นักวิจัย ม.เทคโนโลยีมหานคร พัฒนาเครื่องบินไร้คนขับ (ยูเอวี) หวังใช้ในภารกิจดับไฟใต้-หยุดมอดไม้ งบประมาณต่อลำไม่เกิน 1 แสน บินต่อเนื่องนานกว่า 2 ชม. หวังทำให้เสร็จในสิ้นปีนี้
แนวความคิดในการใช้เครื่องบินยูเอวี หรือ "เครื่องบินไร้คนขับ" เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ถูกนำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่เมื่อหลายปีก่อน แต่ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะไม่ค่อยก่อให้เกิดประโยชน์มากนัก เพราะประสบปัญหาเชิงเทคนิคหลายประการจนทำให้เครื่องบินยูเอวี ซึ่งนำเข้าจากประเทศอิสราเอลด้วยมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังกันไว้
อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังของประเทศก็ไม่ได้สะดุดลงไปด้วย โดย รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้นำเสนอโครงการพัฒนาเครื่องบินยูเอวีไปยังกองทัพบก ผ่านสำนักงานประสานการวิจัยและพัฒนา กองทัพบก รวมทั้ง ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยงานราชการ
รศ.ดร.สุเจตน์ กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เดิมทางมหาวิทยาลัยได้ทำโครงการพัฒนาดาวเทียมเพื่อใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพภูมิประเทศมุมสูง เพื่อประโยชน์ในด้านความมั่นคง สำรวจสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ แต่โครงการดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก
นอกจากนี้ ยังมี "ข้อจำกัด" ประการสำคัญ คือ สภาพอากาศของประเทศไทยมีเมฆมาก การถ่ายภาพในมุมสูงจึงไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก เพราะไม่สามารถถ่ายภาพทะลุเมฆลงมาได้ !!!
ด้วยเหตุนี้โครงการดาวเทียมจึงต้องพับฐานไปและหันมาพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องบินยูเอวี ซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากมีข้อดีหลายๆ ประการ
- ค่าใช้จ่ายถูกกว่าดาวเทียมมาก
- สามารถถ่ายภาพได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพอากาศ
- กำหนดเวลาการบินได้โดยอิสระ ไม่ต้องรอวงรอบนานเหมือนดาวเทียม
รศ.ดร.สุเจตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นใกล้สมบูรณ์แล้ว และถือว่าเป็นการพัฒนาฮาร์ดแวร์ในรุ่นที่ 2 โดยได้ทดสอบการบินไปแล้วกว่า 40 เที่ยวบิน ใช้ระยะเวลาการบินประมาณ 15 นาที ซึ่งให้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถถ่ายภาพในระดับความสูงที่กำหนดได้อย่างชัดเจน
สำหรับสมรรถนะของเครื่องบินรุ่นนี้จะควบคุมการบินด้วยระบบอัตโนมัติ
- สามารถกำหนดเส้นทางการบินได้
- บินต่อเนื่องได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง
- ความเร็วสูงสุดประมาณ 120 กม./ชม.
- เพดานบินสูงสุดประมาณ 1 กิโลเมตร
- บันทึกภาพด้วยกล้องวิดีโอแบบเรียลไทม์ คือสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์จริง ณ ขณะนั้นและถ่ายทอดลงมายังภาคพื้นดินได้ทันที
สำหรับเหตุผลที่เลือกเพดานบินในระดับ 1 กิโลเมตร เนื่องจากมีกระแสลมที่ไม่แรงเกินไป ที่สำคัญ คือจะสามารถหลบพ้นรัศมีทำลายล้างของอาวุธโดยทั่วไป !!
สำหรับเครื่องยนต์ของเครื่องบินประเภทนี้แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เครื่องที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และ เครื่องที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็ก โดยเครื่องแบบไฟฟ้าจะมีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม ส่วนเครื่องที่ใช้น้ำมันจะมีน้ำหนักราวๆ 5 กิโลกรัม
ข้อดี-ข้อด้อยของเครื่องยนต์ 2 ประเภทนี้ก็มีพอๆ กัน...
เครื่องที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะใช้มอเตอร์ขนาดเล็กและแบตเตอรี่แบบลิเทียมโพลีเมอร์ ข้อดี คือ ประหยัดพลังงานและเสียงเครื่องยนต์เงียบ จึงเหมาะกับภารกิจ "สอดแนม" ทางทหาร
เครื่องที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็กจะใช้แอลกอฮอล์ผสมไนโตร เช่นเดียวกับ "เครื่องบินเล็ก" โดยทั่วไป ข้อดี คือ จะประหยัดพลังงานมากกว่า แต่เสียงเครื่องจะดัง จึงเหมาะกับภารกิจลาดตระเวนทั่วไป
ส่วน "วัสดุ" ที่นำมาใช้ประกอบเครื่องทั้ง 2 ประเภทนี้ก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร
เครื่องที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งเหมาะกับภารกิจทางทหารจะใช้วัสดุประเภท "คาร์บอนเรซิ่น" ซึ่งมีน้ำหนักเบา แต่มีความทนทานสูง เมื่อเครื่องบินตกสู่พื้นและชิ้นส่วนแยกจากกันจะสามารถนำมาประกอบใหม่ได้อีก
แต่เนื่องจากวัสดุที่ใช้มีราคาสูง จึงคาดว่าจะใช้งบประมาณต่อลำประมาณ 100,000-150,000 บาท
เครื่องที่ใช้น้ำมัน ซึ่งเหมาะกับภารกิจลาดตระเวนในพื้นที่ป่าทั่วไปจะใช้วัสดุเป็น "ไม้เบาซ่า" หุ้มด้วย โมโนโค้ท (วัสดุเคลือบผิวคล้ายพลาสติกใส) ซึ่งเมื่อเจอกับความร้อนจะประกอบเข้ารูปได้ดี
เครื่องประเภทนี้ วัสดุที่ใช้มีราคาถูก จึงคาดว่าจะใช้งบประมาณต่อลำไม่เกิน 10,000 บาท
รศ.ดร.สุเจตน์ ยืนยันว่า งบประมาณในการจัดสร้างเครื่องบินประเภทนี้ถือว่ามีราคา "ถูกมาก" เมื่อเทียบกับการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีราคาไม่ต่ำกว่าลำละ 10 ล้านบาท
เขาตั้งเป้าว่าจะพัฒนาเครื่องบินยูเอวีให้มีน้ำหนักเบาประมาณ 2 กิโลกรัม ซึ่งกำลังพลของกองทัพสามารถพกพาติดตัว และนำไปประกอบใช้ในพื้นที่ได้โดยสะดวก
"เป้าหมายของเรา คือจะให้ทหารนำไปประกอบและนำเครื่องขึ้นด้วยการขว้างขึ้นสู่อากาศ จากนั้นจะบังคับด้วยระบบอัตโนมัติบนภาคพื้นดิน ซึ่งจะกำหนดเส้นทางการบิน ระยะเวลาการบินและจุดตกของเครื่องบินด้วยระบบจีพีเอส โดยจะสามารถบินได้นานถึง 8 ชั่วโมงเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้กันมากในสงครามอิรัก อัฟกานิสถาน และสงครามในเขตเมือง"
รศ.ดร.สุเจตน์ มั่นใจว่าเครื่องบินยูเอวีที่พัฒนาขึ้นมาเองนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณของกองทัพ และช่วยในเรื่องของงานความมั่นคงทั้งในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ได้เป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถจับตาความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น
ส่วนภารกิจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั้น รศ.ดร.สุเจตน์ บอกว่า ขณะนี้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่ามีความต้องการใช้เครื่องบินประเภทนี้สูงมาก เนื่องจากการใช้คนเข้าไปลาดตระเวนในพื้นที่มีความเสี่ยงสูง จึงหาคนมาทำงานได้ยาก ซึ่งสวนทางกับการบุกรุกทำลายป่าที่มีการลักลอบเข้าไปตัดอย่างต่อเนื่องในลักษณะ "ต้นเว้นต้น" คือจะตัดแต่ต้นเล็กๆ ซึ่งดาวเทียมจะไม่สามารถจับภาพได้
แต่ถ้าใช้เครื่องบินยูเอวีก็จะได้ประโยชน์มาก โดยจะสามารถถ่ายให้เห็นถึงเส้นทางของขบวนการมอดไม้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวต่ำมาก คือราวๆ 200 บาท/ชม. เท่านั้น !!
นักประดิษฐ์ท่านนี้ประเมินว่า การพัฒนาเครื่องบินยูเอวีน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2550 แต่ขณะนี้ยังประสบปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถนำเครื่องขึ้นทดสอบได้
ประกอบกับต้องทำการสอนและงานบริหารควบคู่กันไปด้วย ซึ่งมีส่วนที่ทำให้การพัฒนาเครื่องบินล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็คาดว่าน่าจะสามารถพัฒนาเครื่องบินส่งมอบให้หน่วยงานราชการได้ตามกำหนด
นับเป็นอีกความพยายามของ "นักประดิษฐ์ไทย" ซึ่งมุ่งหวังจะเห็นสันติสุขของบ้านเมืองบังเกิดขึ้นอีกครั้งในดินแดนด้ามขวานทองของเรา
*****************************
(ล้อมกรอบ)
ทหารพื้นที่ห่วง "ข้อจำกัด"
สภาพอากาศ-แยกมวลชน
แม้จะเป็นแนวคิดในการช่วยเหลือทางราชการ ซึ่งน่าสนับสนุน แต่ พล.ต.จำลอง คุณสงค์ เสนาธิการ กอ.รมน.ภ.4 ก็มองว่า การทำงานของเครื่องบินยูเอวี ซึ่งทางกองทัพนำมาประจำการอยู่ในพื้นที่ 1 เครื่องถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังประสบกับปัญหา "ข้อจำกัด" ในหลายประการ
ประการแรก ความเชี่ยวชาญของกำลังพล ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเครื่อง โดยต้องยอมรับว่า ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร
ประการที่สอง สภาพอากาศของพื้นที่ ซึ่งมักจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพได้คมชัดเท่าที่ควร และบ่อยครั้งต้องนำภาพที่ถ่ายมา "ตีความ" ว่าหมายถึงอะไร
ประการสุดท้าย กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักจะอยู่ปะปนกับประชาชนในพื้นที่ จึงยากต่อการแยกแยะว่าใครเป็นใคร ยกเว้นบางพื้นที่ เช่น ป่าเขา แต่ก็ต้องแยกแยะว่าเป็นคนกรีดยาง หรือผู้ก่อความไม่สงบ
พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ปกติเครื่องบินยูเอวีก็ถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง และได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ก็ประสบปัญหาดังที่กล่าวมา จึงมีการสนับสนุนภารกิจด้วยเครื่องบินปกติของหน่วยอื่นๆ เช่น กองทัพอากาศ หรือบางครั้งก็จะนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบินวนเพื่อถ่ายภาพ ซึ่งบางครั้งก็จะได้ภาพที่มีความคมชัดมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากราคาของเครื่องบินยูเอวีแล้ว พล.ต.จำลอง ก็สนับสนุนให้มีการพัฒนา เพราะน่าจะมี "ราคาถูก" เมื่อเทียบกับการสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ
"ผมว่าถ้าจะให้ดีกองทัพน่าจะจัดงบประมาณให้ผู้วิจัยมาลองบินทดสอบในพื้นที่จริงดูบ้าง โดยอาจจะให้หน่วยทหารเล็กๆ ในพื้นที่ฝึกใช้ดูเพื่อจะได้ประเมินว่าใช้ได้ผลแค่ไหน"
เสนาธิการ กอ.รมน.ภ.4 สนับสนุนแนวคิดนี้อย่างเต็มที่ เพราะถึงแม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่ แต่ก็ถือเป็นอีกความพยายามของคนไทย ซึ่งอยากเห็นสันติสุขบังเกิดขึ้นอีกครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา
อาคม ไชยศร
เยี่ยมครับ
เยี่ยมยอดจริงๆ ที่เหลือก็แค่ฝึกกำลังคน และพัฒนา UAV ขนาดใหญ่ให้มันทนได้ทุกสภาพอากาศ
ไม่รู้ว่าเป้าหมายจริงของโครงการนี้ คือ อะไรกันแน่ครับ ระหว่าง small UAV แบบพกพาด้วยทหารราบ หรือ SR-UAV ที่เทียบได้กับ Searcher อ่านแล้วงงๆ อยู่ เพราะ ตอนต้นเอาไปเทียบกับ Searcher ว่าจะทำงานได้ดีกว่า
ปัญหาเรื่องสภาพอากาศนั้นแน่นอนว่าเป็นข้อจำกัดสำหรับระบบตรวจการณ์ optical อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น TV หรือ IR ก็ตาม อีกอย่างระบบ IR ถ้าเป็น generation แรกๆ จะยิ่งมีปัญหากับสภาพความชื้นของอากาศในบ้านเรามากครับ กรณีเมฆมากนั้นการใช้ UAV จะสามารถบินได้ต่ำกว่าฐานเมฆได้ ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าดาวเทียม
ส่วนการแยกแยะฝ่ายนั้นมีปัญหาอยู่แล้วครับ ยกเว้นว่าภาพจาก UAV จะคมชัดและมีรายละเอียดขนาดเห็นว่าคนที่อยู่บนพื้นนั้นถืออาวุธอยู่หรือไม่ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันนี้ผมว่าทำได้ครับ และมันขึ้นกับยุทธวิธีในการใช้งาน UAV ด้วยว่าการประสานงานระหว่างผู้ควบคุม UAV กับทหารบนพื้นดินเป็นไปได้ดีแค่ไหน ตรงนี้ผมว่าเรายังขาดอยู่ครับ ทั้งในส่วนของการฝึกฝนและระบบสื่อสาร