หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


รวมข่าวคราวอุตสาหกรรมซ่อมสร้างอากาศยานในไทยครับ

โดยคุณ : Trinity เมื่อวันที่ : 03/09/2007 13:31:27

ผมไปเก็บข่าวนี้มาได้จาก http://www.skyscrapercity.com ครับ ปกติเขาคุยกันเรื่องการพัฒนาอย่างอื่นๆที่ไม่ใช่การทหาร แต่เผอิญเห็นว่าข่าวพวกนี้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน แล้วก็การทหารกลายๆเลยขอเอามาลงไว้ ต้นข่าวมาจากหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับ แต่เครดิตคนรวบรวมข่าวคือคุณ Gaia ครับ





ความคิดเห็นที่ 1


โบอิ้งสนโคราชศูนย์ซ่อมในไทย
โดย นสพ ข่าวสด วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 5993


นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวว่า บริษัทโบอิ้งจัดส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษารายละเอียดการใช้ประโยชน์ที่สนามบินโคราชเมื่อไม่นานมานี้ โดยเบื้องต้นทางบริษัทสนใจที่จะใช้สนามบินโคราชเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งกรมมีการส่งเสริมให้สนามบินพาณิชย์ที่อยู่ในการกำกับดูแลใช้ประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจทางด้านอากาสยานอยู่แล้ว โดยเฉพาะปัจจุบันมีสนามบินหลายแห่งที่ไม่มีเที่ยวบินประจำถึง 8 แห่ง จากจำนวนสนามบินที่กรมกำกับดูแล 27 แห่ง

ทั้งนี้กรมพยายามที่จะเชิญชวนให้สายการบินต่างๆ มาทำการบินในสนามบินทั้ง 27 แห่ง โดยสามารถที่จะกำหนดเส้นทางบินภายในประเทศได้เอง เช่น จากนครราชสีมาไปเชียงใหม่ หรือนครราชสีมา ภูเก็ต เป็นต้น เช่นเดียวกับสายการบินของ SGA แอร์ไลน์ ที่บินจากแพร่ไปเชียงใหม่ ซึ่งกรมก็พร้อมที่จะให้ใบอนุญาต โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ทางกรมอนุญาตให้ประกอบกิจการทางอากาศ 47 บริษัท
โดยคุณ Trinity เมื่อวันที่ 02/09/2007 07:02:43


ความคิดเห็นที่ 2


ออสซีปักฐานไทยผลิตเฮลิคอปเตอร์ ทาบตระกูล 'จุฬางกูร' ร่วมลงขัน/บีโอไออนุมัติฉลุย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2229 24 มิ.ย. - 27 มิ.ย. 2550



"วีแลนด์ เฮลิคอปเตอร์"จากออสเตรเลียดอดจีบ"ซัมมิท ออโต้ บอดี้"จากตระกูล"จุฬางกูร"ร่วมทุนในโครงการผลิตเฮลิคอปเตอร์ แห่งแรกในประเทศไทย ด้วยทุนล็อตแรกกว่า 600 ล้านบาทในช่วงทดลองบิน หลังจากนั้นอัดทุนต่ออีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท หากผลิตได้ตั้งราคาขายลำละ 7-10 ล้านบาท ขณะนี้มีออเดอร์สั่งล่วงหน้าแล้วกว่า 100ลำ ด้านบีโอไอขานรับไฟเขียวให้ส่งเสริมแล้ว


นายอิทธิพล สาณะเสน ตัวแทนและผู้ประสานงาน บริษัท วีแลนด์ เฮลิคอปเตอร์ (ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้บริษัท วีแลนด์ เฮลิคอปเตอร์ (Wieland Helicopter)จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและให้เช่าและซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กได้ซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยีด้านการประกอบเฮลิคอปเตอร์มาจากกองทัพอเมริกา และสนใจที่จะออกมาลงทุนประกอบกิจการผลิตเฮลิคอปเตอร์ขึ้นในประเทศไทยโดยมีขนาดการลงทุนในช่วงทดลองเครื่องจำนวน 662 ล้านบาท มีการจ้างงาน 585 คน ตั้งโครงการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยช่วงแรกต้องการผลิตให้ได้ประมาณ 200 ลำ/ปี โดยมีออสเตรเลียถือหุ้น 75% เข้ามาในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีและทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบิน และ25% เป็นสัดส่วนหุ้นไทยซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศหาผู้ร่วมทุนไทยที่สนใจจะร่วมทุนด้วย และเมื่อการเดินแผนลงทุนดังกล่าวเรียบร้อยก็จะมีเม็ดเงินใหม่ลงทุนเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทในอนาคต


"ขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทามให้กลุ่มซัมมิท ออโต้ บอดี้ อินดัสตรี่ ของคนในตระกูล"จุฬางกูร"เข้ามาร่วมทุนด้วย ร่วมถึงหาคู่ร่วมทุนอื่นๆที่สนใจจนกว่าจะเต็มสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายไทย ที่มีสัดส่วน25% หรือเป็นเงินทุนประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในล็อตแรกนี้"


นายอิทธิพลกล่าวถึงเหตุผลที่สนใจให้ซัมมิท ออโต้ บอดี้ฯ เข้ามาร่วมทุนด้วยเพราะในขบวนการผลิตเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ จะใช้วัตถุดิบทั้งในประเทศและนำเข้า และการใช้ชิ้นส่วนประกอบบางอย่างสามารถใช้จากบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ด้วย เช่นการใช้ชิ้นส่วนด้านพื้น หรือ เบาะนั่งในเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถใช้จากกลุ่มซัมมิท ออโต้บอดี้ฯได้ หรือการใช้วัสดุประกอบในเฮลิคอปเตอร์ จากบริษัทคอบร่า (Cobra) จำกัด ที่มีการลงทุนอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว สำหรับชิ้นส่วนประกอบหลักที่ยังต้องนำเข้าเช่น เครื่องยนต์ ชุดส่งคำสั่ง เป็นต้น


" ขณะนี้เฮลิคอปเตอร์ต้นแบบกำลังดำเนินการทดสอบและเก็บข้อมูลเพื่อให้ผ่านระเบียบขององค์กรการบินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือเฟดเดอรัล เอวิเอชั่น แอดมินิสตราชั่น(FAA:Federal Aviation Administration) หากตรวจสอบว่าเครื่องบินที่เป็นตัวต้นแบบนี้ปลอดภัย ก็หมายความว่าขั้นตอนส่วนนี้เรียบร้อยไปอีกขั้นหนึ่ง"


อย่างไรก็ตามบริษัทจำเป็นต้องเร่งประกาศหาผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยที่ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 25% และผลักดันให้โครงการผลิตเฮลิคอปเตอร์เกิดขึ้นให้ได้ภายใน2 ปีนับจากนี้ไป เนื่องจากขณะนี้มีออเดอร์ติดต่อเข้ามายังบริษัทแม่ที่ออสเตรเลียแล้วประมาณ 100 ลำ ที่จะมีการผลิตขึ้นในประเทศไทย เพื่อที่จะนำไปใช้ในการเกษตรและส่วนบุคคล นอกจากนี้ทางกองทัพบกเสนอซื้อ เฮลิคอปเตรอ์ 40 ลำ หากสร้างได้ในเมืองไทย เนื่องจาก เฮลิคอปเตอร์แบบที่ใช้ในการฝึกขณะนี้ ขาดการส่งอะไหล่จากอเมริกา และการซ่อมบำรุงแพงมาก


"สาเหตุที่ทุนจากออสเตรเลียสนใจมาลงทุนในไทย เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตถูก ทำให้ราคาขายต่ำกว่าเครื่องยี่ห้ออื่นที่มีขนาดเดียวกัน รวมถึงการซ่อมบำรุงถูกกว่า"


ทั้งนี้ตามแผนจะมีการผลิตเฮลิคอปเตอร์ขนาด 2 ที่นั่งและขนาด 4 ที่นั่ง โดยระยะแรกจะเริ่มผลิตขนาด 2 ที่นั่งก่อน โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งออก เนื่องจากตลาดในไทยยังไม่อนุญาตให้มีเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว แต่สามารถใช้ด้านการค้าได้ โดยเฮลิคอปเตอร์จะมีราคาตั้งแต่ 7 ล้านบาทในขนาด2ที่นั่ง และราคาไม่เกิน10 ล้านบาท สำหรับขนาด4 ที่นั่ง โดยราคาจะยืดหยุ่นได้ขึ้นอยู่ที่ออฟชั่นว่าลูกค้าต้องการแบบไหน เช่น การเลือกใช้เครื่องช่วยทางเดินอากาศ ซึ่งมีหลายแบบและหลายราคาเพื่อใช้ประกอบในเฮลิคอปเตอร์


"สำหรับสถานที่ตั้งโครงการขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอใช้ที่ทดสอบและผลิตเฮลิคอปเตอร์ในท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อประกอบอากาศยานและทดสอบ โดยกรมการขนส่งทางอากาศมีนโยบายที่จะให้เช่าพื้นที่ แต่อาจเปลี่ยนแปลงภายหลังได้ ถ้ามีที่อื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น ที่ขึ้นลงชั่วคราวใกล้อู่ตะเภา "


นายอิทธิพลกล่าวถึงข้อดีในการลงทุนครั้งนี้ว่าเป็นการผลิตเฮลิคอปเตอร์ใบพัด 2 ชุดที่อยู่ในแกนเดียวกันและไม่มีชุดใบพัดที่หาง( Tail Rotor) จากที่เทคโนโลยีเดิมจะมีใบพัดชุดเดียวและมีใบพัดที่หางเฮลิคอปเตอร์ด้วย ที่ล่าสุดโครงการนี้เพิ่งได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)โดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุดคือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเป็นศูนย์ไม่ว่าโครงการนี้จะตั้งกิจการที่ไหนก็ตาม ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะยกเว้นระเบียบที่ห้ามสร้างโรงงานใน กทม. เป็นกรณีพิเศษหากใช้สถานที่ผลิตในกรุงเทพ
โดยคุณ Trinity เมื่อวันที่ 02/09/2007 07:03:24


ความคิดเห็นที่ 3


สบช่องซีเกมส์ฟื้นสนามบินโคราช เอ็มอาร์เอกรุ๊ปปิ๊งผุดร.ร.ซ่อมเครื่องบิน


เตรียมเปิดใช้สนามบินโคราชรับแขก วี.ไอ.พี. ช่วงแข่งขันซีเกมส์ กรมการขนส่งทางอากาศร่อนจดหมายถึงสายการบินทั่วประเทศ หวังดันเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างภูมิภาค โคราช-เชียงใหม่ และโคราช-หาดใหญ่ ด้าน "บริษัทเอ็ม อาร์ เอ กรุ๊ป" จับมือหอฯโคราชเตรียมผลักดันโครงการศูนย์การศึกษาอากาศยาน ผุดโรงเรียนซ่อมเครื่องบิน ยกระดับมาตรฐานงานซ่อมบำรุงอากาศยานไทยสู่สากล หวังต่อยอดเปิดเที่ยวบินพาณิชย์และเที่ยวบินสินค้า

นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ประชา ชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าการเปิดให้บริการของสนามบินว่า ล่าสุดนายสุวิทย์ ยอดมณี รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เรียกเข้าพบเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของสนามบินในการรองรับเที่ยวบินพาณิชย์ เพื่อใช้ระหว่างการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 โดยจังหวัดนครราชสีมาจะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขัน และหลังจากจบการแข่งขันจึงควรมีเที่ยวบินพาณิชย์เปิดให้บริการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในช่วงการแข่งขันซีเกมส์จะมีเที่ยวบินเปิดสำหรับแขก วี.ไอ.พี.และขอใช้สนามบินของกองบิน 1 ในการรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งไม่สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพียงพอจึงต้องมีบางส่วนที่ต้องใช้บริการของท่าอากาศยานจังหวัดนครราชสีมา จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้บริการ

ด้านกรมการขนส่งทางอากาศได้ทำหนังสือถึงสายการบินทุกสายเพื่อเชิญชวนให้เปิดบริการเที่ยวบินพาณิชย์ซึ่งสามารถอนุมัติได้พร้อมกันถึง 2 สายการบิน เพราะสนามบินมีศักยภาพเพียงพอ พร้อมทั้งยกเว้นภาษีขึ้น-ลงจอดเครื่องบินนานถึง 3 ปี ได้แก่ เส้นทางระหว่างนครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-หาดใหญ่ เนื่องจากประชาชนที่เดินทางเฉพาะเส้นทางเชียงใหม่-นครราชสีมามีปริมาณเฉลี่ยปีละกว่า 300,000 คน หากรวมเส้นทางหาดใหญ่แล้วคาดว่าน่าจะมากกว่า 600,000 คนต่อปี จึงน่าจะเป็นเส้นทางการบินที่สามารถผลักดันได้โดยที่สายการบินไม่ต้องแบกภาระต้นทุน
ปัจจุบันท่าอากาศยานได้เปิดให้บริการกับสถาบันการบินพลเรือนเข้ามาฝึกบินให้กับนักเรียนทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ไม่มีการปิดสนามบิน พนักงานยังคงทำงานเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนเข้ามาขออนุญาตขอใช้พื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร เปิดโรงเรียนซ่อมเครื่องบิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากกรมการขนส่งทางอากาศ

หากมีการเปิดโรงเรียนซ่อมเครื่องบินที่จังหวัดนครราชสีมาได้จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งสามารถต่อยอดได้หลายด้าน ทั้งการเปิดให้บริการของสายการบินทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งคาร์โก้ด้วย

"เป็นผลดีต่อชาวโคราชแน่นอน จะทำให้การลงทุนและธุรกิจในโคราชเติบโตอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นแห่งแรกในไทย จึงควรสนับสนุนเต็มที่ เพราะนครราชสีมาก็ไม่ไกลจากดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ตอนนี้อยู่ที่นักลงทุนว่าจะสามารถเปิดได้หรือไม่ พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่" นายประวัติกล่าว
ด้านนายเฉลิมชัย โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม อาร์ เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผนที่จะเปิดโรงเรียนซ่อมเครื่องบิน หรือโครงการศูนย์การศึกษาอากาศยาน ที่ จ.นครราชสีมา ให้เป็นแห่งแรกในภาคอีสาน เนื่องจากขณะนี้อุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศมีการเติบโตขึ้น รวมทั้งเกิดปัญหาการขาดดุลการค้าและสูญเสียเงินตราในการจัดหาเครื่องอากาศยาน อุปกรณ์ และการซ่อมบำรุง การขาดระบบทางการศึกษาและการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐานทำให้ต้องส่งบุคลากรไปฝึกอบรมยังต่างประเทศทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง การขาดทรัพยากรบุคคลด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพและปัญหาขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจังในการพัฒนาอุตฯการบินของไทยทั้งนี้ในเอเชียมีการเติบโตของโรงซ่อมท่าอากาศยานประมาณ 1-4% ทั้งในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันไทยได้พยายามผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งเอเชีย หรือ HUB แต่ยังไม่มีโรงเรียนซ่อมเครื่องบินจะต้องนำช่างจากต่างประเทศเข้ามา หรือบินไปซ่อมที่อื่น ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หากลองเปรียบเทียบเส้นทางมาถึงนครราชสีมาทั้งจากไต้หวัน เกาหลี บินตรงถึงโคราชราคาคุ้มกับค่าน้ำมัน ปัจจุบันไทยต้องบินไปซ่อมเครื่องบินที่ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
"ความต้องการช่างซ่อมเครื่องบินในเอเชียเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 25% เครื่องบิน 1 ลำจะต้องมีช่างคอยดูแลรักษา 20 คน ในเอเชียมีเครื่องบินประมาณ 7,243 ลำ ต้องการช่างมากกว่า 10,000 คน และอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20,000 ลำ ความต้องการช่างก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว จึงจำเป็นต้องเร่งผลิตบุคลากร หากไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้รับรองว่าเมืองไทยตามไม่ทันประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน"

นายเฉลิมชัยเปิดเผยอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวจะใช้เวลาในการเรียน 6 เดือนถึง 1 ปีครึ่ง โดยใช้หลักสูตรภาษาอังกฤษทั้งหมด จบแล้วบริษัทมีงานให้ทำแน่นอน เพราะตลาดต้องการจำนวนมาก ในเบื้องต้นบริษัทได้ประมาณการว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกเดือนละประมาณ 10,000 บาท หากเรียนระยะสั้น 6 เดือนมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 60,000 บาท ซึ่งนักเรียนสามารถผ่อนชำระค่าเล่าเรียนกับศูนย์ได้ คาดว่าจะสามารถเปิดโรงเรียนซ่อมเครื่องบินได้ประมาณปลายปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากกรมการขนส่งทางอากาศในการขอใช้พื้นที่สนามบินโคราช

ด้านนายเพทาย คำภา เลขาธิการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หอการค้าเห็นด้วยกับโครงการเปิดโรงเรียนศูนย์ซ่อมเครื่องบินระดับนานาชาติ เพราะปัจจุบันท่าอากาศยานจังหวัดนครราชสีมายังคงใช้ประโยชน์น้อย หลังจากนี้หอการค้าจะผลักดันอย่างเต็มที่ เพราะหากมีโรงเรียนซ่อมเครื่องบิน ในอนาคตสามารถต่อยอดได้ เช่น การเปิดให้บริการของเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างภูมิภาคหรือระหว่างประเทศก็จะง่ายขึ้น หรือมีเครื่องบินสินค้ามาลงทำให้ธุรกิจในโคราชเกิดเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น
โดยคุณ Trinity เมื่อวันที่ 02/09/2007 07:05:26


ความคิดเห็นที่ 4


ใครได้ข่าวคราวความคืบหน้าเรื่องที่ TAI เดิมเขาวางแผนจะขอพื้นที่ดอนเมืองมาทำเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้างแล้ว มาบอกเล่ากันฟังด้วยก็ดีนะครับ ผมไม่รู้ว่าหลังจากเอาดอนเมืองมาเปิดรับเที่ยวบินพาณิชย์อีกครั้งแล้ว แผนนี้จะพับไปหรือยัง -___-"
โดยคุณ Trinity เมื่อวันที่ 02/09/2007 07:08:37


ความคิดเห็นที่ 5


เป็นข่าวที่น่ายินดีหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะเร่งดำเนินการ

 

โดยคุณ sam เมื่อวันที่ 02/09/2007 14:18:02


ความคิดเห็นที่ 6


อืมมมมม เหมือนจะทำให้โคราชเป็นฮับของการซ่อมบำรุงเลยแฮะ
โดยคุณ Skyman เมื่อวันที่ 03/09/2007 13:31:27