สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำที่ 2 และ 3 (เรือ ต.992 และเรือ ต.993) ลงน้ำ กองทัพเรือเผยจัดสร้างให้สอดคล้องกับพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง บริษัทผู้สร้างระบุราคาถูกกว่าปกติเท่าตัว และภูมิใจทุกครั้งที่เห็นเรือลอยลำเหนือน้ำ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ลำที่ 2 และ 3 (เรือ ต.992 และเรือ ต.993) ลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือ บริษัทมาร์ซัน จำกัด ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ 2 ลำนี้ กองทัพเรือ ในนามของพสกนิกรชาวไทย ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2550 และเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านการต่อเรือ โดยทรงมีพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือมาโดยตลอด นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.91-ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี 2510-2530 ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์
ในการนี้ กองทัพเรือได้ยึดถือแนวทางตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2545 ว่า "เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม" กองทัพเรือจึงได้เร่งดำเนินการสนองแนวพระราชดำรัส โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องขนาด รูปทรง และน้ำหนักของเรือ รวมทั้งการใช้เชื้อเพลิงและการออกแบบ เพื่อให้เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่มีสมรรถนะสูงสุดในการปฏิบัติการทางทะเล
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือ เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำที่ 1 (เรือ ต.991) และได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน ทำการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำที่ 2 และ 3 (เรือ ต.992 และเรือ ต.993) เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 3 ลำนี้ จะมีรูปร่างและลักษณะเหมือนกันทุกประการ และมีกำหนดแล้วเสร็จให้ทันร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550
ชื่อของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด ต.911 (เรือ ต.991 เรือ ต.992 เรือ ต.993) นั้น ต. หมายถึงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง หมายเลขแรก หมายถึง เรือชุดนี้ถอดแบบมาจากชุดเรือ ต.91 และได้ขยายแบบเพิ่มอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีความคงทนทะเลมากขึ้น หมายเลขลำดับที่สอง หมายถึง รัชกาลที่ 9 และหมายเลขลำดับที่ 3 คือ ลำดับที่ของเรือในชุดนี้
นาวาเอกพูลศักดิ์ อุบลเทพชัย รองเลขานุการกองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือได้จัดสร้างเรือลำแรก ภายหลังการว่างเว้นการต่อเรือนานถึง 10 ปี โดยมอบให้กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้จัดสร้างให้สอดคล้องกับพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จนออกมาเป็นเรือ ต.991 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.991 ลงน้ำด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา
นาวาเอกพูลศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรือ ต.992-ต.993 กองทัพเรือได้จ้างบริษัท มาร์ซัน ซึ่งเป็นบริษัทที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือ คัดเลือกโดยพิจารณาด้านประสบการณ์ เทคโนโลยี และเป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมการต่อเรือ และเป็นบริษัทอุตสาหกรรมต่อเรือสัญชาติไทยแท้ ที่ดำเนินการอู่ต่อเรือมาแล้วเกือบ 30 ปี เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากกระทรวง ทบวง กรม ให้ต่อเรือเพื่อใช้ในราชการไทยมาแล้วมากกว่า 150 ลำ และได้รับการว่าจ้างจากต่างประเทศให้ต่อเรือหลากหลายแบบ ตั้งแต่เรือตรวจการณ์ปืน ไปจนถึงเรือสำราญแบบเมกกะยอชท์ โดยล่าสุดก็รับงานต่อเรือตรวจการณ์ปืนแก่กองทัพเรือปากีสถานถึง 6 ลำ ปัจจุบัน บริษัท มาร์ซัน ถือเป็นอู่ต่อเรือชั้นแนวหน้าในอุตสาหกรรมการต่อเรือในระดับภูมิภาค ที่ได้รับการรับรองระบบการจัดการคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001 : 2000 จาก LIOYdS Register Quality Assurance สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมการต่อเรือ
ด้านนายสัญชัย จงวิสานติ์ ประธานเจ้าหน้าที่และผู้บริหารบริษัท มาร์ซัน เปิดเผยถึงรายละเอียดของเรือทั้งสองลำที่ทางกองทัพเรือได้ว่าจ้างให้ทางบริษัทเป็นผู้ต่อ เรือ ต.992 และ ต.993 เป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง มีขนาดยาว 38 เมตร กว้าง 6.5 เมตร ระวางขับน้ำ Full Load 185 ตัน ความเร็วสูงสุด 27 นอต ใช้ชั่วโมงการจัดสร้าง 2 แสนชั่วโมง มีสมรรถนะออกปฏิบัติการได้ 7 วัน หรือประมาณ 1,300 ไมล์ทะเลได้ โดยไม่ต้องส่งกำลังบำรุง เรือสองลำนี้เป็นความรับผิดชอบจัดสร้างของทางบริษัท
"การจัดสร้าง เราคำนึงถึงพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากเรือสองลำนี้ไปจ้างต่างประเทศต่อ จะตกราคาลำละประมาณ 600 ล้านบาท ในขณะที่เรือ ต.992 และ ต.993 นั้น มีราคาอยู่ที่ลำละประมาณ 270 ล้านบาทเท่านั้น ที่ได้ราคาถูกกว่าเท่าตัวขนาดนี้ จุดใหญ่คือเรื่องของค่าแรง ที่ค่าแรงคนงานไทยในอุตสาหกรรมการต่อเรือจะน้อยกว่าค่าแรงในต่างประเทศถึง 10 เท่า คือในขณะที่เราใช้งบในการจ้างแรงงานต่อเรือในไทย 10 ล้านบาท"
นายสัญชัย กล่าวอีกว่า เมื่อลงนามในสัญญา เราภาคภูมิใจมาก เพราะเป็นเรือน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย พวกเรามีใจหล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากแผ่นเหล็กสี่เหลี่ยมกลายเป็นเรือทั้งลำ รู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่หันมามอง มากกว่าความรู้สึกดีๆ ที่เคยมองเรือลำอื่นที่เคยประกอบมา เวลาเห็นมันแล่นในทะเลไปช่วยเหลือคนเดือดร้อน จะรู้ทันทีว่านี่ไง เรือที่เราเคยสร้างมา
นาวาเอกพูลศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของงบประมาณของเรือในชุดนี้ทั้งสามลำ (ต.991-992-993) ทางกองทัพเรือใช้งบประมาณทั้งสิ้นรวมแล้วประมาณ 760 ล้านบาท โดยเรือทั้งสามลำจะสังกัดกองเรือยุทธการ กองเรือภาคที่ 1 ฐานทัพเรือสัตหีบ มีภารกิจหลักในการลาดตระเวนตรวจการณ์ชายฝั่ง ตรวจจับการกระทำการที่ผิดกฎหมาย และถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์
"ในการต่อเรือในครั้งนี้มีการทูลเกล้าฯ ถวายรายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทอดพระเนตร ก็ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพพระราชทานคำแนะนำให้กองทัพเรือนำไปดำเนินการ อย่างเรื่องท้ายเรือที่ตามปกติจะทำเป็นทรงแบน ก็ทรงแนะว่าธรรมชาติของคลื่นลมท้องทะเลไทยนั้น น่าจะเหมาะกับการทำท้ายเรือเป็นทรงโค้ง ทางกองทัพก็นำแนวพระราชดำริไปทำ ปรากฏว่า ท้ายเรือทรงโค้งนั้นลดแรงต้านจากคลื่นลงไปได้ถึง 6 เปอร์เซ็นต์"
สำหรับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำที่ 2 และ 3 (เรือ ต.992 และเรือ ต.993) ภายหลังจากพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันนี้แล้วก็จะได้ทำการทดสอบระบบต่างๆ ในทะเล เช่นเดียวกับเรือ ต.991 ซึ่งเมื่อขึ้นระวางประจำการแล้ว เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติทั้งสามลำ จะเข้าประจำการที่กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ โดยมีภารกิจในการรักษากฎหมายในทะเล การปราบปรามยาเสพติด การคุ้มครองรักษาทรัพยากรและแหล่งผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในทะเล รวมถึงภารกิจอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งถึงเรือ ต.922 และเรือ ต.993 ว่าเรือทั้งสองลำสวยมาก และครั้งนี้พิเศษปล่อยทีเดียว 2 ลำ เพราะปกติปล่อยเรือครั้งละ 1 ลำเท่านั้น และรับสั่งต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเรือทั้งสามลำมาก เรือลำแรกสมรรถนะดีกว่าที่คิดไว้ ทรงคิดว่าศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการต่อเรือของไทยจะก้าวไปไกลอีกมาก
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เผยถึงโครงการต่อไปว่า วันที่ 5 ธันวาคมนี้ กองทัพเรือจะนำเรือทั้งสองลำนี้ไปจอดที่หน้าพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นจะย้ายมาจอดที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อให้ประชาชนได้ชมความงามของเรือ จากนั้นจะเตรียมเข้าร่วมพิธีทอดกฐินพระราชทานทางชลมารคในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอโปรดเกล้าฯ มาก่อน
ส่วนโครงการในปีหน้าของกองทัพเรือ จะดำเนินการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ลำใหญ่มากขนาดที่เฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้ โดยจะสร้างให้เสร็จก่อนปี 2554 เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่มา -
คม ชัด ลึก