเครื่องบินทั้งสองแบบในสมัยเริ่มแรก] น่าเสียดาย ที่ในสมัยนั้น ยังไม่มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์เครื่องบินเหล่านี้เอาไว้ ปัจจุบัน
จึงคงเหลือเพียงภาพถ่าย และเครื่องบินจำลอง ที่ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศเท่านั้น
[ภาพวาด บุพการีทหารอากาศ นำเครื่องบินมาลงที่สนามบินดอนเมืองเป็นครั้งแรก] สมัยนั้น Breguet ถูกใช้ในกิจการหลาย ๆ อย่าง เช่น
การขนส่งไปรษณีย์ทางอากาศในปี 2462 จากดอนเมืองไปยังจังหวัดจันทบุรี การขนส่งยาและเวชภัณฑ์ ไปช่วยผู้ป่วยจากอหิวาตกโรคที่จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2464 และ
เป็นเครื่องบินลาดตระเวน รวมถึง
เดินทางไปอวดธง ซึ่งคือการเดินทางไปเยี่ยมอินโดจีนฝรั่งเศส เพื่อวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในสงครามโลก ครั้งที่ 1 ณ เมืองไฮฟอง ในวันที่ 22 ตุลาคม 2465
และในสมัยนั้น ยังมีประเพณีหนึ่ง
ที่เจ้านายชั้นสูง หรือประชาชน มักจะรวบรวมเงินกัน จัดซื้อเครื่องบินบริจาคให้ทางราชการเอาไว้ใช้ในกิจการของรัฐ และมักจะตั้งชื่อตามต้นทางของเงินที่ได้มา เช่น ขัติยะนารี ๑ ที่ตั้งอยู่ ณ พิพิธภัณธ์กองทัพอากาศ (เป็นเครื่องจำลอง)
กองทัพอากาศไทย เกิดขึ้นหลังจากพี่น้องกระกูลไรต์ขึ้นบินได้เพียง 10 ปี และ
จัดตั้งก่อนการจัดตั้งกองทัพอากาศสหรัฐ (United State Air Force) ถึง 10 ปี ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกองทัพอากาศที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในยุคที่รุ่งเรืองสูงสุดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
กองทัพอากาศไทย คือกองทัพอากาศที่มีนภานุภาพมากเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากญี่ปุ่น ด้วยจำนวนอากาศยานกว่า 300 ลำ ทั้งที่ออกแบบสร้างขึ้นเอง ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาสร้าง จนถึงจัดซื้อมาโดยตรง ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้น ประเทศในอาเซียนทุกประเทศ ยังไม่ได้ตั้งประเทศเลยด้วยซ้ำ
กองทัพอากาศมีบทบาทอย่างสูงในกรณีพิพากอินโดจีน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยได้ใช้กำลังทางอากาศ โจมตีที่มั่นของทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน และสามารถยิงเครื่องบินของฝรั่งเศสตกได้หลายลำ จนสิ้นสุดสงคราม
แต่แม้ว่าอากาศยานจะมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ทันสมัยนัก และกำลังทางอากาศส่วนใหญ่ ถูกทำลายจากสงครามโลกครั้งที่สองด้วยหลายสาเหตุ และ
เริ่มต้นยุคใหม่ของกองทัพอากาศไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
[ภาพวาดการโจมตีเมืองศรีโสภณ ในสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส] ถ้าจะพูดถึงกิจการการบินพลเรือน ก็ต้องพูดถึงเครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย คือ นางสาวสยาม หรือ Miss Siamนางสาวสยาม คือเครื่องบินรุ่น
OX-5 Travel Air 2000 ซึ่ง
นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ใช้เงินส่วนตัวที่ได้จากการแสดงการบินในประเทศสหรัฐอเมริกา ซื้อกลับมาในเมืองไทย ในปี 2475
นางสาวสยาม โดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ
เคยทำการบินครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน โดยนาวาอากาศเอกเลื่อน บินนางสาวสยามจากประเทศไทย ผ่านลาว เวียดนาม ไปสู่ประเทศจีน และบินย้อนกลับมา ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ กลายเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการบินไปทั่วโลก ตลอดเส้นทางที่นาวาอากาศเอกเลื่อนแวะพัก จะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ออกมาต้อนรับมากมาย หนังสือพิมพ์ของต่างประเทศในสมัยนั้น ถึงกับชื่นชมว่า ประเทศไทย มีกิจการการบิน ที่ก้าวหน้า แะลล้ำหน้ากว่าชาติใดในภูมิภาค
ปัจจุบัน
มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ได้ทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูเครื่องบินประวัติศาสตร์ลำนี้ให้สามารถทำการบินได้อีกครั้ง และยังมีความพยายาม ที่จะทำการบินย้อนรอยเส้นทางเดิมของนาวาอากาศเอกเลื่อนในอนาคต
นักบินในสมัยนี้ ขับเครื่องบินไอพ่นที่มีระบบคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน เครื่องบินใช้วัสดุผสมที่ทันสมัย นำทางด้วยเรด้าร์ การฝึกบิน ใช้เครื่องฝึกจำลองการบินที่จำลองได้แทบทุกสถานการณ์ การเรียนก็มีความปลอดภัยสูง
แต่ในสมัยนั้น ทั้ง Breguet และนางสาวสนาม ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ ที่ไม่ได้ดีไปว่าเครื่องยนต์ของรถยนต์ในสมัยนี้ ส่วนมากใบพัดจะทำด้วยไม้ ลำตัวบุด้วยผ้า เดินทางโดยใช้ระบบ Mannual ล้วน ๆ ไม่มีการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ไม่มีระบบนำร่อง
ไม่ใช่ว่านักบินสมัยนี้ไม่เก่ง แต่นักบินสมัยก่อน ต้องใช้ความพยายามมากมาย กว่าจะบินได้แต่ละครั้ง ถือว่ากล้าหาญมากทีเดียว
[ภาพวาดยุทธเวหาเหนือบ้านยางในสงครามโลกครั้งที่สอง] และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ก็นำมาสู่คำถามที่ว่า
สิบโท โทน บินดี มีจริงหรือไม่?ร้อยเอก หลวงสัดทัดยนครกรรม หรือ
สิบโท โทน บินดี (นามสกุลเดิม ใยบัวเทศ) เป็นคนเมืองนนท์ โดยนามสกุล บินดี เป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 เข้ารับราชการทหารสังกัด กองพันที่ 2 กองร้อยที่ 5 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ท่านได้ทิ้งยศสิบโท ไปเป็นพลทหารนักบินหลังจากเรียนช่างเครื่องอยู่ 6 เดือน และสามารถสอบไล่ได้เป็นอันดับสอง พระยาเฉลิมอากาศ
จึงขออนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ส่งสิบโท โทน บินดี ไปฝึกบินพร้อมกับนายทหารชั้นสัญญาบัตรอีก 5 นายเป็นเวลา 4 เดือน ถือเป็นนักบินคนที่ 6 ของกองการบินสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 สิบโท โทน บินดี เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เมื่อครั้งที่ไปฝึกบินผาดแผลงทิ้งระเบิดด้วยท่าควงสว่านในเครื่อง Nieuport ที่ประเทศฝรั่งเศส
โดยสามารถฝึกบินผาดแผลงได้สำเร็จเป็นคนแรก ก่อนหน้านายทหารจากหลายชาติ และ
ได้รับเหรียญ ครัวซ์ เดอ แกร์จากฝรั่งเศสจากการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1ร้อยเอก หลวงสัดทัดยนครกรรม ถึงแก่กรรมในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2508 ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
(ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ)
ในวันที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยมีเครื่องบินรวมกันเฉียด 500 เครื่อง การบินไทย สายการบินแห่งชาติ หนึ่งในสายการบินชั้นนำของโลก มีเครื่องบินรวมกันกว่า 90 เครื่อง รวมถึงสายการบินอื่นๆ
ทั้ง Bangkok Airways สายการบินต้นทุนต่ำ บริษัทการบิน และอากาศยานของเอกชนมากมายหลายร้อยลำ กว่าที่ประเทศไทยจะมีกิจการการบินที่ก้าวหน้าไม่แพ้ชาติใดในโลก ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากวิสัยทัศน์และความพยายามของบรรพบุรุษด้านการบินทุกท่าน ที่ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย (มากจริง ๆ) จนทำให้สยามประเทศในวันนี้ พูดได้อย่างเต็มปากกว่า
นักบินไทย ก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกผมคงหยุดพูดเรื่องประวัติศาสตร์ช่วงนั้นไว้เพียงเท่านี้ เพราะเดี๋ยวจะเป็นการสปอยด์หนังทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ดู
ผมพบคุณ
Tom Claytor เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และได้คุยกับแกพักหนึ่ง มีประโยคหนึ่งซึ่งแกพูดกับผม ด้วยดวงตาเป็นประกายว่า
คุณรู้ไหม ประเทศไทยมีการบินที่ก้าวหน้า มีมาก่อนหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ คุณควรภูมิใจว่า ประเทศไทยมีบรรพบุรุษที่กล้าหาญจริงๆ ..... เขาพูดพลางชี้นิ้วไปที่หัวใจ
ผม, คุณ 001 JZ Team, และคุณ Luftwaffe อึ้งไปพักหนึ่งทีเดียว...
...
...
สำหรับวันนี้ จบเพียงเท่านี้ ขอบคุณทุกท่าน สวัสดีครับ
ปล. ผมไม่ได้รับจ้างมาโพสนะครับ
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&month=30-01-2008&group=2&gblog=60