"อนุพงษ์" ยันจัดซื้อ "ยานเกราะล้อยาง" จากยูเครน โปร่งใส-รอบคอบ แต่ยังไม่มีการประมูล แต่วงในกระซิบได้ข้อยุติแล้ว ติงเป็นของเก่า-ไม่คุ้มค่า เตือนปัญหา "เก่าเก็บ" แถมข่าวสะพัดค่าคอมฯ 20%
โครงการจัดซื้อ "ยานเกราะล้อยาง" จากบริษัท UKRSPETS Export จำกัด ประเทศยูเครน จำนวน 48 คัน มูลค่า 4,000 ล้านบาท เพื่อไปประจำการในกรมทหารราบยานเกราะที่ 2 รักษาพระองค์ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอย่างอื้ออึงทันที
โดยเฉพาะข้อครหาว่าเป็นรถเก่า...เป็น "รถมือสอง" ซ้ำยังอาจมีปัญหาเรื่องการ "ส่งกำลังบำรุง" ในระยะยาว และการออกแบบที่ค่อนข้างล้าสมัย เพราะต้องขึ้น-ลงด้านข้างของตัวรถ ในขณะที่รถของคู่แข่งอย่างแคนาดาและรัสเซีย จะขึ้น-ลงด้านท้ายรถ ซึ่งน่าจะเหมาะสมมากกว่า !!
ส่วนที่มาของโครงการจัดซื้อ ซึ่งกำลังกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในกองทัพ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2537 เรื่อยมาจนสมัยที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยครั้งนั้นกองทัพมีความเห็นชอบว่าจะจัดซื้อรถยานเกราะจากบริษัทในประเทศแคนาดา
แต่เนื่องจากสมัยนั้นกองทัพไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อ เพราะเดิมตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 5,000 กว่าล้านบาท โดยจะสามารถจัดหาเข้าประจำการได้ 196 คัน แต่พอประสบ "วิกฤติค่าเงินบาท" ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท
ต่อมารัฐบาลได้ตัดงบประมาณของกองทัพลง จึงสามารถจัดหาเข้าประจำการได้เพียง 96 คัน วงเงิน 8,000 ล้านบาท กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงลดจำนวนเหลือเพียง 48 คัน วงเงิน 4,000 ล้านบาท แต่ก็ยังจัดซื้อไม่สำเร็จเรื่อยมา กระทั่งจะมีการซื้อรถถังจากประเทศยูเครนในปัจจุบัน
โดยก่อนหน้านั้น คณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์ (กมย.) ของกองทัพบก (ทบ.) ได้พิจารณาคัดเลือกแบบของรถยานเกราะล้อยาง 4 แบบ
1.บริษัท ฮอคอายส์ จำกัด ประเทศแคนาดา
2.บริษัท โรสโอโบรอน เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ประเทศรัสเซีย
3.บริษัทของทางการประเทศฟินแลนด์
4.บริษัท UKRSPETS Export จำกัด ประเทศยูเครน
เมื่อกองทัพแสดงท่าทีว่าจะจัดซื้อรถยานเกราะจากประเทศยูเครน จึงมีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยตามมา เพราะเมื่อพิจารณาจากคู่แข่งอีก 3 ราย ล้วนไม่เห็นว่ารถยานเกราะของยูเครนจะเหนือกว่าตรงไหน
นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนถึงความ "ไม่โปร่งใส" ในการจัดซื้อครั้งนี้อีกด้วย !!
ทั้งนี้ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เคยแสดงความเห็นตรงกันว่า รถจากยูเครนเป็นรถเก่า มือสอง และอาจมีปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุง ที่สำคัญมีแบบที่ค่อนล้างล้าสมัย อีกทั้งการขึ้น-ลงยังต้องใช้ด้านข้างของตัวรถ ในขณะที่รถถังของแคนาดาและรัสเซีย จะเป็นการขึ้น-ลงด้านท้ายของรถ จึงน่าจะมีการปรับให้เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ชี้แจงว่า การจัดซื้อครั้งนี้เป็นโครงการงบประมาณผูกพัน 3 ปี ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว
เมื่อถามว่า เหตุใดจึงจัดซื้อรถถังจากประเทศยูเครน ทั้งที่หลายฝ่ายมองว่า สมรรถนะและความคุ้มค่าของรถถังจากอีก 3 ประเทศ มีศักยภาพเหนือกว่า
"รถที่ดีกว่านี้ หรือแพงกว่านี้ก็มีอยู่แล้ว แต่คำว่าดีคืออย่างไร อาจจะมีเนี้ยบ หรือสวยกว่า แต่ถ้ารบกันจะเลือกรถที่ดีที่สุด และใช้ประโยชน์ดีที่สุด" ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ชี้ถึงเหตุผลที่เลือกรถรุ่นนี้
ส่วนที่มีการกังขา ทำไมต้องเป็นของประเทศยูเครน เพราะโรงงานผลิตรถยานเกราะล้อยางได้เลิกทำไปแล้ว และระยะยาวอาจมีปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุงนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า
"ใครจะพูดอย่างไรให้ไปฟ้องร้องกันเอง แต่เราคงไม่ไปซื้อเศษรถมาใช้ในกองทัพบกก็แล้วกัน และปกติจะมีการค้ำประกันว่า ส่งได้ขั้นต่ำ 10 กว่าปี แต่บริษัทที่ผลิตมาส่วนใหญ่จะสามารถรองรับอะไหล่ถึง 20 กว่าปี ซึ่งประเทศไทยก็ใช้ยานพาหนะประมาณนั้น อย่างรถบรรทุกที่ใช้กันอยู่ประมาณ 20 กว่าปี รถยีเอ็มซีก็จัดซื้อประมาณปี 2521-2522 ก็ประมาณเกือบ 30 ปีแล้ว"
ความคืบหน้าในการจัดซื้อ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นมีการประมูล และทั้งหมดก็ยังไม่ได้มีการประมูลใดๆ ทั้งสิ้น โดยการจัดซื้อจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาวุธยุทโธปกรณ์ (กมย.) ซึ่ง กมย.ก็พิจารณาแล้ว ก็รับได้ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีการประมูลทั้งสิ้น
ในส่วนข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.กล่าวยืนยันว่า เป็นธรรมดาของผู้ที่เสียผลประโยชน์ก็อาจจะโจมตี แต่การจัดซื้อจะมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดกับกองทัพ ยืนยันว่า ไม่มีใครได้ผลประโยชน์ ทางคณะกรรมการสามารถรับรองได้ อีกทั้งโครงการจัดซื้อยังไม่ถึงขั้นประมูล และการจัดซื้อยังต้องผ่านการพิจารณา กมย.กองทัพบก
สอดคล้องกับมุมมองของวงในในแวดวงจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ ซึ่งยืนยันถึงความโปร่งใสของโครงการนี้ โดยระบุว่า กองทัพบกยังไม่มีการพิจารณาว่าจะจัดซื้อรถยานเกราะจากประเทศใด และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และการพิจารณาจัดซื้อของกองทัพบกมีความโปร่งใส โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในแต่ละครั้งอย่างรอบคอบ
"ขอให้เชื่อมั่นว่า ยุทโธปกรณ์ที่จะจัดซื้อไม่ได้มองว่าใครขายหรือใครได้ประโยชน์ แต่มองว่าต้องได้ยุทโธปกรณ์ที่ดี เป็นที่นิยม และมั่นใจในการปกป้องประเทศ" แหล่งข่าววงใน ยืนยัน
แต่แหล่งข่าวระดับสูงอีกรายในกองทัพ กลับให้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยระบุว่า ขณะนี้การจัดซื้อรถยานเกราะล้อยางจากประเทศยูเครน "ได้ข้อยุติ" แล้ว
โดย พล.อ.สนธิ ได้อนุมัติในหลักการในการจัดซื้อตามที่คณะกรรมการคัดเลือกแบบพิจารณา โดยมี พล.ท.บดินทร์ ลักษมีวาสิน ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง (ผช.เสธ.ทบ.ฝกบ.) เป็นประธาน ร่วมกับกรมสรรพาวุธ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ที่เสนอมา
แหล่งข่าวรายนี้ คัดค้านการจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากยูเครนอย่างแข็งขันว่า จริงๆ แล้วโครงการดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเดิมทีรถยานเกราะล้อยางเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมานานแล้ว และมีการทดสอบกันหลายครั้ง โดยกองทัพบกเห็นชอบที่จะเลือกรถของบริษัท ฮอคอายส์ จำกัด จากประเทศแคนาดา เนื่องจากเห็นว่ามีความสมบูรณ์ที่สุด
แหล่งข่าวรายนี้ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดคณะกรรมการคัดเลือกแบบจึงเลือกรถของยูเครน ทั้งที่เดิมทีผลการทดสอบสมรรถนะพบว่าของแคนาดามีสมรรถนะดีกว่า
แต่การจัดซื้อครั้งนี้กลับ "ไม่มีการทดสอบสมรรถนะ" !!!
แหล่งข่าวในกองทัพ ชี้ถึง "จุดด้อย" ของรถจากยูเครนว่า มีปัญหาในเรื่องทิศทางของ "ประตูรถ" ซึ่งเป็นประตูที่ต้องขึ้นลงจากด้านข้าง และจะมีปัญหาอย่างยิ่งในยามที่มีการสู้รบเกิดขึ้น
"ปกติรถยานเกราะล้อยางจะต้องเปิดท้ายออก และกำลังพลจะหันหน้าเข้าหากันเหมือนนั่งรถสองแถว โดยเมื่อไปถึงสนามรบจะสามารถลงรถจากทางด้านหลังเพื่อเอาตัวรถเป็นที่กำบังได้ทันที ส่วนรถยานเกราะล้อยางที่จะจัดซื้อเวลาถึงสนามรบต้องหักเลี้ยวขวางลำเพื่อเป็นที่กำบัง ก่อนถึงจะปล่อยกำลังพลได้ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่มีความเหมะสม เป็นดีไซน์ที่ไม่ทันสมัยอย่างยิ่ง"
แหล่งข่าวคนเดิม เตือนว่า ผลที่จะตามมาคือ บริษัทของประเทศแคนาดาอาจจะฟ้องร้องเอาได้ เพราะไม่ได้มีการทดสอบรถของบริษัทยูเครน แต่มาเลือกของยูเครน ซึ่งไม่รู้ว่า พล.อ.สนธิ จะรู้เรื่องนี้หรือไม่
"งานนี้ถือว่าอันตรายมาก ถ้าซื้อไปเมื่อไร พล.อ.สนธิ จะรู้หรือไม่ว่า อาจจะต้องโดนเช็คบิลย้อนหลังเหมือนกรณีการซื้อรถดับเพลิงของ กทม. ที่การจัดซื้อยังมีปัญหาไม่จบสิ้น"
ด้วยข้อจำกัด ซึ่งไม่มีความเหมาะสมในหลายๆ ด้านเช่นนี้ จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงมีการพิจาณาจัดซื้อ และใครเป็นผู้ที่อยู่ "เบื้องหลัง" ในการเสนอเรื่องนี้ให้ พล.อ.สนธิ ทำการอนุมัติ
แม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นคนใช้ "กำลังภายใน" กรุยทางมาสู่การจัดซื้อเที่ยวนี้ แต่แหล่งข่าวรายนี้ ก็คาดว่า เรื่องนี้น่าจะมีเรื่อง "คอมมิชชั่น" เข้ามาเกี่ยวข้อง และคาดว่าน่าจะมีตัวเลขกลมๆ ยั่วใจไม่น้อย
"ปกติการจัดซื้ออาวุธ นายหน้าทั่วไปจะได้ประมาณ 5-7% แต่สำหรับของยูเครน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่า ประกอบกับระบบการส่งกำลังบำรุงไม่มีประเทศไหนใช้แล้ว นอกจากประเทศยูเครนเท่านั้น จึงเชื่อว่า นายหน้าน่าจะได้ค่าตอบแทนสูงถึงประมาณ 20% เพราะราคาของมันถูก"
ข้อกังวลอีกประการที่แหล่งข่าวรายนี้ แสดงความห่วงใย คือ ความคุ้มค่าในการจัดซื้อ ซึ่งต้องพิจารณาถึงการส่งกำลังบำรุงในระยะยาว เพราะยานเกราะที่ซื้อมาปกติจะต้องใช้นานถึง 30 ปี
แต่เขามองว่า ยานเกราะรุ่นนี้การส่งกำลังบำรุงคงจะไม่ยืนยาวถึง 30 ปี เพราะได้ของเก่าเก็บ ซึ่งหลักการจัดซื้ออาวุธตามปกติ กองทัพจะไม่ได้มองที่ "ราคาถูก" เพียงอย่างเดียว เพราะจะต้องพิจารณาดูสภาพ และวงรอบในการใช้งาน ไม่ใช่ซื้อมาราคาถูกจริง แต่ใช้งานได้ไม่กี่ปีก็เจ๊งแล้ว
แหล่งข่าวในกองทัพ กล่าวย้ำเตือนสติ พล.อ.สนธิ อีกรอบว่า เรื่องนี้ต้องลองนึกถึงประเทศยูเครน ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีในเรื่องต่างๆ ก็ยังไม่สมบูรณ์เท่าประเทศอื่น แค่เทียบกับรัสเซียยังไม่ได้เลย
อีกทั้งโครงการนี้ ก็ถือว่า "เร่งรัด" เกินไป ซึ่งจะมาอ้างว่าเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการเดิมก็ไม่ใช่ เพราะโครงการเก่าได้ตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว และถ้าจะเริ่มโครงการใหม่ก็จะต้องทดสอบสมรรถนะกันใหม่
"โครงการนี้เร่งด่วนเกินไป พล.อ.สนธิ ตอนนี้ไม่ค่อยมีเวลา พวกลูกน้องได้ทีก็ซุกขึ้นมา ตอนนี้ทหารเป็นใหญ่ จะของบประมาณก็ขอได้ง่าย เล่นกันแบบนี้ถือว่าอันตรายมาก ซึ่งเรื่องนี้จะต้องว่าไปตามขั้นตอน และต้องลงไปตรวจสอบด้วย เพราะถ้ามาทำผิดเองก็ถือว่าอันตรายมาก"
ท้ายที่สุด...เขาก็ได้แต่ภาวนาขอให้โครงการดังกล่าวมีอันต้อง "ชะงัก" ไปอีกครั้ง เพราะมันจะเป็นผลดีต่อ คมช.มากกว่าการเร่งจัดซื้อ ทั้งที่ยังมีปมข้อครหามากมายเช่นนี้
ทีมข่าวความมั่นคง
|